Skip to main content

จากการที่คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการก่อสร้าง “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา คุณบารมีได้วิเคราะห์และให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ในรายการ “ห้องสื่อคนจน” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เผยแพร่ในเพจ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor นั้น  ทางเพจ “นิเวศวิทยาการเมืองชายแดนใต้” เห็นว่ามีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์จึงสรุปและตัดคลิปบางส่วนมาให้พี่น้องชายแดนใต้ได้รับชมกันค่ะ
========================

 พื้นที่ “พรุ” ใน ต.น้ำดำ มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายในเชิงระบบนิเวศ ประกอบด้วย 1) บริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และ 2) บริเวณที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมฤดูน้ำหลาก โดยในส่วนที่สองนี้เป็นที่ดินพิพาทที่ คนท้องถิ่นเรียกบริเวณนี้ว่า “พรุชะมา”    

ปัญหาที่ “พรุชะมา” ก็คือ การที่หน่วยงานของกรมทรัพยากรน้ำได้มาขุดสร้างสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ในเนื้อที่นับร้อยไร่ พร้อมทำระบบคูส่งน้ำ พื้นที่โครงการอยู่ในเขตของ 2 ตำบลที่อยู่คนละอำเภอ และคนละจังหวัด คือ พื้นที่ ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ พื้นที่ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา โดยที่ทางผู้นำท้องถิ่นของตำบลหลังให้การสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี ขณะที่ทางชาวบ้านในตำบลแรกคัดค้านโครงการ

คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน มองว่า กรณีพิพาทนี้มีปัญหาเรื่องแนวเขตของโครงการว่าอยู่ในเขตตำบลหรืออำเภอใดกันแน่ อนึ่ง แต่ละตำบลอาจมีวิธีการจัดการพื้นที่ของตนที่ต่างกันได้ และหน่วยงานรัฐไม่ควรมายัดเยียดให้ทั้งสองตำบลมีการจัดการพื้นที่ตามแนวทางของรัฐ ทั้งนี้ การจัดการพื้นที่ของแต่ละตำบลต้องไม่กระทบต่อการทำลายสภาพพื้นที่หรือกระทบต่อระบบนิเวศของตำบลข้างเคียง  

***ประเด็นสำคัญที่สุด*** คุณบารมีบอกว่า พื้นที่พิพาทนี้มีทั้งส่วนที่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และส่วนที่ชาวบ้านมีเอกสารใบแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค. 1

ในส่วนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ต้องถามว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ เอาอำนาจอะไร จากกฎหมายฉบับไหน ไปขุดพื้นที่ตรงนั้น ทั้งนี้ ตามกฎหมายที่ดิน (มาตรา 8) หากเป็นที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทางราชการจะเข้ามาทำอะไรไม่ได้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อทางราชการได้หาพื้นที่ใหม่มาทดแทน และต้องมีการออกเป็นพระราชบัญญัติก่อนเพื่อเพิกถอนสถานะความเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทางราชการไม่สามารถที่จะไปทำประชาคมกับคนอีกกลุ่มนึงในพื้นที่ ซึ่งคนกลุ่มนั้นไม่ได้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เพื่ออ้างว่าได้ทำประชาคมแล้วอันเป็นข้ออ้างในการดำเนินโครงการ การที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ อ้างว่าได้ทำประชาชคมหรือรับฟังความเห็นจากชาวบ้านแล้วจึงเป็นการอ้างกฎหมายอย่างมั่วซั่ว  

สำหรับที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้วนั้น ชาวบ้านก็ต้องมีการลงประชามติร่วมกันก่อนว่าได้เลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่นี้แล้ว และที่สำคัญมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสถานะก่อน ทางการจึงเอาพื้นที่ทำโครงการได้

สำหรับที่ดินที่ชาวบ้านมีเอกสาร ส.ค.1 ก็หมายความว่า ชาวบ้านมีความเป็นเจ้าของอยู่ ดังนั้น การที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ เข้าไปขุดก็เท่ากับเป็นการไปบุกรุกพื้นที่เอกชน

***ดังนั้น การกระทำของกรมทรัพยากรน้ำเป็นทั้งการละเมิดกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน และทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ***

คุณบารมียังมีความเห็นว่า ปัญหาเรื่องพรุที่ ต.น้ำดำ นี้ สะท้อนถึงการจัดการที่ดินที่ผิดทางของรัฐไทย เพราะวิถีการผลิตของชาวบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นพึ่งพาทั้งพื้นที่ทำเกษตรกรรมของครัวเรือนและพื้นที่ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น พื้นที่เก็บหาของป่าหรือพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ของชุมชน แต่รัฐสมัยใหม่จัดการที่ดินด้วยจัดประเภทเป็นที่ดินของรัฐกับที่ดินของเอกชนเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนรวมที่มีมาตามประเพณีของประชาชน

นอกจากนั้น การที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวที่ทางการสร้างขึ้น ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อันเป็นอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้และเป็นอำนาจที่ไม่ควรมีในสังคมประชาธิปไตย บริบทเช่นนี้เอื้อให้มีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องตามครรลองของธรรมมาบังคับข่มเหงเพื่อแย่งยึดทรัพยากรธรรมชาติมาจากชาวบ้านและชุมชนได้โดยง่านย ดังจะเห็นจากกรณีพรุชะมาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้อิทธิพลในท้องถิ่นดำเนินโครงการ ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็หวาดกลัวและไม่กล้าคัดค้าน 

 สำหรับทางออกของกรณีพิพาท “พรุชะมา” นี้ คุณบารมีเสนอว่า กรมทรัพยากรน้ำต้องยกเลิกโครงการไปก่อน จากนั้นก็ไปสำรวจดูว่า โครงการได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างไรบ้าง หากโครงการได้ไปทำลายระบบนิเวศ กรมฯ ก็ต้องสนับสนุนเงินทุนให้ชุมชนฟื้นฟูระบบนิเวศ ถ้าโครงการไปบุกรุกที่ดินชาวบ้าน กรมฯ ก็ต้องฟื้นฟูซ่อมแซมให้กลับมามีสาภพเดิมและควรต้องจ่ายเงินเยียวยาด้วย

ที่สำคัญจะต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ที่ไม่ใช่แค่การหยุดโครงการ แต่ต้องรวมถึงการทำเรื่องแนวเขต/ขอบเขตให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแนวเขตตำบล อำเภอ จังหวัด ตลอดแนวเขต/ขอบเขตที่ดินสาธารณะประโยชน์กับที่ดินของประชาชน ทั้งนี้ พื้นที่ใดเป็นที่หลวงก็ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) และถ้าพื้นที่บริเวณใดเป็นของชาวบ้านก็ต้องออกโฉนดให้ชาวบ้าน เพื่อที่ต่อไปก็จะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก สุดท้ายนี้คุณบารมีเห็นว่า กรณีพรุที่ ต.น้ำดำ สามารถเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ได้

 

บล็อกของ ออแฆกำปง

ออแฆกำปง
+++ การเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: การจัดการที่ดิน ระบบเกษตร และระบบนิเวศ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน +++
ออแฆกำปง
จากการที่คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการก่อสร้าง “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธ
ออแฆกำปง
“เมื่อรัฐใช้โครงการพัฒนาและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงยื้อแย่งทรัพยากรจากมือประชาชน ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง”
ออแฆกำปง
"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 1)สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ และ สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร=======================