Skip to main content

ในบรรดากวีพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมของกัมพูชา ตั้งแต่สมัยต้นยุคอาณานิคมฝรั่งเศส จนถึงสมัยปัจจุบันนี้ ผลงานของกวีผู้นี้ก็ยังได้รับความนิยม ตลอดจนมีอิทธิพลต่อประชาชนชาวกัมพูชา ทั้งในด้านจิตวิญญาณ วิธีคิด และการใช้ชีวิต คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงท่าน "พระภิรมย์ภาษา" นามเดิมว่า "อุก อู" หรือที่ชาวบ้านกัมพูชาเรียกกันง่ายๆว่า "งุย" หรือ "(1)กรมงุย"  จากผลงานบทขับร้องลำนำประกอบการบรรเลง(2)พิณสายเดียว แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนของเรียกท่านว่า กรมงุย อันเป็นชื่อที่ติดปากชาวกัมพูชาโดยทั่วไป

 
ชีวประวัติ
เรื่องราวชีวิตของท่าน ไม่เป็นที่ปรากฎชัดเจนนัก เท่าที่มีหลักฐานยืนยัน และคำบอกเล่าของคนร่วมสมัยนั้น  ทราบแต่เพียงว่าไม่ปรากฎวัน กับเดือนที่ท่านเกิด ท่านเกิดในปี ค.ศ.1865 (พ.ศ.2408) ณ บ้านไพรออนโดงสวาย (ป่าบ่อมะม่วง) ตำบลกำบูล อำเภอพนมเปญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอองค์สนวล) จังหวัดกอนดาล ท่านมีนามเดิมเมื่อแรกเกิดว่า "อุก อู" หรือเรียกกันอีกชื่อว่า "งุย" เอกสารเท่าที่ประมวลได้ ไม่สามารถยืนยันได้เลยว่า ท่านมีพี่น้องร่วมกันกับท่านกี่คน ทราบว่าท่านเป็นบุตรคนที่ 2 ของครอบครัวเท่านั้น บิดาของท่านมีบรรดาศักดิ์ว่า เจ้าปัญญาธรรมธารา นามเดิมว่า อุก เป็นกำนันตำบลกำบูล ส่วนมารดามีนามว่า เอียง เป็นบุตรีของ เจ้าปัญญามุก กำนันตำบลสเปียน ทมอ (สะพานหิน) ในอำเภอ จังหวัดเดียวกัน บิดามารดาของท่านมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน  
 
ท่านได้เริ่มต้นชีวิตการศึกษาจากการบวชเรียนเป็นสามเณร ณ วัดองค์บึงจอก บ้านแบกสโกร(กลองแตก) ตำบลแบกจาน(จานแตก) ในอำเภอบ้านเกิดของท่าน จนท่านแตกฉานในอักษรเขมร ตลอดจนพระสูตรต่างทางพระพุทธศาสนา จนเมื่อท่านได้ลาสิกขาบทจากสามเณร ท่านได้ช่วยงานเก็บอากรภาษีข้าวในตำบล ไปพร้อมๆกับการทำนาของบิดาท่าน จนเมื่ออายุได้ 21 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี เป็นเวลา 5 พรรษา ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนการแปลพระไตรปิฎกจนแตกฉาน นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาการวปัสนากรรมฐานจากสำนักพระอาจารย์อีก 5 แห่ง จนได้ลาสิกขาบทจากพระภิกษุ กลับมาช่วยงานของบิดาท่าน จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินมาอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศสราวปี ค.ศ.1867 บิดาของท่าน และตัวท่านจึงได้หยุดจากงานราชการกำนัน มาประกอบอาชีพเกษตรกรตลอดมา

ในส่วนชีวิตส่วนตัวของท่าน ไม่ปรากฎอีกเช่นกัน ชีวิตรักของท่านเป็นอย่างไร  เท่าที่สืบค้นได้ ท่านได้แต่งงานอยู่กินกับหญิงชาวบ้านในตำบลเดียวกันมีนามว่า "อิน" แล้วมีบุตรชายด้วยกัน  6 คน มีนามว่า ดวง ,เจง ,จา ,จิน ,(3)จุง และ เจว ตามลำดับ



อนุเสาวรีย์ท่านกรมงุย หน้าโรงแรม โฮเต็ลแคมโบเดียนา : เอื้อเฟื้อภาพโดย Nat Akibara

 
ชื่อเสียง 
ท่านมีความสามารถด้านการขับลำนำด้นกลอนสด ประกอบเครื่องดนตรีเขมรโบราณที่เรียกกันว่า สายเดียว หรือขะแซมุย เมื่อยามว่างจากงานของบิดาท่าน และทำนา ท่านมักจะขับกล่อมให้ชาวบ้านได้ฟัง ด้วยเนื้อหาของลำนำสอดแทรกคติสอนใจ คติธรรมเตือนสติการใช้ชีวิต การเลือกคู่ครอง คติทางพระพุทธศาสนา รวมไปถึงเตือนประชาชนชาวกัมพูชาให้หมั่นขยันศึกษาหาความรู้ รู้เท่าทันเลห์กลของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส การเอาเปรียบของพ่อค้าวานิชชาวจีน ชาวญวนต่อชาวกัมพูชา จนเป็นที่ไพเราะ เข้าถึงจิตใจชาวบ้าน  จนชาวบ้านท่านมักจะเชิญท่านไปขับลำนำบทกลอนตามงานบุญต่างๆในตำบล ชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลื่องลือไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ทรงโปรดให้เข้าเฝ้า เพื่อขับลำนำบทกลอน ประกอบการเล่นพิณสายเดียว ต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านเป็น "พระภิรมย์ภาษา" เพื่อเป็นรางวัล
 
อนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชื้อพระวงศ์จากพระราชอาณาจักรสยาม(ปัจจุบัน คือ ราชอาณาจักรไทย) ได้เดินทางมาเยือนพระราชอาณาจักรกัมพูชา และได้ชมการขับลำนำของ ท่านกรมงุย ไปพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ จนเป็นที่พอพระทัยของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์จึงโปรดให้ท่านกรมงุย เดินทางไปแสดงการขับลำนำ ประกอบพิณสายเดียว ที่กรุงบางกอกเป็นเวลา 3 เดือน และได้ประทานทรัพย์เป็นเงินทองจำนวนมาก
 
พระภิรมย์ภาษา (อู) หรือ กรมงุย ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนมิคสิระ (เดือนที่ 1 ทางจันทรคติ ราวเดือนอ้าย ถึงเดือนธันวาคม) ปี ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479) แต่ผลงานของท่านยังติดตรึงอยู่ในใจอนุชนกัมพูชาทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
 
 
ผลงาน
งานบทกลอนลำนำของท่านทั้งหมดท่านไม่ได้จดบันทึกไว้ด้วยตัวท่านเอง เพราะงานของท่านจะเป็นกลอนด้นสด ที่ไม่ได้มีการจดบันทุกต้นฉบับไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แม้แต่สื่อบันทึกเสียงก็ไม่มีปราฎว่าได้บันทึกผลงานของท่านไว้แต่อย่างใด ผลงานที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ เป็นการรวบรวมจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรโดยสถาบันพุทธศาสนาบัณฑิต โดยบันทึกบทร้องลำนำขะแซมุย ของท่าน ทีละวรรคอย่างช้า ไว้ มีดังนี้
 
- ฉบับลเบิกใหม่ เป็น บทกากคติ
- ฉบับเรื่องกาลใหม่
- ความระลึกถึงตักเตือน
- คำกาพย์สอนชายหญิง
- คำสั่งกรมงุย เป็น บทพรหมคีติ
 
สำรับตัวอย่างผลงานของกรมงุย ที่ผู้เขียนจะนำเสนอของหยิบยกเอาเนื้อความบางส่วนของ บอนดำกรมงุย (คำสั่งกรมงุย) ที่ผู้เขียนได้แปล และเรียบเรียงเป็นภาษาไทย มานำเสนอ ปิดท้ายด้วยการร้องบทลำนำของท่านกรมงุย ในรูปแบบของการร้อง (4)บทลำนำจาเป็ยดองแวง ร้องและแสดงโดยท่านปราชย์ ชวน
........................................................................................


 
                                คำสั่งกรมงุย

ฯลฯ
 
บทนี้พรหมปราชญ์แปร ...................บอกขแมร์ทั้งชายหญิง
ให้จัดปรุงจำทุกสิ่ง........................เหมาะควรให้อุสาหะฯ
 
อย่าขี้เกียจอย่าโง่นัก.......................ต้องเรียนลักษณ์อักษรเลข
เรียนครบสรรพธรรมเอนก...............ปราชญ์ผสมและรู้สึกฯ
 
กำเนิดมาเป็นมนุษย์.....................มองทะลุแม้ใกล้ไกล
รู้สันทัดปรากฎไป.........................คิดงานใดได้ทุกอย่างฯ
 
มนุษย์โง่ไม่หวาดผวา.......................เหมือนตาบอดทั้งสองข้าง
มีตัวตนเหมือนไร้สิ่งใดอ้าง.................สร้างบาปทรามเกิดมาเขลาฯ
 
เชื้อมนุษย์แม้สูงต่ำ...........................แบ่งดำขาวและเลวดี
แบ่งตระกูลเผ่าผิวสี..........................แบ่งลูกหลาน เช่นยายตาฯ
 
เชื้อโง่ไม่บวชเรียน...........................เป็นเสี้ยนหนามพระศาสนา
ผู้บวชรู้ เรียนธรรมา...........................ศิษย์วัดวาต้องเรียนสูตรฯ
 
เชื้อเขลาไม่ดีกว่าปราชญ์.................เชื้อร้ายกาจไม่ดีกว่าผู้อ่อนน้อม
เชื้อตรงตรงตลอด.............................เชื้อมดเท็จไม่สิ้นเผ่าฯ
 
พ่อแม่ใจน้อมจิต..............................ไม่อยากคิดให้ลูกเขลา
ด่าตีพูดสอนแต่ยังเยาว์.......................ให้ลูกหลานรู้เท่าและรู้ทันฯ
 
ฯลฯ

บทลำนำ"คำสั่งกรมงุย" ขับร้อง และบรรลงจาเป็ยดองแวง โดย ท่านปราชญ์ ชวน

/div>

 
 
อธิบายเพิ่มเติม

(1) คำว่า "กรม" เป็นตำแหน่งซึ่งในสมัยนั้นหมายถึงผู้ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าฝ่ายรัฐกับประชาชนในตำบล คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่ากรมงุย

(2) พิณสายเดียว มีชื่อในภาษาเขมรอีกชื่อหนึ่งว่า ขะแซมุย เป็นเครื่องดนตรีที่มีรูปร่าง และวิธีการเล่นคล้ายๆ พิณเปี๊ยะของอาณาจักรล้านนาโบราณ

(3) จุงหรือจ็ง มีความสามารถด้นกวี และเป็นกวีเช่นเดียวกับบิดา แต่เสียชีวิตในคุกนักโทษการเมือง ในปี 1955 ในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปีที่พรรคประชาธิปไตย แข่งขันกับพรรคสังคมราษฏร์นิยม

(4) จาเป็ย เป็นเครื่องดนตรีเขมรโบราณ ที่มีรากกำเนิดเดียวกับ กระจับปี่ ของไทย แต่ได้รับความนิยมมากในกัมพูชายุคปัจจุบัน ซึ่งรายละเอียดผู้เขียนจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

 
อ้างอิง
 

 

 

บล็อกของ Jumreabsur

Jumreabsur
"ตะลุ่ง ตุ่ง..แช่!!!....." ตัวอย่างเสียงกลอง เสียงฉาบ ที่ผู้เขียนยกมาขึ้นต้นในบทความนี้ ท่านผู้อ่านหลายๆท่าน อาจเข้าใจว่า เป็นเสียงดนตรีประกอบการแสดงละครงิ้วจีน หรือวงดนตรีจีนวงใดซักวงหนึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นเสียงของดนตรีประกอบการแสดงละครโบราณของกัมพูชาอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นละครแบบโบราณของกั
Jumreabsur
ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่มีศิลปะการแสดงแบบโบราณที่น่าสนใจมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับศิลปะการแสดงโบราณที่ผู้เขียนจะนำเสนอในบทความครั้งนี้ เป็นศิลปะนาฏดนตรี ที่ได้รับความนิยมจากพี่น้องประชาชนชาวกัมพูชาอย่างกว้างขวางทั้งในราชธานี และตามต่างจังหวัด  นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ศิลปะการแสดงดั
Jumreabsur
ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่มานานนับพันปีสืบทอดจากสมัยพระนคร จนถึงยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมดนตรีก็เป็นหนึ่งในมรดกของกัมพูชา ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย กับอีกหลายๆชาติ ผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองดังเดิม พัฒนาจนเกิดเป็นวงเพลงดนตรีหลายๆรูปแบบ หลากหลายอุปกรณ
Jumreabsur
ในบรรดากวีพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมของกัมพูชา ตั้งแต่สมัยต้นยุคอาณานิคมฝรั่งเศส จนถึงสมัยปัจจุบันนี้ ผลงานของกวีผู้นี้ก็ยังได้รับความนิยม ตลอดจนมีอิทธิพลต่อประชาชนชาวกัมพูชา ทั้งในด้านจิตวิญญาณ วิธีคิด และการใช้ชีวิต คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงท่าน "พระภิรมย์ภาษา" นามเดิมว่า "อุก อู" หรือที่
Jumreabsur
จากตำนานโศกนาฎกรรมความรักอันแสนเศร้าเคล้าน้ำตา ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน และถูกนำมาถ่ายทอดเป็นวรรณคดี บทเพลง และภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของกัมพูชา จากเรื่องราวของ สามเณรหนุ่มลูกกำพร้ายากจนผู้หนึ่ง ที่ยอมลาสิกขาบทเพื่อความรักที่เขามีต่อหญิงสาวผู้หนึ่งซึ่งเป็นลูกสาวของท่านเจ้าเมือง แม้ฐานะทางสังคมของเขาทั้งคู่จะต่างกันราวฟ้ากับดิน แม้ว่าความรักของเขา และเธอ จะถูกกีดกันจากญาติผู้ใหญ่ซักเพียงใด ก็ไม่อาจพรากความรักของคนทั้งสองไปได้ แม้แต่ความตายก็ตาม เรื่องราวนั้นมีชื่อว่า “ตุมเตียว”
Jumreabsur
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชานับเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่อลังการที่สุดนับตั้งแต่ สิ้นสุดยุคการปกครองของเขมรแดง ในทศวรรษที่ 1980  อันเป็นการแสดงถึงความโศกเศร้าอาลัย และเคารพรักในพระบาทสมเด็จสีหนุ ในฐานะเป็นพระราชบิดา ผู้นำเอกราช และความเป็นเอกภาพในชาติมาสู่ประเทศ กัมพูชาในวาระสุดท้าย โดยพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพได้จัดขึ้นในวันที 1 กุมภาพันธุ์ พ.ศ.2556 หลังจากการเก็บพระบรมศพไว้ครบหนึ่งร้อยวัน
Jumreabsur
"ท่านเชื่อในอนุภาพของความรักไหม ว่าไม่มีสิ่งใดสามารถขวางกัันได้"
Jumreabsur
หากกล่าวถึงพระภิกษุสงฆ์ของกัมพูชารูปหนึ่ง ซึ่งทรงภูมิปัญญาในศาสตร์หลายๆแขนง ทั้งด้านพระพุทธศาสนา ด้านการประพันธ์ ด้านภาษาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ จนเป็นเลื่อมใสศรัทธา เคารพนับถือ จากชาวพุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชา และพุทธศาสนิกชนในต่างประเทศ ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับสมณศัก
Jumreabsur
ในบรรดาสุภาพสตรี ที่เป็นดาวประดับวงการเพลงกัมพูชา ที่น่าสนใจท่านหนึ่ง ด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ แหลมสูง และสดใสเหมือนเสียงจั่กจั่นเรไร ชีวิตของเธอที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย ทั้งความยากลำบาก และความสมหวัง ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องที่ได้รับความนิยม และนั่งอยู่ในหัวใจของมิตรเพลงชาวกัมพูชาตลอดกาล จนได้
Jumreabsur
นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชามีศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงมากมายหลายท่าน มีศิลปินนักร้องท่านหนึ่ง ซึ่งถือว่า เป็นตำนานของวงการเพลงกัมพูชานับตั้งแต่หลังได้รับเอกราช จนถึงยุคปัจจุบันนี้ จนได้รับสมญานามว่าเป็น “จักรพรรดิเสียงทอง” ศิลปินท่านนั้น คือ (1)สิน สีสามุต (Sinn Sinsamouth) นั้นเอ
Jumreabsur
 หากกล่าวถึงพระนามของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนโรดมสีหนุ พระราชบิดาแห่งชาติขแมร์ เอกราช บูรณภาพแห่งแผ่นดิน” แล้ว พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่เป็นที่รับรู้ในหมู่พสกนิกรชาวกัมพูชา และประชาคมโลก คงหนีไม่พ้นพระราชกรณียกิจทางการเมือง อันเป็นพระราชภาระที่สำคัญยิ่ง ในฐานะที่พระองค์ ทรงดำรงตำแหน่ง