Skip to main content

ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ในหลายๆ ด้านด้วยกัน 

แรกเลยคือ ผมไม่เคยไปเมืองบอสตันมาก่อน ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อย ผมยังไม่เจอเสน่ห์ของบอสตัน นอกจากความเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ที่อาจจะทำให้เมืองพอจะน่าเสน่หาขึ้นมาบ้าง ตัวประชากรจึงน่าสนใจยิ่งกว่าตัวเมือง แต่ที่จริงทั้งสองส่วนกำน่าสนใจคนละแบบ ด้านประชากร ผมสังเกตว่าคนที่นั่นทั้งในตัวเมืองบอสตัน บนรถสาธารณะทั้งรถเมล์และรถไฟใต้ดิน ส่วนใหญ่มีอายุน้อย คืออยู่ระหว่าง 20 กว่าๆ ถึง 30 กว่าๆ เป็นคนวัยการศึกษาระดับอุดมศึกษา แทบไม่เจอนักเรียนมัธยม เจอคนสูงวัยน้อย นั่นก็ไม่แปลก เพราะนอกจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อย่างมหาวิทยาลัยบอสตัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (มฮ.) และ MIT แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกที่ตั้งอยู่ที่นั่น 

อีกด้านของประชากรคือ มีคนขาวที่พูดหลากภาษาปะปนกับคนเอเชียนมาก ซึ่งผมเดาอีกว่าน่าจะเป็นนักเรียนจากเอเชีย มากกว่าจะเป็นคนที่เกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือในบอสตัน ดูเผินๆ ผมว่าบอสตันคงมีคนเอเชียนมากกว่าคนดำด้วยซ้ำไป ซึ่งนั่นทำให้ "ไชน่าทาวน์" ที่บอสตันค่อนข้างคึกคัก พวกเพื่อนๆ ผมติดใจร้านติ่มซำอยู่ร้านหนึ่ง ผมก็เลยให้พวกเขาพาไปชิม ก็อร่อยและมีติ่มซำจานแปลกๆ ที่ผมไม่เคยกินมาก่อน อย่างขนมกุ่ยช่ายก็ใส่ผักน้อยแล้วใส่หมูเพิ่มเข้ามา แต่ที่โดดเด่นคือติ่มซำที่มีอาหารทะเลผสม จะสด อร่อยมาก คงเพราะบอสตันติดทะเล 

สิ่งที่ดูดีในบอสตันอีกอย่างคือชานเมือง ผมมีโอกาสได้ไปพักทั้งที่โรงแรมนอกตัวเมืองบอสตัน (มีผู้รู้กระซิบมาว่า เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำจากบอสตันไป แถบ มฮ. ต้องเรียกว่าเคมบริดจ์*) และที่บ้านพักอาจารยืไทยท่านหนึ่งที่มาทำวิจัยที่ มฮ. อยู่ห่างจาก มฮ. เพียงสถานีรถใต้ดินเดียว เท่าที่เห็น บ้านเรือนอายุสักร้อยปีขึ้นไปจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนมากมีถึง 3 ชั้น แล้วมักเป็นบ้านเป็นหลังๆ ไม่เหมือนในชานเมืองชิคาโกที่มีบ้านแฝดแบบทาวน์เฮาส์บ้านเราจำนวนมาก อีกอย่างคือคงเนื่องจากมีมหาวิทยาลัยมาก บ้านเหล่านี้มักกลายเป็นห้องเช่าสำหรับนักศึกษา และในอาณาบริเวณที่พักอาศัยจึงมักมีร้านรวง คือเป็นเมืองขนาดย่อม มีร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายของชำ มีกระทั่งร้านขายของที่ระลึก เปรียบได้กับท่าพระจันทร์หรือท่าช้างสมัยรุ่งเรือง ที่มีร้านเล็กร้านน้อยเต็มไปหมด 

เมื่อไปถึงบอสตัน ผมตื่นตาตื่นใจกับจำนวนหิมะที่ตกค้างอยู่มาก ทั้งในเมืองบอสตันและนอก*เมือง มันกองกันอยู่สูงบางแห่งเกือบท่วมหัว นี่ขนาดมันละลายไปบ้างแล้วก็ยังเหลืออีกมาก ถึงสัปดาห์นี้อาจละลายไปเกือบหมดแล้วเพราะอากาศตอนนี้อุ่นขึ้นมาก การมีหิมะกองค้างอยู่ตามทางเดินริมถนนมากขนาดนี้แสดงว่าที่เขาว่าหิมะตกมากที่สุดในรอบ 100 ปีนั้นคงจะจริง จากประสบการณ์การอยู่ในเมืองหิมะอย่างแมดิสัน วิสคอนซินมาก่อน ผมเข้าใจได้เลยว่าทำไมเขาไม่กำจัดมันเสีย เพราะปัญหาใหญ่คือต้องสิ้นเปลืองพลังงานมาก และไม่รู้จะเอาไปกองไว้ไหน ลำพังขจัดหิมะจากถนนให้เกลี้ยงได้ก็เก่งแล้ว ถ้ากำจัดไม่หมดดีจริง หิมะที่ละลายจะกลายเป็นน้ำแข็ง ลื่นและอันตรายมาก 

การนำเสนอผลงานวิชาการที่ มฮ. ก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ผมไม่ได้เกร็งกับการเสนองานวิชาการแบบนี้มาค่อนข้างนานแล้ว แต่นี่ไม่เพียงต้องนำเสนอด้วยภาษาที่ไม่ถนัด แล้วยังเป็นที่ มฮ. ซึ่งมีชื่อเสียงน่าเกรงขาม ก็เลยทำให้ต้องเตรียมตัวอย่างเข้มข้น แม้จะรู้ว่าประเดี๋ยวแค่ 20 นาทีมันก็จะผ่านไป แต่ก็ยังมีความประหม่าและมีช่วงวินาทีเงียบงันอยู่หลายหน แม้จะเตรียมไปอ่าน แต่เมื่ออยู่ในภาวะคับขัน ก็ต้องตัดตอน อาศัยลูกเล่นเฉพาะหน้าเอาตัวรอดไปได้ หลังการนำเสนอเสร็จแล้วมีคนถามมาก ผมก็โล่งใจถือว่าเป็นผลตอบรับที่ดี เพราะหากไม่เอาไหนเลย อย่างน้อยยังพอจะก็ชวนให้คนสงสัยที่จะอยากรู้หรือคิดว่าเราอธิบายอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง 

(ขอบคุณอาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจที่เอื้อเฟื้อภาพ)

อีกสิ่งสำคัญหนึ่งที่ได้รู้คือ งาน Human Rights and Everyday Governance in Thailand: Past, Present, and Future (สิทธิมนุษยชนกับการปกครองชีวิตประจำวันในประเทศไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ที่ผมไปร่วมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อกู้ชื่อเสียงของ มฮ. ที่ถูกวิจารณ์ว่ารับเงินฝ่ายอนุรักษ์นิยมจากประเทศไทยที่สนับสนุนรัฐประหารไปก่อตั้งโครงการไทยศึกษา งานนี้ถือเป็นการตอบคำถามว่า มฮ. จะถูกแหล่งทุนชักนำหรือบิดเบือนให้ละเลยเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่ ผู้จัดเชิญทั้งฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน (แต่ตัวแทนจากสถานทูตไทยไม่ได้มาร่วมงาน อ้างว่าการเดินทางขัดข้อง) และฝ่ายรัฐบาลเก่า (ซึ่งมีตัวแทนจำนวนหนึ่งเดินทางมาฟังและแสดงออกทางการเมือง) และอนุญาตให้ตัวแทนนักวิชาการที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทยได้อ่านแถลงการณ์ในงาน ก็นับได้ว่า มฮ. สามารถตอบโต้ข้อครหาได้ค่อนข้างดี 

ที่จริงยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกมาก เช่น การได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยา ซึ่งเป็นเพียงแห่งหนึ่งในบรรดารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วนของ มฮ. เอาไว้เมื่อกลับไปอีกจะหาโอกาสชมให้มากขึ้นแล้วจะมาเขียนเล่าอีก อย่างไรก็ดี พร้อมๆ กับประสบการณ์เหล่านั้น ผมยังได้พบเจอและสังสรรค์กับมิตรสหายที่ไม่ได้เจอกันมานานเกือบปีแล้ว นับเป็นการพบเจอกันในที่ห่างไกลบ้านเมืองของแต่ละคนอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน ซึ่งก็ยังความรื่นรมย์และพลังใจให้ทำงานกันต่อไปได้ไม่น้อยทีเดียว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)