Skip to main content

หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด

 
แต่หลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน ที่นักศึกษาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งด้านอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม คงยังจำ "ยังแพด" กลุ่มเด็กโข่งที่นำโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสถาบันหนึ่งได้ ตามมาด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยแถวบางกะปิ ที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันในการชุมนุมคนเสื้อแดงแถวบางกะปิเมื่อปีกลาย
 
หลังการรัฐประหาร นักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างกลุ่มต่างก็เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก พวกเขาล้วนเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมนักศึกษากันมาก่อน เดิมทีพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้พวกเขาจำนวนหนึ่งถูกจองจำ เพราะพวกเขาจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ยอมจำนนกับระบอบเผด็จการ 
 
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในทศวรรษ 2550 มีข้อน่าสังเกตบางประการดังนี้
 
หนึ่ง ไม่เป็นขบวนการใหญ่โต เท่าที่ผ่านมา พวกเขายังไม่ได้รวมตัวกันอย่างเป็นเครือข่ายใหญ่โต แม้จะมีความพยายามบ้างในระยะเวลาแคบๆ อย่าง "ยังแพด" หรือมีการอาศัยองค์กรเดิมที่เคยแสดงออกในนาม "นิสิต" หรือ "นักศึกษา" แต่การรวมตัวในลักษณะนั้นก็กลับไม่มีพลังรับใช้พวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาจึงไม่ได้ใช้กลยุทธแบบที่นักศึกษารุ่นพ่อรุ่นแม่เขาเคยใช้มา หรือไม่อย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้สนใจที่จะสร้างองค์กรใหญ่โตเทอะทะเพื่อทำกิจกรรมแต่อย่างใด สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากลักษณะเด่นของนักศึกษาปัจจุบันที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า
 
สอง กระจายตัวในหลายๆ จังหวัด ไม่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้มีธรรมศาสตร์ จุฬา มหิดล รามคำแหง เป็นหัวหอก เป็นศูนย์กลางดังแต่ก่อนในทศวรรษ 2510 นี่แสดงให้เห็นว่า การศึกษากระจายตัวจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดแล้วอย่างเป็นผลสำคัญ จนทำให้นอกเหนือจากการมีสถานศึกษาแล้ว ยังมี "ผู้มีการศึกษา" ผู้ใช้ความรู้ความคิดในการทำกิจกรรมทางสังคมในสถานศึกษาเหล่านั้น นอกจากจังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นต้นแล้ว นอกเชียงใหม่ ที่โดดเด่นขณะนี้มีนักศึกษาที่ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี หรือแม้กระทั่งที่ชลบุรีและปัตตานี จังหวัดเหล่านี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ทั้งสิ้น
 
การกระจายตัวนี้สอดคล้องกับการกระจายตัวทางการเมือง การกระจายตัวของกิจกรรมนักศึกษาแสดงว่าการเมืองกระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ต่างจังหวัดในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชนบท เพราะมหาวิทยาลัยส่วนมากล้วนตั้งอยู่ในเขตเมือง หากแต่ที่สำคัญคือ นี่แสดงให้เห็นถึงดอกผลของการกระจายอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเมืองของนักศึกษาเองก็ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่เช่นเดิมอีกต่อไป
 
สาม ประเด็นเคลื่อนไหวหลากหลาย มีทั้งประเด็นเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติและประเด็นสิทธิเฉพาะด้าน ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากประเด็นคลาสสิคคือการที่นักศึกษาเป็นปากเป็นเสียงให้ "ชาวบ้าน" ให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เรื่องที่ทำกิน เรื่องสิทธิทางกฎหมายต่างๆ แล้ว นักศึกษายังเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น เช่นการต่อสู้แสดงสิทธิ์ในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เรื่องสิทธิการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี ไม่ควรมองข้ามว่า นักศึกษาจะเลิกสืบทอดการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิเสรีภาพต่อเนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่อง "ส่วนตัว" มาก่อน หรือต่อสู้เพื่อ "ประเด็นปัญหาเฉพาะ" จำนวนมากในขณะนี้ ได้แปลงการรวมตัวของพวกเขามาต่อสู้เพื่อประเด็นสิทธิเสรีภาพ นี่แสดงว่าพวกเขาคงเล็งเห็นว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเป็นการต่อสู้ในประเด็นพื้นฐานของสิทธิอื่นๆ 
 
สี่ การแปลงวัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นสื่อการเมือง นี่เป็นแง่มุมที่แหลมคมของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน นั่นก็คือการอาศัยสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย และพื้นที่การแสดงออกของคนรุ่นเขาเองในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งอาหารฟาสฟูด ฉากจากภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ย่านช้อปปิ้ง วัตถุทางวัฒนธรรมสมัยนิยมเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เป็นภาษาการเมืองของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน 
 
การที่พวกเขาดึงเอาการเมืองออกมาจากพื้นที่สัญลักษณ์เดิมๆ ที่เคยจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หรือนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปเป็นพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะพื้นที่ทางการเมืองดั้งเดิมอย่างมหาวิทยาลัยและอนุสาวรีย์ กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้ปลอดประชาธิปไตย ถูกควบคุมจนหมดพลังประชาธิปไตยไปเนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ที่ไม่แสดงบทบาทปกป้องประชาธิปไตยไม่พอและกลับยังเข้าไปร่วมมือกับคณะรัฐประหาร แต่อีกส่วนหนึ่ง การเคลื่อนไหวแบบใหม่ๆ ของนักศึกษาก็ได้นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของพวกเขามากขึ้น นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น
 
ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะยุยงใคร เพียงแต่จะตอบย้ำข้อสังเกตโดยตลอดต่อเนื่องมาของผมว่า บทบาทของนักศึกษาไม่เคยห่างหายจากการเมืองไทย การปรากฏตัวของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ตรงชัด แหลมคม สร้างสรรค์ แสบทรวง และใกล้ชิดประชาชน ในแบบฉบับของคนรุ่นปัจจุบันเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)