Skip to main content

Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
 สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน

เจสัน ดับเบิลยู มัวร์ (Jason W. Moore) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน (Binghamton University) หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital (Verso, 2015) เสนอบทวิเคราะห์ทุนนิยมในฐานะระบบนิเวศวิทยารูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ

คามิล อะห์ซัน (Kamil Ahsan) เป็นนักเขียนอิสระและนักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยชิคาโก

คามิล: อะไรคือแรงกระตุ้นที่ทำให้คุณเขียนหนังสือเรื่อง Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital

เจสัน: ผมอยากเสนอกรอบแนวคิดที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมาให้มากเพียงพอสำหรับวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ตลอด 4 ทศวรรษหลัง เราทำความเข้าใจวิกฤตผ่าน “เลขคณิตแบบนักอนุรักษ์” (Green Arithmetic) พอเราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม หรือวิกฤตชนิดอื่นๆ เราก็จับมันไปรวมกันที่หนึ่ง แล้วก็เอาวิกฤตทางนิเวศวิทยา ทั้งน้ำ พลังงาน และสภาพภูมิอากาศ แยกไปไว้อีกที่หนึ่ง

ฉะนั้นตลอดเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา นักสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวแบบถึงรากคนอื่นๆ จึงเอาแต่ส่งสัญญาณเตือนถึงวิกฤตเหล่านี้ แต่กลับไม่เคยคิดออกเลยจริงๆ ว่า จะมองวิกฤตเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกันได้อย่างไร นักคิดด้านสิ่งแวดล้อมชอบพูดอย่างทำอย่าง พวกเขาอ้างว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และบอกว่าทุกๆ อย่างในโลกสมัยใหม่ล้วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเรากับชีวาลัย (biosphere) แต่พอถึงเวลาต้องจัดการหรือวิเคราะห์อะไรสักอย่าง พวกเขากลับลดทอนทุกสิ่งให้เหลือเพียง “สังคมบวกกับธรรมชาติ” และทำราวกับว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองสิ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด

คามิล: ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้คือเราจำเป็นต้องปฏิเสธแนวคิดที่แบ่งแยก ธรรมชาติกับสังคม ออกจากกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในเวลานี้ แนวคิดนี้มีที่มาอย่างไร และทำไมมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยสิ้นเชิง

เจสัน: แนวคิดที่มองว่ามนุษย์อยู่ภายนอกธรรมชาติมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มันเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ หลายอารยธรรมก่อนยุคทุนนิยมรับรู้ว่ามนุษย์นั้นแตกต่าง แต่ในศตวรรษที่ 16 17 และ 18 แนวคิดที่ทรงพลังเช่นนี้ปรากฏขึ้น แนวคิดที่ฝังรากอยู่ในความรุนแรงแบบจักรวรรดินิยม การริบที่ดินจากชาวนา และกระบวนการจัดองค์ประกอบของการเป็นมนุษย์ทั้งหมดทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำแนกเชื้อชาติและเพศสภาพ แนวคิดที่มองว่ามีอะไรบางอย่างที่ อลัน สมิธ เรียกว่า “สังคมอารยะ” อันหมายรวมถึงผู้คนจำนวนหนึ่ง

แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงถูกจัดประเภทให้อยู่ใน “ธรรมชาติ” ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมกำกับและถูกนำมาใช้งาน รวมทั้งถูกทำให้เป็นอารยะ นี่ดูเป็นเรื่องนามธรรม แต่โลกสมัยใหม่มีรากฐานอยู่บนความคิดที่ว่ากลุ่มของมนุษย์บางกลุ่มถูกเรียกว่า “สังคม” ขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ในอีกที่หนึ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” นั่นเป็นความคิดที่ทรงพลังมาก มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะนักวิทยาศาสตร์ นักวาดแผนที่ หรือเจ้าอาณานิคมลงความเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่เกิดขึ้นเพราะกระบวนการอันกว้างไกลที่หลอมรวมตลาดกับอุตสาหกรรม จักรวรรดิกับวิธีการมองโลกแบบใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซปต์กว้างๆ ของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน

การมองธรรมชาติกับสังคมในลักษณะนี้หยั่งรากลงในคู่ตรงข้ามอื่นๆ ในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายทุนกับแรงงาน ตะวันตกกับส่วนที่เหลือ ผู้ชายกับผู้หญิง คนขาวกับคนดำ อารยธรรมกับความป่าเถื่อน คู่ตรงข้ามอื่นๆ เหล่านี้ล้วนมีรากฐานมาจากคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับสังคมทั้งนั้น

คามิล: การปฏิเสธคู่ตรงข้ามที่ว่านี้มีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะต่อการทำความเข้าใจทุนนิยมใหม่ในฐานะสิ่งที่ถูก “ผลิตร่วมกัน” โดยมนุษย์กับธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือจากมนุษย์อย่างที่คุณว่าไว้

เจสัน: การเข้าใจว่าทุนนิยมถูกผลิตขึ้นร่วมกันโดยมนุษย์และธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ วิธีคิดทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาในโลกของเราทุกวันนี้คือการจับเอาวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไปไว้รวมกันในหมวด “วิกฤตทางสังคม” แล้วแยกวิกฤตทางระบบนิเวศ ซึ่งก็คือสภาพภูมิอากาศและอื่นๆ ไว้อีกฝั่งหนึ่ง ทุกวันนี้ เราต่างกำลังตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราไม่สามารถกล่าวถึงวิกฤตอันใดอันหนึ่งได้โดดๆ แต่นั่นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดอยู่แล้ว

เราจำเป็นต้องก้าวข้ามคู่ตรงข้ามนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตในปัจจุบัน วิกฤตเพียงหนึ่งเดียวที่ปรากฏกายในหลายลักษณะ บางครั้งก็ดูเหมือนเป็นเรื่องทางสังคมล้วนๆ เช่นวิกฤตทุนนิยมการเงิน และบางคราวก็ดูเป็นเรื่องทางนิเวศวิทยาล้วนๆ เช่นความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ขึ้นบนโลกใบนี้ แต่จริงๆ แล้ว ทั้งสองเรื่องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดในทุกทิศทางที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวสำคัญอย่างไร เราจะเริ่มมองเห็นว่าทำไมวอลล์ สตรีท จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการจัดระเบียบธรรมชาติ เราจะมองปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ เช่น ความวุ่นวายในตลาดหุ้นจีนและสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าเกี่ยวโยงกับปัญหาที่ใหญ่กว่าเกี่ยวกับกับสภาพภูมิอากาศและชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ในทิศทางที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์สายราดิคัลเองยังไม่อยากจะยอมรับ สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อการเมืองของเรา ปัจจุบันเรากำลังได้เห็นขบวนการเคลื่อนไหว เช่น ขบวนการเพื่อความเป็นธรรมทางอาหาร ที่บอกว่าพวกเราจำเป็นต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และความเปลี่ยนแปลงนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิด้านอาหารในทางนิเวศวิทยา รวมถึงในทางวัฒนธรรมและประชาธิปไตยด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ปัญหาของ “เลขคณิตแบบนักอนุรักษ์” ที่มอง “สังคมบวกกับธรรมชาติ” อยู่ที่การแบ่งแยกแบบประหลาดๆ ระหว่างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมกับความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืนทางสังคม จักรวรรดินิยมทางนิเวศวิทยากับจักรวรรดินิยมทั่วๆ ไป ถึงแม้ใครก็ตามที่รู้ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิย่อมรู้ดีว่ามันเป็นเรื่องการที่ “เราจะให้คุณค่ากับใคร” และ “เราจะให้ค่ากับคนกลุ่มไหนของสังคม” เสมอ เมื่อเราเลิกใช้คำคุณศัพท์โดยไม่เลือกแบบนี้ เราจะเห็นเองว่าจักรวรรดินิยมเป็นเรื่องของวิธีการต่างๆ ที่มนุษย์กับธรรมชาติสัมพันธ์กันเสมอ

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ผมจึงคิดว่าเราสามารถเริ่มสร้างพันธมิตรใหม่ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในส่วนต่างๆ ของโลกซึ่งถูกตัดขาดจากกันได้ เช่น พันธมิตรระหว่างขบวนการชาวนากับขบวนการแรงงาน ขบวนการสตรีนิยมกับขบวนการเพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ทั้งหมดมีรากฐานร่วมกัน เหตุผลที่ว่าทำไมการรวบรวมสิ่งที่ผมเรียกว่า “การเผาผลาญเชิงเดี่ยว” (singular metabolism) ของมนุษย์ในโยงใยแห่งชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก็เพราะมันเปิดโอกาสให้เราเริ่มเชื่อมโยงมิติทางสังคมกับมิติทางสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน

[1] แปลจาก Kamil Ahsan, “Capitalism in the Web of Life: Interview with Jason W. Moore,” Viewpoint September 28, 2015 https://viewpointmag.com/2015/09/28/capitalism-in-the-web-of-life-an-interview-with-jason-moore/

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)