เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
วิชามานุษยวิทยาแบบอเมริกันมี 4 สาขาใหญ่ สาขาหนึ่งศึกษาวัฒนธรรม สาขาหนึ่งศึกษาภาษา ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินมีสาขาแรก ส่วนสาขาที่สองส่วนหนึ่งกลายเป็นหน้าที่ต่างหากของภาควิชาภาษาศาสตร์ มีวิชาที่ผมสอนเทอมที่แล้วคือ "ภาษาและวัฒนธรรม" ที่กำลังจะกลายเป็นวิชาบังคับให้นักเรียนภาษาได้เรียนทางด้านมานุษยวิทยาภาษาด้วย ส่วนอีก 2 สาขาที่ยังคงเป็นจุดเด่นของภาควิชานี้ที่นี่คือ สาขาโบราณคดีและสาขามานุษยวิทยาชีวภาพ หรือที่เดิมเรียกว่ามานุษยวิทยากายภาพ
เมื่อครั้งที่ผมเรียนที่นี่ร่วม 10 ปีก่อน ได้เรียนวิชาโบราณคดีเพียงวิชาเดียว ส่วนวิชามานุษยวิทยาชีวภาพไม่ได้เรียน แต่ที่จริงนักศึกษาไม่ว่าจะระดับตรี โท หรือเอก ก็สามารถเลือกเรียนวิชาข้ามทั้ง 3 สาขาได้ ได้มากจนกระทั่งบางคนอาจจบโดยได้รับสองปริญญา เช่นนักเรียนผมคนหนึ่ง เขาศึกษามานุษยวิทยาชีวภาพควบกับมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
วันนี้ได้มาพบกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อแดเนียล เบ็นเด็น (Danielle M. Benden) อายุยังน้อยมาก เธอเป็นทั้งอาจารย์ผู้บรรยายและเป็นภัณฑารักษ์ประจำภาควิชามานุษยวิทยาเพียงคนเดียว แต่งานหลักของเธอนั้นมากมายมหาศาล ตั้งแต่จัดระบบบรรดาโบราณวัตถุและกระดูกทั้งของจริงและของจำลอง ตลอดจนจัดการเรียนการสอน และทำโครงการจัดแสดงโบราณวัตถุและกระดูกต่างๆ ทางด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาชีวภาพ
เบ็นเด็นเล่าว่า ภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่เริ่มเก็บโบราณวัตถุและกระดูกมาตั้งแต่ค.ศ. 1897 จนขณะนี้ก็ร้อยกว่าปีแล้ว โบราณวัตถุเหล่านี้จึงมีจำนวนมหาศาล เฉพาะห้องเก็บของเหล่านี้ก็วันนี้ผมก็นับได้ 4 ห้องเล็กกับอีก 1 ห้องใหญ่ๆ แล้ว และที่จริงผมรู้ว่ายังมีข้าวของพวกนี้ซุกซ่อนอยู่ในชั้นเก็บของห้องอาจารย์อีกหลายท่าน และยังมีห้องเรียนที่เป็นห้องทดลองในตัวที่เพิ่งสร้างอย่างทันสมัยอีกอย่างน้อยเท่าที่เห็นวันนี้ 4 ห้อง โดยรวมแล้วจึงได้เห็นว่าภาควิชาได้ลงทุนอย่างมหาศาลกับการศึกษาทางด้านนี้
ผมก็เลยตื่นตาตื่นใจไปกับทั้งของที่ภาควิชาเก็บไว้และวิธีการจัดการดูแลและการทุนเทของภาควิชา เนื่องจากภาควิชานี้ไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์ ของพวกนี้จึงเก็บไว้ใช้ในเพื่อการเรียนการสอนและจัดแสดงชั่วคราวเท่านั้น คนทั่วไปจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็น
โบราณวัตถุที่เบ็นเด็นภัณฑารักษ์ผู้พาชมอยากอวดในวันนี้มีมากมาย ที่เด่นๆ ก็เช่นบรรดาใบมีดหินกระเทาะขนาดเล็ก ใหญ่ หัวขวานหิน หัวธนูที่ทำจากหินแก้วใส เหล่านี้มาจากแทบทุกทวีป เครื่องปั้นดินเผาอายุตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันปีจากทั่วโลก ชิ้นพิเศษๆ ก็เป็นเศษเครื่องปั้นดินเผาของมนุษย์ยุคแรกเริ่ม นอกจากนั้นก็พวกกระดูกและกะโหลกมนุษย์โบราณและมนุษย์วานร ของเหล่านี้เก็บสะสมมานานโดยคณาจารย์ที่สอนภาควิชานี้มาก่อน และทั้งที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีต่างๆ
ที่ผมเพิ่งทราบเป็นความรู้ใหม่คือ บรรดากระดูกและกะโหลกมนุษย์โบราณและมนุษย์วานรนั้น แม้ส่วนมากนักเรียนจะได้เรียนจากของจำลองทำเป็นวัสดุเรซิน ก็จะต้องเป็นการจำลองทีละชิ้นมาจากกะโหลกและกระดูกของจริงต้นฉบับที่บางชิ้นเก็บไว้ในสถาบันการศึกษาในทวีปต่างๆ ทั่วโลก เช่นบางชิ้นจำลองมาจากสถาบันวิชาการในแอฟริกา วิธีนี้จึงทำให้สามารถได้รายละเอียดของร่องรอยต่างๆ อย่างครบถ้วน เสมือนศึกษาจากกระดูก กะโหลกจริงกันเลยทีเดียว
นอกจากนั้นภัณฑารักษ์ท่านยังเล่าถึงโครงการที่ท่านกำลังจะจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ขนาดเล็ก จะใช้วัตถุจัดแสดงราวๆ ไม่เกิน 100 ชิ้น เรื่องโบราณคดีของวิสคอนซิน ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นความเชี่ยวชาญหนึ่งของภาควิชานี้ ที่ก็มีนักโบราณคดีที่ศึกษาเรื่องนี้เพียง 2 คนเท่านั้น แต่กระบวนการจัดนิทรรศการนี้นั้นต้องใช้เวลาเตรียมการเป็นปี เมื่อร่างโครงการแล้วก็ให้นักศึกษานำไปเสนอให้ชาวบ้านในชุมชนชาวอเมริกันพื้นเมืองได้วิจารณ์เสนอแนะความเห็น และก็นำมาสู่การพัฒนาเนื้อหาการจัดแสดง นิทรรศการนี้จวนจะนำเสนอแล้ว ปลายเดือนหน้านี้หากมีโอกาสจะไปชมมาเล่าให้อ่านกันครับ
ของอีกส่วนหนึ่งที่ภัณฑารักษ์ตื่นเต้นอยากอวดนักวิชาการจากไทยสองคนวันนี้คือ ชุดเครื่องแต่งกายพร้อมเครื่องประดับศีรษะของตัวละครเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเป็นของเก่าที่นักมานุษยวิทยาชื่อดังคือเจนและลูเซียน แฮงส์ (Jane and Lucian Hanks) ที่มาศึกษาวิจัยในประเทศไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริจาคไว้ ความเป็นมาเป็นอย่างไรไม่แน่ชัด แต่เมื่อได้เห็นสภาพหน้ากากเจ้าเงาะ ชฎานางรจนา และเสื้อชุดละครบางส่วนแล้ว ก็น่าประทับใจกับการเก็บรักษาข้าวของเป้นอย่างดีของที่นี่
น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เคยรู้จักด้านนี้ของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่มากนัก จึงไม่ได้ชวนให้ผมอยากศึกษาความรู้ด้านนี้มากเท่าที่ควร แต่ผมก็หวังที่จะได้บอกกล่าวกับคณาจารย์และนักศึกษาที่นี่ว่า พวกเธอมีของดีอีกมากมายที่ควรนำเสนอให้อย่างน้อยนักศึกษาต่างสาขาในภาควิชาเดียวกันได้รับรู้
ส่วนนักวิชาการไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะสะท้อนใจว่า การเรียนการสอนด้านนี้ในประเทศไทยทำไมจึงดูไม่น่าตื่นเต้น ไม่น่าสนุกเท่ากับที่ภัณฑารักษ์วัยเยาว์ท่านนี้ชี้ชวนให้ดูให้ชมให้เรียนรู้ก็ไม่ทราบ ทำไมบรรดาข้าวของโบราณในประเทศไทยมันจึงศักดิ์สิทธิ์เกินเอื้อมจนผู้สนใจไม่สามารถหยิบจับลูบคลำได้ก็ไม่ทราบ ทำไมความรู้โบราณและพิพิธภัณฑ์จึงมักไม่ค่อยประสานเชื่อมโยงกับผู้คนและชุมชนมากนักก็ไม่ทราบ