Skip to main content


"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 2)  สิทธิทางการเมืองและสิทธิในการแสดงออก

////////////////////////////////////
ในงาน “มหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน” ซึ่งจัดโดย คณะทำงานรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับ สมัชชาคนจน เมื่อ 14-15 ธันวาคม 2562 ณ ลานประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเวทีเสวนาย่อย หัวข้อ "สิทธิคนชายแดนใต้"

เวทีเสวนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในทางเศรษฐกิจหรือการดำรงชีพ สิทธิในทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องสิทธิของคนชายแดนใต้ถูกบดบังด้วยกระแสวาทกรรมและปฏิบัติการด้านความมั่นคงและการจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นเวทียังมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศและปัญหารัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้และการส่งเสริมสิทธิของคนชายแดนใต้ด้วย

หัวข้อการเสวนาและผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) สิทธิทางเศรษฐกิจและดำรงชีพ: อาจารย์มีเดียน จูมะ คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 2) สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร: ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ที่ปรึกษากรมประมง 3) สิทธิทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวในภาคสังคมสู่การเมืองในระบบรัฐสภา: คุณทวีศักดิ์ ปิ และ 4) สิทธิมนุษยชนและสิทธิในการแสดงออก: คุณอับดุลฮากีม โตะและ (องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี - 2P2D) ดำเนินรายการ โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ - คนศ. จชต.

////////////////////////////////////

 

สิทธิทางการเมือง (โดย ทวีศักดิ์ ปิ)

ความยากจนในสิทธิทางการเมืองของชาวปาตานี:
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างผู้เรียกร้องสิทธิทางการเมืองระหว่างพี่น้องชาวมลายูกับ รัฐไทย ซึ่งคำว่า “รัฐไทย” ในที่นี้เป็นคนละความหมายกับคำว่า “รัฐบาลไทย” ปัญหาเรื้องรังนี้เกิดตั้งแต่เมื่อครั้งที่ปาตานีถูกยึดครองโดยรัฐไทย จนกระทั่งถึงยุคจอมพล ป. ที่มีต้องการสร้างความเป็นไทย (แบบอารยะ) ให้เหมือนกันทั่วทั้งประเทศ ขณะที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม ปฏิบัติตนตามหลักความเชื่อและศรัทธาในศาสนา และมีวิถีชีวิตแตกต่างจากชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิในการมีวิถีชีวิตตามแบบของตนขึ้น

ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารที่จังหวัดนราธิวาส (เมื่อปี พ.ศ. 2547) โดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งรัฐไทยระบุว่าเป็นการกระทำของกองกำลังติดอาวุธที่มีเป้าหมายเพื่อกอบกู้เอกราช รัฐไทยได้ประกาศให้ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคง ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐได้ง่าย โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถบุกเข้าในเคหสถานยามวิกาล ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา คนชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าตนถูกเลือกปฏิบัติอย่างแตกต่างจากคนอื่นๆ ในประเทศเทศ “เหตุการณ์ตากใบ” เป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพลวัตในการต่อสู้ทางการเมืองของชาวมลายู ขณะที่ปี พ.ศ. 2550 เกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดทางเพศกับผู้หญิงในพื้นที่ ทำให้มีการชุมนุมใหญ่ที่ปัตตานีโดยการสนับสนุนของนักศึกษาทั้งส่วนกลางและในพื้นที

เหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทำให้เกิดกลุ่มองค์กรต่างๆ ขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิและวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น มีกลุ่มทำงานด้านสื่อ การณรงค์ และผลักดันประเด็นการเจรจาสันติภาพ ทั้งนี้ หลังการรัฐประหารปี 2557 การเจรจาสันติภาพหยุดชะงักไป (ก่อนจะถูกฟื้นขึ้นมาใหม่) วิทยุชุมชนถูกปิด มีการควบคุมการสื่อสารกับชาวบ้าน กอ.รมน. ภาค 4 กลายมามีอำนาจควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จในพื้นที่ สร้างแรงกดดันและความอึดอัดให้กับชาวมลายู โดยเฉพาะมาตรการตรวจดีเอ็นเอ สำหรับตนเองก็โดนตรวจดีเอ็นเอมากกว่า 3 ครั้ง ส่วนตัวเห็นว่าขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของประชาชนมลายูที่ควรจะเป็น คือ การต่อสู้ผ่านระบบรัฐสภา โดยการผลักดันของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่

สิทธิทางการเมืองของคนปาตานีกับรัฐธรรมนูญ:

โดยพื้นฐานแล้วประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตอนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 พี่น้องชายแดนภาคใต้โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันดับสูงสุดของประเทศ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะข้อกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และลิดรอนสิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะพลเมืองไทยในหลายด้าน ปัจจุบันยิ่งชัดเจนว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 เอื้อต่อการลิดรอนสิทธิของคนชายแดนใต้ ทำให้ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่กับความวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดที่ว่าชายไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เข้าเกณฑ์ทหารจะต้องถูกตรวจดีเอ็นเอ หรือกรณีซิมโทรศัพท์ “2 แชะอัตลักษณ์” ที่บังคับใช้เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งในงภาพรวมของโคงสร้างทางการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังนำมาสู่กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองและการเลือกตั้งที่บิดเบือนเสียงและเจตนารมย์ของประชาชน ที่สำคัญคือ มีการกำหนดให้ ส.ว.แต่งตั้งเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่คณะกรรมการที่คัดเลือก ส.ว.ก็มาจากกลุ่มอำนาจที่ยึดอำนาจและเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นเอง

//////////////////



สิทธิมนุษยชนและสิทธิในการแสดงออก (โดย อับดุลฮากีม โตะและ)

การถูกละเมิดสิทธิของชาวปาตานี:
คนมลายูในปาตานีมีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ยังคงเด่นชัด แม้ปัจจุบันการเขียนภาษามลายูด้วยตัวอักษรยาวีจะเริ่มมีน้อยลง แต่นี่ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกถึงความเป็นตัวตนมนฐานะชาวปาตานีลดน้อยลงด้วย

คนมลายูในปาตานีส่วนใหญ่เป็นคนยากจน เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นในประเทศนี้จำนวนมาก เช่น แรงงาน เกษตรกร และกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยชายขอบอื่นๆ ซึ่งเป็นคนชั้นล่างในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นผู้อยู่ในสถานะถูกปกครอง ไร้อำนาจ และไร้เสียง

อย่างไรก็ดี สำหรับชาวปาตานี ยังมีปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในหลายๆ ด้านเพิ่มเติมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว การถูกริดรอนสิทธิในการแสดงออก การถูกตรวจดีเอ็นเอ และการถูกกำหนดให้ต้องลงทะเบียน “ซิม 2 แชะอัตลักษณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องตกอยู่ใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ ที่ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจพิเศษในการตรวจค้นและจับกุมคุมขังใครก็ได้เพียงแค่ต้องสงสัย แม้จะไม่มีหลักฐานที่เพียงพอก็ตาม การละเมิดสิทธิเหล่าได้เกิดมานานกว่า 15 ปีแล้ว กรณีล่าสุดคือ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่มีสภาพบอบช้ำมากถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตในโรงพยาบาล และก่อนหน้านี้ก็มีหลายคนที่เสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร

ปัจจุบันที่ชายแดนใต้มีทหารอยู่กว่าสามแสนนาย มีค่ายทหารมากกว่าหนึ่งพันแห่ง เกือบทุกหมู่บ้านมีด่านทหาร และมีงบประมาณจำนวนจมหาศาลที่ผ่านหน่วยงานเดียวคือ กอ.รมน. แต่ยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลหลายชุด มีความพยายามพูดคุยสร้างเวทีเจรจาสันติภาพ แต่ในพื้นที่กลับยังมีความรุนแรงจากความขัดแย้ง ยังมีการปิดล้อมปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนา และมีการนำตัวอุสตาสหรือครูสอนศาสนาไปสอบสวนในค่ายทหาร ที่สำคัญตอนนี้มีพัฒนาการคือ ไม่ใช่แค่จับกุมผู้ต้องสงสัย แต่มีการจับกุมภรรยายและญาติผู้ต้องสงสัยเพื่อกดดันให้ผู้ต้องสงสัยยอมมอบตัว

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก คือ ทางออกของปัญหาความขัดแย้ง:
ผ่านมาชาวปาตานีพยายามสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ให้ถอนหน่วยทหาร และยกเลิกการเก็บประวัติดีเอ็นเอของประชาชน ซึ่งถือเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอย่างมาก

ที่สำคัญ รัฐต้องเปิดโอกาสให้คนปาตานีได้พูดถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความฝัน ความต้องการของตนที่มีต่อการมีชีวิตในปาตานีซึ่งอาจจะแตกต่างจากวิถีของรัฐไทย อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิในการแสดงออกหรือสิทธิในการพูดได้อย่างปลอดภัย นี่คือทางออกที่จะคลี่คลายปัญหาและสร้างสันติภาพได้ หากรัฐไม่ใจกว้างพอที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนปาตานี ปัญหาความขัดแย้งก็จะยังคงมีต่อไป จะยังคงมีผู้คนอีกจำนวนมากที่จะถืออาวุธลุกขึ้นสู้แล้วก็โดยจับกุมปราบปรามวนเวียนไป ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

ที่ผ่านมาในการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 คนรุ่นใหม่ปาตานีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ไปใช้สิทธิและมีคนจำนวนมากไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าชาวปาตานีถูกรอนสิทธิในการส่งเสียงและแสดงออกทางการเมืองลงไปมากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดังนั้น จึงจำเป็นที่พวกเราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ทั้งฉบับเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

///////////////////////////////////////

หมายเหตุ:

ชมคลิปการเสวนาได้ที่

https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/videos/279093...

ดูกำหนดการเต็มของงาน “งานมหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน" ในส่วนของ ครช. (ณ ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)ได้ที่

https://www.facebook.com/CCPCThai/photos/a.106969800697860/1681860712428...

และงาน “งานมหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน" ในส่วนของสมัชชาคนจน (ณ ลานประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ - ด้านข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ได้ที่

https://www.facebook.com/2015384848580832/photos/a.2016471571805493/2556...

บล็อกของ ออแฆกำปง

ออแฆกำปง
+++ การเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: การจัดการที่ดิน ระบบเกษตร และระบบนิเวศ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน +++
ออแฆกำปง
จากการที่คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการก่อสร้าง “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธ
ออแฆกำปง
“เมื่อรัฐใช้โครงการพัฒนาและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงยื้อแย่งทรัพยากรจากมือประชาชน ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง”
ออแฆกำปง
"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 1)สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ และ สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร=======================