Skip to main content

การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า

 นัยยะต่างๆเหล่านั้นล้วนนำเรากลับไปสู่คำถามที่เกินเลยไปกว่าเพียงการตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย  เป็นการนำสังคมไทยไปสู่คำถามใหญ่ๆที่ว่า อุดมการณ์คืออะไร ทำไมคนจึงยอมตายเพื่ออุดมการณ์

คำถามนี้ส่วนหนึ่งช่วยให้เราเข้าใจต่อไปด้วยว่า ทำไมเราจึงควรเข้าใจการต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะที่เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ทำไมหลายกลุ่มจึงยืนยันว่าการต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่การพิทักษ์ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ตลอดจนประเด็นที่ว่า ทำไมอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน แต่ปฏิบัติได้จริง และเหมาะกับสังคมไทยปัจจุบัน

เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่การจากไปพร้อมๆกันของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ นักประชาธิปไตยสามัญชนที่ยิ่งใหญ่ (เสียชีวิต 31 ตค. 2549) และคลิฟฟอร์ด เกียร์ตซ์ (Clifford Geertz) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของโลก (เสียชีวิต 30 ตค. 2549) ผู้เขียนขออาศัยแรงบันดาลใจจากคุณนวมทองมาทำความเข้าใจธรรมชาติของอุดมการณ์ ผ่านแนวคิดของเกียร์ตซ์

เกียร์ตซ์เสนอว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ถูกยึดโยงอยู่ในเครือข่ายของการให้ความหมายที่ตนเองปลุกปั่นมันขึ้นมา" (Interpretation of Culture, 1973, p. 5) ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จึงต้องอาศัยการ 'ตีความ' หรือเรียกอีกอย่างว่า 'การทำความเข้าใจ'  

การที่คุณนวมทองอุทิศชีวิตตนเองเพื่อประกาศอุดมการณ์จึงเป็นการกระทำที่มีความหมายอย่างหนึ่ง ไม่สามารถประเมินได้ด้วยตัวเลขโพลล์ของสำนักต่างๆ เราต้องทำความเข้าใจความหมายที่คุณนวมทองสื่อ ไม่ใช่ไป "เพิ่มการประชาสัมพันธ์การทำงานของ คมช.ให้มากขึ้น" ดังคำกล่าวของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. (ไทยโพสต์, 2 พย. 2549) และ พ.อ.อัคร ทิพยโรจน์ โฆษกกองทัพบก (กรุงเทพธุรกิจ, 1 พย. 2549)

นั่นเพราะการกระทำของมนุษย์วางอยู่บนการให้ความหมายต่อข้อเท็จจริงต่างๆ เกียร์ตซ์กล่าวว่า "ความคิด เกิดขึ้นมาจากการเสกสรรค์และการจัดการของระบบสัญลักษณ์ ด้วยการที่ความคิดให้ความหมายหลักๆแก่การกระทำ ความคิดจึงเป็นต้นแบบให้กับการกระทำลักษณะต่างๆ อันได้แก่การกระทำทางกายภาพ การกระทำทางชีวภาพ การกระทำทางสังคม และการกระทำทางจิตใจ" (เล่มเดิม, p. 214)

"แบบแผนของวัฒนธรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ปรัชญา สุนทรียศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรืออุดมการณ์ ล้วนเป็นโปรแกรมที่เป็นแม่แบบหรือพิมพ์เขียวสำหรับการจัดการทางสังคมและจิตใจ" (เล่มเดิม, p. 216)

ดังนั้นไม่ว่าเราจะเอาข้อเท็จจริงมากมายแค่ไหนไปกองต่อหน้าคุณนวมทอง ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความยึดมั่นต่ออุดมการณ์ของคุณนวมทองได้ เช่นเดียวกับที่ไม่ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะนำข้อมูลมากมายแค่ไหนไปกองให้คณะรัฐประหารดู ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของคณะรัฐประหารได้ การกระทำของคุณนวมทองจึงไม่ได้เป็นผลมาจากการรู้ข้อมูลน้อยไป แต่เพราะเขาให้ความหมายต่อชีวิตและโลกต่างออกไปจากที่คณะรัฐประหารเข้าใจ

อันที่จริงหากเข้าใจดังนี้ เราจะไม่เพียงเข้าใจการกระทำของคุณนวมทองได้ แต่เราจะเข้าใจได้ด้วยว่า การกระทำของคณะรัฐประหารก็มีฐานะเป็นอุดมการณ์เช่นกัน เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างยืนอยู่บนการให้ความหมายที่แตกต่างกัน และฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคือ

ประการแรก มนุษย์ล้วนให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆ ล้วนใส่ความคิดฝันไปในการกระทำ 'ก่อน' ที่จะลงมือกระทำสิ่งใดทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนจึงกระทำไปโดยอาศัยหลักทฤษฎี หรือแนวทางอะไรบางอย่างเป็นเครื่องโน้มนำทั้งสิ้น (แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าการกระทำตาม 'สามัญสำนึก' เพราะสามัญสำนึกก็เป็นระบบความหมายอย่างหนึ่ง ถูกให้ความหมายก่อนแล้วเช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้ใน Clifford Geertz "Common Sense as a Cultural System" In Local Knowledge)

อุดมการณ์ทางการเมืองจึงเป็นแนวทางทางการเมือง เป็นโลกทัศน์ทางการเมือง ที่ทำให้ชีวิตทางการเมืองเป็นไปอย่างปกติธรรมดาแบบใดแบบหนึ่ง โลกทัศน์ดังกล่าวนี้แสดงชัดเจนในจดหมายและเสื้อที่คุณนวมทองสวมคืนนั้นว่า คุณนวมทองมองโลกประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหารว่ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อย่างน้อย 14 ตุลาคม 16, 6 ตุลาคม 19 และ 17 พฤษภาคม 35 ในขณะเดียวกัน คุณนวมทองยึดมั่นในความเท่าเทียมกันของประชาชน ภายใต้อำนาจสูงสุดของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของทหารและตำรวจอย่างสิ้นเชิง

ประการที่สอง การกล่าวว่าอุดมการณ์บางอย่าง เพ้อฝัน เลื่อนลอย เป็นเพียงอุดมคติ ติดทฤษฎี ผิดยุค ไม่สมจริง เป็นการกล่าวหาอย่างไม่เข้าใจความสำคัญของระบบความหมายของมนุษย์ เพราะในเมื่อการกระทำทางการเมืองใดๆล้วนเป็นการกระทำตามอุดมการณ์ แนวทางทางการเมืองที่อ้างกันว่า ปฏิบัติได้จริง ติดดิน เหมาะสมกับข้อเท็จจริงของสังคม ก็ล้วนแต่เป็นการกระทำตามอุดมการณ์เช่นกันทั้งสิ้น

การกล่าวหาว่าอุดมการณ์ใดเพ้อฝัน จึงเป็นการทำลายความเชื่อถือระหว่างคนที่เชื่อในอุดมการณ์ที่ต่างกัน และบ่อยครั้งที่อุดมการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเพ้อฝัน เป็นอุดมการณ์ที่มีอำนาจในสังคมการเมืองด้อยกว่าอุดมการณ์ที่อ้างว่าสมจริง ความสมจริงของอุดมการณ์ทางการเมือง จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างของผู้ยึดครองอำนาจนำในสังคม

ดังนั้นการที่โฆษกทหารบกไม่เข้าใจว่า "ไม่มีคนไทยคนไหนที่มีอุดมการณ์สูงขนาดต้องทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับการปฏิรูปครั้งนี้" เพราะท่านคิดว่า "เนื่องจากคณะปฏิรูปฯ เข้ามา...ด้วยสันติวิธี มาด้วยการยอมรับของประชาชน ... ภายใต้เจตนาบริสุทธิ์" (กรุงเทพธุรกิจ, 1 พย. 49) นั้น  

สาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นคือ เป็นเพราะท่านหลงเชื่อไปเองว่า แนวทางทางการเมืองที่ตนยึดมั่นอยู่เท่านั้นที่ 'สมจริง' 'เหมาะกับสภาพความเป็นจริง' ทั้งๆที่ท่านก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า การล้มล้างอุดมการณ์ที่คนยึดมั่นอยู่ย่อมเป็นการล้มล้าง 'โลก' ที่คนๆนั้นเคยอยู่อย่างเป็นปกติธรรมดา คนๆนั้นจึงอาจยอมตายเพื่อปกป้องโลกของเขาได้ ทำนองเดียวกับที่ทหารยอมตายได้เพื่อปกป้องอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จากการคุกคามของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในอดีต

ประการที่สาม ปกติแล้วบทบาทของอุดมการณ์มักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  เกียร์ตซ์กล่าวว่า "เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การแสดงออกทางอุดมการณ์จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ... ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องยืนยันให้คงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิม หรือไม่ก็เพื่อนำเสนออุดมการณ์ใหม่" (เล่มเดิม, p. 218)  

ดังนั้น เมื่ออยู่ๆโลกประชาธิปไตยแบบที่คุณนวมทองอาศัยอยู่เป็นปกติธรรมดาถูกทำลายลง คุณนวมทองก็ต้องการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้คงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิม ไม่ต่างจากการเรียกร้องของพวกนักศึกษา หรืออภิสิทธิ์ชนอื่นๆ (รวมทั้งผู้เขียนบทความนี้) ต่างกันที่นักศึกษาและอภิสิทธิ์ชนมีพื้นที่แสดงความเห็นในบรรยากาศเช่นนี้ได้  

เมื่อไม่สามารถเรียกร้องให้คณะรัฐประหารฟังได้ คุณนวมทองจึงเสมือนถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในโลกที่เขาไม่คุ้นเคย เกิดความตระหนก กลายเป็นคนที่ตกไปอยู่ต่างวัฒธรรมต่างธรรมเนียมประเพณีที่เขาไม่สามารถปรับตัวได้ ยอมรับไม่ได้ จนถึงขั้นฝืนทนดำรงชีพอยู่ด้วยไม่ได้ต่อไป  

หากคณะรัฐประหารปวารณาว่าได้กระทำรัฐประหารครั้งนี้เพื่อประชาธิปไตย แทนที่ท่านจะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจท่าน ท่านต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องทำความเข้าใจประชาชนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยจนอาจยอมตายเพื่ออุดมการณ์นี้ได้  

และเพื่อแสดงความจริงใจที่จะทำความเข้าใจประชาชน สิ่งแรกที่ท่านต้องทำคือการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมือง ด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึกและคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

(เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2549)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)