คุณรู้หรือเปล่าคะ ว่าในนิทานพื้นบ้านฉบับดั้งเดิมนั้น เจ้าหญิงนิทราไม่ได้ตื่นขึ้นมาด้วยมนตราแห่งจุมพิตอันเปี่ยมไปด้วยความรักแสนบริสุทธิ์จากเจ้าชายผู้เป็นเนื้อคู่ แต่แท้ที่จริง เธอถูกลักหลับโดยพระราชาที่มีมเหสีแล้ว จนตั้งครรภ์ให้กำเนิดลูกแฝด?
คุณรู้หรือเปล่าคะ ว่าหนูน้อยหมวกแดงตัวจริง ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าคุณยายที่เธอตั้งใจจะไปหา และไม่ได้กลับสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของพ่อแม่อีกตลอดกาล เพราะเธอถูกนายพรานข่มขืนและถูกหมาป่าฉีกเนื้อกินจนตายในป่านั่นเอง
และคุณรู้หรือเปล่าคะ ว่าเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ผู้งามเลิศในปฐพี ได้ตอบแทนแม่เลี้ยงที่พยายามฆ่าเธอมาตลอด ด้วยการบังคับให้ใส่รองเท้าเหล็กเต้นรำบนเตาไฟที่ลุกแรงร้อนฉ่าจนขาดใจตาย
หลับตา แล้วลืมนิทานก่อนนอนที่แม่เคยอ่านให้คุณฟังข้างหมอนตอนเป็นเด็กเสียเถอะค่ะ เพราะเรื่องราวอันแสนสวยงามที่คุณเคยได้ฟังมาทั้งหมดนั้น มันเป็นเรื่องโกหก
Princess เป็นซีรีส์การ์ตูนผู้หญิงของสำนักพิมพ์หมึกจีน ที่นำเทพนิยายซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย อย่างซินเดอเรลลา เจ้าหญิงนิทรา ฮันเซลและเกรเทล หรือหนูน้อยหมวกแดง มาดัดแปลง หรือตีความใหม่ในแง่มุมที่น่าสนใจและมีความหมายแฝงที่ลึกซึ้งกว่าความเป็นนิทานเด็กที่ทุกเรื่องจะจบลงเมื่อเขากับเธอเข้าพิธีวิวาห์ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขไปตราบชั่วกัลปาวสาน
อันที่จริงการดัดแปลง ตีความ หรือเพิ่มลดความสำคัญของสัญลักษณ์ในนิทานไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ทำกันมาเนิ่นนานแล้ว...หากคุณไม่รู้มาก่อน นิทานกว่าสองร้อยเรื่องที่รู้จักกันในนามเทพนิยายกริมม์ เทพนิยายที่พ่อแม่นิยมซื้อมาอ่านให้ลูก ๆ ฟังข้างหมอนเพื่อให้นอนหลับฝันดีนั้น ก็ไม่ใช่นิทานที่สองพี่น้องตระกูลกริมม์แต่งขึ้นมาเอง แต่เป็นตำนานหรือนิทานพื้นบ้านที่สองพี่น้องได้ยินได้ฟังในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว และได้รวมรวมขึ้นเป็นเล่ม โดยได้ดัดแปลงนิทานบางเรื่องที่โหดเหี้ยม สยดสยอง หรือแฝงนัยยะทางเพศไว้ ให้มีเนื้อหาที่สะอาด เหมาะสมสำหรับเด็กมากขึ้น ก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชน
หากคุณมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวดั้งเดิมของเทพนิยายกริมม์ ก่อนที่สองพี่น้องตระกูลกริมม์จะนำมาดัดแปลง คุณอาจตกใจก็ได้เมื่อพบว่า หลายเรื่องมีเนื้อหารุนแรงชนิดที่ไม่มีทางจะผ่านการเซ็นเซอร์ตามมาตรฐานประเทศไทยในปัจจุบัน เรื่องราวเหล่านั้น ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อความจรรโลงใจหรือเป็นเทพนิยายสำหรับเด็ก แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคมที่แร้นแค้นในยุคนั้น ๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ตัวเอกหญิงในเทพนิยายจะถูกกระทำทารุณกรรม และตัวร้ายจะต้องตายอย่างทุกข์ทรมานเมื่อถึงตอนจบ เมื่อพี่น้องตระกูลกริมม์นำมาดัดแปลง พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะเขียนถึงสัญลักษณ์บางอย่าง (ตามคติความเชื่อของชาวยุโรป) ที่แสดงนัยถึงความโหดเหี้ยมในเรื่องต้นฉบับเอาไว้ด้วย
ยกตัวอย่างเรื่องหนูน้อยหมวกแดง จุดประสงค์ดั้งเดิมของเรื่องนี้คือ ต้องการเตือนให้เด็กหญิงที่กำลังจะโตเป็นสาวให้ระวังตัว ตะกร้าขนมปังที่หนูน้อยถือมีนัยยะถึงความอุดมสมบูรณ์หรือวัยเจริญพันธุ์ ป่าที่หนูน้อยต้องเดินเข้าไป หมายถึงสังคมภายนอกที่ไม่รู้จัก หมาป่าที่หนูน้อยต้องเผชิญหน้า หมายถึงเพศชาย เขี้ยวที่แหลมคมและขวดไวน์ที่หนูน้อยนำออกมาจากตะกร้าคือสัญลักษณ์ทางเพศ รวมไปถึงหมวกแดง (หรือผ้าคลุมผมสีแดง) ที่หนูน้อยสวม แสดงถึงเลือดพรหมจรรย์ ในบางท้องถิ่นถึงกับเล่ากันว่า เดิมทีหมวกของหนูน้อยเป็นสีขาว แต่เธอได้นำมันมาเช็ดเลือดจากร่างกายตัวเองจนสุดท้ายมันก็กลายเป็นสีแดง
(หากคุณสนใจจะติดตามเรื่องนี้ต่อ ฉันอยากแนะนำให้คุณลองหาหนังสือเรื่อง Brother Grimm หรือนิทรานาฏฆาตกรรม ของ Craig Russell มาอ่านค่ะ มันเป็นหนังสือนวนิยายกึ่งฆาตกรรมกึ่งสยองขวัญที่ฆาตกรใช้เทพนิยายกริมม์เป็นสถานการณ์ในการฆาตกรรม เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับเทพนิยายแต่ละเรื่อง จะถูกแทรกเอาไว้ในเล่ม ตามคดีฆาตกรรมแต่ละคดี)
หากสิ่งที่สองพี่น้องตระกูลกริมม์เคยกระทำ คือการปิดผนึกหีบแห่งแพนดอร่า ฝังความน่ากลัวและนัยยะทางเพศในนิทานลงไปไม่ให้มีใครค้นพบ (นอกจากคนที่ใส่ใจพอที่จะค้นพบสัญลักษณ์ที่พวกเขาซ่อนไว้และตีความหมายของมันออก) Princess ก็กำลังกระทำในสิ่งตรงกันข้าม เหล่านักเขียนของ Princess ไม่เพียงตีแผ่สัญลักษณ์ที่พี่น้องตระกูลกริมม์แฝงเอาไว้ออกมาให้เห็นได้ชัด ๆ เท่านั้น แต่ยังพยายามหาแง่มุมความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่จะตีความบางประโยคในนิทานให้ชัดเจนขึ้น รวมไปถึงการจินตนาการไปถึง ‘ตอนต่อ’ จาก ‘และแล้ว เขาและเธอก็แต่งงานและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขไปชั่วนิรันดร์’ ที่ไม่เคยมีใครเล่าขานกันอีกด้วย
จะเป็นอย่างไรถ้าเจ้าหญิงนิทราเกิดเป็นโรคนอนไม่หลับ แล้วต้องอยู่ตามลำพังในปราสาทในขณะที่คนอื่น ๆ ล้วนหลับใหล? จะเป็นอย่างไรถ้าหลังจากอสูรที่มีจิตใจอันอ่อนโยนของเจ้าชาย เมื่อกลับคืนร่างเดิมแล้ว กลับมีจิตใจอันโหดร้ายของอสูรอยู่ในร่างของเจ้าชายรูปงาม? หรือจะเป็นอย่างไรถ้าที่แท้จริงแล้วคุณยายในบ้านขนมปังไม่ใช่แม่มดใจร้ายที่เลี้ยงเฮเซลกับเกรเทลไว้กิน แต่พยายามช่วยเหลือเด็กสองคนนั้นจากพ่อแม่ใจร้ายที่ทุบตีทารุณกรรมและเอามาปล่อยเพื่อให้อดตายในป่าลึก?
แน่นอน ไม่ใช่ทุกแง่มุมหรอกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ไม่ใช่ทุกแง่มุมหรอกที่ใสสะอาด แต่ในกรณีที่คนอ่านไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ที่มีวิจารณญาณแยกแยะและยอมรับได้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้มีแต่สิ่งที่สวยงามแสนหวานเหมือนในเทพนิยาย คุณไม่คิดว่าแง่มุมที่แตกต่างเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจหรอกหรือ?
อีกประเด็นหนึ่งที่ฉันคิดว่าน่าทึ่งก็คือ Princess ออกวางแผงต่อเนื่องกันมานานหลายปี มีมากกว่าเจ็ดสิบเล่ม และคงจะยังออกต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะจบ เกือบทุกเล่มจะต้องมีเรื่องที่ดัดแปลงมาจากเทพนิยายสุดฮิตอย่างซินเดอเรลลา, เจ้าหญิงนิทรา หรือหนูน้อยหมวกแดงรวมอยู่ด้วยเกือบทุกครั้ง ถ้าจะนับทั้งหมดแล้ว แต่ละเรื่องคงถูกนำมาตีความและดัดแปลงใหม่ไม่ต่ำกว่า 20-30 ครั้ง แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ซ้ำกันเลย แต่ละเรื่องมีมุมมองที่แตกต่าง วิธีเล่าที่แตกต่าง ความหมายและการตีความที่แตกต่าง แม้ว่าจะมีที่มาจากเทพนิยายเรื่องเดียวกัน
นั่นคือความหมายหนึ่งของพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ยอมถูกจำกัดด้วยประโยคที่ว่า ‘ไม่มีอะไรใหม่ใต้ดวงตะวัน’ ที่เหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ควรดูเป็นตัวอย่าง
ครั้งต่อไปที่มีใครสักคนเล่าให้คุณฟังถึงเรื่องราวที่ดูสวยงามราวกับเทพนิยาย อย่าลืมลองพิจารณาความหมายที่แอบแฝงอยู่ในถ้อยคำเหล่านั้น เพราะบางที มันอาจจะมีความโหดร้ายแอบซ่อนไว้ข้างในโดยที่คุณไม่รู้ตัวก็เป็นได้