Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

แสงดาว ศรัทธามั่น
ภาพประกอบจาก : http://www.flickr.com/photos/poakpong/2074330653/ มนุษย์ไยรุนแรงทำบาปกรรมกับเพศแม่ ?อันมีพระคุณให้กำเนิดแด่เธอในทุกที่เพศแม่งามคุณค่าล้ำชีวีจิตวิญญาณวิถีแม่งามอำไพตะวันเดือนดาวพราวพร่างฟ้าทางช้างเผือกบนนภา กระจ่างแจ่มใสเริงระบำรำร่ายฟ้อนงามเรืองไรอวยพรชัยให้เพศแม่สุขสบายดีโอ ! สกุณา ผีเสื้อ แมลงปอ เริงรำฟ้อนระเริงร่อนอวยพรชัยให้สุขีโลก เอกภพ จักรวาล เริงรำฟ้อน โอบกอดชีวีคารวะเพศแม่ ณ วันนี้ ตราบนิรันดร์แม่แห่งโลก + แม่แห่งลูกสายลมโชยโบยโบกจิตสุขสันต์แม่แห่งลูก + แม่แห่งโลกพร้อมใจกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคมใหม่ให้เป็นจริง !!!ต้นฤดูหนาว, พฤศจิกายน , ๒๕๕๐ , ล้านนาอิสรา , เจียงใหม่.
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
บรรยากาศเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมาปลายเดือนพฤศจิกายนปี 50 นี้ ดิฉันอยู่ท่ามกลางการโฆษณาชวนเชื่อว่างานลอยกระทงที่ไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน ขณะเดียวกันก็ได้ยินการรณรงค์อยู่สองเรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับการลอยกระทง นั่นคือสปอตวิทยุเรื่องอย่ามีเพศสัมพันธ์กันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง มีการสัมภาษณ์ตำรวจว่าจะไปตั้งด่านสกัดคู่วัยรุ่นที่จะไปใช้บริการโรงแรมม่านรูดอย่างไร นี่เป็นการสื่อสารเรื่องหนึ่งที่กำลังจะกลายเป็นประเพณีคู่ไปกับวันลอยกระทง รวมวันอื่นๆ ด้วย อาทิ วันวาเลนไทน์ วันสงกรานต์  และการโฆษณาของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่แต่เดิมถือเป็นแชมป์ในการจัดงานวันลอยกระทงที่เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศมาโดยตลอด  แต่มาระยะหลังนี้ต้องเสียแชมป์ให้กับจังหวัดอื่นๆ ไปแล้ว เช่น สุโขทัย ปีนี้เทศบาลนครเชียงใหม่จึงออกแคมเปญว่าจะรื้อฟื้นความเชื่อ ประเพณีดั้งเดิมของเทศกาลยี่เป็ง  ทางเหนือนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าภาคกลางไปสองเดือน ยี่เป็ง แปลว่าวันเพ็ญเดือนสอง โดยไม่มุ่งว่าจัดงานเพื่อนักท่องเที่ยวแต่เป็นการจัดงานเพื่อคนเชียงใหม่เอง หากจะมีนักท่องเที่ยวด้วยก็ถือเป็นผลพวง ไม่รู้ว่าคืนวันลอยกระทงมีการมีเพศสัมพันธ์กันมากกว่าทุกๆ วันหรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้ แม้จะได้ข้อมูลจริงจากเจ้าของโรงแรมม่านรูดว่ามีคนใช้บริการมากขึ้นก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเกี่ยวกับวันลอยกระทง  เพราะคนจะมีเพศสัมพันธ์กันคงขึ้นกับหลายเหตุ หลายปัจจัย มากกว่าการเป็นเทศกาลลอยกระทง  แต่สิ่งที่น่าจะติดตามต่อมาจากวันลอยกระทงคือ การมีเพศสัมพันธ์กันครั้งนี้ก่อให้เกิดผลตามมาอย่างไร เป็นผลที่พึงพอใจหรือสามารถควบคุมได้หรือไม่ เช่น เป็นเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนความต้องการของคู่เพศสัมพันธ์นั้นๆ  เป็นเพศสัมพันธ์ที่มีการป้องกันอย่างดีและยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย หรือเกิดการติดโรค เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมตามมา อย่างไหนมีมากกว่ากัน หากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีมากขึ้นย่อมแสดงให้เห็นว่าศักยภาพในการดูแลเพศสัมพันธ์ของตนเองยังมีไม่มากพอ และการแคมเปญเรื่องอย่ามีเพศสัมพันธ์กันคืนลอยกระทงก็ไม่เป็นประโยชน์ เช่นกันบรรยากาศงานลอยกระทงที่เชียงใหม่ก็ใช้เวลายาวนานต่อเนื่องกัน 3 วัน 3 คืน ตั้งแต่คืนวันศุกร์ถึงคืนวันอาทิตย์  ยามค่ำคืนท้องฟ้าในเมืองเชียงใหม่เต็มไปโดยโคมลอยเป็นดวงไฟระยิบระยับ ประเมินว่าน่าจะเป็นหมื่นโคมที่ลอยกัน ต่างคนต่างซื้อไปลอยกันราคาใบละ 20-50 บาท ในขณะที่งานแห่กระทงก็ยังจัดกันเหมือนเดิมคือกระทงเล็ก กระทงใหญ่ ซึ่งทั้งสองวันนี้ก็ต้องใช้เงินและวัสดุสิ้นเปลืองไปจำนวนไม่น้อย หากกระทงใหญ่หนึ่งกระทงใช้งบสองแสนบาท  ปีนี้มีจำนวนกระทงใหญ่ 25 กระทงก็ใช้เงินไปแล้ว 5 ล้านบาท เสร็จแล้วก็รื้อทิ้งปีหน้าก็ลงทุนทำใหม่ เป็นอย่างนี้มาไม่น้อยกว่า 20 ปีมาแล้วในเชียงใหม่  ทั้งนี้ ทางเทศบาลเองก็ลงทุนประดับเมืองด้วยโคมกระดาษนับหมื่นโคม ปีนี้ต้องทำสองรอบเพราะถูกพายุฝนทำลายไปก่อนวันเทศกาล  ต้องซ่อมแซมใหม่หมด จากหมื่นโคมกลายเป็นสองหมื่นโคม  ก็ใช้เงินไปอีกเป็นล้านในการตกแต่งประดับเมือง  ทั้งนี้ วัดต่างๆ ในเขตคูเมืองเชียงใหม่ก็จัดตกแต่งและจัดงานขึ้นเพื่อให้ประชาชนไปใช้เวลาในเทศกาลลอยกระทงในวัดบ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นเทศกาลนี้ไป เมืองเชียงใหม่หลงเหลืออะไร คนรุ่นใหม่เข้าใจวิถีชีวิต วิถีประเพณีเกี่ยวกับยี่เป็งอย่างไร และซึมซาบ ว่าจะปรับปรุงประยุกต์ความเชื่อของประเพณีให้เข้ากับชีวิตตนเอง ชีวิตของเมือง อย่างไร จะลดความฟุ่มเฟือย การบริโภควัสดุต่างๆ ที่ล้นเกินไปเรื่อยๆ จนส่งผลต่อมลภาวะของเมืองเชียงใหม่เพียงใด เงินที่นักท่องเที่ยวและคนเชียงใหม่เองใช้หมุนเวียนกันในวันลอยกระทงหลายสิบล้านบาทนั้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนเชียงใหม่ คนรับจ้างทำโคมกระดาษ โคมไฟ ตุง กระทง มากน้อยเพียงใด หรือเพียงอาศัยชื่อเทศกาลเพื่อหารายได้ให้คนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ทำทัวร์กันเท่านั้นเทศกาลลอยกระทงที่เชียงใหม่ผ่านไปพร้อมกับงานวันวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เลือกจัดวันเวลาเดียวกับเทศกาลลอยกระทง แต่บรรยากาศไม่คึกคักมากนักแม้จะมีนายกรัฐมนตรีมาเปิดงาน และหัวข้อหลักของงานวิชาการปีนี้คือ วิถีวิจัย สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข  เน้นเรื่องภาวะโลกร้อน ภาวะพลังงาน มลภาวะด้านอากาศ หมอกควัน ที่เกิดกับเมืองเชียงใหม่  แต่ก็เหมือนต่างคนต่างจัด และไม่สอดรับกัน น่าเสียดายที่เทศบาลนครเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อสร้างความกล้าใหม่ๆ ต่อการจัดงานยี่เป็งให้ได้ทั้งคุณค่า ได้ความรู้ ได้ความสุข โดยไม่ฟุ่มเฟือยเกินไปแต่อาจมีเสน่ห์มากขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวก็ได้  ใครจะรู้
วาดวลี
“หนาวไหมครับ”ชายแปลกหน้าเอ่ยถาม ขณะหย่อนตัวลงนั่งบนแคร่ไม้ เราสองคนอยู่ในที่รกร้างว่างเปล่าของใครสักคนหนึ่ง ฉันอยากเรียกแบบนั้น ทั้งๆ ที่มันคือสถานีรถโดยสารที่จะเดินทางจากตัวเมืองลำปางไปยังแจ้ซ้อนขณะรถเข็นคันหนึ่งกำลังมุ่งหน้ามาหาเรา ฉันตอบผู้ชายคนนั้นสั้นๆว่า “หนาวนะ” เขาอมยิ้ม กระชับเสื้อให้แน่นขึ้นแล้วหยิบขวดน้ำขึ้นมาดื่ม ฉันไม่สนใจเขานัก เอาแต่ควานหาโทรศัพท์มือถือในกระเป๋า เพื่อจะหยิบมาดูนาฬิกาว่าตอนนี้คือกี่โมงแล้ว แต่ยังหาโทรศัพท์ไม่เจอ ก็เหลือบไปเห็นนาฬิกาขนาดใหญ่เกาะติดอยู่บนต้นไม้ ดูเหมือนจะเป็นต้นมะขาม มันสูงใหญ่ให้ร่มเงาเป็นอย่างดีแก่ท่ารถแห่งนี้ ผิดก็แต่ว่าเวลานี้ฉันต้องการแสงแดดมากกว่าร่มเงา จึงลุกจากแคร่ไม้ไปยืนผิงแดดอยู่ริมถนน“ลุงคะ รถจะออกกี่โมง” ฉันถามโซเฟอร์เจ้าของรถ เขากวาดสายตาไปซ้ายทีขวาที ก็หันมาบอกด้วยแววตาเคร่งขรึม“ถ้าคนครบ 10 คนเมื่อไหร่เราก็ออกเมื่อนั้น แต่ถ้าไม่มีคนอื่นเลย ลุงจะพาไปตอน 11 โมง”“อ้อ ค่ะ”อุทานตอบ แล้วก็เหลือบไปมองนาฬิกาอีกครั้ง ขณะนั้นเพิ่ง 9 โมงกว่า มีผู้โดยสารเพียง 2 คน คือฉันและชายหนุ่มคนนั้นฉันคว้ากระเป๋าเตรียมออกเดิน ก็เวลา 2 ชั่วโมงนั้นมีอะไรให้ทำมากกว่าจะนั่งรออยู่ที่เดิม“จะไปไหนหรือ”ชายแปลกหน้าถามอีก ฉันตอบสั้นๆ “ไปเดินเล่นค่ะ”ว่าแล้วก็หอบกล้องถ่ายรูปเดินจากมา เมืองลำปางยามที่ร้านรวงค่อยๆ ทยอยเปิดกิจการ ถนนเลียบแม่น้ำ ทะลุไปยังสะพานสีขาวชื่อรัษฎาภิเศก เป็นถนนเล็กๆ ที่ยังคงสภาพบ้านเรือนไม้แบบโบราณเอาไว้ บางคนก็ออกมานั่งผิงแดด ตะโกนคุยกันข้ามถนน เมื่อไปหยุดขอถ่ายรูป เขาก็ยิ้มแย้มมีไมตรีและทักทายอย่างเป็นกันเอง จากที่เดินเร็วๆ ฉันก็เดินช้าลง จากที่รอว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลารถออก ฉันปล่อยตัวเองเดินทอดน่องไปเรื่อยๆ กว่าจะรู้สึกตัวอีกที เวลาก็ใกล้ 11 โมงแล้ว“ชอบถ่ายรูปเหรอ”ชายแปลกหน้าถามฉันอีก ฉันอมยิ้ม เขาคงเห็นฉันสะพายกล้องเดินไปมา ผู้โดยสารคนอื่นๆ เริ่มทยอยกันมา ลุงโชเฟอร์เรียกพวกเราให้ไปขึ้นรถ ทั้งแปลกใจในความบังเอิญ เมื่อชายแปลกหน้าหย่อนก้นลงอีกครั้งข้างๆ ฉัน“ไปเที่ยวเหรอครับ” เขาถามด้วยน้ำเสียงสุภาพ“ค่ะ” ฉันตอบ แล้วพิจารณาตัวเอง การมีกระเป๋าใบโตมาด้วยคงทำให้เขาเดาไม่ยาก ฉันเริ่มมองข้าวของของเขาบ้าง เขาก็มีกระเป๋าใบโตๆ มาด้วยเหมือนกัน“ไปเที่ยวเหมือนกันหรือเปล่าคะ”“เปล่าฮะ ผมกำลังจะกลับบ้าน”แววตาขณะตอบเปลี่ยนไปแล้ว เขามองไปยังนอกกระจกขณะรถโดยสารสีฟ้าที่เก่าจวนผุพัง ค่อยๆ แล่นตัวออกจากสถานีแห่งนั้น “อ่อ เป็นคนลำปางเหรอคะ” ฉันตอบรับการสนทนาของเขาบ้าง“ครับ แต่ผมจากบ้านไปนานแล้ว นานมาก หลายปี ตั้งแต่เด็ก ไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน แล้วก็เพิ่งลาออก”“อ้อ ค่ะ” ฉันต่อบทสนทนาไม่ถูก ได้แต่พยักหน้า ดูเขาคงรู้สึกได้ จึงเปลี่ยนเรื่องที่จะถาม“ตะกี้ไปถ่ายรูปอะไรมาเหรอ”“อ๋อ ก็ภาพทั่วๆไป อยากดูไหม”ฉันกดเปิดกล้องดิจิตอลให้เขาดูภาพไปด้วย แววตาเป็นประกายกลับมาอีกครั้ง ดูเขาตื่นเต้นที่จะเห็นเมือง ผู้คน สายน้ำ และสะพานในบ้านเกิดของเขาเองมากกว่าที่ฉันเป็นเสียอีก “สวยดีจัง” เขาว่า“ใช่ น่ารักมาก ชอบนะ ไม่เคยเดินเล่นเหรอ”“ก็เคยนะ นานมากๆ ตั้งแต่อายุสัก 10 ขวบได้”“อืม กลับมาอยู่บ้านแล้วนี่ อีกหน่อยคงเห็นจนชินแหละนะ”ฉันบอกเขาอย่างที่คิด แต่แล้วก็กลับพบแววตาที่แปลกออกไปอีกเขาเหม่อมองไปยังนอกกระจกอีกครั้ง เอามือถูกันไปมา ฤดูหนาวคงทำให้เขาเป็นหวัด นอกจากจามฮาดชิ้วๆ ติดๆ กันแล้ว เขาก็ยังขยับตัวหันไปมาตลอดเวลา“อาทิตย์หน้าผมจะไปอยู่ฝรั่งเศสแล้ว เป็นการไปครั้งแรก ไม่รู้จะเป็นอย่างไร”เขาเอ่ยขึ้น ไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย ฉันยิ้มให้เขาแล้วก็นิ่งเงียบ จากที่คิดว่าตัวเองเป็นนักเดินทาง ยังต้องไปอีกไกล และชายตรงหน้ากำลังจะได้กลับบ้าน แท้จริงแล้วการเดินทางของเขาคงยาวไกลกว่าฉันมากมายนักเราปล่อยให้รถแล่นไปเรื่อยๆ สลับกันมองข้างทาง ดูผืนฟ้าและต้นไม้สูงใหญ่ ถนนคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามถนนหนทาง ที่ห่างออกจากเมืองไปเรื่อยๆ“เดินทางให้สนุกนะครับ”เขาบอกฉัน เมื่อเราใกล้ถึงจุดหมายที่ต่างกัน ฉันพยักหน้าเบาๆ แล้วยิ้มให้ อยากบอกเขาว่า ขอให้เขามีความสุขในการกลับบ้านครั้งนี้ และการเดินทางอีกหลายพันกิโลเมตรของเขา “โชคดีเช่นกันนะ” เป็นประโยคสุดท้ายที่ฉันบอกเขา ซึ่งเป็นประโยคเดียวกับที่ฉันบอกตัวเองเสมอๆ ในการกลับบ้านและเดินทางไกลเช่นเดียวกับเขาเวลานี้.
เมธัส บัวชุม
-1-การยึดอำนาจโดยกลุ่มทหาร ที่เรียกตัวเองด้วยชื่อที่ฟังดูคุ้นหูสำหรับคนที่พบเห็นหรือศึกษาเกี่ยวกับการรัฐประหารมาบ้างว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (คปค.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นถือเป็นฝันร้ายยาวนานสำหรับสังคมการเมืองไทย และเชื่อว่าจะตามหลอกตามหลอนประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไปตลอดคณะทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองเสียใหม่แต่ก็ยังฟังดูคุ้น ๆ อยู่ดีว่า “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) บัดนี้คำว่า “ความมั่นคง” ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในรูปของชื่อเรียกและนับจากนี้เป็นต้นไป วาทกรรม “ความมั่นคง” ก็ได้หวนกลับมาหลอกหลอนสังคมการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าในรูปของ “กฏหมายความมั่นคง” ซึ่งฝ่ายทหารกำลังผลักดันกันอย่างหนัก หรือการแทรกแซงกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามภายใต้คำว่า “ความมั่นคง” หรือการคงกฏอัยการศึกไว้ในบางจังหวัดด้วยข้ออ้าง ”ความมั่นคง” ฯลฯเราได้ยิน ได้ฟังพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน อดีต ประธาน คปค.และคมช.  ประธาน ครส. เอ่ยคำว่า “ความมั่นคง” โดยไม่ละอายปากบ่อยครั้งมาก  จนทำให้เกิดความสงสัยว่าประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้ ”ความไม่มั่นคง” ดังที่ทหารนายนี้บอก ?แต่จะมีใครที่ไหนที่จะเชื่อคำกล่าวอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” ของทหารที่ริอาจคิดการณ์ใหญ่รายนี้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
- สวัสดีครับ- สวัสดีค่ะ- ต้องการพูดกับใครไม่ทราบครับ- ดิฉันต้องการพูดกับ คุณแดนทิวา คนที่เป็นนักเขียนบทกวีค่ะ- ผมกำลังพูดกับคุณอยู่พอดีครับ- โอ๋ ดีจังเลย- เอ...ผมรู้สึกว่า ผมไม่เคยได้ยินน้ำเสียงนี้ทางโทรศัพท์มาก่อนเลยนะ - ถูกต้องค่ะ- ขอโทษนะครับ ไม่ทราบว่าคุณกับผมเคยเป็นคนรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่านะ- คุณไม่รู้จักดิฉันหรอกคะ แต่ดิฉันบังเอิญรู้จักคุณจากหนังสือรวมบทกวีเล่มหนึ่งของคุณ ที่ดิฉันได้มาจากร้านขายหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง พร้อมกับเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของคุณค่ะ- (หัวเราะ) แค่นี้เองหรือครับที่คุณรู้จักผม- ค่ะ แค่นี้เองค่ะ
ประสาท มีแต้ม
เรื่องราวที่ผมจะนำมาเล่าในที่นี้  ไม่ใช่เรื่องเทคนิคทางไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์การทำงานเชิงสังคมที่น่าสนใจของตัวผมเอง  ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคุณค่าพอที่ผู้อ่านทั่วไปตลอดจนกลุ่มเพื่อนพ้องที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อนสันติภาพของโลก  จริงๆนะครับ ผมไม่ได้โม้ผมขอเริ่มเลยนะครับเราเคยสังเกตไหมครับว่า สวิทซ์ไฟฟ้าในที่ทำงานของเรา โดยเฉพาะที่เป็นสถานที่ราชการ เวลาเราเปิดสวิทซ์ ไฟฟ้าจะสว่างไปหลายดวง หลายจุดเป็นแถบๆ  ยิ่งเป็นที่สาธารณะ เช่น สำนักงาน หรือห้องสมุด เราเปิดสวิทซ์ครั้งเดียวหลอดไฟสว่างไป 20-30 หลอด  แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้จริงเพียง 1-2 หลอดเท่านั้นปรากฏการณ์นี้ไม่ค่อยพบในบ้านเรือนของตนเอง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะสถานที่ราชการมักจะเน้นการประหยัดในการก่อสร้าง หรืออาจจะขาดการใส่ใจเท่าที่ควร  การแยกติดสวิทซ์ไฟฟ้าเป็นจุดต้องเสียค่าแรง และค่าอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก  ผู้ออกแบบจึงนิยมประหยัดในตอนแรก โดยไม่คิดถึงค่าไฟฟ้าตลอดอายุของอาคารเอ็นจีโอเยอรมันเล่าให้ผมฟังว่า  ที่โน่นเขาเน้นการประหยัดพลังงานตั้งแต่ตอนออกแบบแล้ว  เช่น หน้าต่างจะต้องติดกระจก 2 ชั้นเพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อน  ใครไม่ทำถือว่าผิดกฎหมายนะครับในสเปน กฎหมายใหม่ออกมาว่า บ้านทุกหลัง ศูนย์การค้าทุกแห่งที่จะสร้างใหม่จะต้องติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนพลังแสงอาทิตย์ให้เพียงพอ มาตรการทางกฎหมายที่ว่านี้คงต้องกลั่นกรองมาจากประสบการณ์อันยาวนานของแต่ละประเทศ  สำหรับประเทศไทยเอง คงต้องเริ่มกันได้แล้วครับ  ดังหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเขียนคือ “พลังยกกำลังสาม” นั่นคือมีพลังใจ ในการขับเคลื่อน มีพลังพลเมืองที่เข้าใจ แล้วร่วมกันผลักดันนโยบายพลังงาน เพื่อความยั่งยืนสรรพสิ่งทั้งหลายสถานที่ราชการที่ผมทำงานอยู่ได้ขึ้นแผ่นป้ายประกาศว่า “ช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ปิดดวงที่ไม่ได้ใช้” แต่เอาเข้าจริงจะให้ปิดอย่างไรในเมื่อสวิทซ์มันเป็นแบบที่ว่าแล้วผมเองที่สนใจเรื่องนี้มานานก็คิดไม่ออก จนกระทั่งเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง (อ.วรวิทย์ วณิชาภิชาติ –ขอเอ่ยนามเพื่อให้เกียรติ)  บอกว่าเขาใช้สวิทซ์กระตุกกันแล้ว จากนั้นเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องของผมก็พาผมไปดูห้องทำงานด้วยความตื่นเต้น  แล้วผมเองก็กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ในบัดดล    ดังรูปข้างล่างนี้ครับ ผมลองทดสอบแสงว่างที่โต๊ะทำงานหลังจากที่ได้กระตุกให้ไฟฟ้าดับไปแล้วครึ่งหนึ่ง  พบว่าแสงสว่างที่โต๊ะทำงานก็ยังคงเท่าเดิมสำหรับราคาสวิทซ์กระตุกอยู่ที่ตัวละประมาณ 40 บาท สามารถหาซื้อได้ตามศูนย์การค้าครับหลังจากนั้น อ.วรวิทย์ได้นำผมไปดูไฟฟ้าที่ลานจอดรถ  พบว่าการออกแบบยังเป็นแบบเดิมครับ คือเปิดครั้งเดียวสว่างไสวไปทั้งลาน  เป็นไฟสปอร์ตไลท์ประมาณ 8 เสา  ในฐานะที่ อ. วริทย์มีตำแหน่งบริหารในคณะ ท่านก็สั่งการเปลี่ยนแปลงทันทีได้ระดับหนึ่ง  ผมเชื่อว่าสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เยอะเลยครับผมได้นำเรื่องราวของ อ. วรวิทย์ไปเขียนเล่าให้กับคนในมหาวิทยาลัย โดยผ่านทางเมล์รวม (ผมเชื่อว่ามีหลายพันรายชื่อ)  ผมได้รับคำตอบที่ว่าดีจำนวนหนึ่ง (ซึ่งมีผลดีต่อจิตใจผมมาก)  แต่ผมไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงผมพิมพ์เรื่องนี้มาติดบอร์ดประกาศที่ภาควิชาอยู่นานเป็นเดือน  ก็ไม่มีใครจะทำตาม  ทั้งๆที่มีบางคนเห็นด้วย  อาจเพราะว่าไม่มีใครจัดการไปซื้อมาติดอาจารย์อีกท่านหนึ่งเจอกับผมโดยบังเอิญ(ปกติเราแทบไม่ได้คุยกันเลย) บอกผมว่า  “เรื่องที่อาจารย์เล่านั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้ผลหรอก อาจารย์(หมายถึงตัวผม) ต้องมี authority (ท่านใช้คำนี้) อาจารย์ไปบอกท่านอธิการเลยว่า ขอทำงานนี้ ในปีแรกจะลดค่าไฟฟ้าให้ได้ 5% เรื่องนี้นะบางสำนักงานที่อื่นเขาทำกันแล้ว”ผมนำคำพูดของอาจารย์ท่านหลังสุดมาคิดอยู่นานครับ  ผมเองไม่มีอำนาจในเชิงการบริหาร  ผมไม่ชอบและปฏิเสธเรื่องทำนองนี้มา  20 กว่าปีแล้วล่าสุด ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการชุดเล็กๆ ชุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย เรียกชื่อสั้นๆว่า คณะกรรมการ  Green Campus   ผมจึงได้นำเรื่องนี้ไปเสนอปรากฏว่า ท่านผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยรับปากทันทีว่า จะเสนอขอใช้งบประมาณเพื่อติดตั้งสวิทซ์กระตุกจำนวน 1,000 ตัวขอเรียนตามตรงว่า ผมดีใจมาก ผมบอกในที่ประชุมว่า “วันนี้ผมมีความสุขมาก”ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะยืนยันว่า “สิ่งเล็กๆ ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้” หรือที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกเขาเรียกเป็นศัพท์แสงว่า  Law of the Few นั่นเอง
กิตติพันธ์ กันจินะ
ความรักไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าวัย-อาชีพ-เพศ-ชนชั้น-เชื้อชาติใด ความรักย่อมมีอยู่ในทุกที่ ดั่งเช่นความรักของคนทำงานเรื่องเพศในการทำงานเรื่องเพศ หลายคนมองว่าอาจยากต่อการทำความเข้าใจกับคู่ของตัวเอง เมื่อเราเป็นผู้หญิงและคู่ของเราเป็นผู้ชาย แล้วให้เราเริ่มคุยเรื่องเพศก่อน ก็อาจถูก ‘คู่’ ที่คบหาตกใจ หรือมองเราในมุมที่ไม่ค่อยดีก็เป็นได้ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ปัจจุบันผู้หญิงหลายคนเริ่มคุยเรื่องเพศของตนมากขึ้น และผู้ชายเองก็ไม่ได้มองผู้หญิงมุมลบๆ อย่างเดียว หากมองว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่ได้รับฟังเรื่องของคนที่ตัวเองคบอยู่ มีประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากเรื่องของเธอ – รุ่นพี่ที่ทำงานในเรื่องเพศมาเป็นระยะเวลานานหลายปี รุ่นพี่สาวเล่าว่า “ในคู่ของตัวเอง เวลามีหรือไม่อยากมีอะไร พี่ทำงานด้านนี้ แต่คู่ไม่ได้ทำ แรกๆ กลัวเหมือนกัน แต่พอคุย ก็รู้ว่าเขาเข้าใจง่าย เวลาเราอยากมีหรือไม่อยากมี เราก็คุยกัน พี่ไม่ได้กลัวเรื่องไม่ไว้ใจ ก็กังวล ก็ลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สุดท้ายก็คุย เขาก็ฟังเรา เขาก็รู้ว่าทำไมเราคิดแบบนี้” “อย่างความสุขทางเพศ พี่ก็คุยเรื่องถ้าเรามีแบบไม่ป้องกัน พี่ก็ถามว่า ใช้กับไม่ใช้อะไรรู้สึกดี เขาก็บอกว่า ไม่ใส่ดีกว่า แล้วพี่ก็ถามกลับว่าทำไม เขาบอกว่ามันไม่ได้แนบเนื้อ พี่ก็ถามว่าจริงเหรอ เค้าก็บอกว่าเวลาใส่ก็เสร็จเหมือนกัน มันเป็นเรื่องความรู้สึก” แล้วเวลาคุยแบบนี้ เขามองเราอย่างไร? - ผมถาม“ไม่นะ พี่ว่าเรื่องแบบนี้ต้องคุยกัน คุยตั้งแต่ไม่เคยมีอะไรกัน คุยมาตลอด ยกตัวอย่างคนรอบข้าง อย่างบางทีเขามองชายกับชายภาพลบ พี่ก็จะคุยกับเขา อย่างเวลาไปไหน ก็จะคุยกับเขา เวลาเขาเห็นคู่ไหน เวลาที่พี่คิดว่าจะเติมก็เติมตลอด” รุ่นพี่บอกสำหรับผู้หญิง, แน่นอนว่า เพื่อนชายของคู่เราหลายๆ คนอาจมองในด้านลบ แต่การได้เริ่มคุยกับคู่ของตัวเองก็ทำให้สามารถขยาย ไปกับคนอื่นต่อได้ อย่างความคิดของเธอ ที่มองว่า เราอาจไม่ใช่คนสุดท้ายของเขา ที่เราทำไปเพื่อวันหน้าถ้าเขาคบคนใหม่ เขาก็ไม่ได้ดูหมิ่นใคร เขาก็ไม่เบียดเบียนคนอื่นๆ มีความเข้าใจในคู่ของเขา เราไม่คิดว่าจะคบกับคนนี้ไปตลอด เป็นการเริ่มต้นคุยเรื่องเพศจากคนใกล้ตัวทว่าการคุยแบบนี้บางครั้งกับบางคนก็อาจไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ตรงกันข้ามบางคนที่ได้คุยด้วยก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด “พี่ว่า เขาดีขึ้น เวลาเห็นคนอื่นก็เป็นห่วงสุขภาพคนอื่นมากขึ้น เช่นเอาถุงยางให้เพื่อน สอนน้องชายเขา ก็คุย เรื่องการป้องกัน เรื่องความเสี่ยง เขาก็ช่วยเรื่องแจกถุงยาง เพื่อนที่รู้จักเวลาไปเที่ยวอาบอบนวดเขาก็คุยกับเพื่อน” เธออธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคู่ของตัวเอง และยังมองว่า “เวลาเห็นเขาเปลี่ยน จะรู้สึกดี ไม่ได้ช่วยสังคมทั้งหมด แต่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ก็ดีแล้ว ได้ช่วยเพื่อนๆ ปลอดภัยดี”ในรายละเอียดบางเรื่อง กว่าที่จะทำให้คู่เปลี่ยนทัศนคติได้ แน่นอนว่าการพูดคุยอาจมีทั้งเรื่องลึกและเรื่องตื้น คละกันไปตามกาลเวลา – อย่างเรื่องท่วงท่าหรือลีลาการร่วมเพศ....เธอ เล่าอย่างตั้งใจว่า “พี่จะคุย ส่วนใหญ่ จะถาม อย่างเวลาดูหนังโป๊ ก็ลองมาทำ แบบนี้ใช่ ไม่ใช่ ชอบไม่ชอบ ในความคิดของเขาอาจมี แต่เขาไม่กล้า พี่ว่าเซ็กส์ของคนกับในหนังต่างกันมาก คนเราจริงๆ ไม่ได้ร้องแรงๆ โอเวอร์ๆ หรือข้ามกันไปมา เหมือนในหนังที่ผู้หญิงต้องร้องครวญครางอย่างดุเดือด ผู้ชายต้องทำแรงๆ ในความเป็นจริง พี่ว่ามันไม่ได้รุนแรงเหมือนในหนัง คือเรานึกถึงความรู้สึกของคู่มากกว่า”“อย่างท่า เราก็คุยว่าแบบนี้ แรงไป เบาไป เราก็คุยว่า ควรจะเปลี่ยนไม่เปลี่ยนพี่บอกเขาว่าไม่ชอบโลดโผน มันก็ช่องเดียวกัน พี่คุยตลอด เพราะรู้ว่าต้องเริ่มจากคู่เราก่อนที่จะไปบอกกับคนอื่นๆ เวลาเราไปบอกคนอื่นๆ แล้วไม่ได้เริ่มจากตัวเอง มันมีความรู้สึกบางอย่าง อย่างคู่หรือคนที่รู้จัก พี่ก็จะคุยกับคนทุกคน ทั้งใกล้ตัว อย่างเพื่อน สนิทไม่สนิท” นอกจากการคุยเรื่องเพศจากคนใกล้ตัวแล้ว การคุยกับคนรอบข้าง เพื่อขยายความเข้าใจ หรือสร้างพื้นที่ในการคุยเรื่องเพศก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันด้วยประสบการณ์ของแต่ละคน“พี่ว่าเรื่องเพศ ไม่ใช่เรื่องลามก เรื่องเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบตั้งแต่จับไปจนถึงสอดใส่ มันไม่ใช่ลามก แต่มันอยู่ที่ ‘คำพูด’ และ ‘กาลเทศะ’ พี่ไม่เคยโดนว่า ว่าลามก แต่พี่ดูว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหนก่อน อย่างเวลาคุยก็ต้องค่อยๆ คุยจากเรื่องไกลตัวมาใกล้ตัว อย่างรุ่นน้องบางคนก็ไม่ได้ถามตรงๆ แต่คุยอ้อมๆ แล้วค่อยเข้าเรื่อง” ใช่, การคุยอาจไม่จำเป็นต้องคุยแบบตรงอย่างขวานผ่าซาก แต่เราสามารถที่จะคุยอย่างอ้อมค้อม แต่เมื่อถึงจุดสำคัญแล้วก็ต้องคุยเรื่องเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อม ไม่วกวน แต่ต้องเข้าถึงเรื่องอย่างเปิดเผย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการคุยเรื่องเพศทั้งนี้ การคุยด้วยท่าที ที่เป็นมิตร เพื่อสร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการคุย ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อ การคุย เพราะอย่างประสบการณ์ของเธอ ก็มองว่า “เรื่องไหนที่ใช่ ไม่ใช่เราก็จะบอก บางครั้งอาจดุ บางครั้งไม่ดุ เรามีเจตนาดีเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว คือคุยด้วยความเป็นมิตร เป็นมิตรมันอธิบายไม่ได้ แต่มันสัมผัสได้” การคุยเรื่องเพศจากมุมของตัวเอง กับคู่หรือคนรอบข้าง, ความเป็นมิตร คือหัวใจที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างปลอดภัยและนำไปสู่การมองชีวิตของตัวเองในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพียงเราเริ่มคุยเรื่องต่างๆ จากมุมของเรา ด้วยความเข้าใจและยอมรับในกันและกันเหมือนอย่างที่ใครคนหนึ่งบอกไว้ว่า – หากจะรู้จักรักก็ต้องรู้จักปลอดภัยด้วยจริงไม่จริง เราเท่านั้นแหละ, ที่รู้ดีกว่าใคร
แสงพูไช อินทะวีคำ
หยุดการพูดถึงวรรณคดีปฏิวัติไว้สักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยพูดกันต่อไป...หันมาพูดเรื่องวัฒนธรรมให้อิ่มใจสักนิดหนึ่ง.........เพื่อนฝั่งเชียงของบอกผมว่า อยากอ่านงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมลาว ผมก็นึกจะเขียนตามนั้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่นึกเอาไว้ เพราะวัฒนธรรมชุมชนในบางแห่งเลือนหายไปอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คงเป็นพิธีกรรมขอน้ำฟ้าน้ำฝนของชุมชนในชนบท   เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมก็คิดไปว่า เราจะพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง?  จะพูดให้ตัวเราเองฟังก็อายตัวเอง เพราะเหตุการณ์มันไม่ใช่เป็นไปอย่างเดิมแล้วผมขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางพิธีกรรมดีกว่า พูดในสิ่งที่มันไม่จีรังยั่งยืนให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นกัน  ถามว่าพิธีกรรมการขอน้ำฟ้าน้ำฝนนั้นบางชุมชนในลาวเขาทำกันอย่างไร? พิธีกรรมนี้ชุมชนทำขึ้นเนื่องด้วยเหตุว่า ปีใดฟ้าแล้งไม่มีฝนตกลงมาให้ชุ่มฉ่ำเพื่อสนองให้แก่การผลิตผล เช่น การทำนาทำไร่ การเพาะปลูกต่างๆ ในเวลานั้นชุมชนจะรวมตัวกันแล้วถือ ชาม หม้อ ถ้วย และเครื่องไม้เครื่องมือ เดินเที่ยวไปตามบ้านต่างๆ เพื่อขอน้ำ โดยมีคำกลอน หรือกวีที่คนโบรานเคยใช้กันมานาน  เช่น “โอลมเอ๋ยโอลาง     ขอกินส้มผักพานางแด่     อ้อแอ้แม่เจ้าเฮือนเฮือนนี้มีควายเถิก     เฮือนนี้มีควายสื่อ ซื่อเฮือนนี้ซื่อดี        สามปีกูยังเต้า        รุ่งเช้ากูยังมา มาขอต้นผักพานางแด่”ชาวบ้านจะใช้กวีนี้ท่องขิ้นบ้านโน้นบ้านนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อไปถึงบ้านใด คนบ้านนั้นก็จะมารวมตัวด้วยแล้วแห่กันไปตามหมู่บ้านต่างๆ เผื่อเป็นการขอ ในความเชื่อของชาวบ้านเชื่อกันว่า พิธีกรรมนี้จะทำให้คำขอของชาวบ้านในเรื่องทุกข์ร้อนไม่มีน้ำสนองแก่การผลิตผลขิ้นไปถึงเทวดาฟ้าแถนให้ช่วยบันดาลประทานน้ำฟ้าน้ำฝนให้ ในบทกวีบรรจุถ้อยคำที่บ่งบอกให้เทวดาทราบว่า ทว่าชาวบ้านมาขอกันอย่างนี้แล้ว หากไม่มีฝนโปรยลงมาแม้แต่เม็ดเดียว ชาวบ้านก็จะเที่ยวขอกันอย่างนี้ตลอดไป จนเกิดผลจริงๆขึ้นมา ชาวบ้านจึงหยุดพิธีกรรมการขอในพิธีกรรมการขอน้ำฟ้าน้ำฝนของเผ่าไตแดง แขวงหัวพัน ไม่ได้หมายความว่า ด้วยความจน หรือเดือดร้อนจึงทำ แต่พิธีกรรมนี้มีมาช้านานนับเป็นหลายร้อยปี นับตั้งแต่เผ่าชนนี้ได้กำเนิดขึ้นบนผืนแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้ มาหลายชั่วอายุคนแล้ว การขอในความคิดของเผ่าไตแดง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจ บริสุทธิ์ใจของพี่น้องในเผ่า เพราะว่าเผ่าไตแดงไม่ได้คิดว่าการขอนั้นเป็นเรื่องที่เสียหายอะไร แต่กลับถือว่าเป็นการทานน้ำใจให้กันมากกว่าการดูถูกเหยียดหยามพิธีกรรมแบบนี้ส่วนมากแล้วเป็นพิธีกรรมของเผ่าไตแหลง (ไตแดง) ในลาวทางภาคเหนือ เช่น แขวงหัวพันแล้วล่องลงไปเมืองเวียงไช ซึ่งเป็นแดนฐานที่มั่นของการปฏิวัติตอนสงครามเมื่อครั้ง 30 ปีก่อน พิธีกรรมสิ้นลงผลก็ปรากฎให้เห็นว่า สายฝนก็โปรยปรายลงมา ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อกันสืบมาแต่ในทุกวันนี้พิธีกรรมนั้นได้หายไปนานแล้ว จนไม่มีใครจำได้ว่า มันหายไปนานเท่าไร กี่ปีกี่เดือนที่พิธีกรรมนี้ไม่คงตัวสืบอยู่คู่ลูกๆ หลานๆ ของชุมชน ถามว่า ทำไมไม่สืบสานพิธีกรรมอย่างนี้ล่ะ? คนเฒ่าคนแก่ก็ตอบว่า เราจะทำไปทำไมในเมื่อทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เหตุผลของชุมชนก็คือ การพัฒนาเข้ามามีบทบาทมากในหมู่ชุมชนคนชนบท ทำให้อะไรหลายๆ อย่างต้องถูกลืมเลือนไป หรือสูญเสียไป  ทางพิธีกรรมก็คือวัฒนธรรมของชุมชน เพราะบางครั้งการทำพิธีกรรมถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงายเกินไป พื้นที่ที่มีท้องทุ่งนากลับไม่มีชลประทาน พื้นที่ที่มีท้องทุ่งนากลับมีชลประทานประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่างในบางชุมชนของลาวจึงไม่มีให้เห็นเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว แม้ว่าพิธีกรรมนั้นจะทำให้ชาวบ้านมีความพยายามที่จะรักษาและหวงแหนไว้  ปีนี้น้ำฟ้าน้ำฝนมาช้าไป แม้ว่าจะถึงเดือนสิงหาคมแล้วก็ตามที บางครอบครัวไม่ได้ปักดำต้นกล้าแม้ต้นเดียวลงในท้องนา ยิ่งทุกวันนี้โครงการปลูกไม้เข้าไปลงในชุมชนมากขึ้นทุกวัน ป่าไม้ถูกนายทุนรุกราน ต้นไม้ใบหญ้าทางธรรมชาติเหลือน้อยลง ฉะนั้นพิธีกรรมนี้จึงอาจจะไม่ได้มีความหมายมากนักสำหรับชาวบ้านอีกต่อไป
สุมาตร ภูลายยาว
ในยามเย็น หลังแสงตะเกียงสว่างขึ้น ความสว่างของแสงไฟตะเกียงก็ตัดกับท้องฟ้ามืดครึ้มไร้ดวงดาวแต้มขอบฟ้า ดูเหมือนว่ายามนี้สายฝนต้นฤดูมาถึงแล้ว ในที่ไกลออกไปฟ้าแลบแปลบปลาบ ทุกครั้งที่ฟ้าแลบ ความสว่างที่เกิดขึ้นเพียงสั้นๆ ทำให้ฟ้าสีดำดูน่ากลัว ไม่นานนักหลังฟ้าร้องเข้ามาใกล้ สายฝนปานฟ้ารั่วก็โถมถั่งลงมายามนี้ปลาหลายชนิดอพยพขึ้นเหนือ เพื่อวางไข่ จะเหลือเพียงปลาบางชนิดเท่านั้นอพยพขึ้นมาช่วงน้ำลด ในช่วงนี้ คนหาปลาไหลมองก็จะเริ่มยุติการหาปลาลง เพราะน้ำในแม่น้ำเป็นน้ำใหญ่หาปลาลำบาก ช่วงน้ำใหญ่นี่เองถือว่าธรรมชาติได้จัดการมนุษย์ และดูแลรักษาตัวเองไปด้วยพร้อมกันในแต่ละฤดูธรรมชาติได้ส่งสัญญาณบอกคนหาปลาให้เฝ้าสังเกตฤดูการอพยพของปลา เพื่อให้คนหาปลาได้ใช้เครื่องมืออันเหมาะสมกับการหาปลาของพวกเขา นอกจากคนหาปลาจะสังเกตธรรมชาติรอบตัวแล้ว คนหาปลายังสังเกตการอพยพของปลาแต่ละชนิด เพื่อจะได้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องว่า เมื่อปลาชนิดไหนอพยพขึ้นมาแล้ว ต่อไปปลาชนิดไหนจะอพยพตามขึ้นมาบ้างชายชราบอกว่า “ในช่วงเดือน ๕ (เดือนเมืองทางภาคเหนือหมายถึงเดือนมีนาคม) ปลาแกงจะขึ้นมาแล้ว พอปลาแกงขึ้นมา ปลาเพี้ย ปลาโมง ก็จะขึ้นตามมา บางทีในช่วงปลาขึ้นถ้าหาปลาได้ก็จะได้ปลาเป็นฝูงเลยทีเดียว มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปลาสะโม้ติดมองรอบเดียวได้เกือบร้อย แต่ตัวไม่ใหญ่ประมาณ ๓ นิ้ว นอกจากคนหาปลาจะรู้เรื่องการอพยพของปลาแล้ว คนหาปลาก็ยังต้องรู้พฤติกรรมของปลาในช่วงต่างๆ อีกด้วย ปลาฝาไม--ตะพาบน้ำ มันจะดุร้ายในช่วงเดือน ๘ ถ้ากินเบ็ดแล้วเวลาเราไปดู ถ้าไปเหยียบโดนสายเบ็ดหรือไปจับสายเบ็ด มันจะแกว่งไปมาใส่เรา ไมของปลาฝาไมจะมีลักษณะเหมือนหับหางของแลนหรือตัวตะกวด เวลามีคนเข้าใกล้ มันจะแกว่งหางของมันใส่เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดกับมัน ไมของปลาฝาไมยาวราวครึ่งวาจะมีโคนใหญ่และเรียวแหลมด้านปลาย ถ้ามันฟาดโดนเราจะปวด”“แล้วพ่อเฒ่าเคยโดนมันฟาดหรือเปล่า”“เคยโดนหลายครั้งอยู่ เวลาโดนมันฟาดแล้วจะเจ็บตรงจุดที่มันฟาด”“แล้วพ่อเฒ่าทำอย่างไรถึงหาย”“ก็เอายาขี้ผึ้งใส่ ถ้าไม่หายกินยาปวดหาย อย่างยาปวดหายนี่กินก่อนครึ่งหนึ่งแล้วเอาอีกครึ่งหนึ่งมาผสมกับยาผึ้งแล้วเอาโปะไว้ตรงไมมันปัก จากนั้นก็เอาไปอิงไฟ สักพักก็ไม่ปวดแล้ว”“แล้วพ่อเฒ่าเคยเล่าเรื่องการรักษาแบบนี้ให้ใครฟังหรือเปล่า”“เล่าให้ฟังหมดแหล่ะ โดยเฉพาะลูกๆ ที่ไปหาปลาด้วยกัน เล่าให้มันฟังหมด เล่าไปก็สอนมันไปด้วย มันจะได้รู้เวลาเราไม่อยู่จะได้เอาตัวรอดได้”“พ่อเฒ่า ผมเคยได้ยินมาว่าคนโบราณสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมตากแห้งไว้ไล่ผีปอบใช่ไหม”“ใช่ คนสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมไว้ไล่ผีปอบจริง แต่ก่อนบ้านนี้เคยมี ตอนนี้ไม่มีแล้วเอาให้ลูกไปหมด”ในความคิดของผม ชายชราเป็นคนไม่หวงความรู้ หากรู้มากก็บอกมาก รู้น้อยก็บอกน้อย ไม่เคยหวงวิชาความรู้ ชายชราช่างแตกต่างกับหลายๆ คน บางคนที่ผมรู้จัก ความรู้ของพวกเขาไม่เคยแจกจ่ายไปยังคนอื่น ซ้ำร้ายบางคนยังอาศัยความรู้ที่มีมากกว่าคนอื่นมากอบโกยเอาผลประโยชน์เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว ในสังคมของเมืองใหญ่แล้ว หลายคนยิ่งใช้ความรู้ที่ตัวเองมีมากกว่าคนอื่น เพื่อตักตวงเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุด น้อยนักหนาที่เราจะได้พบเห็นการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นอย่างเต็มใจ...ครั้งหนึ่งมีคนหนุ่มอายุคราวลูกอยากรู้วิธีการสานตุ้มปลาเอี่ยน ชายชราก็สอนคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้น ในขณะสอน ชายชราไม่ได้สอนเพียงวิธีการทำตุ้มอย่างเดียว ชายชรายังสอนวิธีการใส่ ลักษณะพื้นที่ใช้เครื่องมือ รวมทั้งการใช้เหยื่อล่อปลาไหลให้เข้ามาในตุ้ม หลังจากคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้นได้วิชาความรู้จากชายชราไป เขาก็นำไปใช้ ต่อมาเมื่อถึงฤดูฝนชายชราก็มีปลาไหลกินไม่ได้ขาด เพราะคนหนุ่มคราวลูกนำมาให้ สำหรับคนร่วมสายน้ำ การพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในด้านต่างๆ ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว บางครั้งชายชราวางเบ็ดแล้วไม่ได้กลับไปดู ชายชราก็ฝากให้คนหาปลาอีกที่หาปลาอยู่ใกล้ๆ ดูให้ บ่อยครั้งที่ได้ปลาในรูปแบบนี้ เมื่อได้ปลาในแต่ละครั้งชายชราเองก็จะแบ่งให้กับคนหาปลาคนนั้นด้วย ถ้าครั้งไหนไม่ได้แบ่งเป็นปลาไปให้ ชายชราก็ชักชวนคนหาปลาคนนั้นมาทำลาบปลากินที่กระท่อมของแกแทนพูดถึงคนหาปลาอีกคนที่หาปลาอยู่ใกล้กับชายชรา ในความเป็นจริง คนหาปลาคนนี้อายุอ่อนกว่าชายชราไม่มากนัก คนหาปลาคนนี้สร้างกระท่อมขึ้นมาไม่ไกลจากกระท่อมของชายชรา บ่อยครั้งคนหาปลาคนนี้มักจะมายังกระท่อมของชายชรา ในวันที่คนหาปลาคนนี้มาถึงกระท่อมของชายชรา วงข้าวจะลากยาวตั้งแต่หัวค่ำไปจนเหล้าหยดสุดท้ายหมด ห้วงยามเช่นนี้แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่า คนหาปลาทั้งสองจะมีความสุขกับมันเป็นพิเศษบ่อยครั้งเช่นกันวงข้าวลากยาวไปจนดึกดื่น ในการดื่มกินแต่ละครั้ง ชายชรามักเล่าเรื่องราวต่างๆ  ในแม่น้ำสายนี้ให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ ทุกเรื่องที่ชายชรานำมาเล่า ชายชราบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้บนสมุดอันเขียนด้วยดินสอคือชีวิตทั้งชีวิตวิถีทางที่เป็นอยู่ของชายชรา บางครั้งการได้อยู่กับธรรมชาติ และเห็นความงามการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้คงได้กล่อมเกลาให้ชายชราเป็นคนอ่อนโยน และคิดถึงคนอื่นพอๆ กับการคิดถึงตัวเอง...แสงแดดของยามเช้าในฤดูฝนหลบหายเข้าไปในเฆมสีดำ ไม่ยอมออกมาทำหน้าที่เหมือนเดิม แม้ว่าตอนนี้จะสายแล้วก็ตามที ปีนี้ฝนตกมามากกว่าทุกปี น้ำขึ้นเร็ว บางคนปลูกข้าวโพดไว้ตามริมฝั่งน้ำเก็บข้าวโพดไม่ทันน้ำก็เอ่อท่วม พอถึงวันเก็บข้าวโพดต้องพายเรือเก็บกันเลยทีเดียวหากจะพูดตามความจริงแล้ว ถึงฝนจะตกมากเพียงใด น้ำในแม่น้ำก็คงไม่ขึ้นเร็ว แต่ ๔-๕ ปีที่ผ่านหลังจากมีข่าวการสร้างเขื่อนในตอนบนของแม่น้ำ ผู้คนริมฝั่งน้ำรวมทั้งคนหาปลา ทุกคนต่างเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ บ่อยครั้งที่น้ำขึ้นมา ๓ วัน พอวันที่ ๔ น้ำลง ในความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำสายนี้ตั้งแต่อดีตมาไม่เคยเป็นอย่างนี้ พอถึงช่วงหน้าฝนน้ำก็จะเอ่อและท่วมนองไปจนถึงออกพรรษา พอออกพรรษาแล้วหลังลอยกระทงน้ำก็จะลดลง แม่น้ำเป็นอยู่เช่นนี้มาชั่วนาตาปี แต่พอการก่อสร้างเขื่อนเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ก็เดินทางมาอย่างไม่บอกกล่าวหลังการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ ชายชราก็หาปลาได้น้อยลง บางวันหาปลาทั้งเช้า-เย็น ปลาตัวเดียวก็ไม่ได้ บ่อยครั้งที่หาปลาไม่ได้ ชายชราก็กลับมาครุ่นคิดถึงเรื่องราวในอดีตมากขึ้น ลึกลงไปในแววตาของชายชรา ทุกครั้งที่แกนึกถึงเรื่องราวในหนหลัง น้ำตาจะเอ่อท่วมดวงตาของชายชราอยู่เสมอนอกจากในตอนบนของแม่น้ำจะถูกกั้นด้วยเขื่อนแล้ว ชายชราก็ได้ข่าวมาอีกว่ามีเรือใหญ่เดินทางมาถึงเชียงแสน เรือใหญ่เดินทางมาพร้อมกับการระเบิดแก่งหิน เมื่อระเบิดแก่งหินออก ปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่งก็ไม่มี เพราะแก่งหินในแม่น้ำคือบ้านของปลา เมื่อไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เมื่อไม่มีปลาคนหาปลาก็หาปลาไม่ได้ภายใต้ความคิดของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์จึงจัดการธรรมชาติให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเอง อย่างเรื่องราวที่ชายชราเล่าให้ผมฟังนั้นก็เช่นกัน ในความคิดของคนหาปลาคนหนึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า พวกเขาคิดเรื่องราวใด เมื่อพวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำอันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของพวกเขาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกชายชราไม่อาจทำความคุ้นเคยกับมันได้ แต่พอหลายปีผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นความปกติในสายตาของชายชรา แต่ทุกครั้งที่มีคนถามถึงความเปลี่ยนแปลง ชายชราก็จะเล่าให้ฟังด้วยความคับแค้นในใจ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนถามชายชราว่า ถ้าเขามาระเบิดหินตรงที่ใช้หาปลาจะทำยังไงชายชราได้บอกกับคนที่ถามว่า หากทำจริงก็จะบอกคนที่มาทำว่า “จะเอามันออกทำไม ถ้าเอาออกแล้วมันเกิดไม่ดีขึ้นมา มันต่อกลับมาไม่ได้ หินมันไม่ใช่กระดาษ ถ้าเป็นกระดาษเราฉีกแล้วเอากาวมาต่อกลับไปใหม่ได้ แต่หินเอากาวมาต่อใหม่ไม่ได้ อย่าทำเลยปล่อยมันไว้อย่างนั้นแหละ ถ้าเรือมันมาไม่ได้ทำไมเราไม่ทำเรือให้เหมาะสมกับแม่น้ำ ถ้าหน้าแล้งก็ใช้เรือลำเล็ก มันก็มาได้ ไม่ใช่ว่าทำแม่น้ำให้เหมาะสมกับเรือ แค่เขาคิดว่าสิ่งที่อยู่ในน้ำคือตัวขัดขวางการเดินเรือ เขาก็คิดผิดแล้ว คนจีนนี่ก็แปลกนะ เหมาเจ๋อตงยังเคยบอกเลยว่า ถ้าเราจะทำรองเท้า เราต้องตัดเกือกใส่เท้า ไม่ใช่ตัดเท้าไปใส่เกือก แก่งหินที่อยู่ในน้ำมันเป็นบ้านของปลา ถ้าระเบิดแล้วปลาก็ไม่มีที่อยู่ เอาแก่งหินออกก็เหมือนเรากำลังฆ่าแม่ของเรา”ผมเองก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่า คำว่า ‘แม่’ ที่ชายชรากล่าวถึงนั้นหมายถึงอะไร แต่ผมรับรู้ได้ว่า ชายชราก็เป็นห่วงสายน้ำสายนี้ไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ‘แม่’ ในความหมายของชายชราอาจหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ให้ชีวิตกับเรา และเราพึ่งพาอาศัยมีชีวิตอยู่มาได้ สิ่งนั้นย่อมได้รับการเรียกว่า แม่ ไม่ได้แตกต่างจากแม่ผู้ให้กำเนิดของเรา เพราะแม่ผู้ให้กำเนิดของเราก็ดูแลเราและให้เราพึ่งพาอาศัยอยู่ได้ตลอดเวลา แม้ว่าความคิดของชายชราอาจจะเป็นความคิดจากคนตัวเล็กๆ ในมุมมองของใครหลายคน แต่สำหรับผมแล้ว ผมถือว่านี่เป็นความคิดอันยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่ยินดีจะเข้าร่วมเพื่อปกป้องสิ่งที่ตัวเองเคยได้พึ่งพาอาศัย แม้ว่าการปกป้องอาจบรรลุเป้าหมายช้าก็ตามทีจากความรักที่ชายชรามีต่อสายน้ำสายนี้ จึงไม่แปลกนัก คำที่กลั่นออกมาจากดวงใจของชายชราและออกมาเป็นคำพูดว่า ‘ถ้าเราเอาแก่งหินในสายน้ำโขงออกก็เหมือนกับว่าเรากำลังฆ่าแม่’ ในวันนี้แม่น้ำกำลังเปลี่ยนไป แต่จิตใจของคนบางคนกลับไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชายชราแห่งคนนี้ ชายชรารักสายน้ำสายนี้เท่าๆ กับชีวิตของแก เพราะสายน้ำได้ให้ชีวิต และให้เรื่องราวมากมายโดยมิคาดหวังว่าคนเช่นชายชราจะรักและเทิดทูนแม่น้ำสายนี้เพียงใด แม่น้ำได้ให้ประโยชน์กับมนุษย์มากมาย และแม่น้ำก็ไม่เคยเรียกร้องให้ผู้คนผู้ได้รับประโยชน์หันกลับมาห่วงใยแม่น้ำ แต่การที่คนจะตระหนักถึงความรักต่อสายน้ำนั้น ล้วนเกิดมาจากบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำถ่ายเทออกมาจากจิตใจของคนเราอย่างแท้จริง และบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำของใครจะได้รับการถ่ายเทออกมาจิตใจก่อนกันเท่านั้นเอง สำหรับชายชรา บ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำสายน้ำนี้ของแกได้เกิดขึ้นแล้ว และมันจะยังคงอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าชีวิตของแกจะเดินทางจากโลกนี้ไปสู่เชิงตะกอนอันเป็นฉากจบของชีวิตคนหนึ่งคน
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์หลังจากได้อ่านข้อความในหนังสือที่ คมช. ส่งถึงคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ของ กกต. ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบว่า หนังสือ ซึ่งออกโดย คมช. (สปค.ศปศ.คมช. ลับ-ด่วนมาก ที่ คมช ๐๐๐๓.๕/๔๘๐ ลง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐) นั้น เข้าข่ายความผิดฐาน เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ หรือไม่ เพื่อขอให้ทบทวนบทบาทของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากการออกหนังสือฉบับดังกล่าวของ คมช.เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้ว ก็เกิดความรู้สึก ‘สบายใจ' ชอบกลเนื่องด้วยการให้เหตุผลของ คมช. ทำให้เห็นแล้วว่า ภาระต่างๆ ที่ประชาชนอย่างเราๆ จะต้องแบกรับในการเลือกตั้งครั้งนี้มันออกจะน้อยแสนน้อย นั่นเพราะ คมช.วาดภาพให้เห็นแล้วว่า พรรคไทยรักไทยนั้นได้เปลี่ยนโฉมมาเป็นพรรคพลังประชาชน และเตรียมจะแก้แค้น "คิดบัญชี" กับผู้เกี่ยวข้องอันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสร้างความแตกสามัคคีให้สืบเนื่องต่อไป ทำให้ คมช.และคณะรัฐมนตรี "ต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการป้องปรามมิให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นการทำลายความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ"ก็ในเมื่อที่ผ่านมา ‘ความมั่นคง' เป็นเรื่องของทหารมาตลอดอยู่แล้ว เราก็คงต้องให้เขาจัดการกันไป !ไล่เรียงมาตั้งแต่ เริ่มต้นรัฐประหาร ซึ่งบรรดาทหารก็ทำเพราะไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้น (แม้ว่า ที่ผ่านมา การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะได้รับการกล่าวขวัญว่า ‘เป็นไปด้วยความเรียบร้อย' ก็ตาม) หรือ เพราะเหตุว่าอาจมีการขนส่งยาเสพติดกันในบริเวณชายแดน มีปัญหาแรงงานข้ามชาติ จึงต้องมีการคงกฎอัยการศึกเอาไว้ (ทั้งก่อน-หลังประชามติ) เพื่อรักษา ‘ความมั่นคงภายใน'การรณรงค์ให้ไปลงประมาติรับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองสงบ นี่ก็เรื่องของความมั่นคง (แม้ว่า การไปลงประชามติ รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญ จะเป็น ‘สิทธิ' ที่หลายคนในกองทัพบอกว่า ‘เคารพ' ก็ตาม) งบประมาณจากภาษีของประชาชนไม่รู้กี่....ล้าน ที่จะต้องนำไปใช้ซื้อรถหุ้มเกราะ เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ ซึ่งก็เพื่อ ‘ความมั่นคง' ของกองทัพ ของประเทศล้วนๆ การผ่านวาระแรกของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายใน ที่ประชาชนอาจถูกกักบริเวณได้ ค้นบ้านได้ ห้ามชุมนุมได้ ปิดถนนได้ แต่...ก็เพื่อ ‘ความมั่นคง' ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เอกสารลับคราวนี้ ก็อย่างที่ทหารบอกนั่นแหละว่า เพื่อป้องกันการ "คิดบัญชี" อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของทหารที่ทำรัฐประหารของชาติ ก็เท่านั้น ส่วนเรื่องความเป็นกลางนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ช่วยตีความให้ ไล่ดูตั้งแต่การจัดการลงประชามติที่ผ่านมาก็ได้ แม้ว่า กกต.บางคน (สองคน) จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำมาลงประชามติด้วย และบางทีเจ้าหน้าที่ กกต.บางคนก็ออกมาห้ามการรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ หรือไม่ก็ปล่อยให้องค์กรของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่จัดการลงประชามติ ออกโรงมารณรงค์เรื่องรับรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองแต่ก็ยังยืนยันว่า กกต. ‘เป็นกลาง' มาตลอดเพราะฉะนั้น เลือกตั้งคราวนี้จึง ‘ไม่น่ากังวล' เลยแม้แต่น้อย  ความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร ความเป็นกลางก็ยกให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ส่วนประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ เขาบอกว่า มีหน้าที่กา (ก็กาไป) ขออย่างเดียว ผลออกมาเป็นยังไง อย่ามาว่า... ‘โง่' ก็แล้วกัน 
new media watch
  แนวคิดเรื่อง ‘ห้องสมุดไร้กำแพง' หรือ Library without wall ถูกพูดถึงในหลักสูตรการเรียนรู้ของเหล่าบรรณารักษ์มาหลายปีดีดักแล้ว และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำลายกำแพงห้องสมุดลง เพื่อทำให้แนวคิดนี้เป็นจริงขึ้นมาได้พักหลังๆ เลยไม่ค่อยมีคนติดกับภาพบรรณารักษ์ยุคก่อนๆ ที่ต้องอนุรักษ์ความเชย ความเฮี้ยบ และเงียบเอาไว้กับตัว เพราะบรรณารักษ์ยุคใหม่เปิดตัวเองกับโลกภายนอก (และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) มากขึ้นเยอะบล็อกยอดนิยมเจ้าหนึ่งในเวิร์ดเพรส ได้แก่ บล็อกเกี่ยวกับห้องสมุด projectlib.wordpress.com ซึ่งเจ้าของบล็อกประกาศตัวว่าเป็นหนอนหนังสือเต็มขั้น และเป็นหนึ่งในบรรณารักษ์ยุคดิจิทัลที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองพอๆ กับที่สนใจข้อมูลที่เป็นสาระความรู้อื่นๆ ด้วย เพราะอย่างนี้ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในแวดวงต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องหนังสือ ห้องสมุด วัฒนธรรม สังคม ที่น่ารู้ เลยถูกรวบรวมเอาไว้ในบล็อกนี้อย่างจุใจที่สำคัญ บรรณารักษ์ที่นี่ไม่มองลอดแว่นหรือทำตาเขียว กรณีที่ใครคิดจะอ่านออกเสียงดังๆ หรือจะเอาอาหารมากินประกอบการอ่านบล็อกห้องสมุดแห่งนี้แน่ๆ
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
วันอมาวสีครั้งต่อไป 10 ธันวาคม 2550 นะคะ“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่“สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสรธ กรุงไทย สาขาบางบัวทอง หรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม