Skip to main content

บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป

บิตคอยน์คือตัวอย่างคลาสสิกของเน็ตเวิร์คเอฟเฟคที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกันเป็นทอดๆ ยิ่งมีคนใช้งานมากเท่าไหร่ บิตคอยน์ก็ยิ่งมีมูลค่ามากขึ้นสำหรับทุกคนที่ใช้งาน และเพิ่มแรงจูงใจให้คนเข้ามาใช้งานเทคโนโลยีนี้ต่อไปในอนาคต เน็ตเวิร์คเอฟเฟคนี้เป็นคุณสมบัติที่บิตคอยน์ ระบบโทรทัศน์ เว็บไซต์ และบริการยอดนิยมในอินเตอร์เน็ตอย่างอีเบย์และเฟซบุ๊ก มีร่วมกัน

ที่จริงบิตคอยน์เป็นเน็ตเวิร์คเอฟเฟคแบบสี่ทาง มีคนสี่กลุ่มที่มีส่วนในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นบิตคอยน์ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาร่วมวงโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับเป็นสำคัญ คนเหล่านี้ได้แก่ (1) ผู้บริโภคที่ใช้งานบิตคอยน์ (2) ร้านค้าที่รับบิตคอยน์ (3) ‘นักขุด’ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลและตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมด และช่วยให้เครือข่ายความเชื่อใจแบบกระจายศูนย์ดำรงอยู่ได้ และ (4) นักพัฒนาและบรรดาผู้ประกอบการที่กำลังสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ด้วยบิตคอยน์และต่อขยายบนระบบของบิตคอยน์

เน็ตเวิร์คเอฟเฟคทั้งสี่ด้านมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบทั้งหมด แต่คนกลุ่มที่สี่มีความสำคัญเป็นพิเศษ

ในซิลิคอนวัลเลย์และหลายๆ ที่ทั่วโลก โปรแกรมเมอร์หลายพันหลายหมื่นคนกำลังใช้บิตคอยน์เป็นรากฐานของแนวคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบซึ่งก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ไกลเกินฝัน ที่บริษัทร่วมทุนอย่าง Andreesen Horowitz เราพบว่ามีผู้ประกอบการเก่งๆ ซึ่งหลายคนเป็นหัวกะทิจากภาคการเงิน กำลังก่อตั้งบริษัทที่ทำงานบนระบบบิตคอยน์กันมากขึ้นทุกที

เหตุผลนี้เพียงเรื่องเดียวก็นับเป็นอุปสรรคหนักหนาทีเดียวสำหรับผู้กล้าหน้าใหม่ที่จะมาท้าทายบิตคอยน์ เพราะถ้าอะไรจะมาทดแทนมันได้ในตอนนี้ สิ่งนั้นก็ต้องดีกว่าระบบที่มีอยู่นี้มากและจะต้องเกิดขึ้นโดยเร็วด้วย ไม่เช่นนั้นเน็ตเวิร์คเอฟเฟคก็จะทำให้บิตคอยน์กลายเป็นผู้ครองตลาดแต่เพียงผู้เดียว

หนึ่งในสิ่งที่ได้ประโยชน์มหาศาลและชัดเจนทันตาจากนวัตกรรมบนฐานของบิตคอยน์คือการโอนเงินข้ามประเทศ ทุกวันนี้มีคนรายได้น้อยหลายร้อยล้านคนทั่วโลกที่เดินทางออกไปทำงานหนักในต่างประเทศเพื่อส่งเงินให้ครอบครัวของตนในประเทศบ้านเกิด ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทุกวันนี้ธนาคารและบริษัทให้บริการชำระเงินต่างกินส่วนต่างจากค่าธรรมเนียมที่สูงเกินจะมนุษย์ปกติจะเข้าได้ คือราว 10 เปอร์เซนต์หรือมากกว่านั้นต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง

หากเปลี่ยนมาใช้บิตคอยน์ซึ่งค่าธรรมเนียมต่ำมากหรือไม่มีเลย การโอนเงินข้ามประเทศเหล่านี้ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขาได้อย่างมีนัยสำคัญ เอาเข้าจริงก็ไม่ง่ายเลยที่จะนึกถึงอะไรอื่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คนจากประเทศยากจนได้มากและรวดเร็วเท่ากับบิตคอยน์

มากไปกว่านั้น บิตคอยน์ยังเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกเข้าสู่ระบบการเงินสมัยใหม่ มีเพียงยี่สิบกว่าประเทศในโลกเท่านั้นที่มีสิ่งที่เราเรียกได้ว่าเป็นระบบการธนาคารและการชำระเงินสมัยใหม่อย่างเต็มตัว อีกกว่า 175 ประเทศยังมีระบบการเงินที่ค่อนข้างล้าหลังอยู่มาก ส่งผลให้คนจำนวนมากในหลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่เป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันของเราชาวตะวันตก แม้กระทั่งเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเป็นบริการในโลกออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ ก็ให้บริการอยู่ในราวสี่สิบประเทศเท่านั้น ในฐานะระบบการชำระเงินระดับโลกที่ใครก็สามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด บิตคอยน์จะเป็นตัวจุดประกายที่ทรงพลังในการขยายประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ให้ตกแก่ผู้คนแทบทั้งโลก

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม ปัญหาเรื้อรังที่หลายคนรับรู้คือคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (unbanked) ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแสนแพงสำหรับการทำธุรกรรมที่สุดแสนจะธรรมดา บิตคอยน์สามารถแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ ด้วยการให้บริการแก่ผู้คนที่อยู่นอกระบบการเงินแบบดั้งเดิมด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกมากๆ

ประโยชน์ใช้สอยอย่างที่สามของบิตคอยน์คือการชำระเงินในจำนวนน้อยๆ หรือน้อยมากๆ (micropayments, or ultrasmall payments) แม้จะพยายามกันมากว่ายี่สิบปี แต่การชำระเงินจำนวนน้อยๆ ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะการชำระเงินจำนวนน้อยๆ ผ่านระบบธนาคารและระบบบัตรเครดิต/เดบิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน (คิดถึงเงินจำนวนน้อยมากๆ หลักสิบบาทไปจนถึงเศษสตางค์) เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มต้นทุนเอาเสียเลย โครงสร้างค่าธรรมเนียมในปัจจุบันทำให้สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าใช้บิตคอยน์ ทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องง่าย บิตคอยน์มีคุณสมบัติโดนเด่นในเรื่องการแยกเป็นหน่วยย่อยๆ ได้ไม่รู้จบ ปัจจุบันเราสามารถแบ่งบิตคอยน์ออกได้จนถึงทศนิยมหลักที่แปด แต่จะแบ่งได้มากกว่านี้แน่ในอนาคต ดังนั้นเราจึงสามารถกำหนดเงินจำนวนน้อยๆ เช่น 0.00000001 สตางค์ และส่งมันไปให้กับใครก็ได้บนโลกโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือด้วยค่าธรรมเนียมที่น้อยจนเหมือนส่งฟรี

ลองคิดถึงตัวอย่างของการสร้างรายได้จากธุรกิจคอนเทนต์ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจสื่อเช่นหนังสือพิมพ์ประสบปัญหาจากการเก็บเงินค่าอ่านเนื้อหาก็คือพวกเขาต้องเรียกเก็บ (ค่าอ่านคอนเทนต์ทั้งหมดในเว็บ) ไม่ก็ไม่เงินเลยสักบาท (ซึ่งทำให้หน้าเว็บเต็มไปด้วยแบนเนอร์โฆษณา) แต่บิตคอยน์จะทำให้พวกเขามีวิธีการที่เป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจในการเก็บเงินจำนวนที่น้อยมากๆ ต่อการอ่านบทความหนึ่งบทความ หนึ่งหัวข้อ หนึ่งชั่วโมง ต่อการเปิดวีดิโอหนึ่งครั้ง ต่อการเข้าถึงคลังข้อมูลย้อนหลังหนึ่งครั้ง หรือต่อการแจ้งเตือนข่าวหนึ่งครั้งก็ได้

ประโยชน์ที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งของการชำระเงินจำนวนน้อยๆ ด้วยบิตคอยน์คือการรับมือกับเมลสแปม ระบบอีเมลและโซเชียลเน็ตเวิร์คในวันข้างหน้าจะสามารถปฏิเสธข้อความใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้ส่งเศษบิตคอยน์มาด้วย เป็นบิตคอยน์ในจำนวนที่น้อยจนผู้ส่งไม่รู้สึกอะไร แต่มากพอจะทำให้ผู้ที่ต้องการส่งเมลสแปม ซึ่งทุกวันนี้สามารถส่งข้อความสแปมหลายล้านข้อความได้ฟรีๆ โดยไม่เสียอะไรเลย ต้องคิดหนัก

ประโยชน์อย่างที่สี่ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายคือการใช้ชำระเงินแบบสาธารณะ ผมได้ยินแนวคิดนี้ครั้งแรกจากหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ระหว่างการถ่ายทอดสดกีฬา อยู่ดีๆ ก็มีคนคนหนึ่งชูป้ายที่มีคิวอาร์โค้ดพร้อมข้อความเขียนว่า “ขอบิตคอยน์หน่อย!” ออกโทรทัศน์ ในยี่สิบสี่ชั่วโมงแรกเขาได้รับบิตคอยน์จากคนที่ตัวเองไม่รู้จักมูลค่าประมาณ 25,000 ดอลลาร์ นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราได้เห็นคนชูป้ายทั้งต่อหน้าเรา ในโทรทัศน์ หรือในรูปถ่าย และเราสามารถส่งเงินให้คนคนนั้นได้ด้วยการกดมือถือไม่กี่ครั้ง ถ่ายรูปคิวอาร์โค้ดบนป้าย จากนั้นก็กดส่งเงิน

ลองนึกถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นกับขบวนการประท้วงต่างๆ ดูสิครับ ทุกวันนี้ผู้ประท้วงต้องการออกโทรทัศน์เพื่อให้คนอื่นเข้าใจปัญหาของตน แต่ในวันข้างหน้าพวกเขาจะอยากออกโทรทัศน์เพราะว่านั่นคือวิธีการในการระดมเงินทุนด้วยการชูป้ายเพื่อให้คนที่เห็นด้วยกับพวกเขาจากที่ใดก็ตามบนโลกส่งเงินมาให้ได้ทันที บิตคอยน์คือเทคโนโลยีการเงินในฝันแม้กระทั่งสำหรับองค์กรทางการเมืองที่ต่อต้านทุนนิยมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งวันนี้เป็นความจริงแล้ว

อนาคตข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาอันแสนตื่นตาตื่นใจสำหรับเทคโนโลยีชนิดใหม่นี้

ยกตัวอย่างเช่น ยังมีนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่ยังกังขาสุดๆ กับบิตคอยน์ ถึงแม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เบน เบอร์นันคี อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเขียนเอาไว้ว่า สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ “จะมีอนาคตในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันสามารถสร้างระบบการชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้” ในปี 1999 ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์อย่างมิลตัน ฟรีดแมนเคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปแต่จะถูกพัฒนาขึ้นในไม่ช้า คือเงินดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ (reliable e-cash) เป็นวิธีการในการส่งเงินบนโลกอินเตอร์เน็ตจาก A ไป B โดยที่ A กับ B ไม่ต้องรู้จักกัน เป็นวิธีที่ทำให้ผมสามารถส่งเงินยี่สิบดอลลาร์ให้กับคุณ และคุณก็รับเงินนั้นไปโดยไม่ต้องรู้ด้วยซ้ำว่าผมเป็นใคร”

นักเศรษฐศาสตร์ที่โจมตีบิตคอยน์อยู่ตอนนี้อาจถูกก็ได้ แต่ผมขอเชื่อตามเบนและมิลตัน

อีกอย่างคือเราจะต้องพูดคุยกันอีกมากเกี่ยวกับหัวข้อและประเด็นด้านการกำกับดูแล เพราะแทบไม่มีประเทศใดที่มีกรอบการกำกับดูแลภาคการเงินและการชำระเงินที่พร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่อย่างบิตคอยน์

แต่ผมหวังว่าผมจะทำให้คุณเห็นแล้วว่าบิตคอยน์ยังเติบโตไปได้อีกมาก มันไม่ได้เป็นเพียงนิทานของพวกลิเบอร์ทาเรียนและไม่ใช่แค่กิจกรรมในซิลิคอนวัลเลย์ที่คนบ้าเห่อกันไปเอง แต่บิตคอยน์ได้สร้างทัศนียภาพแห่งโอกาสที่กว้างไกลสุดตาในการจินตนาการใหม่ว่าระบบการเงินในยุคอินเตอร์เน็ตจะทำงานและควรทำงานอย่างไร ทั้งยังเป็นตัวเร่งเร้าให้เราปรับเปลี่ยนระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งสำหรับปัจเจกชนและภาคธุรกิจ.

แปลจาก Marc Andreesen. "Why Bitcoin Matters" The New York Times. Available from https://dealbook.nytimes.com/2014/01/21/why-bitcoin-matters/

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)
Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)