Skip to main content

บทที่ 2 สิทธิของมนุษย์ (The Rights of Man)

 

ฐานคติทางปรัชญาของรัฐเสรีนิยม ที่เข้าใจกันว่าหมายถึงรัฐที่มีอำนาจจำกัดตรงกันข้ามกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ ปรากฏอยู่ในทฤษฎีว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติ ที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักสิทธิตามธรรมชาติ (หรือ กฎธรรมชาติ) สำนักนี้เสนอว่า มนุษย์ ซึ่งก็คือคนทั้งปวงไม่มีข้อยกเว้น ถือครองสิทธิพื้นฐานที่แน่นอนตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ ความมั่นคงและความสุข โดยไม่ขึ้นต่อเจตจำนงส่วนตน และยิ่งไม่ขึ้นต่อเจตจำนงของคนหรือกลุ่มคนอื่นๆ  รัฐ หรือกล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นคือ ผู้ที่ถือครองอำนาจที่ชอบธรรมในการบีบบังคับให้ผู้อื่นเชื่อฟังตน ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ จำต้องเคารพในสิทธิเหล่านี้ จำต้องไม่ล่วงละเมิด และต้องรับรองว่าสิทธิเหล่านี้จะไม่ถูกละเมิดโดยคนอื่นๆ การระบุว่าใครมีสิทธิก็คือการตระหนักรู้ว่าปัจเจกชนคนหนึ่งมีความสามารถในการกระทำหรือไม่กระทำตามใจปรารถนา ทั้งยังมีอำนาจที่จะต่อต้าน และใช้กำลัง (ของตนเองหรือผู้อื่น) ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองอย่างถึงที่สุด เพื่อต่อต้านใครก็ตามที่อาจละเมิดสิทธิของพวกเขา อันจะทำให้ผู้ที่อาจล่วงละเมิดสิทธิของเขามีหน้าที่ หรือ ข้อผูกมัด ในการละเว้นจากการกระทำการใดๆ ที่อาจแทรกแซงความสามารถที่จะกระทำและไม่กระทำอย่างที่ผู้อื่นพึงพอใจ คำว่า “สิทธิ” และ “หน้าที่” เป็นมโนทัศน์ที่มาพร้อมอำนาจในการสั่งการ (prescriptive force) ดังนั้นจึงสมมติเอาว่ามีบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์การปฏิบัติบางอย่างอยู่ก่อน อันเป็นกฎที่ตระหนักถึงความสามารถในการกระทำและไม่กระทำตามที่ตนพึงพอใจของมนุษย์ และเรียกร้องให้ทุกคนละเว้นจากการกระทำทุกอย่างที่อาจขัดขวางการใช้ความสามารถเหล่านั้นในเวลาเดียวกันด้วย เราอาจนิยามทฤษฎีกฎธรรมชาตินี้ว่าเป็นการยืนยันในการดำรงอยู่ของกฎที่ไม่ได้สร้างขึ้นโดยเจตจำนงของมนุษย์ และทำนองเดียวกันก็เป็นกฎที่มีอยู่ก่อนการก่อตัวของกลุ่มทางสังคมใดๆ ด้วย เราสามารถสืบสอบกฎที่ว่านี้ได้ด้วยเหตุผล (can be ascertained by rational enquiry) สิทธิและหน้าที่ที่ถือกำเนิดจากกฎที่ว่านี้ เนื่องจากมีที่มาจากกฎธรรมชาติ จึงเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ที่มาจากกฎทางศีลธรรมและทางกฎหมาย เราพูดถึงทฤษฎีว่าด้วยกฎธรรมชาติในฐานะฐานคติ 'ทางปรัชญา' ของเสรีนิยม เพราะมันช่วยสถาปนาขีดจำกัดอำนาจรัฐบนฐานของมโนทัศน์อันเป็นสมมติทั่วไปเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อันปราศจากการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ จอห์น ล็อก (John Locke) หนึ่งในบิดาของเสรีนิยมสมัยใหม่ ได้เริ่มต้นหนังสือ Two Treatises of Government เล่มที่สอง ด้วยการกล่าวถึง สภาวะธรรมชาติ ที่เขาอธิบายว่าหมายถึง สภาวะอันสมบูรณ์ด้วยเสรีภาพและความเสมอภาค เป็นสภาวะที่ปกครองโดยกฎธรรมชาติอัน 'สั่งสอนมนุษย์ทุกคน ผู้จะยึดถือเพียงกฎธรรมชาติเป็นหลัก ว่าการดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมและเป็นอิสระได้นั้น จะต้องไม่มีใครกระทำอันตรายต่อชีวิต สภาพร่างกาย เสรีภาพ หรือการถือครองทรัพย์สินของผู้อื่น'[1]

 

คำอธิบายข้างต้นเป็นผลจากการสร้างสภาวะดั้งเดิมของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ในจินตนาการ โดยมีเป้าหมายเพียงประการเดียว คือเพื่อให้ล็อคมีเหตุผลที่ดีในการอธิบายว่าทำไมเราจึงต้องจำกัดอำนาจรัฐ อันที่จริง ทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาตินี้เป็นรากฐานอันจริงแท้ของทั้ง คำประกาศอิสรภาพแห่งอเมริกาเหนือ (1776) และคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์ในการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) ในเอกสารทั้งสองฉบับ เราจะพบคำยืนยันในหลักการพื้นฐานของรัฐเสรีนิยมในฐานะรัฐที่มีอำนาจจำกัด กล่าวคือ "เป้าหมายของกลุ่มทางการเมืองทั้งมวลคือการธำรงไว้ซึ่งสิทธิตามธรรมชาติอันถาวรของมนุษย์" (มาตราที่ 2 ของคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ฉบับ 1789)

ในฐานะทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นโดยนักปรัชญา นักเทววิทยา และนักกฎหมาย อาจถือได้ว่าทฤษฎีว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติเป็นความพยายามในยุคหลังๆ ที่จะอธิบายถึงสภาวะอันเป็นผลจากการต่อสู้หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ระหว่างกษัตริย์และพลังทางสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ในกฎบัตรแมกนา คาร์ตา ที่กษัตริย์จอห์นทรงลงพระปรมาภิไธยในปี 1215 นั้น จะพบว่า มีการยอมรับในสิ่งที่ในอีกหลายศตวรรษต่อมาเรียกกันว่า 'สิทธิของมนุษย์' สิทธิเหล่านี้ถูกเรียกว่า 'เสรีภาพ (liberties)' (libertates, franchises, freedoms) หรือเป็นพื้นที่ของการกระทำและการถือครองทรัพย์สินของปัจเจกชนที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ซึ่งได้รับการปกป้องจากอำนาจบังคับของกษัตริย์ ถึงแม้กฎบัตรฉบับนี้และกฎหมายอื่นๆ ที่ออกตามมา จะเกิดขึ้นจากความยินยอมตามกฎหมายขององค์อธิปัตย์ ทว่าในความเป็นจริง มันเป็นผลมาจากข้อตกลงที่แท้จริงระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกันมากกว่า ข้อตกลงที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น ข้อตกลงของการสวามิภักดิ์ (pactum subjectionis) นั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกันในความสัมพันธ์ทางการเมือง อันหมายถึง ในความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ (ขององค์อธิปัตย์) ที่จะปกป้องคุ้มครอง และหน้าที่ (ของผู้ใต้ปกครอง) ที่จะเคารพเชื่อฟัง (อันเป็น “ข้อผูกมัดทางการเมือง” ของผู้สวามิภักดิ์) เป้าหมายหลักของกฎบัตรแห่ง 'เสรีภาพ' คือการกำหนดรูปแบบและขีดจำกัดของการเคารพเชื่อฟังรัฐ หรืออีกทางหนึ่ง คือรูปแบบและขีดจำกัดของข้อผูกมัดทางการเมืองของผู้ใต้ปกครอง กับรูปแบบและขีดจำกัดที่สอดคล้องกันของสิทธิในการสั่งการขององค์อธิปัตย์เอง เช่นเดียวกับกฏบัตรรัฐธรรมนูญ (constitutional charter) ที่ได้รับการประทานให้โดยกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญระหว่างช่วงยุคฟื้นฟูและหลังจากนั้นมา (ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญอัลเบอร์ทีน (Albertine constitution) ฉบับปี 1848 ด้วย) เป็นที่ยอมรับกันว่า กฎบัตรโบราณเหล่านี้มีลักษณะเป็นความยินยอมตามกฎหมายฝ่ายเดียวของสถาบันกษัตริย์ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง มันจะเป็นผลจากข้อตกลงสองฝ่ายก็ตามที อย่างไรก็ดี แม้กฎบัตรเหล่านี้ได้ตีกรอบอำนาจตามประเพณีของผู้ถือครองอำนาจสูงสุดไว้ แต่ความเข้าใจข้างต้นมิได้เป็นอะไรมากไปกว่านิยายแบบฉบับในทางกฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองหลักการของอำนาจสูงสุดขององค์กษัตริย์ และยืนยันในการธำรงไว้ซึ่งรูปแบบการปกครองที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่ดี

 

แน่นอน ตรงนี้อีกเช่นกันที่มีตัวอย่างอีกประการหนึ่งของการกลับหัวกลับหางลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และข้อตกลงทางกฎหมายต่างๆ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เหตุการณ์และข้อตกลงเหล่านี้เกิดขึ้น นั่นก็คือ ในทางประวัติศาสตร์ รัฐเสรีนิยมเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมผุพังอย่างต่อเนื่องและลุกลามร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ของอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ขององค์อธิปัตย์ ทั้งยังเป็นผลของจุดแตกหักของการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตอันแหลมคมกว่าปกติในทางประวัติศาสตร์ (เช่น อังกฤษในศตวรรษที่ 17 และฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18) ขณะที่ตามหลักเหตุผลแล้ว (rationally) รัฐเสรีนิยมได้รับการอธิบายว่าเป็นผลของข้อตกลงระหว่างปัจเจกชนหลายๆ คนที่มีเสรีภาพแต่เริ่มแรก และร่วมกันสร้างพันธะสัญญาที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างยืนนานและสันติ วิถีทางของประวัติศาสตร์เริ่มต้นจากสภาวะของความเป็นทาสสู่กระบวนการของการขยายเสรีภาพขึ้นเรื่อยๆ จนปัจเจกชนได้รับชัยชนะจากพื้นที่ของเสรีภาพที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในทางทฤษฎีนั้นเริ่มต้นในทิศทางที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ การสร้างสังคมการเมืองอันเป็นสังคมที่องค์อธิปัตย์มีอำนาจจำกัด ต้องเริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานถึงสภาวะเริ่มแรกที่มีเสรีภาพ และตระหนักถึงมนุษย์ว่ามีเสรีตามธรรมชาติเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎี ซึ่งในที่นี้คือทฤษฎีเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ จึงกลับหัวกลับหางลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ด้วยการทำให้สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นสิ่งที่มาทีหลัง (posterius) กลายเป็นต้นกำเนิดหรือรากฐาน หรือเป็นสิ่งที่มาก่อน (prius)

 

การยืนยันในสิทธิตามธรรมชาติกับทฤษฎีสัญญาประชาคมหรือสัญญาทางสังคมนั้นมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกัน ความคิดที่ว่าการบังคับใช้อำนาจทางการเมืองจะชอบธรรมก็ต่อเมื่อวางอยู่บนพื้นฐานของฉันทามติของผู้ที่ยอมอยู่ใต้อำนาจ (อีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญของล็อค) รวมทั้งต้องอยู่บนข้อตกลงในหมู่ผู้ที่ตัดสินใจจะยินยอมให้ตนเองตกอยู่ใต้อำนาจที่แข็งแกร่งกว่า และบนข้อตกลงกับผู้ที่พวกเขายินยอมมอบการบังคับใช้อำนาจให้ด้วยความไว้วางใจ ล้วนมีที่มาจากสมมติฐานที่ว่า ปัจเจกชนถือครองสิทธิที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันต่างๆ ขององค์อธิปัตย์ และภาระหน้าที่หลักของสถาบันเหล่านั้น คือการยินยอมให้ปัจเจกชนใช้สิทธิอันสอดคล้องกับชีวิตทางสังคมที่มั่นคงให้เป็นจริงได้มากที่สุด จุดเชื่อมระหว่างทฤษฎีเรื่องสิทธิของมนุษย์กับทฤษฎีสัญญาทางสังคม อยู่ที่มโนทัศน์เชิงปัจเจกเกี่ยวกับสังคม (individualistic conception of society) ที่ทั้งสองมีร่วมกัน กล่าวคือ มโนทัศน์เช่นนี้มองว่า ปัจเจกชนคนหนึ่งๆ ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยผลประโยชน์และความจำเป็นของตน ซึ่งปรากฏในรูปของสิทธิอันเป็นผลจากการยอมรับในกฎสมมติตามธรรมชาติ ย่อมมีมาก่อนการก่อกำเนิดของสังคม มโนทัศน์นี้ตรงข้ามกับมโนทัศน์เชิงอินทรีย์ในทุกๆ รูปแบบ (in all its various guises) ที่มองต่างกันว่าสังคมนั้นมาก่อนปัจเจกชน หรือสังคมทั้งมวลนั้นย่อมสำคัญเหนือกว่าส่วนอื่นของมันเอง (ในวิธีคิดแบบอริสโตเติล ซึ่งมีอิทธิพลมาอย่างยาวนาน) ทฤษฎีสัญญาทางสังคมสมัยใหม่เป็นจุดหักเหที่แท้จริงในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองที่ถูกครอบงำไว้ด้วยความคิดแบบอินทรียภาพ ตราบจนกระทั่งนักทฤษฎีสัญญาประชาคมได้กลับหัวกลับหางความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคม และเลิกมองสังคมว่าเป็นข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่ดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากเจตจำนงของปัจเจกชน ทว่าเป็นร่างจำลอง (artificial body) ที่สร้างขึ้นโดยปัจเจกชนตามภาพลักษณ์และความคล้ายคลึงกันของตน เพื่อส่งเสริมความพึงพอใจในผลประโยชน์และความจำเป็น รวมถึงในการใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่เท่านั้น ข้อตกลงที่ให้กำเนิดรัฐขึ้นในเวลาต่อมาจึงถูกมองว่าเป็นไปได้ตามทฤษฎีว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติ ด้วยเหตุแห่งกฎของธรรมชาติ ปัจเจกชนทุกคนจึงมีสิทธิตามธรรมชาติบางประการที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เฉพาะในบริบทของการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเสรีและมีระเบียบ อันได้รับมาอย่างมั่นคงด้วยข้อตกลงที่เกิดจากความสมัครใจ ซึ่งก็คือข้อตกลงที่เรียกร้องให้ปัจเจกชนทุกคนยอมสละสิทธิบางประการร่วมกันเพื่อประโยชน์ของกันและกัน

 

หากปราศจากการปฏิวัติเยี่ยงโคเปอร์นิคัสข้างต้น อันเปิดโอกาสให้เรามองปัญหาว่าด้วยรัฐด้วยสายตาของผู้ใต้ปกครองแทนที่จะเป็นองค์อธิปัตย์ได้เป็นครั้งแรก ทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐเสรีนิยมอันเป็นทฤษฎีแรกสุดเกี่ยวกับการจำกัดอำนาจรัฐในทางกฎหมายก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากปัจเจกชนนิยมเสียแล้ว เสรีนิยมก็ไม่อาจเป็นไปได้. 

 

 

[1] J. Locke, Two Treaties of Civil Government (1690), Dent, London 1970, p. 119.

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)