"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
นั่นเป็นคำถามที่เพื่อนนักมานุษยวิทยาจากสิงค์โปรที่ไปทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นถาม เมื่อสนทนากันในร้านโดนัทที่เกียวโต เรื่องความพยายามทำลายระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพฯ และบรรดาปัญญาชนชั้นนำของไทย
ผมย้อนว่า "ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทยนะที่เป็นอย่างนี้ ก็คนที่ได้รับการศึกษาดีๆ ทั่วโลกน่ะ ก็มีจำนวนมากที่ทำแบบนี้ แล้วยิ่งกว่านั้น อย่าว่าแต่ครูบาอาจารย์ตัวเล็กๆ อย่างเราสองคนเลย พวกครูบาอาจารย์ใหญ่ๆ ทั้งนั้น ในไทยน่ะ ที่ส่งเสริมการล้มล้างประชาธิปไตย"
เพื่อนคนนี้ย้อนกลับมาว่า "ก็ใช่ ประเด็นคือ ระบบการศึกษาน่ะ ช่วยอะไรโลกได้บ้าง ไม่ใช่คนที่จบมหาวิทยาลัยดังๆ ในโลกนี้หรอกหรือ ที่ฆ่าแกงคนอื่นได้ง่ายๆ ไม่ใช่พวกที่ได้รับการศึกษาดีๆ ในประเทศพัฒนาแล้วหรอกหรือ ที่ทำร้ายคนทั่วโลก ระบบการศึกษาทั้งหมดที่เราสองคนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยน่ะ ต้องรับผิดชอบด้วย"
"จะให้รับผิดชอบอย่างไรล่ะ" ผมถามย้อน เพื่อนตอบว่า "ก็ลองนึกดูสิ ว่าบรรดาลูกศิษย์ที่ผ่านชั้นเรียนเราไป พวกนั้นไปทำอะไร เข้าร่วมขบวนการล้มล้างประชาธิปไตยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยสอนอะไรเขาบ้าง" ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร จำต้องฟังเพื่อนเทศนาต่อ
"ถึงที่สุด เราต้องลองละทิ้งการพยายามอธิบายสิ่งต่างๆ ละวางการพยายามครอบงำคำบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาของผู้คนเสียบ้าง แล้วเปิดใจ เปิดหู ฟังคำบอกเล่าของผู้คน ฟังเรื่องราวที่กระจัดกระจายของผู้คนทั่วๆ ไป ที่แม้จะไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็อาจมีจุดร่วมกันบางอย่างที่ทำให้พวกเขายอมรับกันได้ แม้จะเพียงน้อยนิด บางทีทางออกจากวิกฤตจะอยู่ที่นั่่น"
ผมเริ่มเห็นด้วย "ใช่แล้ว ส่วนมาก คนที่มีข้อเสนอสุดโต่งน่ะ ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็เป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่มักได้รับความสนใจจากสื่อ แต่คนทั่วไปน่ะ เสียงของเขากระจัดกระจายจนเบาบาง ไม่มีใครได้ยิน"
เพื่อนคนนี้มีความคิดแปลกใหม่เสมอ มีข้อเสนอท้าทายเสมอ อีกคำถามหนึ่งที่เขาถามคือ "ลองถามตัวเองสิ ว่าเมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนที่นายยังไม่ได้ทำงานวิชาการน่ะ นายคิดอย่างไรกับประชาธิปไตย คิดกับการเลือกตั้งอย่างไร แล้วขณะนี้ ถ้าปลดการวิเคราะห์คนอื่นออกไป แล้วตอบจากใจตนเองล่ะ จะตอบว่ายังไง"
ผมมีคำตอบในใจที่สามารถจะตอบดังๆ ได้ในร้านโดนัทในประเทศญี่ปุ่น แต่หากเพียงตอบเงียบๆ ในพื้นที่เสมือนจริงซ้อนเขตอำนาจรัฐไทยอยู่ ก็คงอายุสั้นแน่