เขียน: แสงพูไชย อินทะวีคำ
แปล: สุมาตร ภูลายยาว
แม้จะบิดเร่งคันเร่งเท่าไหร่ รถจักรยานยนต์ยังวิ่งช้าเหมือนเต่าคลาน ที่เป็นอย่างนี้คงเพราะความเร่งรีบอย่างไปถึงไปรษณีย์ให้เร็ว เพราะชั่วโมงทำงานใกล้มาถึง มือบิดคันเร่งพอๆ กับหัวใจที่ร้อนรนกลัวไม่ทันเวลา สายตาจึงต้องเพ่งมองไปตามถนนเพื่อหลบรถคันแล้วคันเล่าก่อนจะเลี้ยวซ้ายเข้าไปสู่ไปรษณีย์กลาง
เมื่อเข้าไปถึงเคาน์เตอร์ได้ไม่ถึง ๕ นาทีก็มีคนอายุประมาณ ๓๐ กว่าปีวิ่งเข้ามาทักทาย
“โอ! พ่อเฒ่าสบายดีไหม จำฉันได้ไหม ฉันชื่อตุก”
ชายชราแต่งตัวเหมือนคนที่เพิ่งเดินทางมาจากชนบทเข้ามาในเมืองมองหน้าชายคนนั้นอย่างแปลกประหลาด ท่าทางของชายชราเก้อเขินงุนงงทั้งไม่อยากจะเชื่อความทรงจำของตัวเอง ทั้งแปลกใจเพราะคิดว่าไม่เคยได้พบกับชายวัยกลางคนๆ นี้มาก่อน พลางตอบไปสั้นๆ ว่า
“จำไม่ได้หรอก”
“อ้าว! ฉันเป็นเพื่อนลูกชายคนที่อยู่อเมริกาของพ่อเฒ่า ไอ้เอี่ยวนั่นหนา”
“จริงหรือ”
“จริง! เขาพูดต่อ ‘คราวที่แล้วมันฝากเงินมาให้พ่อเฒ่า ๒๐๐ ดอลล่าร์ใช่หรือเปล่า’
คำพูดประโยคสุดท้ายยิ่งทำให้ชายชรางุนงงมากขึ้น ชายชราพยายามทวนความทรงจำของตนเองด้วยการนึกถึงบรรดาลูกๆ หลานๆ ที่เคยเป็นเพื่อนกับเอี่ยวลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตนเอง แต่ยิ่งนึกถึงเพื่อนของลูกชายมากเท่าใด ชายชรายิ่งมืดแปดด้าน เพราะจะพยายามนึกอย่างไรก็ไม่เคยเห็นใบหน้าของชายแปลกหน้าคนนี้เลยสักครั้ง
“พ่อ! เดินเรื่องเสร็จหรือยัง”
“ยัง! พ่อยังไม่ได้ทำอะไรเลย”
“ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวลูกจัดการให้”
การขันอาสาของชายวัยกลางคนทำให้ชายชราแปลกประหลาดใจ พ่อเฒ่าทำตาโตด้วยความแปลกใจทั้งเกรงใจ สารพัดความคิดที่วิ่งเข้ามาในสมอง ภายหลังที่เอาใบเช็คแลกเงินมาเรียบร้อยแล้ว ชายชรายืนนิ่งราวเหมือนคนกำลังใช้ความคิด
“พ่อ! ไปถอนเงินสิ เสร็จแล้วเดี๋ยวลูกจะไปส่ง”
ทั้งทำเรื่องถอนเงินทั้งคิดไปต่างๆ นานา ‘แล้วมันจะไปส่งเรายัง ในเมื่อเราเองก็ขี่รถจักรยานยนต์มา’ ชายชราครุ่นคิดไปด้วยขณะทำเรื่องถอนเงิน พอถอนเงินเสร็จก็เป็นอันว่าเวลาทำการหมดลงพอดี ชายชรากลับออกมายืนนิ่งอยู่ขอบประตูพร้อมกับเงินสามล้านกว่ากีบ ชายชรายังคงคิดกังวลถึงเรื่องเงินของตัวเอง ถ้าขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพร้อมกับการแบกถุงเงินใบใหญ่อย่างนี้มันจะเสี่ยงเกินไปหรือเปล่า
ในขณะที่ชายชรากำลังคาราคาซังกับความคิดอยู่นั้นก็มีเสียงดังมาจากข้างหลัง
“ไป! เดี๋ยวลูกจะไปส่ง”
เมื่อถูกชวนกลับบ้าน ความคิดต่างๆ ก็ถาโถมเข้ามา ถึงแม้นว่าชายชราจะไม่ได้ฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ และอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ แต่ชายชราก็รู้ข่าวจากชาวบ้าน ชาวเมืองเกี่ยวกับคนถูกหลอกลวง
ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นเรียงหน้ากันเข้ามาในจิตใต้สำนึกของชายชรา ภาพของชายชราคนหนึ่งถือถุงเงินออกจากธนาคารก็มีคนเดินเข้ามาอาสาไปส่งถึงบ้าน
“นั่นรถของลูก” ชายคนนั้นชี้นิ้วไปที่รถกระบะสี่ประตูแล้วพูดต่อ “ไปรอลูกอยู่ตรงนั้น เดี๋ยวลูกไปซื้อของก่อน”
แล้วชายวัยกลางคนคนนั้นก็หายไป ราว ๒๐ นาที จากนั้นเขาก็กลับมาหาชายชราที่รออยู่รถด้วยท่าทีลุกลี้ลุกลน
“ยังไม่ไปหรือลูก” ชายชราร้องถาม
“ยังเหลือนิดหนึ่ง...” เขาอึ้งอยู่ครู่หนึ่งแล้วกลับมาพูดกับชายชรา “ลูกกำลังจะซื้อเฟอร์นิเจอร์ แต่เงินลูกมีไม่พอหนึ่งล้าน ลูกยืมพ่อก่อนได้ไหม ตอนไปส่งพ่อเฒ่าลูกจะแวะเอาคืนให้”
ชายชราตกลงให้เงินชายคนนั้นไปด้วยความสัตย์ซื่อ พอได้เงินล้านกีบแล้ว เขาก็หายเข้าไปในย่านชุมชน ชายชรารออยู่ที่รถด้วยหัวใจร้อนรน เพราะชายคนนั้นหายไปนานกว่าที่พูดกันไว้ ตอนนี้ก็ผ่านไปชั่วโมงกว่าแล้ว การรอคอยเป็นไปอย่างนั้นจนถึงเที่ยงวัน แต่ชายชราก็ไม่เห็นวี่แววว่าชายคนนั้นจะกลับมา
เลยเที่ยงวันไปไม่มากก็มีสองสามีภรรยาเดินเข้ามาที่รถแล้วเอ่ยถามชายชราว่า
“พ่อเฒ่านั่งทำอะไรอยู่ตรงนี้”
“พ่อมานั่งรอคนที่บอกว่าจะไปส่งพ่อที่บ้าน!”
“พ่อเฒ่าเอ้ย! รถคันนี้เป็นของลูกเอง”
“อ้าว ก็ชายหนุ่มคนนั้นบอกว่ารถคันนี้เป็นรถของเขานะ เขาบอกให้พ่อรออยู่ที่นี้สักแป๊บ เขาบอกจะไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ เงินเขาไม่พอก็ยังมายืมจากพ่อตั้งล้านกีบ”
สองสามีภรรยาต่างมองหน้ากันด้วยความประหลาดใจ และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ จึงหันหน้ากลับมาคุยกับชายชรา
“พ่อเฒ่าเอ้ย! พ่อเฒ่าโดนคนไม่ดีหลอกลวงแล้วละ นี่เป็นรถของลูก แล้วร้านนี้ก็เป็นร้านของลูกเอง”
“โอ้! ถ้าอย่างนั้นลูกจะให้พ่อทำอย่างไร มันเอาเงินพ่อไปเป็นล้าน จะทำอย่างไรดีพ่อถึงจะได้กลับบ้าน” ชายชราพูดด้วยน้ำตานองหน้า
“พ่อเฒ่าจะให้พวกลูกช่วยยังไงบ้าง”
“พ่อไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเที่ยงแล้ว ข้าวก็ยังไม่ได้กิน เงินก็ไม่มีแม้แต่กีบเดียว ไอ้ผีเวรนั้นเอาไปจนหมด” ชายชราพูดขณะเสียงสะอื้นค่อยผ่อนเบาลง เพราะเริ่มอายคนอื่น สองสามีภรรยามองหน้ากันแล้วจึงพูดกับชายชราว่า
“เอาอย่างนี้แล้วกันพ่อเฒ่า ลูกไม่รู้จะช่วยพ่อยังไง ลูกเลี้ยงข้าวพ่อเฒ่าแล้วลูกจะเอาเงินให้เป็นค่ารถเมล์กลับบ้าน”
เหตุการณ์อย่างนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับพายุร้ายที่พัดกระหน่ำชีวิตบั้นปลายของชายชราจนต้องเก็บงำความเจ็บปวดนี้ไว้
เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่บันทึกความเจ็บช้ำให้คนหาเช้ากินค่ำต้องทนทรมานตรากตรำลำบากคือ เมื่อเดือนก่อนคนขายบุ้งกี๋ไปหาปี๊บมาตัดทำบุ้งกี๋แล้วหาบลัดเลาะไปตามถนน เกือบเที่ยงแล้วเขาเพิ่งขายได้ ๓ อันได้เงิน ๑๒,๐๐๐ กีบ พอดีมีรถกระบะ ๔ ประตูคันหนึ่งวิ่งเข้ามาจอดอยู่ด้านหน้าแล้วร้องเรียก
“บุ้งกี๋อันเท่าไหร่”
“อันหนึ่ง ๔,๐๐๐ กีบ เหลือ ๕ อันสุดท้ายแล้ว”
“เหมาหมดทั้ง ๕ อันนั่นแหละ ขึ้นรถไปเอาเงินที่บ้านได้ไหม เดี๋ยวจะกลับมาส่ง”
แล้วคนขายบุ่งกี๋ก็ขึ้นรถกระบะคันนั้นไป
พอขึ้นรถได้นาทีกว่า เขาก็รู้สึกเวียนศรีษะจนเผลอหลับไป พอรถผ่านแยกไฟแดงตลาดหนองด้วงเก่าไปได้ไกลพอสมควร เจ้าของรถกระบะก็จอดรถแล้วชี้ออกไปยังบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ริมถนน
“เข้าไปเอาเงินในบ้านหลังนั้นแล้วถือบุ้งกี๋ไปด้วย” คนขายบุ้งกี๋ก็หาบบุ้งกี๋เดินเข้าไปทางประตูบ้าน แล้วยื่นบุ้งกี๋ให้กับเจ้าของบ้าน
“คนบนรถให้เอามาส่งให้ แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน”
เมื่อพูดประโยคนี้จบ คนขายบุ้งกี๋ก็ต้องเดินคอตกออกมา เพราะได้รับการปฏิเสธในการซื้อขาย ในขณะที่เขากลับออกมาถึงริมถนนก็ต้องตกใจจนเข่าอ่อนหมดเรี่ยวแรง เพราะแหวนทองหนักสองสลึงที่เขาซื้อมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานได้หายไปจากนิ้วโดยที่เขาเองไม่รู้ตัว
หลายต่อหลายเหตุการณ์ล้วนสะท้อนเข้ามาในห้วงคำนึงของชายชรา ชายชรามึนงง เพราะเรื่องที่คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นได้ ไม่รู้ว่าคุณธรรมหายไปหมดแล้วแต่สิ่งที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ก็เพียงวิญญาณร้ายในคราบของคน
“พ่อเฒ่าไปกันเถอะ เดี๋ยวลูกจะไปส่ง”
ชายชราสะดุ้งตื่นจากความคิดทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งเหลียวกลับไปมองชายแปลกหน้าคนนั้นคล้ายกับว่าใบหน้าของเขาใหญ่ขึ้น และใหญ่ขึ้น ลูกตาหลุดออกมานอกเบ้าตา ลิ้นพ้นริมฝีปากลงมาเกือบถึงพื้นดิน ผู้คนรายรอบเขาก็เป็นดุจเดียวกัน ชายชรารีบเอามือลูบหน้าสองสามครั้งจึงมองกลับไปแล้วตอบว่า
“ไม่เป็นไรหรอก! พ่อกลับเองได้ ถ้ามีเวลาก็ไปเยี่ยมพ่อบ้าง พ่อจำไม่ได้จริงๆ”