Skip to main content

 


 
 
 
ซาเสียวเอี้ย
 
‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตายแล้ว...
 
แม้การตายของเขาจะไม่ได้ทำให้โลกสะท้านสะเทือนอะไรมากนัก แต่ก็มีความหมายสลักสำคัญมิใช่น้อย เพราะบทบาทของวิลสันในสมัยที่เขายังหนุ่มแน่นและดำรงตำแหน่ง สว.รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่าควรจะจดจำเขาไว้ในฐานะอะไร...
 
บ้างก็ว่า ชาร์ลี วิลสัน คือ ‘นักการเมืองเจ้าสำราญ’ เจ้าของฉายา Good Time Charlie ผู้มีชีวิตโลดโผนเต็มไปด้วยสีสัน หรือเป็น ‘วีรบุรุษชาวอเมริกัน’ ผู้ช่วยให้นักรบมูจาฮิดีนขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตอันโหดร้ายป่าเถื่อนไปจากอัฟกานิสถาน ขณะที่บางคนมองเขาเป็นผู้จุดชนวนสงครามในต่างแดน และเป็นผู้ปลดปล่อย‘ปีศาจร้าย’ ให้หลุดออกสู่โลกยุคหลังสงครามเย็น...
 
00000
 
แต่ที่แน่ๆ.....ช่วงชีวิตหนึ่งของชาร์ลี วิลสัน ถูกถ่ายถอดออกมาเป็นหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Charlie Wilson’s War ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2550 และเป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับไมค์ นิโคลส์ (The Graduate, Birdcage, Closer) พูดถึงปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่นักรบชาวอัฟกันที่ต่อต้านการบุกเข้ายึดครองของกองทัพสหภาพโซเวียตระหว่างปี 2522-2533 (ค.ศ.1979-1992)
 
หนังเข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ ไม่ได้มีกระแสอะไรหนุนส่งให้โด่งดังตามสื่อต่างๆ มากนัก แต่หนังก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบนเวทีออสการ์ปี 2551 หลายสาขาด้วยกัน แถมยังได้นักแสดงนำที่มีภาพลักษณ์ดีอย่าง ‘ทอม แฮงค์’ มารับบท ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตามด้วย ‘จูเลีย โรเบิร์ตส์’ รับบท ‘โจแอนน์ แฮร์ริ่ง’ สาวสังคมอนุรักษ์นิยมซึ่งมีตัวตนจริงอีกเช่นกัน และเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการลับในสงครามอัฟกานิสถานครั้งที่ 1
 
เมื่อชาร์ลี วิลสัน ‘ตัวจริง’ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2553 ที่ผ่านมา ก็เป็นโอกาสให้ใครหลายคนได้ทบทวนประวัติศาสตร์กันอีกรอบผ่านการอ่านคำอุทิศและข่าวคราวการเสียชีวิตของวิลสันตามสื่อต่างๆ ทางฝั่งอเมริกาและยุโรป และหนัง Charlie Wilson’s War ก็ถูกหยิบยกมาวิพากษ์ใหม่ด้วย
 
เนื้อหนังบอกเล่าเรื่องราวการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง และการต่อสู้ของอุดมการณ์ต่างขั้วระหว่างเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยมในดินแดนเสรีประชาธิปไตยนามว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ และแนวทางการพลีชีพปกป้องมาตุภูมิของบรรดานักรบมูจาฮีดินที่ต่อสู้เพื่อดินแดนอัฟกานิสถาน แต่ที่ถูกขุดคุ้ยลึกลงไปกว่านั้นคือการชี้เป้าว่าบทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในประเทศต่างๆ นั้นส่งผล (หายนะ?) อย่างไร
 
ในความทรงจำเลือนลางยุคสงครามเย็น ‘สหภาพโซเวียต’ เคยเป็นเสาหลักในโลกคอมมิวนิสต์ คอยคัดง้างกับมหาอำนาจในโลกทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ ซึ่งหวาดผวาว่ากองทัพแดงของบรรดาสหายทั้งหลายจะยึดกุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจนคุกคามเสถียรภาพของ (ทุนนิยม) ประชาธิปไตยให้สั่นคลอน ผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้นจึงพยายาม ‘เตะตัดขา’ ปิดกั้นหนทางแพร่ระบาดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกวิถีทาง
 
ไม่ว่าจะเป็นยุคอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ หรือยุคของโรนัลด์ เรแกน รัฐบาลของผู้นำทั้งสองล้วนให้ความสนใจกับการรุกคืบของโซเวียตเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ จึงได้มีการออกคำสั่งอย่างลับๆ ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ให้หน่วยข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาดูความเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถานให้ดี
 
เมื่อโซเวียตเคลื่อนกองทัพเข้าสู่อัฟกานิสถานเพื่อบุกเข้ายึดครองเบ็ดเสร็จ และจัดตั้ง ‘รัฐบาลหุ่นเชิด’ ของประธานาธิบดีบาบรุค คาร์มาล ขึ้นครองประเทศในปี 2523 ทำให้ชาร์ลี วิลสัน ซึ่งมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพลี้ภัยชาวอัฟกันบริเวณชายแดนปากีสถาน เกิดความตั้งใจแรงกล้าที่จะช่วยชาวอัฟกัน ‘ขับไล่’ กองทัพโซเวียตออกไป
 
วิลสันกลายเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการต่อรอง จัดสรร และใช้วิธีตุกติกต่างๆ โน้มน้าวให้รัฐบาลยอมอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประชาชนในอัฟกานิสถาน และได้ความสนับสนุนจากสาวสังคมคนดังในฮุสตันอย่าง ‘โจแอนน์ แฮร์ริง’ เป็นตัวกลางแนะนำให้รู้จักกับคนดังในแวดวงต่างๆ เพื่อช่วยต่อยอดภารกิจช่วยเหลือชาวอัฟกันให้สำเร็จเสร็จสิ้น
 
แต่ผู้วางแผนปฏิบัติการที่สำคัญอีกคนหนึ่งคือ ‘กัสต์ อะฟราโคโทส’ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองที่ได้รับฉายา Mr.Dirty ในฐานะผู้ผลักดันให้ ‘ปฏิบัติการไซโคลน’ เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งในหนังได้ ‘ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน’ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายจากเรื่อง Capote มารับบทบาทนี้
 
00000
 
ปฏิบัติการไซโคลนถูกอ้างถึงในรายงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการลับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา และใช้เงินไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองกำลังนักรบมูจาฮีดินซึ่งต่อต้านโซเวียต และทำสงครามในนามของพระเจ้าเพื่อนำอัฟกานิสถานไปสู่หนทางการเป็นรัฐอิสลามเต็มรูปแบบ
 
อาจเป็นไปได้ว่าในยุคที่สหรัฐอเมริกากำลังต่อสู้กับโซเวียตซึ่งไม่เชื่อมั่นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า การให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มนักรบซึ่งประกาศตัวว่ายอมอุทิศตนเพื่อศาสนา คงเป็นเรื่องซึ่งยอมรับได้ง่ายกว่าสำหรับคนในประเทศที่พิมพ์ข้อความลงไปในธนบัตรว่า “In God We Trust”
 
เรื่องราวในหนังทำให้เรามองเห็นการสู้รบแบบกองโจรของกลุ่มมูจาฮีดิน สลับกับวิธีเจรจาต่อรองหลอกล่อแบบนอกกรอบของวิลสัน ไม่ว่าจะเป็นการพานักเต้นระบำหน้าท้องไปร่วมวงคุยกับผู้นำการเมืองเพราะหวังเบี่ยงเบนความสนใจ หรือการโน้มน้าวให้พ่อค้าอาวุธชาวยิวยอมขายของให้กับชาวมุสลิมที่เป็นปฏิปักษ์กันมานาน และการยื่นหมูยื่นแมวกับเพื่อน สว.ให้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนอนุมัติงบช่วยเหลือชาวอัฟกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่วิลสันจะลงคะแนนคัดค้านการตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตของอีกฝ่ายแทน
 
เราจึงได้เห็นการหลับตาข้างเดียว ทำเป็นลืมๆ เรื่องการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์-คานอำนาจ เพื่อให้เกิดการสมประโยชน์ทางการเมือง และเอ่ยอ้างว่าจำเป็นต้องยอมเบนหลักการเพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งในหนังเป็นการเอ่ยถึง ‘อิสรภาพ’ ของชาวอัฟกัน แม้ว่ามันจะนำไปสู่การต่อสู้ถึงเลือดถึงเนื้อยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2526-2533 และทำให้ชาวอัฟกันหลายแสนคนต้องอพยพบ้านแตกไปทั่วโลก
 
ขณะที่ช่วงท้ายๆ ของหนัง (และความเป็นจริงช่วงท้ายๆ ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต) ได้ตีแผ่ความจอมปลอมของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สั่งตัดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาชาวอัฟกันทิ้งทันทีที่โซเวียตยอมถอนทหารออกไปจากดินแดนอัฟกานิสถาน ไม่เว้นแม้แต่งบประมาณสร้างโรงเรียนหรือฟื้นฟูระบบการศึกษาทั้งที่วิลสันและอะฟราโคโทสพยายามต่อรองโน้มน้าวคนในรัฐบาลทุกวิถีทางแล้วเช่นกัน
 
ชาร์ลี วิลสัน จึงรำพึงรำพันในตอนท้ายของหนังว่า “เราทำทุกอย่างพังในตอนจบ” เพราะแทนที่จะสานต่อภารกิจให้ลุล่วงด้วยการเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงแนวทางสันติภาพที่จะนำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลหรือการวางรูปแบบการปกครองที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รัฐบาลสหรัฐฯ กลับตีจากและไม่สนใจที่จะเข้าไปดูดำดูดีอะไรอีก เพราะเป้าหมายหลักในการกำจัดศัตรูตัวฉกาจอย่างโซเวียตถือว่าสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว
 
ชะตากรรมของชาวอัฟกันที่ต้องดิ้นรนกันต่อท่ามกลางเศษซากสงคราม ทำให้กองกำลังติดอาวุธ (ที่ได้มาจากสหรัฐฯ) ตั้งตัวเป็นกลุ่มอำนาจต่างๆ และแย่งชิงการเป็นผู้นำ ขณะที่กองกำลังตาลีบันและโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัล-เคดา ซึ่งกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกายุคหลังสหัสวรรษก็เริ่มก่อร่างสร้างแนวร่วมในช่วงเวลาเดียวกันนี้...ที่ดินแดนอัฟกานิสถาน...
 
00000
 
สงครามของชาร์ลี วิลสัน ในหนังของไมค์ นิโคลส์ จบลงตรงที่ ส.ว.ชาร์ลี เป็นพลเรือนคนแรกที่ได้ขึ้นรับเหรียญเกียรติยศจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันให้สงครามอัฟกานิสถานยุติลง แต่เมื่อวิลสันตัวจริงเสียชีวิตลง บทบรรณาธิการของนิตยสารไทม์สในลอนดอนกลับกล่าวถึงบทบาทของวิลสันในฐานะที่เป็น ‘ผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย’ ซึ่งกำลังหลอกหลอนกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพพันธมิตรอย่างหนักจนต้องประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาจนถึง ณ ปัจจุบันขณะ
 
เช่นเดียวกับที่จำนวนทหารอเมริกันและทหารของกองกำลังนาโตถูกส่งไปรบใน‘สงครามอัฟกานิสถาน’ (รอบใหม่) มีจำนวนมากกว่า 150,000 นาย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
 
หากวิลสันเป็นผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย.... มีใครอีกบ้างที่ควรทบทวนบทบาทในฐานะผู้หลอเลี้ยงให้ปีศาจยังดำรงความเกลียดชังอยู่ได้ด้วยนโยบายการเมืองและต่างประเทศที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเพียงอย่างเดียว?
 

 

บล็อกของ Cinemania

Cinemania
นพพร ชูเกียรติศิริชัย   “การที่ใครจะเป็น ‘modern’ (ทันสมัย) เขาคนนั้นก็จะต้องคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และพร้อมทุกเมื่อที่จะละทิ้งและตัดขาดจากของเก่าที่ดำรงอยู่ (tradition) และที่สำคัญ คือ พร้อมทุกเมื่อที่จะละทิ้งและตัดขาดจากตัวตนของตัวเองที่ดำรงอยู่ ถ้าตัวตนเป็น modern ก็ต้องพร้อมที่จะละทิ้งความเป็น modern ด้วยเหตุผลของความเป็น modern เอง”  “ในการจะเป็น modern มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็น postmodern หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าใครจะเป็น modern เขา หรือเธอคนนั้นก็จะต้องเป็น postmodern มิฉะนั้นแล้ว เขาก็ไม่สามารถเป็น modern ได้” (Jean-Francois…
Cinemania
นพพร ชูเกียรติศิริชัย   ผมชอบคำว่า ‘เพื่อนบ้าน' (Neighbor) เนื่องจากผมเล็งเห็นว่า คำว่า ‘เพื่อนบ้าน' นั้นดูจะมีความหมายในการมอง ‘มนุษย์' ที่อยู่รอบๆ ตัวของผู้พูด ผู้เขียน ผู้ใช้ คำๆ นี้ในแง่ดี (Positive Thinking) ส่วนคำว่า ‘จ๊ะเอ๋' นั้น ผมจำได้ว่าเป็นคำที่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน (รวมทั้งตัวผม) มักจะใช้เล่นกับเด็กๆ ด้วยการเอามือ ผ้า หรือสิ่งของอื่นๆ ที่หาได้สะดวก ปิดหน้าปิดตาของตัวผู้ใหญ่เอง (หรือใช้ปิดตาเด็ก) หลังจากนั้นจึงเปิดหน้าออกพร้อมรอยยิ้มแล้วกล่าวคำว่า ‘จ๊ะเอ๋' ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะชอบและมักจะมอบรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะเป็นการแสดงความพึงพอใจต่อการละเล่นชนิดนี้…
Cinemania
  นพพร ชูเกียรติศิริชัย    บางครั้งผมก็รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะต้องหอบสัมภาระมากมายเข้าไปในโรงภาพยนตร์ปัจจุบันผมแอบสงสัยว่าเหตุใดความสุขในการชมภาพยนตร์แบบเมื่อครั้งยังเป็นเด็กจึงสูญหายไป จนเมื่อมีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง ‘สะบายดีหลวงพระบาง'จึงทำให้ผมรับรู้ว่าแท้จริงแล้วความสุขในวัยเด็กของผมไม่ได้หายไปไหน แต่หนังสือ ตำรา คำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ผมแบกเอาไว้ในสมองต่างหากที่บดบังความสุขแบบที่เราคุ้นเคย 
Cinemania
นพพร ชูเกียรติศิริชัย ถ้าหาก E เท่ากับ EMOTION (อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง และ อื่นๆ), M เท่ากับ MAN (มนุษย์ไม่ว่าหญิง ชาย และอื่นๆ) และ C เท่ากับ CLOCK (ซึ่งหมายถึงระยะเวลา) จากสมการ E=mc2คุณคิดว่า ‘จำนวนของบุคคล' ที่เหมาะสมกับ ‘ความรัก' จะเท่ากับเท่าไหร่? รัก/สาม/เศร้า ตามสมการ รัก/สอง/สุข และเวลาแค่ไหนถึงจะพอสำหรับ ‘รัก' ‘รัก/สาม/เศร้า' เป็นเรื่องราวของเพื่อนรักสามคน ที่ ‘แอบรัก' กัน ในฐานะที่มากกว่าเพื่อน ‘น้ำ' แอบรัก ‘พายุ' ‘พายุ' แอบรัก ‘ฟ้า' โดยที่ตัวฟ้าเองก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าพายุแอบรักตนเอง (และก็ไม่เคยรับรู้เช่นกันว่าเพื่อนรักของตนอย่าง ‘น้ำ' ก็แอบรักเพื่อนรักอย่าง ‘พายุ'…
Cinemania
  < นพพร ชูเกียรติศิริชัย >     หากพูดถึงประเทศจีน คุณนึกถึงอะไร? กังฟู, ก๋วยเตี๋ยว, หมีแพนด้า,มังกร, ลูกท้อ,ซาลาเปา, ปรัชญาลัทธิเต๋า และภูเขาสูงหน้าตาแปลกๆ   หากสิ่งเหล่านี้คือคำตอบของคุณ นั่นก็หมายความว่า คุณพร้อมแล้วที่จะไปสัมผัสกับภาพยนตร์ ‘KUNG FU PANDA’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘กังฟูแพนด้า จอมยุทธพลิกล็อค ช็อคยุทธภพ’   ผมไม่แน่ใจว่าหมีแพนด้าถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของ ‘มิตรภาพ’ ระหว่างประเทศจีน กับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ บทบาทความเป็น ‘ทูตสันติภาพ’ ของหมีแพนด้า ในบัดนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านจอภาพยนตร์ฮอลีวู้ดไปเป็นที่เรียบร้อย 
Cinemania
   ปิติ-ชูใจท่ามกลาง ‘หนังซัมเมอร์' ที่ดาหน้ากันมาถมจนเต็มพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ช่วงฤดูร้อน ทางเลือกของคนดูหนังใน ‘โรงหนังชั้นนำใกล้บ้านคุณ' ก็ยังไม่ได้หลากหลายอะไรนัก เพราะแนวทางหลักๆ ของหนังซัมเมอร์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ก็มีแค่ แอ๊กชั่น, ตลก, สยองขวัญ และอนิเมชั่น กรณีที่อยากดูหนังนอกกระแส ก็ต้อง ‘เข้าเมือง' กันอย่างเดียว เพราะที่ทางของหนังเหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ที่สยามหรือไม่ก็สุขุมวิทแค่นั้น (ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในยุคที่หนังถูกจำกัดความหมายให้เป็นแค่เครื่องมือผ่อนคลายและสร้างความบันเทิง) แต่อย่างน้อยที่สุด หน้าร้อนปีนี้ยังมีหนังไทยน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง ที่พอจะแหวกกระแสเดิมๆ…
Cinemania
   ::: ข้อความหลังเส้นประของข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ::: โดย...ณภัค เสรีรักษ์ภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชื่อดัง ‘หว่องการ์ไว' (Wong Kar Wai) ที่เพิ่งเข้าฉายให้ผู้ชมในดินแดนประเทศไทยได้ชมกันตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่เพิ่งจะผ่านมา (2008) ที่มีชื่อว่า My Blueberry Nights นั้น อาจมีประเด็นต่างๆ นานาให้สามารถสร้างบทสนทนากันได้มากมายและยาวนาน แต่สำหรับในที่นี้นั้น ผมอยากจะ ‘หยิบเลือก' เพียงบางประเด็นมา ‘อ่าน' หรืออีกนัยหนึ่ง ‘สนทนา' เกี่ยวกับ ‘ตัวละคร' ในภาพยนตร์ดังกล่าว ภายใต้ความคิดเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความทรงจำ' ซึ่งสะท้อนร่วมกับความคิดเกี่ยวกับ ‘…
Cinemania
Between the FramesE-mail: betweentheframes@gmail.com:::Spoil::: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของภาพยนตร์ :::Spoil::: "All those gathered here will know that it is not by sword or spear that the LORD saves; for the battle is the LORD's, and He will give all of you into our hands."                                                   …
Cinemania
 :::Spoil::: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของภาพยนตร์ :::Spoil::: เวลา 2 ชั่วโมงกว่า (158 นาที) ในหนัง There will be blood - ผลงานเรื่องที่ 5 ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson คือเรื่องราวในด้านที่มืดดำของมนุษย์ เต็มไปด้วยความโลภ ความอ่อนแอ สันดานดิบ และแน่นอน...มันรวมไปถึง ‘การสร้างศรัทธา' ด้วยวิธีการอันน่าขนลุกด้วย...เราได้รู้จัก ‘เดเนียล เพลนวิว' (Daniel Day-Lewis) นักเสี่ยงโชคที่ตั้งใจทำเหมืองเงิน แต่บังเอิญได้ที่ดินซึ่งมีน้ำมันดิบนอนสงบนิ่งอยู่ใต้พื้นมาแทน โลกของเดเนียลไม่มีคำว่า ‘สุดแท้แต่โชคชะตา' หรือ ‘ศรัทธา' ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า ‘พระผู้เป็นเจ้า'…
Cinemania
ซาเสียวเอี้ยการไล่ตีแมลงสาบบนฝาบ้าน อาจเป็นเกมสนุกสนานอย่างหนึ่ง และเพียงสายลมเย็นจากพัดลมมือสองที่เป่าไล่ความร้อนในค่ำคืนอบอ้าวอาจเป็นถึง ‘รางวัลชีวิต' ของสองพ่อลูกผู้ยากจน...ผู้อาศัยอยู่ในโลกแห่งความแร้นแค้นทั้งหมดที่่ว่ามา-อาจฟังไม่ต่างจากสงครามชีวิตสุดรันทด (บัดซบ!) แต่เมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของ ‘โจวซิงฉือ' ไอ้สิ่งที่ควรจะเศร้า...กลับทำให้เราหัวเราะออกมาได้000ถึงแม้ว่าหน้าหนังของ CJ7 จะถูกโฆษณาว่าเป็นแนว Sci-fi แต่ ‘ใจความสำคัญ' ที่อยู่ในนั้น ไม่ใช่ ‘ความลี้ลับ' ของจักรวาลอันกว้างใหญ่ หรือถ้าจะพูดให้ชัดๆ ก็ต้องบอกว่า นี่คือหนังครอบครัวแนว Comedy-Drama ที่ให้ ‘…