Skip to main content
“รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กับ ปัญหาชายแดนภาคใต้”
(บทสังเคราะห์โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ นำเสนอในงานเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 4 หัวข้อ “สันติภาพชายแดนใต้” ในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโดย #lสมัชชาคนจน เครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชน)
----------------------------
ชายแดนใต้ในรัฐชาติไทย

ปัญหาที่เกิดในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “ชายแดนใต้” เป็นเรื่องใหญ่และมีความซับซ้อน โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การที่ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยสมัยใหม่ ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาที่แตกต่างไปจาก “ความเป็นไทย” เป็นอย่างมาก

รัฐไทยมีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่แยบยลในการจัดการพื้นที่ชายแดนใต้และชาวมลายูมุสลิม แรกเริ่มเป็นการกลืนกลายเชิงบังคับในทางภาษา วัฒนธรรม และการศึกษา เพื่อให้มลายูมุสลิมที่มีความเป็นอื่นกลายเป็นไทย ต่อมามีการใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่อ้างว่าเพื่อขจัดความยากจน โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเอาชนะจิตใจประชาชนไม่ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ระยะหลังมารัฐไทยมีการส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่อ้างว่าเพื่อสร้างความสงบ สันติสุข หรือแม้แต่ในด้านความมั่นคงก็มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นปฏิบัติการทางการทหารแต่เพียงอย่างเดียว มาสู่การยอมรับการเจรจากับกลุ่ม “ผู้เห็นต่าง”

กระนั้น แม้ว่ารัฐไทยจะมีพัฒนาการในการจัดการชายแดนใต้ที่เหมือนจะดูดีขึ้น แต่ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ยังคงประสบกับปัญหามากมาย มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ยากจนติดอันดับต้นของประเทศ ขณะที่ผลการเรียนของเยาวชนก็อยู่รั้งท้าย ส่วนความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตก็แทบไม่มี

ปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านชายแดนใต้กำลังประสบได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐไทยในการบริหารปกครองพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่อดีตมา แต่ในอีกด้านปัญหาเหล่านี้กลับถูกใช้เป็นข้ออ้างของความชอบธรรมที่รัฐไทยจะเข้ามาจัดการพื้นที่และผู้คนที่นี่ให้มากขึ้นและซับซ้อนขึ้น กลายเป็นวัฎจักรที่ไม่มีวันจบสิ้น

ปัญหาของพี่น้องประชาชนชายแดนใต้

ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมปัญหาและความคิดเห็นจากประชาชนที่มาร่วมเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 4 หัวข้อ “สันติภาพชายแดนใต้” ในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565  ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  พบว่ามีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติ: รัฐมีอำนาจรวมศูนย์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่การมีส่วนร่วมของชุมชน สิทธิของชุมชน ถูกลิดรอน และ ละเลย
  • ด้านเศรษฐกิจ: รัฐล้มเหลวในการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของพื้นที่ นำมาสู่ความยากจน การไม่มีอาชีพในท้องถิ่น และการอพยพแรงงาน ทั้งนี้ รัฐควรทำหน้าที่ในการช่วยเหลือ เยียวยา และคุ้มครองแรงงานที่รวมถึงแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน
  • ด้านวัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา: รัฐบริหารจัดการการศึกษาและศาสนาในพื้นที่จนสถาบันทั้งสองอ่อนแอ  รัฐควรส่งเสริมการศึกษาและศาสนาให้สอดคล้องวิถีชีวิต วัฒนธรรมของพื้นที่ ลดการกลืนกลาย การเน้นควบคุม แทรกแซง และควรส่งเสริมให้คนพื้นที่บริหารจัดการกันเอง
  • ด้านการเมือง การกระจายอำนาจ และกระบวนสันติภาพ : การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ตลอดจนการมีรูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสม และการเจรจาสันติภาพที่ยึดโยงกับกลไกประชาธิปไตย (รัฐสภา) แทนที่จะให้กองทัพมีบทบาทหลักดังเช่นที่เป็นอยู่
  • ด้านกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน: มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายพิเศษ ประชาชนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือและการคุ้มครองทางกฎหมาย ขณะที่อำนาจของทหารมีมากจนอยู่เหนือทุกหน่วยงาน

มุมมองต่อรัฐธรรมนูญในบริบทชายแดนภาคใต้

ประเด็นปัญหาที่พี่น้องชายแดนใต้ประสบมีความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญอย่างแนบแน่น เพราะการจะแก้ปัญหาจำต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดี เพราะรัฐธรรมนูญคือกติกาที่กำหนดการจัดสรรอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ ในประเทศ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น การยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การเพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเกษตรกร สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน รัฐสวัสดิการ

ในปัจจุบันมุมมองต่อรัฐธรรมนูญในบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้มีสองแนวทาง  แนวทางแรก มองว่าแม้รัฐธรรมนูญปี 60  จะมีปัญหา แต่ก็ยังมีส่วนที่ดีหรือมีการเปิดช่องที่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ได้ เช่น รัฐธรรมนูญปี 60 เปิดช่องเรื่องการกระจายอำนาจและระบุเรื่องการปฎิรูปกฎหมายเอาไว้ สิ่งที่ยังขาดคือการผลักดันอย่างจริงจังให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แนวทางนี้มักถูกนำเสนอโดยนักการเมืองในพรรคฝ่ายรัฐบาล

ส่วน แนวทางที่สอง เน้นถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญปี 60  ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากมีที่มาจากระบอบรัฐประหาร มีกระบวนการลงประชามติที่คุกคามผู้เห็นต่าง และมีเนื้อหาที่ลดทอนอำนาจของประชาชน  แนวทางนี้มองว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

เครือข่ายองค์กรภาคีคนจน มีเป้าหมายในผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (หรือเป็นแนวทางที่สอง) ซึ่งนอกเหนือจากการจัดทำร่างเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องมีการผลักดันกระบวนการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้นมาได้จริง ผ่านการทำประชามติเพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง อนึ่ง การทำประชามติจะเกิดขึ้นจริงได้ ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมืองก็ต้องช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้

ปัญหาชายแดนภาคใต้ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ประเด็นปัญหาชายแดนภาคใต้สามารถมีพื้นที่ในร่างรัฐธรรมนูญคนจนหรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1) การผสานอยู่ในหมวดหรือในมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ หมายความว่า หลายๆ ปัญหาที่ผู้คนชายแดนภาคใต้ประสบนั้นเป็นปัญหาร่วมกันกับปัญหาของพี่น้องประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย เช่น การไม่มีรัฐสวัสดิการ ปัญหาจากกระบวนการยุติธรรม การถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ฯลฯ ถ้าหากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขหรือร่างใหม่ให้เอื้อต่อการแก้ปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศและของคนชายแดนใต้ก็จะได้รับการแก้ไขไปด้วยกัน

2) การมีบทเฉพาะกาลเพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ เนื่องด้วยปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเรื้อรังยาวนานและส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องกำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ โดยมีองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการดำเนินการ และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน

ข้อควรคำนึงต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ชายแดนใต้

ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในบริบทของการแก้ปัญหาชายแดนใต้หรือการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ มีสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก ในพื้นที่ชายแดนใต้มีความหลากหลายของผู้คน ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คนละกลุ่มก็จะมีจุดยืนและมีความคิด มุมมอง ต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องรวบรวมความเห็นจากกลุ่มคนที่หลากหลายให้ได้ในน้ำหนักที่เท่ากัน ความเห็นจากทุกกลุ่มจะต้องได้รับความสำคัญเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นใคร ผู้ชาย ผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนพุทธ คนมุสลิม คนที่ไม่นับถือศาสนา ผู้ใหญ่ เยาวชน นักการศาสนา ชาวบ้าน นักการเมือง  ฯลฯ

ประการที่สอง ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในบริบทชายแดนใต้ จะต้องทำให้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการที่ผู้คนจะสามารถพูดถึงความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของตนในด้านต่างๆ ได้  ต้องไม่มีคำต้องห้าม จะปฏิรูปสถาบันใดก็ต้องพูดได้ จะเสนอรูปแบบรัฐแบบไหน ก็ต้องสามารถหยิบมาแลกเปลี่ยนได้ ต้องไม่มีมาตราใด หมวดใดที่แตะต้องไม่ได้หรือเสนอแก้ไขไม่ได้ ส่วนการที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อเสนอนั้นๆ ก็ขอให้ตัดสินกันด้วยกระบวนการประชาธิปไตยผ่านทางการโหวตหรือการลงประชามติ และผ่านทางกระบวนการทางรัฐสภา

 

บล็อกของ ออแฆกำปง

ออแฆกำปง
+++ การเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: การจัดการที่ดิน ระบบเกษตร และระบบนิเวศ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน +++
ออแฆกำปง
จากการที่คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการก่อสร้าง “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธ
ออแฆกำปง
“เมื่อรัฐใช้โครงการพัฒนาและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงยื้อแย่งทรัพยากรจากมือประชาชน ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง”
ออแฆกำปง
"สิทธิคนชายแดนใต้" (ตอนที่ 1)สิทธิทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพ และ สิทธิด้านการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร=======================