"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 1)
สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ และ สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร
=======================
ในงาน “มหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน” ซึ่งจัดโดย คณะทำงานรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับ สมัชชาคนจน เมื่อ 14-15 ธันวาคม 2562 ณ ลานประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเวทีเสวนาย่อย หัวข้อ "สิทธิคนชายแดนใต้"
เวทีเสวนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในทางเศรษฐกิจหรือการดำรงชีพ สิทธิในทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องสิทธิของคนชายแดนใต้ถูกบดบังด้วยกระแสวาทกรรมและปฏิบัติการด้านความมั่นคงและการจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นเวทียังมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศและปัญหารัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้และการส่งเสริมสิทธิของคนชายแดนใต้ด้วย
หัวข้อการเสวนาและผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) สิทธิทางเศรษฐกิจและดำรงชีพ: อาจารย์มีเดียน จูมะ คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 2) สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร: ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ที่ปรึกษากรมประมง 3) สิทธิทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวในภาคสังคมสู่การเมืองในระบบรัฐสภา: คุณทวีศักดิ์ ปิ และ 4) สิทธิมนุษยชนและสิทธิในการแสดงออก: คุณอับดุลฮากีม โตะและ (องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี - 2P2D) ดำเนินรายการ โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ - คนศ. จชต.
///////////////////////////////
สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ (โดย อาจารย์มีเดียน จูมะ)
ความยากจนทางเศรษฐกิจ:
สถานะทางเศรษฐกิจของคนชายแดนใต้หรือ #ชาวปาตานี ในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อครั้งอดีตมาก เมื่อราว 300 ปีก่อนนั้นปาตานียังเป็นรัฐอิสระ ในช่วงเวลานั้นปาตานีมีความสามารถเศรษฐกิจสูง มีการค้าขายและการเดินเรือทางทะเลมากที่สุดในบรรดาอาณาจักรมลายู แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารปกครอง สภาพเศรษฐกิจปาตานีก็ค่อยๆ ตกต่ำลง ทั้งๆ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และอยู่ติดชายแดนมาเลเซีย ปัจจุบันจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสกลายจังหวัดที่ยากจน ประชาชนมีรายได้รั้งท้ายของประเทศ รายได้เฉลี่ยของประชาชนมีราว 4-5,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
สาเหตุที่ชาวปาตานยากจนในทางเศรษฐกิจมาก นั้นก็เป็นเพราะการรวมศูนย์อำนาจ ระบบการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของปาตานีปัจจุบันมีเพียงสามกิจการหลัก คือ 1) การแปรรูปอาหารทะเล (ที่ปัตตานีมีท่าเรือขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก) 2) การแปรรูปยางพารา (ไม้ยางและน้ำยาง) และ 3) การแปรรูปผลไม้ กิจการทางเศรษฐกิจทั้งสามนี้ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดทางเศรษฐกิจที่เล็กมากถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลาหรือภูเก็ต ทั้งนี้ การจำกัดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนในพื้นที่ที่ทำได้ยาก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซึ่งมีข้อห้ามการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนที่คิดดอกเบี้ย สถานการณ์ความไม่สงบ และที่สำคัญคือทรัพยากรบุคคลไม่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัดส่วนผู้มีการศึกษาในระดับต่ำอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส มีจำนวนผู้ไม่มีการศึกษามากถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดในจังหวัดที่มีราว 7.4 แสนคน ขณะที่จังหวัดสงขลามีน้อยกว่าร้อยละ 1 จากจำนวนประชากร 1.2 ล้านคนเท่านั้น อีกปัจจัยที่สำคัญมากก็คือ ยาเสพติด ซึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดมากที่สุดของประเทศไทย
การแก้ปัญหาความยากจนชายแดนใต้:
แม้ชายแดนใต้จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจหรือความยากจนสูง แต่นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2547 มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจเกิดขึ้นในพื้นที่และอาจถือเป็นโอกาสของการแก้ปัญหา นั่นคือ 1) คนมลายูมุสลิมในพื้นที่มีการศึกษากันมากขึ้น 2) คนมลายูมุสลิมลงทุนทำธุรกิจร้านค้าหรือเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น 3) สัดส่วนของข้าราชการที่เป็นคนมลายูมุสลิมกับประชากรมลายูมุสลิม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ มีเพิ่มขึ้นจนได้สัดส่วนที่พอเหมาะ 4) โครงสร้างชนชั้นของประชากรมุสลิมได้เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันมีชนชั้นกลางมุสลิมถึงร้อยละ 30
น่าสนใจว่าความรู้สึกนึกคิดในเรื่องเอกราชของปาตานีของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างมีความแตกต่างกัน คนชั้นกลางปาตานีมีความคิดที่ต้องการเป็นเอกราชจากรัฐไทยน้อยกว่าคนชั้นล่าง เพราะพวกเขาเข้าถึงหรือมีโอกาสในด้านต่างๆ ภายใต้รัฐไทยมากกว่า ส่วนคนชั้นล่างที่ถูกกดทับและไม่ได้รับสิทธิใดๆ มักมีความคับแค้นใจมากกว่าจึงต้องการลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐไทย ทั้งนี้ หากคนชั้นล่างได้รับสิทธิ โอกาส การเข้าถึงแหล่งทุน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความรู้สึกของพวกเขาก็จะเปลี่ยนไป ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ในปาตานีเป็นคนชั้นล่าง มีฐานะยากจนและไม่ได้รับการศึกษา พวกเขาเป็นกลุ่มคนอ่อนไหว ส่วนหนึ่งต้องอพยพไปทำงานที่มาเลเซียและที่กรุงเทพฯ ดังนั้น การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจจะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ถ้าสามารถลดจำนวนคนติดยาเสพติด คนยากจน คนที่ขาดการศึกษา และสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ จะลดน้อยลงไป
ทิศทางการสร้างเศรษฐกิจปาตานีหรือเศรษฐกิจชายแดนใต้ที่ควรจะเป็นก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชน โดยอาจใช้รูปแบบเศรษฐกิจของประเทศนอร์เวย์และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์นั้นเป็นประเทศที่รวยที่สุดในสหภาพยุโรป ประชาชนมีรายได้ 1 แสนดอลลาร์ต่อคนต่อปีและมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงมากถึง 60 % ทั้งนี้ นอร์เวย์มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุด มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งมากที่จะต่อรองให้มีนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นรัฐสวัสดิการตามแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ส่วนสวิสเซอร์แลนด์มีการกระจายอำนาจมาก โดยทั้ง 7 รัฐของประเทศมีภาษาราชการของตนเอง มีกฎหมาย นโยบาย และอัตราภาษีแตกต่างกันตามบริบทและความสามารถ เกิดการแข่งขันกันในแต่ละรัฐและแต่ละรัฐไม่ต้องพึ่งพารัฐส่วนกลางมาก อีกทั้งยังมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้นำประเทศและตัวแทนประชาชนทั้ง 7 รัฐ และมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่สำคัญสวิสเซอร์แลนด์มีประชาธิปไตยทางตรง มีการลงประชามตินโยบายต่างๆ ทุก 4 เดือน ทำให้นโยบายที่นำมาใช้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เท่าทันสถานการณ์ และมีความยืดหยุ่นสูง
///////////////////////////////////////
สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร (โดย ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล)
คนชายแดนใต้จนสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ:
กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับในชายแดนใต้ (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ได้เพิ่มแรงกดทับต่อปัญหาเดิม นั่นคือ การที่ชุมชนขาดสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมธรรมชาติ ชาวบ้านชายแดนใต้กำลังประสบปัญหาด้านทรัพยากรที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ปัญหาจากการประกาศเขตป่าทับที่อยู่และที่ดินทำกินของชาวบ้าน 2) ปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน และ 3) ปัญหาโครงการพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและต่อวิถีชีวิตชาวบ้านกรณีพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี
ประเทศไทยมีปัญหาการประกาศเขตป่าไม้ทับที่อยู่และที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนถึง 22 ล้านไร่ มีผู้เดือดร้อน 9 ล้านคน นี่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประเทศ เฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการประกาศที่ป่าสูงถึง 8 หมื่นราย กรณีอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาตีมีการประกาศพื้นที่ป่า 2.13 แสนไร่ ซึ่งทับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้านกว่าหนึ่งแสนไร่ การประกาศเขตป่าดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านมาตั้งแต่ต้น ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่าบนที่ดินทำกินของตัวเอง ภายใต้สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่นี้ทำให้ชาวบ้านมีข้อจำกัดและยากที่จะขยับขับเคลื่อนต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมได้ การแก้ปัญหาล่าสุดของรัฐที่จะอนุญาตให้ชาวบ้านทำกินในพื้นที่ของตนที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าได้ 20 ปี แทนที่จะคืนสิทธิการเป็นเจ้าของที่ดินให้ชาวบ้านนั้น จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
ส่วนปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านนั้นพบว่า แม้จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีท่าเทียบเรือขึ้นปลาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่ชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเรือประมงได้ จึงเข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ พวกเขาใช้ “เรือกอแระ” ที่มีขนาดไม่เกิน 10 ตันกรอส และจับปลาในเขตชายฝั่ง ขณะที่เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเรือสองสัญชาติ ทั้งสัญชาติไทยและมาเลเซีย ใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำสูง เช่น อวนลาก อวนล้อม และมักลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตชายฝั่ง จะเห็นว่าปริมาณปลาขึ้นท่าที่ท่าเรือประมงปัตตานีจนกลายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ในเอเชียนั้น มีที่มาจากความไม่เป็นธรรมที่ชาวประมงพื้นบ้านได้รับมาโดยตลอด
นอกจากนี้รัฐยังมีนโยบาย “น้ำมันเขียว” มาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อสนับสนุนการประมงขนาดใหญ่ ในแต่ละปีส่วนต่างภาษีที่ยกเว้นให้กับเรือประมงขนาดใหญ่สูงถึงลิตรละ 6 บาท และมีปริมาณมากถึง 600 ล้านลิตรต่อปี มูลค่า 3,600 ล้านบาท ตลอด 18 ปีของนโยบายนี้อุดหนุนเรือประมงขนาดใหญ่ไปแล้วเป็นเงิน 6.48 หมื่นล้านบาท แม้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา รัฐบาลมีมาตรการให้ประมงพื้นบ้านขึ้นทะเบียนและได้แก้ปัญหา IUU (การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม หรือ Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing) แต่นี่ก็เป็นเพียงการทุเลาปัญหาลงได้เล็กน้อยเท่านั้น หากดูสัดส่วนการสนับสนุนการประมงของรัฐแล้ว จะเห็นว่ายังต่างกันราวฟ้ากับเหว รัฐยังใช้เงินไปกับการสนับสนุนประมงขนาดใหญ่มากกว่า สิทธิของประมงพื้นบ้านยังมีไม่เต็มที่ แม้ พ.ร.ก.ประมง จะกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด แต่คณะกรรมการก็มีแต่ข้าราชประจำ มีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นกรรมการ ขณะที่พี่น้องชาวประมงรายย่อยก็ยังไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาจัดการทรัพยากรชายฝั่งหน้าบ้านของตัวเอง
ส่วนกรณีผลกระทบของโครงการพัฒนาของรัฐที่มีต่อระบบนิเวศและวิถีของชาวบ้านพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี โดยเฉพาะกรณี “พรุน้ำดำ” หรือ บ้านน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โครงการพัฒนา เช่น โครงการขุดร่องน้ำ โครงการชุดสระ/อ่างเก็บน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำจืด และแหล่งอาหารของชุมชน ทำลายความสามารถในการพึ่งพิงตนเองของชุมชน สถานการณ์เหล่านี้รุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อโครงการพัฒนาต่างๆ อยู่ภายใต้บริบทของนโยบายความมั่นคง
เพิ่มสิทธิในการจัดการทรัพยากรต้องมีรัฐธรรมนูญที่เห็นหัวประชาชน:
ในความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาสิทธิในการจัดการทรัพยากรกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้น เราจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรม เพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญที่กินได้และเห็นหัวประชาชน จุดที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสามข้อ คือ 1) เอื้อต่อการละเมิดสิทธิและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรของชาวบ้านและชุมชน 2) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แก้ยากเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 และ 3) ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบการเมือง แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนออกฎหมายได้แต่ก็เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ มีแต่การสร้างาระยุ่งยากให้ประชาชน ทั้งสามข้อนี้คือการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้าน อีกทั้งการที่คนชายแดนใต้ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับก็ยิ่งเป็นกดทับสิทธิเหล่านี้เพิ่มขึ้น
///////////////////////////////////////
หมายเหตุ:
ชมคลิปการเสวนาได้ที่
https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/videos/2790931730938650/UzpfSTY5MDk5NzUxNDY3MjgxNjo4MjA3NjcyMjUwMjkxNzc/?modal=admin_todo_tour
ดูกำหนดการเต็มของงาน “งานมหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน" ในส่วนของ ครช. (ณ ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)ได้ที่
https://www.facebook.com/CCPCThai/photos/a.106969800697860/168186071242899/?type=3&theater&__xts__[0]=68.ARAHMFVgdLq_WNMrnsXFqVd3nytWY7MqjVhkp1RJFsdSGKCyExDyZPjXYM9_7L4eOwQFsDy4loHRand0PXhBQcGBu5RgjV0_UERDj6qhUJvkFYqXKQSHCZWxloK7M20AQ9Kh3O0cQW4HoaBzry6002gBFn2bNrKDvn7_u7d5x6cPIuktbl8Efwm9R-QXn-tIdQVnXRnvyV-R6XPJU5kvumL6wVlUE9PB86knIuSwwgxjNIAENhUcbYrbklrthdN-i6CLj8eidCLSk1AHUpH9OHvM5Lf-j38r3aUNK0zqdTar82-vV0YBauXJi_y2hEXuVhX35sM2s7FRakLCN8TMVBQ&__tn__=-UK-R
และงาน “งานมหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน" ในส่วนของสมัชชาคนจน (ณ ลานประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ - ด้านข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ได้ที่
https://www.facebook.com/2015384848580832/photos/a.2016471571805493/2556925661093412/?type=3&theater&__xts__[0]=68.ARCD5uc3bU6GIuHSM8reKGTL1PPs2RT2DF9qufnTQgruKFRO1wyA1w7fjB5iHsecMi4qDmspQnyqe3GvY9CsPdnWkQic1QcS6C_KAHmhbK_B-J1nP5nBXwj9gkHUDAxmn6Gp3UCfIj0X3QFzBBRFwobOd5PhWUxTHd-pGyDP0pkKIBC6vnZjQbCvfDKK4vYzfeYjl2DfZCdBAwTABBe47p2HCRTc4u7Xh2xckYsCYjVSx8Yh_KxLR8_5CC0OLbE14DZf05J-2JiwVBEM0nWZze4c8UaXszbFb05VGaCjjmJpQvEcdG21qiutPW_gBYXQHwBVWPbEDIQhSJC3z_EirC4&__tn__=-UK-R