Skip to main content

การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่

งานนี้มีผู้นำเสนอบทความจำนวนมาก น่าจะมากกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ผมอาสาอ่านงานถึง 3 ชิ้น ชิ้นหนึ่งว่าด้วยสังคม-วัฒนธรรมความกลัวในกระบวนการของการใช้กฎหมาย กรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา โดยนพพล อาขามาส อีกงานว่าด้วยอิทธิพลของมาร์กซิสม์สายตะวันตก (Western Marxism) ในประเทศไทยทศวรรษ 2520-2530 โดยธิกานต์ ศรีนารา อีกชิ้นว่าด้วยขบวนการภาคประชาชนในประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา โดยอุเชนทร์ เชียงเสน ทั้งสามชิ้นเป็นผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ (อายุปลาย 20 ถึงต้น 30) ที่เพิ่งจบการศึกษาและเพิ่งได้งานทำ

งานทั้งสามชิ้นแสดงให้เห็นถึงการค้นคว้าวิจัยอย่างละเอียด การนำเสนอผลงานอย่างเป็นระบบ การเรียบเรียงด้วยภาษาที่มีระเบียบเรียบร้อย เมื่อเทียบกับการทำงานทางวิชาการของนักวิชาการในต่างประเทศในระดับเดียวกันเท่าที่เคยสัมผัสในเวทีการประชุมนานาชาติ ผมขอยืนยันว่า ผลงานวิชาการของนักวิชาการไทยไม่ได้ด้อยไปกว่านักวิชาการต่างประเทศ และยิ่งหากนักวิชาการต่างประเทศคนใดต้องการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในประเด็นที่ใกล้เคียงกับนักวิชาการรุ่นใหม่เหล่านี้แล้ว หากไม่อ่านงานของพวกเขา ก็จะขาดความเข้าใจที่สำคัญไปเลยทีเดียว

ผมเลือกอ่านงานทั้ง 3 ชิ้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการเข้าใจทั้งมุมมอง วิธีการทำงาน และเนื้อหาสาระของผลงานทั้ง 3 แต่นอกเหนือจากนั้น เมื่อได้อ่านงานเหล่านี้แล้วก็พบว่า งานของทั้งสามคนได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของยุคสมัย หรืออาจจะเรียกในภาษาของเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond Williams) ได้ว่า "โครงสร้างอารมณ์" ของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี 

ผมเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยที่งานทั้ง 3 นี้ให้ความสนใจศึกษา ผมอ่านงานมาร์กซิสม์สายตะวันตก (ซึ่งบรรดานักวิชาการรุ่นปัจจุบันแทบไม่สนใจกันแล้ว และนั่นทำให้ผมดูล้าหลังไปแล้ว) ผมเคยคิดว่าจะไปทำงานเอ็นจีโอ (เพราะคิดว่าตัวเองคงไม่มีปัญญาได้สอนหนังสือ แต่ก็ได้มาสอนหนังสือเสียก่อน) แต่ภายหลังก็มาวิพากษ์เอ็นจีโอแทน ผมเคยร่วมรณรงค์ให้แก้ไข ปมอ. ม. 112 (และโชคดีที่ยังไม่ถูกข้อหาอะไรจากการรณรงค์ดังกล่าว) งานทั้ง 3 ชิ้นให้ภาพเชื่อมโยงช่วงชีวิตที่ผมได้เติบโตขึ้นมาและเข้าไปเกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี และก็น่าจะเป็นอย่างนั้นกับคนอื่น ๆ หลาย ๆ ด้วย

แน่นอนว่างานทุกชิ้นย่อมมีแง่มุมที่ผู้อ่านจะเห็นต่างออกไป หรือเห็นเพิ่มเติมเข้าไป และก็ย่อมมีประเด็นที่ชวนให้คิดต่อเติมไปได้อีกมากมาย แต่มีประเด็นสำคัญ ๆ บางประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษและอยากนำเสนอในที่นี้ เช่น ในเรื่อง ม. 112 ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการดำเนินคดี ม. 112 ไม่ได้ขึ้นกับตัวบทกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา หากแต่ขึ้นกับบริบทแวดล้อมทางการเมือง และโครงสร้างเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยุติธรรมจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมอย่างยิ่งด้วย

งานเรื่องขบวนการภาคประชาชนถอดรื้อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการเมืองภาคประชาชน ทำให้ไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไปว่า ทำไมเอ็นจีโอบางกลุ่มจึงเลี้ยวซ้าย ทำไมภาคประชาชนบางกลุ่มจึงเลี้ยวขวาไปได้ ข้อเสนอสำคัญอีกข้อคือ การที่ประชาธิปไตยทางตรงเติบโตขึ้นมาและมีที่มีทางในการเมืองไทยได้ ก็ด้วยการเติบโตของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาธิปไตยทางตรงจึงไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยตัวแทน และจำเป็นต้องเดินควบคู่กันไป

ส่วนงานเรื่องมาร์กซิสม์สายตะวันตก ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มทางความคิดของปัญญาชน "ฝ่ายซ้าย" ในประเทศไทย แต่กระนั้นก็ชวนให้คิดว่า เมื่อแนวคิดมาร์กซิสม์มาอยู่ในสมองน้อยๆ ของนักคิดฝ่ายซ้ายไทยแล้ว ก็กลับถูกกลืนให้กลายเป็นไทยได้ด้วยแนวคิดพุทธศาสนา (แบบไทยๆ อีกนั่นแหละ) แนวคิดชุมชนนิยม (แบบไทยๆ) การเน้นแนวคิดการครอบงำมากกว่าแนวคิดการต่อต้าน และการเน้นภาคปฏิบัติการมากกว่าการถกเถียงทางทฤษฎี (ซึ่งนี่แตกต่างจากมาร์กซิสม์สายตะวันตกในโลกวิชาการสากลมาก)

นอกเหนือจากความรื่นรมย์ทางปัญญา เฉพาะแค่อาหารใต้ ชานม และโรตี ที่เสิร์ฟในงานอย่างไม่ขวยเขินกับรสชาติท้องถิ่นของตน ก็ทำให้งานวิชาการนี้โดดเด่นกว่างานวิชาการในถิ่นอื่น ๆ ที่เคยไปมามากแล้ว แถมเพื่อนฝูงเจ้าบ้าน "นักวิชาการใต้" ยังให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้ดื่มกินสังสรรค์กันอย่างเต็มที่ ต่อเนื่อง ไม่เหนื่อยหน่าย ช่างเป็นการจัดวางโลกของการลิ้มรสและมิตรภาพ ให้สอดคล้องเหมาะเจาะกับโลกทางปัญญาอย่างยอดเยี่ยม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี