การทำวิจัย คือ กระบวนการในการตั้งคำถาม และจากนั้นก็หาคำตอบต่อคำถามนั้นๆ ผ่านการเก็บข้อมูล เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต จากนั้นก็ทำการ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยคำตอบที่ได้ก็คือ “องค์ความรู้” นั่นเอง
เดิมการวิจัยมักเป็นเรื่องของนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน / องค์กรต่างๆ จากภายนอก (คนข้างนอก) พวกเขาเข้ามาทำวิจัยเพื่อวัตถุประสงค์ของพวกเขาเอง โดยชาวบ้านมีสถานะเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น อีกทั้ง “ความรู้” เกี่ยวกับชาวบ้านจากงานวิจัยของคนนอกก็อาจไม่ตรงกับสิ่งที่ชาวบ้านเป็น/คิดอยู่จริงๆ ยังไม่ต้องนับว่างานวิจัยอาจส่งผลเสียต่อชาวบ้าน/ชุมชนได้ หากถูกนำไปสร้างความชอบธรรมให้โครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรหรือชีวิตของชาวบ้าน
ในช่วงราว 20 กว่าปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้พยายามออกแบบ หาแนวทางที่จะทำให้การวิจัยมีประโยชน์ต่อชาวบ้าน/ชุมชน อันเป็นการใช้กระบวนการวิจัยมาสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้าน/ชุมชน ในการทบทวน สืบค้นข้อมูล คิด วิเคราะห์ ต่อปัญหาที่พวกตนกำลังเผชิญ และแสวงหาทางออก อันเป็นงานวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่ชาวบ้านจะมีบทบาทหลักในการทำวิจัย จึงมีชื่อเรียกกันว่า “งานวิจัยชาวบ้าน” และอาจมีชื่อเรียกแยกกันไปตามท้องถิ่น เช่น “งานวิจัยไทบ้าน” “งานวิจัยจาวบ้าน”
ในส่วนของเครือข่ายประชาชนปกป้องสิทธิในที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป -- Tanah Kita Network เราก็กำลังทำ “วิจัยออแฆกำปง” กันอยู่
การ #วิจัยออแฆกำปง ของพวกเรา มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ชุดข้อมูลพื้นฐานที่เป็นระบบที่จำเป็นต่อการเรียกร้องสิทธิด้านที่ดิน และ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการทำงานในระดับชุมชนและเครือข่ายเพื่อปกป้องสิทธิด้านที่ดิน
การวิจัยออแฆกำปงนี้เป็นการวิจัยที่ชาวบ้าน/ชุมชนจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการวิจัยหลายขั้นตอน เช่น การกำหนดหัวข้อ/ประเด็นวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอผลการวิจัย สำหรับประเด็นที่จะเก็บข้อมูลของานวิจัยในครั้งนี้จะประกอบไปด้วย 1) ประวัติชุมชน (การตั้งถิ่นฐาน การบุกเบิกที่ดินทำกิน) 2) เศรษฐกิจชุมชน 3) การใช้ประโยชน์จากที่ดิน 4) แนวเขตที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ และ 5) การถูกละเมิดสิทธิในที่ดิน
ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราได้มีการฝึกอบรมอาสาสมัครนักวิจัยชาวบ้าน รุ่นที่ 1 (การวิจัยออแฆกำปง) ให้กับตัวแทนจาก 4 ชุมชนของเครือข่าย ได้แก่ บ้านบีโล๊ะ ต.ซากอ และ บ้านลูยือริง ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร และ บ้านกาหนั๊วะ ต.กาลิซา และ บ้านซีโป ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส งานจัดที่โรงเรียนดารุสสาลาม ตันหยงมัส ทั้งนี้ โดยมีคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงชลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ. จชต.) มาเป็นวิทยากร
การอบรมครั้งนี้เน้นหนักไปที่การเก็บข้อมูลแนวเขตที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อจะได้เส้นแนวเขตของที่ดินทำกินของชุมชนอันจะทำให้เห็นได้ชัดว่า เส้นแนวเขตที่ประกาศของอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปนั้นทับที่ดินทำกินของชาวบ้านหรือไม่ ทั้งนี้ ชุมชนแต่ละแห่งได้ทำแผนการเก็บข้อมูลชุดนี้ โดยต้องไปทำความเข้าใจกับชุมชนและจัดตั้งทีมอาสาสมัครเพื่อลงเดินสำรวจบนเส้นรอยต่อจริงระหว่างที่ดินทำกินกับป่า
(ส่วนการเก็บข้อมูลในด้านอื่นๆ ได้แก่ ประวัติชุมชน เศรษฐกิจการเกษตร/เศรษฐกิจชุมชน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน ภูมิปัญญาระบบเกษตรในเขตป่า และ การถูกละเมิดสิทธิในที่ดิน ทางเพจ Tanah Kita Network จะมานำเสนอในตอนต่อไป)
#สิทธิและความมั่นคงในที่ดินคือรากฐานหนึ่งของสันติภาพชายแดนใต้
#ชะลอการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป
#นราธิวาส #ปัญหาที่ดินชายแดนใต้ #อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป_เตรียมการ #อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป #เอกสารสิทธิในที่ดิน