Skip to main content

จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 

ส่วนชื่อสุดท้าย ปัจจุบันคนกลุ่มเดียวกันนี้ใช้มากขึ้น แต่ที่ใช้มากกว่าคือที่ประเทศเวียดนาม

แต่หากจะให้พูดกันอย่างรัดกุมแล้ว คนทั้งสองถิ่นมีพื้นเพเดียวกัน ถิ่นฐานหลักคือที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม หากแต่พวกเขาส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมาเป็นไพร่เป็นทาสในจังวัดเพชรบุรีหลายระลอก นับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ของกรุงเทพฯ

ผมไม่อยากยืนยันว่าชื่อใดถูกต้องที่สุด เพราะแม้แต่ชื่อ "ไทดำ" หรือหากออกเสียงให้ใกล้เคียงหน่อยคือ "ไต๊ลำ" หรือ "ไตดำ" ก็ยังไม่ใช่ชื่อที่คนกลุ่มนี้ในเวียดนามเรียกตัวเองเสมอมาก่อนนานแล้วอยู่ดี พวกเขานิยมเรียกตนเองตาม "เมือง" ที่พวกเขาสังกัดมากกว่า เช่น ไต๊ลา ไต๊หม้วย คือคนเมืองลา คนเมืองหม้วย เป็นต้น

ถึงที่สุดแล้วคำว่า ไต๊ หรือ ไต หรือ ไท หมายถึงคนในสังกัดของเมือง หรือคนในสังกัดของสังคมหนึ่ง ความเป็น "ไท" จึงไม่ได้แปลว่า "อิสระ" อย่างที่บางคนเข้าใจ แต่แปลว่าการเป็นผู้มีสังกัด ซึ่งหมายถึงการเป็นไพร่ ก็คือการเป็นผู้ไม่อิสระนั่นแหละ ข้อถกเถียงเหล่านี้หากยังไม่ได้อ่านงานอีกมากมาย เช่นงานของ George Condominas เรื่อง social space ของคนไต หรืองานของจิตร ภูมิศักดิ์เรื่อง "ความเป็นมาฯ" และหากไม่รู้ภาษาไท-ลาว ก็อาจไม่เข้าใจ และได้โปรดเข้าใจประเด็นเหล่านั้นก่อนจึงค่อยมาเถียงกับผม

ที่จริงแค่ว่าด้วยคำเรียก ยังมีอีกคำคือคำว่า "ผู้" หรือหากออกเสียงแบบคนไทในเวียดนามภาคตะวันตกจะเป็น ฝู่ หมายถึงคน หรือชาว คำนี้เป็นอีกคำที่คนกลุ่มนี้ใช้เรียกตนเอง เช่น ผู้ลาว ผู้ไท เป็นต้น

เฉพาะแค่เกริ่นนำก็ยืดยาวเสียแล้ว ที่จริงผมแค่อยากเล่าว่า ในการไปเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน งานอีกส่วนของผมคือการไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคน "ลาวโซ่ง" ที่จังหวัดเพชรบุรี หลัก ๆ แล้วผมได้พบคน 3 คน และได้ประโยชน์จากการไปพบปะผู้คนที่นั่นหลายประการด้วยกัน

 

 

หนึ่ง ผมได้ตรวจสอบภาษาเท่าที่ผมจะทำได้ ก็คือด้วยการอาศัยสำเนียงภาษาไตดำที่ผมเรียนมาจากเวียดนาม มาฟัง มาพูดกับคนที่เพชรบุรี ผมพบว่าเมื่อเข้าไปอยู่ในบริบทของการสนทนาของเขาจริง ๆ ก็ได้ยินเสียงที่แทบจะทายกันได้สนิทกับเสียงภาษาไตดำที่ผมคุ้นเคยที่เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงวรรณยุกต์ จะมีเสียงพยัญชนะบางตัวที่มีเสียงต่างออกไปแล้ว เช่นเสียง ฝ ถูกแทนที่ด้วยเสียง ผ ส่วนเสียง z แบบภาษาอังกฤษที่มีในคำไตดำซึ่งเทียบกับภาษาไทยภาคกลางว่า อย เช่น อยาก ก็เปลี่ยนเป็นเสียง อย แบบภาษาไทยกลางมากขึ้น

เมื่อเทียบคำศัพท์ โดยเฉพาะกับคนที่ยังรู้คำศัพท์เก่า ๆ ก็พบว่าคนที่เพชรบุรีใช้คำศัพท์ชุดเดียวกันกับที่เวียดนามหลายคำทีเดียว คำเหล่านี้แทบจะไม่ค่อยใช้หรือไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยภาคกลางด้วยซ้ำ เช่นคำศัพท์ในชีวิตประจำวันอย่างคำว่า "เอ๊ม" ที่แปลว่าแม่ "คั่น" ซึ่งแปลว่าสบายดี "คว๊า" ซึ่งแปลว่า อย่างนั้นหรือ "โซ้บ" ซึ่งแปลว่าปาก หรือ "นั้น" ซึ่งแปลว่าเสียงอื้ออึง "อ๋วย" ซึ่งแปลว่าสกปรก

สรุปรวม ๆ แล้วในด้านภาษา ผมไปเจอคนที่นั่นหลายคนแล้วได้ความรู้สึกคอนข้างเหมือนกลับไปเยือนถิ่นไตดำในเวียดนาม ที่ยุ่งยากสำหรับผมคือการต้องใช้คำไทยแทนคำเวียดในกรณีที่เป็นคำศัพท์สมัยใหม่ อย่างคำว่า การเมือง รัฐบาล เศรษฐกิจ คำพวกนี้ไตดำในเวียดนามใช้คำเวียดแทน ผมก็ชินกับการใช้คำเวียดแทนคำเหล่านั้นเมื่อพูดภาษาไทดำมากกว่าใช้คำไทยแทน เมื่อพูดกับคนที่เพชรบุรี ผมก็ต้องคอยสำกดให้ตัวเองใช้คำไทยแทน

แม้ภาษาจะต่างไปบ้าง แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นคนกลุ่มที่เป็นญาติกันกับคน "ไตดำ" ในเวียดนามอย่างแน่นอน มากกว่าจะเป็นคนไตขาวและคนไตแดง หรือคนไท-ไตกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศเวียดนาม

สอง คนกลุ่มนี้ยังคงดำรงความเป็น "ลาวโซ่ง" "ไทดำ" ของตนอย่างค่อนข้างเข้มแข็ง ถึงแม้ว่าจะผ่อนปรนหย่อนยานไปบ้างในบางยุคสมัย แต่ผมคิดว่าพวกเขาจะยิ่งค่อย ๆ รื้อฟื้นความเป็นตัวตนของพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันและในอนาคต ที่ว่าพวกเขาดำรงอัตลักษณ์ตนเองอย่างเข้มแข็งก็เพราะว่า พวกเขายังคงนับถือผีบรรพบุรุษของพวกเขาอย่างเข้มข้น ประเพณีกระทั่งเกิด การดูแลผีรายสัปดาห์ การเลี้ยงผีเรือนเป็นระยะ ๆ การแต่งงาน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือพิธีกรรมของความตาย ยังคงเหนียวแน่นผ่านความเชื่อเรื่องผีแบบของพวกเขา

ที่น่าสนใจคือยังมีคนสืบทอดการเป็น "หมอ" และ "มด" อยู่อย่างสำคัญ แน่นอนว่ารายละเอียดของพิธีกรรมคงเปลี่ยนแปลง หย่อนยานลงไปบ้าง

ที่ว่าน่าจะยิ่งเข้มข้นขึ้นก็เพราะว่า รัฐไทยค่อนข้างให้อิสระในการจัดการชีวิตตนเองของคนกลุ่มนี้ แม้พวกเขาจะมีวัดและเข้าวัดบ้าง แต่ก็ไม่ได้กลายเป็น "ชาวพุทธ" แบบชาวไทยทั่วไป

 

 

การเมืองท้องถิ่นสัมพันธ์กับการรื้อฟื้นและธำรงอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างยิ่ง หากการเมืองระดับชาติที่เป็นเผด็จการอย่างยิ่งในขณะนี้ไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงทำให้ทุกคนกลายเป็น "ไทย" เหมือนๆ กันหมด และหากการเมืองระดับชาติไม่รวบอำนาจการปกครองท้องถิ่น งานประเพณีประเภท "ข่วง" หรืองานรื่นเริงพบปะสังสรรกันระหว่างคน "ลาวโซ่ง" จากถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยที่พอดีผมได้ไปเห็นในการไปเยือนถิ่นพวกเขาครั้งนี้ คงจะยังคงสืบสานไปพร้อม ๆ กับการคงธรรมเนียมต่าง ๆ ไว้

สาม ที่ผมสนใจเป็นพิเศษและเป็นแกนหลักของการไปเยือนครั้งนี้คือ การไปสืบสาวถึงวรรณกรรมทั้งที่เป็นตัวอักษรและที่เป็นมุขปาฐะ ผมพบอะไรน่าสนใจหลายอย่าง คร่าว ๆ ก็เช่น ผมพบว่าคนลาวโซ่งรุ่มรวยวรรณกรรมทั้งประเภทอักขระและมุขปาฐะมาก พวกเขามีวรรณกรรมเขียนที่ยังคงพอที่จะสืบสาวหาได้มากมายจนหากผมจะเรียนจนตายก็เรียนได้ไม่หมดทุกเล่ม ผมได้แต่คิดเสียดายว่า แวดวงวิชาการ แวดวงวรรณกรรม และแวดวงผู้สนใจเรื่องอักษรในประเทศไทยใส่ใจวรรณกรรมของพวกเขาน้อยเกินไปหรือแทบจะไม่มีใครสนใจเลย ทั้ง ๆ ที่นี่คือคลังคำ คลังความรู้เรื่องภาษาและอักษรไทย-ไท-ไตเก่าแก่ที่อยู่ใกล้ตัวคนไทยมาก

มีวรรณกรรมบางเรื่องที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือเรื่อง "กว๊ามโต๊เมื๊อง" (หากสนใจให้ไปหาอ่านหนังสือเรื่อง "ประวัติศาสตร์ไทดำฯ" ที่ผมเขียน) กับเรื่อง "โสงจู้สอนสาว" (ส่งชู้สอนสาว) เรื่องแรกเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของเมืองต่าง ๆ เขียนด้วยภาษาและอักษรไทดำ ของลาวโซ่งก็มี แต่ท่านหนึ่งซึ่งเป็น "หมอ" ทำพิธีโดยอาชีพของท่านด้วยบอกเล่าว่า ที่ประเทศไทยเขาเรียกว่า "กว๊ามโต๊หญือ" หรือ "เรื่องเล่าสำคัญ" มีวิธีการใช้ที่ใกล้เคียงกันกับที่เวียดนาม คือใช้อ่านในงานศพ ปัจจุบันยังมีคนเก็บไว้ที่หนึ่ง ผมว่าจะไปเสาะหาดูเมื่อกลับไปเมืองไทย

ส่วนเรื่องส่งชู้สอนสาว คนที่รู้จักบอกว่าเขาเรียกว่า "สั่งชู้สอนสาว" ผมถามเรื่องย่อดูและได้เห็นบางส่วนของเรื่องราวที่เป็นอักษรแล้ว ก็อยากจะสรุปว่าน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ของที่เมืองไทยมีรายละเอียดที่พิสดารกว่า และดูจะมีลักษณะการประพันธ์ที่เคร่งครัดมากกว่า อาจจะเนื่องมาจากมีการตัดแต่งให้แตกต่างกันออกไป หรือมีการคัดลอกไปแต่งไปทำให้แตกต่างกันบ้าง แต่โครงเรื่องเหมือนกัน และมีบางคำกลอนที่นิยมคล้ายคลึงกัน

การมีอยู่ของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องทำให้ผมมั่นใจว่า นอกจากวรรณกรรมทั้งสองจะเก่าแก่แล้ว อักษรไทดำยังเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 200 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมเรื่อง "เล่าความเมือง" หรือ "เล่าความใหญ่" ที่มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าแต่งขึ้นในเวียดนามหลังจากฝรั่งเศสเข้ามาแล้วนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคนไตดำที่ถูกกวาดต้อนมาเพชรบุรีนั้น มาก่อนที่ฝรั่งเศสจะมีอำนาจเหนือเวียดนามกว่าร้อยปีทีเดียว ส่วนวรรณกรรมเรื่องส่งชู้สอนสาว ก็ทำให้รู้ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ก็น่าจะเก่าแก่ไม่น้อยไปกว่าเล่าความเมือง

ผมไปเยือนถิ่นคนลาวโซ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม แต่ละครั้งก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนรู้อะไรลึกซึ้งที่สุด เป็นครั้งที่ได้พูดคุยกับคนเป็นเวลานาน ๆ เป็นครั้งที่ได้เพื่อนใหม่ เป็นครั้งที่รู้สึกว่ามีอะไรให้ศึกษาค้นหาที่นี่อีกมากมาย เป็นครั้งที่ทำให้คิดงานวิจัยใหม่ ๆ ได้อีกหลายต่อหลายชิ้น และคิดว่าจะต้องกลับไปเจอผู้คนเหล่านี้อีกเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)