Skip to main content

Soak the Rich

การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 1)

โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)

 

*บทสนทนานี้เรียบเรียงจากงานเสวนาที่จัดขึ้นโดย École Normale Supérieure ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดำเนินรายการ [M] โดยโฌเซฟ กงฟาวโรซ์ (Joseph Confavreux) และเฌด แลงด์การ์ (Jade Lindgaard) เรียบเรียงเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยเอ็ดวี เปลเนล (Edwy Plenel) แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยโดนัลด์ นิโคลสัน-สมิธ (Donald Nicholson-Smith) เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Baffler 

 

Capitalism, C. K. Wilde

 

 

M: ดูเหมือนคุณทั้งสองคนต่างคิดว่า ระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยทั่ว ๆ ไปกำลังดำเนินไปถึงจุดจบและไม่อาจคงสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้อีกต่อไป อยากให้คุณทั้งสองช่วยอธิบายประเด็นนี้ด้วยครับ

 

P: อย่างน้อยที่สุด ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว ผมไม่แน่ใจว่าเรากำลังยืนอยู่ในจุดที่ระบบทุนนิยมใกล้ล่มสลาย ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาทางการเมือง หรือความสามารถของชนชั้นนำในการจูงใจคนที่เหลือให้รับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้ หากมีเครื่องมือจูงใจที่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีเหตุผลใดจะอธิบายได้ว่า ทำไมระบบจึงไม่ควรดำเนินต่อไป ผมเองไม่เชื่อว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะเร่งให้ระบบล่มสลายเร็วขึ้น

 

คาร์ล มาร์กซ์คิดว่า อัตรากำไรที่หดตัวลงจะทำให้ระบบทุนนิยมล่มสลายลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในแง่นี้ ผมออกจะมองโลกในแง่ร้ายกว่ามาร์กซ์ เพราะผมเชื่อว่า กระทั่งอัตราตอบแทนต่อทุน (return on capital) ที่คงที่ เช่น ร้อยละ 5 และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ ความมั่งคั่งก็อาจกระจุกตัวโดยที่อัตราการสั่งสมความมั่งคั่งที่ได้รับสืบทอดมา (inherited wealth) จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้

 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจโดยตัวมันเอง ฉะนั้น ข้อเสนอของผมจึงแตกต่างจากข้อเสนอของมาร์กซ์และเกรเบอร์ แน่นอนว่าเราทุกคนเห็นกันอยู่ว่า ปัญหาการขยายตัวของหนี้สิน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา กำลังเกิดขึ้นจริง แต่ขณะเดียวกัน ทุนก็ขยายตัวในระดับที่มากกว่าหนี้สินเช่นกัน

 

ด้วยเหตุนี้ ความมั่งคั่งสุทธิที่เกิดขึ้นจึงมีผลเป็นบวก เพราะทุนได้เติบโตแซงหน้าหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ผมไม่ได้กำลังบอกว่านี่เป็นเรื่องดีงามอะไรนะ เพียงแต่กำลังบอกว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้จะนำไปสู่การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจและการเงิน

 

M: แต่เป็นคุณไม่ใช่หรือที่บอกว่าอัตราความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงเกินทนแล้ว

 

P: ใช่ครับ แต่ก็นั่นหละ กลไกในการจูงใจ หรือปราบปราม หรือผสมผสานทั้งสองวิธีการ ขึ้นอยู่กับว่าเราพูดถึงประเทศไหน อาจทำให้เราทนต่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ได้ ย้อนไปหนึ่งศตวรรษก่อน แม้จะมีการเลือกตั้งที่เป็นสากลแล้ว แต่ชนชั้นนำในประเทศอุตสาหกรรมก็ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ต้องรอจนสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ภาษีอัตราก้าวหน้าจึงเกิดขึ้นได้จริง

 

G: แต่คุณคิดหรือเปล่าว่าการที่คนหนึ่งเป็นหนี้ก็คือการที่อีกคนหนึ่งร่ำรวยขึ้นด้วย

 

P: เป็นคำถามที่ดีครับ ผมเองชอบหนังสือของคุณนะ ยังไงก็ตาม ผมมีข้อวิจารณ์เพียงเรื่องเดียวนั่นคือ เราไม่สามารถลดทอนทุนให้กลายเป็นหนี้สินได้ จริงอยู่ครับที่ว่าหนี้สินสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะหนี้สาธารณะหรือส่วนตัว ย่อมหมายถึงการที่คนอีกกลุ่มมีทรัพยากรเพิ่มขึ้นด้วย แต่คุณไม่ได้พูดถึงความแตกต่างที่เป็นไปได้ระหว่างหนี้สินกับทุนโดยตรง คุณเสนอราวกับว่า ประวัติศาสตร์ของทุนแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ของหนี้สิน ผมคิดว่าคุณพูดถูกนะที่บอกว่า หนี้สินมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์มากกว่าที่เราคิดกัน โดยเฉพาะตอนที่คุณปฏิเสธนิทานก่อนนอนของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการสะสมทุน ระบบแลกเปลี่ยนแบบไม่ใช่เงินตรา (barter) การประดิษฐ์เงินตรา หรืออัตราแลกเปลี่ยน วิธีที่คุณดึงความสนใจของเราด้วยการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับการครอบงำที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของการเป็นหนี้นั้นน่าชื่นชมมาก ๆ แต่ข้อเท็จจริงคือ ทุนยังคงมีประโยชน์ในตัวของมันเอง สิ่งที่เป็นปัญหาคือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากทุน ไม่ใช่ทุนโดยตัวมันเอง และทุกวันนี้ เราก็มีทุนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย

 

G: ผมเองไม่ได้จงใจจะบอกว่าเราสามารถลดทอนทุนให้กลายเป็นหนี้ได้ ตรงกันข้าม นั่นคือสิ่งที่เราทุกคนถูกกรอกหู และผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราในการเติมเต็มช่องว่างที่คำอธิบายแบบนั้นละเลยไป ไม่ว่าจะในแง่ของประวัติศาสตร์แรงงานที่มีค่าแรง ทุนนิยมอุตสาหกรรม และรูปแบบของทุนในยุคเริ่มแรก ว่าแต่ ทำไมคุณถึงบอกว่าทรัพยากรเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่หนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย?

 

P: เพราะความมั่งคั่งสุทธิเพิ่มขึ้นไงครับ “ความมั่งคั่ง” หมายถึงทรัพยากรเท่าที่เราสามารถคำนวณได้ และมันเป็นแบบนี้แม้แต่เมื่อเราพิจารณาถึงหนี้สินด้วยก็ตาม

 

G: คุณจะบอกว่า ตอนนี้เรามีความมั่งคั่งต่อหัวมากกว่าเมื่อก่อนงั้นเหรอครับ

 

P: ถูกต้องครับ ดูอย่างเรื่องบ้าน ไม่ใช่แค่เรามีบ้านมากกว่าเมื่อห้าสิบหรือร้อยปีก่อน แต่ในปีการผลิตหนึ่ง ๆ การมีบ้านและหนี้สินสุทธิยังเพิ่มขึ้นด้วย ในส่วน GNP ต่อปี ถ้าลองคำนวณทุนแห่งชาติ (ผลรวมของรายรับจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด) เทียบกับหนี้สินส่วนบุคคลและส่วนสาธารณะในประเทศ ๆ หนึ่ง เราจะพบว่า ในประเทศร่ำรวย ทุนจะเพิ่มขึ้นในอัตราสัมพันธ์กับการเติบโตของหนี้สิน การเพิ่มขึ้นของทุนนี้อาจไม่ได้เด่นชัดมากนักในสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับที่เกิดขึ้นในยุโรปหรือญี่ปุ่น แต่ยังไงมันก็เกิดขึ้นอยู่ดี ทรัพยากรกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าหนี้สินครับ

 

ภาพ: Capitalism, C. K. Wilde

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา