Skip to main content

Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน

เจสัน ดับเบิลยู มัวร์ (Jason W. Moore) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน (Binghamton University) หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital (Verso, 2015) เสนอบทวิเคราะห์ทุนนิยมในฐานะระบบนิเวศวิทยารูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ 
คามิล อะห์ซัน (Kamil Ahsan) เป็นนักเขียนอิสระและนักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยชิคาโก

คามิล: ข้อวิจารณ์ของคุณต่อแนวคิดเรื่องยุคสมัยของมนุษย์ (Anthropocene) คืออะไร และคุณคิดว่ามันกลบเกลื่อนการวิเคราะห์ทุนนิยมที่แท้จริงในทางประวัติศาสตร์ไปอย่างไร

เจสัน: เราต้องแยกการใช้คำคำนี้เป็นสองแบบ แบบแรกคือยุคสมัยของมนุษย์ในฐานะการพูดคุยทางวัฒนธรรม เป็นการพูดคุยกับเพื่อนๆ ตอนกินข้าวเย็นหรือตรงตู้กดน้ำ ในแง่นี้ ยุคสมัยของมนุษย์ก็เป็นประโยชน์ต่อการตั้งคำถามสำคัญที่ว่ามนุษย์จะปรับตัวให้เหมาะสมภายในโยงใยของชีวิตได้อย่างไร แต่ยุคสมัยของมนุษย์ไม่ได้สามารถตอบคำถามนั้นได้เพราะว่าคำคำนี้มีลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามเหมือนในบทความชื่อดังเรื่อง “The Anthropocene: Are Humans Now Overwhelming the Great Forces of Nature” นั่นไม่ใช่คำถามที่ยอดเยี่ยมนักถ้าคุณเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

อีกด้านหนึ่ง ข้อเสนอของแนวคิดเรื่องยุคสมัยของมนุษย์ที่ทรงพลังกว่าคือข้อเสนอในทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สมเหตุสมผลที่ว่าบอกว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากการใช้เครื่องจักรไอน้ำและถ่านหินในอังกฤษประมาณปี 1800 ข้อเสนอนี้เต็มไปด้วยปัญหาในทางประวัติศาสตร์ซึ่งเราพูดถึงกันไปแล้ว ความสามารถของทุนนิยมในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในแง่ของขนาด ความเร็ว และขอบเขตก่อนจะมีการใช้เครื่องจักรไอน้ำเสียอีก

ผมกังวลจริงๆ ว่ายุคสมัยของมนุษย์จะเล่นกลตบตาเก่าแก่ของพวกกระฎุมพีด้วยการบอกว่าปัญหาที่พวกนายทุนสร้างขึ้นเป็นความรับผิดชอบของมนุษยชาติทุกๆ คน การเสนอว่าปัญหาที่แท้จริงต่างๆ นานาล้วนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติโดยรวมเป็นมุมมองที่เหยียดเชื้อชาติ มียุโรปเป็นศูนย์กลาง และนิยมชายอย่างถึงที่สุด หากมองให้ลึกลงไปในแง่ปรัชญา เราทุกคนต่างเหมือนกันในสายตาของแนวคิดเรื่องยุคสมัยของมนุษย์ ในทางประวัติศาสตร์ นั่นเป็นตัวอย่างของความรุนแรงเชิงแนวคิดที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เหมือนการพูดว่าเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องสำคัญในอเมริกาในตอนนี้หรอก ใครที่พูดแบบนั้นออกมาคงกลายเป็นตัวตลกดีๆ นี่เอง แต่ส่วนหนึ่งของการหลีกเลี่ยงแนวคิดเรื่องยุคสมัยของมนุษย์ก็คือการหลีกเลี่ยงคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับสังคม

คามิล: จากการพิจารณาในภาพรวม ทุนนิยมในตอนนี้กำลังตกอยู่ในวิกฤตตามพัฒนาการของมันหรือเปล่า การวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์แบบใหม่นี้ให้คำทำนายไว้อย่างไรบ้าง

เจสัน: ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดเกี่ยวกับทุนนิยมอย่างไร ถ้าคุณนิยามทุนนิยมตามปกติว่าเกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและการแสวงหากำไรให้มากที่สุด คุณก็สามารถพูดถึงความสามารถในการเอาตัวรอดของทุนนิยมได้มากมาย แต่ถ้าคุณมองว่าทุนนิยมพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากงานที่ไร้ค่าแรงของมนุษย์และธรรมชาติ ถ้าเป็นแบบนั้น คุณจะเริ่มมองเห็นอะไรที่ต่างออกไป

คำถามหลักของเศรษฐศาสตร์การเมืองคือ ในโลกสมัยใหม่ การขยายตัวอย่างมหาศาลของการลงทุนและการสะสมทุนของทุนนิยมเกิดขึ้นได้อย่างไรและขีดจำกัดของมันอยู่ที่ตรงไหน

ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ได้กำลังเกิดขึ้น ขีดจำกัดเหล่านี้ก็คงจะลึกซึ้งมากอยู่ดี นายทุนสามารถหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤตได้เสมอ ทั้งฝ่ายวิพากษ์และฝ่ายอนุรักษ์ยอมรับตรงกันในเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายพูดเหมือนๆ กันก็เพราะว่าทั้งสองฝ่ายมองไม่เห็นธรรมชาติ เหนือสิ่งอื่นใด ทุนนิยมคือระบบของธรรมชาติราคาถูก ซึ่งประกอบไปด้วยธรรมชาติ 4 อย่างคือ กำลังแรงงาน พลังงาน อาหาร และวัตถุดิบ ทุนนิยมฟื้นฟูธรรมชาติที่ราคาย่อมเยาเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ด้วยการค้นหาธรรมชาติใหม่ๆ ที่ยังไม่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าหรือยังไม่ตกอยู่ภายในความสัมพันธ์ที่ผูกไว้ด้วยเงินตรา ในศตวรรษที่ 19 ธรรมชาติเหล่านั้นอยู่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เสรีนิยมใหม่ทำงานอยู่ในจีน อินเดีย สหภาพโซเวียต และบราซิล

หลังจากนั้นเราจึงพบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบของมันคือการชะลอ “ธรรมชาติราคาถูก” ใดๆ ก็ตามที่หลงเหลืออยู่เอาไว้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นพลังที่ใหญ่โตที่สุดเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ธุรกิจโดยทั่วๆ ไปมีต้นทุนสูงขึ้น มันจะทำลายรากฐานของความสัมพันธ์ทั้งหมดของทุนนิยมกับธรรมชาติด้วยการทำลายยุทธศาสตร์ว่าด้วยธรรมชาติราคาถูกอันเป็นรากฐานของทุนนิยมอย่างขุดรากถอนโคน

คามิล: คุณกล่าวว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะค่อยๆ ตระหนักว่าคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับสังคมเป็นสิ่งที่ผิด อาจเป็นเพราะภัยคุกคามที่แท้จริงต่อทั้งธรรมชาติและสังคม และทุนนิยม โดยเฉพาะที่มาพร้อมกับการขุดเจาะทรัพยากรใต้พิภพขนาดใหญ่ซึ่งกำลังยึดครองธรรมชาติที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในนั้นทีละน้อย

เจสัน: ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวในบางที่กำลังมองเห็นว่าธรรมชาติกับสังคมแยกจากกันไม่ได้ ผมคิดว่าขั้นต่อไปคือการก้าวไปยังหัวใจของคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ เพศสภาพ และความเหลื่อมล้ำ เพื่อชี้ให้เห็นว่าประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับจินตนาการที่เรามีต่อธรรมชาติและสังคมในโลกสมัยใหม่ ถ้าคุณถามคำถามง่ายๆ ข้อหนึ่ง เช่น ทำไมชีวิตของมนุษย์บางคนถึงสำคัญกว่าคนอื่นๆ หรือทำไมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงสำคัญกับบางคนมากกว่าคนอื่นๆ คุณจะเริ่มเห็นว่าคำถามพวกนี้เกี่ยวข้องกับสมมติฐานที่ทรงพลังมากๆ เกี่ยวกับธรรมชาติและสังคม

ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวเรื่องทรายน้ำมัน (tar sands) หรือโครงการสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL เป็นตัวอย่างของการจัดการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สอดคล้องกับข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้อย่างยิ่ง ไม่มีใครสามารถทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมสงบลงด้วยการแจกจ่ายรางวัลในรูปแบบใหม่ได้อีกแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะทุนนิยมไม่มีผลผลิตส่วนเกินเหมือนที่เคยมี คุณเห็นการสนทนาเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพลังงาน การขุดเจาะปิโตรเลียมในแนวนอน (fracking) น้ำมัน และโครงการขุดเจาะทรัพยากรใต้พิภพในลาตินอเมริกา และแน่นอนว่าในลาตินอเมริกา กลุ่มชนพื้นเมืองจำนวนมากไม่เคยเชื่อในคู่ตรงข้ามนี้เลยตั้งแต่แรก พวกเขานำหน้าเราอยู่เสมอ

แต่ก็มีฝ่ายซ้ายจำนวนมากเหลือเกิน โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ ที่มองว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอก เป็นตัวแปร หรือเป็นบริบท ซึ่งจะเป็นทางตันทางการเมืองที่สมบูรณ์แบบ เราจำเป็นต้องนำธรรมชาติกลับมาสู่ทุนนิยม และเข้าใจทุนนิยมในฐานะที่เป็นธรรมชาติ

[1] แปลจาก Kamil Ahsan, “Capitalism in the Web of Life: Interview with Jason W. Moore,” Viewpoint September 28, 2015 https://viewpointmag.com/2015/09/28/capitalism-in-the-web-of-life-an-int...

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)