Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

นาโก๊ะลี
เพื่อนคนหนึ่งเคยเชื้อเชิญให้พวกเราได้มีเวลาสำรวจบาดแผลของชีวิต  เบื้องแรกหลายคนคิดว่าให้สำรวจบาดแผลของจิตใจ  ความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญในช่วงเวลาที่ผ่านมา  แต่เพื่อนคนนั้นยืนยันว่า ให้สำรวจบาดแผลทางร่างกายจริงๆ  นั่นก็อาจหมายความว่า ให้เราได้กลับมาสำรวจ และเรียนรู้บาดแผล เพราะนั่นมันอาจเป็นความทรงจำอันดี  เพราะบาดแผลแต่ละครั้ง มันคือการเรียนรู้  มันเป็นประสบการณ์ของชีวิต แผลคือการจารึกเรื่องราว  เพราะทั้งหมดนั้นวันหนึ่งมันจะกลายเป็นทรงจำที่อาจประทับใจใช่แต่บาดแผลเท่านั้นกระมัง  การเผชิญเรื่องราวอันตื่นเต้น  ความเจ็บปวดร้าวในแต่ละครั้ง  ณ ขณะนั้นมันอาจเป็นภาวะที่เลวร้ายยิ่งนัก  แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว  เรื่องราวทั้งหมดมันก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าอันน่าประทับใจ เจ้าตัวอาจนำมาเล่า  ครั้งแล้วครั้งเล่า และมันก็จะกลายเป็นประสบการณ์อันน่าเรียนรู้  อันไม่รู้จบช่วงเวลาเช่นนี้มันจึงเป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย ว่าก็คือช่วงแห่งความทุกข์ยาก เจ็บปวด อันไม่ว่าจะในระดับใด ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หรือกระทั่งโลกใบนี้นั่นเอง  ในภาวะเช่นนี้ บางคราวเราก็รอ รอให้มันผ่านไป  และมันเป็นไปไม่ได้หรอกกระมังที่มันจะไม่ผ่านไป  เพราะไม่ว่าอะไรมันก็จะผ่านไป  ไม่ว่าบางสิ่งเราอยากจะยึดมันไว้แค่ไหน  มันก็จะไม่สามารถดำรงอยู่อย่างนั้นตลอดไป  ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีงามหรือเลวร้าย  บาดแผลที่สำคัญส่วนหนึ่งนั้นก็คงเป็นบาดแผลของวัยเยาว์  วัยที่สามารถเข้าไปคลุก ขลุกกับอะไรก็ได้โดยปราศจากความหวาดหวั่นใดใด  ความซุกซน อาจเป็นตัวแทนของความอยากรู้อยากเห็น  ความตื่นตาตื่นใจ  และนั่นเองก็คือสาเหตุของบาดแผลมากมาย  เมื่อฟังเรื่องคราวเป็นเด็กของหลายๆ คน  มักมีการบาดเจ็บ  ที่มาของบาดแผลคล้ายๆ กัน  เช่น แผลเป็นที่เข่า  อันเกิดจากการหกล้มครั้งแล้วครั้งเล่า  หรือการตกจากที่สูง มีดบาด หัวแตก  บางอย่างมันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคของความตื่นตาตื่นใจเลย  ตรงกันข้าม ในวัยเด็กเราได้เข้าไปผจญกับภัยอันตรายเล็กๆ น้อยๆ เสมอ อย่างไม่หวาดหวั่น  และในความตื่นตาตื่นใจนั่นเองที่เป็นสื่อกลางในการทำความรู้จักกับโลกผู้คนมากมายตามหาวัยเยาว์ของตัวเอง  ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม   ผู้คนมักมีความสุขเสมอเวลาที่พูดถึงวัยเยาว์ของตัวเอง  แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะค้นพบหัวใจของวัยเยาว์นั้นในตัวเอง  ยิ่งก็โดยเฉพาะเมื่อเราอายุสูงวัยมากขึ้น  หลายครั้งที่เราจะพบว่า  เราไม่ค่อยตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่นัก เวลาที่พานพบเรื่องราวที่น่าสนุกสนาน  เราไม่ตื่นเต้นเวลาเห็นอะไรใหม่ๆ  และนั่นก็อาจหมายความว่าสื่อที่จะนำเราไปทำความรู้จักกับโลกนั้นมันหดหายไปนั่นเองเช่นนั้นแล้ว....  การกลับไปสำรวจบาดแผลของชีวิต  ก็อาจเพื่อการนำเราไปสู่บาดแผลใหม่ๆ  ซึ่งมันหมายถึงความกล้า ที่จะเรียนรู้ อย่างนั้นหรือเปล่า...มั้ง
รวิวาร
เธอบอกให้ฉันเขียนถึงความรื่นรมย์  ฉันกล่าวตอบเธอในใจ“ความรื่นรมย์ที่ขมขื่นจะเอาไหม?”   ความจริง ฉันมีความรื่นรมย์ที่เผาไหม้ สนุกสนานสำราญใจที่ถูกแผดเผา  .........................................................................
กวีประชาไท
ที่มาภาพ : www.oknation.net1เหตุการณ์ตะวันออกไม่เปลี่ยนแปลง        แดดแรง – คนล้า – เมษาฯ ร้อนน้ำมูนเหลืองขอดเหลือตะกอน        แต้มอีสานไม่อาทรต่อใดใดนกกระจาบบินเร็วรีบหลบแดด        แสงแผดปีกเจ้าทุกเช้าไหนต่อกลางวันสลดเศร้าเรื่องราวใคร        ร้อนแล้งทุรนทุรายแห่งสายน้ำ...สายน้ำมูน มูนมัง ความหวังสิ้น        แผ่นดินนี้ของใคร ใยลึกล้ำรับรู้สึกแทนผองชนผู้โดนกระทำ        ก่อเกิดเป็นลำนำ คนน้ำมูนเธอมิใช่คนน้ำมูน คนนู้น หรือคนที่ไหน?    ใยห่วงหาอาทรใด ให้ว้าวุ่นเกิดเป็นรอยโรคร้ายไม่สมดุล        กระนั้นยังหยัดเทิดทูน ยุติธรรม์ยุติธรรม์เพื่อใคร และไม่ใช่เพื่อใคร...    โลกใบใหม่ในจิตเกินปิดกั้นจึงหลอมรวมให้ตัวตนโดนลงทัณฑ์        เพื่อจำนรรจ์ ทายท้าโลกบ้าใบ้บ้าใบ้เหมือนถูกปิด ถูกบิดเบือน        แสงหนึ่งหยั่งสะเทือนสะท้อนไหววูบต่อการชำระ...หมดภาระใจ        จึ่งฉายโชนประทีปไป ปลดระวาง2เหตุการณ์ตะวันออกบอกเราว่า        แดดยิ่งแรง คนยิ่งกล้า ไม่ลาร้างน้ำมูน น้ำแม่เหมือนน้ำนมนาง        หลอมคนให้ชิมลาง แล้วถางทิศเดินไปสู่หนทางทุกบางใคร            ขณะทุกห้วงหัวใจคล้ายลิขิต –จากสายน้ำ สายไหนให้หยุดคิด        จึงหลอมรวมทุกชีวิตสู่ทิศไทฯ3สายน้ำตะวันออก เพียงบอกข่าว        เรื่องราวเล็กเล็กแต่ยิ่งใหญ่วูบของดาวทิ้งดวงดับลับฟ้าไกล        ขณะหนึ่งแสงสุดท้ายได้ฉายแรงเพียงเสี้ยวดาวร่วงหล่นดวงดับ        ก่อนลับขอบหล้าลาลำแสง –กระพริบจ้ากล้าจรัสจรุงแจง         คล้ายบอกกล่าวไม่เสแสร้งในแสงสุดท้าย...แด่...เธอผู้นั้นไหมฟ้าชายขอบเมืองดอกบัว 
ชนกลุ่มน้อย
ขบวนรถด่วนยาวเหยียดปล่อยสองพ่อลูกลงสถานีพัทลุง   กระเป๋าเป้ใบใหญ่อย่างกับบ้านย่อมๆ  ทุกอย่างยัดอัดแน่นอยู่ในนั้น   ถ้ามีห้องน้ำยัดใส่เข้าไปได้  ผมก็คงจับยัดลงไปด้วยอยู่หรอก  อีกทั้งกล่องกระดาษ  กระเป๋าใส่ของฝาก  พะรุงพะรังอยู่ในอาการโกลาหลอยู่พักใหญ่  กว่าทุกอย่างจะวางกองอยู่ในความสงบ  
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาของการแสวงประสบการณ์ ผู้เขียนมีความใฝ่ฝันมานานแล้วว่าครั้งหนึ่งในชีวิตขอให้ได้มีโอกาสทำงานโบราณคดีในภาคเหนือสักครั้ง  ดังนั้น เมื่อราวกลางปีพ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้เขียนจึงเดินทางขึ้นเหนือและ เริ่มต้นงานแรกที่จังหวัดลำปาง คืองานบูรณะซ่อมแซมวิหารจามเทวี วัดปงยางคก ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จากนั้นอีกไม่กี่เดือนเมื่องานที่ลำปางเสร็จสิ้นลง ก็เดินทางต่อมาที่เชียงใหม่ เพื่อทำการขุดศึกษาทางโบราณคดีที่เจดีย์เหลี่ยม หรือ กู่คำ เจดีย์สำคัญของเวียงกุมกาม ตลอดเวลาที่มองเห็นซากปรักหักพังของวัดร้างในเวียงกุมกาม น่าแปลกใจที่ตอนนั้นยังไม่ได้มีความคิดเกี่ยวกับมอญเท่าไรนัก  จวบจนวันนี้ที่ต้องทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องมอญในมิติโบราณคดีประวัติศาสตร์ ตามที่ท่านผู้อ่านได้ประจักษ์ในวารสารเสียงรามัญผ่านมาหลายฉบับ  โดยเฉพาะฉบับนี้จะบอกเล่าเรื่องมอญในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผู้เขียนต้องรื้อฟื้นบางสิ่งบางอย่างในการสืบค้นอดีตเกี่ยวกับมอญให้ประจักษ์แจ้ง  โดยขอตามรอยอดีตอารยธรรมมอญจากแคว้นหริภุญไชยสู่เวียงกุมกามราชธานีเริ่มแรกของอาณาจักรล้านนา นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ : ความหมายของมอญไม่เคยเลือนหายในสมัยโบราณดินแดนล้านนาปรากฏแว่นแคว้น ๒ แห่ง คือ บริเวณแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำกก สาย อิง และโขง(เชียงราย- เชียงแสน) มีแคว้นหิรัญนครเงินยางแห่งราชวงศ์ลวจักราช (ลัวะ) และบริเวณแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง (เชียงใหม่-ลำพูน) มีแคว้นหริภุญชัยแห่งราชวงศ์จามเทวี (มอญ)   อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรล้านนากำเนิดขึ้นจากการผนวกรวมของสองดินแดน ผู้คน และวัฒนธรรม โดยพญามังรายสถาปนาเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง   เมืองเชียงใหม่ หรือ ตำนานเขียนว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ชื่อนี้มีความหมายและที่มาคำว่า เชียง  ตามพงศาวดารไทใหญ่และพงศาวดารไทอาหม (อาหมบุราญจี) หมายถึงชุมชนหรือหมู่บ้าน ส่วนคำว่า เวียง ตามความหมายของพงศาวดารไทอาหม แปลว่าค่ายและเมืองมีกำแพงล้อมรอบ มักเป็นที่ตั้งขององค์กรทางการปกครอง (๑)  คำว่า  นพบุรี  (นพ แปลว่าเก้า หรือ แก้วอัญมณี  บุรี แปลว่า เมือง ) ตำนานสุวรรณคำแดงเขียนเล่าเป็นนิทานว่าบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่อยู่ของชาวลัวะ ๙ ตระกูล  (๒) คำว่านครพิงค์ มาจากชื่อแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ ภาษาบาลีเขียนว่า พิงค์  หรือ ระมิง มีความหมายว่า “แม่น้ำของชาวรามัญ” (๓) สอดคล้องจามเทวีวงศ์เรียกชาวลุ่มน้ำปิงว่า “เมงคบุตร” (๔)  ดังนั้น แม่น้ำปิง หรือ แม่ระมิง คือ แม่น้ำที่ชาวมอญหรือเมงอาศัยอยู่นั่นเอง ดังนั้น ชื่อเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่จึงแฝงความหมายสื่อถึงถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะบริเวณเชิงดอยสุเทพ และชาวมอญในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เป็นกลุ่มคนเจ้าของถิ่นเดิมที่อยู่มาก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านนา  ถ้าจะกล่าวว่าทั้งลัวะและมอญเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมล้านนาในสมัยต่อมาก็คงไม่ผิดนัก  ดังเช่นความเชื่อดั้งเดิมที่ตกทอดจากอดีตเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษของชาวเชียงใหม่ปัจจุบัน ยังคงมีพิธีไหว้ผีปู่แสะย่าแสะ” คือ ผีบรรพบุรษของชาวลัวะและพิธีฟ้อนผีมดผีเม็ง คือ ผีบรรพบุรุษของชาวมอญ ตราบทุกวันนี้    เวียงกุมกาม  : รากฐานจากวัฒนธรรมมอญเป็นที่ยอมรับกันว่าในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ นั้นเป็นยุคทองของหริภุญชัย ในช่วงนี้อารยธรรมมอญ-ทวารวดีปรากฏเด่นชัดที่สุด ซึ่งสะท้อนออกมาทางด้านศิลปวิทยาการ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งยังคงหลงเหลือร่องรอยในปัจจุบันอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่เหล่าบรรดาศิลาจารึกจำนวน  ๗ หลักที่พบในจังหวัดลำพูน ซึ่งจารึกด้วยอักษรมอญเป็นภาษามอญ และอักษรมอญภาษาบาลีซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙   ในเวลาต่อมาพญามังราย ผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ลวจักราช แห่งเมืองหิรัญนครเงินยางบ้านเมืองในแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน ได้เข้ายึดครองผนวกรวมเมืองหริภุญชัย ตามหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.๑๘๒๔   พญามังรายประทับอยู่ที่หริภุญชัยเป็น เวลา ๒ ปี  แล้วจึงสร้างเวียงแห่งใหม่ คือ เวียงกุมกาม ขึ้นในปีพ.ศ.๑๘๒๙  (๕)  เมืองหริภุญชัยจึงถูกลดบทบาทลงเป็นเมืองหน้าด่านแต่ยังคงเป็นศูนย์กลางของพระศาสนาและศิลปวิทยาการ เวียงกุมกาม หรือ เวียงกุ๋มก๋วม  ตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำปิงไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออก และคาดว่ามีการขุดคูเวียง ๓ ด้านให้แม่น้ำปิงเป็นคูธรรมชาติทางด้านทิศเหนือ ก่อกำแพง ๔ ด้าน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง ๖๐๐ เมตร ยาว ๘๕๐ เมตร อาจด้วยเหตุว่าเวียงกุมกามตั้งอยู่ที่ราบลุ่มบริเวณคุ้งน้ำ จึงมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เป็นเหตุให้พญามังรายสร้างเวียงใหม่ในบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ ซึ่งมีชัยภูมิเหมาะสม  พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ.๑๘๓๙  แต่เวียงกุมกามก็ไม่ได้ร้างไปทันที ยังคงได้รับทำนุบำรุงอยู่เสมอมาอีกหลายร้อยปี จนกระทั่งร่วงโรยจากเหตุอุทกภัยเนื่องจากแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดินจากที่เคยจะไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและตะวันออก มาเป็นด้านทิศตะวันตกอย่างทุกวันนี้ จากอุทกภัยน้อยใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า ได้พัดตะกอนดิน ทราย กรวดทับถมเป็นชั้นหนาหลายเมตร   เวียงกุมกามในปัจจุบันจึงมีสภาพเสมือนเมืองโบราณใต้ดิน  ซึ่งหายไปจากความทรงจำและหน้าประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ในสมัยอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ตองอู  (พ.ศ.๒๑๐๑-๒๓๑๗)  จนกระทั่งสมัยต้นรัตนโกสินทร์พระเจ้ากาวิละได้ทำการฟื้นฟูบ้านเมืองหลังจากปลดแอกจากการปกครองของพม่ามาหลายร้อยปี มีการใช้นโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ทำให้ผู้คนกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มากขึ้นรวมทั้งบริเวณเวียงกุมกามด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕   มีบันทึกชัดเจนว่ามีผู้คนเข้าไปก่อตั้งเป็นชุมชนขนาดเล็กที่ “บ้านช้างค้ำท่าวังตาล” (๖)เวียงกุมกามได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังจากมีการค้นพบในปีพ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจ ขุดค้น บูรณะแซมโบราณสถานหลายสิบแห่ง ทำให้ซากสิ่งก่อสร้างที่จมอยู่ใต้ดินมานานปรากฏขึ้นอีกครั้ง ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ในเขตปกครองตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มาทางทิศใต้ประมาณ ๕ กิโลเมตร จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีโบราณสถานจำนวน  ๒๗  แห่ง  ที่ได้รับการขุดศึกษาแล้ว ได้แก่ วัดอีค่าง (วัดอีก้าง) วัดหัวหนอง วัดหนานช้าง  วัดพันเลา วัดพญามังราย  วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดปู่เปี้ย วัดบ่อน้ำทิพย์ วัดโบสถ์ วัดธาตุน้อย วัดธาตุขาว  วัดเจดีย์  วัดกานโถม (ช้างค้ำ) วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ)  วัดกู่อ้ายหลาน วัดกู่อ้ายสี วัดกู่ริดไม้ วัดกู่ไม้ซ้ง  วัดกู่มะเกลือ วัดกู่ป้าด้อม วัดกู่จ๊อกป๊อก วัดกู่ขาว วัดกุมกามทีปราม วัดกุมกามทีปรามหมายเลข ๑  วัดกุมกาม  วัดกุมกามหมายเลข ๑ วัดกอมะม่วงเขียว(๗) ซึ่งส่วนมากมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑  แต่จากศึกษาทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าบริเวณเวียงกุมกามนั้นเคยเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัยมาก่อน คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗  ร่วมสมัยกับเมืองโบราณในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เช่นเวียงท่ากาน เวียงมโน เวียงเถาะ รวมทั้งเวียงเจ็ดลินบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพด้วย เจดีย์ประธานวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เวียงกุมกามจากหนังสือโบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกามของสำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ กรมศิลปากรเวียงกุมกามในสมัยหริภุญชัย หลักฐานอยู่ที่ วัดกานโถม (ช้างคำ)  ได้ค้นพบพระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างหริภุญชัย ได้แก่ พระสาม พระคง พระแปด พระสิบสอง ฯลฯ และภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย และที่สำคัญได้ค้นพบชิ้นส่วนของจารึกภาษามอญโบราณที่คล้ายไปทางอักษรมอญที่พบในเมืองหริภุญชัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จารึกภาษามอญโบราณเวียงกูมกาม (จารึกวัดกานโถม ชิ้นที่ ๓)จารึกภาษามอญโบราณเวียงกูมกาม(จารึกวัดกานโถม ชิ้นที่ ๕)ชิ้นส่วนศิลาจารึกวัดกานโถม (ช้างค้ำ) ได้จากการขุดค้นซากวิหารกานโถมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗   จำนวน ๕ ชิ้น สลักบนหินทรายสีแดง เดิมคงเป็นจารึกอยู่ในหลักเดียวกัน จารึกอยู่ทั้ง ๓ ด้าน หรือ ๔ ด้าน และจารึกในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน   ข้อความในจารึกกล่าวถึงอุโบสถ  พระพุทธรูป  คนที่ให้เฝ้าพระพุทธรูป และคำอธิษฐาน จากการศึกษาชิ้นส่วนของจารึกทั้ง ๕ ชิ้น โดย ดร. ฮันส์ เพนธ์(๘) พบว่ามีลักษณะอักษร อยู่ ๓ ชนิด คือ ๑. อักษรมอญและภาษามอญ ซึ่งเป็นอักษรที่เก่าที่สุดประมาณว่าจารึกขึ้นในราว พ.ศ. ๑๗๕๐ - ๑๘๕๐   (จารึกวัดกานโถมชิ้นที่ ๕ )๒. อักษรที่มีลักษณะระหว่างอักษรมอญกับอักษรไทย   คืออักษรมีลักษณะของอักษรมอญและอักษรสุโขทัยอยู่รวมกัน  ถือได้ว่าเป็นอักษรไทยยุคต้นนับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นแรกที่ยังไม่เคยพบที่แห่งใดมาก่อนที่แสดงวิวัฒนาการของอักษรไทย ประมาณว่าคงจารึกในราว พ.ศ. ๑๘๒๐ -  ๑๘๖๐  ( จารึกวัดกานโถม ชิ้นที่ ๓)๓. อักษรสุโขทัย และอักษรฝักขามรุ่นแรก อยู่รวมกัน  เป็นจารึกครั้งหลังสุดก่อนประมาณ พ.ศ. ๑๙๔๐ วิหารวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เวียงกุมกาม บริเวณที่ค้นพบจารึกภาษามอญโบราณ จากหนังสือโบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกามของสำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ กรมศิลปากรนอกจากหลักฐานด้านจารึกภาษามอญแล้ว รูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบหริภุญชัยก็แสดงให้เห็นที่ เจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) โดยถ่ายแบบมาจากเจดีย์ประธานของวัดจามเทวี (กู่กุด) จังหวัดลำพูน  นอกจากเวียงกุมกามจะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญโดยตรงจากหริภุญชัยแล้ว ยังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญผ่านพม่าด้วย  ดังมีหลักฐานว่า หลังจากพญามังรายเข้ายึดครองหริภุญชัยได้ไม่นาน ต่อมาก็ได้ยกทัพไปเมืองหงสาวดีและเมืองอังวะ ซึ่งขณะนั้นกำลังอ่อนแอจากการถูกโจมตีจากกองทัพมองโกล เจ้าเมืองทั้งสองยอมอ่อนน้อมขอเป็นไมตรี และถวายพระธิดา และข้าทาสรวมทั้งช่างฝีมือจำนวนกลับมาอยู่ที่เวียงกุมกาม(๙)  เหตุที่ผู้เขียนกล่าวว่าศิลปะและสถาปัตยกรรมของเวียงกุมกามนั้นรับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญผ่านพม่านั้น เนื่องจากศิลปวิทยาการต่างๆของพม่าเองก็รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมอญแทบทั้งสิ้น  ในสมัยนั้นทั้งมอญและพม่ามีการผสมกลมกลืนกันจนยากที่จะแยกแยะ อาจกล่าวว่าศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่เวียงกุมกามเป็นผลงานของฝีมือช่างแบบมอญ หรือ ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมอญก็คงจะได้เช่นกันเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) : ศิลปกรรมมอญเมื่อแรกสร้างจนกระทั่งซ่อมแซมเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ)เจดีย์เหลี่ยมหรือ กู่คำ  (๑๐) ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์เหลี่ยม ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียงกุมกาม เจดีย์เหลี่ยมนั้นเป็นเจดีย์องค์แรกที่พญามังรายสร้างขึ้นเมื่อย้ายจากเมืองจากหริภุญชัยมาสร้างเวียงกุมกามเมื่อแรกที่ผู้เขียนเข้ามาทำงาน องค์เจดีย์เหลี่ยมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม สภาพโดยรวมคร่ำคร่าหม่นหมอง ปูนฉาบก็เสื่อมสภาพ ปูนปั้นก็หลุดร่วง แถมยังถูกตะไคร่น้ำคุกคาม ฉัตรใหญ่ยอดเจดีย์ ถูกกัดกร่อนด้วยสนิม  ฉัตรเล็กประดับสถูปประจำมุมหักหายไป  แต่ทว่าภายใต้ความชำรุดทรุดโทรม ก็ยังคงส่อเค้าความสง่างามทางสถาปัตยกรรม  เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับได้กล่าวถึงการสร้างเจดีย์เหลี่ยม อันได้แก่ พงศาวดารโยนก ปรากฏข้อความเกี่ยวกับการเจดียเหลี่ยม(กู่คำ) ว่า “ลุศักราช ๖๕๐ ปีชวด สัมฤทธิศก เจ้ามังรายให้เอาดินที่ขุดต่างหนองต่างมาทำอิฐก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกามให้เปนที่บูชาแก่ชาวเมืองทั้งหลาย”ตำนานมูลศาสนา ก็กล่าวไว้ตอนหนึ่งเมื่อพญามังรายตีเอาเมืองลำพูนได้แล้ว ว่า“ถัดนั้นพระยามังรายออกมาตั้งที่เวียงกุมกามแปงบ้านอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งชื่อว่าบ้านกลาง แห่งหนึ่งชื่อว่าบ้านแหม นั้นก็อยู่เสวยสมบัติในที่นั้น ท่านยินดีในศาสนาพุทธเจ้า จังใครกระทำบุญอันใหญ่เป็นต้นว่าการสร้างเจดีย์นั้น จึงให้อามาตย์ทั้งหลายเอาหินมาแล้วก่อเป็นเหลี่ยมแต่ละด้านให้มีพระพุทธเจ้า ๑๔ องค์ แล้วใส่คำแต่ยอดลงมาดูงามนัก ใส่ชื่อว่ากู่คำ และให้ฉลองถวายมหาทาน กับตั้งเครื่องอัฐบริขาร แก่พระสงฆ์เจ้ามากนักแล”นอกจากนี้ยังปรากฏประวัติกล่าวถึงในโครงนิราศหริภุญชัย จารึกวัดศรีอุโมงค์คำ เป็นต้น ในปัจจุบันยังคงถกเกถียงกันในหมู่นักวิชาการ ว่า เจดีย์เหลี่ยม(กู่คำ) เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด บางท่านก็เชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญ แต่บางท่านก็เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุของพระพุทธเจ้า (กระดูกมือข้างขวา)  หลังจากนั้นเอกสารกล่าวถึงเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕  ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ระบุว่าเจดีย์เหลี่ยมได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยหลวงโยนการวิจิตร (มองปันโหย่ อุปโยคิน) หรือ ที่เรียกกันทั่วไป ว่า “พระยาตะก่า” คหบดีชาวมอญ ที่เข้ามาค้าขายอยู่ภายในเมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าอินทวิ ไชยานนท์จนได้รับพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงได้มีศรัทธาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เหลี่ยมด้วยการใส่ฉัตรใหญ่ ฉัตรเล็ก ก่อซุ้ม พระนั่งประจำทิศที่ฐานทั้งสี่ด้าน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นก่อปิดทางเข้าอุโมงค์ของเจดีย์ เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายหรือขโมยเข้าไปหลบซ่อนอาศัย นอกจากนี้ยังมีการซ่อมแซมลวดลายปูนปั้นที่ประดับองค์เจดีย์ใหม่โดยฝีมือช่างมอญ (พม่า)ในปีพ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๓๙ เกิดน้ำท่วมขังเจดีย์เหลี่ยมและเวียงกุมกาม ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก กรมศิลปากรจึงได้ทำการขุดค้นศึกษาและบูรณะเสริมความมั่นคงเจดีย์เหลี่ยมอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ผู้เขียนในฐานะนักโบราณคดีได้ทำการขุดค้นศึกษาเพื่อศึกษาประวัติการก่อสร้าง และรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ดังนี้ลักษณะทางสถาปัยกรรม เจดีย์เหลี่ยม(กู่คำ)มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีฐานเขียงกว้างด้านละ ๑๗.๔๕ เมตร มีความสูงจากส่วนล่างของฐานเขียงจรดปลียอด ๓๐.๗๐ เมตร เจดีย์มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆหลดหลั่นกัน ๕ ชั้น แต่ละชั้นที่ซ้อนกันเรียกว่าเรือนธาตุ ในชั้นเรือนธาตุแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ ๓  องค์  รวมพระพุทธรูป ๖๐ องค์และเพิ่มเป็น ๔ องค์ เป็น พระนั่งประจำทิศที่ฐานทั้งสี่ด้านในสมัยหลวงโยนการวิจิตร  เรือนธาตุชั้นที่ ๕ เป็นส่วนปลียอดประดับฉัตรยอดเจดีย์  บริเวณมุมเรือนธาตุทุกชั้นประดับสถูปจำลองยอดฉัตร  ที่มุมฐานเขียงประดับสิงห์ (สิงห์ประจำมุม)  จากการขุดค้นทำให้ทราบว่าบริเวณลานประทักษิณและกำแพงแก้วมีการก่อสร้างทับซ้อนกัน ๗ ครั้ง ซึ่งการก่อสร้างครั้งที่ ๖ เป็นการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ในสมัยหลวงโยนการวิจิตร (พระยาตะก่า)พระพุทธรูปภายในซุ้มจระนำ ซ่อมแซมสมัยหลวงโยนการวิจิตรพระพุทธรูปภายในซุ้มจระนำที่เหลือเพียงองค์เดียวที่มีเค้าพระพักตร์เช่นเดียวกับพระพุทธรูปในซุ้มจระนำเจดีย์กู่กุด จ.ลำพูนจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน ประกอบกับหลักฐานทางเอกสาร ได้แก่ ตำนาน พงศาวดาร และจารึก ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมมอญหริภุญชัย เมื่อพญามังรายตีเมืองลำพูนได้สำเร็จ พระองค์ได้สร้างเวียงกุมกาม และรับอิทธิพลวัฒนธรรมมาด้วย อันได้แก่ ศาสนา  อักษรศาสตร์ ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม โดยรูปทรงและลักษณะของเจดีย์เหลี่ยมเป็นการถ่ายแบบมาจากเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน และจากการขุดค้นได้พบโบราณวัตถุ เช่น เศษภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย เครื่องถ้วยจีน ภาชนะดินเผาจากเตาสันกำแพง เตาศรีสัชนาลัย ตะปูจีน กระเบื้องมุงหลังคา สำหรับชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมเช่น  ปูนปั้นลวดลายช่อกนก ชิ้นส่วนพระพักตร์พระพุทธรูปปูนปั้น และพระพุทธรูปในซุ้มจรนำของเรือนธาตุชั้นที่ ๑ ด้านตะวันออกของเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งเหลืออยู่เพียงองค์เดียวที่มีเค้าพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำของเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี  อาจกล่าวได้ว่าเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) ได้รับต้นแบบจากเจดีย์กู่กุดทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมมอญจากหริภุญชัยมาพร้อมกันสิงห์ประจำมุมเจดีย์ (ระหว่างการบูรณะ ปี พ.ศ.๒๕๓๙)ปัจจุบันศิลปะดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างเจดีย์ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องด้วยมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยหลวงโยนการวิจิตร มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปะ เช่นลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มจระนำ พระพุทธรูป การประดับฉัตร การสร้างสิงห์ประจำมุมและซุ้มพระประจำทิศ  เนื่องจากหลวงโยนการวิจิตรท่านเป็นชาวมอญรูปแบบทางศิลปกรรมในการปฏิสังขรณ์จึงเป็นแบบมอญด้วย   แต่ที่ผ่านมานักวิชาการมักใช้ว่าศิลปะพม่า ซึ่งแท้จริงแล้วด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของพม่าเองนั้นได้รับการถ่ายทอดจากมอญอีกต่อหนึ่ง  ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้เคยอธิบายไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า  ในการศึกษาวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นมิใคร่จะมีนักวิชาการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญกับศิลปะมอญเท่าที่ควร  ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดแบบรัฐชาติมีอิทธิพลต่อการกำหนดแบบอย่างของศิลปกรรม เช่น ศิลปะพม่า ศิลปะชวา (อินโดนีเซีย)  ศิลปะขอม (กัมพูชา) รวมทั้งศิลปะจีนและอินเดียด้วย  ราวกับว่าศิลปะใดๆก็ตามต้องอิงกับความเป็นรัฐชาติ ซึ่งมอญไม่มีประเทศหรือไม่มีความเป็นรัฐชาติคำว่า “ศิลปะมอญ”   มักจะถูกนำไปผนวกรวมกับศิลปะพม่าเสมอ  ดังนั้นศิลปะมอญกับศิลปะพม่าคือแบบอย่างเดียวกันตามการรับรู้ของคนทั่วไป ในประเด็นนี้สำคัญอยู่ที่ว่าจะเลือกมองจากมุมไหนเท่านั้นเอง พระยาตะก่าคหบดีชาวมอญผู้ปฏิสังขรณ์เจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) หลวงโยนการวิจิตร (มองปันโหย่ อุปโยคิน) หรือ พระยาตะก่า  (๑๑)  เดินทางเข้ามาเมืองเชียงใหม่เมื่ออายุ ๓๐ ปี ประกอบอาชีพครั้งแรกเป็น “หมอนวด” อยู่ในคุ้มของเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เป็นที่โปรดปราน เพราะเป็นคนดีมีความประพฤติเรียบร้อย ขยันขันแข็ง และมีลักษณะดี จึงทำให้เจ้าอินทวิไชยยานนท์ และเจ้าหญิงอุบลวรรณสนับสนุนให้ทำสัมปทานป่าไม้ โดยบริษัทบอมเบย์ ที่มารับสัมปทานผูกขาดทำอยู่ในป่าแม่แจ่ม หลังจากหมดสัญญากับบริษัทบอมเบย์ แล้วจึงมารับทำงานป่าไม้ของเจ้าอินทวิไชยยานนท์ที่อำเภอแม่สะเรียง จากนั้นจึงมารับช่วงสัมปทานป่าไม้จากบริษัทบอเนียวทำป่าไม้ในเขตท้องที่อำเภอฝาง กิจการเจริญรุ่งเรืองจากความสามารถของตนเอง และแรงสนับสนุนจากเจ้านทวิไชยยานนท์ และพระธิดา จนมีช้างทำงานถึง ๓๐๐ เชือก ซึ่งถือว่าผู้ที่มีความสามารถและมีกำลังทรัพย์เท่านั้นถึงจะมีได้ กิจการขยายตัวออกไปอีกมาก คือการ ขอสัมปทานป่าของเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เจ้านครลำปาง และได้สัมปทานป่าแม่ต้าน เขตเมืองลอง (จังหวัดแพร่ปัจจุบัน) ชื่อเสียงของหลวงโยนการวิจิตร จึงแพร่หลายไปทั่วภาคเหนือไม่เพียงแต่เศรษฐีป่าไม้ด้วยกันเท่านั้น แต่ก็รู้จักกันทั่วไปทั้งหมู่บ้าน ข้าราชการใหญ่น้อย ประชาชนชาวเมือง ตลอดถึงชาวป่าชาวเขา ลูกจ้าง คนงานป่าไม้ทั่วไปด้วย หลวงโยนการวิจิตรยังเป็นที่นับถือในหมู่ชาวมอญ พม่า เงี้ยว ฯลฯ ที่อยู่ในบังคับกงสุลอังกฤษ เห็นได้จากในเวลาต่อมามิสเตอร์แบร๊กเกต (บิดาของ ยอห์น แบร๊กเกต นายช่างผู้เชี่ยวชาญทางเครื่องยนต์ดีเซล) กงสุลใหญ่อังกฤษสมัยนั้น  เสนอให้หลวงโยนการวิจิตร มีตำแหน่งเฮดแมนหรือผู้แทนชุมชนชาวพม่าในเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานขันน้ำพานรองทองคำเป็นเกียรติยศ เมื่อเริ่มมีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้น หลวงโยนการวิจิตร จึงทำกุศลโดยบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆและสร้างสาธารณูปโภคเป็นทาน และให้การสนับสนุนทางราชการ โดยเฉพาะเมื่อคราวเกิดจลาจล พวกเงี้ยวที่เมืองแพร่ (พ.ศ.๒๔๕๔)  ได้ช่วยเหลือทางการเงิน และให้ช้างเป็นพาหนะขนส่งเครื่องยุทโธปกรณ์ของราชการอย่างเต็มกำลัง  เมื่อเสร็จสิ้นจากการปราบปรามกบฏเงี้ยว พระยาสุรสีห์ ข้าหลวงมณฑลพายัพ จึงกราบบังคมทูลความดีความชอบต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงแต่งตั้งเป็นหลวงโยนการวิจิตร รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ต่อมาอีก ๓ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๕๓ ก็ได้รับพระราชทาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกเป็นเกียรติยศ หลวงโยนการวิจิตรมีภรรยา ๓ คน คือ คุณแม่แก้ว คุณแม่จิ้น และคุณแม่หน้อย มีบุตรธิดาจากภรรยาทั้ง ๓ คน ทั้งหมด ๑๔ คน และได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “อุปโยคิน” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙   หลวงโยนการวิจิตรถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่ออายุ ๘๔ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ หลังจากได้เฝ้าถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือไม่กี่วัน และนอกจากวัดเจดีย์เหลี่ยม(กู่คำ)แล้ว หลวงโยนการวิจิตรได้สร้างบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายวัดในเชียงใหม่ เช่น วัดชัยมงคล วัดแสนฝาง และวัดอุปคุต (พม่า) เป็นต้นรายการอ้างอิง(๑) รณนี เลิศเลื่อมใส , ฟ้า-ขวัญ-เมือง จักรวาลทัศน์ดั้งเดิมของไท : ศึกษาจากคัมภีร์โบราณไทอาหม.โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไทย, ม.ป.พ.๒๕๔๑, หน้า ๒๐๔ อ้างถึงใน คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ , วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ ,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔ หน้า ๒๗-๒๘.(๒) สงวน โชติสุรัตน์ , ตำนานสุวรรณคำแดง ในประชุมตำนานล้านนาไทย เล่มที่ ๑ , กรุงเทพฯ : ป.พิศนาคะ, ๒๕๑๕ หน้า ๑๔๘.อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๘.(๓)วินัย พงษ์ศรีเพียร, (บรรณาธิการ) , ปาไป่สีฟู ปาเตี้ยน, กรุงเทพฯ: รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๕๓๙.หน้า ๓๕. อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๘. (๔)พระยาปริยัติธรรมธาดา (แปล) , จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย.เชียงใหม่ : นครพิงค์การพิมพ์,๒๕๓๐ หน้า ๓. อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๙. (๕)พระยาประกิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ,พงสาวดารโยนก,กรุงเทพ,๒๕๑๕,หน้า ๒๙๘. อ้างถึงใน กรมศิลปากร, เวียงกุมกาม, (รายงานการขุดแต่งศึกษาและบูรณะโบราณสถาน หน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่ กองโบราณคดี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒)  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์,๒๕๓๔,หน้า ๒๓. (๖)“ เวียงกุมกาม : ราชธานีเริ่มแรกของล้านนา”   http:// dvthai5.tripod.com/old-town2.htm   วันที่  ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑ และ” แว่นแค้นแห่งลุ่มน้ำแม่ระมิงค์” http://www.thai-tour.com/thai-tour/North/Chiangmai/data/pic_vieng-kumkam.htm วันที่ ๒๕ มีนาคม  ๒๕๕๑. (๗) กรมศิลปากร, โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม, กรุงเทพฯ: ถาวรกิจกรพิมพ์,๒๕๔๘ หน้า ๕๐- ๑๐๕. (๘)ฮัน เพนธ์ ,จารึกวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เชียงใหม่.นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๓  (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๓๒) หน้า ๔๑-๔๘. และดูเพิ่มเติมใน ก่องแก้ว วีระประจักษ์,ศิลาจารึกพบใหม่ที่เจดีย์เหลี่ยม และการศึกษาวิเคราะห์จารึกเวียงกุมกาม ใน กรมศิลปากร,  โบราณคดีล้านนา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์,๒๕๔๐ หน้า ๒๗๑-๒๙๓ (๙)เวียงกุมกาม : ราชธานีเริ่มแรกของล้านนา”   http:// dvthai5.tripod.com/old-town2.htm   วันที่  ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑ (๑๐) สุกัญญา เบาเนิด, “เจดีย์เหลี่ยมนอกเวียงกุมกาม” นิตยสารศิลปากรฉบับที่ ๔๑ ฉบับที่ ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๔๑) หน้า ๗-๒๑. (๑๑) กรมศิลปากร , โบราณคดีล้านนา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, ๒๕๔๐ หน้า ๑๗๘-๑๗๙. ขอขอบคุณคุณวัชรี ชมพู ภัณฑารักษ์ ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ที่อนุเคราะห์ข้อมูล และภาพถ่ายจารึกวัดกานโถม(ช้างค้ำ) เวียงกุมกามคุณชินณวุฒิ วิลยาลัย  นักโบราณคดี ที่แนะนำและให้ความเห็นเกี่ยวกับโบราณคดีประวัติศาสตร์ล้านนา
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ ความเบิกบานของผู้อื่นก็คือความเบิกบานของเธอด้วยเช่นกัน ว่าเมื่อเธอปฏิเสธส่วนใดส่วนหนึ่งของมัน ถือว่าเธอกำลังปฏิเสธส่วนนั้นของตัวเอง...” (หน้า 313-314) ปัญหาสุดท้ายและยากเย็นที่สุดก่อนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสู่โลกอารยะ นั่นคือการทำให้มนุษย์มองเห็นและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายในตัวเอง กระบวนการวิวัฒน์ทางจิตวิญญาณ จะดำเนินไปตามลำดับขั้น โดยขึ้นอยู่กับพลังศรัทธาเป็นสำคัญ ขณะที่สังคมโดยรวมดูเหมือนว่า ความเจริญแห่งวิญญาณจะวิ่งสวนทางกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยี การหยัดยืนในกระแสอันเชี่ยวกรากให้ได้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในความเป็นปุถุชน แม้ว่าลึกๆ จะฝันใฝ่ถึงสิ่งที่สูงส่ง ถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ ถึงสังคมที่ดีกว่านี้ ทว่าน้อยคนเหลือเกินจะกล้าเชื่อว่า เราสามารถทำให้มันเป็นจริงได้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง ก่อนจะแผ่ขยายไปสู่สังคม ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในระดับของการดำรงชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากเราไม่อาจยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น เราอาจถูกกระแสสังคมดึงให้ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เมื่อเหลียวมองรอบข้าง ไม่เห็นสิ่งที่เรียกว่าความรัก ความงาม หรือความดี ความมืดบอดในใจอาจทำให้เราคิดว่านั่นเป็นธรรมดาของโลก ใครๆ ก็ต้องเอาตัวรอด แล้วเหตุใดเล่าเราจะไม่เอาตัวรอดเช่นเดียวกับผู้อื่น ด้วยความคิดที่หดตัวเช่นนี้ จึงทำให้สำนึกโดยรวมของคนทั้งโลกตกต่ำลง สังคมส่งผลต่อปัจเจก แต่ปัจเจกก็ย่อมส่งผลต่อสังคมได้เช่นกัน ในอดีต สังคมโลกโดยรวมแม้จะยังมีความโหดร้ายป่าเถื่อนไม่ต่างจากปัจจุบันนัก ทว่า น้ำใจไมตรีและการมีชีวิตที่กลมกลืนกับโลกธรรมชาติมีมากกว่าปัจจุบัน ยุคสมัยแห่งทุนที่ชี้นำให้มนุษย์สะสมความโลภ ทำให้สังคมโลกเพิ่มแรงพุ่งทะยานไปข้างหน้าฉุดดึงมนุษย์ให้ออกห่างจากความเชื่อเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่ง จิตใจที่หดแคบลงจนเหลือเพียงตัวเรา ของเรา ส่งผลต่อจิตสำนึกหมู่กลายเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบทั้งหน่วยเล็กหน่วยใหญ่ ทั้งยังมีแนวโน้มจะเสื่อมถอยลงยิ่งกว่าเดิม การหยุดยั้งหายนะของโลกซึ่งหมายถึงหายนะของตัวเราเองด้วย จึงมีอยู่เพียงวิธีเดียวนั่นคือการพยายามมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่ง การดำรงตนอยู่ด้วยภาวะแห่งการเกื้อกูลมิใช่เบียดเบียน มิใช่แยกตัวออกห่าง นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “การเคลื่อยย้ายกระบวนทัศน์” ที่ท้าทายมนุษยชาติมากที่สุด ไม่ใช่การอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กับทำลายโดยอ้างว่ายั่งยืน ไม่ใช่การค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ ไม่ใช่การค้นหาความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตที่ดาวอังคาร ยิ่งไม่ใช่การหาทางรอดเพียงลำพังโดยไม่มองถึงสังคมโดยรวม ฟังดูเหมือนเป็นสิ่งเลื่อนลอย เป็นอุดมคติชั่วกัลปาวสานที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่หากนี่ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ต้องการแล้ว ยังจะมีสิ่งอื่นใดอีก ? ศานติ และความเบิกบานแห่งชีวิต ยังเป็นสิ่งที่น้อยเกินไปอีกหรือ ? และแท้จริงแล้ว ความบริบูรณ์นี้ยังจะแสวงหาได้จากที่ใดอีกหากไม่ใช่ภายในตัวมนุษย์เอง คำตอบสุดท้ายของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะสรุปด้วยคำว่า “ความรัก” หรือ “ศรัทธา” แต่นี่ก็คือความรู้สึกสูงสุดและพลังงานมากมายมหาศาลที่สุด ที่มนุษย์มี แต่เห็นคุณค่าของมันน้อยเหลือเกิน การอ่านสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 แม้ประเด็นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสังคม แต่ในที่สุดแล้ว ทุกคำถามก็ทำให้ผู้อ่านต้องย้อนกลับมามองถึงคุณค่าภายในตัวเอง ความคิดสูงสุดที่แต่ละคนมีต่อตัวเอง เพราะนี่คือสิ่งที่จะกำหนดคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในสังคม หากเราไม่ตระหนักถึงสิ่งนี้ เราย่อมไม่อาจมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ได้เลย สังคมก็จะดำเนินไปด้วยอำนาจของคนไม่กี่คน ที่ “กี๊ก” มันไว้ ไม่ยอมแบ่งให้คนอื่น นานมาแล้ว ที่ผมมักจะใช้คำแก้ตัวดาดๆ ที่ว่า “รอให้เราพร้อมเสียก่อน ค่อยช่วยคนอื่น” เพราะผมคิดว่าตนเองยังไม่ดีพอ ยังไม่พร้อมที่จะช่วยใครได้ เมื่อกลับมาคิดดูในตอนนี้ คำแก้ตัวดาดๆ นี้เป็นจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะ แม้ว่าผมจะยังไม่พร้อม แต่หากผมเห็นแก่ตัวน้อยลง ผมก็สามารถช่วยคนอื่นได้มากขึ้น แท้จริงแล้วทุกคนล้วนมีคุณค่า และสังคมก็คือภาพสะท้อนของคุณค่าที่แต่ละคนมอบให้ตนเอง คุณลงมือปลูกต้นไม้ สักวันมันก็ให้ร่มเงากับคุณ คุณลงมือก่อกองไฟ สักวันมันก็แผดเผาคุณ “ศรัทธา” ที่คุณมีให้แก่ตัวคุณเองนั้น มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คุณคิด ******************************* ** ขอขอบคุณ คุณอัฐพงศ์ เพลินพฤกษา สำหรับหนังสือสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 และความปรารถนาดี เสมอมา
Carousal
คุณคะ คุณกำลังมีความทุกข์อยู่หรือเปล่าคะ? ถ้าคุณกำลังอยู่ในภาวะที่ตึงเครียด ท้อถอย วิตกกังวล ไม่มั่นใจ ไม่ว่าจะกับสิ่งที่คุณได้เลือกไปแล้วในอดีต หรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คุณต้อนรับตอนเช้าด้วยความรู้สึกที่หนักอึ้งจนไม่อยากลืมตาตื่น และใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดหวั่นต่อเนื่องวันแล้ววันเล่า คุณอยากพูดคุยกับใครสักคน แต่เมื่อมองดูรอบข้างแล้ว คุณกลับไม่เห็นใครเลยที่เหมาะสมจะเป็นที่ปรึกษาพูดคุยปรับทุกข์ ในเวลาอย่างนี้ ที่เมืองในหมอกแห่งหนึ่งที่ชื่อเมืองนาซุมิ จะมีธรรมเนียมโบราณที่เรียกว่า การขอ ‘คำทำนายตรงหัวมุม’ อยู่ค่ะ การขอคำทำนายตรงหัวมุม ต้องทำในวันที่หมอกลงจัดจนเกือบมองไม่เห็นหน้าคนที่เดินร่วมทาง ออกไปยืนอยู่ที่มุมตึกสักแห่งที่ไม่มีคนพลุกพล่าน แล้วขอให้คนแรกที่เดินผ่านมาช่วยทำนายอนาคตของเรื่องที่คุณกำลังกังวลใจอยู่ให้ ไม่มีข้อจำกัดสำหรับหัวข้อเรื่อง จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ การงาน การเรียน หรือความรัก คุณอาจจะบอกรายละเอียดของเรื่อง หรือขอให้ผู้ทำนายบอกเพียงจะร้ายหรือดีเท่านั้นก็ได้เช่นกัน เงื่อนไขมีอยู่แค่ว่า ทันทีที่คุณขอให้คนอื่นทำนายอนาคตให้กับคุณ โชคชะตาของคุณก็ถูกฝากไว้ในมือของเขาแล้ว และแน่นอน ไม่แน่เสมอไปว่าคำทำนายที่คุณได้รับจากคนแปลกหน้า จะเป็นคำทำนายที่คุณอยากฟัง   นั่ั่นคือจุดเริ่มต้นของการ์ตูนเรื่อง ‘รักที่ทรมานของคนตาย’ หรือ ‘ชายหนุ่มที่สี่แยก’ ผลงานที่น่าประทับใจอีกเรื่องหนึ่งของ Junji Ito นักเขียนการ์ตูนสยองขวัญชื่อดัง เจ้าของซีรีส์ คลังสยองขวัญลงหลุม ที่จัดจำหน่ายในรูปแบบภาษาไทยโดย Ant Comics Group. เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อสิบปีก่อน ในวันที่หมอกกำลังลงจัด ฟุคาตะ ริวสุเกะ เด็กชายวัยหกขวบ ได้วิ่งออกจากบ้านด้วยความโกรธเต็มพิกัด เขาเพิ่งจะได้รับข่าวร้ายว่าพ่อของเขาต้องย้ายไปทำงานต่างเมือง และตัวเขาเองก็ต้องย้ายโรงเรียนตามพ่อไปด้วยเช่นกัน ด้วยอารมณ์ของเด็กชายตัวเล็ก ๆ ที่ไม่อยากลาออกจากโรงเรียน ไม่อยากจากเพื่อนสนิท เขาจึงทะเลาะกับแม่อย่างรุนแรง และออกวิ่งลัดเลาะไปตามถนนในสายหมอกอย่างไร้จุดหมายเพื่อให้คลายความโกรธ ก่อนจะถูกหยุดไว้โดยผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมายืนอยู่ข้างซอกตึกเพื่อขอรับคำทำนายตรงหัวมุม ริวสุเกะคือคนแรกที่ผ่านมาตามทางนั้น เขาคือผู้ทำนายที่โชคชะตาบันดาลให้เธอได้พบ ด้วยความเสียไม่ได้ ริวสุเกะหยุดฟังเรื่องราวของหญิงสาวและความทุกข์ใจของเธอ เธอตกหลุมรักคนมีเจ้าของและตอนนี้ก็กำลังอุ้มท้องลูกของเขา หญิงสาวตัดสินใจไม่ถูกว่าเธอควรทำอย่างไร สุดท้ายจึงมาขอรับคำทำนายตรงหัวมุม ว่าความรักของเธอจะสมหวังหรือไม่ แน่นอน เด็กชายวัยหกขวบผู้กำลังหัวเสียสุดขีดย่อมไม่อยู่ในอารมณ์จะเห็นอกเห็นใจใคร เขาตะโกนใส่หน้าเธอไปว่าไม่มีทางหรอกเรื่องอย่างนั้นน่ะ ก่อนจะผละจากมา แล้ววันรุ่งขึ้น เขาก็พบว่าเธอเชือดคอตัวเองตายอยู่ตรงหัวมุมที่เขาได้พบกับเธอนั่นเอง สิบปีหลังจากเหตุการณ์สยองขวัญที่ยากจะลืมเลือนในครั้งนั้น ริวสุเกะได้ย้ายกลับมาที่เมืองนั้นอีกครั้งหนึ่ง เขาได้พบว่า ธรรมเนียมการขอคำทำนายตรงหัวมุม ไม่เพียงแต่จะยังไม่หายไป มันกลับเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นทุกที ฝันร้ายอันเกิดจากความสำนึกบาปที่ตัวเองเป็นต้นเหตุให้ผู้หญิงที่เคยให้คำทำนายฆ่าตัวตายกลับมารุมเร้าริวสุเกะอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รู้ความจริงว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นน้าของเพื่อนหญิงที่เขาสนิทสนมด้วย และเธอผู้ไม่รู้ความจริงว่าใครเป็นคนทำ ก็ยังเจ็บปวดกับความสูญเสียในครั้งนั้นอยู่จนทุกวันนี้ ด้วยเจตนาที่จะไถ่บาปของตน ริวสุเกะพยายามออกไปเดินในเมืองทุกครั้งที่หมอกลงจัด และเมื่อพบผู้ที่มาขอคำทำนายตรงหัวมุม เขาก็จะให้คำแนะนำอย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องจากชีวิตไม่ได้ง่าย และคนเราก็มีหลายประเภท ทำให้ริวสุเกะมีอันต้องพบกับหญิงสาววิปลาศ ที่เมื่อพบคนที่ยินยอมฟังเธอ ก็ติดหนึบแกะไม่หลุด ประกอบกับการปรากฏตัวของ ‘ชายหนุ่มที่สี่แยก’ ชายหนุ่มปริศนาที่กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความพยายามของริวสุเกะ อันเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงขึ้น อ่านจบแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง เชื่อว่าทุกคนก็คงคิดเหมือนกัน ว่าแรกเริ่มเดิมที คำทำนายตรงหัวมุมก็คงจะเป็นเพียงกุศโลบายเพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลให้แก่กันและกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เนื่องจากคนเราทุกคนล้วนเคยมีช่วงเวลาที่อ่อนแอ และในชั่วขณะถูกรุมล้อมด้วยปัญหา แม้ว่าทางแก้จะอยู่ไกลออกไปแค่ปลายขนตากั้น ก็อาจจะมองไม่เห็นเอาเสียเฉย ๆ เพราะฉะนั้น การได้รับคำชี้แนะจากผู้ที่มองปัญหามาจากด้านนอก หรือได้รับกำลังใจแบบไม่มีเงื่อนไขจากใครสักคนก็สามารถช่วยให้คนที่กำลังทุกข์ร้อนสบายใจขึ้น มีความหวังที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่อไป แต่ถามว่า ถึงแม้ทุกคนจะรู้ แล้วทุกคนจะทำตามนั้นหรือเปล่า? คนเราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ตรงไปตรงมาตามทฤษฎี แถมยังมีนิสัยกบฎอยู่ในตัว จะมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล มีน้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะไม่เคยคิดว่า ‘ธุระไม่ใช่’ เมื่อสิ่งที่ทำนั้นส่งผลดีต่อผู้อื่นแต่ไม่ได้มีผลอะไรเลยกับตัวเอง ก็ทำไมเราจะต้องทำเพื่อคนอื่นด้วยล่ะ? แม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ต้องลงแรงหรือเสียเงินซื้อหาอย่างแค่การพูดจาอย่างมีไมตรีจิตต่อคนอื่น บางทีคนเราก็ยังเลือกที่จะไม่ทำ เพียงเพราะอีโก้ของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว คุณเคยทำแบบนั้นบ้างหรือเปล่าคะ? เหยียบย่ำทับถมหรือใช้วาจาเชือดเฉือนคนที่คุณไม่รู้จัก เพียงเพราะคุณไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เพราะคิดว่าเขาไม่ใช่คนที่ให้คุณให้โทษกับคุณได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำดีด้วย คุณอาจคิดว่าในกรณีของ ‘ชายหนุ่มที่สี่แยก’ นั้น หากจะถามหาคนผิดหรือคนที่ต้องรับผิดชอบกันนั้น ทุกคนในเรื่องก็คงจะเป็นคนผิดทั้งหมด ตั้งต้นไปตั้งแต่ผู้หญิงที่มาขอรับคำทำนาย ที่นอกจากจะมีรักที่ผิดศีลธรรมแล้ว ยังอ่อนแอพอที่จะเชื่อคำทำนายพล่อย ๆ ที่ออกมาจากปากเด็กอายุหกขวบจนฆ่าตัวตาย, ริวสุเกะที่เป็นคนให้คำทำนายโดยไม่คิด, ชายหนุ่มที่สี่แยกที่เอาความแค้นไปลงกับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ รวมทั้งเด็กผู้หญิงทั้งหลายที่ตกเป็นเหยื่อของชายหนุ่มที่สี่แยกด้วยความหน้ามืดตามัว ฯลฯ แต่หากลองมองมุมกลับ ลองเอาตัวเองเข้าไปแทนที่คนเหล่านั้น คุณอาจต้องลังเลว่านั่นเป็นความผิดของเขาเหล่านั้นจริงหรือ สิ่งที่ผู้หญิงคนนั้นต้องการมีเพียงแค่คำพูดปลอบประโลม เธอเรียกร้องมากเกินไปหรือ? ตอนนั้นริวสุเกะกำลังโกรธ การที่เขาเลือกจะให้คำทำนายในเชิงลบ เป็นความผิดของเขาหรือ? การที่ชายหนุ่มที่สี่แยกแค้นเพราะโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับแม่ของเขา เป็นความใจแคบไม่รู้จักให้อภัยอย่างนั้นหรือ? การที่เด็กผู้หญิงจำนวนมากของเมืองนาซุมิถูกครอบงำจนเกิดโศกนาฏกรรมหมู่ ควรจะเป็นความรับผิดชอบของใครกันแน่? ผลสุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็เนื่องมาจากการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนแต่ละคน เมื่อมีเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์ต่อ ๆ ไปก็จะเกิดตามมาเรื่อย ๆ เหมือนสายน้ำหลาก หากสามารถหยุดยั้งขั้นหนึ่งขั้นใดได้ โศกนาฏกรรมที่ปรากฏในเรื่องนี้ก็คงไม่เกิด สิ่งเดียวที่หยุดยั้งโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ สิ่งเดียวกับที่ริวสุเกะเลือกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในตอนท้ายเรื่อง ก็คือสิ่งเดียวกับที่คำทำนายตรงหัวมุมคาดหวังให้คนเรามีให้กันตั้งแต่ต้น สิ่งนั้นคือกำลังใจและความปรารถนาดี คำพูดเป็นสิ่งที่มีพลัง ก่อนที่คุณจะอ้าปากพูดอะไรสักอย่าง หรือก่อนที่จะจรดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์คำตอบให้กับใครสักคนในอินเตอร์เนท โดยเฉพาะด้วยถ้อยคำที่บาดหู อย่าลืมคิดดูอีกทีก่อน เพราะเพียงประโยคเดียวของคุณนั้น อาจกำลังหมุนกงล้อแห่งโชคชะตาของใครสักคนอยู่โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง ยามเช้าแสงแรกแห่งวันยังไม่เยี่ยมกรายมาเยือน แต่สรรพชีวิตก็ถูกปลุกให้ตื่น หลังจากรถจอดสงบนิ่งแล้ว ผู้โดยสารทยอยลงจากรถ เสียงถามไถ่จากคนขับรถรับจ้างดังมาไม่ขาดสาย บางคนลงจากรถแล้วแต่จุดหมายปลายทางของเขายังอีกไกล แต่บางคนก็ได้กลับบ้านไปพักผ่อน เพราะเหนื่อยล้ากับการเดินทางมาทั้งคืน หากนับรวมผู้โดยสารที่ต้องเดินทางต่อไป ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น  ปลายทางของฉันอยู่ที่หมู่บ้านใกล้แม่น้ำมูน ว่ากันว่าหมู่บ้านแห่งนี้ไกลออกไปจนถึงเส้นขอบแดนประเทศ และปลายทางที่ฉันจะไป ที่นั่นเราจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในประเทศ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
1.ฉันปลูกต้นไม้วางปุ๋ยเคมีหวังหยั่งรากถึงกิ่งแก้ว2.เนิ่นนานมาแล้วที่จิตสำนึกผมสลายแตกดับพร้อมความดีงาม3.คุณอาจไม่เชื่อเรื่องพรหมลิขิตเมื่อสี่เหลี่ยมรูปหนึ่งตามหาแผ่นดินตาย4.เขาแบ่งปันสีน้ำเงินแก่ผู้ยากไร้หวังลอยสู่ก้อนเมฆ5.ความหวานในทุนนิยมโรยด้วยงาดำตาดำๆ6.ลิ้มรสอำนาจมาหลายสมัยไม่เคยรู้จักพอเพียง คืออะไร7.ผมห่มคลุมแผ่นดินด้วยเงิน บารมีด้วยความชอบธรรม8.ผมไตร่ตรองถึงความซื่อสัตย์และพบเพียงความว่างเปล่าที่ไร้อำนาจ ขอบคุณ ‘โซไรด้า’ น้องที่แสนดี 
Hit & Run
วิทยากร บุญเรืองคณะสุภาพบุรุษ (เสี่ยว)กระแสหนังสือ ‘ลับ ลวง พราง: ปฏิวัติปราสาททราย' ของ คุณวาสนา นาน่วม กำลังมาแรง และวันนี้เราลองมาคุยกันถึงเรื่องนี้หน่อย ผมได้ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ของลูกพี่ไปอ่าน ทีแรกไม่ได้ตั้งใจอ่านม้วนเดียวจบ แต่คุณวาสนา เขียนได้ดี เขียนได้ถูกต้อง (?) น่าติดตาม และสนุกไปกับกลวิธีการเขียน --- ผมอ่านจากหน้าไปหลัง หลังไปหน้า ดูสารบัญแล้วเปิดอ่าน แต่สรุปแล้วก็อ่านจบทุกบท เพราะมันคล้ายๆ หนังสือกอสซิปดาราถามว่าอ่านแล้วได้อะไรบ้าง? สิ่งที่สำคัญที่ผมได้ก็คือ รู้สึกว่ากลยุทธ์ของทหารไทย ไม่ได้หนีไปจากยุคสามก๊กเท่าไร และมันทำให้ได้รู้ว่า ชายชาติทหารก็คือปุถุชนคนธรรมดา ที่มีดีเลวศักดิ์ศรีและความตอแหลคละเคล้ากันไปข้อเสียของทหารคือ ความโง่ที่ไม่ทันเกมโลกาภิวัตน์ของโลก และยังยึดติดกับปรัชญาจิตนิยมมากเกินไป รวมถึงการดูถูกระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนซึ่งข้อเสียเหล่านี้เราพูดถึงกันมามากแล้ว ดังนั้นบทความชิ้นนี้อยากลองใช้มุมมองของตัวปัจเจกในระบบทหารว่ายังไงๆ เขาก็เป็นคนแบบเราๆ ท่านๆก่อนเข้าเรื่องในหนังสือ ผมจะขอแนะนำเพื่อนของผมคือไอ้อ๋อ ที่จับพลัดจับผลูต้องไปรับใช้ชาติ เป็นทหารเกณฑ์ ไอ้เณรหัวเกรียน โดยขอนำเรื่องความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่มันเป็นไอ้เณรมาเล่าให้ฟังก่อนในด้านกายภาพ จากน้ำหนักตัวเกือบแปดสิบกิโล แต่โดนรีดไปเหลือเพียงห้าสิบกว่าๆ เพราะดันไปโดนทฤษฎี ‘ร่างกายใต้บงการ' ในค่ายฝึกหฤโหด ทำให้น้ำหนักมันลดฮวบ รวมถึงสีผิวที่คล้ำลงมาก จนหลายคนใจหายนึกว่าภูมิคุ้มกันของมันบกพร่องไปเสียแล้วส่วนด้านพฤติกรรม ก่อนหน้านี้ไอ้เณรอ๋อ เป็นคนที่เกลียดการเป็นทหารมากที่สุด และบังเอิญซวยมากๆ ที่ต้องได้ไปรับใช้ชาติด้วยความไม่สมัครใจ ความเปลี่ยนแปลงของมันหลังจากเป็นทหารที่ผมเห็นได้ชัด ก็คือมันขี้เบ่งขึ้น และตอแหลมากขึ้น (จากเดิมก็เป็นคนตอแหลมากอยู่แล้ว)ตอนไปกินเหล้าด้วยกัน (ช่วงที่เขาปล่อยให้ทหารเกณฑ์กลับบ้านได้) มันเริ่มกร่าง หลังจากที่เป็นคนไม่สู้คน --- เริ่มโวยวาย เอะอะ และหาเรื่องคนอื่นมากขึ้น แต่ขอโทษ! ต้องแต่งชุดให้ชาวบ้านรู้ว่ามันเป็นทหารก่อนนะครับ! (ถึงแม้จะโดนเกณฑ์ไปเป็นก็ตาม)รวมถึงความตอแหลที่มีมากขึ้น รู้ว่าใครควรขู่ ใครไม่ควรขู่ และยังมีพฤติกรรม ‘ลับ ลวง พราง' --- ต้องไปเที่ยวสถานบันเทิงในที่ลับตาสารวัตรทหาร, ลวงสาวๆ ร้านคาราโอเกะว่ามันไม่ใช่ทหารเกณฑ์ แต่เป็นระดับนายร้อย (แต่ให้ทิปแม่งน้อยชิบหาย), ใส่อุปกรณ์ลายพราง (เสื้อ กางเกง) ไว้เบ่งในที่สาธารณะ โชว์เหล่าธารกำนัล ว่ากูนี่คนมีสีนะ! ลับ ลวง พราง ของไอ้เณรอ๋อ จึงมีความหมายที่ว่า ตอแหลให้มากๆ และเบ่งให้เยอะๆ ถึงจะใช้ชีวิตทหารเกณฑ์ได้คุ้มค่า!วกกลับไปคุยเรื่องหนังสือเล่มนี้ ทั้งๆ ที่มันเพิ่งออกไม่ถึงเดือน แต่มันกลับเป็นปรากฏการณ์ที่สะเทือนวงการทหารพอสมควร และเชื่อว่าคุณวาสนาอาจจะเสียแหล่งข่าวไปบ้าง นายทหารในคณะ คมช.บางคนถึงกับประกาศว่า จะไม่แตะหนังสือเล่มนี้...แต่ขอโทษ...คงอ่านไปแล้วล่ะ หรือคงให้คนอื่นเปิดอ่านให้มั้ง :-)คุณวาสนาได้นำเหตุการณ์ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงความล่มสลาย หลังฝ่ายการเมืองกลับมาชนะได้ภายหลัง โดยได้ประมวล ความคิด คำพูด การกระทำ ของเหล่านายทหารผู้ก่อการทั้งหลาย จากที่ดูกำลังจะเป็นฮีโร่ (ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมบ้าจริยธรรม) จนกลายมาเป็นคนไร้ราคาได้อย่างไรคุณวาสนาได้ทำให้เราเห็นภาพลางๆ ว่า ในการรัฐประหารที่ผ่านมา ใครเต็มใจ ไม่เต็มใจบ้าง ในการก่อการ ซึ่ง เสธ.แดง นักรบคนดังเคยวิเคราะห์ว่าคณะ คมช.นั้น อยู่ฝ่ายทักษิณ 4 โง่ 1 เป็นกลาง 1 (ซึ่งหลายคนก็คงรู้ๆ กันอยู่แล้ว) และทำไมค่ำคืนนั้นไม่มีการปะทะกันระหว่างทหารสองฝ่าย กลัวประชาชนสูญเสีย หรือทหารกลัวตายกันแน่?ที่สำคัญมันได้ตอกย้ำอีกครั้งว่า ทหารที่ถึงแม้จะเป็นความเป็นสถาบันที่เข้มแข็งที่สุดของสังคมไทย แต่ภายในกรอบสถาบันนั้น ถึงที่สุดแล้วเรื่องปัจเจกและผลประโยชน์พวกพ้องคือเรื่องสำคัญที่สุด เหมือนกับสถาบันอื่นๆ ในสังคมแหละ!และมันได้เป็นบทเรียนของกลุ่มคนใดก็ตามว่า ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงสังคม ความเป็นสถาบันที่มีอุดมการณ์จริงๆ มันจะต้องถูกสร้างมาก่อนที่จะก่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงต้องลบการชูประเด็นฮีโร่ขายปัจเจกออกไป ถ้าไม่อยากล้มเหลวไม่เป็นท่าแบบนี้คนระดับนายพล ไม่ได้แตกต่างจากไอ้เณรอ๋อเพื่อนผม..ทุกคนมีชีวิตที่ดิ้นรนต่อสู้กันไปวันต่อวัน ตอแหลและใช้อำนาจในเครื่องแบบดิ้นรนกันไปวันต่อวันและนี่คือหนังสือที่โปรโมทคนในกองทัพได้น่ารักแสบคัน เล่มหนึ่ง(โปรดไปหามาอ่านเพื่อลงลึกในรายละเอียดกันเอง ขี้เกียจเล่าเนื้อหา) 
Cinemania
   ::: ข้อความหลังเส้นประของข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ::: โดย...ณภัค เสรีรักษ์ภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชื่อดัง ‘หว่องการ์ไว' (Wong Kar Wai) ที่เพิ่งเข้าฉายให้ผู้ชมในดินแดนประเทศไทยได้ชมกันตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่เพิ่งจะผ่านมา (2008) ที่มีชื่อว่า My Blueberry Nights นั้น อาจมีประเด็นต่างๆ นานาให้สามารถสร้างบทสนทนากันได้มากมายและยาวนาน แต่สำหรับในที่นี้นั้น ผมอยากจะ ‘หยิบเลือก' เพียงบางประเด็นมา ‘อ่าน' หรืออีกนัยหนึ่ง ‘สนทนา' เกี่ยวกับ ‘ตัวละคร' ในภาพยนตร์ดังกล่าว ภายใต้ความคิดเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความทรงจำ' ซึ่งสะท้อนร่วมกับความคิดเกี่ยวกับ ‘เวลา'ในเบื้องต้น ผมคิดว่าเราๆ ท่านๆ ต่างก็มี ‘ความจำ/ความทรงจำ' ในฐานะที่เป็น ‘เรื่องราว/เรื่องเล่า' ในบางส่วนเสี้ยว หรือในบางแง่มุมของชีวิต ซึ่ง ‘เรื่องราว' ดังที่ว่านี้อาจมีสถานะเป็นทั้ง ‘แรงขับดัน' ให้กับชีวิต-ในการก้าวไปสู่ ‘อนาคต', อาจเป็น ‘โซ่ตรวน' หรือแม้กระทั่ง ‘กรงขัง' แห่งชีวิต-ให้ติดอยู่กับ ‘อดีต', หรือในบางครั้ง บางเรื่องราว, บางความทรงจำ ก็อาจไม่ได้เป็นทั้งพลังขับเคลื่อนและ/หรือพลังฉุดรั้งใดๆ ต่อชีวิตเลยสำหรับความคิดเรื่อง ‘ความทรงจำ' นั้น เราๆ ท่านๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่ถูก ‘หยิบเลือก' และรวมไปถึงการ ‘ตัดทอน' จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ต่างพบเจอในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต เป็นเรื่องของ ‘การเลือก' ที่จะ ‘จดจำ' หรือ ‘ลืมเลือน' บางสิ่งบางอย่าง, บางเหตุการณ์, และแม้กระทั่งคนบางคน ให้ ‘อยู่' หรือ ‘ไม่อยู่' ในชีวิต หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้น, อยู่หรือไม่อยู่ในความทรงจำ ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า การหยิบเลือกหรือตัดทอนที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นภายใต้ ‘การให้ความหมาย' หรือ ‘คุณค่า'----------นี่คือเส้นประที่ว่า----------ภาพยนตร์เรื่องนี้มีใจกลางอยู่ที่ ‘การเดินทาง' ของ Elizabeth (Norah Jones) ซึ่งเริ่มต้นหลังจากเธอผิดหวังในความรัก-แฟนของเธอไปมีคนอื่น, การเดินทางอันแสนไกลเพื่อค้นหาตัวเองและพยายามจะนำพาชีวิตให้กลับเข้าร่องเข้ารอย ทำให้เธอได้พานพบพูดคุยกับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Jeremy (Jude Law) ชายหนุ่มเจ้าของร้านกาแฟ/ café ที่แฟน (เก่า) ของเธอมารับประทานอาหารกับแฟน (ใหม่) ของเขา ซึ่งทั้งคู่ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในที่สุด, Arnie (David Strathairn) ตำรวจจราจรซึ่งติดเหล้างอมแงมเพราะเจ็บช้ำเรื่องความรักจาก Sue Lynne (Rachel Weisz) อดีตภรรยาสาวสวยของเขา และ Leslie (Natalie Portman) สาวนักพนันใจเด็ดผู้สร้างข้อเสนอสุดพิเศษให้กับเธอ, ซึ่งแน่นอนว่าผู้คน ‘แปลกหน้า' เหล่านั้น, ที่ก็อาจเรียกได้อย่างไม่ขัดเขินว่าเป็น ‘เพื่อนร่วมทาง', ได้นำทางให้เธอค้นพบเส้นทางไปสู่ร่องรอยของชีวิตใหม่ภาพยนตร์เปิดด้วยฉากใน Café ของ Jeremy อันเป็นฉากที่เผยให้เราเห็นประเด็นเรื่อง ‘การเลือกจำ' เป็นครั้งแรก ผ่านบทสนทนาทางโทรศัพท์ของเขา และนี่คือประโยคที่ Jeremy พูดกับคู่สนทนาของเขา...            "No. I'm sorry, I don't know anyone by that name."            "No, listen, I get about a hundred customers a night. I can't keep track of all of them."            "Do you know... well, tell me what he likes to eat. ‘Cause I remember people by what they order, not by their names."จากข้อความที่ยกมานี้ คงเข้าใจได้ว่าในฐานะที่เป็นเจ้าของร้าน Jeremy ไม่จำเป็นต้องจดจำชื่อของลูกค้าทั้งหมด หรือแม้กระทั่งอาจไม่จำเป็นต้องจดจำชื่อลูกค้าคนใดได้เลย หากแต่ว่าจดจำแต่เพียงสิ่งที่พวกเขาสั่ง, สิ่งที่พวกเขากิน ก็คงเพียงพอแล้ว หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า สำหรับ Jeremy แล้ว ชื่อของผู้สั่งไม่ได้มีความหมาย แต่สิ่งที่มีความหมายนั้นอยู่ที่สิ่งที่ลูกค้าเหล่านั้นสั่งต่างหากแต่ตัวอย่างข้างต้นนี้อาจเป็นเพียงตัวอย่างของ ‘เรื่องราว' ที่ดูจะเรียบง่ายเป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ผมเห็นว่ายังมี ‘เรื่องราว' หรือ ‘เรื่องเล่า' บางอย่างที่มี ‘ความหมาย' นอกเหนือไปจากสิ่งปกติในชีวิตประจำวันแต่ก็อยู่กับเราในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องเล่าที่ผูกโยง ‘อดีต', ‘ปัจจุบัน' และ ‘อนาคต' ไว้กับ ‘สิ่ง' บางอย่าง, หรือ ‘วัตถุ' บางอย่าง ซึ่งในข้อเขียนชิ้นนี้จะพยายามอธิบายประเด็นดังกล่าวผ่านความเปลี่ยนแปลงของตัวละครสองตัวจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ Jeremy และ Elizabeth    ว่าด้วย.. Elizabethเช่นเดียวกับใครหลายๆ คนที่ฝาก ‘กุญแจ' ไว้กับ Jeremy เพื่อรอให้ใครอีกคนมารับกุญแจนั้นกลับไป Elizabeth นำกุญแจห้องที่เธอเคยอยู่ร่วมกับแฟนเก่าของเธอมาทิ้งไว้ เพื่อให้แฟนเก่าของเธอมาเก็บกลับไป, ‘กุญแจ' ซึ่งเป็นวัตถุแห่งความทรงจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็น ‘ความทรงจำร่วม' ของคนที่ไขกุญแจเพื่อเปิดประตูบานนั้นไปด้วยกัน, ‘กุญแจ' ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์, ‘กุญแจ' ที่เป็นสัญลักษณ์ของ ‘อดีต' ที่ฉุดรั้ง ‘ปัจจุบัน' และ ‘อนาคต' เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ในตอนแรก Elizabeth ไม่สามารถ ‘ทิ้ง' กุญแจ, หรืออีกนัยหนึ่ง ‘อดีต', ไปได้จริง เธอจึงกลับมาหา Jeremy เพื่อเอากุญแจพวงนั้นกลับไปเอง และก็เป็นช่วงเวลานี้เองที่ Jeremy และ Elizabeth ได้ร่วมสนทนากันและปลอบประโลมกัน ‘ความทรงจำร่วม' ชุดใหม่ของเธอก็ได้เกิดขึ้น, ความทรงจำที่เกิดขึ้นร่วมกับ Jeremy ที่ร้านของเขา, ความทรงจำที่มี ‘blueberry pie' เป็นวัตถุแห่งความทรงจำ, blueberry pie ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้แย่อะไร เพียงแต่ไม่มีคนเลือกเท่านั้นJeremy : At the end of every night the cheesecake and the apple pie are always completely gone. .......But there's always a whole blueberry pie left untouched.Elizabeth : So what's wrong with the blueberry pie?Jeremy : It's nothing wrong with the blueberry pie. Just people make other choices. You can't blame the blueberry pie. It's just no one wants it.(และในขณะที่ Jeremy กำลังจะทิ้ง blueberry pie ลงถังขยะ)Elizabeth : Wait! I want a piece.ในเวลาต่อมา Elizabeth ตัดสินใจ ‘เดินทาง' ออกจากสถานที่แห่งนั้น, กุญแจดอกเดิมนั้น, ประตูบานเดิมนั้น และแน่นอน เขาคนเดิมนั้น แต่ที่เธอทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะเธอสามารถ ‘ตัดขาด' จากอดีตที่เจ็บปวดได้ เธอเพียงแต่ต้องการจะหนีไปให้ไกลจากอดีตเพียงเท่านั้น และในระหว่างการเดินทาง ความทรงจำชุดใหม่ที่ว่าด้วย ‘blueberry pie' กำลังก่อร่างและก้าวเข้ามาแทนที่ความทรงจำชุดเดิม ปัจจุบันของเธอค่อยๆ สลัดหลุดจากความจำขังแห่งอดีตเพื่อก้าวไปสู่อนาคต ภายหลังจากการเดินทางอันยาวนานและยาวไกล ผ่านเรื่องราวและผู้คนมากมาย เธอก็สามารถนำพาปัจจุบันของเธอกลับมา ณ ที่แห่งเดิมที่เธอได้เดินทางจากไปก่อนหน้านี้ได้อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ สำหรับ Elizabeth มันไม่ใช่ที่เดิมที่มีอดีตอันเจ็บช้ำ ถึงแม้จะเป็นสถานที่แห่งเดิม แต่ก็เป็นสถานที่แห่งเดิมที่มีความทรงจำอีกชุดหนึ่ง, ประตูอีกบานหนึ่ง, ประตู Café ของ Jeremy และ blueberry pie ของเขา และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเธอไม่ต้องการกุญแจพวงนั้นอีกต่อไป (ประเด็นนี้จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ซึ่งในประเด็นดังที่ว่ามานี้ อาจสังเกตได้จากการเปรียบเทียบคำกล่าวในสองช่วงเวลาซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเธอ อันประกอบไปด้วย สิ่งที่เธอพูด/คิดกับตัวเองก่อนที่เธอจะเดินทาง"How do you say goodbye to someone you can't imagine living without? I didn't say goodbye. I didn't say anything. I just walked away. At the end of that night, I decided to take the longest way to cross the street."และหลังจากการเดินทางสิ้นสุด"It took me nearly a year to get here.It wasn't so hard to cross that street after all.It all depends on who's waiting for you on the other side."จากข้อความดังกล่าว ผมเห็นว่าเราสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงของ Elizabeth ผ่านเรื่อง ‘การข้ามถนน' (cross the street) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการข้ามถนนในทางกายภาพ แต่เราควรมองการข้ามถนนนี้ในความหมายที่หมายถึงการ ‘ก้าวข้าม' อดีต ซึ่งหมายความว่า ในท้ายที่สุด Elizabeth ก็สามารถข้ามผ่านอดีตอันเจ็บปวดชอกช้ำไปสู่ปัจจุบันและอนาคตที่น่าจะสดใสกว่า, กับสิ่งใหม่ๆได้สำเร็จ     ว่าด้วย.. Jeremyโหลแก้วใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยกุญแจซึ่งวางอยู่หลังเคาน์เตอร์ ใน Café ของ Jeremy นั้น ไม่เพียงบรรจุกุญแจจำนวนมากที่มีคนจำนวนเท่ากับจำนวนพวงของกุญแจมาฝากทิ้งไว้ แต่ยังบรรจุ ‘เรื่องราว/เรื่องเล่า' มากมายของกุญแจแต่ละดอกแต่ละพวงด้วย และหนึ่งในนั้นก็มี ‘กุญแจ' , ‘เรื่องราว', หรืออีกนัยหนึ่ง ‘อดีต', ของตัวเขาเองด้วยเช่นเดียวกับกุญแจของ Elizabeth และกุญแจของใครหลายๆ คนที่มาฝากไว้ที่ร้านของเขา พวงกุญแจของ Jeremy ก็เป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘ความทรงจำ' ระหว่างเขาและอดีตคนรักของเขา, Katya (Chan Marshall a.k.a. Cat Power), ผู้เดินไปจากเขาในค่ำคืนหนึ่ง มิเพียงเท่านั้น ในขณะเดียวกับการเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ มันยังเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การรอคอย' ด้วย ในความหมายที่ว่าวันใดวันหนึ่ง Katya คงเดินกลับมาและกุญแจดอกนั้นก็จะถูกนำไปใช้ไขเปิดประตูของทั้งคู่อีกครั้ง และด้วยความคิดเช่นว่า เขาจึงยังคงเก็บรักษากุญแจพวงนั้นไว้ รวมไปถึงเก็บกุญแจทุกพวงที่ทุกๆ คนนำมาฝากไว้ ถึงแม้แทบทั้งหมดจะไม่มีใครมาเอากลับไปเลยก็ตามไม่เพียงแต่การเก็บกุญแจ การที่เขายังคงไม่ย้ายไปไหนอาจมีความหมายถึง ‘การรอคอย' เช่นเดียวกัน ดังที่เขาพูดกับ Elizabeth ไว้ถึงเรื่องราวในวัยเด็กที่แม่ของเขาเคยบอกเขาไว้ว่า"She said if I ever got lost I just stay in one place so she'd find me."เขาจึงยังคงอยู่ที่ร้านเดิม, แต่แล้วในคืนใดคืนหนึ่ง การรอคอย Katya สิ้นสุดลง เธอเดินกลับมาทักทาย และบอกลา ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะยังคงเก็บกุญแจพวกนั้นอยู่ แต่ Jeremy, ซึ่งก็เติบโต/เปลี่ยนแปลงผ่านช่วงเวลาของการรอคอย, ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าเขาคงไม่ต้องการกุญแจพวงนั้นอีกต่อไป และคงไม่ต้องการจะเก็บกุญแจของใครๆ อีกต่อไปเช่นกัน เพราะเขาคงเข้าใจแล้วว่า แม้จะเก็บรักษา ‘กุญแจ'/ ‘อดีต'/ ‘ความทรงจำ' ไว้ดีเพียงไดก็ตาม แต่มันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอ และไม่สามารถตอบทุกคำตอบได้ เพราะบางทีแม้จะมีกุญแจก็ยังเปิดประตูไม่ได้ หรือบางทีเปิดออกมาแล้วแต่ก็ไม่มีใครที่เราเฝ้ารอคอยอยู่ที่ตรงนั้น ดังจะสังเกตได้จากบทสนทนาระหว่างคนสองคนที่ว่าKatya : You still have the keys?Jeremy : Yeah, I always remember what you said about never throwing them away, about never closing those doors forever. I remember.Katya : Sometimes, even if you have the keys those doors still can't be opened, can they?Jeremy : Even if the door is open the person you're looking for may not be there, Katya.แต่การรอคอยสำหรับ Jeremy ยังไม่สิ้นสุด เขากำลังรอคอย Elizabeth อยู่กับ ‘ความทรงจำ' ชุดใหม่ที่ร้านเดิมของเขา, ความทรงจำที่ถูกผูกติดไว้กับ blueberry pie, blueberry pie ที่มักจะขายไม่ค่อยได้, แต่เขาก็รอคอยวันที่เธอกลับมากิน blueberry pie ที่ร้านของเขา, blueberry pie กับ ice-cream, นั่งตรงที่เดิมที่เคยนั่ง, สนทนากันต่างๆ นานา ฯลฯหลังจากเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งปีที่ Elizabeth เริ่มออกเดินทางค้นหาตัวเอง ในค่ำคืนหนึ่ง เธอกลับมาที่ Café ของ Jeremy อีกครั้ง พร้อมกับพบว่าเขาไม่ได้เก็บกุญแจพวกนั้นอีกต่อไป และบทสนทนาของคนสองคนที่ไม่ได้พบกันเกือบหนึ่งปีก็เริ่มขึ้นที่เรื่องของกุญแจเหล่านั้นElizabeth : Where are the keys? You don't keep them anymore?Jeremy : Been trying to give them back to their owners. Do you want yours?Elizabeth : No. I don't need them anymore. ...What about your keys?Jeremy : I got rid of them.             และตามมาด้วยเรื่อง blueberry pie...Elizabeth : Are they still left untouched at the end of the night?Jeremy : Yep, more or less.Elizabeth : Then why do you keep making them?Jeremy : Well, I always like having one around just in case you pop in and fancy a slice.  คำลงท้าย..ในท้ายที่สุด Jeremy ก็ทิ้งกุญแจดอกเดิมที่เขาเก็บไว้แสนนานไป เขาสามารถทิ้งวัตถุแห่งความทรงจำที่สำคัญของเขาไปได้ พูดอีกอย่างก็คือ เขาสามารถผลักตัวเองออกจากอดีตแห่งการรอคอยที่ไม่รู้ว่าวันที่รอคอยจะมาถึงเมื่อไรได้สำเร็จ เขาสามารถละทิ้งความสัมพันธ์ครั้งก่อนได้แล้ว ส่วน Elizabeth ซึ่งตอบว่าเธอก็ไม่ต้องการกุญแจพวงนั้นแล้ว ก็สามารถทิ้งวัตถุแห่งความทรงจำที่ผูกเธอไว้กับอดีตที่เจ็บปวดจากความสัมพันธ์เดิมได้สำเร็จเช่นกัน เธอสามารถก้าวข้ามอดีต เหมือนกับที่เธอสามารถเดินข้ามถนนได้อย่างง่ายๆ ในที่สุดอย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งคู่จะสามารถทิ้งวัตถุแห่งความทรงจำอันเก่าไปได้ สามารถก้าวออกจากอดีตไปได้ แต่พร้อมๆ กันนั้น ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ‘blueberry pie' ได้กลายเป็นวัตถุแห่งความทรงจำอันใหม่ของทั้งเขาและเธอ เป็น ‘สิ่ง' ซึ่งดึงดูดให้คนทั้งคู่กลับมาพบกัน และร้อยรัดทั้งคู่ไว้ด้วยกัน ผูกโยงทั้งคู่ให้อยู่กับปัจจุบันของกันและกัน และอาจวาดหวังไปสู่อนาคตร่วมกัน แต่ใครเล่าจะล่วงรู้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะดังที่ Katya เคยพูดไว้กับ Jeremy ว่า "บางครั้ง ถึงแม้จะมีกุญแจ แต่ประตูก็อาจจะไม่สามารถเปิดออกได้" ดังนั้นแล้ว บางที ในเวลาข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง blueberry pie ก็อาจแปรเปลี่ยนสถานะไปเป็นวัตถุความทรงจำแห่งอดีตที่เป็นดังโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งคนทั้งคู่ไว้กับเรื่องราวความทรงจำแห่งอดีตได้เช่นกัน 
หัวไม้ story
 พิณผกา งามสม/พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจเมื่อกระแสแก้รัฐธรรมนูญเริ่มต้นด้วยการถูกโจมตีว่าจะเป็นการเบิกทางให้กับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามามีที่อยู่ที่ยืนในเวทีการเมืองไทยอีกครั้ง มิหนำซ้ำยังเป็นการปูทางไปสู่การฟอกตัวของอดีตนายกผู้ซึ่งตามทัศนะของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่าเป็นเหตุแห่งความวิบัติทั้งสิ้นทั้งมวลของประเทศชาติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็กลายมาสู่เรื่องการเอาทักษิณ หรือไม่เอาทักษิณ แบบกลยุทธ์ขายเบียร์พ่วงเหล้า คือถ้าไม่เอาทักษิณก็ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ ถ้าใครจะแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นพวกทักษิณ ว่ากันตามจริงแล้ว ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรในโครงการสร้างการเมืองไทยที่เกิดขึ้นเวลานี้ ก็ถูกจับโยนลงไปเป็นประเด็น เอาทักษิณกลับมา หรืออย่าเอาทักษิณกลับมา.....นับเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ หนึ่งเดียวของโลกจริงๆ รับไปก่อน แก้ทีหลัง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไปที่ไหนก็บอกชาวบ้านให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง สำทับอีกทีโดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ก่อนที่จะมีการลงประชามติ พ่วงด้วยการบอกอีกซ้ำๆ ว่าหากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่มีเลือกตั้ง ถึงเวลานี้ดูเหมือนไม่มีใครทบทวนความจำอันแสนสั้นและเลือนรางเสียแล้วเมื่อประเด็นแก้รัฐธรรมนูญถูกจุดขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาล ในห้วงเวลาที่ รายชื่อ พรรคการเมือง 3 พรรค อันได้แก่ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอันอาจจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ โดยพลัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาตอบโต้ทันทีว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเหตุแห่งวิกฤตการเมือง ในขณะที่พลังเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใหญ่อย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกมากล่าวหาโดยทันทีว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีการยุบพรรครวมทั้งเพื่อฟอกตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ทั้งยังหวังว่าจะเป็นการปูทางให้ทักษิณกลับมาสู่เวทีการเมืองไทยอีกครั้งกระทั่งในการเสวนาวิชาการโดยพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการพ่วงด้วยคำขู่ว่าพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวทันทีที่มีการแก้รัฐธรรมนูญดูทีว่า ฝ่ายพันธมิตรฯ และพรรคฝ่ายค้านมีความกลัวอย่างสุดขีดว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชาชนจะนำไปสู่ความอยู่รอดปลอดภัยของ 3 พรรคการเมือง แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายมองว่า 3 พรรคนี้ ดูท่าว่าจะชะตาขาดไปแล้ว เพราะแม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญจริง ก็คงไม่ทันการกับคดีที่ขณะนี้ไปอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม