Skip to main content

ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา

 

 

แกลลอรีนี้มีงานของศิลปินดังๆ และงานศิลปะยุโรปสำคัญๆ ครบยุค แม้จะไม่มาก ไม่สามารถอวดแข่งประชันอะไรกับใครได้ แต่ก็มีงานดีพอ มากพอ ที่จะให้คนที่นี่ได้เรียนรู้ งานที่ประทับใจผมเองมีหลายชิ้น 

 

ที่ชอบมากคืองานสเก็จของพอล รูเบนส์ ที่เคยเห็นแต่ในหนังสือ เมื่อได้เห็นของจริงก็ยิ่งตื่นตะลึง ที่จริงที่นี่มีงานสีน้ำมันของพอล รูเบนส์ด้วย ชิ้นใหญ่มาก หรือประติมากรรมแกะงาช้างชิ้นหนึ่ง น่าประทับใจมาก ส่วนงานรุ่นอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็พอมี อย่าง The Thinker ของออกุส โรแดงเวอร์ชั่นเล็ก ที่นี่ก็มี กับมีงานของคามิล ปิซาโรหลายชิ้นทีเดียว 

 

ที่น่าสังเกตคือวิธีเล่าเรื่อง แม้ว่าจะยังตามขนบการเล่าหลักตามลำดับเวลาและความเปลี่ยนแปลงของแนวการเขียนรูป แต่ก็มีคำอธิบายสรุป และก็เน้นการให้คนเข้าใจความเป็นยุคสมัยรวมๆ ไปพร้อมๆ กับการแสดงงานเดี่ยวของศิลปิน อีกนัยหนึ่งคือเน้นทั้งความเป็นประวัติศาสตร์ส่วนรวม และทักษะกับการสร้างสรรค์ส่วนตน 

 

คอลเลกชั่นที่น่าทึ่งมากคือบรรดางานประติมากรรมขนาดมหึมาของเฮนรี่ มัวร์ ที่มักเคยเห็นสักชิ้นสองชิ้นในแต่ละแกลลอรี แต่ที่นี่อุทิศห้องใหญ่แสดงงานเฮนรี มัวชนิดที่ว่า เดินเข้าไปแล้วราวกับเข้าไปในสุสาน แถมก่อนเข้าห้องนี้ยังมีการอธิบายว่า มัวร์ได้อิทธิพลและพัฒนางานต่อจากโรแดง ที่เริ่มมีงานประติมากรรมเรือนร่างคนแบบตัดส่วน จนทำให้กลายเป็นรูปทรงนามธรรม 

 

เมื่อดูไปสักพัก ก็เริ่มสงสัยว่าแล้วศิลปินแคนาดาล่ะ มีไหม เขาทำอะไรกัน แล้วเมื่อขึ้นไปชั้นสองก็ได้เจอผลงานของศิลปินแคนาดาทันที (ความจริงมีคอลเลกชี่นศิลปะแอฟริกันและศิลปะอินเดียนพื้นเมืองอยู่อีกมากเช่นกัน) 

 

 

งานของศิลปินแคนาดามักค้นหาอัตลักษณ์ตนเองผ่านชีวิตคนพื้นเมือง เน้นแลนด์สเคปของแคนาดา และวัสดุที่บอกเล่าความเป็นนักบุกเบิก นักเดินทางเข้ามาในทวีป กลุ่มศิลปินที่บุกเบิกค้นหารูปแบบศิลปะสมัยใหม่แบบแคนาดามามีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 

 

ที่ท้าทายหน่อยคือการจัดแสดงรูปโดยไม่ติด caption ด้วยคำอธิบายว่า ไม่อยากให้คนดูสาละวนอยู่กับการอ่านข้อความ อยากให้ดูรูปมากกว่า แล้วค่อยไปอ่านเอาจากแผ่นคำอธิบาย ที่เขาก็มีให้ดูใกล้ๆ กับรูปนั่นแหละ แต่ไม่อยากติดข้างรูป 

 

สุดท้าย ผมตื่นตาตื่นใจกับห้องใต้ดินที่มีคอลเลกชั่นเรือจำลองจำนวนมาก เรียกว่าถ้าจะค่อยๆ ละเลียดดูรายละเอียดจริงๆ เฉพาะห้องนี้ก็ต้องสักหนึ่งชั่วโมงแล้ว 

 

ถ้าใครบังเอิญผ่านมาโตรอนโต ก็ขอแนะนำนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรดูงานของศิลปินท้องถิ่น แต่ก็ยังหวังว่าเขาน่าจะมีงานชาวอินเดียนมากกว่านี้ และในอนาคต เนื่องจากมีประชากรเอเชียนและแอฟริกันในโตรอนดตไม่น้อย พวกเขาก็น่าจะได้เล่าเรื่องตนเองบ้างเช่นกัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้