Skip to main content

ริชาร์ด ฟลอริดา หนึ่งในนักคิดด้านผังเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกายุคหลังสงคราม อยากให้ทุกคนรู้ครับว่า ตัวเขาเข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับเมืองผิดแทบทั้งหมด

ถ้าคุณกำลังอาศัยอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ในอเมริกาเหนือ สหราชอาณาจักร หรือออสเตรเลีย คุณเองกำลังอยู่ในโลกของริชาร์ด ฟลอริดา ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ฟลอริดาเสนอข้อโต้แย้งว่าการไหลบ่าของสิ่งที่เขาเรียกว่า “ชนชั้นสร้างสรรค์” เช่น พวกศิลปินเอย ฮิปสเตอร์เอย คนทำงานไอทีเอย คนเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่ต่างๆ เหมือนในซิลิคอนวัลเลย์ ความเปิดกว้างต่อสิ่งใหม่ๆ ยืดหยุ่น รวมทั้งบุคลิกประหลาดๆ ของพวกเขาได้หลอมละลายโครงสร้างอันคงทนของการผลิตแบบอุตสาหกรรม และแทนที่ด้วยสถานที่ทำงานและละแวกใกล้เคียงที่ดึงดูดใจคนหนุ่มคนสาว และที่สำคัญคือดึงดูดการลงทุนเข้ามามากขึ้น

ในไม่ช้าข้อสังเกตของฟลอริดากลายเป็นรากฐานให้กับการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคแบบคูลๆ จำนวนหนึ่ง เช่นว่าถ้าต้องการอยู่รอด เมืองที่กำลังเสื่อมตัวลงก็ต้องเปิดบาร์เท่ๆ ร้านกาแฟชิคๆ สร้างถนนศิลปะที่ล่อตาล่อใจผู้อยู่อาศัยวัยหนุ่มสาวที่เปิดกว้างและมีการศึกษา แล้วในที่สุดการเล่นแร่แปรธาตุอันลึกลับของเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ก็จะช่วยสร้างย่านใจกลางเมืองที่ทั้งใหม่และเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเอง

แต่ในวันนี้ แม้แต่ฟลอริดาเองก็รู้ตัวแล้วว่าเขาคิดผิด การเติบโตของชนชั้นสร้างสรรค์ในเมืองอย่างนิวยอร์ค ลอนดอน และซานฟรานซิสโก สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับแค่คนที่รวยอยู่แล้ว ซ้ำยังซ้ำเติมคนยากจนและชนชั้นแรงงานอีกด้วย ปัญหาต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเขตเมืองชั้นในที่แออัดและเสื่อมโทรมเคยประสบได้ย้ายไปสู่ย่านชานเมือง

ชนชั้นสร้างสรรค์เป็นอิสระ

ฟลอริดาเอาข้อมูลเชิงปริมาณประหลาดๆ มาสนับสนุนข้อเสนอของตัวเองเรื่องชนชั้นสร้างสรรค์ เขาสร้าง “ดัชนีโบฮีเมีย” (Bohemia Index) โดยอาศัยข้อมูลสำมะโนประชากรเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษา “ปัจจัยของความคูล” (วัดจากจำนวนของคนหนุ่มสาวและคุณภาพของ “วัฒนธรรมและชีวิตกลางคืน”) และที่แปลกมากๆ คือจำนวนของผู้อยู่อาศัยที่เป็นเกย์ เพื่อใช้คำนวณผลกระทบอันมหัศจรรย์ของสิ่งเหล่านี้ที่มีต่อการเติบโตของเมือง

ฟลอริดาย้ำกับผู้อ่านว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่สร้างสรรค์ แต่มีเพียงหนึ่งในสามของพวกเราเท่านั้นที่สามารถหากินจากความสร้างสรรค์ได้ ชนชั้นสร้างสรรค์ซึ่งคุณอาจจะอยู่ในนั้นด้วยโดยไม่รู้ตัว หมายรวมถึงนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย คนทำงานไอที กราฟิกดีไซเนอร์ และศิลปินทุกรูปแบบ พูดง่ายๆ ก็คือหมายถึงใครก็ตามที่ไม่ได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการซึ่งทั้งซ้ำซากจำเจและสุดแสนจะไม่สร้างสรรค์

“ชนชั้นสร้างสรรค์” ทั้งวินิจฉัยสภาพปัจจุบันของเมืองและเสนอคำแนะนำที่ควรปฏิบัติต่อไปในอนาคต ริชาร์ด ฟลอริดา รวมทั้งเจน จาคอบส์ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับบรรดานายกเทศมนตรี นักพัฒนา และนักวางแผนที่เปลี่ยนถนนรถวิ่งให้กลายเป็นถนนคนเดิน สร้างเลนสำหรับจักรยาน และดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างหอศิลป์และโรงละคร

มองข้ามโวหารเกี่ยวกับนวัตกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นผู้ประกอบการออกไป แนวคิดของฟลอริดากลับมีอะไรบางอย่างที่มีความเป็นมาร์กซิสต์มากๆ นั่นก็คือการที่มนุษย์โดยพื้นฐานแล้วมีความสร้างสรรค์อันเป็นบ่อเกิดของมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมนุษย์เริ่มถูกทำให้แปลกแยกมากขึ้นเมื่อพวกเขาไม่สามารถควบคุมผลิตผลของความสร้างสรรค์ของตัวเองได้

ทว่างานเขียนของฟลอริดากลับบีบศักยภาพของมนุษย์ให้หดแคบลง ทฤษฎีเกี่ยวกับศิลปะและความสร้างสรรค์ของเขายอมรับแต่คุณูปการที่ของเหล่านี้มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การตอกย้ำถึงผลดีของความเปิดกว้างยอมรับสิ่งใหม่ๆ ก็มีเป้าหมายเชิงอรรถประโยชน์ไม่ต่างกัน คือเขาเห็นว่าเราควรยกย่องชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่เพราะว่ามันดีในตัวมันเอง แต่เป็นเพราะมันช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

ผ่านไป 15 ปีกับแผนการพัฒนาที่ออกแบบมาเพื่อชนชั้นสร้างสรรค์ ฟลอริดาจึงกลับไปสำรวจภูมิทัศน์เมืองที่กำลังเสื่อมสลายลง เรื่องราวของลอนดอนคือเรื่องราวของออสติน ซิลิคอนวัลเลย์ ชิคาโก นิวยอร์ค โตรอนโต และซิดนีย์ เมื่อคนรวย คนหนุ่ม และคน(ที่ส่วนใหญ่เป็น)ผิวขาวลงมือฟื้นฟูเมือง พวกเขาต่างเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์กันให้เกลื่อนกลาด เร่งให้ราคาที่อยู่อาศัยทะยานขึ้นพรวดพราด และบีบให้ผู้คนจำนวนมากต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเองไป “ชนชั้นสร้างสรรค์” เป็นเพียงคนรวยมาตั้งแต่ต้นแล้ว หรืออย่างน้อยก็เป็นลูกหลานของคนรวยที่พ่วงท้ายด้วยใบปริญญา

ในปี 1979 ปิแยร์ บูร์ดิเยอเขียนไว้ว่า การบริโภคและการผลิตงานศิลปะสร้าง “ภาพฝันของการเลื่อนชนชั้น” ให้กับชนชั้นกลางระดับสูง โดยทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ว่ายังไงรสนิยมและความเชื่อของตัวเองก็ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยตำแหน่งแห่งที่ทางชนชั้น ชนชั้นสร้างสรรค์ในเมืองใหญ่ๆ ในโลกตะวันตกเก่งเรื่องนี้มากกว่าใคร

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ฟลอริดามองโลกในแง่ดีน้อยลงเรื่อยๆ เพียงแค่ในปี 2005 เขาก็กล่าวถึง “ผลกระทบต่อภายนอก” ของการเติบโตของชนชั้นสร้างสรรค์ นั่นคือการที่พวกเขาสร้างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในระดับที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้าในทุกๆ เมืองที่มีคนเหล่านี้อาศัยอยู่ ในงานชิ้นหลังๆ ฟลอริดามองว่า “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไป กลับกันมันกลับกลายเป็นแรงผลักดันที่หยุดไม่อยู่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องควบคุมมากกว่าส่งเสริม

การสำนึกผิดอันยาวนานของฟลอริดานี้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดในหนังสือเล่มล่าสุดเรื่อง The New Urban Crisis ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือการยอมรับว่าตัวเองคิดผิด ฟลอริดาเสนอว่าชนชั้นสร้างสรรค์ได้ยึดกุมเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลกและกำลังบีบเค้นเมืองเหล่านั้นจนตาย ผลลัพธ์ก็คือการที่มหานครใหญ่ที่สุด 50 แห่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนแค่ร้อยละ 7 ของประชากรโลก แต่กลับสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 40 ของการเติบโตทั้งหมด เมือง “ซุปเปอร์สตาร์” เหล่านี้กำลังกลายเป็นชุมชนปิด สีสันและชีวิตชีวาของเมืองถูกแทนที่ด้วยถนนที่แทบไม่เหลือเค้าเดิม ถนนซึ่งคลาคล่ำไปด้วย Airbnb และบ้านตากอากาศที่ว่างเปล่า

ขณะเดียวกัน ยาเสพติดและความรุนแรงในท้องถนนกลับแพร่กระจายสู่ย่านชานเมือง ฟลอริดาเขียนว่า “ยิ่งกว่าวิกฤตของเมือง” … “วิกฤตหลักในยุคสมัยของเราคือวิกฤตของเมืองที่เกิดใหม่” … “วิกฤตของเขตชานเมือง ของการพัฒนาเมืองในตัวมันเอง และชัดเจนเหลือเกิน มันคือวิกฤตของระบอบทุนนิยมในปัจจุบัน”

ฟลอริดาเสนอทางออกไว้พอประมาณ ไล่ตั้งแต่ทางออกที่เฉพาะเจาะจงอย่างเช่นการลดราคาที่อยู่อาศัยให้คนทั่วไปพอซื้อได้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น และการเพิ่มค่าแรงให้กับงานภาคบริการ ไปจนถึงทางออกที่คลุมเครืออย่างการ “มีส่วนร่วมในความพยายามระดับโลกเพื่อสร้างเมืองที่มั่งคั่งและเข้มแข็งขึ้นในพื้นที่ที่กำลังกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็วทั่วโลก” และ “เสริมพลังให้ชุมชนและช่วยให้ผู้นำท้องถิ่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของตัวเองได้”

ครั้งหนึ่งฟลอริดาเคยเป็นถึงกูรู เป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาด้านนโยบายเมืองที่ได้รับการยกย่องในหมู่นักการเมืองสายเสรีนิยมและขวัญใจสื่อมวลชนอย่างโบโน่ ทว่าตอนนี้เขากลับพูดอะไรได้ไม่มากนัก การวินิจฉัยวิกฤตที่ตัวเขาเองมีส่วนก่อไม่ได้นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ เขาเปลี่ยนจากการคาดการณ์อย่างเลินเล่อเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอันไม่สิ้นสุดจากพลังของความสร้างสรรค์ไปสู่ภาพของความหายนะและสิ้นหวัง การปรับท่าทีของฟลอริดาเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่างไรเสีย “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ก็มีชีวิตเป็นของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว

เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

ในหนังสือ The Making of the English Working Class อี. พี. ธอมป์สันอธิบายอย่างออกจะโรแมนติกอยู่บ้างว่าโลกของช่างทอผ้าด้วยมือชาวอังกฤษในยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นโลกที่ผู้คนอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติ และมีความสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง คนเหล่านี้ต่างพากันร้องรำทำเพลงและสังสรรค์กันอย่างสนุกสนานในช่วงเวลาว่างที่ไร้ขีดจำกัด ความซ้ำซากจำเจและการใช้ชีวิตตามกรอบเวลาที่แน่นอนหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ทำลายวิถีชีวิตในอุดมคติของพวกเขาลง

สองร้อยปีให้หลัง ในซีกโลกเหนือแทบจะไม่มีชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรมเหลืออยู่แล้ว และความคิดสร้างสรรค์กำลังจำแลงกายกลับมาในร่างใหม่ เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์เข้ามาแทนที่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม

ด้วยเสียงสนับสนุนจากคนอย่างริชาร์ด ฟลอริดา เมืองและรัฐต่างๆ จึงพยายามใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือแสวงหาอรรถประโยชน์ ด้วยหวังจะแปลงวิถีชีวิตตามธรรมชาติของมนุษย์ให้กลายเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นจากปี 1997 นายกเทศมนตรีและรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองบิลเบา (Bilbao) พยายามจะฟื้นฟูเมืองอุตสาหกรรมที่เสื่อมโทรมด้วยแหล่งรวมงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ

พรรคแรงงานของโทนี แบลร์ หลงใหลได้ปลื้มกับการเปลี่ยนโรงงานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ในช่วงกระแสของการฟื้นฟูเมืองระหว่างปี 1998-2002 สหราชอาณาจักรสร้างหอศิลป์หลายแห่งในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ Tate Modern ในกรุงลอนดอนซึ่งสร้างในพื้นที่ที่เคยเป็นโรงไฟฟ้า หอศิลป์ BALTIC art gallery ซึ่งเคยเป็นโรงงานแป้งสาลีในเกตส์เฮด รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ Manchester Lowry Museum และ Tate Liverpool ซึ่งสร้างบนพื้นที่ที่เคยเป็นอู่ต่อเรือ

ผู้คนในทุกๆ ที่ต่างคาดหวัง ซึ่งบางครั้งก็แสดงออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ว่าความคิดสร้างสรรค์จะทำงานที่ครั้งหนึ่งอุตสาหกรรมเคยทำได้ มีอยู่ช่วงหนึ่ง โกดังสินค้าเก่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในแมนเชสเตอร์ประดับป้ายข้อความว่า “ความคิดสร้างสรรค์หลอมขึ้นในแมนเชสเตอร์ด้วยทั่งตีเหล็กแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม” ปัจจุบันโกดังดังกล่าวกำลังจัด “อีเวนท์ของบริษัทในบรรยากาศแบบเมืองๆ” การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ก็มีหน่วยงานด้าน “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งประเมินว่ามูลค่าการตลาดของ “สินค้าเชิงสร้างสรรค์” จะอยู่ที่ราว 5.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คงไม่ต้องบอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เมืองต่างๆ ในสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญอยู่แม้แต่น้อย The Sage โรงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในเกตส์เฮดเมื่อปี 2004 อยู่ห่างจากความยากจนและสิ้นหวังเพียงไม่กี่ช่วงตึก

ผลการโหวต Brexit เมื่อปีก่อนแสดงให้เห็นว่าชุมชนเหล่านี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงความเปิดกว้างที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ชาวเมืองเกตส์เฮดร้อยละ 56 โหวตให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ขณะที่ชาวเมืองฮัลล์ เมืองที่ถูกกำหนดให้เป็น “เมืองหลวงทางวัฒนธรรม” อย่างเป็นทางการในปี 2013 โหวตขอออกจากสหภาพยุโรปกันถึงร้อยละ 68 ศิลปะไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์โภชผลใดๆ ตามคำมั่นสัญญา

คนที่ไม่ได้รวยล้นฟ้ายังต้องดิ้นรนทำมาหากินจากงานเขียนและการเล่นดนตรี วงการเพลงของชนชั้นแรงงานในภาคเหนือรุ่นก่อนอย่างเช่น Joy Division, Pulp หรือแม้แต่ The Beatles ถูกแทนที่ด้วยวงดนตรีอีลีทที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง James Blunt หรือ Mumford and Sons (อาจยกเว้นก็แต่ในวงการเพลงไกร์ม (grime scene) ซึ่งมักเกิดขึ้นในที่ที่ห่างไกลจากการสอดแทรกความเป็นเมืองที่ทั้งตื่นตาและไร้ความหมายเหล่านี้)

นักภูมิศาสตร์อย่างเดวิด ฮาร์วีย์เสนอว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงที่สุดของระบบเศรษฐกิจของเมืองในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนจากการจัดการเมืองด้วยแนวคิดแบบเอกชน (managerialism) สู่การจัดการเมืองด้วยแนวคิดของผู้ประกอบการ (entrepreneurialism) ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองต่างๆ ซึ่งเคยให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยในรูปของสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานกำลังโปรโมตตัวเองเพื่อดึงเอาเงินทุน นักท่องเที่ยว และแรงงานที่มีการศึกษาจากทั่วโลกเข้ามา

แนวคิดที่ว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยแก้ไขปัญหาของเมืองเหล่านี้ได้ ทั้งจากบนลงล่างด้วยหอศิลป์ขนาดมหึมา หรือจากล่างขึ้นบนด้วยบรรดาฮิปสเตอร์เครางาม คือเครื่องบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งที่ว่านี้นั่นเอง

ริชาร์ด ฟลอริดาพูดถูกครับที่บอกว่า “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เป็นวิถีทางใหม่ของโลก แต่พัฒนาการของมันกลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่เขาคาดคิดไว้ เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ไม่ได้นำมนุษยชาติไปสู่ยุคแห่งความมั่งคั่งครั้งใหม่ แต่กลับรวมเอาองค์ประกอบต่างๆ ของระบอบทุนนิยมตอนปลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มันถูกปากสำหรับคนจำนวนหนึ่ง แต่กลับยิ่งส่งผลให้วิกฤตและความขัดแย้งรุนแรงขึ้นสำหรับคนกลุ่มอื่นๆ.

*แปลจาก Sam Wetherell. “Richard Florida is Sorry.” Jacobin Magazine. Available from https://jacobinmag.com/2017/08/new-urban-crisis-review-richard-florida.

ภาพ: http://philmckinney.com

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)