Skip to main content

ดาราณี ทองศิริ

ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู

ข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี

กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง กรณีแจกถุงยางในงานบายเฟรชชี่ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแจกถุงยางอนามัยให้กับรุ่นน้องปีหนึ่ง และได้ตั้งกระทู้ในกลุ่มนักศึกษา ม.อ. ปัตตานี จนเกิดการโต้เถียงกันจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในพื้นที่ นอกพื้นที่ คนที่นับถือศาสนาพุทธหรืออิสลาม

โดยข้อถกเถียงหลักคือการมองว่าการแจกถุงยางอนามัยเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และผิดหลักศาสนาอิสลามที่ไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน และถือว่าเป็นการทำบาปใหญ่ ในขณะที่อีกฝ่ายมองเป็นเรื่องของการป้องกันและส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาการท้องไม่พร้อมเป็นต้น

การถกเถียงในกระทู้นี้ดำเนินไปจนกระทั่งมีการลบกระทู้ในวันที่ 25 เมษายน 2560 หลังจากมีกระแสออกไปตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เพจ drama addict เพจเสียงแห่งแผ่นดินแม่ มีบทความไม่ต่ำกว่าสองชิ้นจาก ชานันท์ ยอดหงษ์ [1]และ อัฐพล ปริยะ โดยบทความทั้งสองนั้นมองจากฐานคิดที่แตกต่างกัน โดยชานันท์ให้น้ำหนักไปที่เรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางเพศ และมองว่าศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนบุคคล ส่วนอัฐพลให้น้ำหนักที่เรื่องของหลักการศาสนาอิสลามกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลักการทางศาสนา วิธีคิดด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมไปถึงแนวทางการทำงานด้านเพศวิถีและเพศภาวะที่ผู้เขียนพบจากประสบการณ์ในการทำงานด้านเพศ เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาของการวิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละมุม

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์  มีความพยายามในการโจมตีเรื่องการแจกถุงยางในที่สาธารณะมาแล้วหนึ่งครั้ง สืบเนื่องมาจากการโจมตีเรื่องการทำงานของห้องเรียนเพศวิถี ร้านหนังสือบูคู ที่ในขณะนั้นมีนักการศาสนาและนักกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หลายคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและบานปลายกลายเป็นการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง รวมถึงความพยายามในการล่าแม่มดคนทำงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรม และการโจมตีนี้ยังรวมไปถึงการจัดกิจกรรมแจกถุงยางอนามัยฟรีในวันวาเลนไทน์ของกลุ่มฟ้าสีรุ้ง ซึ่งได้แจกถุงยางให้กับประชาชนในจังหวัดยะลา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยในครั้งนั้นมีการนำรูปภาพกิจกรรม รวมไปถึงคนทำงานและคนรับถุงยางอนามัยฟรี ไปโจมตีอย่างรุนแรง โดยใช้คำพูดว่า เป็นกิจกรรมของพวกมารศาสนา ในขณะที่ผู้จัดกิจกรรมก็ออกมาโต้ตอบกลับอย่างทันที [2] หลังจากนั้นกระแสการถกเถียงเรื่องแจกถุงยางได้กลับมาอีกครั้งในกรณีงานบายเฟรชชี่ที่ผ่านมาของกลุ่มนักศึกษามอ.ปัตตานี จนนำมาสู่การถกเถียงกันในวงกว้าง และไม่เพียงแต่เป็นการถกเถียงในกรณีถุงยางเท่านั้น         แต่ยังมีการพาดพิงไปถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเป็นคนนอกคนในพื้นที่ นักศึกษาจากที่อื่นที่มาเรียนในสามจังหวัดทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ล้วนแล้วแต่ออกมาให้ความเห็นกับเรื่องนี้กันจำนวนมาก[3] จากข้อถกเถียงหลักๆในกระทู้ สามารถแบ่งออกเป็นสองมุมมองใหญ่ๆได้ดังนี้

 

มุมมองด้านศาสนา

ในหลักการทางศาสนาอิสลาม การทำผิดประเวณีนั้นถือเป็นบาปใหญ่ (ซีนา) ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างชายหญิงก่อนแต่งงานจึงไม่สามารถทำได้ ยิ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันยิ่งทำไม่ได้ ดังนั้นเมื่อหลักการทางศาสนาระบุไว้เช่นนี้ การแจกถุงยางให้กับนักศึกษาจึงเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน

แต่การตั้งสมมติฐานไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อมีถุงยางอนามัย ก็ต้องมีการใช้เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่? จากการค้นข้อมูลที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฎว่ามีการเก็บสถิติหรือทำวิจัยเรื่องการได้รับแจกถุงยางอนามัยแล้วจะทำให้ผู้รับมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นหรือมีแนวโน้มในการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมากขึ้น ดังนั้นข้อสรุปนี้จึงเป็นเพียงการคาดเดา คนที่ได้รับแจกถุงยางอนามัย อาจนำไปใช้หรือนำไปทิ้ง ก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง แต่ไม่ว่าจะนำไปใช้หรือนำไปทิ้ง มุสลิมหลายคนก็ยังเชื่อว่าหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการทำผิดประเวณี คือไม่ยุ่งเกี่ยวหรือไม่เปิดรับกับสิ่งเหล่านี้เลย และต้องพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะนำไปสู่การผิดประเวณีให้มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุ่งเกี่ยวกับถุงยางอนามัย หรือการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆที่จะนำไปสู่การกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ การเข้าร่วมกิจกรรมบายเฟรชชี่จึงเป็นต้นทางของการนำหนุ่มสาวมาทำกิจกรรมปะปนกัน และเป็นกิจกรรมที่ทำลายศาสนา ส่งเสริมการผิดประเวณี ดังความเห็นของอามีน ลอนา

ซึ่งบอกว่า “กิจกรรมการแจกถุงยางนี้เป็นกิจกรรมสถุน และเป็นวิธีแก้ปัญหาของพวกโสเภณี”[4] หรือกรณีบทความของ อัฐพล ปริยะ ที่สรุปในตอนท้ายว่าอย่างไรเสีย “มุสลิมก็ไม่ควรจัดกิจกรรมแจกถุงยาง แต่ควรจะใช้วิธีการห้ามปรามไม่ให้มีการผิดประเวณี หรือแค่แนะนำให้รู้จักไว้บ้างว่าถุงยางคืออะไร แต่ไม่ใช่ไปแจก”[5] ดังนั้นเราจะเห็นว่า นักการศาสนาหรือนักศึกษาที่เป็นมุสลิมจำนวนมากจะมีความเห็นไปในทำนองไม่เห็นด้วยเด็ดขาดในการแจกถุงยางอนามัย แต่ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับมองต่างออกไปดังนี้

 

มุมมองด้านอนามัยเจริญพันธุ์

จากสถิติการติดเชื้อHIVในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในบทความของสุบิน กินคง [6] ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 5,400 รายโดยมีทั้งในสามจังหวัดและส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม โดยปัญหาเรื่องHIV เป็นปัญหาที่มีความพยายามทำงานกันมาอย่างยาวนาน แต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการไม่เปิดรับเรื่องเพศและการปฏิเสธการใช้ถุงยาง รวมไปถึงการติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน กรณีเป็นผู้ใช้สารเสพติด ปัญหาเรื่องHIV นั้นทับซ้อนมากขึ้น เมื่อผู้ติดเชื้อที่เป็นมุสลิมไม่กล้าบอกคนในชุมชนหรือเข้ารับการรักษา เพราะไม่ต้องการให้คนรู้ว่าตนทำผิดหลักการศาสนา ดังนั้นการแพร่เชื้อจากสามีสู่ภรรยา หรือจากชายสู่ชาย จึงควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น ยังไม่นับเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทั้งในกลุ่มแม่วัยรุ่นหรือกลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้เพิ่งมีข่าวเด็กทารกแรกคลอดถูกทิ้งไว้ที่ปั๊มน้ำมันที่จังหวัดปัตตานี[7] หรือเมื่อสามปีก่อนก็มีข่าวศพทารกถูกทิ้งที่กองขยะ[8]

บทความของคำหอม จินตนา ที่เขียนถึงวิถีชีวิตของวัยรุ่น กรณีศึกษากลุ่มวัยรุ่นมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ (ปัตตานีและยะลา)[9] ก็สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดกรณีการมีเพศสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่นจนนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำแท้ง และHIV  ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จึงนำมาสู่ความพยายามของหลายฝ่ายที่จะแก้ไขและลดจำนวนตัวเลขตามสถิติต่างๆ ด้วยการณรงค์การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย  เช่น การแจกถุงยางอนามัย การจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยหรือการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือกระทั่งการดูแลสภาวะทางเพศที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักสาธารณสุข

หากเราพิจารณาถึงมุมมองทั้งสองด้าน อาจจะดูเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ใช่หรือไม่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาของสังคมในปัจจุบัน เพียงแต่อาจจะมีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป และเป็นการมองปัญหาในคนละระดับ ฝ่ายหนึ่งนั้นมองว่าการป้องกันด้วยการห้ามซะตั้งแต่ต้นเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาเรื่องเพศที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่ใช้หลักการทางศาสนามาขัดเกลาและปกป้องคนในชุมชนให้ห่างไกลจากบาปใหญ่ ก็สามารถปฏิบัติตามความเชื่อของตนเองได้ ด้วยการอบรมสั่งสอนบุตรของตนเอง เผยแพร่ความรู้ทางศาสนาเกี่ยวกับการป้องกันการทำผิดประเวณีในวิธีการต่างๆ แต่จำเป็นหรือไม่ที่ต้องต่อต้านการปฏิบัติในแบบอื่นๆ หรือถึงขั้นประณามและใช้ถ้อยคำโจมตีผู้ที่ทำงานในอีกด้านด้วยถ้อยคำรุนแรง รวมไปถึงข้อกล่าวหาต่างๆเช่น

เป็นกิจกรรมที่ทำลายศาสนา หรือเป็นกิจกรรมของมารศาสนา  เป็นต้น เพราะข้อเท็จจริงซึ่งนักการศาสนาหรือคนในชุมชนมุสลิมอาจจะต้องหันมาทบทวนและยอมรับ คือมีมุสลิมจำนวนมากที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาเหล่านั้นได้ จนนำมาสู่ปัญหาดังกล่าว และสังคมหรือชุมชนมุสลิมจะปล่อยให้ปัญหานี้สะสมไว้โดยไม่หาทางแก้ไขหรือป้องกันในรูปแบบอื่นๆ ก็ดูจะเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริงทางสังคมและเพิกเฉยกับปัญหาหรือไม่

ส่วนกลุ่มที่ทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกับหลักการทางศาสนา คนทำงานอาจจะต้องพิจารณาให้มากยิ่งขึ้น หากจะดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ จะทำอย่างไรให้เกิดความสบายใจกับอีกฝ่าย เป็นสิ่งที่ควรจะหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้กิจกรรมดำเนินต่อไปได้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

นอกเหนือไปจากข้อเถียงจากทั้งสองมุมมองแล้ว ผลจากการจุดประเด็นเรื่องการแจกถุงยางครั้งนี้ ยังนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรื่องของความเป็นพหุวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ และความเป็นคนนอกคนในทั้งทางพื้นที่และทางศาสนาอีกด้วย จากการสังเกตข้อถกเถียงตลอดสองวันก่อนที่กระทู้จะหายไป ผู้เขียนพบว่ามีนักศึกษาจากนอกพื้นที่ที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมาก หลายคนพูดถึงความคับข้องใจในการไม่สามารถเปิดรับความแตกต่างระหว่างคนนอกศาสนาได้ เช่น ข้อเถียงเถียงของนักศึกษามุสลิมคนหนึ่ง ได้กล่าวว่า ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักศึกษามุสลิมมากกว่า50% และในสามจังหวัดก็มีประชากรมุสลิม มากกว่า 80% ดังนั้นกิจกรรมใดๆที่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลามก็ไม่สามารถทำได้ทั้งนั้น

การกล่าวเช่นนี้จึงเป็นการส่งผลเสียต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมากกว่าก็ตาม แต่ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ก็มีสิทธิที่จะดำรงชีวิตและมีวิถีชีวิตตามหลักศาสนาหรือหลักปฏิบัติของตนได้เช่นกัน เพราะถ้าใช้ความเป็นคนส่วนใหญ่กล่าวอ้างเช่นนี้แล้ว คนมุสลิมในประเทศไทยจะไม่สามารถปฏิบัติศาสนากิจหรือมีวิถีชีวิตของตนเองได้เลย เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่ใช่มุสลิม ดังกรณีหลายๆกรณีที่เกิดขึ้น เช่น การต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่จังหวัดเชียงใหม่ การต่อต้านการสร้างมัสยิดที่น่านและจังหวัดอื่นๆทางภาคอีสาน ดังนั้นการกล่าวอ้างความเป็นคนส่วนใหญ่เพื่อห้ามไม่ให้คนส่วนน้อยทำหรือไม่กระทำการใดๆ จึงเป็นหลักการที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ควรแสวงหาหนทางในการอยู่ร่วมกัน โดยที่ทุกฝ่ายสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนเองหรือปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาและวิถีชีวิตของตนเองได้

นอกจากประเด็นเรื่องความเป็นคนนอกคนในพื้นที่เองแล้ว แม้กระทั่งในกลุ่มคนมุสลิมด้วยกันเองก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในกรณีการแจกถุงยาง มุสลิมจำนวนมากเห็นด้วยกับการแจกถุงยาง ในขณะที่มุสลิมอีกกลุ่มต่อต้านอย่างแข็งขัน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของชุมชนมุสลิมเอง ดังนั้นข้อโต้แย้งที่อ้างถึงคนมุสลิมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมแจกถุงยาง จึงอาจเป็นแค่การกล่าวอ้างโดยปราศจากตัวเลขที่แท้จริงจากจำนวนประชากรมุสลิมทั้งหมดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี และยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่มุสลิมทุกคนที่ปฏิเสธเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่เคร่งครัดในหลักการศาสนาอิสลามก็ตาม แต่ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการอื่นๆนอกเหนือไปจากศาสนาด้วย

 

ดังนั้นข้อเสนอของผู้เขียนต่อกรณีนี้คือ คนในชุมชนจะต้องร่วมกันหาทางออกต่อปัญหาเรื่องเอชไอวี ท้องไม่พร้อม การทำแท้งไม่ปลอดภัย เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและมีอยู่จริง โดยก่อนอื่นฝ่ายที่ออกมาต่อต้านต้องเริ่มจากการหยุดตีตรา หยุดการโจมตีโดยใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มที่ทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยอาจหันกลับไปพิจารณาบทบาทในการแผนแพร่คำสอนทางศาสนาที่ปราศจากอคติและการตีตรา การพิพากษา ต่อกลุ่มคนที่กระทำผิดหลักศาสนา รวมไปถึงให้คำปรึกษาต่อกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียนรู้เรื่องเพศอย่างเปิดกว้างด้วย

ในขณะที่กลุ่มคนที่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเอชไอวี ท้องไม่พร้อม ก็ต้องสื่อสารกับฝ่ายที่มีความกังวลใจทางด้านศาสนาให้มากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการทำงานสร้างความเข้าใจกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจด้านอนามัยเจริญพันธุ์ให้มากขึ้น รวมไปถึงค้นหาคำอธิบายทางศาสนาจากผู้รู้ที่สนับสนุนการทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสบายใจกับคนในชุมชนและสามารถนำคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์โดยผสมผสานกับมุมมองทางศาสนาได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับชุมชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในสังคมต่อไป

 

 

 



[1]  ชานันท์ ยอดหงษ์, “ถุงยาง มุสลิม และอดีตรัฐปาตานี,” The Matter, 26 เมษายน 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, https://thematter.co/thinkers/condom-muslim-and-patani/22666.

[2] Mtoday, “สมาคมรุ้งสีฟ้า ตัวการแจกถุงยางให้เยาวชนสามจังหวัด แกนนำสวนกลับดราม่า,” Mtoday, 15 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.mtoday.co.th/5499.

[3] Sitthichai, Alif, Facebook Post, 23 เมษายน 2560 (11.42 น.) เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, https://www.facebook.com/groups/StudentPSUpattani/permalink/1365124386858422/.

[4] อามีน ลอนา, Facebook Post, 23 เมษายน 2560 (18.17น.), เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, https://www.facebook.com/lovesahabah.ahlulbayte/posts/1427774980618163.

[5] อัฐพล ปริยะ, “บายเฟรชชี่ในถุงยางกับการครอบงมปัญหาเรื่องเพศ,” loveisphilosophy, 23 เมษายน 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://yeed1995.blogspot.com/2017/04/blog-post_23.html.

[6] สุบิน กินคง, “มุมมองHIVกับชุมชนมุสลิม,” Pataniforum, 26 สิงหาคม 2559, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.pataniforum.com/single.php?id=605.

[7]Mtoday “เด็กทารกแรกเกิดถูกทิ้งที่ปั๊มน้ำมัน,” Mtoday, 21 มีนาคม 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษถาคม 2560, http://www.mtoday.co.th/7699.

[8] ASTVผู้จัดการออนไลน์ “แม่ใจยักษ์ ฆ่าทารกแรกเกิดก่อนนำศพทิ้งกองขยะที่ปัตตานี, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1 สิงหาคม 2557, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.manager.co.th/south/viewnews.aspx?NewsID=9570000087255.

[9] คำหอม จินตนา, “เมื่อวัยรุ่นยะลา-ปัตตานี กำลังเผชิญปัญหามีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย,” Teenpath, 16 สิงหาคม 2552, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.teenpath.net/content.asp?ID=727.

 

บล็อกของ (Buku Classroom)

(Buku Classroom)
ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้วเลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่ 
(Buku Classroom)
โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย  
(Buku Classroom)
 บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรมโดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์ 
(Buku Classroom)
ดาราณี ทองศิริห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคูข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
(Buku Classroom)
ฟุตบอล เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม(2)การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยฟุตบอลโดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom) 
(Buku Classroom)
จดหมายถึง ไผ่ ดาวดิน  
(Buku Classroom)
ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม (1)จุดเริ่มต้นของ Buku Football Club โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู  (ฺBuku Classroom) 
(Buku Classroom)
"ห้องเรียนเพศวิถี" สอนอะไร?โดย อันธิฌา แสงชัย อาจาร