เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
แต่ละด่านชีวิตของพ่อที่ต้องข้ามผ่านวันหนึ่งๆ ล้วนอาศัยภาษาใจควบคู่กันไปด้วย หมายถึงกำลังใจและความหมายชีวิตอยู่
พ่อเดินทางไกลเกือบ 2,000 กิโลเมตร พ่อมากับรถไฟ การมาของพ่อเป็นความลับ พ่อห่วงลูกๆจะห้ามปรามไม่ให้เดินทาง พ่อจึงเก็บฤกษ์เดินทางไว้มิดชิด แต่ก็ไม่อาจหลุดรอดไปจากสายตาลูกๆ กระเป๋าเดินทางสองใบ ลูกๆไม่กล้าถามมากว่าพ่อไปนานมั้ย แต่กระเป๋าพองโตพอคาดเดาได้ว่า ที่นอนข้างหน้าของพ่อนั้น ยากจะคาดเดาเวลาเดินทางกลับ
เดินทางไม่ใกล้ พ่อเก็บปากเงียบ ไม่บอกใครว่าต้องทำอะไรบ้างระหว่างทาง เหล่าลูกๆต่างเป็นห่วงให้รุ่มร้อนไปตามๆกัน
พ่อมาในชุดเสื้อผ้าลดเลขวัยอายุลงครึ่งหนึ่งทีเดียว
ถึงสุดสถานี พ่อบอกทันทีว่า ไม่เหนื่อยเลย นอนบ้างตื่นบ้างมาตลอดทาง แถมด้วยเรื่องเล่าที่สถานีรถไฟหัวลำโพง มิตรแปลกหน้าบนโบกี้รถไฟ เรื่องเหล่านั้นไม่พ้นเรื่องคนเป็นพ่อแม่ไปหาลูกสาวลูกชาย
"ไม่ต้องห่วง บายๆ" พ่อตอบตัดบทเมื่อผมถามถึงสุขภาพร่างกาย
ก่อนพ่อมาถึงสองวัน ผมจัดการกับที่นอนของพ่อ จัดห้องเสียใหม่ ติดรูปภาพ ย้ายชั้นวางหนังสือ รวมไปถึงกะระยะแสงแดดกลางวัน ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของอาหาร
กิจกรรมเช้าของผมเปลี่ยนไป จากเดิมเริ่มกันง่ายๆด้วยมื้ออาหารตามแต่หยิบฉวยได้ แต่คราวนี้ไม่ใช่แล้ว สารอาหารของพ่อกับโรคประจำตัวพ่อเป็นตัวตั้ง ผมวิ่งไปมาระหว่างร้านตลาดผักปลอดสารพิษกับเตาไฟ วันละหลายๆรอบ
"สูตรของแม่ทั้งนั้น" ผมบอกพ่อ พ่อรีบตอบสวนทันทีว่า "ไม่ทำแต่เด็กๆ ใหญ่ขึ้นใครจะทำให้กิน"
พ่อกินข้าวกล้องทุกมื้อ เมนูอาหารที่หนักไปทางผัก งดเนื้อ งดอาหารมัน งดเค็มจัด เผ็ดจัด แถมด้วยไปเดินเล่นออกกำลังกาย
พ่อบอกความรู้สึกว่า สบายใจ ทุกวัน
จากนั้นพ่อก็ออกเดินสำรวจต้นไม้ในบ้านทุกต้น ทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ ต้นไม้กินได้อย่างกล้วย มะม่วง มะไฟ ตำลึง กระถิน มะนาว สะเดา ชะอม ฯลฯ รวมถึงไม้ใหญ่ที่หลงเหลือจนได้ชื่อว่าไม้เก่าแก่ อย่างต้นสักใหญ่ 4 ต้น ไผ่กอใหญ่สูงเกินหลังคา
"กล้วยป่า ปลูกทำไร ลูกมันกินไม่ได้ ปลูกรกบ้านเปล่าๆ นั่นต้นเหลียง ใครเขาปลูกเหลียงไว้ในบ้าน ต้นมันใหญ่ รากทำให้บ้านเสีย ม่วงแก่ต้นนั้นไม่ออกลูกแล้ว" ..
บางเรื่อง ที่ให้บทเรียนชีวิตพ่อ เป็นจริงที่สุด สอดคล้องกับความจริงชีวิตมากที่สุด พ่อเข้าป่าทุกครั้ง ไม่ใช่ไปเดินเล่นเดินเที่ยวแน่ๆ แต่หมายถึงอาหารในรูปของหน่วยผล ใบ ดอกผล หัวแง่ง จะติดตัวมาด้วย และไม่ว่าจะเข้าป่าไปกี่ครั้ง ก็จะต้องได้อาหารมาเลี้ยงดูทุกชีวิตในบ้าน จนกระทั่งลูกทุกคนโบยบินออกไปจากชายคาบ้าน
พ่อยังตามไปดู ตามไปทำความเข้าใจ
ซุ้มประตูไม้ที่พ่อทำขึ้นตรงรั้วกำแพงบ้าน เมื่อสามปีก่อน แม้จะถูกสร้างขึ้นมาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่พ่อก็ใช้ความรู้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต สร้างซุ้มประตูไม้จนสำเร็จ แค่ผมเห็นท่าพ่อนั่งๆยืนๆวัดระดับน้ำ ตอกแผ่นไม้ให้เข้ารูปกับซีเมนต์ หรือเหลี่ยมมุมซุ้มประตูที่มองเห็นจากระยะไกล มองแล้วเกิดความรู้สึกรื่นรมย์ยินดีเหลือเกิน
พ่อมาคราวนี้ แม้จะอยากทำโน่นทำนี่ แต่ผมก็ปรามไว้ทุกครั้ง
พ่อเพิ่งเข้าใจพื้นที่ชีวิตผมเมื่อไม่นาน ว่าทำไมลูกชายถึงไม่ยอมใส่ชุดเครื่องแบบไปทำงานนอกบ้าน จากเฝ้าเครื่องพิมพ์ดีดมาถึงเฝ้าจอสี่เหลียมที่มีแสง พ่อไม่มีคำถามแล้วว่าผมจะเลือกทำงานชนิดไหน เพื่อพาตัวเองและคนข้างตัวไปให้รอด
ถึงวันนี้ ผมไม่รู้หรอกว่าพ่อจะพอใจหนทางดำเนินชีวิตของลูกชายหรือไม่ พ่อผ่านโลกลำบากมามากกว่าหลายเท่า การได้เห็นลูกชายออกเดินไปพิชิตหน้ากระดาษ ด้วยลำเลียงตัวหนังสือเป็นอาวุธทะลุทะลวงไปทุกทาง จนกว่าการรบจะเสร็จสิ้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายๆเช่นกัน หน้ากระดาษโชกด้วยสีดำตัวหนังสือ เปื้อนแล้วยากลบออกง่ายๆ
พ่ออยากรู้อะไรในตัวลูกชายอีกมั้ย กับวันเวลาที่ไม่ได้อยู่ร่วมชายคาเดียวกันนานๆ แน่นอนว่าพ่อไม่ใช่นิสัยถามตรงตอบตรงตลอดเวลา พ่อเดินอ้อมทุกครั้งที่เป็นฝ่ายมองเข้ามายังลูกชาย แต่ยามรุกคำตอบบางเรื่องก็ล้ำเข้ามาอย่างเงียบเย็น พ่อเข้าถึงตัวลูกชายอย่างนั้น
พ่อไม่ถามว่า เขียนหนังสืออีกเท่าไหร่ถึงจะพอ เพราะถ้าพ่อเกิดถามจริงๆ ผมก็คงตอบว่า นอนเท่าไหร่ถึงจะพอล่ะพ่อ กินเท่าไหร่ถึงจะพอ พ่อไม่ถามว่าเดินทางอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ เพราะพ่อเดินทางมาเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว พ่อก็ยังต้องเดินทาง
เพียงแต่ผมแอบตอบตัวเองเงียบๆว่า สงสัยตอนที่ผมเดินออกมาจากพ่อนั้น ผมติดเชื้อเดินทางจากพ่อมาเต็มๆ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย
*** งานชิ้นนี้ เคยตีพิมพ์ครั้งแรกใน เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ คนคือการเดินทาง ฉบับ เสาร์ วันที่ 6 มิถุนายน 2552