Skip to main content

ในบรรดานักคิดร่วมสมัย ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Harraway) เป็นคนหนึ่งที่ได้รับคำชื่นชม พอๆ กับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้ศัพท์แสงสวิงสวาย ทำเรื่องที่ (ดูเหมือน) ง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก และขยันสร้างคอนเซปต์ใหม่ๆ ขึ้นมาใช้เพื่ออธิบายประเด็นต่างๆ ในงานของตัวเอง

Companion Species เป็นอีกคอนเซปต์หนึ่งของฮาราเวย์ที่มีนัยค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากเธอพัฒนามันขึ้นมาท่ามกลางข้อถกเถียงกับคอนเซปต์อื่นๆ มากมาย โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การตั้งคำถามกับวิธีคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น

ด้านหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ฮาราเวย์เสนอคอนเซปต์เรื่อง Companion Species เพื่อแทนที่คำว่า pets และ animals คำสองคำที่สะท้อนการมองสถานะของสัตว์แยกขาดจากมนุษย์ ต่ำต้อยกว่ามนุษย์ ซ้ำยังมองข้ามสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่เป็นสายพันธุ์ที่ดำรงชีวิตร่วมกับเรา (เช่น แบคทีเรีย พืช หรือไลเคน) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ถูกนับว่าเป็น "สัตว์" ในความหมายทั่วๆ ไป และมักไม่ได้ถูกมองว่ามีส่วนร่วมในวิวัฒนาการของมนุษย์

ในฐานะอดีตนักเรียนชีววิทยา ฮาราเวย์มองสายพันธุ์ต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของมนุษย์เอง ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหล่านั้นจะมีรูปแบบอย่างไรและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สำหรับเธอ มนุษย์ไม่ได้เพียงอาศัยอยู่ "ท่ามกลาง" สายพันธุ์ต่างๆ หากแต่การมองสิ่งทั้งหลายในฐานะสายพันธุ์ ยังช่วยขยายความเข้าใจของเราต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การที่มนุษย์ใช้งานแบคทีเรียบางชนิดเพื่อย่อยอาหารที่ลำพังอวัยวะของตนไม่มีทางย่อยได้ ขณะเดียวกัน แบคทีเรียบางชนิดก็ใช้ร่างกายมนุษย์ (และร่างของสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย) เป็นสถานที่เพื่อดำรงชีพและสืบพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์ของตัวเองเอาไว้ 

กล่าวโดยรวบรัด จึงไม่มีมนุษย์คนใดที่ดำรงอยู่อย่างอิสระจากสิ่งอื่นๆ ได้โดยสมบูรณ์แบบ ไม่มีมนุษย์มีเป็นปัจเจกชนอย่างสมบูรณ์และแบ่งแยกไม่ได้ (in-dividual) มนุษย์ในความหมายของสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา มีเหตุผล เป็นผู้ปฏิเสธธรรมชาติ และมีสถานะเหนือกว่าสิ่งอื่นเว้นก็แต่พระเจ้า จึงไม่มีอยู่จริง มนุษย์จะถือกำเนิดและดำรงอยู่ไม่ได้ หากไม่มีสายพันธุ์อื่น ไม่ดำรงอยู่ร่วมกับสายพันธุ์อื่น ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง "เป็น" สายพันธุ์อื่น และไม่ดำรงอยู่ภายใน "วัฒนธรรมชาติ" (naturecultures) 

สำหรับฮาราเวย์ คำว่ามนุษย์ในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปในแวดวงมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์จึงไม่เคยมีอยู่ตั้งแต่แรก 

อีกด้านหนึ่ง คอนเซปต์เรื่อง Companion Species ยังถูกใช้เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า Posthuman (หลังมนุษย์) ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่มีนัยยะแรกเริ่มถึงความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ และบ่อยครั้งถูกตีความไปในทางที่สุดท้ายไม่นำไปสู่การวิพากษ์ถึงคอนเซปต์เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์อย่างที่เธอหวังไว้

เค้าโครงของคอนเซปต์ดังกล่าวค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจริงๆ ภายใต้บริบทของการปฏิวัติคอมพิวเตอร์และการแข่งขันทางอวกาศในทศวรรษที่ 1960 ถึงแม้แนวคิดที่ท้าทายต่อการมองมนุษย์ในฐานะสิ่งที่สมบูรณ์ในตัวเองจะปรากฏร่องรอยก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งในทัศนะแบบ Spinozan ที่คิดถึงมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของ "ธรรมชาติหรือพระเจ้า" หรือในทัศนะของนักทฤษฎีสังคมสายโครงสร้างที่ลุกขึ้นมาโต้แย้งสมมติฐานของความเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่เกินจริงของนักคิดมนุษยนิยม

อย่างไรก็ตาม สำหรับฮาราเวย์ แนวคิดเรื่องหลังมนุษย์ได้ถูกฉกฉวยไปโดยพวกคลั่งความเป็นมนุษย์และเชื่อว่าพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้มนุษย์สามารถเป็นมนุษย์ไปชั่วนิรันดร์ โดยอาศัยการผสานตัวเองเข้ากับเทคโนโลยี (Transhumanism) อันเป็นเหตุให้การตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงสายพันธุ์อื่นๆ ถูกมองข้ามไป

ด้วยเหตุนี้ การเรียกแนวคิดของตัวเองว่า Posthuman(ism) จึงเสี่ยงที่จะถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงการคิดถึงความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งมักไม่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นมนุษย์อย่างถึงแก่น

ในเมื่อ "มนุษย์" ในความหมายของพวกมนุษยนิยมไม่เคยมีอยู่ตั้งแต่แรก ฮาราเวย์จึงไม่ได้คิดว่าการไปหลัง-มนุษย์เป็นเป้าหมายที่เธอต้องการ เธอเห็นว่ามนุษย์ไม่ต่างอะไรจากสิ่งอื่นเพราะต่างก็เป็นแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตนานาชนิด มนุษย์พักพิงอยู่ในโลกร่วมกับสิ่งอื่นอย่างสลับซับซ้อน ขณะที่สิ่งอื่นอีกมากมายก็พักพิงอยู่ในตัวมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้ 

ในเมื่อมนุษย์ที่แยกขาดจากธรรมชาติไม่มีอยู่จริง การหันไปศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่น ศึกษาสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเหล่านี้จึงไม่ใช่การก้าวข้ามมนุษย์ ไม่ใช่การศึกษาสิ่งที่พ้นไปจากมนุษย์หรือ "หลังมนุษย์" แต่ควรเป็นการศึกษาสิ่งต่างๆ ในฐานะสายพันธุ์ เพื่อทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งโดยไม่จำเป็นต้องแยกมนุษย์ออกมาอย่างเด็ดขาด

การคิดถึง Companion Species จึงไม่ใช่เพียงการคิดถึงสิ่งอื่นที่มีความสำคัญ (Significant Otherness) ในฐานะสหายของมนุษย์ แต่ยังเป็นการคิดถึงมนุษย์ในฐานะสายพันธุ์ที่เป็นสหายของสิ่งอื่นด้วย 

การคิดถึงมนุษย์ในฐานะสปีชี่ส์จึงเป็นการคิดถึงมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของจีนัสโฮโม และในฐานะโฮโม เซเปียน เป็นการคิดถึงวิวัฒนาการของสายพันธุ์ก่อนจะเป็นเราในปัจจุบัน (เป็นการตั้งคำถามถึงปัจจุบันด้วยการย้อนกลับไปข้างหน้า กลับไปคิดถึงอดีต) คิดถึงความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการระหว่างชีววิทยากับสิ่งแวดล้อมภายในระบบนิเวศที่สายพันธุ์มนุษย์สมัยใหม่ (modern man) อาศัยอยู่มาเพียง 2 แสนปี

หาใช่การคิดถึง "มนุษย์" ที่ดำรงอยู่อย่างลอยๆ เป็นอิสระจากโยงใยความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น และอาศัยกันอยู่ภายในสังคม (the social) อันเป็นพื้นที่เฉพาะของมนุษย์เพียงลำพัง.

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)