Skip to main content
ในงานสัมมนาที่มีชีวิต : Life Symposium “มนต์รักรัฐธรรมนูญคนจน : เมื่อหิ่งห้อยจะพรายแสง” ที่จัดโดย #สมัชชาคนจน และ #เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 65 องค์กร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2565 บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร นั้น #เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ. จชต.) และ #คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) .ได้ร่วมกันจัดเสวนาในเวทีย่อย หัวข้อ “รัฐธรรมนูญของประชาชนกั สันติภาพชายแดนใต้” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย 1) คุณสุณิสา โตะวี (นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย - สนมท.) 2) คุณอัมรัน สาลี (แอดมินเพจ “ชาลี” – คนชายแดนใต้ที่ประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ) 3) คุณมุสตาซีดีน วาบา (เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ - PermaTamas) 4) คุณทวีศักดิ์ ปิ (คณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญคนจน ชายแดนใต้) และ 5) รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล (คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ) ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ (ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ผู้เข้าร่วมการเสวนาต่างได้นำเสนอปัญหาชายแดนใต้จากมุมมองและประสบการณ์ของตน และได้อภิปรายว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญของประชาชนนั้นจะช่วยคลี่คลายวิกฤติชายแดนใต้ใต้ได้อย่างไร
 
+++ สุณิสา โตะวี: รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนคนชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้อำนาจจากกฎหมายพิเศษ / อยากมีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน+++
สุณิศาได้กล่าวถึงปัญหาหลักที่ใกล้ตัวประชาชนชายแดนใต้ที่สุด อันได้แก่ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีทั้งการถูกควบคุมตัว การบังคับตรวจเก็บดีเอ็นและตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ การขอเข้าถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของประชาชน ฯลฯ ที่ล้วนแต่ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีการขอหมายศาลตามขั้นตอน และไม่เป็นไปตามสิทธิที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในปฏิญญาสากลต่างๆ เนื่องจากกฎหมายพิเศษ (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551) ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้
การละเมิดสิทธิคนชายแดนใต้ไม่เคยลดน้อยลง แม้จะมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้วก็ตาม กรณีการบังคับตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามปกติเราจะต้องตกเป็นผู้ต้องหาก่อนจึงจะโดนพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่สำหรับคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับถูกเก็บลายนิ้วมือได้โดยง่ายด้วยกระบวนการพิเศษที่รัฐกำหนดขึ้น นั่นคือการให้ประชาชนเซ็นลงนามยินยอม อันเป็นวิธีที่ทำให้ง่ายต่อการที่รัฐจะละเมิดสิทธิของประชาชนได้อย่างถูกกฎหมาย อนึ่ง การละเมิดสิทธิประชาชนที่เป็นไปโดยอ้างความสงบสุข กลับก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่ประชาชนที่แม้จะเป็นผู้ที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จนเกิดคำถามว่า แล้วความสงบสุขจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
สุณิศาได้ยกกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับทหารเข้าตรวจค้นหอพักและควบคุมตัวนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้จำนวน 3 คน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนการประชุม APEC ว่าคือตัวอย่างของการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอย่างเหนือรัฐธรรมนูญ โดยทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ด้วยกฎหมายพิเศษ พวกตนมีอำนาจเต็มที่ในการบุกตรวจค้น สุณิศาย้ำว่าเหตุการณ์แบบนี้พร้อมจะเกิดขึ้นซ้ำตลอดเวลา
ในส่วนของรัฐธรรมนูญที่จะช่วยสร้างสันติภาพชายแดนใต้ สุณิศาเห็นว่าควรเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ เป็นรัฐธรรมนูญที่เห็นคุณค่าของประชาชน รับรองและคุ้มครองสิทธิในทางกฎหมายและในกระบวนยุติธรรมแก่ประชาชน และต้องไม่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากจนประชาชนแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงและไม่มีความปลอดภัยในชีวิต หรือต้องอยู่อย่างหวาดกลัวหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาทั้งที่ไม่ได้ทำความผิดเลย
 
+++อัมรัน สาลี: การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เยาวชนมลายูชายแดนใต้ต้องพลัดถิ่น / เรียกร้องการลดอำนาจรัฐจากส่วนกลาง ให้คนพื้นที่บริหารจัดการตนเอง+++
อัมรัน บอกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนมลายูชายแดนใต้ต้องพลัดถิ่นมาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ เยาวชนบางรายที่ครอบครัวยากจนก็ต้องมาทำงานในเมืองใหญ่เพื่อส่งเสียตัวเองเรียน ส่วนอีกสาเหตุก็คือความหวาดกลัวต่อการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจจากกฎหมายพิเศษ เพราะในแต่ละวัน ไม่ว่าจะไปเรียนหนังสือหรือทำงาน เยาวชนชายแดนใต้มีความเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป แม้จะไม่เคยทำอะไรผิดเลยก็ตาม บางทีเจ้าหน้าที่ก็มาวนเวียนแถวบ้านแทบทุกวัน เยาวชนจึงมองว่าถ้าตนสามารถออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปได้ ก็จะไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้ ดังที่เขากล่าวว่า “คนชายแดนใต้ที่มาทำงานในกรุงเทพฯ หากเป็นวัยรุ่นก็ออกมาเพราะเบื่อเจ้าหน้าที่ที่มาคุกคามทุกวัน อ้างว่ามาเก็บข้อมูล โดนทั้งนักเรียน นักศึกษา นักเรียนปอเนาะ คนทำงาน ทุกคนจึงคิดว่าหากมาอยู่ที่กรุงเทพฯชีวิตก็จะมีความสุขกว่าที่บ้าน สามารถมีงานทำ แล้วไม่โดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่ แต่อย่างไรก็ดีความสุขที่สุดของทุกคนก็คือการได้กลับไปอยู่ที่บ้านเกิด”
อัมรันตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ข้าราชการนอกพื้นที่ต่างแข่งขันกันที่จะมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซึ่งอาจเป็นเพราะจะได้รับการเลื่อนขั้น การปูนบำเหน็จ ค่าตอบพิเศษสูงกว่าทำงานในพื้นที่อื่นเนื่องจากชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความไม่สงบ - ผู้สรุป) ในขณะที่คนในพื้นที่กลับต้องพลัดถิ่นตัวเองไปทำงานที่อื่นกันมาก เช่น มาเลเซีย กรุงเทพฯ
ในส่วนของแนวทางแก้ปัญหา เขาเสนอว่า ควรลดอำนาจของรัฐและของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกส่งมาจากที่อื่น มักมีความรู้สึกโกรธเกลียดคนมลายูชายแดนใต้ มีความแปลกแยกจากคนในพื้นที่ ตามด่านตรวจต่างๆ เจ้าหน้าที่ประจำด่านมักสอบถามชาวบ้านอย่างหวาดระแวงว่าจะเดินทางไปไหนอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่การเดินทางไปมาๆ ก็คือวิถีประจำวันของคนในท้องถิ่น
สำหรับการบริหารงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อัมรันมองว่า ควรให้คนในพื้นที่ดำเนินการเอง เพราะคนในย่อมรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี รู้ว่าคนในท้องถิ่นต้องการอะไร ต้องการการพัฒนาแบบไหน เข้าใจภาษาท้องถิ่น การส่งคนนอกมาบริหารต้องใช้เวลาเรียนรู้นาน และคนจากรัฐส่วนกลางมีการโยกย้ายตลอด ทำให้สันติภาพเกิดขึ้นไม่ได้ ชายแดนใต้ควรมีการปกครองท้องถิ่นของตนเองเป็นรูปแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความพร้อมอย่างมากที่จะบริหารจัดการตนเอง
 
+++มุสตาซีดีน วาบา : คนชายแดนใต้ถูกตีตราว่าเป็น “กลุ่มขบวนการฯ” และ มีการแย่งชิงขโมยทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐ+++
มุสตาซีดีนเล่าว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่เมื่อปี 2547 ตนในฐานะที่เป็นครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ถูกทางการตราหน้าว่าเป็น “อุสตาซก่อการร้าย” ถูกทางการเรียกไปสอบถามเสมอว่า ได้สอนเด็กให้มีความคิดแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ทำไมไม่สอนเด็กให้ร้องเพลงชาติไทย ฯลฯ ฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยมีความหวาดระแวงมากที่เห็นเด็กนักเรียนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่เลือกมาเรียนต่อชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มองว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า คนทุกคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือ นักเรียน นักศึกษา ต่างก็เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เท่ากันหมด
มุสตาซีดีน ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ที่เริ่มต้นในปี 2547 นั้นเป็นช่วงเวลาที่เราอยู่ภายใต้ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” หรือ รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่กระนั้นวิกฤติชายแดนก็ยังเกิดขึ้นและคลี่คลายไม่ได้ นั่นหมายความว่ายังมีปัจจัย/กลไกอื่นที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาเหตุรากเหง้าของปัญหา (ประวัติศาสตร์ของความคับข้องหมองใจที่คนพื้นที่มีต่อรัฐไทย - ผู้สรุป)
ในระยะหลังมีการใช้คำว่า “เจ้าอาณานิคมสยาม” หรือ “สยามนักล่าอาณานิคม” มากขึ้นในสื่อของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐไทย ซึ่งสะท้อนความคิดที่ว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ต้องใช้การเจรจา (ที่เสมอหน้ากัน - ผู้สรุป) ทั้งสองฝ่าย แต่ที่ผ่านมารัฐไทย โดยเฉพาะกองทัพ ยังคงมีทัศนะในด้านลบต่อความคิดนี้ พร้อมกันนี้สื่อของฝ่ายรัฐก็พยายามเผยแพร่วาทกรรมเรื่องการผนวกรวมดินแดนอย่างราบรื่นค่อยเป็นค่อยไปที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ความไม่สงบก็คงไม่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเช่นนี้
นอกจากนั้นชายแดนใต้ยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากด้วย เช่น กรณีปัญหาการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินชาวบ้าน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ฯลฯ ขณะที่การคัดค้านของชาวบ้านก็มักถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกรัฐตราหน้าว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ปรากฎการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า คนชายแดนใต้ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และรัฐได้ขโมยทรัพยากรธรรมชาติไปจากประชาชน
กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รัฐพยายามขโมยที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงวัวเลี้ยงควายเพื่อนำไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยอ้างว่าประเทศนี้ขาดแคลนไฟฟ้า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีไฟสำรองเกินกำลัง และทั่วโลกก็กำลังพูดถึงพลังงานสะอาดในการลดโลกร้อน กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะคือการที่รัฐพยายามจะประเคนที่ดินไปให้นายทุน กรณีการขุดลอกอ่าวปัตตานี นอกจากจะเป็นการเอาเงินงบประมาณ 600 กว่าล้านบาทไปทิ้งในอ่าว ยังทำร้ายชาวบ้านรอบอ่าวอย่างมาก รัฐเคยบอกว่าในช่วงการขุดลอกจะมีเงินชดเชยให้กับชาวประมงที่ออกทำประมงไม่ได้ แต่ก็ไม่มีการชดเชยใดๆ เกิดขึ้น ส่วนกรณีโครงการกำแพงกันคลื่นตามชายหาดต่างๆ ก็คือการขโมยภูเขาซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ แล้วเอาดินทรายจากภูเขามากองไว้ที่ชายหาด ซึ่งยิ่งเป็นการทำลายชายหาดให้เสียหายกว่าเดิม
ทั้งนี้ เราต้องการรัฐธรรมนูญที่จะช่วยคุ้มครองไม่ให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งนักศึกษาหรือนักกิจกรรมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ต้องถูกกล่าวหาใส่ความว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของขบวนการแย่งแยกดินแดนหรือเป็นภัยความมั่นคง
 
+++ทวีศักดิ์ ปิ: ปัญหารากเหง้า บาดแผลกรือเซะ-ตากใบ /เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและมีคนพื้นที่ร่วมร่าง+++
ปัญหาชายแดนใต้มีรากเหง้ามาจากการถูกยึดครองดินแดน ขณะที่ปัญหารอบใหม่ตั้งแต่ปี 2547 ก็มีความเรื้อรังยาวนาน คนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ต้องเติบโตมาในสภาวะที่บ้านเกิดเต็มไปด้วยรถถัง กองกำลังทหาร และความรุนแรงมาเกินกว่าครึ่งชีวิต กระทั่งสิ่งเหล่านี้แทบจะกลายเป็นความปกติ ทั้งที่จริงคือความไม่ปกติที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้กฎหมายที่นำมาสู่อำนาจพิเศษ
เราทุกคนไม่ต้องการเห็นความสูญเสียหรือการนองเลือดที่ชายแดนใต้อีกต่อไป แต่ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างผิดทางผิดวิธี โดยเฉพาะการใช้กฎหมายพิเศษซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปในการควบคุมผู้คนและพื้นที่ จนสร้างปัญหาต่อเนื่องอื่นๆ ตามมา รวมถึงกรณีเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ ซึ่งเป็นบาดแผลใหญ่และเป็นสิ่งที่คอยทิ่มแทงรัฐไทยในวันครบรอบเหตุการณ์ทุกๆ ปี
ทวีศักดิ์ชี้ว่าการเข้าใจอารมณ์ความรุู้สึกของผู้คนในพื้นที่เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างสันติภาพได้ แต่รัฐไทยยังมีความเข้าใจสิ่งนี้น้อยมาก เราอาจเข้าถึงความรู้สึกของคนชายแดนใต้ผ่านกระแสปราฏการณ์เทใจเชียร์ฟุตบอลทีมชาติโมรอคโคในการแข่งขันบอลโลก 2022 ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเพราะว่าโมร็อกโกเป็นประเทศมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นเพราะโมร็อคโคมีประวัติศาสตร์ของการตกเป็นประเทศอาณานิคมมาก่อนและสามารถเอาชนะเจ้าอาณานิคมได้การแข่งขันบางรอบ
ในส่วนของรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 คนจังหวัดชายแดนภาคใต้สร้างปรากฏการณ์ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐจับกุมดำเนินคดีผู้ที่รณรงค์แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ไม่ได้มาจากความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้น เราต้องการให้มีการทำประชามติอีกครั้งเพื่อนำมาสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญควรจะต้องมีตัวแทนจากคนชายแดนภาคใต้ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาจอยู่ในรูปของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
จากการทำเวทีระดมความเห็นของประชาชนชายแดนใต้หลายครั้งที่ผ่านมาของคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน คนชายแดนใต้ต้องการให้ระบุถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และการแก้ปัญหาชายแดนใต้ต้องดำเนินการโดยรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น สำหรับรัฐบาลชุดนี้แม้ดูเหมือนว่าจะมีที่มาจากประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะที่มาของตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังมาจากอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร
นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนควรมีเนื้อหาในการคุ้มครองพี่น้องแรงงานชายแดนใต้ที่ทำงานในต่างแดนหรือในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะในยามเจ็บป่วย คลอดบุตร หรือเสียชีวิต โดยแทบไม่มีการช่วยเหลือดูแลด้านสวัสดิการใดจากรัฐไทยในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งเลย
 
+++รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล : ชายแดนใต้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ มีแต่กฎหมายพิเศษที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องเลือกพรรคการเมืองที่จะยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษและปลดล็อคท้องถิ่น+++
รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐธรรมนูญมีก็เหมือนไม่มีในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระราชกำหนดฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีอำนาจมากกว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายพิเศษเหล่านี้ โดยเฉพาะกฎอัยการศึก และ พรก.ฉุกเฉิน ถูกใช้ตั้งแต่ปี 2547 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เราภูมิใจกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่พอมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น รัฐบาลในเวลานั้นกลับนำเครื่องมือที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญมาใช้ แม้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับจะมีศักดิ์ทางกฎหมายเล็กกว่ารัฐธรรมนูญ แต่โดยวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นกลับใหญ่โตกว่ารัฐธรรมนูญ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเลือกปฏิบัติ ทุกคนจึงไม่มีความปลอดภัย คนชายแดนใต้จะถูกค้นตัว ค้นบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นหลักประกันอะไรให้กับประชาชนได้เลย
สภาพของการไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นการคุกคามสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การรวมตัวกันของคนชายแดนใต้ แม้แต่ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อม หรือการคัดค้านโครงการพัฒนาที่มีปัญหาของรัฐ ก็ถูกกฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับขัดขวางและเป็นอุปสรรค จึงลดทอนความสามารถในการต่อรองการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในของคนพื้นที่เป็นอย่างมาก
สำหรับข้อเสนอในรัฐธรรมนูญคนจนที่ทีมนักวิชาการได้ไประดมความคิดมา พบว่ามีความน่าสนใจ ตรงที่มีเนื้อหาที่ระบุว่า รัฐธรรมนูญต้องศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายพิเศษ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ยอมให้ พรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และ พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญใหม่ปลดล็อคตรงนี้ได้ พี่น้องชายแดนใต้ก็จะสามารถต่อรองในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้ทุกอย่าง
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ธนพร เห็นว่า เฉพาะหน้าสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง หากพรรคการเมืองใดไม่มีคำมั่นสัญญาว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะเสนอยกเลิกกฎฆมายพิเศษทั้งสามฉบับโดยทันที และจะทำจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถใช้กฎหมายปกติเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยแล้วนั้น พี่น้องชายแดนใต้ก็ไม่ต้องไปลงคะแนนให้
นอกจากนั้น ในระหว่างนี้ควรร่วมกันรณรงค์ผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะไม่ว่าท้องถิ่นจะดีจะร้ายอย่างไรประชาชนก็สามารถวิจารณ์ ตรวจสอบ และลงคะแนนไม่เลือกผู้บริหารท้องถิ่นชุดนั้นๆ ได้เมื่อครบวาระการเลือกตั้ง 4 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ราว 80% ได้รับการถ่ายโอนไปให้กับองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว รศ.ดร.ธนพร ชี้ว่า สถานีอนามัย หรือ รพ.สต. เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ฝ่ายความมั่นคงต้องมีความระมัดระวังอย่างมากในการเข้าไปแทรกแซง การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจัดทำแผนพัฒนาระบบสุขภาพโดยใช้สถานีอนามัย หรือ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนเป็นแกน จึงสามารถเป็นความหวังได้ว่าการกระจายอำนาจจะตอบโจทย์ให้กับพี่น้องชายแดนใต้ได้ โดยเริ่มจากตัวชี้วัดเรื่องความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นพื้นที่พรมแดนแห่งอำนาจ ที่อำนาจแบบแข็ง (hard power) ของฝ่ายความมั่นคงเข้ามาจัดการไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่การมีอาวุธ รถถัง หรือกองกำลังทหารในพื้นที่มากมายก็ไม่สามารถแก้ปัญหา COVID-19 ได้
ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ซึ่งเป็นปัญหาหนามยอกอกของคนชายแดนใต้มานานนั้น ด้วยวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่ทำให้คนชายแดนใต้ไม่สามารถมาต่อสู้ชุมนุมประท้วงบนท้องถนนได้ ดังนั้น การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถเข้าไปจัดการเรื่องนี้ ก็จะเป็นทางออกเบื้องต้นในระยะสั้นของพื้นที่นี้ได้
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องพูดถึงเรื่องการปลดล็อคท้องถิ่น เราจึงต้องสนับสนุนพรรคการเมืองที่พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีรูปแบบพิเศษจากพื้นที่อื่น ถ้าพรรคใดไม่พูดเรื่องนี้ คนชายแดนใต้ก็ต้องก็ไม่ลงคะแนนให้พรรคนั้น
========
 
คำถามจากผู้ฟัง
สมณะดาวดิน - ที่ผ่านมาทราบว่าคนพุทธที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต แต่เมื่อตนเองได้ฟังจากการเสวนาในวันนี้ก็ได้รู้ว่าคนมุสลิมในพื้นที่ก็มีชีวิตที่ไม่ปลอดภัยเช่นกัน ดังนั้น จะมีแนวทางที่ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันด้วยความรู้สึกปลอดภัยได้อย่างไร
วิทยากรตอบคำถาม
มุสตาซีดีน วาบา – พี่น้องคนพุทธและคนมุสลิมที่ชายแดนใต้ต่างอยู่ร่วมกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้วจนเป็นที่ประจักษ์ การอยู่ร่วมกันไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทหารและรัฐไทยไม่สามารถอธิบายได้ว่า ปัญหาที่แท้จริงของชายแดนใต้คืออะไร และมีทางแก้ไขอย่างไร แล้วรัฐก็มาคุกคามละเมิดสิทธิในแบบต่างๆ
ทวีศักดิ์ ปิ -- ประเทศไทยถูกทำให้เป็นเมืองพุทธ โดยมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ แต่ที่ชายแดนใต้คนพุทธเป็นชนกลุ่มน้อย รัฐธรรมนูญปี 60 ที่บิดเบี้ยวทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบล่าช้า ขณะที่ความรุนแรงและความสูญเสียได้เกิดขึ้นกับคนทุกศาสนาและทุกชาติพันธุ์ในชายแดนใต้อย่างน่าหดหู่ยิ่ง สิ่งที่จะหยุดความขัดแย้งระหว่างศาสนิกก็คือต้องหยุดความรุนแรง ต้องไม่มีการระเบิด การยิง อีกต่อไป เราจึงต้องมีรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างให้คนทุกชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยให้คนพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในชายแดนใต้สามารถอยู่ได้ตามวิถีคนพุทธ ให้มุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในประเทศไทยสามารถอยู่ได้ตามวิถีมุสลิม
=======
ดูบันทึกวิดีโอการเสวนาได้ที่
เพจคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช) https://www.facebook.com/CCPCThai/videos/867065901148781
เพจสำนักข่าวราษฎร

 

บล็อกของ ออแฆกำปง

ออแฆกำปง
+++ การเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: การจัดการที่ดิน ระบบเกษตร และระบบนิเวศ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน +++
ออแฆกำปง
จากการที่คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการก่อสร้าง “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธ
ออแฆกำปง
“เมื่อรัฐใช้โครงการพัฒนาและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงยื้อแย่งทรัพยากรจากมือประชาชน ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง”
ออแฆกำปง
"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 1)สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ และ สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร=======================