หลายคนอาจจะเคยสงสัยเหมือนกับชาน่าว่าในสมัยก่อนวิถีชีวิตของเกย์เป็นเยี่ยงไร วันนี้จึงหาคำตอบและเป็นความต้องการทราบส่วนตัวด้วยค่ะ เพราะว่ามีโอกาสได้ดูละครเรื่องสาปภูษา จึงใคร่รู้เยี่ยงนักว่าประวัติความเป็นมาและสังคม กฎระเบียบบ้านเมืองเป็นเช่นใด ข้าใคร่รู้ ณ บัดเดี๋ยวนี้
เมืองไทยเป็นเมืองพุทธความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตจึงสอดคล้องกับทางศาสนานำ โดยมีพระวินัยปิฎกในพุทธศาสนานั้นมีบัญญัติว่า “การเสพเมถุนทางทวารนั้นเป็นเหตุแห่งอาบัติปาราชิก แก่ภิกษุผู้กระทำ” ส่วนกฎหมายตราสามดวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงมีพระราชโองการให้กำหนดกฎหมายว่าด้วยการให้ราษฎรรักษาศีล คือ ศีลห้าในฐานะเป็นนิจศีล กับศีลแปดในฐานะเป็นอุโบสถศีล ตามกฎหมายฉบับนี้ถือว่าการเสพเมถุนธรรมโดยทางมุกขมรรค และเวจมรรคในกิริยาตนเอง เป็นการละเมิดศีลห้า ข้อที่ว่าด้วยกาเมสุมิจฉาฯ ส่วนการเสพเมถุนธรรมทางเวจมรรคกับผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่ต้องห้ามตามศีลข้อกาเม ฯ ก็เป็นการละเมิดศีลข้อ อพรหมจริยา ฯ อันเป็นอุโบสถศีล อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกำหนดโทษสำหรับการละเมิดศีลตามพระราชกำหนดฉบับนี้ไว้เป็นการเฉพาะ มีเพียงระบุไว้เป็นการทั่วไปว่า
“ถ้าแลผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดนี้ จะเอาผู้นั้นเป็นโทษตามโทษานุโทษ”
ถึงอย่างไรก็ตามการประพฤติของกลุ่มรักร่วมเพศชายกับชายไม่มีบันทึกอย่างเป็นทางการ เท่าที่มีก็คือการกล่าวถึงความประพฤติของเจ้านายบางพระองค์ที่ทรงไม่ยอมอยู่ร่วมกับหม่อม กลับนิยมบรรทมอยู่กับพวกละครที่ทรงเลี้ยงไว้ดังเช่นกรมหลวงรักษรณเรศร ในพระราชพงศาวดารของรัชกาลที่ 3 ซึ่งต่อมา กรมหลวงรักษรณเรศร ถูกสำเร็จโทษเพราะเหตุคิดกบฏ ซึ่งมีการกล่าวท้าวความว่าการคบกับพวกละครเช่นนั้นเป็นการชักพาให้เสียคน วินิจฉัยคดีไม่เป็นธรรม และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อสืบทราบต่อมาว่าคิดกบฏจึงทรงลงพระราชอาชญาสำเร็จโทษเสีย
ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้พระราชกำหนดลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2441) กำหนดโทษผู้ข่มขืนกระทำชำเราหญิงอันมิใช่ภริยาตน และผู้กระทำชำเราผิดธรรมดาโลกีย์ นับได้ว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ได้นำเอาหลักความรับผิดฐาน Sodomy ของฝรั่งมาบัญญัติเป็นกฎหมายว่าด้วยการทำชำเราผิดธรรมดาเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้นผู้กระทำชำเราผิดธรรมดาโลกีย์ต้องถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีลงมา ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ. 127 ความผิดฐานนี้ได้รับการลดหย่อนให้มีโทษต่ำลงคือ เหลือโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปีเท่านั้น
ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 นี้ ความผิดฐานการทำชำเราผิดธรรมดาถูกเรียกใหม่ว่าความผิดฐานทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ โดยสังเกตจากข้อความในมาตรา 242 แห่งกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งบัญญัติว่า “มาตรา 242 ผู้ใดทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือทำชำเราด้วยสัตว์เดรัจฉานก็ดี ล้วนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และให้ปรับตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปจนถึง 500 บาทด้วยอีกโสดหนึ่ง” โดยที่ความผิดฐานนี้เป็นของใหม่สำหรับวัฒนธรรมไทย นักกฎหมายในสมัยนั้นบางท่านจึงพยายามอธิบายถึงมูลแห่งความผิดฐานนี้ว่า เหตุที่ผู้กระทำต้องรับผิดก็เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการถ่วงความเจริญของบ้านเมือง หรือทำให้เสียเชื้อพืชพันธุ์ไปโดยไร้ประโยชน์ ซึ่งก็คงจะไม่เป็นที่เข้าใจหรือยอมรับกันได้อย่างเต็มใจมากนัก ดังนั้นต่อมาภายหลังเมื่อมีการตรวจชำระประมวลกฎหมายลักษณะอาญา และจัดทำประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ซึ่งได้ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2499 คณะกรรมการร่างประมวลกฎหมายจึงมีมติให้ยกเลิกความผิดฐานนี้เสีย เพราะเห็นว่ามักไม่เกิดเป็นคดีขึ้นประการหนึ่ง กับเห็นว่าจะเป็นการเสี่ยมเสียเกียรติยศของประเทศชาติอีกประการหนึ่ง
ดังนั้นหลังจากปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา การประพฤติตนเป็นคนรักร่วมเพศในประเทศไทยจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์อีกต่อไป
ข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการพิจารณาในทางนิตินโยบายว่าการกระทำเป็นเกย์หรือเป็นคนรักร่วมเพศ ว่าควรจะเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่นั้น อยู่ที่ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานของศีลธรรมอันดีของประชาชนในสังคมนั้นว่าเป็นอย่างไรและยอมรับการกระทำเช่นนั้นได้หรือไม่ โดยเหตุที่ค่านิยมในเรื่องนี้มีแตกต่างกัน ดังนั้นในขณะที่บางชาติถือว่าการทำ Sodomy ต้องมีโทษถึงตาย ไทยเราลงโทษไม่เกินสิบปี และเมื่อประเทศไทยยกเลิกความผิดฐานนี้เสียเมื่อปี พ.ศ. 2499
เหมือนกับว่า วิถีของเราล้วนเป็นไท ทำอะไรไม่ผิดเหมือนเฉกเช่น ชายหญิงทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่ชาวไทยให้เราทำกัน นับล้วนแต่เป็นความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิทธิและเสรีภาพภายภาคหน้าของชาวเราจะเป็นเหมือนคนทุกเพศ และชาน่าอยากเห็นเกย์ กลุ่มหลากหลายทางเพศของไทย ทำแต่เรื่องดี ๆ บ่อยครั้งที่ทราบข่าวเรื่องเสียหายที่เกิดจากกลุ่มหลากหลายทางเพศ จิตใจหดหู่ และบ่นกับเพื่อนเสมอว่า เราเป็นอย่างนี้ก็ลำบากมากพอแล้ว อย่าทำอะไรให้สังคมต้องตราบาปว่าเป็นพวกชนกลุ่มน้อยที่คอยแต่สร้างปัญหา
ทุกบ้านเมืองมีกฎหมายที่ต้องทำตาม หากเราทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่ขัดต่อกฏบ้านเมือง ล้วนแล้วแต่มีสิทธิ์ทำได้อย่างเสรีต่อให้ใครจะว่าเราเป็นเพศไหนก็หาได้สนใจไม่ ...