Skip to main content
Carousal
ในโลกอนาคต ยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าถึงขีดสุด ถึงขั้นที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งมีชีวิตขึ้นเองได้โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติ การผลิตมนุษย์สังเคราะห์เพื่อเป็นแรงงานแทนมนุษย์กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์มหาศาล ด้วยความสามารถทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์สังเคราะห์เหล่านี้จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ทุกประการ แต่มีความสามารถทางกายภาพสูงกว่ามาก เนื่องจากสามารถดึงพลังงานจากเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า ทำให้เขาเหล่านั้นแข็งแรงกว่า และมีความสามารถในระดับที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถเทียบได้การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนทำให้การสร้างมนุษย์สังเคราะห์ถูกต่อต้าน และนั่นเป็นเหตุผลที่คุณจะไม่ค่อยได้พบเห็นมนุษย์สังเคราะห์บนโลกนัก แต่ถึงอย่างนั้น ริคุโด ลีน นายตำรวจหนุ่มยศร้อยโทแห่งรัฐญี่ปุ่น ก็ยังมีโอกาสได้พบและทำความรู้จักกับมนุษย์สังเคราะห์คนหนึ่ง ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและทัศนคติของเขาเกี่ยวกับมนุษย์สังเคราะห์ไปตลอดกาลชื่อของเธอคือ Joker Joker เป็นผลงานเรื่องเยี่ยมจากจินตนาการของ Maki Yu และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการ์ตูนโดย Michihara Katsumi นักวาดที่โด่งดังจาก Legend of the Galactic Heroes จัดจำหน่ายในรูปแบบภาษาไทยโดยบงกช คอมมิคส์Joker ไม่ใช่มนุษย์สังเคราะห์ธรรมดา แต่เธอเป็นมนุษย์สังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษโดยหน่วยงานเพื่อความมั่นคงที่มีฐานที่มั่นอยู่บนดวงจันทร์ เพื่อเป็น ‘อัยการหน่วยสืบสวนพิเศษ’ ทำหน้าที่สืบสวนและทำลายอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในมุมมืดของสังคม และการกระทำความผิดที่ตำรวจธรรมดาไม่สามารถจัดการได้ ไม่ว่าจะเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่เข้มแข็งเพียงพอ หรือเพราะคดีนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจอิทธิพล โดยอัยการหน่วยสืบสวนพิเศษจะมีอำนาจตัดสินและพิพากษาผู้กระทำความผิดได้ในสถานที่เกิดเหตุ ทำให้อาชญากรรมนั้น ๆ หายไปอย่างไร้ร่องรอยเหมือนมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยโดยที่มนุษย์ไม่ต้องรับรู้Joker กับริคุโด ลีน ได้รู้จักกันในการสืบสวนครั้งหนึ่ง และหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือจาก Joker ริคุโด ลีนก็หลงรักเธอ โดยไม่สนใจว่าเธอเป็นมนุษย์สังเคราะห์ ที่แข็งแกร่งเสียจนทำให้ชายอกสามศอกอย่างเขารู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ไปเลย เพราะแฟนแข็งแรงเสียจนไม่ต้องให้ปกป้องอีกแล้วประเด็นที่ทำให้ฉันสนใจการ์ตูนเรื่องนี้มีอยู่สองประเด็นค่ะ ประเด็นแรกก็คือ ตัวตนและสิทธิของมนุษย์สังเคราะห์ – ในเรื่องนั้น มนุษย์สังเคราะห์ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นนอกเหนือจากพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่เพราะเขาเหล่านั้นไม่มีสำนึกของความเป็นมนุษย์ด้วย มนุษย์สังเคราะห์ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายพิเศษอย่างการเป็นอัยการหน่วยสืบสวนพิเศษ จะถูกกำหนดให้มีร่างกายที่เจริญเติบโตเทียบเท่าผู้ใหญ่วัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่เกิดเพื่อประโยชน์ในการใช้แรงงาน การที่ไม่เคยได้รับการอบรมเลี้ยงดูและได้รับประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ทำให้มนุษย์สังเคราะห์ไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์เหมือนมนุษย์ทั่วไป ไม่รู้ว่าอะไรผิดหรือถูก ไม่มีความคิดหรือความใฝ่ฝันเป็นของตัวเอง เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมนุษย์ และมีชีวิตอยู่เพื่อมนุษย์เท่านั้นความคิดที่ว่า มนุษย์สังเคราะห์มีหน้าที่อุทิศตัวให้มนุษย์ ถูกปลูกฝังลงสู่จิตใต้สำนึกของ Joker ด้วย แม้ว่าเธอจะมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง เพราะอัยการหน่วยสืบสวนพิเศษได้รับสิทธิพิเศษให้เจริญเติบโตและเรียนรู้เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แต่ Joker ก็ยังคงเป็นมนุษย์สังเคราะห์ การที่ Joker ปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตามหน้าที่ ทำให้ลีนซึ่งเป็นมนุษย์ส่วนน้อยที่ได้รู้จักกับมนุษย์สังเคราะห์อย่างลึกซึ้งรู้สึกสับสนมาก เขาเริ่มเกิดคำถามว่า มนุษย์แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นพวกเดียวกับตัวเองหรือไม่ใช่พวกเดียวกันด้วยอะไร และทำไมมนุษย์สังเคราะห์อย่าง Joker จึงไม่ได้รับการยอมรับเทียบเท่ามนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยนอกจากวิธีการเกิด และคำถามนั้นยิ่งเน้นย้ำหนักหน่วงขึ้นอีกเมื่อรู้ว่า มนุษย์สังเคราะห์มีอายุขัยเพียง 45 ปี เนื่องจากเซลล์ที่ถูกใช้งานหนักจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ และอัยการหน่วยสืบสวนพิเศษจะต้องถูกแยกส่วนเมื่ออายุ 35 ปี เพื่อคงประสิทธิภาพในการทำงานให้อยู่ในระดับสูงสุด อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญกว่า คือการทำงานของอัยการหน่วยสืบสวนพิเศษ เจ็นคุส อิดะ หัวหน้าหน่วยพิสูจน์หลักฐานที่ต่อต้านการทำงานของหน่วยสืบสวนพิเศษได้เคยให้เหตุผลไว้ว่า อัยการหน่วยสืบสวนพิเศษซึ่งทำหน้าที่กำจัดความชั่วร้ายอยู่ในเงามืดโดยไม่แสดงตัว และทำให้มนุษย์ได้ฝันไปว่าตัวเองอยู่ในโลกที่ขาวสะอาดปราศจากอาชญากรรมนั้น เปรียบเหมือนแม่ที่หยิบของเล่นที่อันตรายจากลูกไปทิ้งจะเป็นอย่างไรถ้าคุณคอยกำจัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นอันตรายออกไปจากชีวิตลูกของคุณ โดยไม่เคยเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เลยว่าในโลกนี้ไม่ได้มีแต่สิ่งที่ปลอดภัยอย่างที่คุณหยิบยื่นให้เขา ชีวิตที่ปราศจากภูมิต้านทานของเขาจะเป็นอย่างไร เมื่อเขาต้องออกไปสู่สังคมที่กว้างกว่าโดยไม่มีมือของคุณคอยปกป้องอีกต่อไป?การฉาบคุณงามความดีที่หลอกลวงไว้ข้างหน้า โดยเก็บความเลวร้ายและอันตรายซึ่งเป็นความจริงยิ่งกว่าไว้ข้างหลัง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตราบเท่าที่ยังไม่สามารถกำจัดความเลวร้ายและต้นตอทั้งหมดของมันไปได้อย่างหมดจดถาวร เขาเหล่านั้นก็จะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอและไร้สัญชาตญาณการระแวงภัยเท่านั้นJoker จัดพิมพ์ออกมาในรูปแบบภาษาไทยทั้งหมด 6 เล่ม มี 5 ตอน คือเพชฌฆาตไซบอร์ก, Moon Fantasy (2 เล่ม), Dream Playing Game, Green Paradise และ Sherlickian Computer ขาดไปอีกเพียงเล่มเดียวเท่านั้นก็จะจบเรื่อง ซึ่งเป็นบทสรุปบทสุดท้ายระหว่าง Joker และริคุโด ลีน รวมทั้งสิทธิและสถานภาพของมนุษย์สังเคราะห์ ไม่รู้เหมือนกันว่าบงกชจะทำออกมาหรือเปล่า แต่ถ้าคุณคิดจะไปหามาลองอ่าน ขอเตือนก่อนว่าไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบวายขั้นรุนแรง เพราะถึงแม้การ์ตูนเรื่องนี้จะไม่ใช่การ์ตูนวาย แต่ Joker ก็เป็นมนุษย์สังเคราะห์ที่สามารถแปลงร่างตัวเองเป็นหญิงหรือชายก็ได้ตามใจชอบ และเธอก็ไม่ค่อยสนใจว่าตัวเองกำลังอยู่ในร่างไหนตอนที่แสดงความรักกับพระเอกของเธอเสียด้วยสิ
new media watch
 ช่วงนี้กำลังเห่อเกมฝึกภาษาอังกฤษอย่าง Freerice เป็นพิเศษ ให้อารมณ์เหมือนตอนอ่านหนังสือเตรียมสอบเอนทรานซ์ แต่สนุกสนานกว่ากันมาก เกม ‘เล่นคำ' แล้วได้ ‘ข้าว' เป็นโครงการ Word Food Program ของ UN ที่เปิดให้คนทั่วโลกฝึกภาษาอังกฤษด้วยการทายความหมายของคำแต่ละคำ ด้วยการจับคู่คำที่เป็น ‘โจทย์' กับคำที่เป็น ‘คำตอบ' ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน หรือถ้าจะพูดง่ายๆ กว่านั้น นี่คือแบบฝึกหัดเพื่อหา Synonym ฉบับออนไลน์นั่นเองสิ่งที่พิเศษไปกว่านั้นคือ คะแนนที่ได้จากการเล่นเกมจะคิดเป็นข้าวสารจำนวนหนึ่ง ซึ่งทาง UN จะนำไปบริจาคให้กับประเทศที่ขาดแคลนอาหาร และเกมนี้ก็เล่นได้เรื่อยๆ จนกว่าจะเหนื่อยกันไปข้าง ไม่มีเกมโอเวอร์ จะมีก็แต่การเก็บระดับเพื่อให้มีคะแนนไปแลกข้าวเยอะๆส่วนเงินที่จะใช้ในการจัดหาข้าวเพื่อนำไปบริจาคให้กับประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร มาจากบริษัทที่ลงโฆษณากับ Freerice และยิ่งมีคนเข้าไปเล่นเกมนี้มากเท่าไหร่ ทาง World Food ก็จะนำัตัวเลขผู้เล่นเกมไปต่อรองเงินบริจาคกับบริษัทเหล่านั้นำได้มากขึ้นด้วย
Music
     จำได้ว่าเทปเพลงที่ผมได้ฟังเป็นม้วนสุดท้ายคือเทปรวมเพลงของ Bob Dylan ซึ่งผมไปอัดเอามาจากคนอื่นอีกที  ผมฟังมันจากเครื่องเล่นเทปพกพา (Walkman-ของปลอมเท่านั้น) แบบเปิดลำโพงได้ รถที่ผมใช้นั้นเครื่องเล่นเทปมันพังไปตั้งแต่ช่วงที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ช่วงหนึ่งผมจึกมักจะเอา Walkman ตัวนี้มาวางเปิดไว้ในรถแทน และเวลาเดินทางด้วยรถทัวร์หรือรถไฟก็มักจะติดเจ้าเครื่องเล่นนี้เสียบหูฟัง ฟังเทปที่ว่านี้ไปขณะเดินทางทุกครั้ง จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น เทป Cassette คู่การเดินทางของผมไม่ว่าจะในระยะใกล้หรือระยะไกลเลยก็ว่าได้คุณภาพเสียงจากเครื่องเล่นของผมในตอนนั้น เรียกได้ว่าเอาไปเทียบกับการฟังจาก CD หรือแม้แต่การฟังจากไฟล์เสียงไม่ได้เลยทีเดียว (ในกรณีที่เทียบกับไฟล์เสียงที่คุณภาพ สัก 128 KB/s ขึ้นไป) แต่ผมไม่ได้เป็นคนที่จริงจังกับคุณภาพเสียงขนาดพวก Audiophile เสียงร้องของ Bob Dylan เองก็สาก ๆ เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว  ดนตรีเขาก็ไม่ซับซ้อนมากขนาดต้องหาความต่างจากคุณภาพเสียงที่สำคัญคือ ความรู้สึกตอนที่ได้ฟังเสียงคุณภาพต่ำ สลับกับเสียงเครื่องยนต์รอบข้างขณะขับรถกลับบ้านนั้น มันเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่อธิบายออกมาเป็นคำพูดยากได้มาก จนกระทั่งว่าถ้าคุณภาพเสียงมันดีกว่านี้ คงไม่ได้อารมณ์ในแบบเดียวกันเรื่องของการอัดเพลงลง Cassette นี้ชวนให้ผมนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า MixtapeMixtape คือการนำเอาบทเพลงจากศิลปินคนเดียวหรือต่างศิลปินก็ได้ มารวบรวมเป็นอัลบั้ม อัดลงเทปคาสเซทท์ โดยเรียงลำดับ Track ต่าง ๆ ตามใจตนเอง มีบางส่วนที่อาจจะมีลักษณะเอาดนตรีประเภทเดียวกันมาใส่ไว้ด้วยกัน บ้างก็เอาดนตรีเนื้อหาใกล้กันหรือสอดคล้องกันมารวมเป็นคอนเซปต์อัลบั้มในแบบของตัวเอง ใครที่มีความสามารถในด้านเครื่องมือเครื่องไม้ก็อาจจะดัดแปลงซาวน์เสริมเข้าไปในขั้นตอนต่าง ๆ ตามแต่เห็นเหมาะสมกับเรื่องนี้คนที่จริงจังกับเรื่อง Mixtape บางคน จะถือว่าการเรียบเรียง Track ลงอัลบั้มเป็นเรื่องเชิงสุนทรียรสเลยทีเดียว ว่าแล้วก็นึกถึง ร็อบ ตัวเอกในนิยายและภาพยนตร์เรื่อง High Fidelity ที่มักจะชอบจัด 5 อันดับเพลงให้กับอะไรต่าง ๆ ในชีวิตถ้าพูดให้ใกล้ตัวเข้ามามากกว่านี้หน่อย สำหรับบางคนที่เกิดในยุคเทปอัดเฟื่องฟู คงต้องได้พบเจอ Mixtape ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการอัดเทปรวมเพลงรัก ส่งให้กันนั่นเอง (อันนี้จะกลายเป็นความทรงจำที่ดีหรือความทรงจำที่อยากจะลืมก็ไม่อาจทราบได้ :P)นอกจากนี้ เทปอัดยังทำให้เกิดวัฒนธรรม Bootleg และ Tape Trading ตามมา เรื่องของ Tape Trading นั้นผมเกิดไม่ทัน และไม่มักคุ้นมันสักเท่าไหร่ แต่ได้ยินว่ามันมีคุณูปการต่อดนตรีใต้ดินมาก ๆ(ไม่นับเทปพีค็อก ที่คงตรึงตราอยู่ในความทรงจำของหลาย ๆ คนอยู่แล้ว)ขณะที่ Bootleg นั้นมันคือการบันทึกเสียงจากการแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการ (ซึ่งต่างจาก Live album ซึ่งออกมาจากต้นสังกัดอย่างเป็นทางการ) รวมถึง "เพลงหายาก" (Rarity) ซึ่งหมายถึงพวก Demo งานที่ยังไม่สมบูรณ์ (แต่รั่วไหลออกมาก่อน) , งานที่ศิลปินไม่ได้วางแผนจะปล่อยออกมา อะไรพวกนี้เป็นต้นซึ่งดูเหมือนว่าวัฒนธรรมการบันทึกเสียงนี้เสี่ยงต่อกฏหมายลิขสิทธิ์เอาการ แต่ในขณะเดียวกันบางศิลปินก็กลับอนุญาตให้ผู้เข้าชมอัดเสียงกันได้ตามสบาย เช่นวง The Grateful Dead , Nickel Creek , The Decemberists , John Mayer , Jack Johnson ฯลฯขณะที่บางคนมองเป็นวิกฤต แต่ตันสังกัดหัวธุรกิจก็มองมันเป็นโอกาส แทนที่จะปล่อยให้ผู้ฟังทำแจกทำขายกันเอง ทางต้นสังกัดก็ทำการเลยออก Bootleg ของตัวเองอย่างเป็นทางการ (Official Bootleg) ให้กับศิลปินที่พอมีหน้ามีตามาขายเองเสียเลยตัวผมเติบโตผ่านยุคที่ CD เข้ามาแทนเทปคาสเสทท์ และในปัจจุบันนี้เอง Digital media กำลังปันพื้นที่กับ CD อย่างสนุกสนาน (ในความรู้สึกผมนะ คนอื่นอาจจะไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะส่วนตัวผมเสพย์ดนตรีทั้งทาง CD และไฟล์เพลง นอกจากนี้ก็คิดว่า CD จะยังไม่ตายง่าย ๆ) วัฒนธรรมการ Mixtape อาจจะกลายเป็นการ WriteCD ซึ่งทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการอัดเทปแบบเป็นเพลง ๆ ไป โปรแกรมเล่นเพลงในคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะโปรแกรมไหนก็มีระบบจัด Playlist ได้อิสระง่ายดาย อารมณ์ไหนก็เลือกเอาได้แต่ถ้าหากลองได้สำรวจความรู้สึกอันละเอียดอ่อนมนุษย์ดูแล้วล่ะก็ ความรู้สึกของการได้ WriteCD ให้ใครบางคน (อย่าเพิ่ง ! อย่าเพิ่งเอาเรื่องลิขสิทธิมาขัดอารมณ์โรแมนติกสิ เดี๋ยวค่อยไปเถียงกันทีหลัง) หรือการได้ส่งไฟล์เพลงให้ใครบางคน มันก็ต่างกับ ความรู้สึกตอนที่เราได้อัดเทปอยู่ลึก ๆยังไงก็น่าลองหยุดทำความเข้าใจตัวเองกันสักนิดก็ดีว่า ความรู้สึกเก่า ๆ ตอนที่เรากดไอ่ปุ่มที่มีจุดแดง ๆ บนเครื่องอัดเทป แล้วนั่งดูรีลมันหมุนไปนั้น เป็นความรู้สึกที่ดีกว่าตอนที่เรานั่งฟังเสียงวี้ ๆ จากการเบิร์นซีดี จริงน่ะหรือ หรือมันเป็นแค่อุปาทานของเราเองเป็นธรรมดาที่เวลาเราเกิดความรู้สึกแบบหวนรำลึกหาอดีต (Nostalgia) แล้ว ภาพความเลวร้ายของ "อดีต" จะดูเลือน ๆ ไป สิ่งที่เด่นชัดกว่าคือด้านดี ๆ ของมัน ทำให้ยึดติดไปเองว่าอดีตมันดีกว่าปัจจุบัน ดีกว่าอนาคตการฝันถึงอดีตชั่วยามมันดีที่ช่วยปลุกปลอบหัวใจให้คลายความหมองหม่นไปบ้าง แต่สิ่งที่น่ากลัวคือการยึดมั่นถือมั่นจนอยากที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม แล้วปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงยังไม่รู้ว่าโลกจะหมุนไปไกลถึงแค่ไหนอีก เวลาเราก้าวไปข้างหน้า มันจะต้องมีอะไรหล่นหายไปรายทางเสมอ ความรู้สึกเก่า ๆ พวกนั้นเราอาจไม่ได้กลับคืนมา แต่มันก็ดีไม่ใช่หรือเวลาที่เราได้แค่คิดถึงมันผมเคยยึดติดอดีตและอะไรเก่า ๆ อยู่เหมือนกัน แต่เวลาที่ผันผ่านไปจะทำให้เราเรียนรู้ว่า สิ่งที่มันหล่นหายไป สิ่งเราคิดถึงมันอาจจะเป็นแค่ภาพมายาฉุดเราไว้ สำหรับสิ่งที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าขอเพียงแค่เรามีส่วนร่วมกำหนดมัน เราอาจจะได้พบเจอสิ่งที่ดีกว่าก็ได้บางคนอาจจะเกิดทันยุคของแผ่นเสียง Vinyl ที่มันเคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีอย่างแยกไม่ออก ก่อนที่จะห่างหายไปตามยุคสมัย แล้วในตอนนี้มันก็กลับมาอีกครั้ง ต่างกันตรงที่กลับมาด้วยความเป็น Rarity และเป็นสินค้าสำหรับนักสะสมทุกวันนี้ Cassette เองก็ยังคงมีใช้กัน เพียงแต่ไม่แพร่หลาย และวัฒนธรรมที่มากับมันคงถูกโอนถ่ายไปสู่ CD ไปสู่ Digital media โดยเปลี่ยนคุณลักษณะให้เข้ากับความสะดวกรวดเร็วของตัวมันเองแล้ว สักวันหนึ่งแม้แต่ CD เองก็อาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อย (Subculture) ที่มีกลุ่มคนอีกหยิบมือหนึ่ง รักษาและสะสมมันไว้ด้วยใจรักเช่นเดียวกับ Vinyl และ เทปคาสเสทท์ ก็ได้มันคงไม่ได้ตายไปร้อยเปอร์เซนต์ มันเพียงแค่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น และน่าสนุกหากได้คิดว่า วัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่มากับการเผยแพร่ดนตรีรูปแบบใหม่ในยุคต่อไปจะมีลักษณะเป็นเช่นไรแม้ผมจะไม่มีเครื่องเล่นคาสเสทท์นั้นแล้ว แต่เสียงร้องแหบ ๆ ของ Bob Dylan จากเทปอัดม้วนนั้นยังคงตรึงอยู่ในใจผมเสมอ มีเพลงโปรดผมเพลงนึงที่ผมมักเปิดฟังเวลาเสียกำลังใจ เนื้อหาของมันที่เปล่งมาจากลำโพง Lo-fi เสียงแตก ๆ นั้น ยังคงย้ำเตือนอยู่เสมอว่า "The Time They are A-Changin' "..."เวลานั้นหรือคือการเปลี่ยนแปลง"  "The line it is drawnThe curse it is castThe slow one nowWill later be fastAs the present nowWill later be pastThe order isRapidly fadin'.And the first one nowWill later be lastFor the times they are a-changin'"- The Time They are A-changin' 
Cinemania
ซาเสียวเอี้ยการไล่ตีแมลงสาบบนฝาบ้าน อาจเป็นเกมสนุกสนานอย่างหนึ่ง และเพียงสายลมเย็นจากพัดลมมือสองที่เป่าไล่ความร้อนในค่ำคืนอบอ้าวอาจเป็นถึง ‘รางวัลชีวิต' ของสองพ่อลูกผู้ยากจน...ผู้อาศัยอยู่ในโลกแห่งความแร้นแค้นทั้งหมดที่่ว่ามา-อาจฟังไม่ต่างจากสงครามชีวิตสุดรันทด (บัดซบ!) แต่เมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของ ‘โจวซิงฉือ' ไอ้สิ่งที่ควรจะเศร้า...กลับทำให้เราหัวเราะออกมาได้000ถึงแม้ว่าหน้าหนังของ CJ7 จะถูกโฆษณาว่าเป็นแนว Sci-fi แต่ ‘ใจความสำคัญ' ที่อยู่ในนั้น ไม่ใช่ ‘ความลี้ลับ' ของจักรวาลอันกว้างใหญ่ หรือถ้าจะพูดให้ชัดๆ ก็ต้องบอกว่า นี่คือหนังครอบครัวแนว Comedy-Drama ที่ให้ ‘สิ่งมีชีวิตจากนอกโลก' เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยบังเอิญเท่านั้นเองตัวละครแบบ ‘ลูกกระจ๊อก' ‘ลูกไล่' หรือ ‘ไอ้ขี้แพ้' ตามสไตล์หนังโจวซิงฉือ ยังอยู่ครบถ้วน เพียงแต่ว่าครั้งนี้เขาไม่ได้มาคนเดียว แต่มีการเฉลี่ยน้ำหนักให้ดาราหน้าใหม่ที่มาแสดงเป็น ‘ลูกชาย' ในเรื่องด้วยชีวิตของ ‘อาตี้' (โจวซิงฉือ) ไม่รุ่งโรจน์สดใส เขาอาจจะตายไปโดยไม่อาจเป็นอะไรอย่างอื่นได้อีก นอกจาก ‘กรรมกรก่อสร้าง' ผอมแห้งแรงน้อย และที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะอาตี้ไม่ได้เรียนหนังสือตอนเป็นเด็ก เขาจึงตั้งความหวังว่า ‘เสี่ยวตี้' (ซูเจียว) ลูกชายคนเดียวที่มี จะมีอนาคตที่ดีกว่า อาตี้ทำงานหนัก ควบทั้งกะเช้ากะดึก เพื่อจะส่งเสียให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนเอกชน ‘ดีๆ' และการที่โรงเรียนเอกชน ‘ดีๆ' ส่วนใหญ่เก็บค่าเล่าเรียน ‘แพงๆ' ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาเงินที่อาตี้หามาได้ก็หมดไปกับค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ ฯลฯ ของเสี่ยวตี้ และครั้งไหนที่ไม่มีเงินซื้อของใหม่ อาตี้จะไป ‘ช็อปปิ้ง' ที่ภูเขาขยะเพื่อหาข้าวของที่ยังพอจะใ้ช้การได้มาซ่อมแซมให้ลูกชายวันหนึ่งเสี่ยวตี้ดื้อดึงจะให้พ่อซื้อของเล่นราคาแพงเหมือนอย่างที่เคยเห็นของเพื่อนในโรงเรียน ผลก็คืออาตี้ต้องไปคุ้ยภูเขาขยะเพื่อหาของเล่น (ที่คนอื่นทิ้งแล้ว) มาปลอบใจลูกชาย แต่กลายเป็นว่า สิ่งที่เขาหยิบมาคือ ‘อะไรบางอย่าง' ที่เดินทางมาจากนอกโลกพร้อมยานอวกาศรูปทรงประหลาดๆ ลำหนึ่ง...‘ของเล่น' ที่อาตี้เก็บมาให้ลูกชาย กลายเป็นของแปลกที่น่าสนใจสำหรับเสี่ยวตี้ เพราะต่อมา ของเล่นชิ้นนั้นก็กลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดตัวเขียวหยุ่นๆ หัวกลมๆ มีขนฟู และตาโตๆ เหมือนลูกหมา การอยู่ร่วมกับสัตว์ประหลาดที่ว่าก็กลายเป็นประสบการณ์สำคัญที่เปลี่ยนชีวิตสองพ่อลูกผู้ยากไร้ในภายหลัง...000ผลงานก่อนหน้า อย่าง Kung Fu Hustle หรือ Shaolin Soccer ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทั้งที่ตอนนั้นโจวซิงฉือเพิ่งจะมีผลงานกำกับเอง, เขียนบทเอง และแสดงเองอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง แต่มุขเสียดสีสังคมอย่างแสบสันต์ด้วยการหยิบเอาตำนานจอมยุทธ์มาล้อเลียนกับฉากหลังอันปั่นป่วนของฮ่องกงยุคต่างๆ (ยุคอันธพาลครองเมืองและยุคโลกาภิวัตน์) เพื่อบอกเล่าถึงการต่อสู้ของชนชั้นล่างที่ต้องรวมตัวกันปกป้องชุมชนของตัวเองอย่างแข็งขัน เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมตะวันออกมีประสบการณ์ร่วมอยู่บ้าง ทั้งจากหนังจีนกำลังภายใน หนังสือ และวัฒนธรรมที่บ่มเพาะกันมานาน เมื่อจับมารวมกับมุขตลกหน้าตายของโจวซิงฉือ มันก็กลายเป็นสูตรของหนังที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเย็นอะไรทั้งที่ภาพลักษณ์ของโจวซิงฉือ ไม่ใช่ Action Hero อย่าง ‘เฉินหลง' หรือ ‘หลีเหลียนเจี๋ย' (Jet Li) แต่เพราะเขาคือ ‘ผู้แพ้' ที่พากเพียร หรือไม่ก็เป็นพวกขี้โม้ กะล่อน เอาัตัวรอดไปวันๆ และอาจเป็นได้ว่า ความไม่เอาไหนเหล่านั้น คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนดูหลายคนสนุกกับการเอาใจช่วยเขามากกว่าเวลาที่ได้ดูการแสดงของนักแสดงดังๆ ที่เก่งกาจเรื่องศิลปะการต่อสู้ระดับเทพแต่การกลับมาพร้อม ‘หนังไซ-ไฟ' ของโจวซิงฉือครั้งนี้ อาจเรียกว่าเป็นความพยายามที่จะ ‘ฉีกแนว' ครั้งสำคัญ...น่าเสียดาย...ที่บรรยากาศมันไม่ได้แตกต่างจากผลงานหลายๆ เรื่องที่เขาเคยผ่านมาแล้วจริงอยู่--ความน่ารักของ ‘เสี่ยวตี้' และ CJ7 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ซีเจ' ยังมีพลังมากพอที่จะทำให้คนดูหนังรู้สึกเพลิดเพลินจำเริญใจไปกับหนัง และต้องยกให้เป็นความลงตัวของสเปเชียลเอฟเฟกต์และนักแสดงหน้าใหม่ ซึ่งแสดงได้ดีจนไม่อยากเชื่อว่าเด็กผู้ชายหน้าทะเล้นคนนั้น แท้จริงแล้วเป็น ‘เด็กผู้หญิง' วัย 10 ขวบ และอนิเมชั่นสามมิติที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสัตว์ประหลาดสีเขียวขนฟูนั้นก็ดูน่ารักน่าชังจริงๆแต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม หลายต่อหลายฉากที่ผ่านตาใน CJ7 หลายต่อหลายคนเคยเห็นมามากแล้วในหนังของโจวซิงฉือหลายๆ เรื่อง ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ทำให้เราหัวเราะหรือร้องไห้กับมันได้น้อยลง ฉากที่ควรจะขำ คนดูหลายๆ คนก็ยังขำ และฉากไหนที่ออกมาเพื่อเรียกน้ำตา ก็ยังทำให้หลายคนต้องควานหากระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้ามาใช้งานอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่หายไปคือเสน่ห์ของ ‘ตลกร้าย' ที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าใจไปพร้อมๆ กับการระเบิดเสียงหัวเราะออกมาวิธีเอาตัวรอดของหนุ่มบ้านนอกซื่อๆ ที่พยายามจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งค์ผู้มีอิทธิพลซึ่งโจวซิงฉือเคยวิพากษ์ไว้ในหนังเรื่อง Kung Fu Hustle มีความแหลมคมสะใจที่ได้เห็นสังคม ‘กินคน' ถูกท้าทาย ที่ๆ อำนาจมืดและอำนาจทุนกดขี่ผู้คนจากบนลงล่าง และอำนาจรัฐก็ช่วยอะไรไม่ได้ ในที่สุดก็ถูกล้มล้างโดยชาวบ้านใน ‘ตรอกเล้าหมู' ที่แสนจะอุดอู้และสกปรก ส่วนประเด็นที่พูดถึงใน CJ7 คือการ ‘ยกระดับทางสังคม' ซึ่งน่าจะมีเรื่องราวให้เอามาเสียดสีได้เยอะทีเดียว แต่ (อาจจะ) ด้วยความที่ต้องการให้หนังเรื่องนี้เป็น ‘หนังครอบครัว' โจวซิงฉือจึงเลือกวิธีที่ค่อนไปในทาง ‘สั่งสอน' และ ‘เทศนา' โดยยกให้ ‘การศึกษา' เป็นคำตอบของเรื่องทั้งหมดหลายๆ ฉากใน CJ7 อาตี้สอนลูกให้ขยันเรียน, ซื่อสัตย์, อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะการศึกษาคือ ‘ความหวัง' ที่จะทำให้คนยากจนหลุดพ้นไปจากความแร้นแค้น แ่ต่ค่านิยมแบบนี้ก็ไปผลิดอกออกผลเป็นการแก่งแย่งแข่งขันตะเกียกตะกายเื่พื่อเข้าไปเรียนในโรงเรียนดีๆ และสิ่งที่อาตี้สอนบทเรียนให้ลูกไม่ได้ก็คือว่า เด็กๆ ควรจะทำอย่างไรเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสภาพที่การ (ได้รับความ) เคารพศักดิ์ศรี--มาพร้อมกับสถานะทางสังคมที่นิยมวัตถุมากกว่าอะไรที่เป็นนามธรรม อย่างเช่น ความอ่อนน้อม ความมีน้ำใจ และความยุติธรรมแต่ถึงจะบ่นว่ายังไงก็ตามที โดยส่วนตัวแล้วก็ยังเห็นว่า CJ7 เป็นหนังที่ดีและดูสนกอีกเรื่องหนึ่งซึ่งใครๆ ก็ดูได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด สิ่งหนึ่งที่โจวซิงฉือถ่ายทอดออกมาในหนัง (แทบจะ) ทุกเรื่องก็ยังไม่หายไปไหน นั่นคือ ‘ความหวัง' ว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม... 
Carousal
คุณเคยคิดบ้างไหมคะว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนไม่เพียงแต่สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างระบบโครงสร้างของร่างกายที่ตั้งฉากกับพื้นโลก  ซึ่งแตกต่างจากสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างระบบสมอง การรับรู้ และความรู้สึกนึกคิดอีกด้วย การทำงานของเซลล์ประสาทสีเทานับล้าน ๆ เซลล์ที่กระจุกตัวรวมกันอยู่ใต้กระโหลกของเรา ทำให้มนุษย์สามารถแปลผลและวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเป็นข้อมูลที่ลึกซึ้งได้และด้วยความซับซ้อนของสมองนี้เอง เมื่อมันต้องทำงานภายใต้สภาวะที่ไม่เหมาะสมกับตัวมัน เช่นมีความกดดันหรือความเครียด การประมวลผลและการสั่งการของมันก็ย่อมจะผิดเพี้ยนไปเรามาทำความเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์ให้มากขึ้นอีกนิด ผ่านทางการ์ตูนเรื่องนี้กันเถอะค่ะPsycho Doctor เป็นผลงานการเขียนของอาจารย์ TADASHI AGI ที่ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบการ์ตูนโดยนักวาดการ์ตูนฝีมือเยี่ยมสองท่าน บงกชคอมมิคส์จัดจำหน่ายโดยแบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกในชื่อ Psycho Doctor - คุณหมอจอมเจ๋อ โดยฝีมือการวาดของอาจารย์  KEN MATOBA (8 เล่มจบ) และภาคสอง Psycho Doctor Kai Kyosuke – คุณหมอยอดนักสืบ  โดยอาจารย์ SHU OKIMOTO (4 เล่มจบ)เนื้อหาของ Psycho Doctor นำเสนอเรื่องราวของเหล่าผู้คนในสังคมยุคปัจจุบัน ที่เมื่อเมืองเจริญก้าวหน้าขึ้น จิตใจอันเปราะบางของคนเราก็ยิ่งต้องแบกรับสภาวะที่เคร่งเครียดมากยิ่งขึ้น และในที่สุดก็แสดงออกในรูปของบุคลิกภาพที่สับสนแปรปรวน ไปจนกระทั่งก่อความวุ่นวายและอาชญากรรม โดยการ์ตูนจะนำเสนอแบบเป็นตอน ๆ ตามกรณีศึกษาแต่ละกรณีที่คุณหมอไค เคียวซึเกะ จิตแพทย์อิสระที่เปิดสถาบันให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาอยู่ที่อพาร์ทเมนต์โทรม ๆ แห่งหนึ่งในโตเกียว ได้ประสบพบมาสิ่งแรกที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้น่าสนใจ คือทฤษฎีและข้อมูลเกี่ยวกับจิตวิทยาที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องแต่ละตอนค่ะ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน อย่างจิตวิทยาในการพูดเพื่อโน้มน้าวจิตใจคน การจับความรู้สึก หรือจับโกหกคนที่กำลังพูดด้วยจากกิริยาอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญซึ่งเขาเผลอแสดงออกมา ไปจนกระทั่งถึงอาการทางจิตที่รุนแรงจนเรียกได้ว่าเป็นโรคที่ต้องเข้ารับการรักษา เช่นฮิคิโคโมริ (พวกที่ชอบเก็บตัวอยู่แต่ในห้องของตัวเองโดยไม่ยอมออกมาพบหน้าใครเลยแม้แต่ครอบครัวนานเป็นปีๆ), บุคลิกภาพซ้อน (มีสองคนในร่างเดียว เหมือน ดร. แจ็คคิลกับมิสเตอร์ไฮด์) และฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง เป็นต้นคุณเคยเข้ารับการทดสอบทางจิตวิทยาไหมคะ? ถ้าคุณเคยเลือกคณะแพทย์ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย คุณต้องเคยได้ทำข้อสอบที่เรียกว่า ‘ความถนัดทางแพทย์’ ข้อสอบชุดนี้แหละค่ะคือบททดสอบทางจิตวิทยา เพื่อให้แน่ใจว่า คุณเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตปกติ ก่อนที่จะรับคุณเข้าเรียน ในการ์ตูน Psycho Doctor จะเฉลยแบบทดสอบบางชุดว่ามันใช้วัดอะไร และแสดงอะไรออกมา ที่เราเคยเห็นและคุ้นเคยกันพอสมควรคงจะเป็นโบมเทสต์ เป็นการทดสอบที่ให้คุณวาดรูปต้นไม้และบ้าน ต้นไม้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรอบข้าง บ้านแสดงถึงตัวตนที่แท้จริงและครอบครัวของคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณวาดลงไป ทิศทางของกิ่งก้าน ขนาดของลำต้น ผลไม้และสัตว์ที่เกาะอยู่บนต้นไม้ ขนาดของพื้นดิน ประตู หน้าต่าง ทุกอย่างล้วนมีความหมายซุกซ่อนอยู่ ซึ่งจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะสามารถวิเคราะห์ออกมาเป็นสุขภาพจิต ณ เวลาปัจจุบันของคุณได้ค่ะอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือสารที่การ์ตูนเรื่องนี้ต้องการจะสื่อค่ะ ผู้เขียนต้องการที่จะบอกเราว่า ผู้ป่วยที่เป็นกรณีศึกษาเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวการ์ตูนสมมติที่ไม่มีชีวิตจิตใจ แต่เป็นคนจริง ๆ ที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในสังคมยุคปัจจุบัน หากมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเกิดความผิดปกติทางจิต เราจะพบว่า ปัจจัยโน้มนำต่าง ๆ ที่กดดันบีบคั้นพวกเขา ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวเลย ตั้งแต่ปัญหาพื้นฐานอย่างครอบครัวที่แตกแยก พ่อแม่หย่าร้าง เด็ก ๆ ต้องเติบโตมาภายใต้การดูแลที่ไม่เหมาะสม (ซึ่งหากคุณเคยศึกษาภูมิหลังของฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง คุณจะพบว่าส่วนใหญฆาตกรเหล่านั้นล้วนเคยมีปัญหาหรือปมในจิตใจเนื่องจากการขาดความอบอุ่น และการสั่งสอนเลี้ยงดูที่ถูกต้องในวัยเด็ก) ความเครียดจากการงาน การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ความเครียดจากการคาดหวังของทางบ้าน สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เต็มไปด้วยความแข่งขันเช่นในปัจจุบันการบ่มเพาะค่านิยมที่ให้ความสำคัญเฉพาะกับผู้ชนะ และไม่มีที่ยืนสำหรับผู้พ่ายแพ้ ทำให้ผู้ที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ จะกลายเป็นคนที่หมดกำลังใจต่อสู้ คิดว่าตัวเองไร้ค่า ในขณะที่ผู้ที่ทำได้ทุกอย่างกลายเป็นคนที่แพ้ไม่เป็น เมื่อมีเหตุให้ต้องประสบกับความผิดหวังเข้าสักอย่าง ก็จะยอมรับไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่น ที่มีการแข่งขันและความกดดันที่สูงกว่าบ้านเรามาก มีฮิคิโคโมริขึ้นมาค่ะ ฉันไม่รู้ว่าในประเทศไทยมีฮิคิโคโมริแล้วหรือยัง แต่เด็กที่ป่วยเพราะไม่อยากไปโรงเรียนมีแล้วแน่ ๆ เด็กพวกนี้ไม่ได้แกล้งป่วยนะคะ เขามีอาการจริง ๆ ไม่ว่าจะปวดท้องหรือคลื่นไส้อาเจียน แต่สาเหตุไม่ได้มาจากสุขภาพทางกายบกพร่อง สิ่งที่มีปัญหาคือสุขภาพจิตของเขาต่างหากการที่ Psycho Doctor นำปมปัญหาเหล่านี้มาเรียบเรียงเป็นเรื่องราว ก็นับว่าเป็นอีกสื่อหนึ่งที่นอกจากจะเตือนให้เราตระหนักถึงความเจ็บป่วยของสังคม และเร่งเร้าให้หันกลับมาเผชิญหน้ากับปัญหาเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขแล้ว ยังบอกให้เรารู้อีกด้วยว่า แม้จะไม่รู้ตัว แต่มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบาง ละเอียดอ่อน และต้องการความเข้าอกเข้าใจมากกว่าที่คิดถ้าเราเริ่มต้นด้วยการมองคนรอบข้างจากมุมมองของเขา ด้วยความตั้งใจจริงที่จะทำความเข้าใจ ก็จะไม่มีใครที่ถูกทอดทิ้งไว้ในโลกนี้อย่างเดียวดาย ไม่มีใครที่ต้องร้องไห้อยู่ในมุมมืดคนเดียว เพราะว่าไม่มีใครเลยที่อยู่เคียงข้างถ้าใครที่ชอบเรื่องแนวจิตวิทยา ลองหาการ์ตูนเรื่องนี้มาอ่านกันนะคะ รับรองว่าคุณจะต้องทึ่งกับความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ อ่านจบแล้ว อย่าลืมสำรวจตัวเองและคนรอบข้างด้วยนะคะ ว่ามีใครบ้างที่แสดงอาการเข้าเค้าแบบเดียวกับตัวละครในเรื่อง เผื่อว่าคุณจะได้ช่วยเขาแก้ไขปัญหาทางจิตใจได้ทันเวลาไงล่ะ
Carousal
คุณเคยคิดบ้างไหมคะว่า ในโลกอันกว้างใหญ่ที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไปด้วยแรงขับดันจากพละกำลังของมนุษย์เช่นทุกวันนี้ แท้ที่จริงแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่ร่วมเป็นเจ้าของด้วยเหมือนกัน?เมื่อสามสัปดาห์ก่อน รายการ ‘คนค้นฅน’ ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘หมอล็อต’ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งรับหน้าที่รักษาช้าง ผู้ป่วยของคุณหมอมีทั้งช้างบ้าน (มีบ้างที่ผู้ป่วยมาหาหมอ แต่ส่วนใหญ่แล้วหมอจะเป็นฝ่ายขับรถไปหาผู้ป่วย) และช้างป่า (อันนี้หมอต้องหาพรานนำทางบุกเข้าป่าไปหาผู้ป่วยด้วยตัวเองสถานเดียว) ดูแล้วคิดถึงการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมาทันทีWildlife สัตวแพทย์มือใหม่ หัวใจเมโลดี้
Carousal
‘Wild horses run unbridled or their spirit dies’ทุกครั้งที่ได้ยินประโยคนี้จากเพลง ฉันจะคิดถึงการ์ตูนอนิเมชั่นของ Dreamwork เรื่อง Spirit : Stallion of the Cimarron หรือในชื่อไทย สปิริต ม้าแสนรู้ มหัศจรรย์ผจญภัยคุณเคยดูการ์ตูนเรื่องนี้ไหมคะ? มันเป็นเรื่องของม้าป่าในทวีปอเมริกา ในยุคที่คนขาวจากยุโรปอพยพย้ายเข้าไปอยู่ได้ระยะหนึ่งแล้ว กำลังทำสงครามต่อสู้ติดพันกับอินเดียนแดง และกำลังสร้างทางรถไฟพาดผ่านแผ่นดินจากตะวันออกสู่ตะวันตก Spirit เป็นม้าป่าไร้ชื่อที่กำเนิดในฝูงม้าที่มีเพียงทุ่งหญ้าและสายลมเป็นเจ้าของ มันเติบโตขึ้นเป็นม้าหนุ่มฉกรรจ์ รับหน้าที่เป็นผู้นำฝูง คอยปกป้องคุ้มครองดูแลพี่น้องของมันเหมือนที่พ่อของมันเคยทำมาก่อน ความคะนองทำให้คืนหนึ่ง เมื่อมันเห็นแสงวาบที่ขอบฟ้า มันก็วิ่งทะยานข้ามทุ่งไปดูว่าต้นกำเนิดแสงนั้นคืออะไร และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชะตากรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
เด็กใหม่ในเมือง
จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะประเดิมคอลัมน์ใหม่นี้ ด้วยการเขียนถึงหนังเรื่อง "รักแห่งสยาม" (ที่เขียนเสียช้าขนาดนี้ ก็เพราะผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้จากรอบพิเศษที่ชาว pantip.com ร่วมกันจัดขึ้น) แต่ก็มีเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจกระทันหัน เหตุผลที่ว่านั่นก็คือการยุติรายการของคลื่นวิทยุ 99.5 The Radio ครับ ถ้าใครได้ติดตามแวดวงวิทยุในกรุงเทพฯ (หรือถ้าไม่ได้ตามในกรุงเทพฯ จะฟังวิทยุทางเนตก็เช่นกัน) รวมถึงเป็นนักฟังเพลงสากลอยู่บ้าง คงจะรู้จักรายการนี้ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมนักจัดรายการระดับ "เทพ" ของวงการวิทยุเมืองไทย ตั้งแต่คุณหมึก - วิโรจน์ ควันธรรม, คุณมาโนช พุฒตาล, คุณเดือนเพ็ญ สีหรัตน์,ป้าแต๋ว - วาสนา วีระชาติพลี ฯลฯ นักจัดรายการเหล่านี้ เป็นตัวแทนของดีเจ. ในยุคที่วงการวิทยุอุดมไปด้วยดีเจ. ต้องมีความรู้-เข้าใจในตัวเพลงที่เปิด ประกอบกับความสามารถในการดึงคนฟังให้อยู่หมัด สิ่งที่เราได้ยินจาก The Radio จึงแตกต่างจากรายการวิทยุประเภท "ฟังเพลงต่อเนื่อง 50 นาที" ตรงที่เราจะได้ฟังเพลงพอประมาณ ในขณะเดียวกันดีเจก็ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้พูดเข้ารายการกับปิดท้ายเพลงเพียงเท่านั้น หลายๆ ครั้งที่เราจะได้ยินเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเพลงที่เปิดอยู่ รวมถึงเรื่องราวสัพเพเหระต่างๆ จนบางครั้งสิ่งที่ดีเจพูด น่าสนใจกว่าตัวเพลงที่เปิดเสียอีก (ถ้าใครเคยฟังพี่ซัน - มาโนช พุฒตาล จัดรายการจะเข้าใจเรื่องนี้ดีครับ เพราะหลายๆ คนที่ฟังช่วงที่พี่ซันจัดก็เพื่อรอลุ้นว่าวันนี้พี่ซันจะพูดอะไร และจะคว้า "ไอ้จู๊ด" - กีตาร์ตัวโปรดขึ้นมาเล่นสดๆ ในรายการช่วงไหน) The Radio แสดงให้เราเห็นว่าดีเจไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้พูดเปิดรายการ, เข้าเพลง, ปิดรายการ และหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการช่วยขายของให้กับสปอนเซอร์ของคลื่นด้วย (ฮา...) แต่ดีเจยังนำเสนอความคิด, ประสบการณ์ และรสนิยมทางดนตรีมาคลุกเคล้าแล้วนำเสนอไปกับวิธีการพูดที่น่าฟัง (ซึ่งสิ่งนี้บรรดาดีเจหน้าหล่อรุ่นหลังๆ ทำไม่ค่อยเป็น) ทำให้แม้จะไม่ได้เป็นคลื่นวิทยุสังกัดบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่รายการนี้ก็มีผู้ฟังมากพอสมควร และเป็นที่กล่าวขวัญแบบปากต่อปากมากขึ้นเรื่อยๆ (ได้ยินมาว่าแม้กระทั่งในออฟฟิศของประชาไทเอง ก็มีแฟนๆ เดอะเรดิโออยู่หลายคนเหมือนกัน)แต่แม้ว่ารายการนี้จะมีผู้ฟังเยอะขนาดไหน แต่จำนวนสปอนเซอร์กลับไม่ได้เยอะตามไปด้วย จนในที่สุด นายทุนเลยถอดใจ เปลี่ยนรูปแบบรายการเป็นเน้นเพลงป๊อปเอาใจวัยรุ่น (ทั้งๆ ที่ได้ยินมาว่าหลังช่วงปีใหม่ จะมีสปอนเซอร์อีกหลายเจ้าเข้ามาสนับสนุน แต่ก็ดูว่าจะไม่ทันกาลเสียแล้ว)เอาเข้าจริงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ The Radio ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ รายการวิทยุชั้นดีในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรายการที่ผสานการเป็นคลื่นวิทยุขวัญใจวัยรุ่นกับรายการวิทยุคุณภาพได้ลงตัวอย่าง Smile Radio FM 88.0 หรืออย่าง 89.0 Pirate Rock ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของคลื่นขวัญใจคออินดี้อย่าง Fat Radio ในปัจจุบัน (แม้กระทั่งพี่หมึก – วิโรจน์ ควันธรรมเองก็เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อนในสมัย 94.5 Love FM.)เพราะทุกรายการที่ผมกล่าวมานั้น ต่างเป็นรายการที่มีกลุ่มคนฟังเหนียวแน่นพอสมควร และต่างก็รับคำกล่าวขวัญจากผู้ฟังในด้านคุณภาพ แต่ก็ไม่สามารถรักษาคลื่นวิทยุของตัวเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลจากการหาโฆษณาไม่ได้, ไม่ได้ต่อสัญญาสัมปทานกับทางคลื่น เพราะมีเจ้าอื่นที่เงินหนากว่ามาประมูลได้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนเริ่มรู้สึกว่า การทำรายการวิทยุให้ถูกใจคนฟัง อาจไม่สำคัญเท่ากับการทำรายการวิทยุให้ถูกใจเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งบรรดาเอเจนซี่เหล่านี้นะแหละ ที่เป็น “มือที่มองไม่เห็น” ที่คอยกำหนดชี้เป็น ชี้ตายให้กับวิทยุ (เอาเข้าจริง มันก็โอบคลุมไปทั้งวงการวิทยุ, โทรทัศน์, นิตยสาร... หรือให้ง่ายกว่านั้น สื่อทุกประเภทกำลังถูกมือข้างนี้ค่อยๆ บีบทีละน้อย...)ในขณะที่คนเสพได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยความเสียดายผมควรจะจบเรื่องนี้ด้วยการสรุปแบบเศร้าๆ ว่า “นี่คืออีกหนึ่งคลื่นวิทยุดีๆ ที่ต้องจากไปเพราะกระแสทุนเป็นใหญ่”...แต่มันยังจบไม่ได้ครับเพราะว่ามีคนนำเรื่องการยุติรายการของ The Radio ไปโพสต์ลงในเวบบอร์ดในห้อง “เฉลิมไทย” ของเว็บไซต์ Pantip.com (http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A6178823/A6178823.html)  ซึ่งผลที่ได้ก็คือมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นถึง 934 ความเห็น (ในขณะที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้อยู่) ซึ่งความเห็นจำนวนมากนั้นมีความเห็นของพี่หมึก และทีมดีเจหลายๆ ท่านของ The Radio รวมอยู่ด้วยจากความเห็นเหล่านั้น จุดประกายให้ทีมงาน The Radio เลือกที่จะลองหาทางเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นการทดลองจัดรายการออนไลน์บนอินเตอร์เน็ต หรืออาจจะเป็นการจัดกิจกรรมพบปะแฟนๆ รายการ (ใครอยากทราบรายละเอียดจริงๆ ลองสอบถามไปที่ theradiolive@hotmail.com ดูแล้วกัน)ผมเริ่มเห็นสัญญานอันดี ที่ “มือที่มองไม่เห็น” จะถูกทดสอบโดยพลังของผู้ฟัง – ผู้เสพสื่อจริงๆ สักทีซึ่งแม้จะยังไม่รู้ว่า The Radio จะ “เกิดใหม่” ได้อีกครั้งหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าพวกพี่ๆ สามารถทำได้ การเกิดใหม่คราวนี้จะเป็นเหมือนนกฟินิกซ์ที่เกิดขึ้นจากกองไฟที่เผาร่างตัวเองมันจะไม่ตายง่ายๆ แน่นอนครับ
Carousal
ทุกวัน ทุกเช้า ทุกคืน ทุกครั้งที่ใช้มีดหั่นลงไปบนเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิต และใช้ส้อมจิ้มมันเข้าปาก คุณเคยคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับการกินและความหมายของการสืบทอดจากชีวิตสู่ชีวิตบ้างไหมคะ?ถ้าเคย บางทีการ์ตูนเล่มนี้อาจจะให้คำตอบแก่สิ่งที่คุณสงสัย และแนวคิดใหม่ในอีกแง่มุมหนึ่งแก่คุณค่ะ22XX เป็นผลงานเล่มเดียวจบของชิมิสึ เรโกะ (ผู้เขียน Moon Child, Kaguyahime) โดยจับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต เมื่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุด การพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเหมือนมนุษย์ทุกประการก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป แจ็ค ไนเจล คือหนึ่งในนั้น เขามีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ มีแม้กระทั่งความเจ็บปวด ร้อนหนาวและหิวโหย และในช่วงหนึ่งของชีวิต แม้แต่ตัวแจ็คเอง ก็ยังเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์เช่นกันเหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหญิงแห่งครีกแลนด์ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายลักพาตัวไปกบดานอยู่ที่เมนูเอ็ท ดาวเคราะห์หมายเลข 11 ในกลุ่มดาวหงส์ขาว ครีกแลนด์ตั้งเงินรางวัลหนึ่งแสนล้านครีกแลนด์ดอลแก่บุคคลหรือคณะบุคคลที่สามารถช่วยเจ้าหญิงมาจากผู้ก่อการร้ายได้ ทันทีที่ข่าวถูกป่าวประกาศออกไป นักล่าเงินรางวัลจำนวนมากก็มุ่งหน้าสู่เมนูเอ็ท และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ แจ็ค ไนเจล
Music
Theodor W. Adornoผมได้อ่านบทความเรื่อง "ทบทวนแนวคิด ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม' : เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมสร้างวัฒนธรรม" ของ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ จากวิภาษาฉบับที่ 7 แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่องของนักคิด/นักวิจารณ์ ที่ชื่อ Theodor Adorno นี้ จากบทความชื่อ "อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม : กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม (Popular Music)" ในหนังสือชื่อ "เหลียวหน้าแลหลัง วัฒนธรรมป็อบ" ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะAdorno เป็นนักคิดสังคมนิยมชาวเยอรมัน ผู้นำเอาแนวคิดของทั้ง Max Waber, Marx และ แม้แต่ Sigmund Freud เข้ามาจับในงานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดนตรีAdorno พูดถึงดนตรีโดยแบ่งออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนคือ Serious Music (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดนตรีเครียด แต่ "ซีเรียส" ที่หมายถึงจริงจังน่าจะตรงกว่า) ซึ่งมีนัยหมายถึงดนตรี Classic ทั้งหลายแหล่ (โดยเฉพาะดนตรีที่มีความเป็น Atonality ที่เขาชอบ) กับ Light Music/Popular music ซึ่งหมายถึงดนตรีสมัยนิยม/มวลชนนิยม (จากนี้ผู้เขียนขอเรียกอย่างชัดเจนว่า Popular music) ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ Jazz, Blue, Folk, Pop, Rock, เพื่อชีวิต แม้กระทั่ง Progressive โดย Adorno ได้วิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ว่าเป็นดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของการผลิตซ้ำ และมีจุดมุ่งหมายแบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือเป็นการผลิตเพื่อมุ่งการซื้อขาย การฟังดนตรีพวกนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการบริโภคสินค้าเพื่อความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม นอกจากนี้อาจยังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า False need คือ "ความต้องการเทียม" ขึ้นมาอีก False Need นี้หมายถึงความต้องการในสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเราจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาที่เรารู้ว่าใครได้ฟังเพลงๆ นึง พูดถึงเพลงๆ นึงในกลุ่มเพื่อนแล้วเราไม่รู้จัก เราไม่เข้าใจ เราไม่เคยฟัง เราก็จะเกิด False need ว่าเราต้องไปหาฟังมันให้ได้ ไม่งั้นจะเชย หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เป็นต้นซึ่งในประเด็นนี้ผมมีข้อถกเถียงอยู่แน่นอน ทั้งเรื่องการสร้างความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม และเรื่องการสร้าง False need แต่ตอนนี้ขอเล่าถึงความคิดที่ลึกไปกว่านี้ของ นาย Adorno ก่อนเขาได้เขียน บทความชื่อยาวเหยียดบ้าคลั่งว่า "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" และในเนื้อหาตอนนึงของบทความ มีข้อความที่ทำให้ผมรู้สึกขำ ข้อความที่ว่านั้นก็คือ"...the illusion of a social preference for light music as against serious is based on that passivity of the masses which makes the consumption of light music contradict the objective interest of those who consume it"ขอแปลตามบริบทปัจจุบันและความเข้าใจของผมเองว่า "...ภาพลวงของการที่คนในสังคมส่วนมากชื่นชอบดนตรีสมัยนิยมเบาๆ  ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธดนตรีซีเรียส เนื่องมาจากความเฉื่อยชาของมวลชน ที่ทำให้การเสพย์ดนตรีสมัยนิยม ย้อนแย้งกับความสนใจเชิงวัตถุวิสัยของผู้เสพย์เอง"คำที่ผมฮาคือ "ความเฉื่อยชาของมวลชน" (Passivity of the Mass) ในความหมายคล้ายๆ กันตรงนี้ Adorno ก็ถึงขั้นบอกว่าอุตสาหกรรมเพลงมันช่วยสร้างปัจเจกเทียม (Pseudo-individual) ขึ้นมาเลยทีเดียว หมายความว่า การที่ผู้คนแห่แหนชื่นชมเพลงบางเพลงหรือศิลปินบางกลุ่ม เป็นเพราะพวกเขาเฉื่อยชาและยอมจำนนอย่างนั้นหรือ? ...ผมคิดว่ามีส่วนจริงครับ แต่ไม่ทั้งหมด บางคนอาจจะชื่นชมในดนตรีวงนี้ๆ เพลงนี้ๆ ตามๆ กันไปเพียงเพื่อต้องการทำตัวกลมกลืนไปกับสังคม แต่ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่ามันเป็นรสนิยมส่วนตัว เป็นการเลือกเสพย์ของเขาเองก็มีดนตรี Popular music ทั้งหลายในยุคสมัยปัจจุบันที่ Adorno ไม่ทันได้เห็นนั้น มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เท่าที่ผมสำรวจตรวจตราดู ผมเห็นว่า รสนิยมของผู้คนมันหลากหลายขึ้นกว่าในอดีตนัก จริงอยู่ดนตรีป็อบกระแสหลักยังครองใจคนหมู่มาก แต่พื้นที่ของคนที่ชอบอะไรแตกต่างออกไปก็มีหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผุดขึ้นมาของวัฒนธรรมย่อยอย่าง พังค์, เมทัล, อีโม, อินดี้ หรืออะไรๆ ซึ่งผมไม่ค่อยสนหรอกว่า มันจริงหรือมันเฟค อะไรยังไง แต่การมีอยู่ของความหลากหลายตรงนี้มันทำให้คนได้มีทางเลือกยังไม่นับว่า คนที่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคมส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็ไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิก ฟัง Serious music อะไรของคุณเลยแม้แต่น้อย พวกเขาฟัง Pop-rock ธรรมดา, ฟังเพื่อชีวิต, ฟังลูกทุ่ง, บางคนชอบเพลงพื้นบ้านชนเผ่า กระทั่งปัญญาชนสมัยใหม่ที่รู้จักชื่อวง Heavy Metal แปลกหู มากพอๆ กับที่รู้จักชื่อนักคิดออกเสียงยากๆ ผมก็เคยเจอมาแล้วในเมื่อ Adorno เอาจิตวิทยามาจับ ผมก็จะเอาจิตวิทยามาจับบ้าง (เอาไปยำกับปรัชญาเล็กน้อย) ผมคิดว่าคนที่จะสมาทานรสนิยมเข้ากับอะไรอย่างชัดเจนมักจะเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นสำคัญ ประการแรกวัยรุ่นเป็นช่วงค้นหา Identity ของตัวเอง ซึ่งอิทธิพลก็มาจากทั้งสภาพแวดล้อมที่เขาเกิดและเติบโตมา ประการที่สอง ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่คนเราจะหากลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (หรือสนใจอะไรใกล้เคียงกัน) แบบที่เรียกว่า Peer Group และการเสพย์ดนตรีพวกนี้ บางครั้งก็เป็นไปเพื่อการเข้าสังคม แต่ในปัจจุบันมีคนที่สนใจดนตรีแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้พวกนี้อาจจะสร้างอัตลักษณ์อะไรบางอย่างร่วมกัน (ใส่เสื้อวง, เพ้นท์ขอบตา, ทรงผม ฯลฯ) แต่ผมเชื่อว่าพอหมดจาก "พิธีกรรม" ร่วม เช่น คอนเสิร์ทเฉพาะกลุ่ม หรืออะไรก็ตามตรงนั้นไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับมามีอัตลักษณ์อะไรอย่างอื่นในแบบของตัวเองอยู่ดีแหละครับ เราไปรู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นปัจเจกเทียม เพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์บางส่วนร่วมกันน่ะหรือ?ที่มาของภาพ : averypublicsociologist.blogspot.comบทความเรื่อง "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" ของ Adorno เขียนเมื่อปี 1938 ซึ่งในยุคสมัยนั้นเข้าใจว่าดนตรี Jazz กำลังครองเมือง และ Adorno เองก็มีอคติกับ Jazz เป็นการส่วนตัว (ผมเชื่ออย่างนั้น) ทั้งนี้ถ้าได้อ่านประวัติก็จะพบว่าเขาเติบโตมากับดนตรีคลาสสิค จึงไม่แปลกที่เขาจะเชิดชูมันนัก โดย Adorno ก็ทำการป้องกันตัวเองตรงนี้ไว้ก่อนด้วยการด่าพวก Positivism หรือก็คือนักวิจารณ์ที่เน้นวิเคราะห์ตัวผู้ผลิตงาน (นักคิด/นักปรัชญา/ศิลปิน ฯลฯ) มากกว่าตัวบท คงเพราะกลัวว่าจะมีคนมารู้เข้าว่าเขาเกลียด Jazz แล้วชูดนตรีคลาสสิคกระมัง แต่เชื่อใจได้ ผมจะไม่โจมตี Adorno ด้วย Positivism อย่างเดียว (ซึ่งผมคิดเหมือนกันว่าการใช้ Positivism โดดๆ มันยังตื้นเกินไป) ผมอยากจะบอกว่า ผมเสียดายแทน Adorno มากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1969 ช่วงที่ Popular music ในยุคนั้นอย่างดนตรี Rock กำลังบูม และวัฒนธรรมฮิปปี้เบ่งบานได้ที่เลยทีเดียว (ยังไม่นับว่าดนตรี Progressive Rock เพิ่งตั้งไข่ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งหน้า)Adorno อาจจะวิจารณ์ก็ได้ว่า ดนตรี Rock ก็ไม่ต่างอะไรกับ Jazz ที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็หลากหลายกันในกรอบเดียว (เขาใช้คำว่า "Various with the same theme") และแม้ดนตรีจะมีลักษณะท้าทาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสพย์เกิดสำนึกในการที่จะเป็นอิสระ, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขอันจริงแท้ รวมถึงไม่ได้ช่วยในการปลดปล่อยสังคมผมไม่รู้ว่า Adorno เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ Popular music รวมถึงวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วยมากแค่ไหน แต่หากได้ศึกษาบริบทดีๆ จะพบว่าดนตรีบางประเภทที่เขาปฏิเสธ มันมีที่มาน่าสนใจขนาดไหน อย่างเช่นดนตรี Blues (ซึ่งแน่นอนสำหรับ Adorno มันต้องถูกรวมอยู่ใน Popular music) นั้น มันมีกำเนิดมาจากการที่คนผิวสี ในยุคนั้นที่ยังเป็นแรงงานทาส พวกเขาไม่เพียงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางสังคม แม้แต่ในทางวัฒนธรรมพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมใดๆ  พวกเขาจึงทำได้แค่เพียงร้องเพลงโต้ตอบกันเวลาที่ทำงานเป็นหมู่คณะ ด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดจากตัวผู้ขับร้องเอง ซึ่งต่อมาน้ำเสียงแบบนี้รวมถึงดนตรีที่มีการวางตัวโน้ตในแบบแอฟริกันดั้งเดิมได้กลายมาเป็นดนตรีบลูส์จริงอยู่ ดนตรีแนว Blues อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติเลิกทาสของคนผิวสี (โดยตรงในทางรูปธรรม) แต่ในแง่ของวัฒนธรรมมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้มีพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ทำให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกออกมาจากเพลงต่างๆ ที่เขาร้องเขาเล่น Adorno เอ๋ย...คุณอาจจะบอกว่า "การมีพื้นที่ตรงนี้โดยไม่คิดจะทำอย่างอื่นที่มากกว่า มันจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา และไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจัง" ซึ่งผมก็จะขอตอบคุณว่า "หากคนๆ หนึ่งกำลังหิวไส้จะขาด คุณจะยังมามัวสอนเขาตกปลาอยู่หรือ? บางทีการให้ปลาตัวหนึ่งไปก่อน หรือแม้แต่ปลากระป่อง (ผลผลิตแบบอุตสาหกรรมที่คุณรังเกียจน่ะ) ถ้ามันช่วยชีวิตเขาได้ มันก็น่าจะทำไม่ใช่หรือ"สิ่งที่ผมพบในงานวิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ของ Adorno นั้น นอกจากมันจะน่าขำสำหรับผมแล้ว ผมยังพบว่ามันเป็นงานที่แสนจะเหมารวม คิดแทนคนอื่น และตรงทื่อไร้มิติโดยสิ้นเชิงไว้คราวหน้าจะมาขยายความ...
Carousal
คุณคิดอย่างไรกับการใช้เครื่องสำอางเสริมความงาม และการแต่งหน้าบ้างคะ?อันที่จริง ฉันเป็นคนไม่แต่งหน้าเลยค่ะ นอกจากผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาด เช่น ยาสีฟัน สบู่ แชมพูที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ฉันไม่แตะต้องเครื่องสำอางประเภทอื่นอีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสีสันที่เอามาป้ายหน้า ไม่มีทาง! ในชีวิตนี้ฉันแต่งหน้านับครั้งได้ (นอกจากงานโรงเรียนสมัยประถมที่ให้เด็ก ๆ ออกไปร้องรำทำเพลงแล้ว ก็มีแค่รับปริญญาอีกงานเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ถูกอาจารย์บังคับจับแต่ง) มาสคาร่าใช้ทำอะไร แตกต่างอย่างไรกับอายแชโดว์ฉันก็ไม่รู้ ถ้าเอาเครื่องสำอางมาวางเรียงตรงหน้า ฉันก็เรียกชื่อมันไม่ถูก ในความรู้สึกของฉัน หน้าที่แต่งแล้วมันหนัก ให้ความรู้สึกว่าหายใจไม่ออก สิ้นเปลือง แล้วเวลาเทรนด์ไหนเกิดฮิตขึ้นมา เด็กสาว ๆ ก็จะแต่งตาม ๆ กันไปตั้งแต่หัวถนนจนท้ายถนน เหมือนกันเปี๊ยบอย่างกับโขกออกมาจากพิมพ์เดียวกัน มันน่าสะพรึงออกจะตาย!แต่นั่นเป็นความคิดที่มาจากมุมมองของคนที่ไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสกับข้อดีของการใช้เครื่องสำอางด้วยตัวเองเท่านั้นค่ะ
Carousal
เมื่อรัฐสภาญี่ปุ่นมีมติให้ปรับเปลี่ยนบทลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์จากโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิต มาเป็นการส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับคืนสู่สังคมในฐานะผู้ที่ต้องใช้แรงงานอุทิศตนเพื่อประชาชนไปจนวันตาย ทางรัฐบาลจึงต้องทำการทดลองนำร่องเพื่อเก็บข้อมูล และนั่นเป็นเหตุผลที่นักโทษประหารคนหนึ่งถูกนำตัวออกมาจากห้องมืดของเรือนจำ เพื่อรับข้อเสนอให้อุทิศตนเป็นตัวอย่างทดลองสำหรับโครงการนี้ แลกกับการได้กลับไปสู่โลกแห่งแสงสว่างและเสรีภาพผู้ที่ได้รับเลือกคือ ทาจิมะ เรียวเฮย์ นักโทษประหารหมายเลข 042ก่อนหน้าที่จะได้อ่านเรื่อง ‘นักโทษประการ 042’ ฉันก็เคยสงสัยเหมือนกันว่าการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ควรมีจุดประสงค์เพื่อการปรับปรุงนักโทษ บำบัดปมทางจิตหรือทัศนคติที่ผิดต่อสังคมส่วนรวม เพื่อให้นักโทษสามารถกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้ตามวิถีทางที่เหมาะสม หรือมีจุดประสงค์เพื่อชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายกันแน่