Skip to main content

วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการในภาคเช้าที่ผู้จัดเชิญชาวนาจากลพลุรี ชาวปกาเกอญอจากเชียงใหม่ เกษตรกรจากลำปาง เกษตรกรจากบุรีรัมยย์ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากกระบี่ แค่ฟังจากลีลาการพูดของแต่ละคนแล้วก็บอกได้เลยว่า แต่ละคนผ่านประสบการณ์การต่อสู้มายาวนาน โชกโชน จนตกผลึกเป็นคำพูดที่ชัดถ้อยชัดคำ ตรงไปตรงมา สะท้อนปัญหาพวกเขาเองโดยละเอียด ไม่อ้อมแอ้มอ้อมค้อมเหมือนอ่านงานวิชาการ  

เหนืออื่นใด ผมทึ่งที่พวกเขาสามารถเล่าความทุกข์ยากของตนเองด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม พวกเขาคงต่อสู้กับอำนาจมายาวนานจนกระทั่งสามารถยิ้มเยาะมันได้ คงมีแต่ความจริงใจกับการต่อสู้ของตนเองกระมังที่ทำให้พวกเขาเข้มแข็งขนาดนี้ หรือเพราะพวกเขาไม่ได้มีทางเลือกมากมาย ไม่ได้ถูกมองเห็นบ่อยนัก พวกเขาก็จึงต้องยืนหยัดและสืบต่อพลังของตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยรอยยิ้มหรือน้ำตา ผมเองเสียอีกที่แทบจะทนฟังพวกเขาไม่ได้ในหลายๆ ตอน 

หนุ่มบุรีรัมย์เล่าเรื่องการทำกินในที่ดินผืนป่า แล้วถูกไล่จากที่ทำกินและที่อาศัยจนต้องมาอาศัยอยู่ข้างถนน ซึ่งไม่มีที่ทำกินอีกต่อไป แถมเขายังถูกติดตามคุกคามจากทหาร พวกเขาเสียดายกระบวนการต่อรองกับรัฐเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่ดำเนินมาเนิ่นนาน แต่กลับต้องหยุดลงและอาจจะต้องถูกล้มล้างไปเลยด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร ด้วยประกาศเพียงไม่กี่ประกาศที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนและประวัติความเป็นมาของปัญหาในแต่ละท้องถิ่น 

ผู้นำชาวนาภาคกลางเล่าปัญหาการกดราคาข้าวลงของรัฐบาลนี้ แถมยังการบริหารจัดการน้ำอย่างไร้ประสิทธิภาพ หนุ่มใหญ่จากกระบี่เล่าถึงผลกระทบของโรงไฟไ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้น และยกรายละเอียดยิบย่อยที่ผ่านการศึกษามาอย่างจริงจังว่า การส้รางโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ช่วยประโยชน์อะไรขึ้นมา แถมชาวกระบี่ยังมีข้อเสนอพลังงานทางเลือกที่เพียงพอต่อความต้องการของจังหวัด  

หนุ่มใหญ่ชาวปกาเกอญอกลั่นประสบการณ์การต่อสู้กับรัฐไทยมาหลายสิบปีว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อคงวิถีชีวิตแบบพวกเขา ไม่ใช่แค่เพื่อรายได้หรือเพื่อการทำมาหากินทางเศรษฐกิจ เขาคนนี้มีคำคมมากมายให้ผู้ฟังทั้งรู้สึกเจ็บแสบและทึ่งกับระดับการเข้าใจปัญหาของเขา หนึ่งในนั้นคือคำกล่าวที่ว่า "พวกผมไม่ได้บุกรุกป่า พวกคนไทยต่างหากที่มาบุกรุกบ้านผม ที่ผมอยู่มานานก่อนพวกคุณจะมา"  

สาวมากพลังและรอยยิ้มสมาชิก อบต. จากลำปางบอกเล่าการต่อสู้กับความอยุติธรรมลำเอียงของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารในขณะนี้ ที่ไล่พวกเธอออกจากชุมชนที่อยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่าสงวน แต่รัฐกลับนำพื้นที่ทำกินของพวกเธอไปให้บริษัทเหมืองแร่ แล้วหลังการรัฐประหาร ทหารยังทำให้พวกเธอกลายเป็นคนผิด ตราหน้าว่าพวกเธอดื้อรั้น เธอประกาศว่า "ยังจะให้พวกเราเสียสละอะไรอีก คุณว่าพวกเราเห็นแก่ตัว แล้วพวกคุณล่ะเห็นแก่เราบ้างหรือเปล่า"  

อย่างไรก็ตาม ระหว่างพวกเขาเองก็มีข้อแตกต่างแฝงอยู่ในท่าทีต่อระบอบการเมืองของพวกเขา ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ฝ่าย  

ฝ่ายหนึ่งได้ข้อสรุปว่า การรัฐประหาร การอยู่ในอำนาจการปกครองของทหาร ปิดกั้นและยังคุกคามการนำเสนอปัญหาของพวกเขา แถมยังล้มล้างกระบวนการแก้ปัญหาชุมชนที่ดำเนินมาเนิ่นนาน อีกฝ่ายหนึ่งสรุปว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร ก็คุกคามความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะผู้มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนอีกฝ่ายสรุปว่า เขาต่อสู้กับรัฐมาเนิ่นนาน เพราะฐานะที่ถูกผลักให้เป็นคนนอก คนที่ถูกลบเลือนของพวกเขา หากแต่พวกเขาไม่เคยต้องถูกคุกคามในการต่อสู้มากเท่าการต่อสู้กับอำนาจรัฐในรัฐบาลนี้ 

นอกจากเปิดหูเปิดตาคนเมืองอย่างผมแล้ว ประโยชน์หนึ่งของงานวันนี้คือการที่ผู้ประสบภัยจากนโยบายเฉพาะหน้าของรัฐบาลนี้ได้มาเล่าปัญหาจากที่ต่างๆ ให้พวกเขาได้รับฟังกันเอง ไม่ใช่เฉพาะจากภาคต่างๆ และจังหวัดต่างๆ แต่พวกเขายังมาจากระบบนิเวศที่แตกต่างกัน จากพื้นเพที่แตกต่างกัน จากการดำรงชีพที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดมาเจอกันด้วยปัญหาเดียวกัน คือผลกระทบจากการละเมิดสิทธิทำกิน ละเมิดสิทธิการใช้ทรัพยากรของพวกเขา ผมหวังว่าอย่างน้อยพวกเขาน่าจะได้ก่อสำนึกถึงความเป็น "ประชาชน" ที่ถูกกระทำจากนโยบายรัฐในขณะนี้ได้บ้าง 

ขอบคุณ 14 นักศึกษาที่มีส่วนสำคัญในการทำให้เสียงที่ถูกกักกั้นมานานนับปีได้ถูกเปิดเผยขึ้นมา ขอบคุณประชาชนผู้เดือดร้อนอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนี้ทุกคน พวกคุณกล้าหาญมากที่เดินออกมาเป็นแนวหน้าในการแสดงปัญหาและจุดยืนของพวกคุณ มันน่าคับแค้นใจที่การบอกเล่าความเดือดร้อนของประชาชนเอง จะต้องเสี่ยงกับการที่พวกเขาอาจถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรต้องอาญาแผ่นดิน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี