Skip to main content

    เมื่อพูดถึงเพลงประสานเสียงแล้ว คนจะนึกถึงเพลงสวดศพของโมซาร์ทคือ Requiem หรือ Messiah ของแฮนเดิลเป็นระดับแรก สำหรับเบโธเฟนแล้วคนก็จะนึกถึงซิมโฟนี หมายเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วเพลงสวด (Mass) คือ Missa Solemnis อันลือชื่อ ของเขาก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยในสมัยที่เบโธเฟนยังมีชีวิตอยู่ ในหนังชีวประวัติกึ่งจินตนาการ (มาก ๆ) ของเบโธเฟนคือ Immortal Beloved ได้ใช้เพลงนี้ในการประกอบพิธีศพของเขาในช่วงต้นของหนัง ต่อไปนี้เป็นการแปลและเพิ่มเติมบางส่วนมาจากบทรีวิวโฆษณาซีดีของเว็บไซต์ Good-Music-Guide.com คนเขียนไม่ปรากฏนาม

       ลุดวิก ฟาน เบโธเฟนเป็นผู้เลื่อมใสในศาสนาเป็นยิ่งนัก แต่ตัวเขาเองแทบไม่เคยเข้าร่วมพิธีสวดเลย ถึงแม้จะเป็นคาทอลิกก็ตาม ปรัชญาของเบโธเฟนนั้นค่อนข้างจะร่วมสมัยกว่า และมีลักษณะเดียวกับแนวคิด สรรพนิยม (Pantheism)* ของตะวันออก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่ามีสิ่งที่ทรงอำนาจเหนือสรรพสิ่ง หรือจักรวาลเองมีเป้าหมายของตัวเอง ความเชื่อของเขามาจากการต่อสู้ภายในจิตใจและมาจากความเคารพที่ต่อความงดงามของโลกใบนี้

    ดังนั้นเราจะเห็นว่างานของเขาจำนวนมากคือภาพสะท้อนของปรัชญาของเบโธเฟนเองที่เกิดจากทั้งความทุกข์และชัยชนะต่อชีวิต เขาเขียนงานเชิงศาสนาจริงๆ จังๆ เพียง 2 ชิ้น คือ Mass in C และ Missa Solemnis ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเพลงสวดดั้งเดิมแบบนิกายคาทอลิก ในช่วงที่แต่งเพลง Mass in C ในปี 1807 เบโธเฟนยังหนุ่มแน่น ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงในกรุงเวียนนาและทั่วยุโรปในเวลาอันสั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงแห่งชีวิตอันเปี่ยมสุขอันก่อให้เกิดซิมโฟนีหมายเลข 6 และเปียโนคอนแชร์โต้หมายเลข 3

 

                                      

                                                  ภาพจาก www.amazon.com

     ในแต่ละปี เจ้าชายนิโคเลาส์ เอสเตอร์เฮซี ที่ 2  จะทรงมีบัญชาให้แต่งเพลงสวดใหม่ ๆ เพื่อใช้ประกอบงานฉลองวันเกิดของนักบุญที่พระชายาของพระองค์ทรงมีพระนามเหมือน ตามธรรมเนียมของชาวคาทอลิก ฟรานซ์ โจเซฟ ไฮเดินซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอาจารย์ของเบโธเฟน มารับหน้าที่นี้ในช่วง 6 ปีแรก แต่แล้วปี 1807 เบโธเฟนก็มารับช่วงนี้ต่อ ซึ่งเป็นที่มาของ Mass in C นั้นเอง ในช่วงแรกเบโธเฟนประหวั่นกับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ แต่ต่อมาเขากลับพอใจกับผลงานของตน โชคร้ายที่เจ้าชายเอสเตอร์เฮซีทรงรู้สึกตรงกันข้าม เพราะคาดหวังให้คีตกวีคนใหม่แต่งเพลงตามรูปแบบเดิมของไฮเดิล แต่กลับไปพบกับเบโธเฟนที่เชื่อมั่นในตัวอย่างอย่างสูง คำตำหนิของพระองค์ต่อเพลงสวดของเบโธเฟนที่ว่า "ไร้สาระอย่างสุดทนทานและน่ารังเกียจยิ่งนัก" ทำให้ชายทั้งสองคนมีความขัดแย้งกัน  ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้เบโธเฟนเคยพูดเปรย ๆ ว่า "มีเจ้าชายหลายคนแต่มีเบโธเฟนเพียงคนเดียว"

     ในขณะที่เมโลดีและโครงสร้างของ Mass in C นั้นลึกๆ แล้วมีลักษณะแบบดนตรียุคคลาสสิก ซึ่งฟังแล้วอาจเข้าใจว่าโมซาร์ทกับไฮเดิลเป็นคนแต่ง แต่งานของเบโธเฟนต้องทำให้คนดูในยุคตกใจเป็นแน่ (โดยเฉพาะคนที่มาเข้าโบสถ์) เพราะเพลงไม่ได้เริ่มต้นโดยออร์เคสตรา แต่ Kyrie นั้นโผล่ออกมาโดยเบสล้วน ๆ ส่วนต่อมาของ Sanctus นั้นเป็นเสียงร้องพร้อมกับทิมปานี (กลองชนิดหนึ่ง) อย่างเดียว   Gloria นั้นแทบจะร้องด้วยเสียงตะโกนอันเปี่ยมสุขและจมลงใน Miserere (รูปแบบหนึ่งในเพลงสวดของคริสต์แบบดั้งเดิม) อันลึกซึ้ง เพลง Mass in C ได้ก้าวล้ำผ่านยุคของเจ้าชายเอสเตอร์เฮซีมาเป็นเพลงประสานเสียงสุดอันยิ่งใหญ่และมีความประณีตอย่างหาที่เปรียบได้ยาก แต่จริงๆ แล้ว มันกลับถูกแซงหน้าโดย Missa Solemnis งานเขียนอีกชิ้นของเบโธเฟนที่เกิดจากศรัทธาส่วนตัวอันทรงพลังที่สุด

        Missa Solemnis ถูกเขียนในช่วงท้าย ๆของชีวิตเบโธเฟน ซึ่งเป็นเวลาแห่งความยากลำบากยิ่งกว่าช่วงแรกนัก ในช่วงนี้เขาได้เขียนซิมโฟนีหมายเลข 9 และ String Quartet ชุดสุดท้าย ในปี 1819 เบโธเฟนหูเกือบจะหนวกโดยสิ้นเชิง ทั้งพลาดหวังจากความรัก โรคภัยไข้เจ็บเข้าซ้ำเติมจนจะตายในไม่กี่ปีหลังจากเขียนงานเหล่านั้นจนสำเร็จ แต่เบโธเฟนก็ยังคงเขียนลงในสมุดโน้ตว่า "แด่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงไม่เคยทอดทิ้งฉัน"

      Missa Solemnis นั้นมีจุดกำเนิดเพียงเล็ก ๆ เช่นเดียวกับเพลงสวดชิ้นแรกของเบโธเฟน ในปี 1819 องค์อุปถัมภ์ของเขาคืออาร์ชดุ๊ก รูดอล์ฟ พระอนุชาของจักรพรรดิแห่งออสเตรียทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคาร์ดินัลและเป็นอาร์คบิชอปตามลำดับ เบโธเฟนได้เริ่มต้นเขียนงานชิ้นหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อความเมตตาของพระองค์ เขาหมกมุ่นอยู่กับการแต่งเพลง ศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดนตรีในโบสถ์เป็นปี ๆ และหลอมหัวใจกับวิญญาณเข้ากับงานชิ้นใหม่นี้ แต่เมื่อวันแห่งการแต่งตั้งอาร์ชดุ๊ก รูดดอล์ฟมาถึง เพลงสวดชิ้นนี้ก็ยังไม่เสร็จ จึงเป็นที่ชัดเจนต่อทุกคนรวมไปถึงอาร์ชดุ๊กว่าจุดประสงค์ของเบโธเฟนนั้นไปไกลเกินกว่าเพลงสวดเพื่อเฉลิมฉลองแบบธรรมดาๆ เพื่อนสนิทของเบโธเฟนคืออันตัน ชินด์เลอร์ ผู้ช่วยเขียนเนื้อร้องของซิมโฟนีหมายเลข 9 ได้ทำให้เราเห็นภาพของเบโธเฟนในช่วงนั้นเหมือนกับคนที่ถูกวิญญาณสิงในช่วงที่ "ลืมโลกภายนอกจนหมดสิ้น" 

     "ในห้องนั่งเล่น เบื้องหลังประตูที่ถูกล็อก เราได้ยินเสียงอาจารย์ร้องเพลงในส่วนของ Fugue** ของ Credo ทั้งร้องเพลง ทั้งโหนเสียง ทั้งกระทืบเท้า ฯลฯ ประตูถูกเปิดออก เบโธเฟนปรากฎกายต่อหน้าพวกเราพร้อมกับใบหน้าบูดบึ้งจนทำให้เรารู้สึกกลัว เขาเหมือนกับว่ากำลังอยู่ในสมรภูมิอันดุเดือดกับฝูง Contrapuntist*** ซึ่งเป็นศัตรูชั่วนิจนิรันดร์ของเขา" -ชินด์เลอร์

      ผลปรากฏก็คือในปี 1823 มันได้กลายเป็นเพลงอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเบโธเฟน มันเป็นสิ่งที่สรุปความคิดอันลุ่มลึกของเขา ความถ่อมตนอย่างยิ่งยวดต่อหน้าศัตรู ชัยชนะเหนือโชคชะตา เกียรติคุณของมนุษยชาติในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเนรมิตศิลป์ของพระเจ้า Missa Solemnis นั้นยึดมั่นอย่างยิ่งต่อเพลงร้องในโบสถ์ฉบับดั้งเดิมของคาทอลิก ฉันทลักษณ์ที่สำคัญห้าส่วนของเพลงคือ Kyrie, Gloria, Credo, Sanctus and Agnus Dei ถูกแบ่งเป็นบทเล็กบทน้อย ผู้ชมในปัจจุบันอาจจะเคยชินกับรูปแบบเพลงแบบแหกรีตฉีกรอยของเบโธเฟนและ Missa Solemnis ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในงานชิ้นที่สำคัญที่สุดของเขา ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกส่วนตัวและอลังการกว่าซิมโฟนีหมายเลขเก้านัก งานชิ้นนี้คือพินัยกรรมชิ้นสุดท้ายของเบโธเฟน.....

 

นี่คือโครงสร้างของ Missa Solemnis

Mass for soloists, chorus, & orchestra in C major, Op. 86

I. Kyrie

II. Gloria

III. Credo

IV. Sanctus

V. Agnus Dei

 

I. Kyrie

II. Gloria: Gloria in excelsis Deo

II. Gloria: Qui tollis

II. Gloria: Quoniam

 

III. Credo: Credo in unum Deum

III. Credo: Et incarnatus est

III. Credo: Et resurrexit

IV. Sanctus: Sanctus, Sanctus, Sanctus

IV. Sanctus: Benedictus

V. Agnus Dei: Agnus Dei, qui tollis peccata numdi

V. Agnus Dei: Dona nobis pacem

 

* แนวคิดที่เชื่อว่าทุกสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนเป็นองคาพยพของพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้ากับโลกและจักรวาลเป็นหนึ่งเดียวกัน แนวคิดนี้จะไม่เหมือนกับผู้นับถือศาสนาคริสต์จำนวนมากที่เชื่อในพระเจ้าที่ตัวบุคคลและอยู่ต่างหากจากโลกและจักรวาลที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น

**Fugue และ ***Contrapunist คือการนำเอาเสียงที่อยู่กันคนละโทนหรือคนละบรรทัดมาประสานในเวลาเดียวกันหรือไล่ ๆ กัน

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เข้าใจว่าผลงานของ William Shakespeare ที่คนไทยรู้จักกันดีรองจากเรื่อง Romeo and Julius ก็คือวานิชเวนิส หรือ Merchant of Venice ด้วยเหตุที่ล้นเกล้ารัชกาลที่หกทรงแปลออกมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กนักเรียนได้อ่านกัน และประโยค ๆ หนึ่งกลายเป็นประโยคยอดฮิตที่ยกย่องดนตรีว่า &nbsp
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงหนังเพลงหรือ musical ที่มีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในทศวรรษที่ห้าสิบและหกสิบ เราก็คงจะนึกถึงเรื่อง West Side Story เป็นเรื่องแรก ๆ อาจจะก่อน Singin' in The Rain หรือ Sound of Music เสียด้วยซ้ำ ด้วยหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นคือเพลงทั้งบรรเลงและเพลงร้องที่แสนไพเราะ ฝีมือการกำกับวงของวาทยากรอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
มักเป็นที่เข้าใจว่าอเมริกาเป็นประเทศแห่งความเท่าเทียมกัน อาจด้วยอเมริกานั้นไม่เคยเปลี่ยนผ่านยุคศักดินาเหมือนกับประเทศในเอเชียและยุโรป อเมริกาถึงแม้จะมีชนชั้นกลางมากแต่บรรดาในชนชั้นกลางก็มีการแบ่งแบ่งแยกที่ดีที่สุดคือเงิน รองลงมาก็ได้แก่ฐานะทางสังคม สีผิว เพศ ฯลฯ เอาเข้าจริงๆ ไม่มีสังคมไหนในโลกท
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    1.นอยด์ เป็นคำแสลงที่ถือกำเนิดได้มานานหลายปีแล้ว มาจากคำว่า noid กร่อน (โดยคนไทยเอง) จากศัพท์อังกฤษ  paranoid ซึ่งแปลว่า ความวิตกกังวลว่าคนอื่นไม่ชอบหรือพยายามจะทำร้ายตัวเองแม้ว
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                                                                    &
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ผีเป็นบุคคลที่เราไม่พึงปรารถนาจะพบ แต่เราชอบนินทาพวกเขาแถมยังพยายามเจอบ่อยเหลือเกินในจอภาพยนตร์ ทั้งที่ก็ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า ด้วยส่วนใหญ่ได้ยินกันปากต่อปาก ประสบการณ์ส่วนตัวก็ไม่ชัดเจน อาจเกิดจากความผิดปกติทางประสาทสัมผัส หรือการหลอกตัวเองก็ได้ ยิ่งหนังผีทำได้วิจิตร พิศดารออกมามากเท่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                 แปลและตัดต่อบางส่วนจากบทความ Gustav Mahler : The Austrian composer เขียนโดยเดรีก วี คุก จาก  www.britannica.com
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ทศวรรษที่ 80 ของฝรั่งคือปี 1980-1989  หรือว่าช่วง พ.ศ. 2523  ถึง พ.ศ.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถึงแม้เบโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) จะได้ชื่อว่าเป็น คีตกวีที่แสนเก่งกาจคนหนึ่งในยุคคลาสสิกและโรแมนติก แต่ศิลปะแขนงหนึ่งที่เขาไม่สู้จะถนัดนักคือการเขียนอุปรากร เหมือนกับ โมซาร์ท คาร์ล มาเรีย ฟอน เวเบอร์ หรือ โจอากีโน รอสซีนี  ดังนั้นช่วงชีวิต 50 กว่าปีของเบโธเฟนจึงสามารถสร้างอุปรากรออกมาไ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ตามความจริง คำว่า Godfather เป็นคำที่ดีมาก หมายถึงพ่อทูนหัว ของศาสนาคริสต์ที่หมายถึงใครสักคนหนึ่งยอมรับเป็นพ่อทูนหัวของเด็กซึ่งเป็นลูกของคนอื่นในพิธีศีลจุ่มหรือ Baptism เขาก็จะเป็นผู้ประกันว่าเด็กคนนั้นจะได้รับการศึกษาทางศาสนาและถ้าพ่อแม่ของเด็กคนนั้นตายก็ต้องรับอุปการะ นอกจากนี้ยังหมายถึงฝ่ายห
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 visionary ,under the shadow Prayut tries to be the most visionary politician,but he is merely under the shadow of Thacky.&