2 july
คำสุดท้ายในงานอบรมของครูจอร์จ เลกี้ ที่ให้ไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อนคือ "คุณจะไม่ทำอะไรผิดพลาด ถ้าคุณรักผู้เข้าร่วมอบรม"
แรกๆ ผมก็ไม่ได้ใส่ใจกับประโยคนี้นัก รู้สึกมีอคติกับคำ "รัก" เสียด้วยซ้า เพราะเวลามีคำคมๆ ประมาณว่าถ้าอยากทำอะไรต้องมีใจรัก ความรักชนะทุกสิ่ง ฯลฯ แล้วรู้สึกว่าเป็นคำพูดประเภทพูดยังไงก็ถูก
บทเรียนที่ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนประโยคสำคัญนี้ก็คือ การทำงานอบรมนั้นต้องพบกับผู้เข้าร่วมหลากหลายแบบ แบบที่มักสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ผู้จัดกระบวนการก็อย่างเช่น - เก่ง ฉลาด แต่ไม่ฟังเพื่อน - ชอบเอาชนะแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย - ชอบแหกกฎ กติกา และอ้างว่าเป็นเสรีภาพ - เรียกร้องความสนใจ ต้องการการยอมรับอย่างมาก - ตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้จัดกระบวนการอย่างชัดเจน ฯลฯ ช่วงหนึ่งผมเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจในมือในฐานะผู้จัดกระบวนการ ร่วมกับคุณสมบัติที่เป็นอำนาจอย่างอื่น เช่น เสียงดัง จับประเด็น หาพวก ฯลฯ ในการ "กำราบ" ผู้เข้าร่วมที่ท้าทาย
ช่วงถัดมา ผมเรียนรู้ที่จะชวนเขามาเป็นพวก ทำความเข้าใจความต้องการของเขา ฯลฯ เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้เขามุ่งเป้ามาที่ผม
ช่วงต่อมา ผมเรียนรู้ที่จะแอบ "เอาคืน" ด้วยการจัดกิจกรรมที่ผมประเมินแล้วว่าเป็นจุดอ่อนของเขา หรือแม้แต่แอบใช้ช่องโหว่ของกติกาบางอย่างที่ให้อำนาจผู้จัดกระบวนการในการสร้างความลำบากแก่เขา
ในช่วงหลังๆ ผมเรียนรู้ว่าเอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่เขาทำ มันกระทบแบบแผนหรือจุดอ่อนบางอย่างของผม ทำให้ผมรู้สึกไม่ชอบและตัดสินเอาว่ามันคือการกระทำที่ผิด
ครั้งหนึ่ง ผมเคยจัดกิจกรรมเพื่อมุ่งเป้าไปที่ผู้เข้าร่วมอบรมคนหนึ่ง เพื่อ "สั่งสอน" เขา ปรากฎว่าเขาเองก็ได้บทเรียนที่ดีอยู่บ้าง แต่เมื่อผมมาหวนนึกทบทวนดู ผมพบว่า กลุ่มได้เรียนรู้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น นั่นเพราะผมมุ่งไปที่คนๆ เดียว มากกว่ามุ่งไปที่กลุ่ม
บทเรียนครั้งนั้น สอนผมว่า "เราจัดกระบวนการให้แก่กลุ่มได้เรียนรู้ การมุ่งไปที่คนใดคนหนึ่ง ถือเป็นความไม่ยุติธรรมต่อการเรียนรู้ของกลุ่ม"
ผมต้องเรียนรู้ที่จะจัดการความรู้สึก "ไม่ชอบขี้หน้า" "ถูกท้าทายอำนาจ" "รักษาหน้าตา" ของตนเองมากขึ้น เพื่อที่ผมจะได้ไม่จัดกระบวนการเพราะความไม่ชอบใครบางคน แทนที่จะจัดเพื่อผู้เข้าร่วมทุกคน
คำครูผุดขึ้นมาเตือน "คุณจะไม่ทำอะไรผิดพลาด ถ้าคุณรักผู้เข้าร่วมอบรม" ผมคิดว่าผมเข้าใจประโยคนี้มากขึ้น และหวังว่าจะเข้าใจมันมากขึ้นอีกในอนาคต