Skip to main content

“เมื่อรัฐใช้โครงการพัฒนาและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงยื้อแย่งทรัพยากรจากมือประชาชน ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง”

สรุปความ การให้สัมภาษณ์ นางมาเรียม บีรู หรือ “ก๊ะแย” ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ทางไลฟ์เฟสบุ๊ค ในรายการ ห้องสื่อคนจน (สนั่น ชูสกุล ) III Ep.3 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566  เพจ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor โดยมีชื่อตอนว่า “พรุนะเเดกาวาซันเเมเราะห์“ ที่อาจแปลได้ว่า พรุน้ำดำในพื้นที่สีแดง หรือ พรุน้ำดำในอำเภอทุ่งยางแดง

(ชมคลิปการสัมภาษณ์ได้ที่ https://www.facebook.com/100064381883555/videos/747879066601919 )

 

สภาพ “พรุน้ำดำ” แต่ดั้งเดิม

“ก๊ะแย”  ได้อธิบายลักษณะของ “พรุ” ในตำบลน้ำดำว่าเป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำชุ่ม พื้นที่บางส่วนจะแห้งหรือกลายสภาพเป็นทุ่งในช่วงหน้าแล้ง พรุจึงเป็นทั้งพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกแตงโม และปลูกผักต่างๆ เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และเป็นพื้นที่ทำประมงของชาวบ้าน

“ก๊ะแย”  เล่าว่า บ้านของเธอเดิมอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ติดกับ “พรุชะมา” ตั้งแต่เด็กแล้วที่ก๊ะเห็นว่า “พรุ” เป็นเหมือนสวนหลังบ้านที่มีอาหารหลากหลาย มีทั้งผัก ปลา กุ้ง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่ชาวบ้านสามารถใช้ทรัพยากรได้ฟรี ทั้งนี้ ชาวบ้านตำบลน้ำดำซึ่งถือได้ว่ามีฐานะยากจนสุดในอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี  เพราะคนมีสวนยางน้อย ต่างจากตำบลข้างเคียง เช่น ตำบลพิเทน ตำบลปลากู ที่มีพื้นที่สวนยางเยอะกว่า การทำมาหากินจากพรุจึงมีความสำคัญต่อคนน้ำดำมาก และลูกหลานก็เรียนหนังสือมาได้ด้วยจากเงินที่พ่อแม่ขายควายที่เลี้ยงในพรุ ดังที่ว่า “เรามีพรุเลี้ยงควายได้ คนที่นี่ใช้ควายส่งลูกหลานเรียน ลูกจะเอาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค มอเตอร์ไซค์ ก็ขายควายไปซื้อให้” ดังนั้น  พรุจึงเปรียบเสมือนหัวใจ และถ้าหัวใจหยุดเต้นก็คือตาย

 

ความเปลี่ยนแปลงของ “พรุน้ำดำ” จากโครงการพัฒนา

“ก๊ะแย”  ยังเล่าอีกว่า ย้อนกลับไปราว 30 ปี พรุน้ำดำมีความสวยงามต่างจากปัจุบันมาก ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมาพรุน้ำดำถูกเปลี่ยนสภาพไปอย่างมากจากโครงการพัฒนาของหน่วยงานรัฐที่เข้ามาขุดสระน้ำและขุดคูระบายน้ำหลายจุดจนเต็มพื้นที่ไปหมด

“ก๊ะแย”  ตั้งคำถามว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐจึงเน้นการขุดสระอย่างมาก ทั้งที่พรุเป็นพื้นที่รองรับน้ำโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากว่า โครงการเหล่านี้นำมาซึ่งผลประโยชน์ เงินทองของผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่หน่วยงานเจ้าของโครงการอย่างกรมทรัพยากรน้ำอ้างว่าเพื่อหาน้ำประปาสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคของคนในหมู่บ้านนั้น เธอมองว่าไม่สมเหตุผลเลยเพราะน้ำในพรุไม่ได้ใสสะอาด แต่เจือปนด้วยมูลวัว-ควาย มูลสัตว์ต่างๆ ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในพรุ “คนบ้านเราไม่ดื่มน้ำในพรุ ถ้าต้องการน้ำสะอาดชาวบ้านก็ขุดบ่อ”

“ก๊ะแย”  ไม่เข้าใจว่าทำไมการพัฒนาของรัฐจึงไม่ได้ตอบโจทย์ของชาวบ้านเลย ส่วนผู้นำท้องถิ่นก็ไม่สนใจว่าอะไรคือสิ่งชาวบ้านต้องการ หรืออะไรคือสิ่งที่ชาวบ้านไม่ต้องการ

 

ทหารกับพรุน้ำดำ

หน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในการขุดพรุน้ำดำก็คือ ทหาร ซึ่งในที่นี้หมายถึง หน่วยทหารพัฒนาที่ 44 ที่มาตั้งสำนักที่ทำการขนาดนับร้อยไร่ในเขตพรุน้ำดำ “ก๊ะแย” เล่าว่า ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วที่ทหารขุดคูกั้นน้ำตรงบริเวณที่เป็น “ลูโบ๊ะ” หรือ คลอง คูน้ำนี้ได้กั้นขวางเส้นทางน้ำ ที่สำคัญคูน้ำนี้ก็มีความยาวอย่างมาก  ดินที่ถูกขุดขึ้นมาจึงกองสูงเป็นเนินยาว จนดูคล้ายเป็น “กำแพงเมืองจีน” ตามคำเรียกแบบประชดของชาวบ้าน  รวมทั้งทหารยังขุดอีกโครงการที่เป็นทางระบายน้ำความยาวหลายกิโลเมตรเชื่อมพรุน้ำดำกับตำบลใกล้เคียง

“ก๊ะแย” ยังเล่าอีกว่า ผลของการขุด “กำแพงเมืองจีน” ทำให้น้ำระบายไม่ทันในบางปีที่ฝนตกหนัก จนน้ำท่วมไร่แตงโมที่กำลังออกผลของชาวบ้านจนเสียหายหมดหลายแปลง โดยที่ชาวบ้านเองก็ไม่กล้าไปเรียกร้องความเสียหายจากทหาร  ชาวบ้านนั้นไม่กล้าแม้แต่จะไปถามทหารว่าขุดทำไม ชาวบ้านได้แต่ถามกันเอง ปรับทุกข์กันเอง

นี่ยังไม่นับรวมว่ามักมีเจ้าหน้าที่ทหารมาเอาต้นไม้มีค่าในพรุออกไป เช่น ต้นจิก ต้นชุมแสง ต้นเสม็ดแดง อาจเอาไปขายบ้าง หรือฝากเจ้านายบ้าง โดยไม่เคยขออนุญาตจากชาวบ้านก่อน ที่ผ่านมาหากชาวบ้านทราบเรื่องก็มาจะแจ้งก๊ะแยให้ออกไปห้าม

 

โครงการขุดพรุล่าสุด และความไม่ชอบมาพากล

โครงการขุดพรุล่าสุดที่ก๊ะแยและชาวบ้านคัดค้านนั้น เป็นโครงการในเขต “พรุชะมา” ซึ่งอยู่ต่อเนื่องจากพรุน้ำดำในตำบลเดียวกัน ที่หน่วยงานเจ้าของโครงการอ้างว่าเพื่อทำน้ำประปา (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวักยะลา-ปัตตานี ช่วงที่ 2” และโครงการ  “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำ จังหวัดยะลา-ปัตตานี ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 กรมทรัพยากรน้ำ) ที่เป็นไปไม่ได้เลยเพราะน้ำในพรุสกปรก ควรไปเอาน้ำจากแม่น้ำสายบุรีแทนดีกว่า เพราะน้ำสะอาดกว่าและมีน้ำเยอะกว่า

ที่สำคัญโครงการนี้ดำเนินการในที่ดินที่ชาวบ้านหลายรายมีเอกสาร สค 1 ก๊ะแยเล่าว่า “โครงการนี้ทำในพื้นที่ของพ่อของก๊ะด้วย พ่อมี สค. 1 เขามาขุดโดยไม่ถามอะไรเลย จนมีชาวบ้านมาบอกว่าที่ดินของพ่อถูกขุดอีกแล้ว ก๊ะจึงออกไปดูแล้วเจอกับผู้รับเหมา” อย่างไรก็ดี ทางผู้รับเหมาแก้ตัวว่า ไม่ได้มาดำเนินการในบริเวณนี้ เพียงแต่มาขุดเพื่อให้ระบายน้ำออกชั่วคราว แต่พื้นที่ดำเนินการ (ขุดสระ) จริงนั้นอยู่ในเขต ต.ท่าธง อ.รามัน จะยะลา แต่ทั้งนี้ ก๊ะแยบอกว่า ที่ดินทำโครงการในเขต ต.ท่าธง บางส่วนก็เป็นที่ดินที่ชาวบ้าน ต.น้ำดำ เป็นเจ้าของและมีเอกสาร สค.1 ด้วย

ในขณะที่หน่วยงานเจ้าของโครงการบอกว่าพื้นที่ทำโครงการเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ แต่ทั้งนี้ ก๊ะแยยืนยันว่า ต่อให้เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ แต่หากเป็นโครงการที่ชาวบ้านคัดค้านก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทางก๊ะเองได้ปรึกษากับทางสมัชชาคนจนซึ่งให้ข้อมูลตามหลักกฎหมายว่า โครงการไม่สามารถทำได้ ส่วนข้ออ้างของหน่วยงานที่บอกว่าโครงการได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 ที่โรงแรมปาร์ควิว จ.ยะลา ก็พบว่ายังมข้อพิรุธเรื่องลายเซ็นชาวบ้านที่เข้าร่วม ขณะที่ทางหน่วยงานอ้างว่า ในวันดังกล่าวมีการรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งหมด 10 โครงการ จึงอาจมีความสับสนในการเอารายชื่อคนละชุดมาแสดงต่อกรรมาธิการ ขณะที่ก๊ะแยตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะทำประชาพิจารณ์พร้อมกัน 10 โครงการในวันเดียว

เมื่อ 20 ปีก่อนเคยเกิดเหตุเช่นนี้ในที่ดินเดียวกันนี้ เป็นโครงการของทางฝั่งตำบลท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา เช่นกัน แต่กลับมาขุดในเขตตำบลน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่ชาวบ้านมีเอกสาร สค.1 ในครั้งนั้นชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ มีการชี้เขตตำบลและอำเภอ จนหยุดการขุดในเขตตำบลน้ำดำได้ แต่ก็สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ไปอย่างมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีกก๊ะแยจึงรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจมาก

 

การต่อสู้ของชาวบ้าน

ในการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหา ชาวบ้านก็จับมือกันสู้ไปด้วยกัน แต่ผู้ชายที่ตำบลน้ำดำมักไม่กล้าออกหน้าคัดค้าน โครงการ เพราะแถวนี้มีอำนาจมืดเยอะ มีการยิงกันตายบ่อยๆ ตายโดยไม่มีสาเหตุ ส่วนใหญ่จึงมีแต่ผู้หญิงที่ออกมาคัดค้าน ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบที่ทำให้มีทหารและตำรวจเข้ามาติดตามผู้ต้องสงสัยในหมู่บ้านอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งเจ้าหน้าที่มากันนับสิบคนตอนดึกๆ ดื่นๆ  ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจและเกิดความเครียด

ก๊ะแยบอกว่า เรื่องการขุดพรุนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ทางการทำเหมือนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ  ชาวบ้านจึงไม่มีที่พึ่ง ดังนั้น ก๊ะแยและชาวบ้านจึงนำเรื่องไปร้องเรียนต่อคุณทวี สอดส่อง (เลขาธิการพรรคประชาชาติ) จากนั้นก็ได้ร้องเรียนไปยังประธานกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ และได้เดินทาไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ 2 ครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2565 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า ต้องหยุดการดำเนินโครงการโดยทันทีและผู้รับเหมาต้องมาซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ในเขตตำบลน้ำดำที่ได้ขุดทำลายไป อีกทั้งคณะกรรมาธิการยังแนะนำให้ชาวบ้านตำบลน้ำดำไปแจ้งความเอาผิดกับหน่วยงานเจ้าของโครงการด้วย

 

 

 

บล็อกของ ออแฆกำปง

ออแฆกำปง
+++ การเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: การจัดการที่ดิน ระบบเกษตร และระบบนิเวศ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน +++
ออแฆกำปง
จากการที่คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการก่อสร้าง “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธ
ออแฆกำปง
“เมื่อรัฐใช้โครงการพัฒนาและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงยื้อแย่งทรัพยากรจากมือประชาชน ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง”
ออแฆกำปง
"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 1)สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ และ สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร=======================