Skip to main content

ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา

 

ผมมักจะเที่ยวคุยโม้ว่าตัวเองเติบโตและใช้ชีวิตกลับไปกลับมาที่บ้านยาย อยู่บ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้านยายอยู่ริมน้ำ ผมรู้ดีว่าน้ำท่วมสูงอยู่นานๆ ต้องใช้ชีวิตอย่างไร เคยตัก "น้ำท่า" กินโดยไม่ต้ม เคยอาบน้ำตีนท่า เคยตักน้ำจากตีนท่าขึ้นบันไดสูงมาใส่โอ่งแกว่งสารส้มเก็บไว้ใช้  

 

ในวัยเด็ก ผมก็เลยได้กินปลาหลายชนิด ผมรู้วิธีทำปลาทุกชนิด และเข้าใจว่าตัวเองรู้จักปลาหลายชนิดกว่าเพื่อนๆ ที่โตขึ้นมาในกรุงเทพฯ และรู้จักความอร่อย ความสดหวานของเนื้อปลาพอที่จะไม่ชอบให้ใครทอดปลาก่อนเอาไปผัดเผ็ดหรือแกงส้ม แกงเผ็ด 

 

รวมทั้งไม่ชอบฉู่ฉี่ที่เอาปลาไปทอดก่อน เพราะนั่นคือการกลบเกลื่อนความไม่สดของปลามากกว่าจะทำให้มันอร่อยขึ้น ผมโตมาแบบนั้น ใครจะว่าดัดจริตก็แล้วแต่

 

แต่เมื่อได้ไปอำเภอชุมแสงเที่ยวนี้ จึงได้รู้ว่าความเข้าใจเรื่องปลาของผมมันกระจอกมาก ไม่ได้แม้แต่สักเสี้ยวหนึ่งของชาวปลาในถิ่นนี้

 

เอาเฉพาะแค่ชื่อปลา มีปลาอีกมากมายหลายชนิดที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลปลาเกล็ดตั้งแต่ ปลากา ปลาตะโกก ปลาตะกาก สำหรับผม พวกนี้หน้าตาคล้ายตะเพียนไปหมด ยกเว้นแต่สีของเกล็ดกับรูปร่างความแป้น ความเรียวของมัน แม้แต่ปลาตะเพียนที่ผมเคยเห็นว่าส่วนใหญ่จะตัวแป้นๆ ที่นี่ก็ตัวเรียวกว่าที่ผมคุ้นเคย ส่วนปลาม้า ปลาช่อน พวกนี้กลายเป็นปลาตลาดๆ ที่ดูไม่น่าลิ้มลองเอาเสียเลย

 

ส่วนปลาตระกูลหนัง ไม่ต้องพูดถึงปลากด ปลาสวาย ปลาดุก ปลาเนื้ออ่อน ผมยังรู้จักปลาเค้าค่อนข้างดี เพราะเคยเห็นปลาเค้าตัวใหญ่ขนาดเต็มลำเรือมาแล้ว แต่ปลาที่ใกล้เคียงกันอย่าง ปลาลึง ปลากดครีบแดง ปลาเบี้ยว (คล้ายปลาเค้าแต่ปากล่างยื่นออกมามาก) และปลาสวายหนู (คล้ายสวาย แต่ตัวเรียวกว่าหน่อย ไขมันน้อยกว่า แน่นกว่า)

 

หรืออย่าง ปลาแดง (ที่เคยคิดว่าแค่เป็นอีกชื่อของปลาเนื้ออ่อน แต่จริงๆ แล้วมันหัวแดงและตัวใสกว่าปลาเนื้ออ่อน แถมตัวใหญ่กว่า) ที่เพิ่งเคยได้ยินจริงๆ และโชคดีที่ได้ชิทรส คือปลาน้ำเงิน หน้าตารูปร่างมันเหมือนปลาเนื้ออ่อน หนังมันเงางามสีเงินยวงเนื้อนุ่มอย่างปลาเนื้ออ่อน แต่ก็แน่นกว่าหน่อย

 

ชุมแสงมีทำเลที่เหมาะกับการกินปลา หาปลา เรียนรู้เรื่องปลามาก อำเภอนี้อยู่เหนือตัวเมืองนครสวรรค์ขึ้นไป ค่อนไปทางตะวันออก ตัวอำเภอตั้งอยู่ริมน้ำน่าน แต่ถิ่นที่ผมไปน่ะ ตั้งอยู่อยู่ระหว่างน้ำน่านและน้ำยม เกือบถึงพิจิตร มีเส้นทางต่อเนื่องไปถึงพิษณุโลกได้ น้ำเหล่านี้ส่วนหนึ่งไหลมาที่บึงบอระเพ็ด

 

ผมเข้าใจว่าทำเลแบบนี้นี่เองที่ทำให้กลายเป็นแหล่งที่ปลาหลากหลายชนิดมาอาศัยอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งคงเพราะการปิดกั้นเขื่อน ทำให้ปลาหลายชนิดที่อยู่ภาคกลางตอนบน ไม่ค่อยได้ลงไปถึงอยุธยาบ้านยายผม ผมก็เลยไม่รู้จักปลาพวกนี้เลย นอกจากนั้น ปลาพวกนี้คงมีธรรมชาติที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำเชี่ยวไหลแรง ต่างกับแม่น้ำน้อยหน้าบ้านยายผม ที่ไหลเอื่อยๆ ผมก็เลยไม่ค่อยเจอปลาพวกนี้

 

ในสองวันกว่าที่ผ่านมา ผมก็เลยได้กินปลากลุ่มปลาหนังที่เอ่ยถึงมานั่นเกือบทั้งหมด ส่วนปลาเกล็ดหลายชนิดที่เอ่ยมาแทบจะยังไม่ได้กินเลย ยกเว้นปลาม้า ที่ได้กินตั้งแต่พักกลางวันที่สิงห์บุรีแล้ว กับปลากราย ที่มีมากและสดอร่อยเสียจนแทบจะอยู่ในทุกมื้ออาหาร

 

นอกจากชนิดปลาแล้ว ชาวชุมแสงยังเล่าถึงวิธีการดักปลาในฤดูน้ำหลาก ก็กำลังเริ่มช่วงเดือนนี้นั่นแหละ สำหรับผม ฤดูน้ำหลากที่บ้านยาย ก็คือมีปลามามาก บางจุดนี่ ปลาเยอะขนาดแค่เอากะละมังจ้วงลงไปในน้ำ ก็จะได้ปลาติดขึ้นมาแทบเต็มกะละมังเลยทีเดียว บางปียายผมก็เลยทำน้ำปลาเก็บไว้กินเอง

 

แต่ในฤดูน้ำปกติ แถวบ้านยายผมเขาจะ "ล้อมหญ้า" กัน คือเอาไม้ไผ่มากั้นคอกในแม่น้ำตรงริมตลิ่ง ขนาดสัก 1 งาน (100 ตารางวา) แล้วเอากอไม้ต่างๆ มาโยนลงไปในน้ำ สัก 4-5 เดือนต่อมา ก็ค่อยเอาตาข่ายมาล้อม เอากอไม้ออก แล้วคราวนี้ก็ช่วยกันจับปลาด้วยวิธีต่างๆ วิธีนี้จะได้ปลาเยอะมากพอที่จะขายคนได้หลายหมู่บ้านทีเดียว

 

แต่คนที่ชุมแสงเล่าถึงเทคนิคที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น แบบหนึ่งคือการขุด​ "บ่อล่อ" คือการใช้ที่ส่วนหนึ่งในนา ขุดบ่อขนาดสักหนึ่งงานหรือสองงาน ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่ต้องทำอะไร พอนำ้ลด ปลาที่ไม่ชอบน้ำนิ่งมันจะหนีตามน้ำไป แต่ปลาที่ชอบน้ำนิ่ง มันจะไม่ไปไหน ติดอยู่ในบ่อล่อนั้น นอกจากแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากแล้ว วิธีนี้ยังเก็บปลาไว้ได้เป็นปี ไม่ต้องรีบแปรรูปรีบขาย

 

อีกวิธีคือ "บ่อโจร" เขาจะเอาไหหรือโอ่งฝังใต้ดิน แล้วทำรางน้ำมายังโอ่งนั่น แล้วเอาน้ำใหม่ๆ โรยลงบนราง ปลามันจะชอบน้ำใหม่ มันก็จะว่ายเข้ามาตามราง แล้วเข้าไปในโอ่งนั่น เราก็จะจับปลาได้ วิธีนี้น่าจะชั่วคราว แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนใหม่มาก แค่ลงแรงกับดัดแปลงวัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น

 

ที่จริงหากจะจับปลาเก็บไว้ในหน้าน้ำน่ะ ชาวบ้านเขารู้ดีอยู่แล้ว เขามีวิธีจัดการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตเขา เหมาะกับสภาพแวดล้อมเขา ส่วนพวกที่ไม่รู้จักฟังใคร แต่คิดว่าตัวเองรู้และคอยสั่งสอนชาวบ้านเขา แถมยังคอยหาเรื่องเสียเงินเสียทองไปได้เรื่อยๆ น่ะ คงไม่มีวันแก้ปัญหาชาวบ้านได้หรอก น่าสมเพชและน่าเสียใจที่ยังมีคนยกย่องคนพวกนี้อยู่อย่างไม่โงหัวสักที

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)