Skip to main content

ในช่วงกว่าสามเดือนที่ผ่านมาที่โรคโควิด 19 ได้ระบาดหนักทั้งในมาเลเซียและในไทย แรงงานไทยจำนวนมากที่่ทำงานในประเทศมาเลเซีย ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักการป้องกันโควิด 19 ของมาเลเซียที่เป็นไปอย่างเข้มงวดด้วยมาตรการจำกัดการสัญจร (Movement Control Order - MCO) อันส่งผลทำให้ร้านอาหารแและสถานบริการที่เป็นแหล่งงานของคนจากประเทศไทยต้องปิดกิจการ รวมทั้งการที่ไม่สามารถออกนอกเคหสถานได้โดยสะดวก แรงงานไทยที่ตกค้างในมาเลเซียเริ่มขาดเงินและขาดเสบียงอาหาร โดยที่ในเวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ ส่งผลทำให้แรงงานไทยจำนวนมากตัดสินใจเดินทางกลับไทยกันอย่างขนานใหญ่ แม้การเดินทางกลับนี้จะเป็นไปด้วยความยากลำบากและมีอุปสรรคนานัปการ
 

ปัจจุบันสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลงแล้ว ทั้งสองประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการป้องกัน และการเเดินทางกลับประเทศก็อาจไม่ยากดังเดิม อย่างไรก็ดี พี่น้องแรงงานที่กลับมาจากมาเลเซียก็ยังคงเผชิญความยากลำบากอยู่ในหลายด้าน โดยเรื่องราวของพวกเขาไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของสังคมมากนัก


ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องแรงงานไทยที่เป็นชาวมลายูมุสลิมที่กลับมาจากมาเลเซีย และขอทยอยนำเสนอเรื่องราวชีวิตของพวกเขา และสภาพต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 นี้

////////////////////////////
 

ก๊ะละห์ เป็นหญิง อายุ 58 ปี มีลูก 6 คน เป็นคนอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ไปแบบไปๆ กลับๆ ต่อเนื่องมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว ก๊ะไปกับสามีมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ลูกยังเล็ก บางช่วงก็พาลูกเล็กไปเลี้ยงที่โน่นด้วย ตอนนี้สามีสุขภาพไม่ดี ตามองไม่ค่อยเห็น ก๊ะจึงไปกับลูกชายสองคน ส่วนสามีอยู่บ้าน โดยมีลูกๆ ที่เหลือคอยดูแล บางครั้งก็ทำงานอยู่ยาวหลายปี แม้จะกลับไทยทุกเดือนเพื่อ “จ๊อบพาสปอร์ต” บางช่วงก็กลับมาอยู่บ้านสักพัก แล้วค่อยไปต่อ


ก่อนไปมาเลเซียก็ทำอาชีพรับจ้างกรีดยางอยู่แถวบ้าน เจ้าของสวนเป็นคนปัตตานี ที่บ้านไม่มีสวนยางของตนเอง ที่ดินตนเองก็มีแค่ที่ตั้งบ้าน ตอนหลังๆ สวนยางที่รับจ้างกรีดได้ก็มีน้อยลง
 

สภาพการทำงานในมาเลเซีย


ครั้งแรกที่ไปทำงานมาเลเซียนั้น ไปโดยการชักชวนโดยญาติห่างๆ ที่เป็นคนนราธิวาส เค้าเป็นเหมือนนายหน้าจัดหางาน ตอนนั้นเค้ามารับและพาเดินทางเข้าประเทศ และเมื่อไปถึงมาเลเซียครั้งแรกก็ทำงานกรีดยางเช่นเดิม


ในการทำงานในสวนยางของ “เถ้าแก่” ชาวมาเลเซียนั้น เปลี่ยนนายจ้างหลายครั้ง “ไปอยู่กับเถ้าแก่นี้ 2 ปี เถ้าแก่โน้น 2 ปี ก็จะย้ายไปย้ายมา ไม่มีอยู่กับที่ ประทับใจที่ไหนก็จะอยู่ที่นั้นนาน สาเหตุที่เปลี่ยนเถ้าแก่ ก็จะขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่เป็นหลัก”


“ที่แรกที่ไปทำงาน เถ้าแก่อยากได้คนที่มีเวิร์คเปอร์มิต (work permit) และเถ้าแก่เอาจะคนงานอินโดนีเซียทั้งหมด ไม่เอาคนงานไทย เราก็ทนไม่ไหว จะทำเวิร์เปอร์มิตก็ไม่ไหว เราเป็นคนจน เลยออก”


“บางทีเรากรีดยางบนภูเขา พอได้ยินคนบอกว่า มีสวนยางที่บริเวณที่ราบ เราก็อยากลงมา เลยย้ายงานมาสมัครเถ้าแก่ใหม่ เพราะทำงานในสวนบนภูเขาลำบากมาก เวลาเก็บขี้ยางต้องเอาใส่กระสอบกลิ้งลงมา พออายุมากขึ้นกรีดยางบนภูเขาก็ไม่ค่อยไหว”


“ที่มาเลย์ ส่วนใหญ่ต้นยางอายุมาก กรีดยาก”


“ที่ทำๆ มา แทบไม่มีปัญหากับเถ้าแก่เลยนะ เถ้าแก่คนล่าสุดนี้เป็นคนใจดีมากๆ ชอบเอาข้าวสารมาให้ ซื้อของฝากมาให้”


ในส่วนของรายได้เป็นระบบการแบ่ง 50/50 กับเถ้าแก่เจ้าของสวน แต่เนื่องจากว่าก๊ะละห์ไปกรีดยางกับลูกชาย ดังนั้น จึงต้องแบ่งเงิน 50% นี้กับลูกอีกคนละครึ่ง โดยรายล่าสุดพื้นที่สวนยางที่เถ้าแก่มอบหมายให้ก๊ะและลูกชายกรีดมีขนาด 20 ไร่

ส่วนชีวิตในมาเลเซีย ก๊ะละห์เล่าว่า “มีเพื่อนคนมาเลย์ไหม ไม่มีหรอก คนมาเลย์เขาไม่สนใจคนรอบๆ บ้าน ยิ่งเราอยู่ในสวนยางอีก เขาก็ไม่รู้จักหรอก เราอยู่นั้น เราไม่ได้ไปไหน กรีดยางตลอด ทั้งกลางวัน กลางคืน ไม่ค่อยเข้าสมาคมกับใครเลย แม้กระทั้งตลาดก็ไม่เคยไปเลยนะ อยู่แต่ในสวนยางจริงๆ บางที่เวลา เราอยากได้อะไร เช่น อยากได้ปลา เถ้าแก่ก็เอาเข้ามา เราไม่ได้ไปไหนเลย ไม่ไปเที่ยวที่ไหนเลย รถก็ไม่มี อยู่บนเขา”


การกลับบ้านช่วงโควิด 19 


ปกติก๊ะละห์ก็กลับบ้านทุกๆ เดือนเพื่อจ็อบพาสปอร์ต แต่ช่วงโควิดไม่ได้กลับบ้านนานถึง 3 เดือน ก๊ะเล่าว่า ช่วงโควิดแพร่ระบาดในมาเลเซียก็ยังสามารถกรีดยางได้ เพียงแต่ว่าออกไปข้างนอกไม่ได้ ต้องอยู่แต่ในสวนยางเท่านั้น ตอนนั้นมีคนเอาถุงยังชีพมาแจกกันเยอะ เคยได้ถุงยังชีพข้าวสารจากสถานทูตไทยด้วย เป็นข้าวสาร 3 ถุงๆ ละ 5 กิโลกรัม และมีนำ้มันพืชกับอินทผลัม (ช่วงถือศีลอด)


ด้วยความกังวลในหลายๆ เรื่อง และความรู้สึกไม่แน่นอนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในมาเลเซีย ตลอดจนมาตรการของทางการมาเลเซีย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ก๊ะละห์และลูกชายจึงตัดสินใจกลับบ้าน  โดยให้เหตุผลว่า “ที่กลับมานี้ตัดสินใจเอง ไม่ใช่เพราะว่าเถ้าแก่บอกให้กลับ เพราะเรามองว่าถ้าเกิดมีปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็จะกลับบ้านไม่ได้ หรือถ้าลูกป่วยเราก็กลับบ้านไม่ได้” โดยในการเดินทางกลับนี้ก๊ะไม่ได้กังวลว่าจะต้องสูญเสียงาน เพราะ “งานที่มาเลเซียหาไม่ยาก” การตัดสินใจกลับบ้านครั้งนี้เกิดขึ้นแม้จะรู้ดีว่า ที่บ้านไม่มีงานอะไรให้ทำก็ตาม 


ในส่วนของกระบวนการทำเรื่องขอกลับเข้าประเทศไทย ก๊ะเล่าว่ามีเถ้าแก่ (เจ้าของสวนยาง) และญาติๆ คอยช่วยเหลือ “พอตัดสินใจจะกลับ เถ้าแก่เลยช่วยเดินเรื่องเอกสาร ไปขอตำรวจ อะไรแบบนี้ ส่วนการลงทะเบียนมีญาติที่ฝั่งไทยช่วยทำให้ เลยสามารถกลับมาได้อย่างถูกกฎหมาย สำหรับใบรับรองแพทย์ก็ไปรับที่คลีนิก”
 

กระบวนการเดินทางกลับของก๊ะและลูกชายเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะปกติแล้วทั้งสองเดินทางกลับมาจ๊อบพาสปอร์ตทุกๆ เดือน ไม่เคยอยู่เกินกำหนด ดังที่่ว่า “เราเข้าแบบถูกกฎหมายตลอด เรากลัว ไม่กล้า ไม่เคยอยู่แบบโอเวอร์สเตย์ แต่บางคนเขากล้านะ”
 

กระบวนการเดินทางกลับและการกักตัว


วันที่เดินทางกลับ ก๊ะละห์และลูกชายต้องหารถรับจ้างมารับออกจากสวนยาง เดิมคนขับจะคิดค่ารถคนละ 1,500 บาท แต่ก็ขอต่อราคาลงได้ในราคาหลักร้อย รถคันนี้มาส่งก๊ะและลูกชายถึงที่ด่านพรมแดนราตูปันยัง ฝั่งตรงข้ามอำเภอสุไหงโกลก “เพราะว่าคนขับรถเป็นคนทำงานราชการ เขาจึงกล้าขับรถมาส่งถึงหน้าด่าน ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่กล้าขับมา” (เนื่องจากระหว่างทางมีด่านตรวจมาก เพราะตอนนั้นมาเลเซียยังอยู่ในช่วงมาตรการจำกัดการเดินทางสัญจร)


เมื่อข้ามแดนมาฝั่งไทยทางด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโก-ลกและผ่านกระบวนการคัดกรองต่างๆ แล้ว ก็มีรถของอำเภอโดยอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) มารับตัวไปส่งยังที่ศูนย์กักตัวของอำเภอรามัน ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแบบพิเศษ (โรงเรียนประจำ) ตั้งอยู่นอกเขตชุมชม ผู้ถูกกักตัวจะได้พักในตึกที่เป็นอาคารหอพักของนักเรียน มีอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ โดยที่ญาติๆ สามารถมาเยี่ยมได้ตามระเบียบที่กำหนด

ก๊ะล๊ะห์เล่าว่า “ตอนกลับมามีเงินติดตัวอยู่ 340 ริงกิต มาแลกเงินไทยได้ 2400 บาท ตอนนี้เงินหมดไปแล้ว หากป่วยจะฉีดยาหนึ่งเข็มก็ไม่มีเงินแล้วนะ ….ตอนที่กักตัวอยู่ที่โรงเรียน 14 วัน เอาเงินนี้แบ่งให้ลูกที่บ้านเพื่อเอาไปซื้อกับข้าวมาให้เพิ่มเติม เพราะเราหิว กินไม่อิ่ม ที่ศูนย์ฯ เขาให้แค่ข้าว ข้าวก็ให้นิดเดียว … บางวันผัดกะเพรา เราก็กินไม่ได้ กินแต่น้ำปลาในถุงเล็ก... เรากินชาในทุกๆ เช้า แต่พออยู่ที่กักตัวไม่มี เราก็หิวมาก...และเราอยู่ในเดือนบวช น้ำก็ต้องซื้อ ขนมหวาน บางวันก็อยากกินต้องซื้อ ... ดีแต่ลูกเอาขนมมาฝาก เลยกินแต่ขนม เพราะหิว บางวันมีคนเอาตูปะ (ข้าวเหนียวต้มห่อใบพ้อ) มาก็แบ่งๆ กันกิน”


“ในวันรายอ เราก็ไม่ได้ละหมาดรายอทีนะ อยู่ในศูนย์กักตัวนั่นแหละ”

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับทำงานของรัฐในช่วงโควิด ก๊ะบอกว่า “เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์กักตัวบริการดีมากนะ ...เราก็ต้องไปกักตัวตามที่เขากำหนดแหละ จะอยู่บ้านไม่ได้ เพราะอยู่บ้านจะมี อสม. มาหา มาพาไปกักตัวอยู่ดี … เจ้าหน้าที่ที่ด่านก็บริการดีนะ... แต่เรื่องเงินเยียวยาอะไรของรัฐบาลก็ไมได้รับเพราะตอนนั้นอยู่มาเลย์ ไม่เคยรู้เรื่อง และก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เงินเกษตรกรไหม…”
 

ชีวิตหลังการกักตัว


หลังจากวิกฤติโควิด 19 ผ่านพ้น ก๊ะละห์และลูกชายวางแผนจะกลับไปกรีดยางในมาเลเซียต่อ และหวังว่าเถ้าแก่จะยังคงเก็บงานไว้ให้โดยไม่จ้างคนอื่นมาทำแทน


“มาเลเปิดเมื่อไหรจะไปเลย เถ้าแก่บอกอยู่ว่าถ้าไปได้เมื่อไหร่ให้บอก ให้ไปได้เลย ติดต่อผ่านญาติอีกคนที่ยังทำงานกับเถ้าแก่ได้เลย ตอนนี้ข้ามแดนไปไม่ได้ เถ้าแก่จะเก็บไว้ … แต่ตอนนี้เราก็ไปไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าเถ้าแก่เขาจะเอางานให้คนอื่นมั้ย เราคงต้องรออีกสักพัก แต่ถ้านานๆ ไปเขาก็ต้องเอาคนอื่นมาทำงานแทน… ”


เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากทำอะไรต่อไปในอนาคต ก๊ะละห์บอกว่า “ไม่มีความหวัง ความฝันอะไร เรื่องอาชีพคิดไม่ออกเพราะถ้าจะค้าขายก็ไม่มีทุนและไม่มีความรู้ คงทำงานรับจ้างกรีดยางต่อไป… แต่ก็อยากสร้างบ้านใหม่แล้ว ที่ไปทำงานก็อยากสร้างบ้าน แต่ตอนนี้ไม่มีตังค์ติดตัวเลย บอกตรงๆ”


“ตอนนี้ก็รอจะกลับไปมาเลย์อย่างเดียว เขาเปิดเมื่อไหร่ จะไปวันนั้นแหละ”

 

บล็อกของ ออแฆกำปง

ออแฆกำปง
+++ การเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: การจัดการที่ดิน ระบบเกษตร และระบบนิเวศ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน +++
ออแฆกำปง
จากการที่คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการก่อสร้าง “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธ
ออแฆกำปง
“เมื่อรัฐใช้โครงการพัฒนาและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงยื้อแย่งทรัพยากรจากมือประชาชน ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง”
ออแฆกำปง
"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 1)สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ และ สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร=======================