นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชามีศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงมากมายหลายท่าน มีศิลปินนักร้องท่านหนึ่ง ซึ่งถือว่า เป็นตำนานของวงการเพลงกัมพูชานับตั้งแต่หลังได้รับเอกราช จนถึงยุคปัจจุบันนี้ จนได้รับสมญานามว่าเป็น “จักรพรรดิเสียงทอง” ศิลปินท่านนั้น คือ (1)สิน สีสามุต (Sinn Sinsamouth) นั้นเอง
วันที่ 23 สิงหาคม ปี 1923 เป็นวันเวลา ที่ศิลปินท่านนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น ในแผ่นดินจังหวัดสตึงแตรง จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา อันเป็นมาตุภูมิของท่าน ในร่มเงาครอบครัวของนายสิน เลียงผู้เป็นบิดา กับนางสิน บุนลีผู้เป็นมารดา(2) ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายผสมลาว ปนจีน โดยท่านสิน สีสามุตเป็นบุตรชายคนเล็กสุดของครอบครัว จากพี่น้องชายหญิงของท่านจำนวน 4 คน ชาย 2 คน และหญิง 2 คน
แววความเป็นนักร้องนักดนตรีเริ่มแสดงออกมาตั้งแต่ท่านเข้าเรียนโรงเรียนประถมศึกษา ณ จังหวัดสตึงแตรง เมื่อ อายุ 6-7 ขวบ โดยท่านได้เล่นดนตรี โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่ถนัด คือ กีตาร์ รวมไปถึงร้องเพลงในกิจกรรมของโรงเรียนมาโดยตลอด จนเป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์ และเพื่อนฝูงร่วมชั้นเรียนของท่าน นอกจากนี้ท่านยังทำกิจกรรมเล่นดนตรี ในหมู่บ้านของท่าน รวมไปถึงกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งท่านเลื่อมใสศรัทธา และสนใจการศึกษาภาษาบาลีอย่างแตกฉาน จากพระภิกษุของวัดประจำหมู่บ้านท่านอีกด้วย
ท่านได้เริ่มต้นความเป็นศิลปินนักร้องอย่างจริงจัง เมื่อท่านได้เดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงพนมเปญ ในโรงเรียนเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดเภสัชกรในสมัยนั้น โดยท่านพักอาศัยกับลุงของท่าน โดยใช้ช่วงเวลาว่างจากการเรียนแต่งเพลง เล่นดนตรี ฝึกฝนการร้องเพลง ท่านได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนเหมือนเมื่อสมัยท่านอยู่ชั้นประถมศึกษา ในการทำกิจกรรมด้านดนตรี จนท่าน กับเพื่อนๆ ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นมาชื่อว่า “พระจันทรรัศมี” ซึ่งมีสมาชิกในวง 9 คน จนชื่อเสียงโด่งดังไปทั่งกรุงพนมเปญ จนโด่งดังสุดขีดในปี 1953 สถานีวิทยุแห่งชาติของกัมพูชา ได้เชิญวงพระจันทร์รัศมี ไปร่วมเล่นดนตรี คู่กับวงดนตรี ราชสีห์ ซึ่งเป็นวงดนตรีประจำสถานีวิทยุแห่งชาติในสมัยนั้น
เมื่อท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนเวชศาสตร์ แล้วท่านทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล พระเกตุมาลา ในระยะเวลาสั้นๆตามคำร้องขอของครอบครัว แต่ท่านเลือกที่จะทำในสิ่งที่ท่านรัก คือ เสียงเพลงเสียงดนตรี โดยการเป็นนักร้องประจำสถานีวิทยุแห่งชาติกัมพูชา ความสามารถทางดนตรีของท่านหลากหลาย ทั้งการแต่งเพลง ท่านขับร้องเพลงด้วยน้ำเสียงขับร้องที่ไพเราะ ได้หลากหลายแนว ทั้งเพลงแขร์แบบสมัยใหม่ (3)เพลงขแมร์แบบโบราณทั้ง สักวา อาไย จาเปย ยีเก และเพลงละครบาสัก
ท่านได้มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในปี 1963 กับห้างแผ่นเสียงวัดพนม ซึ่งมีบทเพลงดังหลายเพลงของท่าน ที่บันทึกเสียงที่นี้ และหนึ่งในบทเพลงที่ดังที่สุด คือ จำปาพระตะบอง
เนื้อเพลงจำปาพระตะบอง แปลและถอดความเป็นภาษาไทย
เพลง จำปาพระตะบอง
ขับร้องโดย สิน สีสามุต
โอ้ พระตะบอง บันดลใจเอย
ฉันขอลาเลย แล้วลาทั้งอาลัย
ตั้งแต่ตัวฉันได้จากไปไกล
กระวลกระวายนึกเสียดายจนไร้เรี่ยวแรง
โอ้พระตะบองกงกรรมวาสนา
ขอปรารถนาว่าคิดถึงตลอดเวลา
ก่อนจะเป็นคู่ฉัน จากบุพเพสันนิวาส
ขอให้น้องยานึกถึงครั้งเก่าก่อน
ข้ามผ่านนานปี พี่ค่อยแต่เนื้อทอง
มีแต่ตัวน้องเป็นลมหายใจ
ก็เพราะนวลละอองพี่ขอหวังไว้
ยิ้มด้วยหวัง ว่าได้นวลน้องเป็นคู่ชีวา
โอ้พระตะบอง ฉันปองอยู่เอย
วันไหนเลยได้ซาบซึ้งถึงดวงหน้า
ใจกระตุ้นเตือนทุกวันหมกไหม้ในอุรา
อยากได้ อยากได้จำปาพระตะบองเอย
ชื่อเสียงของท่านขึ้นมาสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 ท่านได้เข้าร่วมบันทึกแผ่นเสียงถวายแด่ พระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ ในบทเพลงพระราชนิพนธ์สองบทเพลง คือ (4)เรียเตรียจวบเภียคตร์ (ราตรีพบพักตร์) และ "พนมเปญ" ในปลายทศวรรษที่ 60 และในต้นทศวรรษที่ 70 นอกจากนี้ ท่านเคยบันทึกแผ่นเสียงบทเพลงแก้ร้องโต้ตอบ กับนักร้องหญิงไว้มากมาย เช่น " นางรส เสรีสุทธา ,นางแก้ว สิทธา ,นางฌุน วรรณา ,นางฮุย มาส ,นางแปน รน" และ นางเมา สาเรต รวมไปถึงการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของกัมพูชาอีกหลายเรื่อง ซึ่งผลงานจากน้ำเสียงการขับร้องที่กังวาลของท่านได้รับความนิยมจากมิตรรักแฟนเพลงชามกัมพูชาอย่างล้นหลาม
นับเป็นที่น่าเสียดาย ที่ชีวิตของท่านได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมืองในกัมพูชา ตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลลอน นอล เพื่อก่อตั้งสารธารณรัฐกัมพูชา จนมาถึงยุคเขมรแดงได้บุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ ในเดือนเมษายน ปี 1975 ท่านถูกบังคับให้ออกไปจากกรุงพนมเปญ พร้อมกับประชาชนชาวกรุงพนมเปญนับล้านๆคน ต่อมาท่านได้ถูกพวกเขมรแดงสังหาร หลังจากการบันทึกบทเพลงให้กับกองทัพเขมรแดงเสร็จสิ้นแล้ว ในวันที่ 18 มิถุนายน 1976 ในอำเภอเกาะธม(เกาะใหญ่) จังหวัดกอนดาล
แม้ท่านได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับแล้วก็ตาม บทเพลงของท่านยังอยู่ในความทรงจำ ยังอยู่ในหัวใจของมิตรรักแฟนเพลงประชาชนชาวกัมพูชาตลอดกาล เทปบันทึกเสียง และแผ่นเสียง ของท่านส่วนมาก ถูกทำลายไปในสมัยเขมรแดงเรืองอำนาจ เทปบันทึกเสียง แผ่นเสียงที่ยังคงเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ ประชาชนผู้ที่รักในเสียงของท่านได้ นำมาบันทึกในสื่อสมัยใหม่ทั้งในเทปคาสเสท ซีดี จึงทำให้เสียงของท่านยังคงมีให้ฟังกันอยู่ตามสถานีวิทยุต่างๆ รวมไปถึงนำไปบันทึก เผยแพร่ในคอมพิวเตอร์ และระบอบอินเตอร์เนต
...................................................
อธิบายเพิ่มเติม
(1) ธรรมเนียม การตั้งชื่อของชาวกัมพูชา จะนำนามสกุลนำหน้า แล้วตามด้วยชื่อ คล้ายๆชาวเวียดนาม
(2)มารดาของท่านได้แต่งงานใหม่ หลังจากที่นายสิน เลียงได้ย้ายไปเป็นพัศดีที่เรือนจำพระตะบอง แล้วเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา มารดาของท่านมีบุตรกับสามีใหม่ 2 คน
(3)จะอธิบายในโอกาสต่อไป เกี่ยวกับการแสดงดนตรีโบราณของกัมพูชา
(4)โปรดอ่านที่ พระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ เอกอัครศิลปินแห่งกัมพูชา http://blogazine.in.th/blogs/jumreabsur/post/3724
แปล และเรียบเรียงจาก