Skip to main content

...ในทุก trust มี risk แฝงฝังอยู่อย่างมิอาจปัดป่ายบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ ก็เพราะ trust มันทำงานอย่างนี้ คือไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายครอบงำกำกับ มันหลวม ๆ สบตาเอ่ยปากขอรู้ไจวางใจกัน และความหลวมนี่แหละทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้อย่างสะดวกราบรื่น ด้วยความไว้วางใจที่มีต่อกัน และฉะนั้นมันจึงเปิดช่องให้ trust ถูก abused ได้..

Kasian Tejapira(28/2/56)
 

การแถลงข่าวของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ กรณีเงินฝากจากสมาชิกครอบครัวของอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม (อ.สมบัติ แจงรับฝากเงินภรรยาพล.อ.เสถียร18ล้านบาทจริง ) คงมีประเด็นชวนคิดคาใจอยู่บ้างตามสมควร เช่น จำนวนเงินมากมายเป็นสิบ ๆ ล้านขนาดนั้น อาจารย์ไม่เอะใจบ้างหรือไร? โดยเฉพาะเมื่อถึงขั้นยืมชื่ออาจารย์ไปเป็นหุ้นส่วนทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินและรับเช็คอันเป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย? และน้ำหนัก/ความหนักแน่นแห่งคำอธิบายอย่างเปิดเผยซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาของอาจารย์ถึงที่สุดแล้วก็วางอยู่บนคำให้การของสมาชิกครอบครัวอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมว่าจะสอดรับกันหรือไม่อย่างไร? ฯลฯ

คงเหนือวิสัยบุคคลภายนอกอย่างผมที่จะแสวงหาคำตอบอันกระจ่างแจ้งต่อคำถามเหล่านี้ได้หมด อย่างไรก็ตาม ผมลองถามตัวเองดูว่าเรื่องทำนองเดียวกันนี้ จะเกิดขึ้นกับผมได้หรือไม่? คิดไปคิดมา ผมพบว่าเป็นไปได้ อย่างนี้ครับ

ถามว่าในโลกนี้จะมีใครสักคนไหมที่ถ้าผมหรือภรรยาไปหาเขาพร้อมเงินสดหรือเช็คสัก ๕ - ๑๐ ล้านบาท (ตามอัตภาพ สมมุติว่าผมถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ สองใบซ้อนอะไรทำนองนั้น) ขอร้องให้รับฝากไว้และเอาเข้าบัญชีธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ฯที่ไหนสักแห่งให้ทีเพื่อแก้ปัญหายุ่งยากเดือดร้อนที่ไม่ผิดกฎหมาย แล้วเขาผู้นั้นจะไว้วางใจทำให้ ค่าที่เชื่อถือเชื่อมั่นโดยสนิทใจจากความที่รู้จักมักคุ้นกันมาว่าผมหรือภรรยาจะไม่มาร้ายหรือหลอกใช้เขาไปในทางเสียหายผิดกฎหมายแน่นอน?

ผมคิดสะระตะดูแล้ว มีครับ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ไง ผมว่าถ้าผมหรือภรรยาไปขอให้ทำอะไรแบบนี้ แกคนหนึ่งล่ะที่น่าจะวางใจและทำให้ได้

มันอธิบายยากแต่ในโลกที่เราอยู่นี้ มีคนบางคนที่เขารู้จักกับเรามากพอดีพอนานพอที่จะไว้ใจเราและเราก็ไว้ใจเขา นี่เป็นประสบการณ์ร่วมที่ค่อนข้างกว้างขวางและเป็นไปได้ว่าท่านผู้อ่านก็คงมี เรามีคนไว้ใจเหล่านี้ไว้ช่วยในยามลำบากยุ่งยากอึดอัด ทำให้เรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้ ง่ายเข้าหรือเป็นไปได้ เพราะความไว้ใจ เราไม่ได้คิดจะดึงเขาไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือสร้างความเดือดร้อนให้เขา แต่มันก็มักเป็นอะไรบางอย่างที่คนทั่วไปถ้าไม่รู้จักไว้ใจกันดี ๆ เขาก็ไม่ขอร้องกันหรือขอร้องก็มักไม่ทำให้กันเพราะมันอาจจะเสี่ยงบ้างหรือยุ่งยากบ้าง คนแบบนี้ที่เราไว้ใจนี่แหละที่ทำให้โลกอยู่ง่ายขึ้น พออยู่ได้ขึ้น น่าอยู่ขึ้น และชีวิตในโลกที่บัดซบและพลการใบนี้พอจะรับมือได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป

อย่างตอนผมแต่งงานกับแฟน จริง ๆ ผมลาราชการไปเรียนต่อที่อเมริกาล่วงหน้าก่อนปีหนึ่งโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานกันอย่างเป็นพิธีกรรมทางการ แล้วเธอค่อยตามไปสมทบ พอครบปี ก่อนที่เธอจะตามไปอยู่กับผม เราตกลงกันว่าต้องจัดพิธีสู่ขอแต่งงานกับทางคุณพ่อคุณแม่ของเธอเป็นทางการให้เรียบร้อย เพื่อความสบายใจของผู้ใหญ่ซะก่อน ตอนนั้นผู้ใหญ่ทางบ้านผม แตกกระจัดพลัดกระจาย มาดำเนินการให้ไม่ได้ ผมเองพูดตรง ๆ ก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อพอชักหน้าถึงหลังปริ่ม ๆ ไม่มีเงินค่าเดินทางจะบินกลับมา ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเอ่ยปากขอให้อ.ชัยวัฒน์สู่ขอแทนให้ ไม่เพียงแค่นั้นยังขอให้ท่านทำหน้าที่เป็น “สแตนด์อิน” เจ้าบ่าวตัวจริงที่ in absentia อยู่อเมริกาให้ด้วย ของประหลาด ๆ พรรค์นี้ ถ้าไม่ใช่คนไว้ใจเราก็ไม่กล้าขอ และถ้าไม่ใช่คนไว้ใจขอ คนทั่วไปเขาก็ไม่ยุ่งยากลำบากมาทำให้ แต่ตอนนั้น อาจารย์ชัยวัฒน์ก็กรุณาดำเนินการให้ (ทั้งที่เป็นมุสลิม) ท่านยังอุตส่าห์ออกหน้าไปติดต่อขอให้ญาติผู้ใหญ่่ของท่านที่มีฐานะชื่อเสียงในสังคมและท่านรู้จักเคารพนับถือ (เป็นคนจีนและชาวพุทธ) มาช่วยเป็นผู้ใหญ่เอ่ยปากสู่ขอในพิธีให้อีกด้วย จนทุกอย่างเรียบร้อยด้วยดี และภรรยาผมเดินทางตามไปสมทบกับผมที่อเมริกาต่อมา

เพราะ Trust ชีวิตของคนเราในสังคมที่พลิกผันยอกย้อนเต็มไปด้วยสิ่งคาดไม่ถึงจึงพอดำเนินมาได้ด้วยดีตามสมควรและโลกจึงน่าอยู่ขึ้น

ถามว่าใน trust นี้มี risk ไหม? มีความเสี่ยงไหมว่าความไว้วางใจที่เรามีให้กับคนอื่นอาจถูกฉ้อฉล เราอาจถูกตบตาหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบไป? มีแน่นอน และผมก็เชื่อเหมือนกันว่าในประสบการณ์ของผมและของท่านผู้อ่านก็ย่อมเจอเหตุการณ์ที่เราไว้ใจเขา แต่เขาหลอกลวงเล่นงานเราบ้างไม่มากก็น้อยเหมือนกัน พูดอีกอย่างก็คือในทุก trust มี risk แฝงฝังอยู่อย่างมิอาจปัดป่ายบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ ก็เพราะ trust มันทำงานอย่างนี้ คือไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายครอบงำกำกับ มันหลวม ๆ สบตาเอ่ยปากขอรู้ไจวางใจกัน และความหลวมนี่แหละทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้อย่างสะดวกราบรื่น (เช่น สินสอดทองหมั้นในงานสู่ขอของผม.... แหะ ๆ ก็ trust ทั้งนั้นแหละครับ) ด้วยความไว้วางใจที่มีต่อกัน และฉะนั้นมันจึงเปิดช่องให้ trust ถูก abused ได้

แต่ trust โดน abused แล้ว เก็บรับบทเรียนอันเจ็บปวดแล้ว ถามว่าต่อไปจะไม่ trust ใครในโลกอีกไหม? มันก็คงระวังเนื้อระวังตัวขึ้น รอบคอบรัดกุมขึ้น แต่ถ้า ๑) จะอยู่อย่างไม่ trust ใครเลยในโลก กับ ๒) อยู่อย่าง trust คนบางคน (อีกนั่นแหละ) และยอม take risk ใน trust นั้นบ้างเท่าที่พอเหมาะพอสมตามสมควร เพราะไว้วางใจเขา เห็นแก่เขา ต้องการช่วยเหลือเขา โดยตระหนักรู้ว่า เฮ้ย trust ของมึงอาจถูก abused ได้อีกนะโว้ย ไม่กลัวหรือ จะเสี่ยงหรือ?

ผมเลือกแบบ ๒) นะ มันเป็นโลกที่เสี่ยงน่ะแหละ แต่ผมก็คิดว่ายังน่าอยู่กว่า ขณะที่โลกแบบ ๑) นั้น ไม่มีอะไรให้ต้องเสี่ยง เพราะไม่ไว้ใจใครเลย และดังนั้น ในความรู้สึกผม ก็ไม่น่าอยู่เอาเลย

 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
มิจฉาทิฐิว่าด้วย“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน” "ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ" และ "วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"
เกษียร เตชะพีระ
นายกฯ เทย์ยิบ เออร์โดกาน จากครอบครัวกรรมาชีพยากไร้ในอีสตันบูล สู่นักการเมืองประชาธิปไตยผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากการเมืองท้องถิ่นในนครอีสตันบูล ต่อต้านอำนาจทหาร จนถึงผู้นำอำนาจนิยมที่รมประชาชนด้วยแก๊สน้ำตา เพื่อจะได้สร้างชอปปิ้ง มอลล์ขึ้นมาบนสวนสาธารณะ Gezi และ วิกฤตนี้จะจบอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
...ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คำถามสำคัญคือ ใครบ้างที่คุณนับเป็นมนุษย์? เราควรจะแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคน ๆ หนึ่งบนฐานศาสนา ชาติพันธุ์ จุดยืนทางการเมืองของเขา หรือไม่อย่างไร? ถ้าหากไม่เกิดคดีเอกยุทธ ยังจะมีใครคิดรื้อฟื้นดำเนินคดีทนายสมชายให้จบจริงหรือไม่?
เกษียร เตชะพีระ
..จะเอานายกฯคนโน้นแทน ก็จะไปเรียกเอาร้องเอาจากในหลวงโดด ๆ โดยไม่ฟังเสียงและไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของคนไทย ๗๐ ล้านคนเลยได้ มิฉะนั้น ก็จะมีคนเปลี่ยนหน้า ม็อบเปลี่ยนหน้ากาก ไชยวัฒน์บ้าง สนธิบ้าง ชูวัดบ้าง สุทธิบ้าง หน้ากากขาวเขียวเหลืองชมพูน้ำตาลโกโก้กรมท่าน้ำเงินฟ้าสารพัดสี เข้าแถวเรียงรายผลัดกันขอนายกฯพระราชทานคนใหม่คนแล้วคนเล่าเอากับองค์พระประมุขไม่เว้นแต่ละวัน แล้วจะให้พระองค์ทรงทำอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
อุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพสั่นสะเทือน: ศาลสูงสหรัฐฯพิพากษาห้ามจดสิทธิบัตรเหนือยีนส์มนุษย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันทำให้การที่ทุนนิยมจะยึดเอาพื้นที่ใหม่ในธรรมชาติระดับยีนส์และ DNA มาเป็นอาณานิคมใต้กรรมสิทธิ์ของตนมีอันสะดุดหยุดชะงักลงบ้าง
เกษียร เตชะพีระ
..นักเศรษฐศาสตร์มักไม่ค่อยชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบอัมมาร ด้วยเหตุผลว่าขาดประสิทธิภาพและเสียประโยชน์ส่วนรวม, ส่วนผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิที่ท่านชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบนิธิ ด้วยเหตุผลว่าความเหลื่อมล้ำมีมากเหลือเกินในเศรษฐกิจไทยและโลก ควรต้องกระจายจากรวย --> จนให้เท่าเทียมเป็นธรรมยิ่งขึ้น
เกษียร เตชะพีระ
ประเด็นหัวใจของการสนทนาคือความสัมพันธ์อันซับซ้อนยอกย้อนระหว่าง คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม (socio-cultural values) กับ มูลค่า/ราคาทางเศรษฐกิจ (economic value/price) ขณะผู้ถามซักไซ้ไล่เลียงจากมุมมองและคำถามเชิงแนวคิดปรัชญาและสังคม ผู้ตอบอธิบายจากจุดยืนของความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ(ทรัพยากรมีจำกัด สังคมต้องตัดสินใจเลือกใช้ให้คุ้มค่าที่สุด), ความรู้เท่าทันต่อกรอบ/ขีดจำกัด/และพลังของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์, การดำรงอยู่ของเงื่อนไขทางสังคม/การเมืองที่ล้อมกำกับเศรษฐกิจและ เศรษฐศาสตร์, และชะตาจำต้องเลือกของการตัดสินใจใช้ทรัพยากรจากจุดยืนเศรษฐศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ
นิธิอ่านสถานการณ์ปัจจุบัน: การลงร่องของกระฎุมพีไทย → ขีดจำกัดของการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้กระฎุมพีเสรีนิยมปัจจุบัน
เกษียร เตชะพีระ
หากเอาความคิดทางสังคมการเมืองของ อ.เสกสรรค์ระยะหลัง (ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา) ตามที่คุณพัชราภา ตันตราจินศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) มาวางไว้ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันแล้วเปรียบเทียบกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง  ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและแนวร่วม) กับ “เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม) แล้ว ก็จะพบว่า...
เกษียร เตชะพีระ
ประสบการณ์ทำนองนี้ของไทยเราเคยมีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ๒๕๔๐ เมื่อหมู่บ้านจัดสรร คอนโด อพาร์ทเมนต์ก่อสร้างขึ้นมาล้นเหลือเกินดีมานด์ของตลาดนับแสนหน่วย ต้องรออีกหลายปีกว่าจะขายหมด แต่นั่นมันหมู่บ้าน, คอนโด, อพาร์ทเมนต์ร้าง, ของจีนทุกวันนี้ไปไกลกว่านั้นมากคือเมืองทั้งเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับ รองรับคนเป็นล้าน กลับร้าง รอคนมาอยู่ที่ไม่เคยมา อย่างที่เรียกว่า ghost cities หรือ เมืองผีหลอก...
เกษียร เตชะพีระ
“ก่อนอื่น ชื่อของฉันคือวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ฉันใช้เวลาตลอดชีวิต ๔๖ ปีเป็นวิลเลม-อเล็กซานเดอร์หรืออเล็กซานเดอร์ ฉันว่ามันแปลกที่จะต้องเลิกใช้ชื่อนั้นเพราะฉันเป็นกษัตริย์ ในอีกแง่หนึ่งคนเราก็ไม่ใช่ตัวเลขนี่นะ” - มกุฎราชกุมารวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์พระราชทานสัมภาษณ์ทางทีวีก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถบีอาทริกซ์
เกษียร เตชะพีระ
คิดอย่างนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำพระเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ....