ถาม-ตอบกับคำถามประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร, อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้, จะมีรัฐประหารไหม และ แนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
ภาพประกอบจาก Anuthee Dejthevaporn
ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ที่เคารพรักท่านหนึ่งเมื่อคืน คิดว่ามีประโยชน์จะมาเล่าสู่กันฟังบางประเด็นในรูปถาม-ตอบสมมุติ เพื่อง่ายแก่การประมวลประเด็น
๑) ประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร?
- หากผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวจากสวนลุมฯเข้าเขตประกาศใช้พรบ.มั่นคง อาจมีการใช้กำลังตำรวจเข้ายับยั้งในลักษณะตั้งรับขัดขวางไม่ให้เข้าเขตเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่นเด็ดขาด ระดับความรุนแรงคงใกล้เคียงกับที่ตำรวจใช้กับม็อบเสธ.อ้ายเมื่อปีก่อน คือแก๊สน้ำตา โล่ห์ กระบอง ประมาณนั้น แล้วก็แจ้งข้อหาต่าง ๆ กับแกนนำการชุมนุมเพื่อสร้างเงื่อนไขกดดันและอาจนำไปสู่การจับกุมตัว แต่จะไม่เลยเถิดไปถึงขั้นที่เกิดขึ้นภายใต้ศอฉ.และรัฐบาลอภิสิทธิ์สมัยสลายการชุมนุมของนปช.ปี ๒๕๕๓ แน่นอน เพราะเงื่อนไขแตกต่างและต่างฝ่ายต่างก็เห็นและสรุปบทเรียนนั้นมา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ชุมนุมก็คงเห็นตัวอย่าง คาดการณ์และเตรียมรับมือความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ระดับนั้นมาเช่นกัน นี่คือปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุเหนือคาดหมายได้
๒) อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้?
- ความเห็นพ้องยอมรับของกลุ่มทุนธุรกิจต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปที่เหนื่อยหน่ายเสียหายจากความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมาไม่เลิกราไม่จบสักที รวมทั้งกลัวพลาดโอกาสการลงทุนขยายกิจการขนานใหญ่ที่จะมาพร้อมกับโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๒ ล้านล้านบาทของรัฐบาล เมื่อประกอบกับท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมที่นับวันเรียกร้องอย่างสุดโต่งดื้อรั้น และใช้วิธีการอนาธิปไตยเดิม ๆ เพื่อนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมือง การแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ/กองทัพ การล้มรัฐบาล โครงการลงทุนสะดุด ฯลฯ โดยเฉพาะการฉวยใช้วาทกรรมและสัญลักษณ์กองทัพ สงครามและคอมมิวนิสต์เดิมอย่างมักง่ายและข่มขวัญคุกคาม เหล่านี้เป็นฐานการยอมรับของกลุ่มพลังที่สำคัญในสังคมให้รัฐบาลยุติปัญหาดังกล่าวแม้จะด้วยกำลังในระดับหนึ่ง (consensual coercion)
ข้อเสนอสภาปฏิรูปการเมืองประเทศของรัฐบาลจึงอาจไม่สำคัญในแง่ประสิทธิผลหรือความคาดหวังบั้นปลายว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงหรือแผนการอะไรใหญ่โตมากนัก ไม่ต่างจากข้อเสนอทำนองเดียวกันของรัฐบาลชุดอื่นก่อนหน้านี้ที่ไม่ค่อยผลิตการรอมชอมประนีประนอมจริงจังอะไรได้ นอกจากรายงานข้อเสนอแนะชุดเดียวที่เอาไว้อ่านแต่ไม่ค่อยมีใครหยิบไปทำอะไร ยิ่งกลุ่มการเมืองสำคัญบางกลุ่มไม่แสดงท่าทีอยากร่วมสังฆกรรมด้วย เช่น พธม., ประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งเป็น futile exercise และ gesture มากกว่าอื่น
แต่นัยทางการเมืองเฉพาะหน้าของมันสำคัญ มันแปลว่ารัฐบาลกำลังพยายามดึง elites กลุ่มอื่นให้มาสนทนาหาทางออกทางการเมืองกัน เพื่อสร้างฉันทมติ (เสริมฉันทมติที่กะปลกกะเปลี้ยไปเพราะการบริหารจัดการผิดพลาดหลายเรื่องของรัฐบาลที่ผ่านมา) ให้แข็งแรงพอจะรองรับการผลักเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์และบริหารจัดการน้ำซึ่งสำคัญขั้นยุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลต่อไป และโดยวิธีการนั้นก็โดดเดี่ยวพวกหัวรั้นค้านไม่เลิกสุดโต่งบางกลุ่ม ให้ห่างออกมา เด่นชัดขึ้นมา เพื่อจัดการให้หยุดเสียที
บางทีแทนที่จะคาดหวังกับสภาปฏิรูปเพื่อวางแผนทางออกการเมืองใหญ่โตระดับประเทศ สิ่งที่กลุ่มพลังทางการเมืองต่าง ๆ ควรคุยกันเพื่อหาทางออกคือประเด็นรูปธรรมเฉพาะหน้าชัด ๆ เช่น หาทางเอาผู้ต้องหาการเมืองออกจากคุกดีไหมอย่างไร? จะให้กระบวนการหาความจริงและความยุติธรรมทางกฎหมายดำเนินไปอย่างไรโดยแฟร์กับทุกฝ่าย ไม่ยกเว้นวงเล็บความจริงและความยุติธรรมแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง? เป็นต้น
๓) จะมีรัฐประหารไหม?
- ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีใครพร้อมทำ คนอยากให้มีหรือคิดจะสร้างเงื่อนไขให้มี ก็คงมีอยู่ เพราะกำลังอยู่ในสภาพ desperate ว่าหนทางเปลี่ยนการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบงวดตัวปิดแคบลงทุกทีแล้ว และไม่เห็นมุขอื่น นอกจากชุมนุมแบบวางกรอบใหญ่โตแต่มวลชนและเงื่อนไขไม่พร้อม แล้วหวังผลักดันให้เกิดเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงของการปะทะ เพื่อให้ “ทหารออกมา” ข้อที่น่าห่วงคือยิ่ง desperate มากขึ้น ก็จะยิ่งสุ่มเสี่ยงมากขึ้น คำนึงถึงชีวิตสวัสดิภาพของผู้ชุมนุมน้อยลงหรือเป็นรองเป้าหมายการเมืองใหญ่ เห็นพวกเขาเป็นไพร่พลที่คงต้องมีการเสียสละบ้าง (ในทางการรบ ทุกครั้งที่เข้าสมรภูมิคณะเสนาธิการจะแทงบัญชีว่าทหารอาจเสียไปได้สักเท่านั้น ๆ เปอร์เซนต์เสมอ เพื่อ “ชาติ” และ “ชัยชนะ”) จากนี้การตัดสินใจที่จะหลีกเลี่ยงเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมก็อาจไม่เกิดขึ้น
ในกระบวนการนี้ทั้งหมด การออกมาปลุกระดมด้วยถ้อยคำดุเดือดเลือดพล่านของแกนนำพรรคฝ่ายค้านในสภาน่าผิดหวังและอนาถใจที่สุด การผลักดันเรียกร้องให้ผู้คนไปสู้นอกสภา จากพรรคการเมืองที่เพิ่งก้าวลงจากการเป็นรัฐบาลที่มีการถูกเข่นฆ่าบาดเจ็บล้มตายของผู้ชุมนุมในการสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารติดอาวุธสงครามจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ทางการเมือง นับว่าอัปลักษณ์ในทางการเมืองและศีลธรรมที่สุดแล้ว ในบรรดาคนทั้งหลายที่จะออกมาพูดชักชวนแบบนี้อย่างนี้ พวกเขามีสิทธิ์พูดน้อยที่สุด เพราะเพิ่งสั่งปราบปรามผู้คนจนตายกันเป็นเบือบนท้องถนนในนามการปกครองระบอบรัฐสภา แล้วก็มากลืนน้ำลายตัวเอง พร้อมจะปลุกคนไปสู้บนท้องถนนนอกสภาทั้งที่เพิ่งสั่งปราบการต่อสู้บนท้องถนนด้วยมือและปากตัวเองมา อันนี้เป็นการตกต่ำที่สุดทางการเมืองและจริยธรรมของพรรคการเมืองไทยแล้ว
๔) จะแนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้?
- มีเหลือให้แนะนำน้อยมากเพราะตัวละครหน้าเก่าไม่สรุปบทเรียนที่ควรสรุป ดื้อรั้นทำซ้ำความผิดพลาดกันอีกเพื่อหวังชัยชนะของตนท่าเดียว โดยไม่แคร์ชีวิตผู้คน
แต่คงจะดีถ้า ๑) ต่อสู้กันในกรอบแนวทางรัฐสภาเป็นหลัก มากกว่าวิธีการอื่น และ ๒) เลิกใช้ชีวิตคนอื่นเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเสียที ไม่ว่าเพื่อแย่งชิงอำนาจด้วยวิธีการนอกระบบ หรือรักษาอำนาจไว้ก็ตาม คนไทยตายกันมามากเกินพอแล้วหลายปีหลังนี้ แล้วแกนนำการชุมนุมทุกคนทุกครั้งรอดตัวทุกที ไม่แปลกใจหรือ?
บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ
เกษียร เตชะพีระ
มิจฉาทิฐิว่าด้วย“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน” "ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ" และ "วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"
เกษียร เตชะพีระ
นายกฯ เทย์ยิบ เออร์โดกาน จากครอบครัวกรรมาชีพยากไร้ในอีสตันบูล สู่นักการเมืองประชาธิปไตยผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากการเมืองท้องถิ่นในนครอีสตันบูล ต่อต้านอำนาจทหาร จนถึงผู้นำอำนาจนิยมที่รมประชาชนด้วยแก๊สน้ำตา เพื่อจะได้สร้างชอปปิ้ง มอลล์ขึ้นมาบนสวนสาธารณะ Gezi และ วิกฤตนี้จะจบอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
...ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คำถามสำคัญคือ ใครบ้างที่คุณนับเป็นมนุษย์? เราควรจะแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคน ๆ หนึ่งบนฐานศาสนา ชาติพันธุ์ จุดยืนทางการเมืองของเขา หรือไม่อย่างไร? ถ้าหากไม่เกิดคดีเอกยุทธ ยังจะมีใครคิดรื้อฟื้นดำเนินคดีทนายสมชายให้จบจริงหรือไม่?
เกษียร เตชะพีระ
..จะเอานายกฯคนโน้นแทน ก็จะไปเรียกเอาร้องเอาจากในหลวงโดด ๆ โดยไม่ฟังเสียงและไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของคนไทย ๗๐ ล้านคนเลยได้ มิฉะนั้น ก็จะมีคนเปลี่ยนหน้า ม็อบเปลี่ยนหน้ากาก ไชยวัฒน์บ้าง สนธิบ้าง ชูวัดบ้าง สุทธิบ้าง หน้ากากขาวเขียวเหลืองชมพูน้ำตาลโกโก้กรมท่าน้ำเงินฟ้าสารพัดสี เข้าแถวเรียงรายผลัดกันขอนายกฯพระราชทานคนใหม่คนแล้วคนเล่าเอากับองค์พระประมุขไม่เว้นแต่ละวัน แล้วจะให้พระองค์ทรงทำอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
อุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพสั่นสะเทือน: ศาลสูงสหรัฐฯพิพากษาห้ามจดสิทธิบัตรเหนือยีนส์มนุษย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันทำให้การที่ทุนนิยมจะยึดเอาพื้นที่ใหม่ในธรรมชาติระดับยีนส์และ DNA มาเป็นอาณานิคมใต้กรรมสิทธิ์ของตนมีอันสะดุดหยุดชะงักลงบ้าง
เกษียร เตชะพีระ
..นักเศรษฐศาสตร์มักไม่ค่อยชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบอัมมาร ด้วยเหตุผลว่าขาดประสิทธิภาพและเสียประโยชน์ส่วนรวม, ส่วนผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิที่ท่านชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบนิธิ ด้วยเหตุผลว่าความเหลื่อมล้ำมีมากเหลือเกินในเศรษฐกิจไทยและโลก ควรต้องกระจายจากรวย --> จนให้เท่าเทียมเป็นธรรมยิ่งขึ้น
เกษียร เตชะพีระ
ประเด็นหัวใจของการสนทนาคือความสัมพันธ์อันซับซ้อนยอกย้อนระหว่าง คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม (socio-cultural values) กับ มูลค่า/ราคาทางเศรษฐกิจ (economic value/price) ขณะผู้ถามซักไซ้ไล่เลียงจากมุมมองและคำถามเชิงแนวคิดปรัชญาและสังคม ผู้ตอบอธิบายจากจุดยืนของความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ(ทรัพยากรมีจำกัด สังคมต้องตัดสินใจเลือกใช้ให้คุ้มค่าที่สุด), ความรู้เท่าทันต่อกรอบ/ขีดจำกัด/และพลังของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์, การดำรงอยู่ของเงื่อนไขทางสังคม/การเมืองที่ล้อมกำกับเศรษฐกิจและ เศรษฐศาสตร์, และชะตาจำต้องเลือกของการตัดสินใจใช้ทรัพยากรจากจุดยืนเศรษฐศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ
นิธิอ่านสถานการณ์ปัจจุบัน: การลงร่องของกระฎุมพีไทย → ขีดจำกัดของการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้กระฎุมพีเสรีนิยมปัจจุบัน
เกษียร เตชะพีระ
หากเอาความคิดทางสังคมการเมืองของ อ.เสกสรรค์ระยะหลัง (ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา) ตามที่คุณพัชราภา ตันตราจินศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) มาวางไว้ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันแล้วเปรียบเทียบกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและแนวร่วม) กับ “เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม) แล้ว ก็จะพบว่า...
เกษียร เตชะพีระ
ประสบการณ์ทำนองนี้ของไทยเราเคยมีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ๒๕๔๐ เมื่อหมู่บ้านจัดสรร คอนโด อพาร์ทเมนต์ก่อสร้างขึ้นมาล้นเหลือเกินดีมานด์ของตลาดนับแสนหน่วย ต้องรออีกหลายปีกว่าจะขายหมด แต่นั่นมันหมู่บ้าน, คอนโด, อพาร์ทเมนต์ร้าง, ของจีนทุกวันนี้ไปไกลกว่านั้นมากคือเมืองทั้งเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับ รองรับคนเป็นล้าน กลับร้าง รอคนมาอยู่ที่ไม่เคยมา อย่างที่เรียกว่า ghost cities หรือ เมืองผีหลอก...
เกษียร เตชะพีระ
“ก่อนอื่น ชื่อของฉันคือวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ฉันใช้เวลาตลอดชีวิต ๔๖ ปีเป็นวิลเลม-อเล็กซานเดอร์หรืออเล็กซานเดอร์ ฉันว่ามันแปลกที่จะต้องเลิกใช้ชื่อนั้นเพราะฉันเป็นกษัตริย์ ในอีกแง่หนึ่งคนเราก็ไม่ใช่ตัวเลขนี่นะ” - มกุฎราชกุมารวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์พระราชทานสัมภาษณ์ทางทีวีก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถบีอาทริกซ์
เกษียร เตชะพีระ
คิดอย่างนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำพระเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ....