Skip to main content

ในยามเย็น หลังแสงตะเกียงสว่างขึ้น ความสว่างของแสงไฟตะเกียงก็ตัดกับท้องฟ้ามืดครึ้มไร้ดวงดาวแต้มขอบฟ้า ดูเหมือนว่ายามนี้สายฝนต้นฤดูมาถึงแล้ว ในที่ไกลออกไปฟ้าแลบแปลบปลาบ ทุกครั้งที่ฟ้าแลบ ความสว่างที่เกิดขึ้นเพียงสั้นๆ ทำให้ฟ้าสีดำดูน่ากลัว ไม่นานนักหลังฟ้าร้องเข้ามาใกล้ สายฝนปานฟ้ารั่วก็โถมถั่งลงมา

ยามนี้ปลาหลายชนิดอพยพขึ้นเหนือ เพื่อวางไข่ จะเหลือเพียงปลาบางชนิดเท่านั้นอพยพขึ้นมาช่วงน้ำลด ในช่วงนี้ คนหาปลาไหลมองก็จะเริ่มยุติการหาปลาลง เพราะน้ำในแม่น้ำเป็นน้ำใหญ่หาปลาลำบาก ช่วงน้ำใหญ่นี่เองถือว่าธรรมชาติได้จัดการมนุษย์ และดูแลรักษาตัวเองไปด้วยพร้อมกัน

ในแต่ละฤดูธรรมชาติได้ส่งสัญญาณบอกคนหาปลาให้เฝ้าสังเกตฤดูการอพยพของปลา เพื่อให้คนหาปลาได้ใช้เครื่องมืออันเหมาะสมกับการหาปลาของพวกเขา

นอกจากคนหาปลาจะสังเกตธรรมชาติรอบตัวแล้ว คนหาปลายังสังเกตการอพยพของปลาแต่ละชนิด เพื่อจะได้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องว่า เมื่อปลาชนิดไหนอพยพขึ้นมาแล้ว ต่อไปปลาชนิดไหนจะอพยพตามขึ้นมาบ้าง

ชายชราบอกว่า “ในช่วงเดือน ๕ (เดือนเมืองทางภาคเหนือหมายถึงเดือนมีนาคม) ปลาแกงจะขึ้นมาแล้ว พอปลาแกงขึ้นมา ปลาเพี้ย ปลาโมง ก็จะขึ้นตามมา บางทีในช่วงปลาขึ้นถ้าหาปลาได้ก็จะได้ปลาเป็นฝูงเลยทีเดียว มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปลาสะโม้ติดมองรอบเดียวได้เกือบร้อย แต่ตัวไม่ใหญ่ประมาณ ๓ นิ้ว

นอกจากคนหาปลาจะรู้เรื่องการอพยพของปลาแล้ว คนหาปลาก็ยังต้องรู้พฤติกรรมของปลาในช่วงต่างๆ อีกด้วย ปลาฝาไม--ตะพาบน้ำ มันจะดุร้ายในช่วงเดือน ๘ ถ้ากินเบ็ดแล้วเวลาเราไปดู ถ้าไปเหยียบโดนสายเบ็ดหรือไปจับสายเบ็ด มันจะแกว่งไปมาใส่เรา ไมของปลาฝาไมจะมีลักษณะเหมือนหับหางของแลนหรือตัวตะกวด เวลามีคนเข้าใกล้ มันจะแกว่งหางของมันใส่เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดกับมัน ไมของปลาฝาไมยาวราวครึ่งวาจะมีโคนใหญ่และเรียวแหลมด้านปลาย ถ้ามันฟาดโดนเราจะปวด”

“แล้วพ่อเฒ่าเคยโดนมันฟาดหรือเปล่า”
“เคยโดนหลายครั้งอยู่ เวลาโดนมันฟาดแล้วจะเจ็บตรงจุดที่มันฟาด”
“แล้วพ่อเฒ่าทำอย่างไรถึงหาย”
“ก็เอายาขี้ผึ้งใส่ ถ้าไม่หายกินยาปวดหาย อย่างยาปวดหายนี่กินก่อนครึ่งหนึ่งแล้วเอาอีกครึ่งหนึ่งมาผสมกับยาผึ้งแล้วเอาโปะไว้ตรงไมมันปัก จากนั้นก็เอาไปอิงไฟ สักพักก็ไม่ปวดแล้ว”

“แล้วพ่อเฒ่าเคยเล่าเรื่องการรักษาแบบนี้ให้ใครฟังหรือเปล่า”
“เล่าให้ฟังหมดแหล่ะ โดยเฉพาะลูกๆ ที่ไปหาปลาด้วยกัน เล่าให้มันฟังหมด เล่าไปก็สอนมันไปด้วย มันจะได้รู้เวลาเราไม่อยู่จะได้เอาตัวรอดได้”
“พ่อเฒ่า ผมเคยได้ยินมาว่าคนโบราณสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมตากแห้งไว้ไล่ผีปอบใช่ไหม”
“ใช่ คนสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมไว้ไล่ผีปอบจริง แต่ก่อนบ้านนี้เคยมี ตอนนี้ไม่มีแล้วเอาให้ลูกไปหมด”

ในความคิดของผม ชายชราเป็นคนไม่หวงความรู้ หากรู้มากก็บอกมาก รู้น้อยก็บอกน้อย ไม่เคยหวงวิชาความรู้ ชายชราช่างแตกต่างกับหลายๆ คน บางคนที่ผมรู้จัก ความรู้ของพวกเขาไม่เคยแจกจ่ายไปยังคนอื่น ซ้ำร้ายบางคนยังอาศัยความรู้ที่มีมากกว่าคนอื่นมากอบโกยเอาผลประโยชน์เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว ในสังคมของเมืองใหญ่แล้ว หลายคนยิ่งใช้ความรู้ที่ตัวเองมีมากกว่าคนอื่น เพื่อตักตวงเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุด น้อยนักหนาที่เราจะได้พบเห็นการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นอย่างเต็มใจ...

ครั้งหนึ่งมีคนหนุ่มอายุคราวลูกอยากรู้วิธีการสานตุ้มปลาเอี่ยน ชายชราก็สอนคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้น ในขณะสอน ชายชราไม่ได้สอนเพียงวิธีการทำตุ้มอย่างเดียว ชายชรายังสอนวิธีการใส่ ลักษณะพื้นที่ใช้เครื่องมือ รวมทั้งการใช้เหยื่อล่อปลาไหลให้เข้ามาในตุ้ม หลังจากคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้นได้วิชาความรู้จากชายชราไป เขาก็นำไปใช้ ต่อมาเมื่อถึงฤดูฝนชายชราก็มีปลาไหลกินไม่ได้ขาด เพราะคนหนุ่มคราวลูกนำมาให้

สำหรับคนร่วมสายน้ำ การพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในด้านต่างๆ ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว บางครั้งชายชราวางเบ็ดแล้วไม่ได้กลับไปดู ชายชราก็ฝากให้คนหาปลาอีกที่หาปลาอยู่ใกล้ๆ ดูให้ บ่อยครั้งที่ได้ปลาในรูปแบบนี้ เมื่อได้ปลาในแต่ละครั้งชายชราเองก็จะแบ่งให้กับคนหาปลาคนนั้นด้วย ถ้าครั้งไหนไม่ได้แบ่งเป็นปลาไปให้ ชายชราก็ชักชวนคนหาปลาคนนั้นมาทำลาบปลากินที่กระท่อมของแกแทน

พูดถึงคนหาปลาอีกคนที่หาปลาอยู่ใกล้กับชายชรา ในความเป็นจริง คนหาปลาคนนี้อายุอ่อนกว่าชายชราไม่มากนัก คนหาปลาคนนี้สร้างกระท่อมขึ้นมาไม่ไกลจากกระท่อมของชายชรา บ่อยครั้งคนหาปลาคนนี้มักจะมายังกระท่อมของชายชรา ในวันที่คนหาปลาคนนี้มาถึงกระท่อมของชายชรา วงข้าวจะลากยาวตั้งแต่หัวค่ำไปจนเหล้าหยดสุดท้ายหมด ห้วงยามเช่นนี้แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่า คนหาปลาทั้งสองจะมีความสุขกับมันเป็นพิเศษ

บ่อยครั้งเช่นกันวงข้าวลากยาวไปจนดึกดื่น ในการดื่มกินแต่ละครั้ง ชายชรามักเล่าเรื่องราวต่างๆ  ในแม่น้ำสายนี้ให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ ทุกเรื่องที่ชายชรานำมาเล่า ชายชราบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้บนสมุดอันเขียนด้วยดินสอคือชีวิตทั้งชีวิต

วิถีทางที่เป็นอยู่ของชายชรา บางครั้งการได้อยู่กับธรรมชาติ และเห็นความงามการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้คงได้กล่อมเกลาให้ชายชราเป็นคนอ่อนโยน และคิดถึงคนอื่นพอๆ กับการคิดถึงตัวเอง...

แสงแดดของยามเช้าในฤดูฝนหลบหายเข้าไปในเฆมสีดำ ไม่ยอมออกมาทำหน้าที่เหมือนเดิม แม้ว่าตอนนี้จะสายแล้วก็ตามที ปีนี้ฝนตกมามากกว่าทุกปี น้ำขึ้นเร็ว บางคนปลูกข้าวโพดไว้ตามริมฝั่งน้ำเก็บข้าวโพดไม่ทันน้ำก็เอ่อท่วม พอถึงวันเก็บข้าวโพดต้องพายเรือเก็บกันเลยทีเดียว

หากจะพูดตามความจริงแล้ว ถึงฝนจะตกมากเพียงใด น้ำในแม่น้ำก็คงไม่ขึ้นเร็ว แต่ ๔-๕ ปีที่ผ่านหลังจากมีข่าวการสร้างเขื่อนในตอนบนของแม่น้ำ ผู้คนริมฝั่งน้ำรวมทั้งคนหาปลา ทุกคนต่างเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ บ่อยครั้งที่น้ำขึ้นมา ๓ วัน พอวันที่ ๔ น้ำลง ในความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำสายนี้ตั้งแต่อดีตมาไม่เคยเป็นอย่างนี้ พอถึงช่วงหน้าฝนน้ำก็จะเอ่อและท่วมนองไปจนถึงออกพรรษา พอออกพรรษาแล้วหลังลอยกระทงน้ำก็จะลดลง แม่น้ำเป็นอยู่เช่นนี้มาชั่วนาตาปี แต่พอการก่อสร้างเขื่อนเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ก็เดินทางมาอย่างไม่บอกกล่าว

หลังการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ ชายชราก็หาปลาได้น้อยลง บางวันหาปลาทั้งเช้า-เย็น ปลาตัวเดียวก็ไม่ได้ บ่อยครั้งที่หาปลาไม่ได้ ชายชราก็กลับมาครุ่นคิดถึงเรื่องราวในอดีตมากขึ้น ลึกลงไปในแววตาของชายชรา ทุกครั้งที่แกนึกถึงเรื่องราวในหนหลัง น้ำตาจะเอ่อท่วมดวงตาของชายชราอยู่เสมอ

นอกจากในตอนบนของแม่น้ำจะถูกกั้นด้วยเขื่อนแล้ว ชายชราก็ได้ข่าวมาอีกว่ามีเรือใหญ่เดินทางมาถึงเชียงแสน เรือใหญ่เดินทางมาพร้อมกับการระเบิดแก่งหิน เมื่อระเบิดแก่งหินออก ปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่งก็ไม่มี เพราะแก่งหินในแม่น้ำคือบ้านของปลา เมื่อไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เมื่อไม่มีปลาคนหาปลาก็หาปลาไม่ได้

ภายใต้ความคิดของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์จึงจัดการธรรมชาติให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเอง อย่างเรื่องราวที่ชายชราเล่าให้ผมฟังนั้นก็เช่นกัน ในความคิดของคนหาปลาคนหนึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า พวกเขาคิดเรื่องราวใด เมื่อพวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำอันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของพวกเขา

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกชายชราไม่อาจทำความคุ้นเคยกับมันได้ แต่พอหลายปีผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นความปกติในสายตาของชายชรา แต่ทุกครั้งที่มีคนถามถึงความเปลี่ยนแปลง ชายชราก็จะเล่าให้ฟังด้วยความคับแค้นในใจ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนถามชายชราว่า ถ้าเขามาระเบิดหินตรงที่ใช้หาปลาจะทำยังไง

ชายชราได้บอกกับคนที่ถามว่า หากทำจริงก็จะบอกคนที่มาทำว่า
“จะเอามันออกทำไม ถ้าเอาออกแล้วมันเกิดไม่ดีขึ้นมา มันต่อกลับมาไม่ได้ หินมันไม่ใช่กระดาษ ถ้าเป็นกระดาษเราฉีกแล้วเอากาวมาต่อกลับไปใหม่ได้ แต่หินเอากาวมาต่อใหม่ไม่ได้ อย่าทำเลยปล่อยมันไว้อย่างนั้นแหละ ถ้าเรือมันมาไม่ได้ทำไมเราไม่ทำเรือให้เหมาะสมกับแม่น้ำ ถ้าหน้าแล้งก็ใช้เรือลำเล็ก มันก็มาได้ ไม่ใช่ว่าทำแม่น้ำให้เหมาะสมกับเรือ แค่เขาคิดว่าสิ่งที่อยู่ในน้ำคือตัวขัดขวางการเดินเรือ เขาก็คิดผิดแล้ว คนจีนนี่ก็แปลกนะ เหมาเจ๋อตงยังเคยบอกเลยว่า ถ้าเราจะทำรองเท้า เราต้องตัดเกือกใส่เท้า ไม่ใช่ตัดเท้าไปใส่เกือก แก่งหินที่อยู่ในน้ำมันเป็นบ้านของปลา ถ้าระเบิดแล้วปลาก็ไม่มีที่อยู่ เอาแก่งหินออกก็เหมือนเรากำลังฆ่าแม่ของเรา”

ผมเองก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่า คำว่า ‘แม่’ ที่ชายชรากล่าวถึงนั้นหมายถึงอะไร แต่ผมรับรู้ได้ว่า ชายชราก็เป็นห่วงสายน้ำสายนี้ไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ

‘แม่’ ในความหมายของชายชราอาจหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ให้ชีวิตกับเรา และเราพึ่งพาอาศัยมีชีวิตอยู่มาได้ สิ่งนั้นย่อมได้รับการเรียกว่า แม่ ไม่ได้แตกต่างจากแม่ผู้ให้กำเนิดของเรา เพราะแม่ผู้ให้กำเนิดของเราก็ดูแลเราและให้เราพึ่งพาอาศัยอยู่ได้ตลอดเวลา

แม้ว่าความคิดของชายชราอาจจะเป็นความคิดจากคนตัวเล็กๆ ในมุมมองของใครหลายคน แต่สำหรับผมแล้ว ผมถือว่านี่เป็นความคิดอันยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่ยินดีจะเข้าร่วมเพื่อปกป้องสิ่งที่ตัวเองเคยได้พึ่งพาอาศัย แม้ว่าการปกป้องอาจบรรลุเป้าหมายช้าก็ตามที

จากความรักที่ชายชรามีต่อสายน้ำสายนี้ จึงไม่แปลกนัก คำที่กลั่นออกมาจากดวงใจของชายชราและออกมาเป็นคำพูดว่า ‘ถ้าเราเอาแก่งหินในสายน้ำโขงออกก็เหมือนกับว่าเรากำลังฆ่าแม่’

ในวันนี้แม่น้ำกำลังเปลี่ยนไป แต่จิตใจของคนบางคนกลับไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชายชราแห่งคนนี้ ชายชรารักสายน้ำสายนี้เท่าๆ กับชีวิตของแก เพราะสายน้ำได้ให้ชีวิต และให้เรื่องราวมากมายโดยมิคาดหวังว่าคนเช่นชายชราจะรักและเทิดทูนแม่น้ำสายนี้เพียงใด แม่น้ำได้ให้ประโยชน์กับมนุษย์มากมาย และแม่น้ำก็ไม่เคยเรียกร้องให้ผู้คนผู้ได้รับประโยชน์หันกลับมาห่วงใยแม่น้ำ แต่การที่คนจะตระหนักถึงความรักต่อสายน้ำนั้น ล้วนเกิดมาจากบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำถ่ายเทออกมาจากจิตใจของคนเราอย่างแท้จริง และบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำของใครจะได้รับการถ่ายเทออกมาจิตใจก่อนกันเท่านั้นเอง

สำหรับชายชรา บ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำสายน้ำนี้ของแกได้เกิดขึ้นแล้ว และมันจะยังคงอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าชีวิตของแกจะเดินทางจากโลกนี้ไปสู่เชิงตะกอนอันเป็นฉากจบของชีวิตคนหนึ่งคน

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’