Skip to main content

อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา

อย่าไปคิดแค่ว่าพวกนี้เป็นฝรั่งจะไปรู้อะไร อย่าคิดง่ายๆ ว่าพวกนี้ไม่มีวัฒนธรรมเหมือนเรา เขาไม่เข้าใจเรา เรื่องนี้ตรวจสอบกันได้ไม่ยากหากจะปรายตาดูสักนิดแล้วมีคามรู้ทั่วไปที่น่าจะเรียนกันมาตั้งแต่ชั้นประถมสักหน่อย ก็คงพอจะรู้ว่าประเทศเหล่านี้ก็มีทั้งประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์และไม่มี มีทั้งประเทศตะวันตกและตะวันออก อย่าไปแบ่งแยกง่ายๆ ว่าเป็นฝรั่งตะวันตกที่ไม่เหมือนเรา อย่าไปสรุปแค่ว่าโน่นเทศนี่ไทยเท่านั้น มันง่ายไปสำหรับคนเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นถึงครูบาอาจารย์ ถ้าไม่อายตัวเอง ก็เผื่อไว้บ้างว่าลูกน้อง ลูกศิษย์คุณๆ ที่เขายังมียางอาย เขาไม่รู้จะไปหาซื้อปี๊บได้จากที่ไหน

 

 

แล้วก่อนที่ประเทศเหล่านี้เขาจะพูดอะไร เขาไม่พูดพล่อยๆ แบบผู้นำประเทศเราหรอก เขาจะหาข้อมูลอย่างรัดกุม หลายต่อหลายมุม ทั้งฝั่งโน้นฝั่งนี้ ก่อนที่จะนำไปถกเถียงกัน แล้วแปลงมาเป็นคำพูดไม่กี่คำ ประเทศเหล่านี้เขามีผู้เชี่ยวชาญทั้งคนจากประเทศเขาเองและคนไทยที่เขาจ้างให้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ให้เขาเข้าใจเสมอๆ ครูบาอาจารย์หลายๆ คน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ หลายๆ คนก็คงรู้ตัวดีว่านักวิเคราะห์เหล่านี้เขาจะแวะเวียนไปหา ไปติดต่อขอข้อมูล ไปซักถามด้วยคำถามจากมุมมองต่างๆ อย่างละเอียดแค่ไหน ลำพังผมเองซึ่งไม่ได้มีความสำคัญอะไร ก็ยังอุตส่าห์มีนักวิเคราะห์การเมืองจากทั้งประเทศต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มาถามข้อมูลและขอความเห็นอยู่บ่อยไป

 

อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักหรอกที่บรรดาทหารที่มีอำนาจในขณะนี้จะไม่พอใจกับคำวิจารณ์ของนานาชาติ เพราะจริตของการเคารพคนอื่น อันเป็นพื้นฐานของความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในยุคสมัยปัจจุบันนั้น ไม่มีทางที่จะต้องกับจริตอำนาจนิยมของทหารไทยอยู่แล้ว ถ้าทหารไทยรับฟังความเห็นของนานาชาติที่รุมวิจารณ์ไทยในขณะนี้ ก็จะไม่เกิดสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างในปัจจุบันตั้งแต่แรกแล้ว จะไม่ทำให้พวกชาวโลกเขาต้องมารุมวิจารณ์กัน แต่นี่เพราะไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำมันผิดแผกไปจากค่านิยมของนานาชาติในปัจจุบัน จึงมองไม่ออกว่าตนเองทำอะไรผิด

จะว่าไปแนวคิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ของเก่าแก่ของตะวันตกเสียทีเดียว หากสำรวจดูดีๆ ก็จะพบว่า ความคิดแบบนี้พัฒนาขึ้นมาและถูกนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังก็เมื่อสัก 200 กว่าปีมานี้เอง ที่ปรากฏชัดคือคำประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independent, 1766) ของสหรัฐอเมริกา และในคำประกาศสิทธิแห่งมนุษย์และพลเมือง (the Declaration of Men and Citizen, 1798) ของฝรั่งเศส ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างเวียดนาม ก็รับเอาแนวคิดนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศอิสรภาพ ค.ศ. 1945 

ส่วนประเทศไทยนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) ในประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร เรียกว่าค่อนข้างเก่าแก่แรกเริ่มในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลังจากนั้นประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นพันธมิตรของค่ายเสรีนิยมและประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รับแนวคิดนี้ในฐานะปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประกาศใน พ.ศ. 2491 (The Universal Declaration of Human Rights, 1948)

แนวคิดสิทธิมนุษยชนจึงไม่ใช่ของเก่าแก่ในโลกตะวันตก แต่เกิดขั้นมาในยุคที่โลกทั้งใบยอมรับกติกาใหม่นี้ร่วมกัน และประเทศไทยเองซึ่งก็อยากจะคบค้าสมาคมกับชาวโลกเขา ก็ยอมรับกติกา ยอมรับระบบคุณค่าสากลนี้มานานพอสมควรแล้ว 

แนวคิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นแนวคิดที่หยุดนิ่ง แต่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปเรื่อยๆ และที่สำคัญคือ พัฒนาการยุคหลังๆ นั้นมาจากการตระหนักในคุณลักษณะของ “สิทธิ” ที่แตกต่างไปจากแนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบเดิมของตะวันตกด้วยซ้ำ เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เพิ่มเข้ามาภายหลัง จากเดิมที่สิทธิมักรับรองเฉพาะปัจเจกบุคคล หรือแนวคิดเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรม ก็เป็นแนวคิดที่เพิ่มเข้ามาภายหลัง หลังจากที่โลกหันมาให้ความสนใจกับความละเอียดอ่อนของสังคมนอกตะวันตก ที่มีความหลากหลายมากเกินกว่าจะคิดถึงเพียงสิทธิของปัจเจกชน (ดูรายละเอียดพัฒนาการได้ในบทความ Ellen Messer. “Anthropology and Human Rights” Annual Review of Anthropology 22:221-49, 1993.)

อย่างไรก็ดี หลักการพื้นฐานคือ สิทธิขั้นพื้นฐานจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง จะมาอ้างสิทธิวัฒนธรรมในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ได้ ที่สำคัญคือจะละเมิดสิทธิในร่างกายและสิทธิในการแสดงออกไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ จะใช้กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมมาอ้างเพื่อละเมิดสิทธิในร่างกายไม่ได้ จะจับคนไปขังคุกด้วยเหตุเพราะว่าวัฒนธรรมเราเทิดทูนสัญลักษณ์บางอย่างเหนือเลือดเนื้อ ชีวิต และความคิดของประชาชนไม่ได้

ฉะนั้น หากจะใช้วิธีโต้แย้งแบบเดียวกันกับที่ทหารมักใช้ว่า “ก็ในเมื่อกฎหมายเขาออกมาแล้ว พวกคุณก็ทำตามสิ กฎหมายมีอยู่แล้ว พวกคุณก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างไร ทำไมยังฝ่าฝืน” (ทั้งๆ ที่กฎหมายเหล่านั้นที่จริงเป็นการใช้อำนาจเผด็จการในคราบของกฎหมาย หาใช่กฎหมายที่สังคมยอมรับกันไม่ แต่เอาล่ะ ยกปัญหานั้นไว้ก่อน) 

ถ้าจะใช้วิธีคิดเดียวกันนี้ นานาชาติเขาก็ย้อนรอยทหารไทยได้เช่นกันว่า “ก็ในเมื่อกฎเกณฑ์ ค่านิยมของนานาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แล้วประเทศไทยเองก็ยินยอมสมัครใจเข้าไปลงนามยอมรับกฎเกณฑ์ คุณค่าสากลเหล่านั้นกับชาวโลกเขาเองตั้งแต่นมนานมาแล้ว จะมาว่าชาวโลกมายัดเยียดสิทธิมนุษยชนให้ประเทศไทยต้องทำตามได้อย่างไร”

พูดอีกอย่างก็คือ ไทยเองก็ยอมรับกติกาสากล ยอมรับธรรมเนียมสากล ยอมรับระบบคุณค่าสากล ที่เรียกกันว่าหลักสิทธิมนุษยชนมานานแล้ว ไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกสากลมานานแล้ว รับเอาคุณค่าแบบสากลมาใช้เป็นกฎเกณฑ์ของตนเองอยู่นานแล้ว จะมาอ้างว่าประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่นในโลกได้อย่างไร ถ้าจะอ้างอย่างนั้น ก็เลิกเป็นสมาชิกของประชาคมโลกสากลไปเสียเลยสิ เป่านกหวีดไล่นานาชาติออกไปจากประเทศไทยเลยสิ ปิดตัวเองอยู่ในโลกที่ไม่คบค้ากับประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเสียตั้งแต่วันนี้เลยสิ 

ในเมื่อไทยเองก็อยากเหมือนชาวโลก แล้วอยู่ๆ วันนี้จะมาบอกว่าเราแตกต่างไม่เหมือนชาวโลกได้อย่างไร ถ้าอยากจะทำอย่างนั้นจริงๆ ก็ดาหน้าไปยกเลิกข้อตกลงต่างๆ ที่ทำกับชาวโลกเขาไว้เสียให้หมดสิ เลิกยอมรับปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนเสียสิ จะเอาอย่างนั้นไหมเล่า จะทำจริงๆ ก็ทำอย่างนั้นสิ อย่าเก่งแต่ปากอยู่ในบ้าน อย่าเอาแต่เป่านกหวีดไล่ฝรั่งอยู่แต่ในกะลาสิ

ความเป็นไทยไม่ใช่ใบเบิกทางให้รัฐบาลทหารและ คสช. ละเมิดใครก็ได้ตามอำเภอใจ ในเมื่อชาวโลกเขายังรักคนไทย ยังต้องการปกป้องสิทธิของคนไทยมากเสียยิ่งกว่ารัฐบาลของประเทศไทยเอง แล้วทำไมใครก็ตามที่มีใจรักความเป็นธรรมจะไม่รับฟังชาวโลกเขาบ้าง แล้วอย่างน้อยก็แสดงความหวงแหนสิทธิของประชาชนเราเองบ้าง หรือหากมีความพร้อมพอ ก็ทักท้วงการละเมิดสิทธิประชาชนของรัฐบาลเราเองบ้าง จะยอมให้รัฐบาลทหารและ คสช. ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ได้เพียงเพื่อปกป้องอำนาจของพวกเขาเองอย่างนั้นหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว