หากกล่าวถึงพระภิกษุสงฆ์ของกัมพูชารูปหนึ่ง ซึ่งทรงภูมิปัญญาในศาสตร์หลายๆแขนง ทั้งด้านพระพุทธศาสนา ด้านการประพันธ์ ด้านภาษาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ จนเป็นเลื่อมใสศรัทธา เคารพนับถือ จากชาวพุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชา และพุทธศาสนิกชนในต่างประเทศ ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับสมณศักดิ์ลำดับชั้นต่างๆ พระเถรานุเถระรูปนั้น คือ สมเด็จพระสังฆราชชวน นาท หรือพระนามตามสมณศักดิ์ คือ “สมเด็จพระสังฆราช พระมหาสุเมธาธิบดี (1)สังฆนายกแห่งคณะสงฆ์มหานิกาย (ชวน โชตญาโณ)”
สมเด็จพระสังฆราช พระมหาสุเมธาธิบดีฯ (ชวน โชตญาโณ) มีพระองค์มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “ชวน นาท” ประสูติเมื่อ 11 ค่ำ (2)เดือนชลคุน ปีวอก (3)พ.ศ. 2427 หรือตามปฏิทินสากลในวันที่ วันที่ 11 เดือนมีนาคม ค.ศ.1883 ณ หมู่บ้านกอมเรียง ตำบลระกาเกาะ อำเภอคงพิสี จังหวัดกำปงสปือ พระองค์ถือกำเนิดในตระกูลเกษตรกร พระมารดาของพระองค์มีชื่อว่า นางชวน ยก พระบิดาของพระองค์มีชื่อว่า ชวน พหรม ครอบครัวของพระมารดา และบิดาของพระองค์มีบุตรชายเพียงสองคน คือ พระองค์เอง ซึ่งเป็นบุตรชายคนโต และ ท่านออกญาโสภัณมนตรี ชวน นุต เป็นน้องชายของพระองค์
เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 12 ปี พระบิดาของพระองค์ได้นำพระองค์ ไปฝากฝั่งเรียนหนังสืออักษรเขมร อันเป็นอักษรประจำชาติ ในสำนักเรียนของท่านพระอาจารย์แก มม พระกรรมวาจาจารย์เบื้องขวา ณ วัดโพธิพฤกษ์ เรียกกันทั่วไปว่า วัดโพธิ์ลอย ตำบลระลังแกน อำเภอกอนดาลสตึง จังหวัดกอนดาล ต่อมาเมื่อมีพระชันษา 14 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนพิสัข ปีจอ พ.ศ.2441 (ค.ศ.1897) อยู่ศึกษาในวัดโพธิพฤกษ์ เป็นเวลา 2 ปี จนสำเร็จการศึกษา จึงได้กราบลาพระครู จากสำนักเรียนวัดโพธิพฤกษ์ ไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดอุณณาโลม ที่กรุงพนมเปญ ในสำนักเรียน ท่านพระพุทธครู เทพ โส ในกุฎิปกครองชั้นต้น เมื่อปี พ.ศ.2443 ปี ค.ศ.1899
ครั้นสมเด็จพระชันษาได้ 21 ปี พระองค์ได้นิมต์กลับมาขออุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ พระอุโบสถ วักโพธิพฤกษ์ ซึ่งเป็นวัดเดิมที่พระองค์เคยเรียนพระสูตร และจำพรรษา โดยมีพระเดชพระคุณ พระพุทธโฆษาจารย์ (มา เกตุ) สุวรรณปัญโญ เป็นพระอุปชาย์ ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส มีพระเดชพระคุณ แก มม มิสสานาโค เป็นพระกรรมวาจาจารย์เบื้องขวา เอิม เคิม ติกขปัญโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์เบื้องซ้าย โดยได้ทำการอุปสมบท ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนเชษฐา ปีมะโรง พ.ศ.2448 (ค.ศ.1904) พระองค์ได้รับฉายาเป็นภาษาบาลีว่า “โชตญาโณ” เมื่อทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทรงนิมต์กลับมาจำพรรษายังวัดอุณณาโลม มาศึกษาคันธะธุระอีกครั้ง
โดยพระองค์ได้บำเพ็ญพระกรณียกิจทางพระพุทธศาสนาของกัมพูชาหลายๆด้าน ทั้งทางด้านการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมพุทธเจ้า การศึกษาพระปริยัติธรรม การศึกษาภาษาบาลี จนเป็นที่รับรู้กันในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศกัมพูชา อีกทั้งยังรวมไปถึงการบำเพ็ญพระกรณียกิจทางพระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั้งใน วัด(4)กัมปูเจียกรอม ทางภาคใต้ของเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศพม่า และประเทศศรีลังกา จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอุณณาโลม กรุงพนมเปญ ในปี พ.ศ. 2488 ปี (ค.ศ.1944) ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ประทับ และได้รับพระราชทานพระสมณศักดิ์ตามลำดับชั้นเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ.1950) พระองค์ทรงได้พระราชกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาท นโรดมสุรามฤทธิ์ ทรงพระราชทานประเคน พระสมณศักดิ์ให้เป็น “สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี สังฆนายกแห่งคณะมหานิกาย” อันเป็นตำแหน่งประมุขฝ่ายมหานิกาย
พระปรีชาสามารถ ผลงานพระนิพนธ์
นอกจากพระกรณียกิจเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว สมเด็จพระสังฆราชชวน นาท ยังมีพระปรีชาสามารถด้านภาษาศาสตร์ และผลงานพระนิพนธ์ทางอักษรศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่ยกมาเป็นตัวอย่างที่สำคัญ มีความน่าสนใจ และทรงคุณค่าต่อแผ่นดินกัมพูชา มีดังนี้
พระปรีชาสามารถด้านภาษาต่างประเทศ
นอกจากภาษาเขมรอันเป็นภาษาประจำชาติแล้ว พระองค์มีพระปรีชาสามารถ ในการฟัง สนทนา อ่าน เขียนภาษาต่างๆได้เข้าใจอย่างแตกฉ่าน ถึง 7 ภาษา อันได้แก่ ภาษาลาว ภาษาไทย ภาษาเวียดนาม ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต จนได้รับการยอมรับให้เป็นพระอาจารย์สอนภาษาต่างๆ ในสถาบันการศึกษาของประเทศ รวมถึงการเดินทางไปเป็นพระอาจารย์สอนในต่างประเทศด้วย
งานแปล
พระองค์มีผลงานพระนิพนธ์ที่เป็นผลงานการแปลจากภาษาบาลี เป็นภาษาเขมร มากมาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญๆ รวมไปถึงบทสวดมนต์ต่างๆสำหรับพระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชา เช่น กัจชายะนูปถัมภก (ไวยากรณ์บาลี) ,สามเณรวินัย ,ปาติโมกข์สำโวรสังเขป ,คหิปฎิบัติ เป็นต้น
พจนนุกรมภาษาเขมร
เป็นพจนนุกรมที่พระองค์รวมกับคณะกรรมการจัดทำขึ้นโดยรวบรวมคำศัพท์ภาษาเขมรเอาไว้ พร้อมคำอธิบายความหมาย โดยพจนานุกรมภาษาเขมร จัดพิมพ์เป็น ทั้งสองภาค ในปี พ.ศ.2461 ปี ค.ศ.1917 ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการจัดพิมพ์มาหลายครั้งแล้ว จนได้รับความนิยมกว้างขวาง และในปัจจุบันได้รับการยอมรับให้จัดทำเป็นโปรแกรมพจนานุกรมภาษาเขมร สำหรับการใช้งานในคอมพิวเตอร์ และใช้งานในระบบอินเตอร์เนต
เพลงชาติกัมพูชา
หลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระนโรดมสุรามฤต ได้พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงชาติ โดยดัดแปลงมาจาก บทเพลงนครราช ซึ่งเป็นบทโบราณ แต่ยังไม่สามารถพระนิพนธ์คำร้องได้ พระองค์จึงไปนิมนต์ สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี พระสังฆนายก พระนามเดิม "ชวน-ณาต" ในเวลาที่มีสมณศักดิ์เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ให้นิพนธ์บทเพลงชาตินี้ขึ้นเป็นบทร้อยกรองสำหรับใช้ในการแสดงความเคารพเป็นทางการเรียกว่า "บทนครราช" เพราะดัดแปลงมาจากบทเพลง "นครราช" เขมรซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และได้ใช้เป็น (5)เพลงชาติมาจนถึงปัจจุบันนี้
บทที่ ๑ สรรเสริญพระบารมีพระมหากษัตริย์เขมร
คำแปล
สูมพวกเทพฺตา (ขอพวกเทพดา)
รกฺสามหากฺสตฺรเยีง (รักษามหากษัตริย์เรา)
โอยบานรุงเรือง (ให้ได้รุ่งเรือง)
โฎยชัยมงฺคลสฺรีสัวสฺฎี (โดยชัยมงคลศรีสวัสดี)
เยีงขฺญุมฺพฺระองฺคสูมชฺรกโกฺรมมฺลบ่พฺระบารมี (เราข้าพระองค์ขอพึ่งใต้ร่มพระบารมี)
ไนพฺระนรบดี (แห่งพระนรบดี)
วงฺสกฺสตฺราแฎลสางปฺราสาทถฺม (วงศ์กษัตราซึ่งสร้างปราสาทหิน)
คฺรบ่คฺรงแฎนแขฺมร (ครอบครองแดนเขมร)
บุราณเถฺกีงถฺกาน (บุราณเถกิงถกาน ฯ)
บทที่ ๒ สรรเสริญการสร้างปราสาทโบราณคำแปล
ปฺราสาทสิลา ปราสาทศิลา
กํบำงกณฺฎาลไพฺร (กำบังอยู่ท่ามกลางไพร)
ควรโอยสฺรมัย (ควรให้แว่วเสียง)
นึกฎล่ยสสกฺฎิ์มหานคร (นึกถึงยศศักดิ์มหานคร)
ชาติแขฺมรฎูจถฺมคง่วงฺสเนาลฺอรึงบึงชํหร (ชาติเขมรดุจหินคงวงศ์อยู่ดีแน่นอนยืนยง)
เยีงสงฺฆึมพร (เราหวังพร)
ภัพฺพเพฺรงสํณางรบส่กมฺพุชา (บุญเพรงวาสนาของกัมพูชา)
มหารฎฺฐเกีตมาน (มหารัฐเกิดมี)
ยูรองฺแวงเหีย (ยาวนานล่วงมาแล้ว ฯ)
บทที่ ๓ สรรเสริญคุณค่าเขมรนับถือพระพุทธศาสนา
คำแปล
คฺรบ่วตฺตอาราม ครบทุกวัดอาราม
ฦๅแตสูรสพฺทธรฺม (ยินแต่เสียงศัพท์ธรรม)
สูตฺรโฎยอํณร (สวดด้วยความยินดี)
รํลึกคุณพุทฺธะสาสฺนา (รำลึกคุณพุทธศาสนา)
จูรเยีงชาอฺนกเชือชาก่เสฺมาะสฺมัคฺรตามแบบฎูนตา (เราจงเป็นผู้เชื่อชัดเสมอสมัครตามแบบยายตา)
คง่แตเทพฺตา (คงแต่เทพดา)
นึงชวยโชฺรมแชฺรงผฺคต่ผฺคง่ปฺรโยชน์โอย (จะช่วยค้ำชูประคับประคองประโยชน์ให้)
ฎล่ปฺรเทสแขฺมร (แด่ประเทศเขมร)
ชามหานคร (เป็นมหานคร ฯ)
อย่างไรก็ตามสมเด็จพระสังฆราชชวน นาท ก็มิอาจฝืนความจริงแห่งวัฎจักรการเวียนว่ายตายเกิดได้ หลังจากที่พระองค์ มีพระอาการประชวรครั้งแรกในวันที่ 23 กันยายน ปี 1969 ข่าวการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชนี้ ได้ทราบแต่ถึง สมเด็จพระนโรดมสีหนุ กษัตริยกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีพระบรมราชบัญชา ให้ทางรัฐบาลจัดหาแพทย์กัมพูชา และแพทย์ฝรั่งเศส ที่เชี่ยวชาญ มาช่วยกันถวายการรักษาพระองค์ อย่างเต็มความสามารถ แต่ก็เกินความสามารถที่จะเอาชนะโรคร้ายได้ และพระองค์ได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ปีค.ศ.1969 ด้วยพระโรคชรา ยังความโศกเศร้าเสียใจมาสู่พุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชาสมัยนั้น อย่างใหญ่หลวง
…………………………………………………………………………………….
อธิบายเพิ่มเติม
(1)การปกครองคณะสงฆ์ของกัมพูชา แบ่งออกเป็นสองนิกาย คือ มหานิกาย กับธรรมยุตินิกาย โดยแต่ละนิกาย จะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นของตนเอง และไม่ขึ้นต่อกัน
(2)ชื่อเดือนของขแมร์แบบโบราณไว้ ผู้เขียนจะขึ้นคว้าเพิ่มเติมในโอกาศต่อไป
(3)เนื่องจากการนับปี พ.ศ.ของกัมพูชา จะนับไม่ตรงกับปี พ.ศ.ของไทยเพียงเล็กน้อย เพื่อนความสะดวก กรุณาอ่านปี ค.ศ. ในวงเล็บด้านหลัง
(4)ทางภาคใต้ของเวียดนาม มีชาวขแมร์ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เดิมเป็นดินแดนในสมัยอาณาจักรขแมร์โบราณ ก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสยกพื้นที่ ที่ชาวขแมร์กรอมาศัยอยู่ให้เวียดนามปกครอง ในปี ค.ศ.1948
(5)ประเทศกัมพูชาเปลี่ยนแปลงเพลงชาติหลายครั้งตามวิกฤตการณ์ทางการเมือง จนกลับมาใช้เพลงนครราชอีกครั้งหลังหารฟื้นฟูประเทศหลังยุคเขมรแดง
แปล และอ้างอิง
- บทความ ศานติ ภักดีคำ คณะมนุษยศาสตร์ มศว. ประสานมิตร เพลงชาติกัมพูชา ความแตกต่างทางการเมือง ในจุดร่วมแห่งอดีตที่รุ่งเรืองของ "พระนคร"
http://info.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0618010947&srcday=2007/11/01&search=no