Skip to main content

ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว

คำถามข้อแรกเลยคือ ทุกวันนี้สถาบันกษัตริย์ ศาสนา และความมั่นคงของประเทศ ยังได้รับการคุ้มครองไม่เพียงพออีกหรืออย่างไร จึงต้องเอาการคุ้มครองวัฒนธรรมเข้าไปผูกพ่วงด้วย

กล่าวเฉพาะสถาบันกษัตริย์ นี่ถ้าใครหมิ่นกษัตริย์ด้วยภาษาถิ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นอกจากคดี ม. 112 แล้ว ยังจะต้องถูกดำเนินคดีพ่วงเข้าไปอีกคดีหรืออย่างไร ถ้าไม่นับว่าศาลจะมารู้อะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรม ก็สงสัยว่าศาลจะลงโทษอย่างไร ใช้คำหนึ่งคือผิดหนึ่งกระทง ใช้ 5 คำผิด 5 กระทง แบบเดียวกับตัดสินจำนวนครั้งที่ส่ง SMS อีกหรือเปล่า 

คำถามต่อมาคือ แล้วใครจะเป็นคนแจ้งความดำเนินคดี เช่น หากมีใครได้กำลังดูการแสดงหนังตะลุงอยู่ แล้วถ่ายคลิปที่แสดงในลักษณะ "หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ไว้ ก็สามารถนำไปแจ้งความจับได้อย่างนั้นหรือ

นี่จะไม่ทำให้สังคมไทยโกลาหลกันไปใหญ่หรือ สังคมนี้จะกลายเป็นสังคมที่ทุกคนจ้องจับผิดกันเองตลอดเวลาหรือ สังคมนี้มิทำให้ทุกคนกลายเป็นเด็กขี้ฟ้องหรอกหรือ ลำพังคดี ม. 112 ที่พี่น้องแจ้งความดำเนินคดีกัน หรือนักจัดรายการอะไรที่ไหนก็ไม่รู้เดินขึ้นโรงพักไปแจ้งความดำเนินคดี ม. 112 กับนักศึกษาที่ออกมารณรงค์เรื่องชุดนักศึกษา ฯลฯ ยังโกลาหลคลุ้มคลั่งกันไม่พออีกหรืออย่างไร 

คำถามสุดท้าย วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งของที่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถปกป้องดูแลได้หรือ เราจะไว้ใจ "คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม" ที่มีอำนาจในการเรียกคนนั้นคนนี้ที่เข้าข่ายกระทำผิดมาสอบสวนได้อย่างไร คนเหล่านั้นเป็นใคร มาจากไหน รู้จักวัฒนธรรมดีหรือ คณะกรรมการเหล่านี้เป็นใครกันจึงจะรู้ดีกว่าผู้ผลิตวัฒนธรรม 

หากใครที่ใช้วัฒนธรรมเหล่านั้นไปกระทำผิด คนเหล่านั้นก็น่าจะต้องเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเองไม่ใช่หรือ เช่น คนร้องเพลงแหล่ ก็จะต้องร้องเพลงเป็น ก็แสดงว่าเขาเป็นผู้ใช้และสืบทอดเพลงนั้นมาเอง ก็แปลว่าเขาเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่หรือ แต่เจ้าของวัฒนธรรมเหล่านี้กลับจะต้องถูกตัดสินจากใครก็ไม่รู้ว่ากระทำผิดทางวัฒนธรรมของตนเองอย่างนั้นหรือ

ต่อให้มีการเชิญเจ้าของวัฒนธรรมมาร่วมตัดสินคดี รัฐกำลังจะให้อำนาจคนบางคนมาตัดสินคุณค่าทางวัฒนธรรมเท่านั้นหรือ เช่น จะมีเพียงเจ้าของภาษาถิ่นบางคนเท่านั้นหรือที่จะรู้ดีว่า อะไรถูกอะไรผิดในการใช้ภาษานั้น

วัฒนธรรมเป็นของทั้งชุมชนผู้สร้างและปัจเจกชนผู้ใช้ แสดงออก และร่วมสร้าง ทั้งชุมชนและปัจเจกชนมีสิทธิครอบครอง ใช้ และดัดแปลงวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรที่รัฐจะต้องยื่นอำนาจเข้ามาก้าวก่าย รัฐอาจช่วยส่งเสริม ช่วยสนับสนุนให้พัฒนาได้ และนั่นเป็นบทบาทที่ถูกต้องของรัฐ การประกาศกฎหมายแบบนี้ออกมาเขาไม่ได้เรียกการส่งเสริมวัฒนธรรมหรอก เขาเรียกเผด็จการทางวัฒนธรรมต่างหาก 

แล้วคิดว่ากฎหมายแบบนี้จะช่วยปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักๆ เหล่านั้นได้จริงหรือ กฎหมายที่มีอยู่แล้วยังช่วยคุ้มครองสถาบันเหล่านั้นไม่เพียงพอหรือ และเท่าที่มีกฎหมายต่างๆ อยู่แล้วน่ะ สามารถปกป้องไม่ให้สถาบันเหล่านั้นเสื่อมลงได้หรือ อะไรจะดีจะงามย่อมอยู่ที่คุณค่าในตัวมันเองและความนิยมชมชอบ ความเคารพศรัทธาของสังคมไม่ใช่หรือ กฎหมายจะทำให้สถาบันเหล่านั้นดีงามขึ้นมาได้อย่างไรถ้าสถาบันเหล่านั้นเสื่อมลงไปเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)