บล็อกกาซีน ประชาไท
ประชาไทไนท์
Prachatai teamสนุกสนานมากมายกับคืนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ในงานประชาไทไนท์ เมื่อค่ำ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาขอบคุณทีมงานเพชะคุชะ ซึ่งมาจาก ทีมไบโอสโคป ที่ร่วมแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ที่มาของกติกา 20x20 ก็มีต้นตำรับมาจากงานเพชะคุชะที่เคยจัดในกรุงเทพฯมาแล้ว 3 ครั้งสิ่งทีประทับใจที่สุดเห็นจะเป็นบรรยากาศอันแสนอบอุ่น ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะได้เจอหลายต่อหลายคนที่เราแอบรู้จักมานาน ส่วนใหญ่ เราแอบรู้จักเค้า แต่เค้าไม่รู้จักเรา ตื่นเต้นที่ได้เจอ merveiillesxx , ปิ่น ปรเมศวร์ , grappa แห่งสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด , Rerng®IT Rakkanittakorn , phisite หัวแรงใหญ่จากวิกิพีเดียไทย , hunt แห่ง zickr.com , ต่าย แห่ง exteen , ตาล กล้า และออยแห่งดูโอคอร์ , พีแห่งจิกกะบาล , รวมถึงก๊วนสหายหนุ่มใหญ่จากพลวัต ไม่ว่าจะเป็น ไท ศรศิลป์ ที่ควงคู่ออกงานมากับ ไฟลามทุ่งบล็อกเกอร์ที่ได้มีโอกาสได้รู้จักเพิ่มขึ้นจากงานนี้ ก็เช่น sucha , sofa , @พักใจ , poomk , burlight คิดว่าต้องมีมากกว่านี้อย่างแน่นอน ใครที่มาในงาน แวะมาแนะนำตัวกันเลย หลายคนบอกว่าประหม่าและไม่คุ้นเคยที่ต้องมางานซึ่งดูเหมือนใครต่อใครรู้จักกันไปหมด แต่ความจริง เราก็อยากทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่มากขึ้นด้วยงานเริ่มต้น ก็ผิดคิวไปจากที่วางไว้ตลอด เมื่อผู้เข้าร่วมงานคนหนึ่ง Stephen Kelly เข้ามาแนะนำว่าตัวเป็นศิลปินอิสระจากออสเตรเลีย และอยากเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย เขาไม่ได้ทำสไลด์ 20 x 20 มา แต่เขายินดีอยู่ในกติกาของงานที่จะใช้เวลากันไม่เกินคนละ 400 วินาที อ.มะนาว - จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล พิธีกรงานนี้กระซิบว่า งานนี้เราเปิดกว้างอยู่แล้ว ไม่มีปิดกั้น! ประชาไทไนท์คืนนั้นเลยมีศิลปินมาช่วยเปิดบรรยากาศของงานด้วยการแสดงประกอบการเล่นดนตรี วาดภาพ และร่ายรำ ตราตรึงใจกันไปทั้งงานแล้วการพรีเซนต์แบบ 20 x 20 ก็เริ่มขึ้น ผู้นำเสนอในงานนี้ มีรวม 14 คน ผู้นำเสนอ และหัวข้อที่พูด เรียงลำดับตามการนำเสนอ มีดังนี้mk เรื่อง บันได 4 ขั้นบันได 4 ขั้นสำหรับการต่อสู้ยักษ์เขียวจามร ศรเพชรนรินทร์ , นิทานการต่อสู้ของยักษ์เขียวตาเดียวคนชายขอบ , ถ้ายักษ์เขียวตาเดียวมีอารมณ์ขัน และเปิดใจกว้างขึ้นอีกนิด...filmsick , 10 หนังสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตกองเซ็นเซอร์Roby Alamphy กับวาทะเด็ด "พวกเราไม่ได้โดดเดี่ยว"ภฤศ ปฐมทัศน์ , 20 เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Censorship,แบบแผนนิยมกานต์ ยืนยง , ทำไมต้องต่อต้านการเซ็นเซอร์แจ็ค, เรื่องราวเกี่ยวกับความจริง และความลวงมะนาว , เรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้กล้าและยักษ์ในดินแดนแห่งใหม่จอน อึ๊งภากรณ์, คุณพ่อรู้ดี พลเมืองจอมซน กับประสบการณ์ในการมุดด้วย ghostsurfธวัชชัย ปิยะวัฒน์ , บทเรียนที่กระทรวงบล็อคควรได้รับโจว ชิง หมาเกิด , เสรีภาพ ความรัก ความคิดถึงสุภิญญา กลางณรงค์, ประสบการณ์การพูดคุยในเรื่อง free speechBact' , วิธีสื่อสารที่ MICT จะตามมาเซ็นเซอร์ไม่ได้รออ่านเรื่องเล่าจาก "ค่ำคืนที่ผ่านพ้นไป ตอน 2" รอชมสไลด์ วาทะเด็ดแต่ละคน พร้อมกอซซิปหลังไมค์ (กรี๊ด)อย่างไรก็ดี เลิกงานไม่ทันไร บล็อกเกอร์บ้าพลังทั้งหลายก็เล่าเรื่องงานในค่ำคืนนั้นเอาไว้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะใน Rerng®IT Rakkanittakorn , filmsick , bact' , mk , คนชายขอบ , Developed Thailand รวมถึงใน blognone, พลวัต และเว็บบอร์ดพลวัต และรูปภาพในอัลบั้มของ isriya , arthit และตบท้ายด้วย ประชาไทท้ายที่สุด อาจจะเน่าไปนิดนึง :p ทีมประชาไทก็คุยกันว่า รู้สึกดีที่คนในงานยิ้มแย้ม เราเคยคุยกันเรื่องจะทำยังไงให้พลังบล็อกเกอร์ในเมืองไทยรวมตัวกัน ขยายตัวมากขึ้น และเข้มแข็งมากขึ้น จากงานนี้ เราก็พบว่า สังคมไทยยังมีดินแดนใหม่ ที่มีคนพิเศษๆ ซ่อนอยู่มากมายเต็มไปหมดคุณคือคนพิเศษ ทุกคนมีความพิเศษในตัวทั้งนั้นทัศนะและมุมมองที่หลากหลาย ที่มีต่อการเซ็นเซอร์ ต่อเรื่องเสรีภาพ เป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องคุยกันไปอีกยาว สิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือ เราต่างต้องการอิสรภาพ แม้ว่าระดับการ "ยอมรับได้" ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดาอย่างไรก็ดี จริงอย่างที่ Roby Alamphy นักข่าวจากฟิลิปปินส์ว่าเอาไว้ว่า เราไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะมีทั้งเพื่อนสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ ทั้งในเมืองไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญปัญหาเดียวกัน ร่วมเฝ้าดู ลุ้น และพร้อมสนับสนุน"อิสรภาพของคุณ คืออิสรภาพของเรา (ขอบอก ขอบอก)" Roby กล่าวไว้อย่างงั้น
กานต์ ณ กานท์
ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ-
ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน
กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน
…ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?
เงาศิลป์
เช้าวันนี้….ใบไม้สีเหลืองเกลื่อนพื้น ดูสวยงาม แต่ไม่นานมันจะถูกเรียกว่า “ขยะ” ด้วยเรียวไม้กวาดก้านมะพร้าว ค่อยๆลากให้มันมากองรวมกัน ทีละนิดรอยทรายเป็นเส้นลดเลี้ยวตามแนวกวาด ลีลาคล้ายบทกวีร้อยบท ที่มีเนื้อหาเดียว คือความสงบทุกเช้า ฉันจะอยู่กับมัน ทั้งไม้กวาด พื้นทรายและใบไม้ร่วงสายตาจับอยู่ที่พื้น..แต่ด้วยหางตา เห็นบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่บนถนนหน้าบ้าน จากที่ยืนอยู่ ระยะทางราวร้อยก้าว เงาร่างเดินโยกเยก บดบังด้วยแนวพุ่มไม้เตี้ยๆ จึงมุ่งมองอย่างตั้งใจ เห็นใครบางคนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆจึงเดินออกไปดูร่างล่ำสันค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างลำบาก เขาใช้ไม้ยาวๆ ค้ำถ่อ ประคองร่างกายให้ขาตวัดสลับกันไป รู้ได้ว่าขาทั้งสองข้างไม่มีกำลัง บนไหล่มีกระเป๋าเสื้อผ้าขนาดย่อมสะพายแล่ง จึงเดินไปใกล้ๆ แล้วถาม ว่าจะไปไหนเขาหยุดเดิน เหลียวหน้ากลับมาตอบด้วยสำเนียงใต้แบบแปร่งๆ “จะไปวัดนาบอนครับ” แล้วยิ้มให้ ฟันขาวสะอาด ตัดกับสีผิวคล้ำ“ทำไมไม่ขึ้นรถโดยสาร” ด้วยความแปลกใจ แอบสังเกตเห็นชายกางเกงสีเลือดหมูแหว่งวิ่น แต่ยังมีเค้าสะอาด รองเท้าฟองน้ำถูกใช้งานมานานพอสมควร “ไม่มีเงินครับ” เขาตอบอย่างระวังท่าที“อ้าว มาจากไหนล่ะคะ จะไปทำอะไร”“มาจากสงขลาครับ ว่าจะขอไปอยู่วัด”เขาเล่าว่า ถูกรถชนอาการสาหัส เมื่อสองปีก่อน ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลา 8 เดือน หมอ บอกว่าเขาจะเดินไม่ได้อีกแล้ว เมื่อออกจากโรงพยาบาล ได้ไปอาศัยใบบุญในร่มเงาพระพุทธศาสนาที่วัดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสงขลา ได้รับเมตตาจากพระและหมอนวด ที่อยู่ในวัด ช่วยดูแลรักษาด้วยการบีบนวดให้ จนกระทั่งพอช่วยเหลือตัวเอง ช่วยงานเล็กๆน้อยๆประเภทล้างจาน ดายหญ้าได้ ที่ต้องออกมาหาวัดใหม่อาศัยอยู่เพราะมีคนบอกว่าที่วัดนาบอนมีหมอนวดและหมอสมุนไพรที่น่าจะช่วยรักษาเขาได้ จึงดั้นด้นมาเป็นธรรมดา ที่ฉันจะต้องถามว่า เขาเป็นใครมาจากไหน“ผมเป็นคนบางสะพานใหญ่” มิน่าสำนวนเป็นคนทางนั้นจริงๆ “ได้กลับบ้านบ้างไหม” ฉันถามเขาบอกว่าไม่เลย ตั้งแต่ออกมานาน15 ปี ไม่เคยได้กลับไปเยี่ยมบ้านอีกเลย ที่นั่นมีแต่ยาย เขาไม่มีพ่อแม่มาตั้งแต่เด็กๆ ฉันไม่อยากรู้รายละเอียดมากไปกว่านี้ แต่เขาก็บอกชื่อหมู่บ้านมาให้รู้ และแถมท้ายว่า ลืมบ้านเลขที่ไปแล้วอาจเป็นเพราะฉันเป็นคนช่างสงสาร และเห็นท่าทางซื่อๆแววตาไร้เล่ห์เหลี่ยม จึงถามว่า อยากหางานทำบ้างไหม เผื่อฉันจะช่วยหาให้ เขากลับปฏิเสธ “ผมไม่อยากเป็นภาระให้ใคร แค่วางไม้เท้าอันนี้ลง ผมก็ล้มแล้ว เพราะผมพิการจากส่วนเอวลงล่าง แขนผมมีกำลัง แต่ก็หิ้วของหนักไม่ได้ เป็นภาระเปล่าๆ”ฉันนิ่งอึ้ง ไม่ได้คะยั้นคะยอต่อ และอันที่จริงฉันเองก็ยังไม่รู้ว่าจะหางานที่ไหนให้เขาในทันทีเหมือนกันคนที่ยืนอยู่ตรงหน้า สาหัสกว่าฉันมากนัก ขาลีบสองข้าง ทั้งรอยแผลที่คอ คล้ายตัวตะขาบยาวเป็นคืบ มือข้างซ้ายดูงอๆไม่ปกติ ที่เขายังเดินอยู่ได้ นับว่ามาจากแรงใจของความไม่ย้อท้อ อายุสามสิบกว่าๆ น่าจะเป็นวัยที่มีครอบครัว มีคนดูแล แต่ฉันไม่ได้ถามเรื่องนี้ รู้แต่ว่างานสุดท้ายที่เขาทำก่อนเกิดอุบัติเหตุคือเป็นคนงานของบ่อเลี้ยงกุ้งที่จังหวัดสงขลาระยะทางที่เขาจะต้องเดินไปราวๆ 10 กิโลเมตร คนธรรมดาเดินไปต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง แล้วคนพิการขาอย่างเขาจะใช้เวลาเท่าไหร่ โชคดีอาจมีคนจอดรถรับ แต่ถ้าไม่มีใครใจดีกับเขาล่ะ......ฉันกังวลจึงบอกให้เขาเดินกลับมานั่งรอบนแท่นหินที่หน้าบ้านฉันสักประเดี๋ยว เพื่อฉันจะกลับมาเอาเงินในบ้าน เงินจำนวนไม่มากนัก สำหรับค่ารถ และน่าจะเหลือเป็นค่าน้ำค่าอาหารได้สักมื้อ ฉันยื่นให้เขา หลังจากพนมมือไหว้ขอบคุณ ฉันเห็นใบหน้าที่เงยขึ้นมานั้น มีน้ำตารื้นไม่นานนักรถสองแถวโดยสารก็มาจอด ก่อนที่เขาจะเขยกไปขึ้นรถ เขาหันมาพูดว่า“อีกสักสามเดือน ถ้าผมดีขึ้นพอที่จะทำงานได้ ขอให้ผมมาทำงานที่นี่ได้ไหม”ฉันพยักหน้า“ได้สิ แต่การไปรักษาตัวคราวนี้ ให้เรียนรู้วิชานวดและยาสมุนไพรมาด้วย แล้วเราค่อยทำงานด้วยกัน”ฉันมีห้องอบสมุนไพร ที่ปิดร้างเอาไว้ปีกว่าแล้ว บางทีเขาอาจจะกลับมาดูแลมันได้ เดิมมันเป็นสถานที่ที่ฉันใช้รักษาตัวเอง และบริการคนในหมู่บ้านโดยให้บริจาคตามกำลังกลับมากวาดใบไม้อย่างเลื่อนลอย... ฉันไว้ใจคนง่ายไปหรือเปล่า แต่เมื่อนึกถึงคราวที่ตัวเองถูกพิพากษาว่าจะต้องพิการไปตลอดชีวิต นึกถึงความหวาดหวั่น ความอ่อนแอ ความโดดเดี่ยว ที่ประเดประดังเข้ามา และความยากลำบาก ที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหลีกหนีความพิการ เป็นเวลานับสิบปีของฉัน ใบไม้แห้งถูกตักไปกองรวมกันในกอง เศษซากใบไม้กองนี้ มันจะต้องกลายเป็นปุ๋ยหมักในวันหน้า คิดถึงตัวเอง คิดถึงเขาคนนั้นเรา...ต่างเป็นใบไม้ร่วง ที่พยายามดิ้นรนไปให้พ้นคำว่า “เศษขยะ”ในวันนี้...ฉันต้องขอบคุณคุณหมอคนนั้น ที่ทำให้ฉันต่อสู้กับข้างในตัวเองจนชนะแม้ว่าความพิการอาจมาเยือนจริงๆ ในวันหนึ่งข้างหน้าแต่ที่ผ่านมาหลายปี ฉันได้ใช้ขาทั้งสองข้าง จนคุ้ม................เพราะว่า ในปีต่อๆมา ฉันเริ่มเร่ร่อนทำงานอิสระมากขึ้น แต่ละงานที่ฉันเลือกทำ จะมีข้อแม้ว่า “ต้องใช้เวลาสั้นๆ สั้นเท่าไหร่ยิ่งดี งานที่นานเกินหนึ่งปี ฉันไม่รับทำ”แปลกใจไหม ว่าทำไม ขณะที่คนอื่น ต้องการงานที่มั่นคง แต่ฉันกลับรับทำงานแค่หนึ่งสัปดาห์ไปจนถึงหกเดือน และต้องเป็นงานสนามเท่านั้น ไม่รับงานในสำนักงานเหตุผลคือ ถ้าฉันรับปากทำงาน ฉันจะไม่ทิ้งงานกลางครัน โดยเฉพาะงานวิจัยภาคสนามที่ไม่ควรโยนภาระให้คนอื่นทำต่อ การเลิกทำทั้งที่งานยังไม่เสร็จ คนใหม่มาทำก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่ยุติธรรมสำหรับคนจ้าง และสังขารฉันอาจแย่ลงวันใดวันหนึ่งก็ได้ ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมต่อคนจ้าง ฉันจึงขอเลือกงานระยะสั้น โดยไม่ได้บอกเหตุผล และไม่มีใครรู้ด้วยว่า “ฉันเป็นคนพิการ...ครึ่งทาง” บางงานฉันต้องเช็คระยะทางและเวลาที่ต้องเดินเข้าไปเก็บข้อมูล ที่ต้องปีนภูเขา สลับการเดินลุยสายน้ำในหุบเหว พบว่าต้องใช้เวลาสามวัน แต่นายจ้าง..คนวางแผนกำหนดให้แค่วันเดียวฉันยังจำได้..งานนั้นฉันได้สำรวจระยะที่หนึ่ง เพื่อหาข้อมูลพื้นฐานระดับจังหวัด และอำเภอไปแล้ว เหลือระยะที่สองต้องเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน ฉันเป็นหัวหน้าทีมภาคสนาม มีเพื่อนร่วมงานอีกราวสิบคน ก่อนที่จะเซ็นสัญญาทำงาน ฉันพยายามหาข้อเท็จจริงมาชี้แจงเพื่อบอกนักวิชาการในห้องแอร์ว่า ข้อมูลพื้นฐานของคุณผิดพลาดอย่างมหันต์ การกำหนดเวลาให้เราแค่หนึ่งเดือน มันไม่มีทางเป็นได้ ที่ต้องต่อรองเรื่องเวลา ไม่ได้เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย แต่ฉันตั้งใจจะบอกกับพวกเขาว่า งานสนามอย่าใช้เพียงความคาดคะเน ถ้าคุณไม่เคยลงพื้นที่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะแถวชายแดน อุปสรรคที่ดักรออยู่มากมายให้ต้องเผชิญ อย่าคิดว่าง่ายที่จะได้ข้อมูล และอย่าคิดว่าเงินที่จ่ายคือสิ่งที่มีค่ามากแล้ว หากคุณทำเองไม่ได้ งานนั้น ฉันชี้แจงอย่างใจเย็น ด้วยแผนที่ทางอากาศ ที่แสดงเส้นคอนทัวร์ ความสูงชัน ภาพถ่ายแสดงสภาพพื้นที่ ที่ฉันเคยเข้าไปเห็นมาแล้ว แล้วบอกกับเขาว่า..ฉันไม่สามารถทำงานนี้ได้อีกต่อไป ฉันไม่มีความสามารถพอที่จะเดินเข้าไปในหมู่บ้านเลตองคุยามฤดูฝนและทำงานให้เสร็จได้ภายในวันเดียวนี่คืองานแรกและงานเดียว ที่ฉันทิ้งงานระหว่างทาง แต่ข้อมูลชุดแรก ฉันได้ส่งถึงมือเขาเรียบร้อย ครั้งนั้น ยังรู้สึกเสียดาย ที่ไม่ได้ร่วมงานกับนักวิชาการบางคน แต่สำหรับบางคน..........!!!ฉันจึงเรียกตัวเองว่า “หมาล่าเนื้อ” เขาจ้างให้ล่าเนื้อ แต่ตัวเองไม่เคยได้ลิ้มรสเนื้ออันโอชะสักทีงานชิ้นต่อมาคือ “สำรวจเก็บข้อมูลหมู่บ้านต้นน้ำพอง” ซึ่งอยู่ด้านหลังภูกระดึง ระยะเวลาที่ต้องทำงานคือ 3 เดือน นายจ้างเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ฉันรับทำงานคนเดียวหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ที่อยู่ต้นน้ำพอง เป็นหมู่บ้านในป่า ไม่มีรถโดยสาร เพราะถนนเลวร้ายมาก รถที่วิ่งได้มีเฉพาะรถขับเคลื่อนสี่ล้อของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และรถมอเตอร์ไซด์ มันเป็นงานอีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้ฉันได้ทดสอบความสามารถทางร่างกายของตัวเอง และเป็นไปตามความใฝ่ฝัน นั่นคือ “การเดินขึ้นภูกระดึง” เพื่อไปดูแหล่งต้นน้ำพองจริงๆ หลังจากเก็บข้อมูลในหมู่บ้านเสร็จแล้ว ฉันจะต้องขึ้นไปดูและเก็บภาพสภาพต้นน้ำพองบนภูกระดึงการไต่ขึ้นที่สูงทีละก้าวๆ อย่างช้าๆ เพราะฉันต้องคอยระวังเข่าไม่ให้ทำงานหนัก ทั้งที่บนหลังมีเพียงเป้ไม้ไผ่ของชนเผ่าในฟิลิปปินส์ใช้เก็บรังนก ในนั้นมีเสื้อผ้าบางๆหนึ่งชุด และกล้องถ่ายรูปอย่างหนักพร้อมเลนส์สำรองอีกหนึ่งชิ้น น้ำหนักไม่มากเกินกว่าจะแบกสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับฉันนับว่าพอสมควรการเดินขึ้นเพียงลำพังและยังใส่แค่รองเท้าฟองน้ำ เป็นความประมาทอย่างรุนแรง เรียกว่าหาความพร้อมในการเดินป่าไม่ได้เลย แต่ฉันก็ยังขึ้นมา เพราะว่า “มันเป็นงาน ที่ต้องทำให้เสร็จทันเวลา”การขึ้นภูกระดึงแบบไม่พร้อมทางร่างกายและอุปกรณ์ มีเพียงหัวใจที่พร้อม ทำให้ฉันได้พบเจอกับสิ่งดีๆมากมาย ทั้งเรื่องราวของผู้คนและธรรมชาติจนไม่อาจลืมได้ แม้ทุกวันนี้(โปรดติดตามตอนต่อไป)
นาลกะ
ตอนนี้ปิดเทอมแล้ว สายรุ้งใช้เวลาอยู่กับแม่เกือบตลอด มีเพียงที่เขาออกไปเที่ยวเล่นกับเด่นหรือไปที่บ้านคุณตาเท่านั้นที่ห่างจากสายตาแม่ คุณตาจะสอนให้เขาปลูกต้นไม้ ให้เขาเห็นความสำคัญของต้นไม้ที่มีต่อชีวิตและต่อสิ่งแวดล้อม“ต้นไม้แทบไม่เหลือแล้ว” คุณตาบ่น “มีแต่หมู่บ้านจัดสรร”,คุณตาชอบบ่นเกี่ยวกับหมู่บ้านจัดสรรอยู่บ่อย ๆ คุณตาบอกว่าหมู่บ้านจัดสรรทำลายสิ่งแวดล้อม แต่สายรุ้งยังไม่เข้าใจว่าหมู่บ้านจัดสรรจะทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรแม่จะหาโอกาสพาสายรุ้งไปทำกิจกรรมต่างๆ อยู่บ่อยครั้งเพื่อไม่ให้สายรุ้งเบื่อที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน เย็นวันหนึ่งแม่พาสายรุ้ง เด่นและสุนัขโอเว่นไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ที่นั่นมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้สายรุ้งเล่นสนุกสายรุ้งชอบเล่นฟุตบอล เด่นเองก็ชอบเล่น มีเพื่อนหลายคนเล่นฟุตบอลอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว สวนสาธารณะเป็นอีกที่หนึ่งที่เด็ก ๆ จะพากันมาเที่ยวเล่นช่วงปิดเทอม สายรุ้งเปลี่ยนชุดเพื่อเตะฟุตบอล เขาดูน่ารักไม่หยอกในชุดของทีมฟุตบอลชื่อดัง เขามีชุดนักฟุตบอลของทีมดัง ๆ หลายชุดและเขารู้จักนักฟุตบอลชื่อดังหลายคน เด่นและเพื่อนที่โรงเรียนมักจะคุยกันในเรื่องนี้หลังจากแบ่งทีมกันเรียบร้อยแล้วเด็ก ๆ ก็เริ่มเล่น เด็ก ๆ หัวเราะเวลาวิ่งชนกันและล้มไปด้วยกัน ดูเหมือนว่าของเล็กๆ เด็ก ๆ ไม่สามารถจะควบคุมทิศทางฟุตบอลได้ ฟุตบอลมาทางไหนเด็กก็เตะไปทางนั้น แต่สิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ สนุกกันมากเป็นพิเศษคือเจ้าโอเว่นที่โดดเข้ามาร่วมเล่นด้วย มันไม่ยอมให้เสียชื่อโอเว่นพวกเด็ก ๆ พากันหัวเราะเมื่อโอเว่นเข้าไปแย่งลูกฟุตบอลกับพวกเขา พวกเขาเล่นไปหัวเราะไป เด็กบางคนลงไปนั่งหัวเราะงอหงายอยู่กับพื้นสนาม โอเว่นวิ่งไล่บอลและคอรบครองบอลด้วยขาหน้าทั้งสอง ดูเหมือนมันพยายามโยกหลอกพวกเด็ก ๆ แต่เด่น ชิงเอาบอลออกไปจากการครอบครองของโอเว่น แล้วเตะส่งไปให้คนอื่นอย่างรวดเร็ว โอเว่นจึงวิ่งไล่ตาม โอเว่นวิ่งไล่กวดเพื่อแย่งฟุตบอลกับพวกเด็ก ๆ ที่กรูกันไปทางเดียว และมันก็วิ่งได้รวดเร็วกว่าเด็ก ๆ มาก“หมาตัวนี้อยู่ทีมไหนเนี่ย” “ให้มันเป็นกรรมการก็แล้วกัน” สายรุ้ง“เล่นหมาชิงบอลกันดีกว่า” เด่นพูด“มันได้เปรียบพวกเราเพราะมันมีตั้งสี่ขา”เด็ก ๆ เตะบอลส่งกันไปมา ให้โอเว่นวิ่งไล่ เกมแบบนี้มันชอบอยู่แล้ว เด็กคนหนึ่งทำท่าตกใจเมื่อโอเว่นวิ่งไล่กวดและกระโดดเข้าใส่ เด็กคนนั้นทิ้งตัวล้มลงด้วยความจั๊กกะเดียมและหัวเราะอย่างยอมแพ้ แม่เงยหน้ามองสายรุ้งเป็นระยะ ในขณะที่เธอนั่งเขียนหนังสืออยู่บนโต๊ะใกล้สนามฟุตบอล เธอไม่อยากปล่อยเวลาให้ล่วงเลยผ่านไปเปล่า ๆ แม้แต่วินาทีเดียว คุณค่าของวันเวลาจะมีความหมายก็ต่อเมื่อได้ตระหนักว่าเวลาจะไหลผ่านไปเหมือนสายน้ำและไม่มีวันหวนกลับ ถ้าไม่ฉวยวันเวลาเอาไว้ก็จะไม่เหลืออะไรเลยและเวลาของเธอก็ไม่เหลือมากมายเหมือนคนอื่น การเตรียมให้พร้อมด้วยการใช้เวลาอย่างมีคุณค่ามากที่สุดทำให้ไม่ต้องมานั่งเสียดายสายรุ้งเล่นฟุตบอลจนเหงื่อไหลโชกท่วมตัว เขาก็เหมือนเด็กคนอื่นที่เพลิดเพลินและจริงจังในสิ่งที่ตนเองกำลังเล่น แม่เรียกสายรุ้งและบอกว่าพอได้แล้ว สายรุ้งหอบหายใจ ใบหน้ามีสีแดง แม่เช็ดเหงื่อและบอกให้เขากับเด่นดื่มน้ำ“เหนื่อยมากเลยแม่” เขาหัวเราะ “โอเว่นมันเล่นฟุตบอลเก่งเหมือนกันนะ” แม่ปิดสมุด เธอเขียนหนังสือได้สามหน้าระหว่างลูกกำลังเล่นฟุตบอล ตอนนี้ถึงเวลาต้องกลับแล้ว เจ้าโอเว่นเดินไปฉี่ไป มันชอบล้อรถเป็นพิเศษ รถคันไหนที่จอดอยู่มันก็จะฉี่ใส่ แต่แล้วมันก็เกิดอาการลุกลี้ลุกลนเมื่อเห็นสุนัขสีขาวสวยตัวหนึ่งกำลังเดินมา ท่าเยื้องย่างของสุนัขตัวนั้นงามสง่า เชิดหน้าชูคอ โอเว่นมองตาไม่กะพริบ มันวิ่งไปคาบเอากิ่งไม้มากึ่งหนึ่ง มันกระโดดผกโผน หมอบลงและยกก้นโด่งขึ้นเป็นสัญญาณว่า “แน่จริงมาแย่งให้ได้สิ”แต่สุนัขแสนสวยตัวนั้นไม่สนใจมันเลย โอเว่นจึงได้แต่ยืนดูสุนัขสาวสวยเดินจากไปด้วยดวงตาละห้อยแม่พาสายรุ้งเดิมอ้อมไปตามทางเลียบลำธาร ลูกเต่าตัวหนึ่งคลานต้วมเตี้ยมที่กอหญ้าข้างลำธาร สายรุ้งเอามาอุ้มก่อนจะปล่อยให้มันคลานตามทางของมันต่อไป
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
เพื่อนสาวชาวมาเลย์ชื่นชมและคลั่งไคล้ในตัวกวีผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย เป็นฮีโร่ของเธอเลยทีเดียว ถึงกับนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อลูกชายคนโต ผู้เขียนคาดเดาว่า กวีผู้นี้คงมีอิทธิพลทางด้านวิถีชีวิตที่อิสระเสรี ผู้เชื่อในสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ ที่ใฝ่หาเสรีภาพ และคงมีอิทธิพลครอบงำเพื่อนสาวไม่น้อย เพราะเธอแม้จะเป็นมุสลิม แต่แหกกฎหลายอย่างที่หญิงชาวมุสลิมถูกกำหนดให้กระทำ แม้กระทั่งเรื่องหัวใจ ที่เธอปล่อยให้มันอิสระเสรีอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งอยากจะเป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้คือ Chairil Anwar เขาถูกจำกัดความว่าเป็นกวีที่ใช้คำได้สวยงาม แต่ทว่ามีอิทธิพลอย่างรุนแรงกับผู้อ่าน และจากความหมายและสิ่งที่สะท้อนจากบทกวี ทำให้เขาถูกจำกัดความว่าเป็นกวีหัวรุนแรง ผู้มีอิทธิพลต่อความคิดในการปลดปล่อยอินโดนีเซียจากอาณานิคม เขาคงเป็นกวีที่ชาญฉลาด ระดับจีเนียสเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่เสียชีวิตด้วยโรคซิฟิลิส เมื่ออายุเพียง 27 ปี ทว่าบทกวีของเขามีอิทธิพลต่อความคิดคนอินโดนีเซียในยุคนั้นอย่างมาก และสังคมอินโดนีเซียยกย่องในความยิ่งใหญ่ของเขา มีรูปปั้นเป็นอนุสรณ์ในสวนของอนุสาวรีย์แห่งชาติ หรือ Tugu Monas ที่บอกว่าเขาเป็นกวีที่ชาญฉลาด เพราะเมื่อเทียบกับอายุและความทรงอิทธิพลต่อความคิดของคนทั้งปวง เขาสามารถทำได้ ทั้งที่เป็นกวีเยาว์วัย เขาเติบโตในยุคของการเรียกร้องหาเสรีภาพจากการกดขี่ของพวกอาณานิคม สภาพการเมืองและสังคมช่วงนั้นจึงมีอิทธิพลต่อแนวคิดของเขาไม่น้อย เขาเรียนหนังสือในระบบการศึกษาน้อย แต่อ่านมาก เข้าโรงเรียนของดัตช์เมื่อครั้งอยู่มัธยมต้น แต่เรียนไม่จบ ออกมาทุ่มเทให้กับการอ่าน เดาเอาว่าภาษาอังกฤษน่าจะแตกฉานเพราะนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเขา คือ Rilke, T.S.Eliot, Emily Dickinson, Mansman และเขาแปลงานของบุคคลเหล่านี้ด้วย รูปปั้น DRAIRIL ANWAR กวีผู้ยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ในสวนของ Tugu Monasผลงานเขียนของเขาถูกตีพิมพ์ครั้งแรก ขณะที่เขามีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น โอ!! ทำไมบทกวีของกวีวัยเยาว์ท่านนี้จึงน่าหลงใหลยิ่งนัก เพราะต่อมาบทกวีต่างๆ ของเขาก็ทรงอิทธิพลต่อผู้คนนับล้านของอินโดนีเซีย เป็นความหวังแห่งเสรีภาพและการปลดปล่อย และสร้างชาติอินโดนีเซีย ทั้งที่ชีวิตส่วนตัวของเขา ใช้ชีวิตในรูปแบบที่อันตรายและ “ร้าย” ยิ่งนัก เขาเป็นนักรักตั้งแต่เริ่มรุ่นแตกเนื้อหนุ่ม หลังจากนั้นนับไม่ถ้วนกับจำนวนหญิงสาวข้างกาย และชีวิตลับที่ร้ายกาจคือ การแอบขโมยหนังสือจากร้านหนังสือ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นกวีที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ และใช้ชีวิตสุดขั้วในทุกเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เขายังคงเป็นที่จดจำของคนอินโดนีเซียและคนทั้งโลกที่รักในกวี กวีของเขาถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านกันทั่วโลก และนักเรียนมัธยมของอินโดนีเซียยังใช้บทกวีของเขาเป็นบทเรียนในชั้นเรียนด้วย บทกวีที่ผู้คนจดจำ และเป็นตำนานคือ AKU (I think) ........
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์นอกจาก 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และ (อดีต) วันชาติแล้ว วันสำคัญที่เงียบเหงารองลงมา (อีกวัน) ก็คงหนีไม่พ้น 6 ตุลาคม 2519 ที่รับรู้กันว่า เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน เพราะเข้าใจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับปีที่แล้ว วันนี้อาจคึกคัก เพราะถึงวาระตัวเลขกลมๆ 30 ปี ซ้ำยังเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหาร 19 กันยายน มาหมาดๆ กระแสเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงยังมีอยู่ แต่พอปีนี้กระแสกลับไปเงียบเหงาเหมือนปีก่อนๆ วันที่ 6 ตุลาในปีนี้ กลายเป็นวันเสาร์ธรรมดาๆเมื่อถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา กับหลายๆ คน คำตอบที่ได้ทั้งสร้างความแปลกใจและไม่แปลกใจในเวลาเดียวกัน“เป็นวันที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยอะไรซักอย่าง ที่ต้องจำ เพื่อใช้สอบเอ็นท์”“ตอนเป็นนักศึกษาก็จำได้อยู่ แต่พอจบมาก็ลืมหมดแล้ว ถ้าไม่ได้เรียนธรรมศาสตร์ คงไม่รู้เรื่องนี้”“รู้ไปก็ปวดหัว” หลายคนบอก “เรื่องมันผ่านไปแล้ว” พอลองนั่งนึกดูว่าในแบบเรียนสมัยมัธยมพูดถึงเหตุการณ์นี้อย่างไร สารภาพตามตรงว่า จำไม่ค่อยได้เสียแล้ว สิ่งที่จำได้เลาๆ มีว่า มีนักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ถูกยิง ถูกฆ่า เพราะมีคนแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ...ก็แค่นั้น เมื่อพูดถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย...14 ตุลา และพฤษภา 35 ก็ดูจะโดดเด่นออกมา เพราะเป็นครั้งที่ถูกมองว่า “ชนะแล้ว” ส่วน 6 ตุลา นั้น บ้างว่า เพราะประชาชนแพ้ บ้างว่า เพราะมันเศร้าเกินไป ไม่พูดถึงดีกว่า หรือบ้างก็ว่า “ไม่เอา ไม่พูด” หรือ “มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ”เมื่อไม่ค่อยมีใครพูดถึงในวงกว้างและ “ความจริง” ของเหตุการณ์ยังไม่ปรากฎ เหตุการณ์ที่คลุมเครืออย่างชัดเจนนี้ ก็น่าสนใจไปอีกแบบ ใครเป็นคนสั่งฆ่านักศึกษา ประชาชน (แม้นิรโทษกรรมไปแล้ว ก็ควรต้องหาความจริง ไม่ใช่หรือ) เมื่อข้อมูลขาดหาย เราก็สามารถเติมเต็มได้ด้วยเอกสารบันทึกจากปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจต้องพลิกห้องสมุดหา แต่เดี๋ยวนี้ อินเทอร์เน็ตช่วยได้มากทีเดียว ข้อมูลที่จะได้ด้วยหาปะติดปะต่อเรื่องราวเอง คงน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ข้อมูลหลายอย่างผุดขึ้น ความจริงหลายชุดถูกเปิดเผย พ้นไปจากชุดความรู้ในแบบเรียน (ที่ถูกบังคับให้เรียนและรู้เหมือนกัน) (อาจถือเป็นข้อดีก็ได้ ที่เหตุการณ์นี้คลุมเครือและไม่มีบทสรุปในแบบเรียน)การทำและไม่ทำอะไรของใครและใครในเหตุการณ์นั้น ทำให้เข้าใจสภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากขึ้น ความเป็นที่รักของสถาบันกษัตริย์ แสนยานุภาพของสื่อหรือแม้กระทั่ง พลังแห่งศรัทธาของประชาชนต่อบางสิ่งบางอย่าง - ประชาธิปไตย? ว่ากันว่า อดีตเป็นรากฐานของปัจจุบัน แถมยังทำนายอนาคต ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราควรศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และสร้างอนาคตด้วยตัวเองรึเปล่า ........................ป.ล.1 ถ้าคิดว่า 6 ตุลา ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณ ลองดูว่ามีอะไรเหล่านี้ที่อยู่รอบตัว หรือคุณเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่บ้างสถาบันกษัตริย์ เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ นักศึกษา ประชาชน ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ การเมือง เผด็จการทหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สื่อ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แขวนคอ กษัตริย์นิยม สนามหลวง รัฐประหาร นายกฯ พระราชทานป.ล.2 เว็บที่พูดถึง 6 ตุลา จากการสอบถาม “กูเกิ้ล” http://2519.net http://th.wikipedia.org/wiki/เหตุการณ์_6_ตุลา http://sameskybooks.org http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95289.html http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000137269 http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q4/article2005oct28p1.htm http://www.puey.org/th/content/view/6/13/ http://www.seas.arts.tu.ac.th/6tula.htm http://www.seas.arts.tu.ac.th/6tulainterview.htm
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่“สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทองหรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240 สำหรับคนที่อยากขอคำพยากรณ์จากไพ่เป็นการส่วนตัว ตอนนี้มีรับพยากรณ์ทางอีเมล์นะคะ ติดต่อที่ parinyasin@hotmail.com ได้ค่ะ แต่บอกก่อนนิดนึงว่ามีค่าบำรุงเด้อค่าสำหรับวันอมาวสีครั้งต่อไป วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคมนะคะ
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always Somewhere, You and I, Holiday หรือแม้กระทั่ง Still Loving Youแต่ด้วยอะไรรอบตัวในตอนนี้ เพลงที่ผมนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ กลับเป็นเพลงเศร้าๆ อย่าง Send me an Angel, Under the same sun และ White Dove จะว่าเศร้า หดหู่ จนไร้ความหวังก็ไม่ใช่ จะว่ามีความหวังก็ไม่เชิงนัก แต่สิ่งที่บทเพลงเหล่านี้ขับขานออกมาได้เป็นอย่างดีคืออารมณ์ความรู้สึกร่วมทุกข์แบบที่ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ และจริงอยู่ความเห็นใจอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหา แต่บทเพลงเหล่านี้ โดยเฉพาะเพลง White Dove ก็ได้เปรียบเหมือนตัวแทนบอกความรู้สึกของคนที่ได้แต่มองสถานการณ์อยู่ห่างๆ เช่นเดียวกับพวกเขา …เช่นเดียวกับผม“And now you’re telling meYou’ve seen it all beforeI know that’s right but stillIt breaks my heartWell, the golden lamb we’ve sentMakes us feel better nowBut you know it’s just a dropIn a sea of tears”“และตอนนี้คุณก็บอกฉันว่าคุณได้เห็นมันมาหมดแล้วฉันรู้คุณพูดถูกแต่ว่ามันยังคงทำให้ฉันเจ็บปวดอยู่ดีแกะทองคำที่เราส่งไปทำให้เรารู้สึกดีขึ้นในตอนนี้แต่คุณก็รู้สุดท้ายมันเป็นได้เพียงแค่หยดหนึ่งในทะเลแห่งน้ำตา”- White Dove -ท่อนนี้ของเพลง White Dove (พิราบขาว) สะเทือนใจผมมาตั้งแต่ตอนที่ผมยังอยู่ในสมัยเรียนมัธยม ในตอนนั้นจะยังคงไม่อาจตีความอะไรจากเพลงนี้ได้ เพราะผมยังเป็นเด็กโง่ ยังไม่รู้ว่าการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเสรีภาพในหลายๆ ประเทศมันมีราคามากกว่าการเสี่ยงชีวิตจากกระสุนปืนของทรราชย์ มันทำให้เกิดผู้ลี้ภัย เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง การขอความช่วยเหลือที่ยากจะมาถึง ฯลฯ และแกะทองคำ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ความสงบสุขกลับมาได้จริงๆKlaus Meine เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตัวเขาเองก็อยากจะทำเพลง ให้คนที่ได้ฟังเพลงของเขามีความหวัง เด็กหนุ่มสาวในประเทศที่ยังคงมีสงครามกลางเมืองบอกว่า พวกเขาที่มีไฟฟ้าใช้แค่วันละชั่วโมง ได้มีโอกาสฟังเพลงของ Scorpions แล้วรู้สึกมีกำลังใจจึงไม่แปลก ที่หลายเพลงของวง Scorpions จึงกล่าวถึงเด็กและคนรุ่นต่อไปอย่างเปี่ยมไปด้วยความหวัง แม้บางเพลงอย่าง Moment of Glory จะดูเป็นความหวังที่ดูยิ่งใหญ่เกินไปก็ตามในอัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I นี้ก็มี Desmond Child หนึ่งในโปรดิวเซอร์มาช่วยคิดคอนเซปต์ให้ ซึ่งดูเหมือนว่ากาลเวลาที่ผันผ่านคงเริ่มทำให้พวกเขาสิ้นศรัทธาในอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นเพราะว่าบทเพลงที่พวกเขาทำออกมา ให้กำลังใจแก่ผู้คนได้ก็จริง แต่ผู้คนในมุมต่างๆ ของโลกยังคงต้องประสบกับความเลวร้ายเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไหร่เลย ในอัลบั้มนี้ พวกเขาจึงเริ่มหันมาพูดถึง “การล่มสลายของมนุษย์ชาติ”เปิดมาด้วยเพลงที่ค่อนข้างหนักแน่นดุดันอย่าง Hour I ที่เนื้อหาพูดถึงการที่เครื่องจักรหันกลับมาทำลายมนุษย์ ซึ่งฟังดูออกจะเป็นเนื้อหาแนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ Cliche ไปหน่อย ในตัวเพลงนี้ก็ได้พูดถึงเด็กเอาไว้เหมือนกัน แต่ในคราวนี้ Scorpions ไม่ได้พูดถึงเด็กในมุมมองเดิมของพวกเขา พวกเขาไม่ได้ให้กำลังใจ ปลอบขวัญ หรือตั้งความหวังกับเด็กๆ อีกแล้ว แต่ Hour I บอกให้เด็ก ๆ ทั้งหลาย … รีบๆ หาที่ซุกหัวเอาตัวรอดซะ !!“So here we areIt’s hour oneAnd it’s a nightmareThere’s nothing leftAnd yet it’s good to be aliveThere’s no use cryingCause the universe is not fairThe wicked and the innocentAre fighting to survive”- Hour I -จริง ๆ แล้วเพลงนี้อาจจะตีความไปได้หลายแง่นอกจากจะอิงคอนเซปต์เดิมของเพลง ฉะนั้น The Wicked (ผู้ร้าย) ในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงหุ่นแอนดรอยด์เพียงอย่างเดียว แต่เราอาจจะตีความมันเป็น ‘นายพลเหลิงอำนาจผู้เหี้ยมโหด’ บางคนก็ได้เพลงของ Scorpions โดยเฉพาะในอัลบั้มนี้ ไม่ได้มีแต่ Hour I เท่านั้นที่สามารถตีความไปได้หลายแง่เพลงหลายเพลงมันอาจจะฟังดูเป็นเพลงรักก็ได้ หรือเป็นเพลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในแบบอื่นก็ได้ You และ I ในแต่ละเพลงจึงอาจจะเป็นมิตรสหาย เพื่อนร่วมชาติ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมโลกและแน่นอนว่า มีบ้างที่ “ฉันและเธอ” ในบางเพลงได้แสดงความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน และไม่ว่าความขัดแย้งนั้นมันลึกล้ำฝังรากมาขนาดไหนก็ตาม หากเรายังคงยึดติดอยู่ในสิ่งที่ตนเชื่อโดยไม่ยอมทำความเข้าใจกับสิ่งอื่นที่ (เราเชื่อว่า) เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเราเลยนั้น เราก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือประหัตประหารคนด้วยกัน เช่นเดียวเหตุการณ์บางอย่างในอดีต แม้มันจะถูกอะไรบางอย่างแอบบิดเบือนไปในทางประวัติศาสตร์ แต่ภาพความโหดร้ายนั่น มันไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ “มนุษย์” กระทำต่อกันเลย“You were once a friend to meNow you are my enemyPassion turns to hate and you makeHate worth fighting forI will re-write historyAnd you will not exist to meOn the day you crossed the lineI found out love is war”- Love is War -เมโลดี้ของ Scorpions ในอัลบั้มนี้หวานหอมน้อยลง เนื้อเพลงบางเพลงยังคงอารมณ์หวานซึ้งอยู่บ้าง เพียงแต่ผมคิดไปเองหรือเปล่าว่า เหมือนพวกเขาพูดถึงมันได้ไม่เต็มปาก เพลงอย่าง Love will keep us alive (ซึ่งเหมือนของวง Eagles แค่ชื่อ) ฟังดูเฉยๆ ชาๆ The Future never dies หรือ We were born to fly อาจฟังดูมีพลังขึ้นมาหน่อย แต่มันก็ไม่อาจทำให้รู้สึกตามสิ่งที่มันสื่อได้มากนักขณะที่ เพลงอย่าง Love is War , Your Last Song และ The Cross ซึ่งพูดถึงความขัดแย้ง ฟังดูหนักแน่นในอารมณ์มากกว่า อาจจะเป็นเพราะตัวดนตรี ที่ทางวง Scorpions เองยังสรรอารมณ์ของทั้งอัลบั้มได้ยังไม่ลงตัวนัก หรืออาจจะเป็นเพราะโลกในตอนนี้ก็ได้ ที่ผลักให้บรรยากาศของเพลงมันเป็นไปตามสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ในสิ่งที่พวกเขารู้สึกจริงๆ“How dare you use my shameTo play your wicked gamesWith the mask you’re wearingAnd now you gotta make amendsFor the demons in my headI’ll nail you to the crossThe cross I’m bearing”- The Cross -แม้จะไม่ใช่อัลบั้มที่สมบูรณ์หมดจด แต่ Humanity - Hour I ก็ทำให้ขาร็อคแฟนเพลงวง “แมงป่องผยองเดช” ยุคก่อนๆ ออกมาชูฮกว่าแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้งจริงๆ แล้วในขณะเดียวกัน สำหรับบางคน (รวมถึงผมเอง) แล้ว อาจรู้สึกได้ว่า Scorpions ในบางด้านได้จืดจางหายไxเป็นไปได้ว่า…เพราะยังคงคิดถึงเพลงที่พูดถึงแสงสว่างในดินแดนที่มืดมนเพราะยังคงมีความถวิลหา “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ครั้งเก่าก่อน แม้สายลมนั้นจะไม่ได้ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทุกคนฝันกันไว้จริงๆ ก็ตามหรือเพราะ…ยังคงปรารถนาที่จะได้เห็น (หรือได้ยิน) ว่า “พิราบขาว” สัญลักษณ์ของสันติและเสรี จะบินพาดผ่านนำความหวังกลับมาซึ่งมันคงเป็นไปไม่ได้…ที่จะหา “พิราบขาว” พบใน Humanity - Hour I“Run and hide there’s fire in the skyStay insideThe water’s gonna rise and pull you underIn your eyes I’m staring at the end of timeNothing can change usNo one can save us from ourselves”- Humanity -เพราะแม้แต่ในเพลงสุดท้ายคือ Humanity ที่เป็นเหมือนบทสรุปของเนื้อหาทั้งหมด ก็ยังคงไม่วายพูดถึงความพินาศย่อยยับ และย้ำเตือนว่า ถ้าหากมนุษย์ยังไม่ได้เปลี่ยนตัวเองจากข้างใน อะไรก็คงมาเปลี่ยนไม่ได้ช่างเป็นบทสรุปที่ฟังดูสิ้นหวังเหลือเกิน
หลิน
ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านามบุคคล ได้รับการยกร่างเสร็จเรียบร้อยเตรียมจะเข้าสภาแล้ว นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่แต่งงานหรือหย่าแล้วใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ต่อไปได้ ร่างกฎหมายนี้ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ เพราะในมาตราที่ 7 นั้น ระบุว่า ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง โดยผ่านการรับรองจากแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ก็ได้ และมาตรา 8 ระบุว่า หญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นชาย โดยผ่านการรับรองจากแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้านามว่า “นาย” ก็ได้เท่าที่ฉันติดตามข่าวดู ยังไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาโต้เถียงในประเด็น “นาง” กับ “นางสาว” คิดว่าเป็นเพราะข้อดีของกฎหมายนี้เปิดโอกาสให้คนได้เลือกใช้คำนำหน้านามตามที่ตัวเองต้องการ ใครใคร่ใช้ “นาง” ต่อไปก็ใช้ ใครไม่ต้องการเปลี่ยนก็ไม่ต้อง ส่วนมาตรา 8 นั้น มีคนพูดถึงน้อยมาก และยังไม่ได้ยินเสียงจากผู้ที่แปลงเพศจากหญิงเป็นชาย เลยทำให้ประเด็นนี้ยังเงียบ ๆ อยู่ประเด็นที่ดูจะร้อนแรงและมีข้อถกเถียงกันมากนั้นอยู่ที่ มาตรา 7 ข้อถกเถียงมีตั้งแต่ ถ้าเปิดโอกาสเช่นนี้บรรดากะเทยจะไปหลอกลวงผู้ชายมาแต่งงานด้วย (เสียงนี้มาจากคุณเกย์นที จากกลุ่มเกย์การเมือง) แล้วจะเปิดโอกาสให้กับคนที่แปลงเพศแล้วเท่านั้นหรือ คนที่ยังไม่แปลง ไม่มีเงินพอที่จะแปลง หรือไม่ได้ต้องการแปลงเพศแต่มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้หญิงนั้นเล่า ก็ต้องถูกเลือกปฏิบัติต่อไปหรือไร หรือถ้ากฎหมายออกมาเช่นนี้ ก็จะกดดันให้คนต้องไปแปลงเพศมากขึ้นเพื่อให้ได้รับสิทธิที่มาพร้อมกับกฎหมายนี้ อีกประเด็นก็คือว่า การใช้คำว่า “นางสาว” นั้น ก็ยังต้องเข้าไปผูกติดกับระบบสองเพศอยู่ดี และสาวประเภทสองบางคนก็บอกว่าตนไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง แต่อยากได้รับการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ฉันฟังดูแล้วก็ตัดประเด็นแรกทิ้งออกไปทันที เพราะความคิดที่ว่ากะเทยจะไปหลอกลวงผู้ชายนั้น เป็นความคิดที่เป็นมายาคติ ในความเป็นจริงไม่ใช่ว่ากะเทยทุกคนจะเป็นคนที่หลอกลวงคนอื่น ผู้ชายมีเมียแล้วก็หลอกลวงผู้หญิงมาแต่งงานได้ ส่วนผู้หญิงเองก็หลอกผู้ชายได้เช่นกัน ฉันเองอยากบอกคุณเกย์นทีว่า ความคิดที่เป็นมายาคติเช่นนี้เป็นสิ่งเดียวกับที่เกย์ต้องเผชิญอยู่ เช่น คนทั่วไปมองว่า เกย์สำส่อน เกย์ชอบหลอกผู้หญิงมาแต่งงานบังหน้าความเป็นเกย์ เกย์เป็นผู้แพร่เชื้อเอดส์ ถ้าผู้ชายมีเพื่อนเป็นเกย์ล่ะก็ต้องระวังให้ดี เพราะเกย์อาจตุ๋ยคุณได้ทุกเมื่อ ฯลฯ ในความเป็นจริงก็คือ ไม่ใช่เกย์ทุกคนจะเป็นเช่นนั้น และผู้ชายและผู้หญิงก็ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ว่ามาได้เหมือนกันฉันไม่อยากให้คุณเกย์นที ซึ่งลุกขึ้นมาพูดทีไรก็เป็นข่าว ตกอยู่ในกับดักของมายาคติเช่นนี้ ไม่เช่นนั้นคนในสังคมก็จะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อไป และในขบวนการความหลากหลายทางเพศเองก็จะมีความแตกแยกระหว่างฝ่ายเกย์กับฝ่ายสาวประเภทสองมากขึ้นไปอีก สิ่งที่เราต้องต่อสู้ด้วยคือตัวมายาคติ ไม่ว่าจะเป็นมายาคติกับเกย์หรือกับสาวประเภทสอง พวกเราในฐานะคนที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากมายาคติที่คนอื่นมีต่อเรา ต้องทำความเข้าใจการทำงานของมายาคติให้ทะลุปรุโปร่ง เพื่อให้เราสามารถก้าวหลุดพ้นออกมาจากมัน และช่วยให้คนอื่นสามารถเห็นความจริงอย่างที่มันเป็นได้อย่างตรงไปตรงมา ส่วนประเด็นถกเถียงข้อต่อมาที่ว่า ถ้ากฎหมายให้สิทธิเฉพาะกลุ่มผู้ที่แปลงเพศแล้ว นั่นจะทำให้คนที่ยังไม่แปลงถูกเลือกปฏิบัติต่อไป หรือไม่ก็จะทำให้คนพยายามแปลงเพศมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่พร้อมด้านจิตใจ หรือด้านการเงินก็ตามเพื่อให้ได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นข้อเสนอของฝ่ายนี้คือให้กฎหมายขยายไปครอบคลุมผู้ที่ไม่ได้แปลงเพศด้วยส่วนฝ่ายร่างกฎหมาย ยืนยันให้เปลี่ยนคำนำหน้านามเฉพาะผู้ที่แปลงเพศ โดยได้รับการรับรองจากแพทย์แล้วเท่านั้น หลายท่านให้ความเห็นว่า ถ้าทำเช่นนี้ ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายมหาดไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับงานทะเบียนจะยอมรับได้มากกว่า และตอนนี้เรามีเวลาไม่มากนักสำหรับการออกกฎหมายฉบับนี้ ถ้ารอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว เท่าที่ผ่านมา กฎหมายเรื่องเพศจะไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด ประเด็นนี้เป็นเรื่องถกเถียงกันระหว่างการให้เปลี่ยนคำนำหน้านามบนพื้นฐานของเพศ (sex) หรือบนพื้นฐานของเพศภาวะ (gender) คือฝ่ายที่ต้องการให้เฉพาะผู้ที่แปลงเพศแล้วนั้น ยืนอยู่บนพื้นฐานของการระบุเพศด้วยสรีระ ซึ่งเป็นอะไรที่ชัดเจน จับต้องได้ มีความแน่นอน สถาบันทางการแพทย์ให้การรับรองได้ และแม้จะเปลี่ยนแปลงเพศสรีระได้ แต่ก็เปลี่ยนได้ยาก เพราะต้องผ่านการผ่าตัด ส่วนอีกฝ่ายนั้นเรียกร้องให้คำนำหน้านามมีพื้นฐานอยู่บนเพศภาวะ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเพศสรีระ ฉันคิดว่ากรณีนี้รัฐคงยอมรับได้ยากกว่า เพราะการระบุเพศเช่นนี้เป็นอะไรที่เบลอ จับต้องไม่ได้ ยากแก่การคาดการณ์ มีความไม่แน่นอนมากกว่ากรณีผู้แปลงเพศแล้วที่สามารถบ่งชี้ความเป็นเพศหญิงได้ชัดจากหน้าอกและอวัยวะเพศยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยนะคะ อาจารย์ดักลาส แซนเดอร์ส อาจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์ เสนอตัวอย่างว่าในประเทศอังกฤษนั้นรัฐให้สิทธิคนเปลี่ยนคำนำหน้านามได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ต้องผ่านการรับรองจากแพทย์ คือหากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าบุคคลนี้เป็น Gender Identity Disorder (ผู้ที่มีความผิดปกติทางอัตลักษณ์ของเพศภาวะ) และใช้ชีวิตอยู่ในเพศที่ตนเองต้องการ สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามรวมถึงเอกสารทางการต่าง ๆ ตามเพศภาวะของตนได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ วิธีนี้ยังอยู่บนพื้นฐานของระบบสองเพศ และต้องขึ้นอยู่กับอำนาจของสถาบันการแพทย์ โดยยอมรับให้แพทย์ระบุว่าบุคคลนี้เป็นผู้ที่มีความปกติ แต่ก็ทำให้คนสามารถระบุเพศของตัวเองได้โดยใช้เพศภาวะเป็นตัวกำหนด ไม่ต้องถูกกดดันให้แปลงเพศเพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านต่าง ๆ และรัฐอาจจะยอมรับได้เพราะมีสถาบันทางการแพทย์เป็นผู้การันตีข้อดีอีกด้านหนึ่งของการให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น Gender Identity Disorder ก็คือ อาจทำให้รัฐกำหนดให้การแปลงเพศต้องได้รับการคุ้มครองจากประกันสุขภาพได้ด้วย อาจารย์ดักลาสเป็นผู้ยกกรณีตัวอย่างจริงให้เห็นอีกเช่นกัน เรื่องนี้เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปค่ะ ศาลด้านสิทธิมนุษยชนตัดสินให้การผ่าตัดแปลงเพศต้องได้รับการคุ้มครองจากประกันสุขภาพเมื่อปี พ.ศ. 2546 ดังนั้นคนที่พร้อมด้านจิตใจแต่ไม่พร้อมด้านการเงิน ก็สามารถให้ประกันสุขภาพจ่ายเงินค่าผ่าตัดแปลงเพศได้ส่วนอีกประเด็นที่ว่า การใช้คำว่า “นางสาว”ไม่ว่าจะตัดสินที่เพศหรือเพศภาวะ ก็ยังเป็นการติดอยู่กับระบบสองเพศอยู่ดี เพราะก็ยังไปไม่พ้นคำว่า “นาย” และ “นางสาว” ยังไม่พ้นที่จะเป็นผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น สาวประเภทสองบางคนก็บอกว่าตนไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง แต่อยากได้รับการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่ที่ต้องเรียกร้องคำว่า “นางสาว” เพราะนี่เป็นทางเลือกเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้บางคนเสนอให้เราก้าวไปให้พ้นกรอบนี้ เช่นโดยการใช้คำนำหน้านามอย่างอื่นเพิ่มขึ้น มีคนเสนอชื่อ “นางสาวประเภทสอง” (ซึ่งฟังดูแล้วก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะเขียนคำนี้นำหน้าชื่อตัวเอง) นั่งคิดไปคิดมา ก็ต้องกุมขมับเพราะนี่เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าการให้สิทธิใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” กับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้หญิงที่หย่าแล้ว และสาวประเภทสองทั้งที่ผ่าตัดและยังไม่ผ่าตัด เพราะเรื่องนี้สั่นคลอนฐานความคิดความเชื่อเรื่องระบบสองเพศที่เป็นรากฐานของสำคัญของรัฐลองคิดดูนะคะว่า ระบบสองเพศนี้มีอิทธิพลต่อเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะเกิดมาเสียอีก เวลาที่ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งท้อง สิ่งที่คนเดี๋ยวนี้ทำกันก็คือ ต้องไปอุลตร้าซาวนด์ดูว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือเป็นเด็กผู้ชาย หรือถ้าไม่ทำอุลตร้าซาวนด์ เวลาเด็กเกิดมา คนก็จะถามด้วยคำถามแรกว่า “ผู้หญิงหรือผู้ชาย” สูติบัตรของเราก็ต้องระบุชัดว่า เราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายวิถีชีวิตของเราถูกกำหนดด้วยระบบสองเพศอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเข้าโรงเรียน จะพูดกับใคร จะทำบัตรประชาชน ทำงาน ไปหาหมอที่โรงพยาบาล จะแต่งงาน มีลูก ทำหมัน หย่า จะเดินทาง ทำพาสปอร์ต แข่งกีฬา เข้าห้องน้ำสาธารณะ หรือแม้แต่เวลาถูกจับเข้าคุก รัฐก็ต้องการรู้อัตตลักษณ์ทางเพศ (ที่มีอยู่เพียงสองทางเลือก) ของเราให้แน่ชัด เจ้าหน้าที่รัฐจะได้คาดการณ์การมีปฏิสัมพันธ์กับเราได้ถูก หรือรัฐจะได้วางแผนนโยบายต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชากร นโยบายสาธารณสุข นโยบายความมั่นคง ฯลฯ และคนธรรมดาอย่างเราก็ต้องการความชัดเจนด้วยว่า ลูกของเรา แฟนของเรา เพื่อน หรือคนที่เราเห็นอยู่นั้นเป็นเพศอะไร เพื่อเราจะได้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเขาได้ถูก - ตามกรอบของระบบสองเพศ ดังนั้นแล้ว การเปลี่ยนคำนำหน้านามที่ให้ผู้หญิงคงคำว่า “นางสาว” ไว้ได้ ก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ แม้จะให้สิทธิแก่ผู้หญิงมากขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบของระบบสองเพศเช่นกัน การให้โอกาสผู้ที่แปลงเพศหรือยังไม่แปลงใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” แม้จะให้สิทธิแก่สาวประเภทสองมากขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในกรอบของระบบสองเพศ เรื่องอย่างนี้รัฐคงยอมรับได้มากกว่าจะยอมรับเพศที่นอกเหนือจากเพศชายและเพศหญิง หากแต่ในโลกของความเป็นจริง มันไม่ได้มีแค่สองเพศและสองเพศภาวะ ยิ่งอยู่ในแวดวงความหลากหลายทางเพศนี้มากเท่าไร ฉันก็ยิ่งเห็นความหลากหลายของเพศมากขึ้นเท่านั้น ยอมรับค่ะว่า บางทีทำเอาฉันงง และทำตัวไม่ถูก บางทีก็เห็นใจทางฝ่ายมหาดไทยเหมือนกัน ขนาดฉันที่อยู่ในแวดวงมาหลายปี ยังงง แล้วมหาดไทยที่อยู่ในกรอบอย่างนั้นจะไม่งวยงงมากกว่าฉันอีกหลายเท่าหรืองงงวยและซับซ้อน แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีทางออกเลย ยังพอมีหวังค่ะ เพราะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เกือบจะระบุให้ความคุ้มครองอัตตลักษณ์ทางเพศ (ซึ่งมีมากกว่าสองเพศ) ลงไปแล้ว ฉันขอเสนอวิธีที่ไปพ้นคำนำหน้านาม คือ ไม่ต้องระบุคำนำหน้านาม และสามารถระบุเพศเองได้ นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นจากมหาวิทยาลัยที่ฉันเรียนในอเมริกา เวลากรอกเอกสาร เราไม่ต้องกรอกคำนำหน้านาม คือ ไม่ต้องใช้คำว่า Mr. หรือ Ms. แต่ในช่องที่ระบุเพศ จะมีช่องให้ติ๊กว่าเราเป็น ชาย หญิง หรือ อื่น ๆ ในช่องอื่น ๆ นั้น เราสามารถใส่ลงไปตามที่เราต้องการได้เอง หลายปีก่อนเคยเห็นโพลล์ของมหาวิทยาลัยรังสิตทำอย่างนี้เหมือนกัน วิธีนี้อาจจะทำให้รัฐงงหน่อย และมีการเปลี่ยนแปลงมากหน่อยในกรณีที่คนเกิดเปลี่ยนเพศหรือเพศภาวะของตน แล้วต้องการไปแก้เอกสาร แต่ฉันคิดว่านี่จะช่วยให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกเพศ มีโอกาสได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็นจริง ๆโดยไม่ต้องขึ้นกับสถาบันใด ๆ หรือขึ้นกับระบบสองเพศ และรัฐจะได้ข้อมูลประชากรที่เป็นความจริงมากกว่าด้วยซ้ำไป ซึ่งสามารถนำไปสู่การวางนโยบายต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเพศอันหลากหลายของประชากรที่ทำได้มากกว่านั้นก็คือ เราต้องมีกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติออกมาควบคู่กันไปด้วย เช่น ขณะนี้สาวประเภทสองถูกเลือกปฏิบัติจากการรับสมัครงานมาก วิธีหนึ่งที่จะป้องกันได้คือมีกฎหมายที่ระบุว่าการรับสมัครงานต้องไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ที่อเมริกามีกฎหมายเช่นนี้ ฉันรู้มาจากเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนายจ้างกำลังจะรับสมัครงาน เพื่อนบอกกับฉันว่า ที่นี่เราไม่สามารถประกาศได้ว่าเราต้องการผู้หญิงหรือผู้ชาย เวลาคนส่งใบสมัครก็ไม่ต้องส่งรูปมา เพราะนายจ้างจะได้ไม่ตัดสินใจโดยมีอคติต่อรูปร่าง หน้าตา หรือเชื้อชาติ น่าจะเป็นทางออกที่ดี ทุกวันนี้เราจะเห็นแต่ประกาศรับสมัครงานที่บอกว่า ต้องการชาย อายุ..... หรือต้องการหญิง อายุ... ไม่เคยเห็นประกาศที่ต้องการสาวประเภทสองเลย ถ้ามีกฎหมายคุ้มครองเช่นนี้ สาวประเภทสองก็สามารถสมัครงานได้ตามความสามารถของตัวเอง แน่นอนนะคะว่าเวลาเจอกันจริง ๆ ทำงานด้วยกันจริง ๆ แล้ว คนที่มีอคติอยู่ก็อาจจะเลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสอง ซึ่งกฎหมายนี้ต้องคุ้มครองไปถึงขณะที่ทำงานแล้วด้วย คือผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติก็สามารถมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลได้ นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนในระดับกฎหมายที่เป็นทางเลือกได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีเพศที่แตกต่างอย่างมาก แต่จริง ๆ แล้ว เราไม่ต้องรอให้กฎหมายออกนะคะ เราสามารถช่วยกันแหวกกรอบของระบบสองเพศได้ทุกเมื่อ ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการ หรือพนักงาน คุณสามารถผลักดันให้บริษัท องค์กร ของคุณออกนโยบายที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับคนโดยไม่ต้องระบุเพศ การส่งเสริมให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลาย หรือออกข้อห้ามมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติกันในองค์กรของคุณในฐานะปัจเจก เราสามารถเปิดใจเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศที่มีมากกว่าสองเพศได้เสมอ เหมือนกับ คนบางคนรักการเดินทาง เพราะทำให้ได้พบปะผู้คนที่หลากหลายวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา แม้บางทีเราจะเจอ Culture Shock แต่มันก็เป็นการเปิดให้เราเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น เช่นกัน เราสามารถเดินทางข้ามผ่านพรมแดนทางเพศ ด้วยการเข้าไปพบปะผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คบเพื่อนที่เป็นเพศที่สามเพิ่มขึ้น หรือไปร่วมกับองค์กรที่ทำงานด้านนี้ แม้บางทีเราจะเจอ Gender Shock บ้าง แต่ว่าแต่ละคนที่เราได้พบจะช่วยให้เรามีความเข้าใจต่อความเป็นคนได้อย่างเป็นจริงมากขึ้นขอปิดท้ายด้วยตัวอย่างจากเรื่องจริงค่ะขณะที่หมอคนหนึ่งกำลังทำคลอดเด็ก หมอสังเกตเห็นว่าเด็กที่เพิ่งเกิดคนนี้มีอวัยวะเพศของทั้งสองเพศ พยาบาลที่ยังไม่เห็นเด็กถามว่า “เด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายคะ” หมอไม่ตอบว่าเพศอะไร แต่ตอบว่า “นี่เป็นเด็กที่งดงามคนหนึ่ง” หมอคนนี้มองทะลุผ่านความเป็นเพศ และมองเห็นความจริงอันงดงามที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าได้อย่างชัดเจน------------------------------------------------------* หมายเหตุ ข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์ดักลาส แซนเดอร์ส เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแปลงเพศในประเทศต่าง ๆ- ในยุโรป ปี พ.ศ. 2539 ศาลยุติธรรมของยุโรป ตัดสินว่าการเลือกปฏิบัติที่มีพื้นฐานอยู่บนการแปลงเพศ เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายของสหภาพยุโรปปี พ.ศ. 2545 ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปตัดสินว่า ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วสามารถเปลี่ยนเพศในเอกสารประจำตัวต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสูติบัตร ใบขับขี่ และหนังสือเดินทาง ปี พ.ศ. 2546 ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปตัดสินว่า การผ่าตัดแปลงเพศเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่กฎหมายรับรอง และควรได้รับการคุ้มครองโดยประกันสุขภาพดังนั้น ทุกประเทศในยุโรปต้องมีการออกกฎหมายที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลเหล่านี้- ในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกาและบางประเทศในอเมริกาใต้ อนุญาตให้บุคคลที่แปลงเพศแล้วเปลี่ยนเพศในเอกสารส่วนบุคคลได้ปีนี้ ประเทศบราซิลกำหนดว่าการผ่าตัดแปลงเพศต้องเป็นสวัสดิการที่ผู้ผ่าตัดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด- ในเอเชีย ประเทศที่อนุญาตให้ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วเปลี่ยนเพศในเอกสารส่วนบุคคลได้มี จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้- ในประเทศมุสลิม การแปลงเพศได้รับการยอมรับตามกฎหมายใน อียิปต์ อิหร่าน อินโดนีเซีย ตุรกี
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3 แม้ว่าระดับความพอใจในคุณภาพจะยังขาดเกินส่วนผสมบางอย่าง แต่จากเรื่องสั้นทั้งหมด 76 เรื่องซึ่งเลือกเฟ้นออกมาได้ 12 เรื่อง คงจะพอร้องแรกแหกกระเชอไล่ราหูได้”เรื่องสั้นที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือคือ “13 กุมภาพันธ์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก ไม่เข้าใจว่าทำไมวันแห่งการจากไปของ “ฮีโร่” ซึ่งเป็นนักรบจากอเมริกาใต้และเป็นศัตรูตัวฉกาจของมหาอำนาจอเมริกา กับความตายของ “จิมมี่” เพื่อนนักดนตรี จึงกลายเป็นวันปลดปล่อยผีเสื้อไปได้ หรือทั้งคู่เปรียบเหมือนผีเสื้อที่ได้รับการปลดปล่อยด้วยความตาย ? ผมคงอ่านเรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่แตกจึงไม่เกิดความรู้สึกประทับใจเรื่องสั้น “บักหัวแดง” ของ “ไพฑูรย์ ธัญญา” อ่านสนุกด้วยลีลาภาษาพื้นบ้านอีสาน ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องสั้นนี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานของผู้หญิงอีสานกับฝรั่ง แล้วอาศัยตั้งรกรากที่อีสานบ้านเกิดฝ่ายหญิงนั้น คนที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่ใช่ผู้หญิงแต่กลับเป็นฝรั่งพลัดถิ่นที่แทบไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อถูกฝ่ายหญิงและญาติสูบเงินไปหมดแล้ว ฝรั่งก็ไม่มีความหมายอะไรอีก เรื่องสั้นนี้ชวนให้มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับฝรั่งเสียใหม่ หลังจากที่เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้เอาแต่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากของคนอีสาน“ผัวฝรั่งนำความมั่งคั่งมาสู่นางเอกและแม่ผัว พวกหล่อนโก้หรูฟู่ฟ่า เปลี่ยนจากเถียงนามาอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ เปลี่ยนจากนั่งมอเตอร์ไซค์มานั่งโตโยต้าวีโก้ แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ความรักที่เคยหวานชื่นก็แปรมาเป็นขมขื่น อีหล่าเริ่มออกแววน้ำเน่า แม่ยายก็ออกลายขี้งก ปล่อยให้พระเอกของเราคอตกเพราะถูกเมียและแม่ยายช่วยกันทำเรื่อง“ (หน้า22-23) “สีของดอกไม้” ของ “ประชาคม ลุนาชัย” เบาหวิวเกินไป ฉากและอารมณ์ดูจะซ้ำกับนวนิยายเรื่องก่อนหน้าของเขาคือ “เขียนฝันด้วยชีวิต” ดูเหมือนว่างานบางชิ้นของเขาจะซ้ำไปซ้ำมาผมอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว เรื่องไหนที่ไม่หยุดตรึงให้อ่าน ผมก็จะผ่านไป และผมก็ผ่านไปหลายเรื่อง เรื่องสั้น “ขอบคุณแรมโบ้” ของชิด ชยากร นั้น เป็นตัวอย่าง “ขอบคุณแรมโบ้” กล่าวถึงการชกมวยระหว่าง “แรมโบ้” กับ “ไอ้เลือดเหล็ก” ผู้เขียนบรรยายการชกไปทีละยก ๆ เหมือนกับกำลังดูโทรทัศน์ ก่อนจะหักมุมว่าทั้งหมดคือการนึกถึงเรื่องหวาดเสียวในระหว่างการถอนฟันของตัวละครเท่านั้นเอง “ระฆังยกแรกดังขึ้น... พอกรรมการสับมือลงเป็นสัญญาณให้ชกได้ ทั้งแรมโบ้และและไอ้เลือดเหล็กทะยานเข้าหากันทันที...” (หน้า60)“พอระฆังยกสองเริ่ม พงษ์ศิริปราดเข้ามายืนคอยถึงมุมน้ำเงินของไพโรจน์...” (หน้า 62)“ยกสามเริ่ม ต่างฝ่ายต่างไม่รีรอเดินอัดกันในทันที...” (หน้า 63)ผู้เขียนบรรยายเรื่อยไปจนครบยกที่ห้า อ่านไปเหนื่อยไปกับการติดตามการต่อสู้ของนักมวยที่ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหนเรื่องสั้นของอัศศิริ ธรรมโชติ เรื่อง “ปีหมูของคน” นั้นน่าผิดหวังอย่างแรง งานเขียนของอัศศิริ ธรรมโชติ เคยเป็นแรงดลใจให้ผมสมัยย่างเข้าวัยหนุ่ม ด้วยภาษาที่สวยงามราวร้อยกรอง เนื้อหาที่สะเทือนใจ แต่เรื่องสั้นชิ้นนี้สร้างความผิดหวังสำหรับคนรอคอยงานใหม่ ๆ ของอัศศิริ ธรรมโชติ มันเหมือนงานเขียนลงหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า เรื่องสั้นเริ่มต้นด้วยการนึกถึงวัยเด็กของตัวละครที่เกิดปีกุน แล้วตัดเข้าสู่ยุคปัจจุบันอันเป็นปีที่ตรงกับปีกุน หมอดูทำนายว่าปีกุน 2550 เป็นปีที่น่ากลัว จะเป็นปีหมูไฟที่เผาผลาญบ้านเรือนให้มีแต่ความเดือดร้อนจากนั้นก็เป็นการรายงานข่าวถึงสิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องไข้หวัดนก หมูราคาตกต่ำจนต้องฆ่าทิ้ง รวมทั้งระเบิดส่งท้ายปีเก่า แล้วก็รำพึงว่า “คนเอ๋ย หมูเอ๋ย” แล้วก็รำพึงต่อไปราวกับไม่มีอะไรให้เขียน ก่อนจะสรุปถึงเหตุการณ์ระเบิดส่งท้ายปีเก่าที่ทำให้คนบริสุทธิ์ตายฟรี แล้วทิ้งท้ายว่า “โอ้... คนเอ๋ย” ผมไม่รู้ว่าบรรณาธิการคิดยังไงจึงปล่อยเรื่องสั้นชิ้นนี้ออกมา ส่วนเรื่อง ”เซโดชา” ของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล นั้นบรรยากาศแปลกดี จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือความรู้เกี่ยวกับป่าของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ความลี้ลับที่ผู้เขียนวาดไว้ทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องได้แต่หวังว่าราหูอมจันทร์เล่มต่อไปจะเข้มข้นกว่านี้ คงจะมีเรื่องสั้นชั้นดีให้กองบรรณาธิการได้คัดเลือกมากกว่านี้.
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ในเมื่อผลประโยชน์ของเขาขึ้นอยู่กับความไม่เข้าใจในสิ่งนั้นของเขาเอง”ในปี ๒๕๔๙ มูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศไทยสูงถึง ๑.๔๘๘ ล้านล้านบาท [2] เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง ๑๗ % คิดเป็นประมาณ ๑๙ % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (จีดีพี)นั่นคือ ทุกๆ ๑๐๐ บาทของรายได้ เราจ่ายเป็นค่าเชื้อเพลิงถึง ๑๙ บาท ซึ่งถือว่าเป็นหมวดค่าใช้จ่ายที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในหมวดอื่น ๆ อีกหลายหมวด เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา ยารักษาโรค เป็นต้นและสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้นปัญหาพลังงานไม่ได้อยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่สูงมากเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม (ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในรูปถ่ายที่นำเสนอมาแล้ว) ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งทั้งในระดับชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้า จนถึงการก่อสงครามระหว่างประเทศและภูมิภาคอีกด้วยนี่ก็เป็นความจริงหนึ่งที่ประเทศผู้ก่อสงครามแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ เหมือนกับที่ท่านนักประพันธ์ดังกล่าวถึง เรื่องนโยบายสาธารณะ [3] ด้านพลังงานของประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก ไม่เพียงแต่เป็น “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก” เท่านั้น แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลประโยชน์จากนโยบายสาธารณะด้านพลังงานคอยกีดกัน ด้วยวิธีการต่างๆนานาไม่ให้สาธารณะชนได้รับทราบความจริงอีกต่างหากอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิจารณ์นโยบายพลังงานของรัฐบาลต่างๆ ว่า “. . . ทำให้พลังงานเป็นเรื่องเทคนิคที่คนทั่วไปถูกรอนความสามารถที่จะเข้าไปได้ แม้แต่นักการเมืองซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศ ก็เห็นเรื่องพลังงานเป็นเพียงประเด็นง่ายๆ เพียงขอให้มีพอสำหรับป้อนความต้องการของประชาชนก็เพียงพอแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ตัวแทนของประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบ และวางนโยบายทางเลือกที่มีประโยชน์ในระยะยาวแก่ส่วนรวม . . .” [4] ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของผมในการศึกษาเรื่องนี้จึงมี ๒ อย่างครับ คือหนึ่ง การค้นหาความจริงเหล่านี้ ทั้งจากเอกสาร ตัวบุคคลและองค์กร ที่ผมได้มีโอกาสสัมพันธ์ด้วย ทั้งระดับประเทศและระดับโลก แล้วนำมาทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้อ่านทั่วไปที่มีระดับความสนใจแตกต่างกัน อย่าลืมนะครับว่า “ความไม่เข้าใจเรื่องนโยบายพลังงาน” ของเราเป็นที่มาของผลประโยชน์อันมหาศาลของนักการเมืองสอง ผมจะพยายามนำเสนอ “กระบวนการ” หรือขั้นตอนในการสร้างนโยบายสาธารณะของประเทศต่างๆ มาให้คนทำงานภาคประชาชนได้รับทราบแล้วร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันให้ขึ้นสู่ระดับนโยบาย เพราะผมมีความเชื่อว่า ไม่ว่านโยบายใดก็ตามย่อมมีขั้นตอน มีเหตุมีปัจจัยในการเกิดขึ้นเสมอ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะ “เสก” ขึ้นมาเองได้ ดังนั้นถ้าผมสามารถสืบค้นหากระบวนการได้ ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับกลุ่มประชาสังคม กลุ่มพลเมือง ตลอดจนองค์กรต่างๆ สิ่งที่ผมอยากจะเรียนในที่นี้ก็คือว่า ไม่ว่าเราในฐานะปัจเจกหรือในฐานะองค์กรใดก็ตาม ต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะด้านพลังงานเสมอ และขนาดของผลกระทบมีมากกว่าที่เราเคยรับรู้มาแล้วการทำงานภาคประชาสังคมไม่อำนาจในการสั่งการ งบประมาณก็มีไม่มากนัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้หลักการทำงานมีประสิทธิภาพเพื่อให้สาธารณะเกิดความรู้ความเข้าใจในความจริงใหม่โดยเร็ว นักสังคมศาสตร์ท่านหนึ่งได้แนะนำไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า “The Tipping Point” [5] ซึ่งขยายความว่า “สิ่งเล็กๆ สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ ๆ ได้อย่างไร” ท่านแนะว่าการเผยแพร่ความรู้ให้มีประสิทธิภาพจะต้องประกอบด้วยคนสามฝ่าย คือ ส่วนที่หนึ่ง ต้องมีผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เราเรียกคนพวกนี้ว่า “Maven” หรือเป็นนายธนาคารข้อมูล ส่วนที่สอง ต้องมีผู้ประสานงาน (connector) ทำหน้าที่เป็น “กาวทางสังคม” และส่วนที่สาม ต้องมีนักขาย (salesman) ที่มีทักษะในการโน้มน้าวให้คนเข้าใจ ให้คนเชื่อ ความสัมพันธ์ของคนสามฝ่ายนี้แสดงได้ดังแผนผังข้างล่างนี้ ๒. ศึกษาไปเผยแพร่ไปการศึกษาชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “นโยบายสาธารณะการจัดการความรู้ด้านพลังงาน” โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข ภาคใต้ ม.อ. โดยมีระยะเวลาศึกษาประมาณหนึ่งปีด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ ความคิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผมจึงใช้วิธี “ศึกษาไป เผยแพร่ไป” ทั้งในรูปบทความลงหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์และในรูปแบบการบรรยายตามเวทีวิชาการต่างๆ การไฮปาร์ค “ยิกทักษิณ” ออกรายการวิทยุ รวมถึงการใช้สอนนักศึกษาในวิชา “วิทยาเขตสีเขียว” ตามหลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สถาบันที่ผมสังกัดด้วย เนื่องจากการเผยแพร่ในลักษณะดังกล่าวต้องมีเนื้อหาที่สามารถเข้าใจได้ในตอนเดียว ดังนั้น เมื่อนำมารวมเป็นผลงานจึงมีบางเนื้อหาที่อาจจะซ้ำหรือคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของผู้อ่าน ผมจะพยายามตัดส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งออกไปเท่าที่จะทำได้ ๓. องค์ประกอบเนื้อหาเนื้อหาประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นนโยบายและกระบวนการผลักดันเคลื่อนไหวโดยมี “นโยบายสาธารณะ” เป็นเข็มมุ่ง และส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระเรื่องพลังงานโดยตรง ในแต่ละบทมักจะมีเนื้อหาทั้งสองส่วนปนกันไป (ถ้าทำได้)ในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระของพลังงานโดยตรง ผมจะเริ่มต้นจาก กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลก เชื่อมโยงให้เห็นการผลักดัน “นโยบายพลังงาน” ที่เริ่มต้นจากกลุ่มพ่อค้าน้ำมันระดับโลก ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับน้ำมัน รวมทั้งกลไกราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพยายามก่อสงครามของประเทศมหาอำนาจด้วยเหตุผลที่ว่า การศึกษาชิ้นนี้มีลักษณะ “ศึกษาไป เผยแพร่ไป” ผมจึงขออนุญาตทำความเข้าใจกับชนิดของพลังงานสักนิดก่อนน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์นับเป็นล้านล้านปี เราเรียกรวมๆ ว่า เป็นพลังงานฟอสซิล ลักษณะสำคัญของพลังงานฟอสซิล คือ ใช้แล้วหมดไป หมดแล้วหมดเลย เกิดใหม่ไม่ได้ ขณะเดียวกันราคาก็เพิ่มสูงขึ้นทุกวันและถูกกำหนดโดยกลุ่มพ่อค้าผูกขาด พลังงานพวกนี้แหละที่ก่อมลพิษทั้งต่อชุมชนใกล้ๆและต่อระดับโลก ที่หนังสารคดี “An Inconvenient Truth” กำลังรณรงค์กันอยู่พลังงานอีกประเภทหนึ่ง เรียกรวมๆ ว่า “พลังงานหมุนเวียน (renewable energy)” ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม พืชน้ำมันบางชนิด ไม้ฟืนผลิตไฟฟ้า ของเสียจากครัวเรือนโรงงาน และการเกษตร เป็นต้นพลังงานหมุนเวียนมีลักษณะตรงกันข้ามกับพลังงานฟอสซิล ที่สำคัญ คือนอกจากไม่มีวันหมดและไม่ก่อมลพิษแล้ว ยังผูกขาดได้ยาก ตรงนี้แหละที่กลุ่มพ่อค้าพลังงานและนักการเมืองพยายามกีดกันไม่ให้ใช้ ไม่ให้ประชาชนรู้จักตลอดมาสำหรับประเด็นอื่นๆ จะครอบคลุมเนื้อหาครบถ้วนตามที่ได้เกริ่นนำมาแล้ว ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักพัฒนาเอกชนระดับโลก ระดับประเทศไทย ประเด็นอิทธิพลของนายธนาคารระดับโลก การผลักดันเสนอกฎหมายที่ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นหลักประกันให้ “นโยบายสาธารณะ” ที่เราร่วมกันผลักดันจนได้มาแล้ว (สมมุตินะครับสมมุติ) มีความมั่นคงขึ้นสำหรับภาพรวมของปัญหาพลังงานในประเทศไทยนอกจากจะมีเนื้อหาตามปกติทั่วไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องการแปรรูป ปตท. และ กฟผ. รวมอยู่ด้วยในการศึกษาครั้งนี้ ผมได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข ภาคใต้ ม.อ. (สวรส.) นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลจากกลุ่มประชาสังคมต่างๆ อีกจำนวนมาก ที่ได้ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ขอบคุณมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ที่ได้ให้การสนับสนุนในการไปร่วมประชุมและสนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ “พลังยกกำลังสาม” เมื่อต้นปี ๒๕๔๙ ----------[1] ชื่อ Upton Sinclair (1878-1968) ข้อมูลเพิ่มเติมที่ค้นได้บอกว่า นอกจากเป็นกวีแล้วยังเป็นนักการเมืองสังคมนิยม(socialist politician)ด้วย[2] สถานการณ์พลังงานในปี 2549 และแนวโน้มปี 2550 กระทรวงพลังงาน[3] นโยบายสาธารณะ (public policy) หมายถึง แนวทางกิจกรรม/การกระทำ/การเลือกตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้ทำการตัดสินใจและกำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้นำให้มีกิจกรรม/การกระทำต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ โดยมรการวางแผน การจัดทำโครงการ วิธีการบริหารหรือกระบวนการดำเนินงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยวิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และความต้องการของประชาชน/ผู้ใช้บริการในแต่ละเรื่อง (ที่มา ค้นจากวิกีพีเดีย)[4] คำนำ ในหนังสือ “พลังยกกำลังสาม”: พลังใจ พลังพลเมือง สร้างนโยบายพลังงาน โดย ประสาท มีแต้ม, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2549[5] http://en.wikipedia.org/wiki/The_Tipping_Point_(book) เขียนโดย Malcolm Gladwell
new media watch
http://culturegap.wordpress.com เรื่องเล็กของบางคน อาจเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับอีกหลายคน ด้วยเหตุผลที่มาจาก "ความแตกต่างทางวัฒนธรรม" เรื่องวุ่นๆ ของการมองต่างมุมจึงเกิดขึ้นเสมอบนโลกใบนี้ เมื่อเกิดการถกเถียงกันโดยใช้มุมมองและเหตุผลคนละชุด ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมยิ่งถูกถ่างกว้างออกไป แต่พื้นที่ของความเข้าใจกัน--กลับหดแคบลงอาจเพราะเหตุนี้ บล็อกเกอร์ช่างคิดแห่งเวิร์ดเพรสคนหนึ่ง จึงรวบรวมเรื่องราวนานาสารพันให้คนช่างสงสัยติดตามอ่านกันตามอัธยาศัย ไล่มาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตำนาน 'เตาอั้งโล่' หรือ 'กำแพงคร่ำครวญ' ในดินแดนพันธสัญญา รวมถึงที่มาของสุภาษิตนานาชาติ เรตหนัง ระบบอุปถัมภ์ และโพลห่วยๆ ฯลฯ ตบท้ายด้วยการบอกเล่า 'วิธีคิด' ที่แฝงอยู่ในเรื่องราว สถานที่ สิ่งของ และความเชื่อต่างๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://culturegap.wordpress.com แล้วจะเข้าใจถึงความมุ่งมั่นที่จะถมความต่างในช่องว่างวัฒนธรรมเหล่านั้นให้เต็ม...เพราะคงจะดีไม่น้อย หากใครต่อใครพยายามทำความเข้าใจ ก่อนจะ 'ตัดสิน' ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรคือความดีงาม และอะไรคือความเลวร้าย ด้วยเหตุผลที่สนับสนุนการกระทำของเรา อาจเป็นเหตุผลคนละชุดกับของคนอื่น