Skip to main content

 

ผมเขียนบทความนี้เพื่ออธิบายให้ชัดเจนว่าผมมีความเห็นอย่างไรกับบิตคอยน์ ขอให้อ่านสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้ ไม่ใช่สิ่งที่สื่อพูดว่าผมเขียน เพราะสิ่งนี้เชื่อถือได้ ผมกำลังคิดว่าคนที่อยากสนับสนุนบิตคอยน์ (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่) กำลังมองบิตคอยน์แบบหนึ่ง ในขณะที่คนที่ต่อต้านบิตคอยน์ (ซึ่งเป็นคนน้อยนิดที่นั่งตัวงอด้วยความกลัวอยู่ที่มุมห้อง) มองมันในอีกแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมพูดถึง ความจริงมีทั้งคนที่สนับสนุนและคนที่ต่อต้าน และผมจะพยายามสื่อสารสิ่งที่ผมเข้าใจนี้ให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ย้ำอีกครั้งนะครับว่าผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบิตคอยน์หรือคริปโตเคอร์เรนซี ผมจึงเชื่อว่ามุมมองของตัวเองไม่ได้น่าเชื่อถืออะไรนัก ดังนั้นจึงไม่ควรพูดอะไรมากมาย ผมรู้ดีว่าในตลาดการเงินเราควรต้องมีความรู้ความเข้าใจอะไรให้มากเสียก่อนถึงจะสามารถมีความเห็นที่มีน้ำหนักได้ ดังนั้นผมจึงไม่ได้เชื่อมั่นว่าตัวเองคิดถูกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีคนเรียกร้องให้ผมซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์บิตคอยน์ เพราะฉะนั้นการเขียนความคิดเห็นตัวเองออกมาให้ชัดเจนจึงน่าจะดีกว่าถ้อยคำบิดเบือนที่สื่อนำเสนอโดยไม่ได้เตือนผู้อ่านเลยว่าอย่าไปเชื่อถือมันมากนัก ผมขอทุกคนเรื่องเดียว คือขอให้อ่านสิ่งที่ผมเขียนนี้ มากกว่าจะไปสนใจดราม่ามากมายที่อยู่ในสื่อ

ผมเชื่อว่าบิตคอยน์คือสุดยอดประดิษฐกรรม การสร้างเงินรูปแบบใหม่ผ่านระบบที่โปรแกรมไว้ในคอมพิวเตอร์ ทำงานมาแล้วกว่า 10 ปี แถมยังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและล้นหลามทั้งในฐานะที่เป็นเงินและแหล่งเก็บมูลค่า ถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง เหมือนกับการสร้างระบบการเงินที่วางอยู่บนฐานของเครดิตแบบที่เราใช้กันทุกวันนี้ ความสำเร็จของบิตคอยน์ถือเป็นการเล่นแร่แปรธาตุแบบหนึ่ง กล่าวคือมันเป็นการเสกเงินขึ้นมาจากความว่างเปล่า เช่นเดียวกับการสร้างระบบเครดิตที่ทำให้นายธนาคารร่ำรวยมาตั้งแต่ยุคตระกูลเมดิซีในช่วงปี 1350 บิตคอยน์กำลังทำให้นักลงทุนและคนที่ถือมันมาก่อนชาวบ้านกลายเป็นมหาเศรษฐี มันมีศักยภาพพอที่จะทำให้อีกหลายต่อหลายคนร่ำรวยและเข้ามาดิสรัประบบการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน กลุ่มคนที่สร้างและผลักดันความฝันในการสร้างเงินชนิดใหม่ให้เป็นจริงทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการประคับประคองความฝันและทำให้บิตคอยน์ (ในที่นี้ผมหมายถึงทั้งบิตคอยน์และคริปโตที่คล้ายคลึงกัน) กลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่มีลักษณะคล้ายทองคำ 

มีสินทรัพย์ทางเลือกที่คล้ายทองคำไม่มากนักในเวลานี้ที่มีความต้องการมากขึ้น (ซึ่งเป็นเพราะกระบวนการสร้างเงินและสร้างหนี้ที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นในอนาคต) สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกในเวลานี้ นอกจากจะทำให้ความต้องการเงินหรือแหล่งเก็บความมั่งคั่งที่มีปริมาณจำกัดเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่สามารถถือครองเองได้อย่างเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้นด้วย และเพราะมีแหล่งสะสมความมั่งคั่งที่คล้ายทองคำไม่มากนักที่สามารถถือครองเองได้อย่างเป็นส่วนตัว และเพราะขนาดของตลาดยังคงเล็กอยู่มาก จึงเป็นไปได้ว่าบิตคอยน์และคริปโตอื่นๆ จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ ผมมองว่าบิตคอยน์ประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามจากการเป็นแนวคิดที่จับต้องอะไรไม่ได้ซึ่งไม่น่าจะมีความสำคัญอะไรในระยะเวลาอันสั้น มาสู่การเป็นสิ่งที่น่าจะมีความสำคัญ และอาจจะมีมูลค่าหรือคุณค่าบางอย่างในอนาคต คำถามสำคัญสำหรับผมก็คือในความเป็นจริงแล้วบิตคอยน์ใช้ทำอะไรได้บ้างและความต้องการบิตคอยน์จะมีมากสักแค่ไหน ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าบิตคอยน์มีอยู่จำนวนเท่าไหร่ ดังนั้นการประเมินราคาของมันจึงต้องอาศัยการประเมินของความต้องการ

ผมควรอธิบายเกี่ยวกับปริมาณของบิตคอยน์ให้ชัดเจน ถึงแม้ว่าบิตคอยน์จะมีปริมาณจำกัดก็จริง แต่สกุลเงินดิจิทัลมีปริมาณไม่จำกัดเพราะสกุลใหม่สร้างขึ้นได้เรื่อยๆ และจะมีออกมาเรื่อยๆ เพื่อแข่งขันกับสกุลที่มีอยู่เดิม ดังนั้นปริมาณของสินทรัพย์ที่คล้ายบิตคอยน์ รวมถึงการแข่งขันระหว่างกัน จึงควรมีและจะมีบทบาทในการกำหนดราคาของบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าคริปโตที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นและมาทดแทนคริปโตอันเก่า เพราะวิวัฒนาการของทุกอย่างก็ล้วนเป็นไปในทางนี้ วิธีการใหม่ๆ และสิ่งใหม่ๆ ย่อมมาทดแทนและจะมาทดแทนวิธีการเดิมๆ และสิ่งเดิมๆ เมื่อการทำงานของบิตคอยน์นั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตัวมันเองจึงพัฒนาต่อไปไม่ได้ และผมเชื่อว่าจะมีคนคิดค้นสิ่งอื่นที่ดีกว่าขึ้นมาทดแทนบิตคอยน์ในที่สุด ผมมองว่าสิ่งนี้คือความเสี่ยง ดังนั้น ข้อถกเถียงที่ว่าบิตคอยน์ "มีปริมาณจำกัด" จึงไม่ได้ถูกต้องอย่างที่บางคนเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ต่อให้แบล็คเบอร์รีมีปริมาณจำกัด แต่สุดท้ายมันก็จะไม่ได้มีมูลค่าอะไรมากมาย เพราะจะถูกแทนที่ด้วยคู่แข่งที่ล้ำสมัยกว่า ผมเองยังไม่ได้คำตอบว่าทำไมเรื่องนี้จึงไม่ใช่ความเสี่ยง แต่ถ้ามีอะไรที่ช่วยให้ผมเข้าใจถูกต้องกว่านี้ได้ ผมก็ยินดีจะรับฟัง

อย่างไรก็ตาม ผมชื่นชมมากๆ ที่บิตคอยน์สามารถผ่านบททดสอบมาได้กว่าสิบปี และไม่ใช่ในแง่นี้เท่านั้น แต่ยังชื่นชมที่เทคโนโลยีของบิตคอยน์ทำงานได้เป็นอย่างดีและยังไม่เคยถูกแฮคเลยสักครั้งเดียว แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับคนที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัล/ไซเบอร์ในเวลาที่การคุกคามทางไซเบอร์ทรงพลังกว่าความสามารถในการป้องกันภัยคุกคาม ความเสี่ยงในโลกไซเบอร์จึงเป็นความเสี่ยงที่มองข้ามไปไม่ได้เลย กระทั่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้ระบบของตัวเองถูกแฮค การรู้สึกสบายใจเหลือเกินว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถถูกแฮคได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบของสินทรัพย์ที่คล้ายทองคำและเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของสินทรัพย์ทางการเงินทุกอย่าง จึงน่าจะเป็นเรื่องไร้เดียงสามากทีเดียว ที่จริง ผมคิดว่าเป็นไปได้มากที่วันหนึ่งเราจะพบว่าระบบการเงินที่แทบทุกอย่างอยู่ในรูปดิจิทัลเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปและ/หรือถูกแบล็คเมล์ทางไซเบอร์มากกว่าที่เรารู้กันในตอนนี้ สิ่งนี้กำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นภัยต่อมูลค่าหรือคุณค่าของสินทรัพย์ทางการเงินแบบเดิมๆ ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเตือนเพื่อให้ลองคิดดูดีๆ ผมรู้ว่าเราสามารถเก็บบิตคอยน์ออฟไลน์ได้ใน "cold storage" แต่ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องยากและมีน้อยคนที่เก็บบิตคอยน์ด้วยวิธีนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ตามความเข้าใจของผม บิตคอยน์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลและเชื่อมต่ออยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต จึงไม่ได้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับที่ผมยอมรับได้ ถ้าผมเข้าใจผิดก็ช่วยแก้ให้ด้วยนะครับ

นอกจากเรื่องที่บิตคอยน์[1] อยู่ในรูปดิจิทัลแล้ว อีกประเด็นหนึ่งคือมันเป็นส่วนตัวแค่ไหนและรัฐบาลจะยอมให้มันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ว่าด้วยเรื่องความเป็นส่วนตัว ดูเหมือนว่าบิตคอยน์จะไม่ได้เป็นส่วนตัวอย่างที่บางคนเชื่อ เพราะถึงที่สุดมันก็คือระบบบัญชีแบบสาธารณะและจำนวนบิตคอยน์จริงๆ ก็ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในลักษณะที่เป็นส่วนตัว ถ้ารัฐบาล (หรือแฮคเกอร์) อยากรู้ว่าใครมีบิตคอยน์อยู่เท่าไหร่ ผมไม่คิดว่าใครจะสามารถป้องกันความเป็นส่วนตัวของตัวเองเอาไว้ได้ นอกจากนั้น ผมยังมองว่าถ้ารัฐบาลอยากทำให้บิตคอยน์ใช้งานไม่ได้ คนส่วนใหญ่ที่กำลังใช้บิตคอยน์อยู่ก็จะไม่สามารถใช้งานมันได้ และความต้องการบิตคอยน์ก็จะลดลงในพริบตา การที่รัฐบาลจะเข้ามายุ่งย่ามกับความเป็นส่วนตัว และ/หรือห้ามไม่ให้มีการใช้บิตคอยน์ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริงเลย ผมคิดว่ายิ่งบิตคอยน์ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ ก็เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะยิ่งอยากควบคุมมันมากเท่านั้น นับตั้งแต่การก่อตั้งธนาคารกลางขึ้นครั้งแรก (ธนาคารกลางของอังกฤษในปี 1694) รัฐบาลมีเหตุผลที่ดีและสมเหตุสมผลในการพยายามควบคุมเงินและรักษาความสามารถในการทำให้มีเงินตราและเครดิตเพียงระบบเดียวภายในพรมแดนของตน เมื่อมองจากสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ ดูการกระทำของพวกเขา และฟังสิ่งที่คนเหล่านั้นพูดด้วยแล้ว ผมยิ่งไม่เชื่อว่ารัฐจะยอมปล่อยให้บิตคอยน์ (หรือทองคำ) กลายเป็นทางเลือกที่ใครๆ ก็เห็นว่าดีกว่าเงินตราและระบบเครดิตที่พวกเขาผลิตขึ้น ผมสังหรณ์ใจว่าความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของบิตคอยน์ก็คือการที่มันประสบความสำเร็จนั่นเอง เพราะหากมันประสบความสำเร็จจริงๆ รัฐบาลจะพยายามทำลายบิตคอยน์ และรัฐมีอำนาจมากมายเกินกว่าใครจะต้านทาน

ถ้ามองในเรื่องปริมาณและความต้องการ เรารู้ว่าบิตคอยน์มีปริมาณเท่าไหร่ แต่ยากจะรู้ว่าในระยะยาวในกรอบเวลาที่ยาวนาน (เพราะมันคือสินทรัพย์ในระยะยาว) ความต้องการบิตคอยน์จะเป็นอย่างไร ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ก็ดังที่ผมกล่าวไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ผมมองว่าบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่คล้ายทองคำ ผมจึงขอให้รีเบคกา แพทเทอร์สัน และคนอื่นๆ ที่บริดจ์วอเทอร์ ลองคำนวณว่าทองคำที่เอกชนถือครองอยู่มีมูลค่าสักเท่าไหร่ จากนั้นก็สมมติว่าคนกลุ่มนี้ร้อยละเท่านั้นเท่านี้ย้ายไปถือบิตคอยน์ เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าร้อยละ 10, 20, 30 หรือ 40 หรือ 50 ของเอกชนที่ถือทองคำอยู่หันไปถือบิตคอยน์เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าร้อยละ 10 หรือ 20 ของคนที่สร้างบิตคอยน์กลับใจหันไปกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำหรือหุ้น หรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้ารัฐบาลเกิดอยากห้ามไม่ให้ใช้บิตคอยน์ สมมติแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ภาพที่ได้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน (สามารถอ่านรายงานฉบับนี้ได้ที่นี่) นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงมองว่าบิตคอยน์เป็นเหมือนทางเลือกในระยะยาวที่อนาคตยังคงขมุกขมัวอยู่มาก และผมจะยอมใส่เงินเข้าไปในจำนวนที่คิดว่ายอมเสียได้สักร้อยละ 80 ของเงินก้อนนั้น

ทั้งหมดนี้คือบิตคอยน์ในสายตาของผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญอย่างผม ผมอยากได้คำอธิบายหากเข้าใจอะไรผิดและอยากเรียนรู้ให้มากกว่านี้ด้วย ในทางกลับกัน เชื่อผมเถอะเวลาผมบอกว่า ผมและเพื่อนร่วมงานที่บริดจ์วอเทอร์กำลังสนอกสนใจแหล่งเก็บความมั่งคั่งอื่นๆ กันอย่างตาไม่กะพริบทีเดียว.

*แปลจาก Ray Dalio. "What I Really Think of Bitcoin". Linkedin. Available from https://www.linkedin.com/pulse/what-i-really-think-bitcoin-ray-dalio/.


[1] เวลาผมใช้คำว่า ‘บิตคอยน์’ ขอให้เข้าใจว่าผมหมายถึงทั้งบิตคอยน์และคริปโตตัวอื่นๆ

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
คุยกับฟรานส์ เดอ วาลผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
Apolitical
ใครที่ติดตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับ GMO ในตอนนี้ คงจะเห็นคล้ายๆ กันว่า นอกจากจุดสนใจที่ค่อนข้างแตกต่างกันของหลายฝ่าย (เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม) ประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับการถกเถียงไม่แพ้กันคือการเลือกใช้คำและความห
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1] สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน
Apolitical
เอปที่ไหน ใครเป็นเอป (Who A
Apolitical
สลาวอย ชิเชค – คำชี้แจงฉบับย่อว่าด้วยป
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 3) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 2) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)