1 July
หนึ่งในความคาดหวังที่ผมมักพบเจอในงานอบรมเพื่อเป็นผู้ดำเนินรายการ (TOT-Training of Trainer) ก็คือ อยากเป็นครูฝึก อยากพูดเก่ง อยากสอนคนอื่น อยากเปลี่ยนความคิดคน...
ทุกความคาดหวัง ผมรับฟังอย่างไร้เงื่อนไข แต่เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ผมก็หวังว่าเราจะเข้าใจกันมากขึ้น
(อันนี้นอกเรื่องนิด- คือเอาเข้าจริงชื่อการอบรมมันก็ไม่ตรงกับเนื้อหาเท่าไหร่ แต่ผมคิดชื่อใหม่ไม่ออกจริงๆ)
ปัญหาที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนให้ฟังในงานอบรมทีโอทีหลายๆ ครั้ง คือ เขาไม่กล้าพูด ไม่รู้จะพูดอะไร กลัวคนไม่เชื่อ กลัวเนื้อหาไม่ดี ฯลฯ
ผมก็ได้แต่ชวนเขาให้เห็นถึงตัวความคิดความเชื่อในแนวทางการเรียนรู้คนละแบบ
แบบแรก เชื่อว่า ผู้เรียนคือถังเก็บความรู้ ผู้สอนมีหน้าที่ใส่ความรู้เข้าไป, มี"วิชา"ที่สำเร็จรูปอยู่แล้ว ผู้สอนมีหน้าที่เอาวิชาสำเร็จรูปเหล่านั้นมาใส่ให้ผู้เรียน ฯลฯ "ครู" ผู้สอนในแบบนี้ คือผู้ประสิทธิประสาทความรู้ เป็นผู้มีบุญคุณ เป็นปูชนียบุคคล ฯลฯ
แบบที่สอง เชื่อว่า ทุกคนมีความรู้ในตัวเองอยู่แล้ว เราในฐานะผู้จัดกระบวนการมีหน้าที่ชวนให้ผู้เข้าร่วมดึงเอาความรู้นั้นมาใช้และสร้างความรู้ใหม่ๆ, ทุกคนสร้างความรู้เองได้, ทุกคนเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอน เราต่างเคารพกัน ฯลฯ
สำหรับผมที่เชื่อแบบที่สอง ผมจึงมักไม่ค่อยกลัวว่าผมจะสอนคนอื่นไม่ได้ เพราะผมไม่ได้ตั้งใจจะสอนใครอยู่แล้ว ไม่กลัวกระทั่งเขาจะมีอายุมากกว่า เรียนจบอะไรมา ฐานะอะไร จะฟังเราไหม ฯลฯ เพราะผมเพียงทำหน้าที่ให้ทุกคนร่วมกันสร้างความรู้เท่านั้น.. ถ้าจะกลัวก็กลัวเพราะเหตุอื่นมากกว่า ไม่ใช่เพราะกลัวที่จะจัดกระบวนการ
และผมไม่ได้มีหน้าที่เปลี่ยนความคิดใคร ผมเพียงเผยมุมมองที่ผมรับรู้มา และชักชวนให้คนอื่นๆ เผยมันออกมา โยนลงในวงเพื่อร่วมกันพิจารณาและสร้างความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน
แน่นอนว่าในตัวเราเองก็มีความเชื่อเรื่องการเรียนรู้ทั้งสองแบบผสมปนเปกัน บางครั้งผมเองก็เผลอหลุดไปใช้จิตใจของความเชื่อแบบที่หนึ่งอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะตอนถูกปรนเปรอเยินยอมากๆ เข้า ฮ่าๆ
และจากกระบวนการเรียนรู้แบบที่สอง ที่ว่ากันว่าเริ่มทำให้เป็นระบบมาจากลุงเปาโล แฟร์ นั้น ทำให้ผมต้องยืนยันเรื่องหลักการคนเท่ากัน, ปฏิเสธอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่เก็บกดปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของมนุษย์, แสวงหาระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโตทางปัญญาของผู้คน ฯลฯ
เพราะกระบวนการเรียนรู้ที่ผมเชื่อไม่ใช่เรื่องเทคนิค ไม่ใช่เรื่องของการแสวงหาสถานะที่เหนือกว่าหรือรักษาสถานะที่เหนือกว่าเอาไว้.