Music
Theodor W. Adornoผมได้อ่านบทความเรื่อง "ทบทวนแนวคิด ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม' : เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมสร้างวัฒนธรรม" ของ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ จากวิภาษาฉบับที่ 7 แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่องของนักคิด/นักวิจารณ์ ที่ชื่อ Theodor Adorno นี้ จากบทความชื่อ "อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม : กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม (Popular Music)" ในหนังสือชื่อ "เหลียวหน้าแลหลัง วัฒนธรรมป็อบ" ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะAdorno เป็นนักคิดสังคมนิยมชาวเยอรมัน ผู้นำเอาแนวคิดของทั้ง Max Waber, Marx และ แม้แต่ Sigmund Freud เข้ามาจับในงานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดนตรีAdorno พูดถึงดนตรีโดยแบ่งออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนคือ Serious Music (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดนตรีเครียด แต่ "ซีเรียส" ที่หมายถึงจริงจังน่าจะตรงกว่า) ซึ่งมีนัยหมายถึงดนตรี Classic ทั้งหลายแหล่ (โดยเฉพาะดนตรีที่มีความเป็น Atonality ที่เขาชอบ) กับ Light Music/Popular music ซึ่งหมายถึงดนตรีสมัยนิยม/มวลชนนิยม (จากนี้ผู้เขียนขอเรียกอย่างชัดเจนว่า Popular music) ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ Jazz, Blue, Folk, Pop, Rock, เพื่อชีวิต แม้กระทั่ง Progressive โดย Adorno ได้วิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ว่าเป็นดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของการผลิตซ้ำ และมีจุดมุ่งหมายแบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือเป็นการผลิตเพื่อมุ่งการซื้อขาย การฟังดนตรีพวกนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการบริโภคสินค้าเพื่อความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม นอกจากนี้อาจยังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า False need คือ "ความต้องการเทียม" ขึ้นมาอีก False Need นี้หมายถึงความต้องการในสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเราจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาที่เรารู้ว่าใครได้ฟังเพลงๆ นึง พูดถึงเพลงๆ นึงในกลุ่มเพื่อนแล้วเราไม่รู้จัก เราไม่เข้าใจ เราไม่เคยฟัง เราก็จะเกิด False need ว่าเราต้องไปหาฟังมันให้ได้ ไม่งั้นจะเชย หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เป็นต้นซึ่งในประเด็นนี้ผมมีข้อถกเถียงอยู่แน่นอน ทั้งเรื่องการสร้างความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม และเรื่องการสร้าง False need แต่ตอนนี้ขอเล่าถึงความคิดที่ลึกไปกว่านี้ของ นาย Adorno ก่อนเขาได้เขียน บทความชื่อยาวเหยียดบ้าคลั่งว่า "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" และในเนื้อหาตอนนึงของบทความ มีข้อความที่ทำให้ผมรู้สึกขำ ข้อความที่ว่านั้นก็คือ"...the illusion of a social preference for light music as against serious is based on that passivity of the masses which makes the consumption of light music contradict the objective interest of those who consume it"ขอแปลตามบริบทปัจจุบันและความเข้าใจของผมเองว่า "...ภาพลวงของการที่คนในสังคมส่วนมากชื่นชอบดนตรีสมัยนิยมเบาๆ ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธดนตรีซีเรียส เนื่องมาจากความเฉื่อยชาของมวลชน ที่ทำให้การเสพย์ดนตรีสมัยนิยม ย้อนแย้งกับความสนใจเชิงวัตถุวิสัยของผู้เสพย์เอง"คำที่ผมฮาคือ "ความเฉื่อยชาของมวลชน" (Passivity of the Mass) ในความหมายคล้ายๆ กันตรงนี้ Adorno ก็ถึงขั้นบอกว่าอุตสาหกรรมเพลงมันช่วยสร้างปัจเจกเทียม (Pseudo-individual) ขึ้นมาเลยทีเดียว หมายความว่า การที่ผู้คนแห่แหนชื่นชมเพลงบางเพลงหรือศิลปินบางกลุ่ม เป็นเพราะพวกเขาเฉื่อยชาและยอมจำนนอย่างนั้นหรือ? ...ผมคิดว่ามีส่วนจริงครับ แต่ไม่ทั้งหมด บางคนอาจจะชื่นชมในดนตรีวงนี้ๆ เพลงนี้ๆ ตามๆ กันไปเพียงเพื่อต้องการทำตัวกลมกลืนไปกับสังคม แต่ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่ามันเป็นรสนิยมส่วนตัว เป็นการเลือกเสพย์ของเขาเองก็มีดนตรี Popular music ทั้งหลายในยุคสมัยปัจจุบันที่ Adorno ไม่ทันได้เห็นนั้น มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เท่าที่ผมสำรวจตรวจตราดู ผมเห็นว่า รสนิยมของผู้คนมันหลากหลายขึ้นกว่าในอดีตนัก จริงอยู่ดนตรีป็อบกระแสหลักยังครองใจคนหมู่มาก แต่พื้นที่ของคนที่ชอบอะไรแตกต่างออกไปก็มีหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผุดขึ้นมาของวัฒนธรรมย่อยอย่าง พังค์, เมทัล, อีโม, อินดี้ หรืออะไรๆ ซึ่งผมไม่ค่อยสนหรอกว่า มันจริงหรือมันเฟค อะไรยังไง แต่การมีอยู่ของความหลากหลายตรงนี้มันทำให้คนได้มีทางเลือกยังไม่นับว่า คนที่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคมส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็ไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิก ฟัง Serious music อะไรของคุณเลยแม้แต่น้อย พวกเขาฟัง Pop-rock ธรรมดา, ฟังเพื่อชีวิต, ฟังลูกทุ่ง, บางคนชอบเพลงพื้นบ้านชนเผ่า กระทั่งปัญญาชนสมัยใหม่ที่รู้จักชื่อวง Heavy Metal แปลกหู มากพอๆ กับที่รู้จักชื่อนักคิดออกเสียงยากๆ ผมก็เคยเจอมาแล้วในเมื่อ Adorno เอาจิตวิทยามาจับ ผมก็จะเอาจิตวิทยามาจับบ้าง (เอาไปยำกับปรัชญาเล็กน้อย) ผมคิดว่าคนที่จะสมาทานรสนิยมเข้ากับอะไรอย่างชัดเจนมักจะเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นสำคัญ ประการแรกวัยรุ่นเป็นช่วงค้นหา Identity ของตัวเอง ซึ่งอิทธิพลก็มาจากทั้งสภาพแวดล้อมที่เขาเกิดและเติบโตมา ประการที่สอง ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่คนเราจะหากลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (หรือสนใจอะไรใกล้เคียงกัน) แบบที่เรียกว่า Peer Group และการเสพย์ดนตรีพวกนี้ บางครั้งก็เป็นไปเพื่อการเข้าสังคม แต่ในปัจจุบันมีคนที่สนใจดนตรีแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้พวกนี้อาจจะสร้างอัตลักษณ์อะไรบางอย่างร่วมกัน (ใส่เสื้อวง, เพ้นท์ขอบตา, ทรงผม ฯลฯ) แต่ผมเชื่อว่าพอหมดจาก "พิธีกรรม" ร่วม เช่น คอนเสิร์ทเฉพาะกลุ่ม หรืออะไรก็ตามตรงนั้นไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับมามีอัตลักษณ์อะไรอย่างอื่นในแบบของตัวเองอยู่ดีแหละครับ เราไปรู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นปัจเจกเทียม เพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์บางส่วนร่วมกันน่ะหรือ?ที่มาของภาพ : averypublicsociologist.blogspot.comบทความเรื่อง "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" ของ Adorno เขียนเมื่อปี 1938 ซึ่งในยุคสมัยนั้นเข้าใจว่าดนตรี Jazz กำลังครองเมือง และ Adorno เองก็มีอคติกับ Jazz เป็นการส่วนตัว (ผมเชื่ออย่างนั้น) ทั้งนี้ถ้าได้อ่านประวัติก็จะพบว่าเขาเติบโตมากับดนตรีคลาสสิค จึงไม่แปลกที่เขาจะเชิดชูมันนัก โดย Adorno ก็ทำการป้องกันตัวเองตรงนี้ไว้ก่อนด้วยการด่าพวก Positivism หรือก็คือนักวิจารณ์ที่เน้นวิเคราะห์ตัวผู้ผลิตงาน (นักคิด/นักปรัชญา/ศิลปิน ฯลฯ) มากกว่าตัวบท คงเพราะกลัวว่าจะมีคนมารู้เข้าว่าเขาเกลียด Jazz แล้วชูดนตรีคลาสสิคกระมัง แต่เชื่อใจได้ ผมจะไม่โจมตี Adorno ด้วย Positivism อย่างเดียว (ซึ่งผมคิดเหมือนกันว่าการใช้ Positivism โดดๆ มันยังตื้นเกินไป) ผมอยากจะบอกว่า ผมเสียดายแทน Adorno มากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1969 ช่วงที่ Popular music ในยุคนั้นอย่างดนตรี Rock กำลังบูม และวัฒนธรรมฮิปปี้เบ่งบานได้ที่เลยทีเดียว (ยังไม่นับว่าดนตรี Progressive Rock เพิ่งตั้งไข่ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งหน้า)Adorno อาจจะวิจารณ์ก็ได้ว่า ดนตรี Rock ก็ไม่ต่างอะไรกับ Jazz ที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็หลากหลายกันในกรอบเดียว (เขาใช้คำว่า "Various with the same theme") และแม้ดนตรีจะมีลักษณะท้าทาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสพย์เกิดสำนึกในการที่จะเป็นอิสระ, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขอันจริงแท้ รวมถึงไม่ได้ช่วยในการปลดปล่อยสังคมผมไม่รู้ว่า Adorno เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ Popular music รวมถึงวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วยมากแค่ไหน แต่หากได้ศึกษาบริบทดีๆ จะพบว่าดนตรีบางประเภทที่เขาปฏิเสธ มันมีที่มาน่าสนใจขนาดไหน อย่างเช่นดนตรี Blues (ซึ่งแน่นอนสำหรับ Adorno มันต้องถูกรวมอยู่ใน Popular music) นั้น มันมีกำเนิดมาจากการที่คนผิวสี ในยุคนั้นที่ยังเป็นแรงงานทาส พวกเขาไม่เพียงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางสังคม แม้แต่ในทางวัฒนธรรมพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมใดๆ พวกเขาจึงทำได้แค่เพียงร้องเพลงโต้ตอบกันเวลาที่ทำงานเป็นหมู่คณะ ด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดจากตัวผู้ขับร้องเอง ซึ่งต่อมาน้ำเสียงแบบนี้รวมถึงดนตรีที่มีการวางตัวโน้ตในแบบแอฟริกันดั้งเดิมได้กลายมาเป็นดนตรีบลูส์จริงอยู่ ดนตรีแนว Blues อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติเลิกทาสของคนผิวสี (โดยตรงในทางรูปธรรม) แต่ในแง่ของวัฒนธรรมมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้มีพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ทำให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกออกมาจากเพลงต่างๆ ที่เขาร้องเขาเล่น Adorno เอ๋ย...คุณอาจจะบอกว่า "การมีพื้นที่ตรงนี้โดยไม่คิดจะทำอย่างอื่นที่มากกว่า มันจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา และไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจัง" ซึ่งผมก็จะขอตอบคุณว่า "หากคนๆ หนึ่งกำลังหิวไส้จะขาด คุณจะยังมามัวสอนเขาตกปลาอยู่หรือ? บางทีการให้ปลาตัวหนึ่งไปก่อน หรือแม้แต่ปลากระป่อง (ผลผลิตแบบอุตสาหกรรมที่คุณรังเกียจน่ะ) ถ้ามันช่วยชีวิตเขาได้ มันก็น่าจะทำไม่ใช่หรือ"สิ่งที่ผมพบในงานวิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ของ Adorno นั้น นอกจากมันจะน่าขำสำหรับผมแล้ว ผมยังพบว่ามันเป็นงานที่แสนจะเหมารวม คิดแทนคนอื่น และตรงทื่อไร้มิติโดยสิ้นเชิงไว้คราวหน้าจะมาขยายความ...
Carousal
คุณคิดอย่างไรกับการใช้เครื่องสำอางเสริมความงาม และการแต่งหน้าบ้างคะ?อันที่จริง ฉันเป็นคนไม่แต่งหน้าเลยค่ะ นอกจากผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาด เช่น ยาสีฟัน สบู่ แชมพูที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ฉันไม่แตะต้องเครื่องสำอางประเภทอื่นอีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสีสันที่เอามาป้ายหน้า ไม่มีทาง! ในชีวิตนี้ฉันแต่งหน้านับครั้งได้ (นอกจากงานโรงเรียนสมัยประถมที่ให้เด็ก ๆ ออกไปร้องรำทำเพลงแล้ว ก็มีแค่รับปริญญาอีกงานเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ถูกอาจารย์บังคับจับแต่ง) มาสคาร่าใช้ทำอะไร แตกต่างอย่างไรกับอายแชโดว์ฉันก็ไม่รู้ ถ้าเอาเครื่องสำอางมาวางเรียงตรงหน้า ฉันก็เรียกชื่อมันไม่ถูก ในความรู้สึกของฉัน หน้าที่แต่งแล้วมันหนัก ให้ความรู้สึกว่าหายใจไม่ออก สิ้นเปลือง แล้วเวลาเทรนด์ไหนเกิดฮิตขึ้นมา เด็กสาว ๆ ก็จะแต่งตาม ๆ กันไปตั้งแต่หัวถนนจนท้ายถนน เหมือนกันเปี๊ยบอย่างกับโขกออกมาจากพิมพ์เดียวกัน มันน่าสะพรึงออกจะตาย!แต่นั่นเป็นความคิดที่มาจากมุมมองของคนที่ไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสกับข้อดีของการใช้เครื่องสำอางด้วยตัวเองเท่านั้นค่ะ
Carousal
เมื่อรัฐสภาญี่ปุ่นมีมติให้ปรับเปลี่ยนบทลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์จากโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิต มาเป็นการส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับคืนสู่สังคมในฐานะผู้ที่ต้องใช้แรงงานอุทิศตนเพื่อประชาชนไปจนวันตาย ทางรัฐบาลจึงต้องทำการทดลองนำร่องเพื่อเก็บข้อมูล และนั่นเป็นเหตุผลที่นักโทษประหารคนหนึ่งถูกนำตัวออกมาจากห้องมืดของเรือนจำ เพื่อรับข้อเสนอให้อุทิศตนเป็นตัวอย่างทดลองสำหรับโครงการนี้ แลกกับการได้กลับไปสู่โลกแห่งแสงสว่างและเสรีภาพผู้ที่ได้รับเลือกคือ ทาจิมะ เรียวเฮย์ นักโทษประหารหมายเลข 042ก่อนหน้าที่จะได้อ่านเรื่อง ‘นักโทษประการ 042’ ฉันก็เคยสงสัยเหมือนกันว่าการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ควรมีจุดประสงค์เพื่อการปรับปรุงนักโทษ บำบัดปมทางจิตหรือทัศนคติที่ผิดต่อสังคมส่วนรวม เพื่อให้นักโทษสามารถกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้ตามวิถีทางที่เหมาะสม หรือมีจุดประสงค์เพื่อชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายกันแน่
Carousal
ฉันได้ยินชื่อ Elfen Lied เป็นครั้งแรกจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างของบรรดาสมาชิกห้องการ์ตูน เฉลิมไทย พันทิปดอทคอม ในฐานะการ์ตูนและอนิเมชั่นที่ดีที่สุดในรอบปีถัดจากนั้นมาไม่นานนัก ฉันกลับได้ยินชื่อของ Elfen Lied อีกครั้งจากรายงานข่าวการตรวจค้นร้านการ์ตูนและเมดคาเฟ่ชื่อดังย่านสยามสแควร์ ในฐานะสื่อลามกที่สมควรจะถูกกวาดล้างให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยความขัดแย้งของข่าวสองกระแส ทำให้ฉันสงสัยว่า เป็นไปได้หรือที่การ์ตูนเรื่องหนึ่ง จะเป็นทั้งการ์ตูนที่ดีที่สุด และสื่อลามกได้ในเวลาเดียวกัน ฉันจึงไปหามาอ่านดูบ้าง หลังจากพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้ว ฉันก็ได้ข้อสรุปว่า สำหรับฉัน Elfen Lied คือการ์ตูนเรื่องเยี่ยมเรื่องหนึ่งที่ฉันจะไม่มีวันลืมความประทับใจที่ได้รับจากมัน
new media watch
นักเดินทาง, นักท่องเที่ยว, นักทัศนาจร, ตัวฤทธิ์ ฯลฯ รวมถึงคนที่คิดจะหนีบ้านหนีช่องไปท่องโลก เชิญลับสมองกับเกม Traveler IQ เพื่อทดสอบความรู้เบื้องต้นว่า ‘คุณรู้จักโลกใบนี้ดีแค่ไหน' เข้าไปลองเล่นเกมออนไลน์ฟรีๆ ดูได้ที่ travelpod.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกเว็บหนึ่ง ถึงจะเป็นเกมวัดไอคิวและความรู้รอบตัว แต่ก็ไม่ได้ยากจนหืดขึ้นคอ พอเล่นเพลินๆ เป็นเกมฆ่าเวลา และคนเล่นเกมก็จะได้ศึกษาแต่ละซอกมุมของโลกไปด้วยในตัว เพราะเกมนี้จะมี ‘แผนที่โลก' ขึ้นมาโชว์ที่หน้าจอ พร้อมชุดคำสั่งในเกมที่เปิดโอกาสให้เลือกได้ว่าจะเล่นเกมอะไร เช่น อยากได้ชุดคำถามเกี่ยวกับทวีปไหน (มีทุกทวีป), เมืองหลวง หรือว่าธงชาติที่โชว์ให้ดูเป็นของประเทศอะไร ฯลฯวิธีเล่นก็ง่ายๆ แค่คลิกเมาส์ลงบนแผนที่โลกเป็นการระบุคำตอบ แต่ที่ทำให้เกมตื่นเต้นขึ้นมาอีกนิด คือการจับเวลาและการสะสมคะแนน ใครที่สะสมแต้มได้ตามระดับที่กำหนดไว้ ก็จะผ่านไปเล่นเกมในระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เล่นจนจบเกมแล้วจะเป็นยังไง สารภาพว่าไม่รู้เหมือนกัน เพราะยังไม่เคยไปถึงระดับนั้นซะที
new media watch
"น่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆ" 000อุตสาหกรรมเพลงกระแสหลัก ฝั่งอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือว่ายุโรป ฯลฯ ล้วนแข่งกันเติบโต ‘ทางกว้าง' มาสักพักใหญ่ๆ แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าที่มันตื่นเต้นเร้าใจใน ‘เชิงลึก' มากนัก โปรดิวเซอร์ดนตรีที่เก่งๆ ส่วนใหญ่ก็รับหน้าที่ดูแลศิลปินมากมายจนกลิ่นอายทางดนตรีมันฟังซ้ำๆ ย่ำอยู่กับที่ ไม่ค่อยอิ่มรูหูนักฟังเพลงสักเท่าไหร่ แต่แล้วบล็อกโดนใจอย่าง fluxblog.org ก็บังเกิด! นิตยสารนิวยอร์กไทมส์ จัดอันดับให้ fluxblog ติด 1 ใน 5 บล็อกสุดเจ๋งในปีนี้ เพราะชื่นชมในการเปิดพื้นที่ให้นักร้อง-นักดนตรีทั่วโลกได้เผยแพร่ผลงานเพลงของตัวเองโดยไม่ต้องรอข้อเสนอ (ที่มาพร้อมเงื่อนไข) ของบรรดาค่ายเทปต่างๆ พลเมืองโลกไซเบอร์ที่รักเสียงดนตรี รู้วิธีโพสต์เพลงขึ้นเว็บ และที่สำคัญ มีความสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะมีช่องทางระบายผลงานเพลงของตัวเองมากขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี หุ่นเซ็กซี่ หรือเป็น ‘เอนเตอร์เทนเนอร์' ขอเพียงรู้วิธีสร้างสรรค์เสียงเพลงและเสียงดนตรีก็พอแล้วเพลงหลายเพลงที่โพสต์ลง fluxblog สามารถฟังได้จนจบเพลง (แต่ดาวน์โหลดไม่ได้) โดยคนโพสต์สามารถเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเพลง เพื่อปูทางให้คนฟังเข้าใจในเนื้อหาของเพลงได้ด้วย แล้วคนที่เข้ามาฟังจะชอบ-ไม่ชอบ หรือมีคำแนะนำอย่างไร ก็จะโพสต์ข้อความเอาไว้เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนทางตรงน่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆน่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้วงการเพลงมีแนวโน้มจะหลุดพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมMTVได้ในเร็ววันhttp://fluxblog.org/
Music
"ความฉาบฉวยและความสับสนอาจจะทำให้บางคนคิดว่ามันเวอร์ไปหรือเปล่า ยุคสมัยมันหม่นมืดขนาดนี้จริงๆ หรือ ต้องไม่ลืมว่าวง Porcupine Tree มาจากประเทศอังกฤษ มิวสิควีดิโอเพลง Fear of a Blank Planet เองก็อาจชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริง (หลายครั้ง) ในสหรัฐฯ และที่สำคัญคือการเล่าของพวกเขาก็ไม่ได้ตัดสินอะไรแทนเราว่าสิ่งที่บอกผ่านออกมานี้ดีหรือไม่ดี" วง Porcupine Tree อาจจะเป็นที่รู้จักน้อยมากสำหรับคนทั่วไป และอาจจะเป็นที่รู้จักบ้างพอสมควรสำหรับคนที่ชอบฟังเพลงแนว Progressive Rock ซึ่ง Porcupine Tree ถือเป็นวงที่มีแนวทางของ Psychedelic/Space อันหลอนและล่องลอยแบบ Pink Floyd เป็นหลัก โดยเจือความเป็น Metal เข้าไปผสมได้อย่างกลมกลืนอัลบั้มล่าสุดของพวกเขาคือ Fear of a Blank Planet ก็ยังคงรักษาความหลอนล่องลอย มืดมน เอาไว้ได้เหมือนเดิมโดยไม่ได้ถูกท่วงทำนองกีต้าร์หนัก ๆ ทำลายไป ซึ่งต้องขอบคุณมือคีย์บอร์ดอย่าง Richard Barbieri ผู้สร้างเสียงสังเคราะห์เป็นพื้นผิว (Texture) ของดนตรีได้อย่างเยี่ยมยอดและความหม่นครึมที่แทรกอยู่แทบทุกอณูของอัลบั้มนี้ ก็ช่างเหมาะเจาะไปกันได้กับคอนเซปต์เนื้อหาของมันเหลือเกินSteve Wilson มือกีต้าร์และนักร้องนำของวง เป็นผู้วางคอนเซปต์อัลบั้มนี้ เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรหลาย ๆ อย่างอย่างแรกซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในอัลบั้มนี้เลยคือเรื่องของการที่คนเราเมื่ออายุมากขึ้นเริ่มรู้สึกแปลกแยกกับเด็กในยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าช่องว่างระหว่างวัยเป็นปกติธรรมดาซึ่งอาจจะมาพร้อมกับช่องว่างระหว่างยุคสมัย แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าช่วงเปลี่ยนผ่านของ Generation มันหดสั้นลงกว่าเดิม จนอาจทำให้คนที่อายุมากกว่าอาจจะรู้สึกแปลกแยกแบบนี้กับเด็กอายุห่างกันสองสามปีได้เลยทีเดียวแรงบันดาลใจที่สำคัญอีกอย่างซึ่งเจ้าตัวได้เปิดเผยออกมาเองคือนิยายเรื่อง Lunar Park ของ Bret Easton Ellis คนเดียวกับที่เขียนเรื่อง American Psycho (ซึ่งถูกทำเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา) สะท้อนภาพความเหลวไหลไร้สาระของ Yuppie อเมริกันชนยุค 80's ภายใต้เรื่องแนวเขย่าขวัญขอโน๊ตไว้อีกว่าถ้าใครจำได้อัลบั้ม Weekend in the City ของวง Bloc Party เองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายอีกเรื่องของ Bret Easton Ellis เช่นกัน คงเป็นธรรมดาที่หนังสือของนายคนนี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินหลายวง เพราะเนื้อเรื่อง จากนิยายของเขาเหมือนจะสามารถทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยแสนว่างเปล่าผ่านผันมาได้จนถึงยุคปัจจุบันLunar Park เป็นนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของตัว Ellis เอง ซึ่งเรื่องในนิยายจะถูกเล่าจากมุมมองของตัวละครผู้เป็นพ่อ ที่มีชื่อว่า Ellis เหมือนกัน ขณะที่ในอัลบั้ม Fear of a Blank Planet จะเปลี่ยนมาเล่าจากมุมมองของ Robby ผู้เป็นลูกแทน เว้นแต่ในเพลง My Ashes เพลงเดียว ที่เล่าผ่านมุมมองของ EllisFear of a Blank Planet จึงเป็นเหมือนบทบอกเล่าจากเด็กชาย Robby และก็เป็นเหมือนเรื่องราวจากสายตาของเหล่าวัยรุ่นผู้ "หวาดกลัวดาวเคราะห์อันแสนว่างเปล่า" ในขณะเดียวกันความประทับใจของผมอย่างหนึ่งที่มีต่อวงนี้ คือการที่พวกเขาพยายามทำอัลบั้มที่มีคอนเซปต์โดยอาศัยมุมมองจากผู้อื่นนอกจากตัวพวกเขาเอง ซึ่งหลายเพลงทำได้ลึกซึ้งทีเดียว แน่นอนว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่วง Porcupine Tree ทำคอนเซปต์แบบนี้ออกมา ในปี 2001 พวกเขาก็มีอัลบั้ม In Absentia ที่แทบทุกเพลง สื่อให้เห็นการมองโลกโดยใช้มุมมองของผู้คนที่ถูกสังคมเรียกว่า "ฆาตกรโรคจิต" ซึ่งไม่ได้เล่าอย่างตัดสินพิพากษาขณะเดียวกันก็ไม่ได้เชิดชู เว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ฟังจะได้ตัดสินดีเลวด้วยตนเองแต่ขณะที่ In Absentia เป็นอัลบั้มที่หนักและสามารถสร้างความประทับใจได้เพียงแรกสดับ Fear of a Blank Planet กลับเป็นอัลบั้มที่ต้องยิ่งฟังมากครั้ง ถึงยิ่งรู้สึกถึงความลึกซึ้งของมัน อาจจะไม่ใช่เพราะเนื้อหาของมันอย่างเดียว (ซึ่งจะว่าไปเนื้อหาส่วนมากก็เป็นเชิงแสดงความรู้สึก ไม่ได้ตีความยากอะไร) แต่เป็นตัวดนตรีด้วยที่นักวิจารณ์บางคนถึงขั้นบอกว่า เจ้าพวกนี้พยายามจะทำ "Dark side of the Moon" (หนึ่งในอัลบั้มมาสเตอร์พีชของ Pink Floyd) แห่งสมัยปัจจุบันกาลขึ้นมาเพลง Fear of a Blank Planet ที่เป็นไตเติ้ลแทรกเปิดอัลบั้มและเพลงยาวเหยียดอย่าง Anesthetize บอกเล่าชีวิต ความคิดอ่าน และความรู้สึกผ่านสายตาของวัยรุ่นผู้อยู่ในโลกแสนว่างเปล่า ไร้ความหมาย ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยสิ่งที่กระตุ้นเร้าต่างๆ นานา แต่เนื้อเพลงมันก็ไม่ได้ชวนให้จมกับความเศร้าอะไร ในบางช่วงมันฟังดูฮาดีด้วยซ้ำ (เป็นตลกร้ายที่บางคนอาจจะไม่ฮาด้วยก็เป็นได้)I'm stoned in the mall againTerminally boredShuffling around the storesAnd shoplifting is getting so last year's thingXbox is a god to meA finger on the switchMy mother is a bitchMy father gave up ever trying to talk to meฉันมึนงงอยู่ในห้างอีกแล้วเกิดเบื่อขึ้นมาเฉย ๆเลยหมุนผลัดไปตามร้านค้าแล้วก็ฉกเอาไอ่ของที่ออกเมื่อปีที่แล้วมาเอ็กบอกซ์เป็นพระเจ้าสำหรับฉันเลยจิ้มนิ้วลงไปบนปุ่มสิแม่ฉันมันก็แค่นังตัวดีพ่อฉันเลิกพยายามที่จะพูดกับฉันไปนานแล้ว- Fear of a Blank Planet -Fear of a Blank Planet เป็นเพลงจังหวะเร็ว มีการร้องแบบรีบเร่ง ขณะเดียวกันก็มีการสับจังหวะในบางจุด ซึ่งตรงนี้ช่วยขับความรู้สึกจากเนื้อเพลงที่พูดโลกที่ฉาบฉวย พร้อมจะทิ้งอะไรไปได้ทุกวินาทีออกมาได้เป็นอย่างดี ขณะที่เพลง Anesthetize ได้ Alex Lifeson (วง Rush) มาโซโล่กีต้าร์ โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันยาวเกินความจำเป็นไปนิด ขณะที่ดนตรีในบางส่วนฟังดูซ้ำๆ ซากๆ แต่ถ้ามองในอีกแง่ ดนตรีซ้ำๆ ซากๆ มันช่วยสร้างความรู้สึกร่วมกับเนื้อเพลงที่พูดถึงชีวิตอันไร้ความหมายวนเวียนไปไม่รู้จบ ก่อนดนตรีจะคลี่คลายในช่วงท้ายเหมือนพบทางออก ...แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่แน่ใจว่านั่นเป็นทางออกที่แท้จริงหรือเปล่าThe water so warm that dayI was counting out the wavesAnd I followed their short lifeAs they broke on the shorelineI could see youBut I couldn't hear you ในวันนั้นห้วงน้ำช่างแสนอุ่นฉันกำลังนั่งนับกระแสคลื่นและได้ลอยตามชีวิตอันแสนสั้นของมันไปเช่นเดียวกับที่มันได้แตกซัดตามแนวหาดฉันเห็นคุณแต่ไม่ได้ยินคุณ- Anesthetize (ช่วงสุดท้าย)ความฉาบฉวยและความสับสนอาจจะทำให้บางคนคิดว่ามันเวอร์ไปหรือเปล่า ยุคสมัยมันหม่นมืดขนาดนี้จริงๆ หรือ ต้องไม่ลืมว่าวง Porcupine Tree มาจากประเทศอังกฤษ มิวสิควีดิโอเพลง Fear of a Blank Planet เองก็อาจชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริง (หลายครั้ง) ในสหรัฐฯ และที่สำคัญคือการเล่าของพวกเขาก็ไม่ได้ตัดสินอะไรแทนเราว่าสิ่งที่บอกผ่านออกมานี้ดีหรือไม่ดีนอกจากนั้นอัลบั้มนี้ก็ไม่ได้สื่อแต่ด้านความว่างเปล่าของโลกจากสายตาวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว เพลงอย่าง Sentimental ก็เปลี่ยนอารมณ์กลับมาสู่การครุ่นคิดและทบทวนความรู้สึก ซึ่งถึงมันจะเป็นการทบทวนที่ไม่ลึกซึ้งมาก แต่ก็ทำให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าจะทำให้เข้าใจความรู้สึกกันมากขึ้น เมื่อพวกเขาบอกว่าสับสนกับวัยและยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่มากไปกว่านี้ เสียงคอร์ดของเปียโนที่เล่นคลอในเพลงช้าๆ เพลงนี้ ทำให้บรรยากาศความหม่นมีความละมุนเจืออยู่บางๆI never want to be oldAnd I don't want dependantsIt's no fun to be toldThat you can't blame your parents anymoreฉันไม่อยากจะเป็นผู้ใหญ่ไปกว่านี้และขณะเดียวกันก็ไม่อยากเป็นภาระใครมันไม่สนุกเลยที่จะมีคนมาบอกว่าจะไม่สามารถโทษพ่อโทษแม่ได้เช่นเดิมอีกแล้ว- Sentimental -เพลงที่ใช้เสียงเปียโนได้อย่างเข้าท่าอีกเพลงหนึ่งคือ My Ashes ที่เป็นบัลลาดพลิ้วๆ และประดับด้วยเสียงเครื่องสายออเครสตร้าอย่างงดงาม เนิ้อเพลงเป็นมุมมองของตัวละครผู้เป็นพ่อ ที่แม้ตายไปแล้วเถ้าถ่านของตัวเองก็ยังคงตามดูความเป็นไปต่างๆ อยู่ ซึ่งเพลงนี้นับว่าใช้ภาษาได้สวยมากAnd my ashes drift beneath the silver skyWhere a boy rides on a bike and never smilesAnd my ashes fall over all the things we've saidOn a box of photographs under the bed- My Ashesบรรเลงมาจนถึงบทเพลงโกรธเศร้าอย่าง Way out of here ที่ได้ Robert Fripp แห่งวง King Crimson มาช่วยสร้าง Soundscapes เนื้อเพลงพูดถึงการหาทางออกท่ามกลางโลกที่ว่างเปล่า หลายต่อหลายคนพากันบอกว่าเพลงนี้พูดถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งถ่ายทอดผ่านไปถึงเพลงสุดท้ายคือ Sleep Together ที่ดนตรีออกเป็นอิเล็กโทรนิคแอมเบี้ยนเวิ้งๆ ชวนให้นึกถึงนักบินอวกาศที่กำลังเข้าสู่สภาวะจำศีล (Hibernation) ขณะที่กำลังเดินทาง (หนี) ออกจากโลกนี้ไปI can't take the staringAnd the sympathyAnd I don't like the questions,"How do you feel?How's it going in school?Do you want to talk about it?"ฉันทนไม่ได้กับการถูกจ้องมองกับการที่คนอื่นเห็นอกเห็นใจแล้วฉันก็ไม่ชอบคำถามจำพวก"รู้สึกยังไงบ้างเจออะไรที่โรงเรียนมาบ้างต้องการพูดถึงมันไหม"- Way Out of Here -ชื่อเพลง Sleep Together ถ้าเป็นในบ้านเรามันคงต้องมีใครออกมาบอกว่าสองแง่สามง่ามสิบเ-ยน อะไรก็ว่าไป แต่ตามความเห็นของผู้ฟังส่วนใหญ่แล้ว กลับบอกว่ามันพูดถึงการฆ่าตัวตายที่ถ่ายทอดต่อมาจาก Way Out of Here อีกทีหนึ่งต่างหาก มีบางส่วนเท่านั้นที่บอกว่ามันพูดถึงเรื่องการมีเซ็กส์เพื่อหนีโลกความจริง และอีกส่วนก็ตีความว่ามันไม่ได้มีนัยแฝงอะไร ก็แค่พูดถึงการนอนหลับกันธรรมดาๆ เพื่อหนีเข้าไปในโลกความฝันนั่นแหละความเห็นที่แตกต่างหลากหลายนี้แหละคือเสน่ห์ของศิลปะ! น่าเศร้าที่ในบ้านเรายังคงมัวเอาแต่เป็นห่วงสถาบันนั่นนู่นนี้โน่น แล้วสั่งตรวจสอบ สั่งเก็บ สั่งแบน สั่งเซ็นเซอร์ หรือใช้วิธีใดๆ ก็ตามที่จะกำจัด สิ่งที่พวก "ท่าน" ไม่พึงปรารถนา ด้วยข้ออ้างเดิมๆ เรื่องสร้างความแตกแยกบ้าง พูดถึงแต่ในด้านร้ายๆ บ้าง (สันดานนกกระจอกเทศจริงๆ) ฯลฯ แทนที่จะทำให้คนในสังคมได้ทำความเข้าใจมัน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมหรือปฏิเสธมันโดยไม่กระทบกับคนที่เห็นต่างตราบใดที่ท่านทั้งหลายยังคงเห็นว่าคนในสังคมเป็นแค่ "เด็กโง่" ที่ต้องฟูมฟักแบบไข่ในหิน คอยปิดบัง (สิ่งที่พวกท่านคิดว่าเป็น) ความเลวร้ายทั้งหลาย จนเมื่อความจริงกระแทกโครมเข้ามา มันคงยิ่งกว่าเจ็บปวด ยังไม่นับว่าความคิดแบบนี้ของท่านทั้งหลาย มันจะนำไปสู่การทำให้ให้เด็กๆ ในวันพรุ่งนี้เผชิญกับความมืดมิดตามลำพัง โดยไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ (สิ่งที่พวกท่านคิดว่าเป็น) อันตรายร่วมกันเลยแม้แต่น้อยทางออกของเด็ก ๆ ที่นอกเหนือจากการ "นอนหลับ(หลับนอน)ร่วมกัน" (เพื่อหนีโลกออกไป) นั้นมันถูกพวกท่านขวางกั้นอยู่นั่นแหละ ! (ชื่อเต็มๆ ของเอนทรีนี้ - Fear of a Blank Planet โลกจากสายตาหนุ่มสาว ผู้หวาดกลัวดาวเคราะห์อันแสนว่างเปล่า)