Skip to main content

Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน

เจสัน ดับเบิลยู มัวร์ (Jason W. Moore) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน (Binghamton University) หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital (Verso, 2015) เสนอบทวิเคราะห์ทุนนิยมในฐานะระบบนิเวศวิทยารูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ 

คามิล อะห์ซัน (Kamil Ahsan) เป็นนักเขียนอิสระและนักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยชิคาโก

คาลิล: พูดถึงเรื่องกระบวนการแรงงานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการกดขี่ของทุนในทัศนะแบบมาร์กซิสต์คลาสสิก คุณแย้งว่ามาร์กซ์ไม่เพียงเห็นว่าส่วนสำคัญของทุนนิยมประกอบด้วยแรงงานที่มีค่าจ้าง แต่ยังรวมไปถึงพลังงานและงานที่ไม่มีค่าจ้างของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิง ตลอดจนธรรมชาตินอกเหนือจากมนุษย์เองด้วย คุณยังตั้งข้อสังเกตไว้อีกว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่ดูเหมือนเราเองจะค่อยๆ ทำให้ค่าแรงกับงานเป็นศัตรูกับสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามที่ไม่ถูกต้องนัก เราจะก้าวข้ามคู่ตรงข้ามที่คุณพยายามทำลายนี้ไปได้อย่างไร

เจสัน: ผมกล่าวไปถึงหัวใจสำคัญของวิธีคิดแบบมาร์กซิสต์เพื่อแยกแยะให้เห็นถึงการตีความใหม่ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของมาร์กซ์ มูลค่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าเบื่อที่สุดของพวกมาร์กซิสต์ที่เล่นเอาผมแทบหลับเวลามีใครพูดคำว่า “กฎของมูลค่า” ขึ้นมา แต่ในทุกอารยธรรมต่างก็มีวิธีในการให้มูลค่ากับชีวิต ไม่ใช่แค่ทุนนิยมเท่านั้น สิ่งที่ทุนนิยมทำคือการบอกว่า เอาล่ะ สิ่งสำคัญคือผลิตภาพแรงงานภายในความสัมพันธ์ที่ผูกไว้ด้วยเงินตรา จากนั้นเราจะปรับมูลค่างานของผู้หญิง ธรรมชาติ และเมืองอาณานิคมให้ลดลง สิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกับข้อถกเถียงแบบมาร์กซิสต์ทั่วๆ ไป ในระบบทุนนิยมมีกฎของมูลค่าอยู่ประเภทหนึ่ง คือกฎของ “ธรรมชาติราคาถูก” หรือกฎของการลดทอนมูลค่าของงานของมนุษย์ พร้อมกับธรรมชาติที่เหลือลงตามลำดับ

ผมเติบโตในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแปซิฟิกตอนที่การเมืองประเภทนี้กำลังเติบโต ในด้านหนึ่ง คุณเจอกับพวกอนุรักษ์ที่ต้องการปกป้องป่าไม้โบราณเอาไว้ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว อีกด้านหนึ่ง พวกกระฎุมพีรวมถึงสหภาพแรงงานก็บอกว่าพวกเราต้องการงานทำ

สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งเองก็เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนเงื่อนไขของการแสวงหากำไรไปอย่างถึงที่สุด เราเห็นสิ่งนี้ได้จากเรื่องของอาหาร โลกสมัยใหม่เติบโตขึ้นได้จากอาหารราคาถูกซึ่งหามาได้ถ้าเรามีสภาพภูมิอากาศที่เป็นปกติ มีพื้นดินมากมาย และแรงงานราคาถูก ทั้งหมดนี้ทำให้คุณผลิตพลังงานได้ในราคาที่ค่อนข้างถูก แต่เราเห็นการก่อตัวของการเคลื่อนไหวเพื่ออธิปไตยทางอาหารที่บอกว่าไม่มีงานอะไรให้ทำและไม่มีทางที่เราจะใช้งานธรรมชาติแบบฟรีๆ ไปมากกว่านี้แล้ว เพราะว่าในตอนนี้เรากำลังเห็นว่าธรรมชาติกำลังเอาคืนจากการที่เราทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกกลายเป็นแหล่งระบายมลพิษ

ผมขอยกตัวอย่าง เรายังได้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียซึ่งประสบกับความแห้งแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 1,200 ปี มีคนบอกเราว่าศูนย์กลางของการปลูกพืชเศรษฐกิจในอเมริกาเหนืออาจสาบสูญไปภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษ เพราะฉะนั้น มองจากหลายๆ มุมแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วยิ่งขึ้นกำลังทำให้วาทกรรมเรื่อง “งาน vs. สิ่งแวดล้อม” เป็นสิ่งล้าสมัย

คาลิล: คุณให้ความสำคัญมากกับวิธีปฏิบัติการของทุนนิยม ซึ่งคือการใช้ประโยชน์จากงานที่ไร้ค่าจ้างซึ่งจำเป็นในทางสังคม ขณะที่ทั้งฝ่ายนักอนุรักษ์และฝ่ายซ้ายเองมักจะมองข้ามประเด็นนี้ คุณพอจะยกตัวอย่างได้ไหม

เจสัน: สิ่งแรกที่คุณต้องตระหนักก็คือ มายาคติที่ทรงพลังที่สุดที่ทำงานอยู่ในความคิดของนักอนุรักษ์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม มายาคติที่ว่าคือข้อเสนอของแนวคิดเกี่ยวกับ “ยุคสมัยของมนุษย์” (Anthropocene) ในทุกวันนี้ซึ่งบอกว่าสิ่งเลวร้ายทุกอย่างเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมมีจุดเริ่มต้นจากการใช้เครื่องจักรไอน้ำและถ่านหินในอังกฤษเมื่อราวปี 1800 ซึ่งไม่จริงเลย แต่ความคิดนี้ถูกปลูกผังเวลาที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะเวลาที่เราคิดเกี่ยวกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม  

จริงๆ แล้ว เราสามารถเห็นความรุ่งเรืองของทุนนิยมได้ชัดเจนที่สุดในศตวรรษที่ 15 16 และ 17 จากการที่ภูมิประเทศต่างๆ รวมถึงผู้คนบนภูมิประเทศเหล่านั้นแปรเปลี่ยนไป ระหว่างปี 1450 ถึง 1750 ได้เกิดการปฏิวัติด้านการสร้างสิ่งแวดล้อม (environment-making) ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยทั้งในแง่ขนาด ความรวดเร็ว และขอบเขต

ตัวอย่างที่น่าทึ่งที่สุดคือการพิชิตอเมริกา ซึ่งเป็นมากกว่าแค่การบุกยึดทางทหารหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถึงแม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น โลกใหม่กลายเป็นสถานที่ทดลองของทุนนิยมอุตสาหกรรมในทุกด้าน เราเห็นจุดเริ่มต้นได้จากอุตสาหกรรมไร่อ้อย (sugar plantation) ตามมาด้วยเหมืองแร่เงินในเมืองโปโตซีในโบลิเวียในปัจจุบัน ในสเปน และในเม็กซิโกในทุกวันนี้ มีระบบการผลิตขนาดมหึมา เครื่องจักรจำนวนมหาศาล เงินทุนหมุนเวียน มีแรงงานที่ถูกจัดระบบด้วยเวลาและหน้าที่ ทั้งหมดคือเงื่อนไขพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากงานของธรรมชาติฟรีๆ หรือด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก รวมถึงการแปลงงานให้กลายเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำลายดินและเขตเทือกเขาต่างๆ เช่น เทือกเขาแอนดีสซึ่งกลายเป็นเขาหัวโล้นทำให้เกิดการสึกกร่อนของดินอย่างรุนแรง แต่ความเสียหายนี้ยังครอบคลุมถึงมนุษย์ด้วย เป็นต้นว่าในเขตอุปราชแห่งเปรูในศตวรรษที่ 16 และ 17 ชาวคาสตีลและชาวสเปนมีคำเรียกพิเศษสำหรับคนพื้นเมืองว่า “naturales” คนงานและคนพื้นเมืองเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

บทสนทนาทำนองเดียวกันยังลามไปถึงประเด็นเรื่องทาสชาวแอฟริกัน การค้าทาสแอฟริกันเป็นความเป็นจริงที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมไร่อ้อย ซึ่งบอกเราถึงเรื่องสำคัญบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ว่าพื้นดินของโลกใหม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์และป่าไม้ถูกตัดจนหมดไป แต่ยังรวมถึงเรื่องที่ว่าทาสแอฟริกันถูกปฏิบัติในฐานะที่ไม่ใช่มนุษย์หรือส่วนหนึ่งของสังคม แต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ งานของชาวแอฟริกันถูกใช้ประโยชน์ งานจากดินและป่าไม้ถูกใช้ประโยชน์ ความสัมพันธ์กับธรรมชาติในรูปแบบใหม่เริ่มปรากฏให้เห็นบนฐานของสิ่งเหล่านี้ และความสัมพันธ์นั้นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

ทุกครั้งๆ ที่จักรวรรดิใหม่ออกเดินทาง ชาวโปรตุเกสที่เดินทางไปยังโลกใหม่และมหาสมุทรอินเดีย ชาวดัชต์ ชาวสเปน สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือการเริ่มเก็บสะสมธรรมชาติทุกอย่างที่หาได้รวมถึงมนุษย์ และพยายามถอดรหัสและทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น สุดท้ายจะมีกระบวนการที่น่าอัศจรรย์ในการใช้ประโยชน์จากงานที่ไร้ค่าแรงเพื่อการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้า สิ่งแรกที่นายทุนทุกคนหรือเป็นสิ่งที่อำนาจอาณานิคมต้องการคือการลงทุนให้น้อย แต่ได้พลังงานที่มีประโยชน์กลับมามาก ไม่ว่าจะในรูปของเงิน น้ำตาล ต่อมาก็เป็นยาสูบ แล้วก็ฝ้ายในช่วงที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมรุ่งเรือง กระบวนการนี้เป็นพื้นฐานของการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรไอน้ำ หรือก่อนหน้านั้นอย่างนวัตกรรมการต่อเรือ คือเป็นการหาหนทางใหม่ๆ ในการใช้งานธรรมชาติฟรีๆ หรือด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุดในปริมาณที่มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้ำมันตลอดศตวรรษที่ผ่านมานี้เช่นกัน  

[1] แปลจาก Kamil Ahsan, “Capitalism in the Web of Life: Interview with Jason W. Moore,” Viewpoint September 28, 2015 https://viewpointmag.com/2015/09/28/capitalism-in-the-web-of-life-an-interview-with-jason-moore/

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
ทุนนิยมจะอยู่รอดได้ก็ด้วยรัฐสวัสดิการ---------------------แต่เราต้องปฏิรูปรัฐสวัสดิการเพื่อรับมือกับสังคมสูงอายุและการย้ายถิ่น
Apolitical
บทสัมภาษณ์บรูโน ลาตูร์โดยวารสาร Science ในโอกาสเกษียณอายุการทำงานในวัย 70 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
Apolitical
คุยกับฟรานส์ เดอ วาลผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)