หยุดการพูดถึงวรรณคดีปฏิวัติไว้สักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยพูดกันต่อไป...หันมาพูดเรื่องวัฒนธรรมให้อิ่มใจสักนิดหนึ่ง.........
เพื่อนฝั่งเชียงของบอกผมว่า อยากอ่านงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมลาว ผมก็นึกจะเขียนตามนั้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่นึกเอาไว้ เพราะวัฒนธรรมชุมชนในบางแห่งเลือนหายไปอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คงเป็นพิธีกรรมขอน้ำฟ้าน้ำฝนของชุมชนในชนบท เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมก็คิดไปว่า เราจะพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง? จะพูดให้ตัวเราเองฟังก็อายตัวเอง เพราะเหตุการณ์มันไม่ใช่เป็นไปอย่างเดิมแล้ว
ผมขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางพิธีกรรมดีกว่า พูดในสิ่งที่มันไม่จีรังยั่งยืนให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นกัน
ถามว่าพิธีกรรมการขอน้ำฟ้าน้ำฝนนั้นบางชุมชนในลาวเขาทำกันอย่างไร? พิธีกรรมนี้ชุมชนทำขึ้นเนื่องด้วยเหตุว่า ปีใดฟ้าแล้งไม่มีฝนตกลงมาให้ชุ่มฉ่ำเพื่อสนองให้แก่การผลิตผล เช่น การทำนาทำไร่ การเพาะปลูกต่างๆ ในเวลานั้นชุมชนจะรวมตัวกันแล้วถือ ชาม หม้อ ถ้วย และเครื่องไม้เครื่องมือ เดินเที่ยวไปตามบ้านต่างๆ เพื่อขอน้ำ โดยมีคำกลอน หรือกวีที่คนโบรานเคยใช้กันมานาน เช่น
“โอลมเอ๋ยโอลาง ขอกินส้มผักพานางแด่ อ้อแอ้แม่เจ้าเฮือน
เฮือนนี้มีควายเถิก เฮือนนี้มีควายสื่อ
ซื่อเฮือนนี้ซื่อดี สามปีกูยังเต้า รุ่งเช้ากูยังมา มาขอต้นผักพานางแด่”
ชาวบ้านจะใช้กวีนี้ท่องขิ้นบ้านโน้นบ้านนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อไปถึงบ้านใด คนบ้านนั้นก็จะมารวมตัวด้วยแล้วแห่กันไปตามหมู่บ้านต่างๆ เผื่อเป็นการขอ ในความเชื่อของชาวบ้านเชื่อกันว่า พิธีกรรมนี้จะทำให้คำขอของชาวบ้านในเรื่องทุกข์ร้อนไม่มีน้ำสนองแก่การผลิตผลขิ้นไปถึงเทวดาฟ้าแถนให้ช่วยบันดาลประทานน้ำฟ้าน้ำฝนให้
ในบทกวีบรรจุถ้อยคำที่บ่งบอกให้เทวดาทราบว่า ทว่าชาวบ้านมาขอกันอย่างนี้แล้ว หากไม่มีฝนโปรยลงมาแม้แต่เม็ดเดียว ชาวบ้านก็จะเที่ยวขอกันอย่างนี้ตลอดไป จนเกิดผลจริงๆขึ้นมา ชาวบ้านจึงหยุดพิธีกรรมการขอ
ในพิธีกรรมการขอน้ำฟ้าน้ำฝนของเผ่าไตแดง แขวงหัวพัน ไม่ได้หมายความว่า ด้วยความจน หรือเดือดร้อนจึงทำ แต่พิธีกรรมนี้มีมาช้านานนับเป็นหลายร้อยปี นับตั้งแต่เผ่าชนนี้ได้กำเนิดขึ้นบนผืนแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้ มาหลายชั่วอายุคนแล้ว การขอในความคิดของเผ่าไตแดง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจ บริสุทธิ์ใจของพี่น้องในเผ่า เพราะว่าเผ่าไตแดงไม่ได้คิดว่าการขอนั้นเป็นเรื่องที่เสียหายอะไร แต่กลับถือว่าเป็นการทานน้ำใจให้กันมากกว่าการดูถูกเหยียดหยาม
พิธีกรรมแบบนี้ส่วนมากแล้วเป็นพิธีกรรมของเผ่าไตแหลง (ไตแดง) ในลาวทางภาคเหนือ เช่น แขวงหัวพันแล้วล่องลงไปเมืองเวียงไช ซึ่งเป็นแดนฐานที่มั่นของการปฏิวัติตอนสงครามเมื่อครั้ง 30 ปีก่อน พิธีกรรมสิ้นลงผลก็ปรากฎให้เห็นว่า สายฝนก็โปรยปรายลงมา ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อกันสืบมา
แต่ในทุกวันนี้พิธีกรรมนั้นได้หายไปนานแล้ว จนไม่มีใครจำได้ว่า มันหายไปนานเท่าไร กี่ปีกี่เดือนที่พิธีกรรมนี้ไม่คงตัวสืบอยู่คู่ลูกๆ หลานๆ ของชุมชน ถามว่า ทำไมไม่สืบสานพิธีกรรมอย่างนี้ล่ะ? คนเฒ่าคนแก่ก็ตอบว่า เราจะทำไปทำไมในเมื่อทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เหตุผลของชุมชนก็คือ การพัฒนาเข้ามามีบทบาทมากในหมู่ชุมชนคนชนบท ทำให้อะไรหลายๆ อย่างต้องถูกลืมเลือนไป หรือสูญเสียไป ทางพิธีกรรมก็คือวัฒนธรรมของชุมชน เพราะบางครั้งการทำพิธีกรรมถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงายเกินไป พื้นที่ที่มีท้องทุ่งนากลับไม่มีชลประทาน พื้นที่ที่มีท้องทุ่งนากลับมีชลประทาน
ประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่างในบางชุมชนของลาวจึงไม่มีให้เห็นเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว แม้ว่าพิธีกรรมนั้นจะทำให้ชาวบ้านมีความพยายามที่จะรักษาและหวงแหนไว้ ปีนี้น้ำฟ้าน้ำฝนมาช้าไป แม้ว่าจะถึงเดือนสิงหาคมแล้วก็ตามที บางครอบครัวไม่ได้ปักดำต้นกล้าแม้ต้นเดียวลงในท้องนา ยิ่งทุกวันนี้โครงการปลูกไม้เข้าไปลงในชุมชนมากขึ้นทุกวัน ป่าไม้ถูกนายทุนรุกราน ต้นไม้ใบหญ้าทางธรรมชาติเหลือน้อยลง ฉะนั้นพิธีกรรมนี้จึงอาจจะไม่ได้มีความหมายมากนักสำหรับชาวบ้านอีกต่อไป